เงินกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ จะได้ตอนไหน

“เราได้อะไรจากการเป็นสมาชิกกองทุนฯ?”

“หักออมเพื่อเกษียณแค่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะมีเงินพอให้เกษียณสุขได้ไหม?”

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund: PVD) คือ กองทุนภาคสมัครใจที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น เพื่อเก็บออมเงินให้ลูกจ้างไว้ใช้หลังจากเกษียณอายุงานแล้ว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสวัสดิการที่นายจ้างมีให้ลูกจ้าง และลูกจ้างมีสิทธิเลือกที่จะเป็นสมาชิกกองทุนหรือไม่ก็ได้ 

เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะมาจาก “เงินสะสมของลูกจ้าง” บวกกับ “เงินสมทบของนายจ้าง” และจะถูกบริหารโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทั้งนี้ เงินกองทุนและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นของลูกจ้างตามเงื่อนไขของกองทุน แม้ว่านายจ้างจะเลิกกิจการไปก็ตาม 

เงินกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ จะได้ตอนไหน

จริง ๆ แล้ว การเก็บออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นวิธีการออมที่ถูกต้องที่สุด คือ “เก็บก่อน ใช้ทีหลัง” เพราะทันทีที่เงินเดือนออก เงินจำนวนหนึ่งจะถูกหักออกไปเก็บไว้เป็นเงินออมในกองทุนเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น หากต้องการให้เงินออมก้อนนี้ออกดอกออกผลอย่างเต็มที่ พร้อมให้เราใช้จ่ายในวัยเกษียณสุข ก็มาเริ่มวางแผนกันได้เลย! 

คำนวณเงินเป้าหมายเกษียณ VS เงินออม PVD ปัจจุบัน  

เมื่อ “สำรวจเงินก้นถุง” เรียบร้อยแล้ว ก็เริ่ม “คำนวณเงินที่ต้องการใช้หลังเกษียณ” หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “เป้าหมายเงินออมเพื่อเกษียณสุข” ตามที่เราฝันไว้ โดยควรครอบคลุมค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ค่ารักษาพยาบาล ค่านันทนาการต่าง ๆ เช่น สังสรรค์ ท่องเที่ยว รวมทั้งเงินมรดกให้ลูกหลานหรือเงินบริจาคให้สังคมในโอกาสต่าง ๆ ด้วยจากนั้น ให้นำ “เงินออม PVD ปัจจุบัน” มาเทียบกับ “เป้าหมายเงินออมเพื่อเกษียณสุข” ที่เราต้องการ เพื่อดูว่าเงินยังขาดอยู่อีกหรือไม่ โดยสามารถใช้ตัวช่วยอย่างโปรแกรม “วางแผนออมเงิน PVD” ซึ่งจะช่วยคำนวณเงิน PVD ที่คาดว่าจะมีตอนเกษียณ และยังแนะนำวิธีวางแผนการออมเพิ่ม เพื่อเติมเต็มเป้าหมายส่วนที่ยังขาดอยู่ได้อีกด้วย

สำรวจเงินออม PVD
เพื่อเป้าหมายเกษียณ

เลือกวิธีเพิ่มเงินออมใน PVD
เพื่อปรับปรุงแผนการออม

วางแผนออมเพิ่มใน PVD   

เมื่อรู้แล้วว่า เงินออมใน PVD อาจไม่เพียงพอใช้ในวัยเกษียณตามที่ต้องการ เราควรเร่งวางแผนออมเพิ่มด้วยวิธี “ออมให้เต็มสิทธิ์” หรือ “เพิ่มผลตอบแทนผ่าน Employee’s Choice”  หรือจะทำทั้ง 2 วิธีพร้อม ๆ กันได้ก็ยิ่งดี เพราะยิ่งช่วยให้เรามีโอกาสบรรลุเป้าหมายเกษียณได้เร็วกว่าที่คิดไว้ หรือได้เงินก้อนโตกว่าที่คิดไว้ รู้อย่างนี้แล้วก็อย่ารอช้า... ลงมือทำได้เลย!

