ความหลากหลายทางชีวภาพ ตรง กับ ภาษาอังกฤษ ว่า อะไร

Written by Administrator   
Friday, 27 November 2009 05:07

ความหลากหลายทางชีวภาพ ตรง กับ ภาษาอังกฤษ ว่า อะไร

ความหลากหลายทางชีวภาพ


ความหลากหลายทางชีวภาพหมายถึงอะไร
คำว่าความหลากหลายทางชีวภาพ มาจาก Biodiversity หรือ biological diversity
ความหลากหลาย (diversity) หมายถึง มีมากมายและแตกต่าง ทางชีวภาพ (biological) หมายถึง ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิต
ความหลากหลายทางชีวภาพ หมายถึง การมีสิ่งมีชีวิตนานาชนิด นานาพันธุ์ในระบบนิเวศอันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ซึ่งมีมากมายและแตกต่างกันทั่วโลก หรือพูดง่ายๆ คือ การที่มีชนิดพันธุ์ (species) สายพันธุ์ (genetic) และระบบนิเวศ (ecosystem) ที่แตกต่างหลากหลายบนโลก
ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง และวิวัฒนาการของทั้งสิ่งมีชีวิตเอง และสิ่งแวดล้อม ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ มีความหมายครอบคลุมถึงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตนานาชนิด (Species diversity) ความหลากหลายทางพันธุกรรม (Genetic diversity) และความหลากหลายทางนิเวศ (Ecological diversity)

