เมื่อตำรวจจับผู้ต้องหา

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ร่วมกับเครือข่ายองค์กรที่เกี่ยวข้องได้ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินคดี พร้อมเสนอข้อปฏิรูปการสอบสวนทางอาญา 9 ข้อ

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) กล่าวว่า เมื่อถูกตำรวจจับกุมไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม การจะดำเนินคดีต้องผ่านขั้นตอนดังนี้

  1. แจ้งข้อหา เพื่อให้รู้ว่า จะถูกดำเนินคดีในข้อหาอะไร
  2. สอบปากคำผู้ต้องหา เพื่อให้มีโอกาสได้ให้ข้อเท็จจริงจากฝั่งของเรา
  3. สอบปากคำพยาน เพื่อหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมว่าทำผิดจริงหรือไม่
  4. สรุปสำนวน เพื่อตัดสินใจว่าจะส่งฟ้องหรือไม่

งานนั่งโต๊ะของตำรวจเหล่านี้เรียกรวมว่า “งานสอบสวน” ซึ่งเป็นขั้นตอนการทำงานสำหรับทุกคดี ในประเทศที่กระบวนการยุติธรรมพัฒนาแล้ว การแจ้งข้อหาหรือดําเนินคดีกับใคร จะต้องปรากฏพยานหลักฐานชัดเจนว่า คนนั้นเป็นผู้กระทําความผิดและมีพยานหลักฐานเพียงพอ

งานสอบสวนที่ควรจะเป็น คือ ตำรวจต้องแสวงหาพยานหลักฐานทุกชนิดเพื่อ “ค้นหาความจริง”
สำหรับพิสูจน์ทั้งความผิดและความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาแต่ในทางปฏิบัติ ตำรวจที่ทำหน้าที่สอบสวนยังมุ่งรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดแก่ผู้ถูกกล่าวหาในทำนอง “เค้นหาความจริง” มากกว่าการ “ค้นหาความจริง” ทำให้ “คนบริสุทธิ์” ตกเป็นผู้ต้องหาและถูกส่งฟ้องต่อศาลมากมาย

บ่อยครั้งนําไปสู่การละเมิดสิทธิของประชาชน ทำให้ผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้ต้องหาไม่ได้รับความเป็นธรรม และทำให้ภาพของตำรวจและกระบวนการยุติธรรมกลายเป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับประชาชนทั่วไป

เมื่อตำรวจจับผู้ต้องหา

ตามสถิติของสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2545-2563 รัฐบาลยังต้องใช้จ่ายงบประมาณมากกว่า 521,239,772 บาท (ห้าร้อยยี่สิบเอ็ดล้านบาท)
หรือเฉลี่ยปีละ 27 ล้าน เพื่อเป็นค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยคดีอาญา จำนวน 2,396 คน ซึ่งถูกฟ้องและถูกคุมขังโดยไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด

หนึ่งในสาเหตุของเรื่องนี้ เพราะระบบของประเทศไทยเอา “งานสอบสวน” ทั้งหมดฝากไว้ในมือของตำรวจ และเอา “งานฟ้องคดี” ทั้งหมดมอบให้อัยการ ชนิดแยกขาดจากกัน อัยการซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย ไม่มีโอกาสเข้าไปตรวจสอบในกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงและค้นหาพยานหลักฐานตั้งแต่ต้น กว่าจะรู้เรื่องคดีก็ต่อเมื่อตำรวจส่งสำนวนมาให้อัยการฟ้องคดีต่อศาลเท่านั้น

หลายกรณีอัยการไม่มีโอกาสที่จะตรวจสอบให้แน่ชัด บางครั้งก็ต้องยื่นฟ้องผู้บริสุทธิ์ไป และศาลก็ยกฟ้องในภายหลัง หรือบางครั้งก็ยื่นฟ้องไปโดยมีหลักฐานไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ แม้ว่า ผู้ถูกฟ้องจะกระทำความผิดจริงแต่ศาลก็สั่งลงโทษไม่ได้

“ผู้ต้องหา” คือบุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิด แต่ยังไม่ได้ถูกฟ้องต่อศาลและอาจจะถูกจับแล้วนำมาควบคุมหรือขังไว้เพื่อทำการสอบสวน

