กายานุปัสสนาสติปัฏฐานคืออะไร

กายานุปัสสนาสติปัฏฐานคืออะไร

จะอธิบายสติปัฏฐาน ๔ อันเป็นเครื่องบรรเทากิเลสของผู้ปฏิบัติทั้งหลายดังนี้

สติปัฏฐาน ๔ ได้แก่
๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ให้ระลึกถึงกายนี้หนึ่ง
๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ให้ระลึกถึงเวทนานี้หนึ่ง
๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ให้ระลึกถึงจิตนี้หนึ่ง
๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ให้ระลึกถึงธรรมนี้หนึ่ง

ผู้เจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ ให้เกิดเป็นสมาธินั้น ต้องรู้จักคุณธรรม ๓ อย่างนี้เสียก่อน มิฉะนั้น ไม่เรียกว่าผู้ตั้งอยู่ในสติปัฏฐานเลย เพราะว่าความเข้าใจนั้นแคบไป แต่แท้ที่จริงนั้น มีแต่สติเท่านั้นไม่พอในการทำสติปัฏฐานเลย เมื่อไม่พอเช่นนี้ ขืนระลึกถึงรูปกายอยู่แล้ว ก็จะเกิดแต่ความยินดียินร้าย เพราะหน้าที่ของสตินั้นได้แค่ระลึกถึงเท่านั้น

ฉะนั้น ในการเจริญสติปัฏฐานนั้น จำต้องให้รู้เครื่องประกอบของผู้ระลึกดังนี้ คือ
๑. สติ
๒. สัมปชัญญะ ความรู้ตัวไว้ประจำใจก่อน ใช้สติแล่นติดต่อกับอารมณ์ มีรูปกายเป็นต้น แล้วให้แล่นเข้ามาสู่ภายใน คือ ใจของตน
๓. อาตาปี ความเพียรเพ่งพิจารณาขยายอาการของกายออกเป็นส่วน

อุปมาอีกว่า กายเราเปรียบเหมือนโรงเลื่อยจักร จิตเปรียบเหมือนเหล็กเพลา สัมปชัญญะเปรียบเหมือนมู่เล่ที่หมุนรอบตัวเพลาอยู่ในสถานที่แห่งเดียว สติเหมือนสายพานคอยผูกอารมณ์กับจิตไว้ไม่ให้เคลื่อนคลาดไปสู่อารมณ์อื่น อาตาปีความเพียรเพ่งพิจารณาเหมือนตัวเลื่อยจักร คอยตัดหั่นท่อนซุงนั้นให้กระจายออกเป็นชิ้นๆ จึงจะสำเร็จประโยชน์

คุณธรรม ๓ อย่างนี้ จำต้องมีประจำตัวอยู่เสมอในการทำสมาธิจึงจะสำเร็จได้

ต่อไปนี้จะแสดงถึงงานที่จะต้องทำ อันเป็นหน้าที่ของอาตาปี ที่เรียกว่าความเพียรเพ่ง และสัมปชัญญะ ความรู้ดี สติ ความระลึกได้ จะต้องให้ถูกต้องตามหน้าที่ของตนๆ หน้าที่ของตนที่จะต้องทำนั้นมีอยู่ ๔ อย่าง คือ

๑. กาย อันเป็นที่ประชุมของธาตุทั้ง ๔
๒. เวทนา ความเสวยอารมณ์ มีสุข ทุกข์ อุเบกขา เป็นต้น
๓. จิต ผู้สะสมไว้ซึ่งความดีและความชั่วทั้งหลาย
๔. ธรรม สภาพที่ทรงไว้ในตน เป็นต้นว่า กุศลธรรม และอกุศลธรรม อันระคนปนกันอยู่
ทั้ง๔ อย่างนี้ เป็นหน้าที่ของผู้จะทำต่อไป

• ข้อ ๑ อธิบายในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

อธิบายคำที่ว่า “กาย” นี้ได้แก่ธาตุทั้ง ๔ ประชุมกันเข้า มีจิตวิญญาณครอบครองอยู่ก็ดี ที่ปราศจากจิตวิญญาณครอบครองแล้วก็ดี แต่ปรากฏแก่ตาได้อยู่ เรียกว่า “รูปกาย” รูปกายนี้แยกออกเป็น ๓ ประเภท คือ