ประเภทของความหลากหลายทางชีวภาพ
คนมักเข้าใจว่าความหลากหลายทางชีวภาพคือ การที่มีสิ่งมีชีวิตหลายๆชนิด ชนิดในที่นี้ก็คือ สปีชีส์ ความจริงแล้วความหลากหลายทางชีวภาพนั้น มีองค์ประกอบอยู่ 3 อย่าง คือ 
1. ความหลากหลายในเรื่องชนิด (Species diversity)
ความหลากหลายในเรื่องชนิดของสิ่งมีชีวิต หมายถึง ความหลากหลายชนิดของสิ่งมีชีวิต (Species)ที่มีอยู่ในพื้นที่หนึ่ง มีความหมาย 2 แง่ คือ ความมากชนิด (species richness)กับความสม่ำเสมอของชนิด (species evenness) ความมากชนิดคือ จำนวนชนิดของสิ่งมีชีวิตต่อหน่วยเนื้อที่ส่วนความสม่ำเสมอของชนิด หมายถึง สัดส่วนของสิ่งมีชีวิตต่างๆที่มีอยู่
2. ความหลากหลายของพันธุกรรม (Genetic diversity)
ความหลากหลายของพันธุกรรม หมายถึงความหลากหลายของยีนส์ที่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด สิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันอาจมียีนส์แตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ เช่น ข้าวมีสายพันธุ์นับพันชนิด มันฝรั่ง หรือพืชอาหาร ชนิดอื่น เช่น ข้าวโพด มัน พริก ก็มีมากมายหลายสายพันธุ์ ความหลากหลายของพันธุกรรมมีน้อยในพืชเกษตรลูกผสม ความหลากหลายของยีนส์มีคุณค่ามหาศาล นักผสมพันธุ์พืชได้นำสายพันธุ์พืชป่ามาปรับปรุง เพื่อเพิ่มผลผลิตและต้านทานศัตรูพืช โดยผลประโยชน์ตรงจุดนี้ก็เกิดกับมนุษย์นั่นเอง
ความหลากหลายทางพันธุกรรม (genetic diversity) ได้แก่ ความหลากหลายขององค์ประกอบทางพันธุกรรมในสิ่งมีชีวิต ซึ่งแสดงออกด้วยลักษณะ ทางพันธุกรรมต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็นโดยทั่วไปทั้งภายในสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันและระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างชนิดกัน ระดับความแตกต่างนี่เองที่ใช้กำหนดความใกล้ชิดหรือความห่างของสิ่งมีชีวิตในสายวิวัฒนาการ สิ่งมีชีวิตที่สืบทอดลูกหลานด้วยการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศหรือ สิ่งมีชีวิตที่เป็นฝาแฝดเหมือน ย่อมมีองค์ประกอบพันธุกรรมเหมือนกันเกือบทั้งหมด เนื่องจากเปรียบเหมือนภาพพิมพ์ของกันและกันสิ่งมีชีวิตที่สืบทอดมาจากต้นตระกูลเดียวกัน ย่อมมีความคล้ายคลึงกันทางพันธุกรรม มากกว่าสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่ญาติกัน ยิ่งห่างก็ยิ่งต่างกันมากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นสิ่งมีชีวิตต่างชนิดต่างกลุ่มหรือต่างอาณาจักรกัน ตามลำดับ นักชีววิทยามีเทคนิคการวัดความหลากหลายทางพันธุกรรมหลายวิธี แต่ทุกวิธีอาศัยความแตกต่างขององค์ประกอบทางพันธุกรรมเป็นดัชนีในการวัด หากสิ่งมีชีวิตชนิดใดมีองค์ประกอบทางพันธุกรรมเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด ย่อมแสดงว่าสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นไม่มีความหลากหลายทางพันธุกรรม
3. ความหลากหลายของระบบนิเวศ (Ecosystem diversity)
ความหลากหลายของระบบนิเวศมีอยู่ 3 ประเด็นคือ
3.1 ความหลากหลายของถิ่นตามธรรมชาติ
แต่ละถิ่นกำเนิดก็มีสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่แตกต่างกันไป เช่น ลำน้ำพบควายป่า ในถ้ำมีค้างคาว เป็นต้น โดยทั่วไปแล้วที่ใดมีถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติหลากหลายที่นั่นจะมีชนิดสิ่งมีชีวิตตามไปด้วย  ระบบนิเวศแต่ละระบบเป็นแหล่งของถิ่นที่อยู่อาศัย (habitat) ของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ซึ่งมีปัจจัยทางกายภาพและชีวภาพที่เหมาะสมกับสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดในระบบนิเวศนั้น สิ่งมีชีวิตบางชนิดมีวิวัฒนาการมาในทิศทางที่สามารถปรับตัวให้อยู่ได้ในระบบนิเวศที่หลากหลาย แต่บางชนิดก็อยู่ได้เพียงระบบนิเวศที่มีภาวะเฉพาะเจาะจงเท่านั้น ความหลากหลายของระบบนิเวศขึ้นอยู่กับชนิดและจำนวนประชากรของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศนั้นๆ สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดผ่านกระบวนการวิวัฒนาการในอดีต และมีขีดจำกัดที่จะดำรงอยู่ในภาวะความแปรปรวนของสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความหลากหลายทางพันธุกรรมภายในประชากรของมันเองส่วนหนึ่ง และขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความแปรปรวนของสิ่งแวดล้อมอีกส่วนหนึ่ง หากไม่มีทั้งความหลากหลายทางพันธุกรรมและความหลากหลายของระบบนิเวศ สิ่งมีชีวิตกลุ่มนั้นย่อมไร้ทางเลือกและหมดหนทางที่จะอยู่รอดเพื่อสืบทอดลูกหลานต่อไป
3.2 ความหลากหลายของการทดแทน
ในป่านั้นมีการทดแทนสังคมพืช กล่าวคือ เมื่อป่าถูกทำลายจะโดยวิธีใดก็ตาม เช่น พายุพัดไม้ป่าหักโค่น ไฟป่า เป็นต้น พื้นที่จะเกิดที่โล่งต่อมาจะมีพืชเบิกนำ เช่น หญ้าคา และเมื่อทิ้งไว้โดยไม่รบกวนจะมีเนื้อไม้ออ่อนโตเร็ว เช่นกระทุ่มน้ำ ปอหูช้าง เกิดขึ้น และต่อไปป่าดั้งเดิมจะกลับมาอีกครั้ง
3.3 ความหลากหลายของภูมิประเทศ
ในท้องที่บางแห่งมีถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติมากมาย เช่น ลำน้ำ บึง หาดทราย หุบเขา ภูเขา ลานหิน และมีสังคมพืช ในหลายๆยุคของการทดแทน มีทุ่งหญ้าป่าโปร่งและป่าทึบ ที่เช่นนี้จะมีสรรพสิ่งมีชีวิตมากมายผิดกับในเมืองหนาวที่มีต้นไม้ชนิดเดียวขึ้นอยู่บนเนื้อที่หลายร้อยไร่ มองไปก็เจอต้นไม้สนเพียงต้นเดียว

นักชีววิทยาได้คาดการณ์ว่าในโลกมีสิ่งมีชีวิตจำนวนหลายล้านชนิด เป็นสิ่งมีชีวิตในป่าเขตร้อนชื้น (Tropical rain forest) ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมประมาณ 7% ของพื้นแผ่นดินที่อยู่อาศัยของโลก และคาดว่าจะมีสิ่งมีชีวิตไม่ต่ำกว่า 5 ล้านชนิด แต่จากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันบ่งบอกว่าสิ่งมีชีวิตเพียง 5 แสนชนิดเท่านั้นที่ได้รับการศึกษาตามหลักวิทยาศาสตร์ ในการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในโลก เกิดความหลากหลายทางชีวภาพขึ้น  การเกิดขึ้นย่อมต้องมีขบวนการทางธรรมชาติบางอย่างในการก่อให้เกิดความสมดุล มีการสูญพันธุ์เกิดขึ้น ซึ่งการสูญพันธุ์ในช่วงระยะเวลา 600 ล้านปีที่ผ่านมา เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติโดยเฉลี่ยประมาณปีละ 1 ชนิดพันธุ์ เท่านั้น แต่ในปัจจุบันการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตเกิดได้เร็วมาก โดยเฉพาะป่าเขตร้อนชื้นในประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งเกิดจากน้ำมือมนุษย์ นักวิชาการได้มีการประเมินว่าอัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตจะสูญพันธุ์ไม่น้อยกว่า 20-60% ในคริสศตวรรษที่ 20 หากอัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตยังไม่ลดลง