“จำเลย” คือบุคคลซึ่งถูกฟ้องยังศาลแล้ว โดยข้อหาว่าได้กระทำความผิด

ผู้ต้องหาจะถูกควบคุมนานเท่าใด

เมื่อบุคคลใดถูกจับเป็นผู้ต้องหา ตำรวจมีอำนาจควบคุมผู้ต้องหานั้นได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง และไม่เกิน 24 ชั่วโมง สำหรับความผิดที่ขึ้นศาลคดีเด็กและเยาวชน ทั้งนี้นับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกนำตัวมาถึงที่ทำการของเจ้าพนักงานสำหรับความผิดลหุโทษ (ความผิดที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) เจ้าพนักงานจะควบคุมตัวไว้เพียงเท่าเวลาที่จะถามคำให้การ ชื่อ และที่อยู่เท่านั้น จากนั้นต้องปล่อยตัวไป

ผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมหรือขังตัวในชั้นสอบสวนมีสิทธิดังนี้

  1. ให้การต่อพนักงานสอบสวนเมื่อถูกสอบสวน หรือปฏิเสธไม่ยอมให้การหรือขอไปให้การในชั้นศาล คำให้การต่อพนักงานสอบสวนนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานยันผู้ต้องหาในการพิจารณาคดีของศาลได้
  2. ขอพบทนายเพื่อปรึกษาคดีที่ถูกกล่าวหาสองต่อสอง
  3. ขอประกันตัวต่อพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาลที่ออกหมายขัง แล้วแต่กรณี
  4. ได้รับเยี่ยมตามสมควร
  5. ได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย

การผัดฟ้องและฝากขังในศาลแขวง

  1. ความผิดที่ขึ้นศาลแขวงนั้น พนักงานอัยการจะต้องฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลแขวงภายใน 48 ชั่วโมง แต่ถ้าไม่อาจฟ้องผู้ต้องหาภายในเวลาดังกล่าวได้ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการต้องนำตัวผู้ต้องหามาศาลและยื่นคำร้องขอฝากขังและผัดฟ้องต่อศาล ศาลอนุญาตได้ไม่เกิน 5 คราวๆ ละไม่เกิน 6 วัน
  2. ผู้ต้องหาได้ประกันตัวชั้นสอบสวน ไม่ต้องนำผู้ต้องหามาศาลเพียงแต่ยื่นคำร้องขอผัดฟ้องอย่างเดียว

การฝากขังในศาลอาญาหรือศาลจังหวัด

  1. ถ้าผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวอยู่และพนักงานสอบสวนไม่อาจสอบสวนให้เสร็จสิ้นภายใน 48 ชั่วโมง พนักงานสอบสวนต้องส่งผู้ต้องหามาศาลและพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการอาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ขังผู้ต้องหาไว้ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่าฝากขัง
    • ในกรณีความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทังปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังได้ครั้งเดียวมีกำหนดไม่เกิน 7 วัน แต่ถ้ามีอัตราโทษเกินกว่านี้ ศาลอาจสั่งขังได้หลายๆ ครั้งติดๆ กัน แต่ครั้งหนึ่งไม่เกิน 12 วัน รวมทั้งหมดไม่เกิน 48 วัน เว้นแต่ความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป ศาลสั่งขังได้รวมทั้งหมดไม่เกิน 84 วัน
  2. ผู้ต้องหาได้ประกันตัวชั้นสอบสวน ผู้ต้องหาไม่จำต้องมาศาลจนกว่าพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการจะขอฝากขัง แต่ต้องไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันแรกที่มีการปล่อยชั่วคราว หรือนำตัวผู้ต้องหานั้นมาฟ้องต่อศาล
  3. สำหรับศาลจังหวัดที่นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการจะต้องขอผัดฟ้องและฝากขังผู้ต้องหานั้นต่อศาลจังหวัดเช่นเดียวกับที่ปฏิบัติในศาลแขวง

การผัดฟ้องในศาลเยาวชนและครอบครัว

เมื่อเจ้าหน้าที่จับกุมเด็กหรือเยาวชนที่มีอายุไม่ครบ 18 ปี ซึ่งต้องหาว่าได้กระทำความผิดและความผิดนั้นอยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว พนักงานสอบสวนจะต้องสอบปากคำเด็กหรือเยาวชนให้เสร็จภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่เด็กหรือเยาวชนมาถึงสถานที่ทำการของพนักงานสอบสวน แล้วส่งตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก เมื่อครบ 24 ชั่วโมง และต้องส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อฟ้องต่อศาลให้ทันภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันจับกุม หากฟ้องไม่ทันพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการต้องยื่นคำร้องขอผัดฟ้อง ศาลจะอนุญาตได้ไม่เกิน 4 คราว คราวละไม่เกิน 15 วัน