๑. กายใน ได้แก่ กายของตนเอง
๒. กายนอก ได้แก่ กายคนอื่น
๓. กายในกาย ได้แก่ ชิ้นใดชิ้นหนึ่งของอวัยวะ เป็นต้นว่า ลมหายใจ อันเป็นส่วนหนึ่งของธาตุทั้ง ๔ นี้เรียกว่า กายในกาย

เรื่องของกายจะเป็นภายในก็ดี ภายนอกก็ดี ก็มีอยู่ว่า ธาตุทั้ง ๔ เท่านั้น เมื่อรู้จักหน้าที่ของตนแล้ว จำเป็นที่จะต้องทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้อง เป็นต้นว่า

๑. สัมปชัญญะ ความรู้ตัวอยู่กับที่ คือทำความรู้สึกอยู่กับจิต อันเป็นส่วนภายใน ไม่ต้องไปใช้ที่อื่น
๒. สติ ความระลึก จะต้องใช้ทั่วไป เป็นต้นว่า ใช้แล่นเข้าสู่จิตอันเป็นส่วนภายใน แล้วใช้แล่นเข้าไประลึกถึงอารมณ์ มีรูปกายเป็นต้น แล้วคอยประคองอารมณ์กับจิตไว้ไม่ให้เคลื่อนคลาดจากกัน
๓. อาตาปี ความเพียรเพ่งพิจารณารูปกายขยายออกเป็นส่วนๆ ดังนี้

หน้าที่ของความเพียรเพ่งพิจารณานั้นมีอยู่ ๕ อย่าง คือ
๑. ให้ตรวจตราพิจารณาเพ่งดูอาการ ๓๒ มี เกสา - ผม, โลมา - ขน, นขา - เล็บ, ทันตา - ฟัน, ตโจ - หนัง เป็นอาทิ

ให้ตรวจตราพิจารณาดูจนถี่ถ้วน เมื่อไม่เกิดความสงบในวิธีนี้ ให้เจริญต่อไปในวาระที่ ๒ คือ

๒. ให้เพียรเพ่งพิจารณาอสุภกรรมฐานโดยประการต่างๆ ของร่างกาย เป็นต้นว่าร่างกายก้อนนี้เป็นที่ประชุมซึ่งสรรพสิ่งทั้งหลาย คือ หน้าที่บรรจุไว้แห่งซากศพ เป็นสุสานประเทศ เช่น ซากโค ซากกระบือ ซากหมู เป็ด ไก่ เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม อันเข้าไปผสมบ่มไว้ในกระเพาะ แล้วกรองกลั่นเป็นน้ำเลือด น้ำหนอง เปื่อยเน่า พุพอง ซาบซ่านออกมาตามทวารต่างๆ อันมนุษย์ทั้งหลายพากันเยียวยามิได้หยุด เป็นต้นว่า การอาบน้ำขัดสี ซักฟอก กลบกลิ่นมิให้ปรากฏ

แต่ถึงกระนั้น อ้ายความโสโครกของร่างกาย ก็ยังแสดงตัวออกอยู่เสมอ เป็นต้นว่า ขี้หู ขี้ตา ขี้มูก ขี้ฟัน ขี้เหงื่อ ขี้ไคล ย่อมไหลซาบซ่านอยู่เสมอ เป็นสิ่งที่โสโครกโสมมด้วยประการต่างๆ เป็นต้นว่า ที่เกิดก็เกิดที่โสโครก ที่อยู่ก็อยู่ที่โสโครก คืออยู่ในป่าช้าผีดิบ หรือยิ่งกว่าป่าช้า ซากผีที่ฝังไว้ในตนแล้ว ดูเป็นร้อยๆ อย่างเสียอีก ตัวคนเราถ้าจะดูตามลักษณะ ก็มีอาการต่างๆ ไม่สม่ำเสมอกัน มีกลิ่นก็เหม็น เป็นสิ่งที่น่าเกลียดน่าชังหนักหนา