ออมให้เต็มสิทธิ์

หักเงินสะสม PVD ในอัตราสูงสุดจากค่าจ้างทุกเดือน (ขึ้นอยู่กับข้อบังคับกองทุนของแต่ละนายจ้าง) เพื่อให้เงินออมวัยเกษียณของเรามากขึ้น

เพิ่มผลตอบแทนผ่าน Employee’s Choice

เลือกนโยบายการลงทุน (Employee’s Choice) ให้เหมาะสมกับอายุ ผลตอบแทนที่ต้องการ และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เพื่อเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น 

ตัวอย่างการปรับแผนการออมใน PVD

โดยเพิ่มอัตราเงินสะสมจาก 3% เป็น 10% ของค่าจ้างต่อเดือน และเปลี่ยนทางเลือกลงทุนเดิมที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ 100% ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี เป็นทางเลือกใหม่ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นอีกนิด โดยมีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ 70% และหุ้น 30% ซึ่งอาจให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงขึ้นเป็น 7% ต่อปี

ทดลองปรับแผนการออม เพื่อให้เหมาะกับตัวเอง

นอกจากนี้ สมาชิกกองทุน PVD ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย เพราะเงินสะสมจะสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท ทำให้เราประหยัดภาษี มีเงินคืนกลับมาออมเพิ่มได้ด้วย

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมสรรพากร

เลือกนโยบายการลงทุน (Employee’s Choice) ให้เหมาะสม 

ก่อนตัดสินใจเลือกนโยบายการลงทุน ขอให้ลองประเมินตัวเองดูก่อนว่า “เรารับความเสี่ยงจากการลงทุนได้แค่ไหน?” ผ่านแบบทดสอบความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ซึ่งจะแนะนำการจัดสัดส่วนเงินลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ หรือเรียกว่า “พอร์ตลงทุน” ที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ จากนั้นก็ศึกษานโยบายการลงทุน PVD ของเราว่า แต่ละนโยบายกำหนดสัดส่วนเงินลงทุนอย่างไรและลงทุนในสินทรัพย์อะไรบ้าง

อย่างไรก็ตาม หากเรายังอายุน้อย แต่ประเมินแล้วว่ารับความเสี่ยงได้ต่ำ ก็ยังสามารถเลือกนโยบายการลงทุนที่มีสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงสูงได้บ้าง เพราะเหลือเวลาลงทุนอีกมากกว่า 10 – 20 ปี ก็จะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ในขณะที่จะมีการถัวเฉลี่ยความเสี่ยง
จากการที่ทยอยออมใน PVD อย่างสม่ำเสมอในระยะยาวนั่นเอง

นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีนโยบายลงทุนที่สามารถปรับสัดส่วนสินทรัพย์ลงทุนให้เหมาะกับอายุที่เปลี่ยนไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งเรียกว่า แผนสมดุลตามอายุ (Target Date Retirement) ทำให้เราไม่ต้องคอยกังวลเรื่องการปรับสัดส่วนการลงทุนในแต่ละช่วงวัยอีกด้วย

ติดตามผลและปรับสัดส่วนของมูลค่าเงินลงทุน

ทุก ๆ 6 เดือน หรือ 1 ปี ควรกลับมาติดตามผลว่า พอร์ตลงทุน PVD ของเรานั้นเสี่ยงเกินไปหรือไม่? ควรปรับสัดส่วนของมูลค่าเงินลงทุน (Rebalance) ให้กลับมาอยู่ในสัดส่วนเดิม ตามนโยบายที่เราเคยเลือกไว้แล้วหรือยัง? เพื่อให้แผนการลงทุนนี้ยังสามารถพาเราเดินทางสู่เป้าหมายเกษียณสุขได้อย่างมั่นคง

นอกจากนี้ หากภาวะตลาดหรือสถานการณ์ลงทุนเปลี่ยนไป เช่น คาดการณ์ว่า มีโอกาสได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นจากการลงทุนในต่างประเทศ เราก็สามารถปรับสัดส่วนของเงินลงทุนในนโยบายต่าง ๆ (Reallocation) เพื่อกำหนดกลยุทธ์การลงทุนใหม่ให้กับพอร์ตลงทุน PVD ของเราได้เช่นกัน

แม้ว่าจะวางแผนเพิ่มเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทุกวิถีทางแล้ว ทั้งออมจนเต็มสิทธิ์และเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมแล้ว แต่ “เงินที่คาดว่าจะได้รับจากกองทุน” ก็ยังน้อยกว่า “จำนวนเงินที่ต้องการใช้หลังเกษียณ” ก็อย่าเพิ่งหมดหวัง เพราะเรายังมีทางเลือกอื่น ๆ เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ประกันชีวิตแบบบำนาญ และสินทรัพย์เพื่อการลงทุนอื่น ๆ เช่น ตราสารหนี้ กองทุนรวม หรือหุ้น ขึ้นอยู่กับความถนัดและความชอบของแต่ละคน ขอเพียงแค่ฮึดสู้และลงมือออมและลงทุนตั้งแต่วันนี้ หนทางสู่ความสุขในวัยเกษียณก็ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน!


ความรู้แนะนำ

เนื้อหาที่ี่เกี่ยวข้อง