เมื่อมีการฝากขังหรือผัดฟ้อง ผู้ต้องหามีสิทธิดังนี้

  1. แถลงคัดค้านคำร้องของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการที่ขอฝากขัง หรือ ผัดฟ้อง
  2. ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อศาล หากศาลอนุญาตให้ขังตามที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการร้องขอ

ในกรณีที่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวจกศาล ผู้ต้องหาต้องมาศาลทุกครั้งที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องขอฝากขังต่อ และผู้ประกันอาจยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อไปโดยให้ถือหลักทรัพย์และสัญญาเดิม

การสู้คดีในศาล

  1. กรณีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ พนักงานอัยการต้องนำตัวผู้ต้องหามาศาล และศาลอาจสั่งประทับฟ้องได้เลยทีเดียวโดยไม่ต้องทำการไต่สวนมูลฟ้อง
  2. กรณีราษฎรเป็นโจทก์ ศาลจะต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องก่อนโดยศาลจะส่งสำเนาฟ้องกับแจ้งวันนัดไต่สวนให้จำเลยทราบ จำเลยจะมาหรือไม่มาฟังการไต่สวยหรือจะตั้งทนายให้ซักค้านพยานโจทก์ด้วยหรือไม่ก็ได้

ในวันไต่สวนมูลฟ้อง ถ้าจำเลยจะรอฟังคำสั่งศาล จำเลยควรเตรียมหลักทรัพย์มาเพื่อขอประกันตัวด้วย เพราะหากศาลมีคำสั่งว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา ศาลอาจรับตัวจำเลยขังไว้ในระหว่างพิจารณาได้ ทางปฏิบัติศาลอาจไม่รับตัวจำเลยไว้ขังทันที แต่จะให้โอกาสจำเลยเตรียมตัวสู้คดี โดยจะนัดวันให้จำเลยยื่นคำให้การแก้คดีอีกครั้งหนึ่ง ในวันนัดแก้คดีจึงจะรับตัวจำเลยไว้ขังในระหว่างพิจารณา เว้นแต่จำเลยจะมีประกันตัวไป

เมื่อศาลประทับฟ้องแล้ว หากจำเลยจะสู้คดีควรปฏิบัติดังนี้

  1. ยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาล ทั้งนี้ไม่ว่าจำเลยจะได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวนหรือชั้นฝากขังหรือไม่ก็ตาม
  2. ยื่นคำให้การต่อศาล หากจำเลยประสงค์จะให้การ
  3. หาทนายเพื่อช่วยเหลือตนในการดำเนินคดีต่อไป

การหาทนาย

โดยปกติจำเลยต้องหาทนายเองและเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง เว้นแต่คดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต ถ้าจำเลยไม่มีทนายศาลจะตั้งทนายให้ หรือคดีมีอัตราโทษจำคุกหรือคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกิน 18 ปี ในวันถูกฟ้อง ถ้าจำเลยไม่มีและต้องการทนายศาลก็ตั้งทนายให้

การให้การต่อศาล

เมื่อศาลประทับฟ้องแล้ว ก่อนที่ศาลจะพิจารณาคดีต่อไป ศาลจะอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จำเลยจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ หากจำเลยไม่ให้การถือว่าจำเลยปฏิเสธ