เมื่อพิจารณาอย่างนี้ ถ้าไม่เกิดความสลดสังเวชก็ให้พิจารณาในวาระที่ ๓ คือ

๓.ให้เพ่งพิจารณาลมหายใจเข้าออก ลมเข้ายาวก็ให้รู้ตัว ลมออกยาวก็ให้รู้ตัว ทีแรกการทำลมให้ปล่อยใจออกมาตามลมก่อน แล้วให้หายใจเข้าเอาใจเข้ามาตามลมอีก ทำอยู่อย่างนี้สักสองสามครั้ง แล้วจึงตั้งใจไว้เป็นกลาง อย่าออกตามลม อย่าเข้าตามลม จนจิตนิ่งอยู่ รับรู้แต่ลมเข้าลมออกเท่านั้น ทำใจว่างๆ สบายๆ ไว้เฉยๆ จะวางใจไว้ที่จมูกก็ได้ เพดานก็ได้ ถ้าวางไว้ในหทัยวัตถุได้ยิ่งดี แล้วทำจิตให้นิ่งจะเป็นที่สบาย เกิดปัญญาแสงสว่างดับความคิดต่างๆ ให้น้อยลง

แล้วเพ่งพิจารณาสังเกตกำหนดอาการของลม ที่มีอาการพองตัวเข้าออกอยู่นั้น เป็นต้นว่า เข้ายาวออกยาว เข้าสั้นออกสั้น เข้ายาวออกสั้น เข้าหยาบออกละเอียด เข้าละเอียดออกหยาบ เข้าละเอียดออกละเอียด ให้เพ่งพิจารณาอาการของลมทั้งหลายเหล่านี้ให้ถี่ถ้วน และอย่าให้จิตเคลื่อนไหลไปตามลม ทำอย่างนี้จนกว่าจะเกิดสงบ

ถ้าไม่สงบด้วยวิธีนี้ให้เปลี่ยนไปในวาระที่ ๔ คือ
๔. ให้เพ่งพิจารณาดูธาตุทั้ง ๔ มีธาตุดิน-น้ำ-ลม-ไฟ เป็นต้น ส่วนใดที่แข็งเรียกว่าธาตุดิน ส่วนใดที่เหลวเรียกว่าธาตุน้ำ ส่วนใดที่พัดไปพัดมาเรียกว่าธาตุลม ส่วนใดที่อบอุ่นเรียกว่าธาตุไฟ แยกธาตุดินออกเป็นกองหนึ่งตั้งไว้ข้างหน้า แยกธาตุน้ำเป็นกองหนึ่งไว้ข้างหลัง แยกธาตุลมเป็นกองหนึ่งวางไว้ข้างซ้าย แยกธาตุไฟกองหนึ่งวางไว้ข้างขวา ตัวเราตั้งตนไว้ตรงกลาง แล้วเพ่งพิจารณาดูว่า ร่างกายนี้ เมื่อแยกออกเป็นส่วนๆ ดังนี้แล้ว ก็เห็นความแตกดับทำลายหายสูญไปเป็นเถ้าที่เรียกว่าตาย โดยอาการเช่นนี้แล้วเกิดความสลดสังเวช

เมื่อไม่เห็นผลปรากฏขึ้นแล้ว ให้เพ่งพิจารณาในวาระที่ ๕ คือ
๕. ให้พิจารณาดูว่า ร่างกายนี้เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว จะต้องมีความแก่รุกรานเข้ามาหาตนทุกวิถีทาง ความเจ็บก็จะมีมา ความตายก็จะมีมา ความพลัดพรากจากสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ก็จะมีมาถึงตนจนได้ ร่างกายก้อนนี้ย่อมมีลักษณะปรากฏอยู่เสมอ เป็นต้นว่า อนิจจังเป็นของไม่เที่ยงมั่นคงถาวร คอยโยกคลอนอยู่เสมอ ทุกขังเป็นของที่ทนอยู่ได้ลำบาก อนัตตาไม่ใช่ตัวตนเราเขา เอามาไม่ได้ เอาไปไม่รอด ตายแล้วย่อมทอดทิ้งเหมือนท่อนไม้และท่อนฟืน หาเป็นสาระแก่นสารมิได้ เมื่อเพ่งพิจารณาด้วยอาการเช่นนี้แล้ว ก็จะเกิดความสลดสังเวชเป็นเหตุจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ

อาการทั้งหลาย ๕ อย่างที่กล่าวมานี้เป็นหน้าที่ของอาตาปี คือได้แก่ความเพียรเพ่งพิจารณา ต่อสู้ดูสภาพความจริงของรูปกายนี้