จำเลยประสงค์จะให้การควรปฏิบัติดังนี้

  1. ถ้าจำเลยกระทำผิดจริง ควรรับสารภาพต่อศาล เพราะการรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษอย่างหนึ่งซึ่งโดยปกติศาลจะปราณีลดโทษให้อันเป็นผลดีแก่จำเลยที่จะได้รับโทษในสถานเบา
  2. ถ้าจำเลยมิได้กระทำผิด หรือประสงค์จะต่อสู้คดีควรให้การปฏิเสธความรับผิด ส่วนการให้การในรายละเอียดอย่างไรจึงจะเป็นผลดีแก่จำเลยควรปรึกษาทนาย
  3. มีคดีบางประเภทกฎหมายยกเว้นโทษให้ บางกรณีกฎหมายถือว่าไม่เป็นความผิด บางกรณีกฎหมายถือว่าเป็นความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ บางกรณีกฎหมายให้อำนาจศาลที่จะลงโทษน้อยกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย หรือบางกรณีกฎหมายลดมาตราส่วนโทษให้ เช่น การกระทำเพื่อป้องกันสิทธิ การกระทำด้วยความจำเป็น การกระทำโดยบันดาลโทสะ บุพการีกระทำต่อผู้สืบสันดานหรือผู้สืบสันดานกระทำต่อบุพการี หรือพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกระทำต่อกัน หรือในคดีเด็กอายุไม่เกิน 17 ปี เป็นผู้กระทำความผิด ดังนั้นจำเลยจะให้การอย่างไรเพื่อให้ได้รับประโยชน์ตามเงื่อนไขของกฎหมายควรจะปรึกษาทนาย

การขอให้ศาลรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษ

  1. ให้คดีความผิดซึ่งศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสองปี ถ้าปรากฏว่าจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนหรือได้รับโทษจำคุกมาก่อนแต่เป็นโทษสำหรับควาผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษเมื่อศาลได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิด หรือเหตุอื่นอันควรปราณีแล้ว ศาลอาจจะรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษจำเลยก็ได้ อันเป็นผลดีแก่จำเลยที่จะไม่ต้องรับโทษจำคุก
  2. จำเลยที่ประสงค์จะขอให้ศาลรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษควรเตรียมหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับอายุ ประวัติ ความประพฤติ ฯลฯ ดังกล่าวในข้อ 1 ที่มีอยู่มาให้พร้อม และยื่นต่อศาลเพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจของศาล เช่น เรื่องอายุของจำเลยก็ควรมีสูติบัตร หรือสำเนาทะเบียนบ้าน หรือบัตรประชาชนมาแสดง ถ้าเป็นนักเรียนก็ควรมีใบรับรองจากโรงเรียน ถ้าเป็นข้าราชการ พนักงานลูกจ้าง ก็ควรมีคำรับรองจากผู้บังคับบัญชา หรือนายจ้าง หรือถ้าหากเป็นกรณีที่มีการชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยก็ควรนำผู้เสียหายมาแถลงต่อศาลด้วย หากนำมาไม่ได้จริงๆ ก็ควรมีบันทึกข้อตกลงเรื่องค่าเสียหายซึ่งพนักงานสอบสวนทำไว้หรือพนักงานอัยการโจทก์รับรองว่าเป็นจริง
  3. ในบางคดีศาลอาจมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติทำการสืบเสาะและพินิจจำเลยก่อนพิพากษาเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติความประพฤติของจำเลย และพฤติการณ์แห่งคดี ฯลฯ นำมาประกอบในการใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลย ระหว่างการสืบเสาะจำเลยจะต้องถูกขังไว้ในเรือนจำ จึงควรเตรียมหลักทรัพย์มาขอประกันตัวต่อศาล

การพิจารณาคดีอาญาในศาลต้องทำต่อหน้าจำเลย

การพิจารณาและการสืบพยานในคดีอาญานั้น ศาลจะต้องกระทำต่อหน้าจำเลย จำเลยจึงต้องมาศาลทุกนัดที่มีการพิจารณาคดีเรื่องที่ตนถูกฟ้อง เว้นแต่

  1. ในคดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม หือในคดีมีโทษปรับสถานเดียว เมื่อจำเลยมีทนายและจำเลยได้รับอนุญาตจากศาลที่จะไม่มาฟังการพิจารณาและสืบพยาน
  2. ในคดีที่มีจำเลยหลายคน ถ้าศาลพอใจตามคำแถลงของโจทก์ว่าการพิจารณาและสืบพยานตามที่โจทก์ขอให้กระทำไม่เกี่ยวแก่จำเลยคนใด ศาลจะพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลยคนนั้นก็ได้
  3. ในคดีที่มีจำเลยหลายคน ถ้าศาลเห็นสมควรจพิจารณาและสืบพยานจำเลยคนหนึ่งๆ ลับหลังจำเลยคนอื่นก็ได้
  4. ในกรณีที่มีการส่งประเด็นไปสืบพยานที่ศาลอื่นหรือการเดินเผชิญสืบนอกศาล จำเลยจะไปฟังการพิจารณาหรือไม่ก็ได้

หน้าที่นำสืบ

ในคดีอาญากฎหมายสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้กระทำผิด ดังนั้นโจทก์มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดของจำเลย โดยต้องนำสืบก่อนว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดแล้วจำเลยจึงนำสืบแก้ข้อกล่าวหาของโจทก์ เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ศาลจะยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย

ค่าธรรมเนียม

ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอาญาในศาล จำเลยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดทั้งสิ้น เว้นแต่ค่ารับรองสำเนาเอกสาร

การอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง

โดยปกติศาลต้องอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยฟัง จำเลยจึงต้องมาฟังตามวันเวลาที่ศาลนัด ถ้าจำเลยไม่มาฟังและศาลมีเหตุสงสัยว่าจำเลยจงใจหลงหนี หรือจงใจไม่มา ศาลจะออกหมายจับจำเลย ถ้ายังไม่ได้ตัวจำเลยมาภายใน 1 เดือน นับแต่วันออกหมายจับ ศาลอาจอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นลับหลังจำเลยได้ โดยถือว่าจำเลยได้ฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นแล้ว

การอุทธรณ์หรือฎีกา

  1. เมื่อศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว ถ้าเป็นคดีที่ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือต้องห้ามฎีกา โจทก์จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา โดยยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาต่อศาลชั้นต้น ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์แล้วแต่กรณีให้จำเลยฟัง คดีจะอุทธรณ์หรือฎีกาได้หรือไม่ ควรปรึกษาทนายความ
  2. กรณีจำเลยถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำ จำเลยอาจยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาต่อพัศดีภายในกำหนดอายุอุทธรณ์หรือฎีการเพื่อให้พัศดีส่งไปยังศาล
  3. กรณีที่โจทก์อุทธรณ์หรือฎีกา หากศาลส่งสำเนาอุทธรณ์หรือฎีกาให้จำเลยไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะหาตัวจำเลยไม่พบ หรือจำเลยหลบหนีหรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์หรือสำเนาฎีกาก็ตาม ศาลชั้นต้นจะส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาพิจารณาคดีต่อไป แต่หากจำเลยได้รับสำเนาอุทธรณ์หรือฎีกาของโจทก์แล้วจำเลยจะแก้หรือไม่ก็ได้ หากจำเลยจะแก้ต้องแก้ภายในกำหนด 15 วันนับแต่วันรับสำเนาอุทธรณ์หรือฎีกา
  4. จำเลยจะให้ทนายจำเลยยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาต่อศาลแทนตนก็ได้ แต่ถ้าจำเลยและทนายต่างยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาด้วยกัน ศาลจะเรียกจำเลยมาสอบถามให้เลือกเอาอุทธรณ์หรือฎีกาฉบับหนึ่งฉบับใดแต่เพียงฉบับเดียว
  5. เมื่อศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย หากเป็นคดีที่ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา จำเลยต้องยื่นคำร้องขอประกันตัวพร้อมคำฟ้องหรือฎีกา โดยยื่นต่อศาลชั้นต้น แต่หากจำเลยทำคำฟ้องอุทธรณ์หรือฎีกายังไม่เสร็จ จำเลยต้องทำคำร้องว่าจะอุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้านคำพิพากษา พร้อมกับยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นอาจจะสั่งเรื่องประกันนั้นเองหรือส่งไปให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาสั่งเมื่อศาลชั้นต้นได้รับอุทธรณ์หรือฎีกาของจำเลยแล้ว

เมื่อคดีถึงที่สุดจำเลยมีสิทธิอย่างไร

เมื่อคดีถึงที่สุดจำเลยได้รับโทษอย่างใด จำเลยมีสิทธิที่จะทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องราวต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขอรับพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษ หรือหยุดการบังคับโทษ โดยจำเลยหรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องต้องยื่นเรื่องเราวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถ้าหากจำเลยต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำ จะยื่นต่อพัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำก็ได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ถวายความเห็นหรือคำแนะนำต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

จำเลยต้องโทษประหารชีวิตจะทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องราวได้เพียงครั้งเดียวภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษา

ส่วนโทษอย่างอื่นจะยื่นทูลเกล้าฯ เมื่อไรก็ได้ แต่ถ้าถูกยกหนึ่งหนแล้วจะยื่นใหม่ไม่ได้จนกว่าจะพ้น 2 ปี นับแต่วันถูกยกครั้งก่อน