ส่วนตัวสติ ต้องให้ทำงานตามหน้าที่ของตน คือ ให้ระลึกถึงอารมณ์ของกรรมฐาน และระลึกถึงจิตใจของตนอันเป็นส่วนภายใน อย่าได้ส่งไปในสถานที่อื่นนอกจากนี้ ว่าเวลานี้เรามีความรู้สึกตัวอยู่หรือไม่

ที่เรียกว่า สัมปชัญญะ ความรู้ดี ให้ตั้งคอยกำหนดสังเกตความรู้สึกตัวว่า เวลานี้จิตใจของเรา มีความเคลื่อนไหวพลิกแพลง เปลี่ยนแปลงไปโดยอาการอย่างไรบ้าง ก็ให้ทำความรู้ตัวอยู่กับที่ประจำใจ

อาการทั้งหลายที่กล่าวมานี้เป็นการกระทำในส่วนกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

กายนี้จะเป็นกายภายนอกก็ตามภายในก็ตาม จำเป็นต้องใช้คุณธรรมทั้ง ๓ อย่างดังว่ามาแล้ว เมื่อทำได้โดยสมบูรณ์นี้แล้ว จึงเรียกว่า เจริญมหาสติปัฏฐาน

ธรรมดาคนเราสติย่อมมีกันทั่วไป แต่ไม่มีสัมปชัญญะความรู้ตัว สตินั้นจึงตกไปในทางที่ผิด ที่เรียกว่ามิจฉาสติ เมื่อใครทำได้โดยอาการดังกล่าวมานี้ จะต้องเกิดความตั้งมั่นแห่งจิตอย่างที่ไม่ได้อะไรเสียเลย ก็ต้องได้รับความสลดสังเวชอันเป็นเหตุแห่งความสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เป็นบันไดแห่งวิปัสสนาญาณ อันเป็นหนทางพระนิพพาน ที่นักปราชญ์ และบัณฑิตทรงภาษิตรับรองว่า “นิพพานํ ปรมํ สุขํ พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” อธิบายมาในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ด้วยประการดังนี้

(อ่านต่อฉบับหน้า “เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน”)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 178 ตุลาคม 2558 โดย พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ลี ธมฺมธโร) วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ)

หลักการปฏิบัติกายานุปัสสนาสติปัฏฐานคืออะไร

(๑) กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน พิจารณาเห็นกายในกายภายในเนือง ๆ อยู่พิจารณาเห็นกาย ในกาย ภายนอกเนือง ๆ อยู่พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในและภายนอกเนือง ๆ อยู่มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติก าจัดอภิชฌาและโทมนัสเสียได้ในโลก

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีกี่วิธี

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มี ๑๔ บรรพ (หัวข้อ) ได้แก่ อานาปานบรรพ อิริยาบถบรรพ สัมปชัญญบรรพ ปฏิกูลบรรพ ธาตุบรรพ นวสีวถิกาบรรพ ๙ (ป่าช้า ๙ ข้อ) รวมเป็น ๑๔ บรรพ ซึ่งจะแสดงต่อไป

กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน เป็นการพัฒนาสิ่งใด

1. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การมีสติตั้งมั่นในการพิจารณากายในกาย หมายถึง การประชุมแห่งรูปเป็นการใช้สติระลึกรู้ในรูปนามปัจจุบันว่าไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เป็น เพียงแต่ธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มาประกอบกันอยู่ให้รู้ว่า เป็นอิริยาบถใหญ่ที่ให้ผู้ปฎิบัติได้รู้ได้ เข้าใจในการปฏิบัติให้รู้เท่าทันว่า

กายานุปัสนา คือการฝึกแบบใด

การเจริญกายานุปัสสนา คือการตั้งสติพิจารณาให้เห็น กายภายนอก และ กายภายใน ด้วยการพิจารณาใน ๕ หมวด ได้แก่ อานาปานสติ คือเรียนรู้ในการท าความเข้าใจลมหายใจเข้าออก เข้ายาวมีสติรู้ เข้าสั้นมีสติรู้ ล าดับที่สองคือ อิริยบถ มีสติระลึกรู้ในอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน และ อิริยาบถย่อยอื่นๆ ล าดับที่สาม คือสัมปชัญญะ การตั้งสติ ...