จากการที่นักวิชาการประมาณการว่ามีสิ่งมีชีวิตในโลกนี้มีประมาณ 5 ล้านชนิด ในจำนวนนี้มีอยู่ในประเทศไทย ประมาณร้อยละเจ็ด ประเทศไทยมีประชากรเพียงร้อยละหนึ่ง ของประชากรโลก ดังนั้น เมื่อเทียบสัดส่วนกับจำนวนประชากร ประเทศไทยจึงนับว่ามีความร่ำรวยอย่างมากในด้านความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต
สิ่งมีชีวิตในประเทศไทยหลากหลายได้มาก เนื่องจากมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่หลากหลายและแต่ละแหล่งล้วนมีปัจจัยที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิต นับตั้งแต่ภูมิประเทศแถบชายฝั่งทะเล ที่ราบลุ่มแม่น้ำ ที่ราบลอนคลื่น และภูเขาที่มีความสูงหลากหลายตั้งแต่เนินเขาจนถึงภูเขาที่สูงชันถึง 2,400 เมตรจากระดับน้ำทะเล ประเทศไทยจึงเป็นแหล่งของป่าไม้นานาชนิด ได้แก่ ป่าชายเลน ป่าพรุ ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบ และป่าสนเขา

อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยสูญเสียพื้นที่ป่าเป็นจำนวนมหาศาล เนื่องจากหลายสาเหตุด้วยกัน อาทิ การเพิ่มของประชากรทำให้มีการบุกเบิกป่าเพิ่มขึ้น การให้สัมปทานป่าไม้ที่ขาดการควบคุมอย่างเพียงพอ การตัดถนนเข้าพื้นที่ป่า การเกษตรเชิงอุตสาหกรรม การแพร่ของเทคโนโลยีที่ใช้ทำลายป่าได้อย่างรวดเร็ว การครอบครองที่ดินเพื่อเก็งกำไร เป็นต้น พื้นที่ป่าไม้ซึ่งเคยมีมากถึงประมาณ 2.7 แสนตารางกิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ 53 ของพื้นที่ประเทศไทยในปี พ.ศ. 2504 เหลือเพียงประมาณ 1.3 แสนตารางกิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ 26 ในปี พ.ศ. 2536 ข้อมูลนี้จากการศึกษาตามโครงการ VAP61 โดยคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2539) แสดงว่าพื้นที่ป่าไม้ลดลงเท่าตัวในช่วงเวลา 32 ปี และส่วนใหญ่ เกิดขึ้นกับป่าบนภูเขาและป่าชายเลน ยังผลให้พืชและสัตว์สูญพันธุ์ อาทิ เนื้อสมัน แรด กระซู่ กรูปรี และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้นี้อีกเป็นจำนวนมาก อาทิ ควายป่า ละอง ละมั่ง เนื้อทราย กวางผา เลียงผา สมเสร็จ เสือลายเมฆ เสือโคร่ง และช้างป่า รวมทั้งนก สัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบก สัตว์เลื้อยคลาน แมลง และ สัตว์น้ำอีกเป็นจำนวนมาก
การทำลายป่าก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แหล่งน้ำที่เคยอุดมสมบูรณ์ เริ่มลดน้อยลง ผืนป่าที่เหลืออยู่ไม่สามารถซับน้ำฝนที่ตกหนัก เกิดปรากฏการณ์น้ำท่วมฉับพลัน ยังผลให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจ บ้านเรือน และความปลอดภัยของชีวิตคนและสัตว์เป็นอันมาก เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมที่ อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช เหตุการณ์พายุเกย์ถล่มจังหวัดชุมพร และเหตุการณ์น้ำท่วมในที่ต่างๆ เป็นต้น

ปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย จึงเป็นปัญหาใหญ่และเร่งด่วนที่จะต้องช่วยกันแก้ไขด้วยการหยุดยั้งการสูญเสียระบบนิเวศป่าทุกประเภท การอนุรักษ์สิ่งที่เหลืออยู่ และการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมให้กลับคืนสู่สภาพป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพดังเดิม เพราะความหลากหลายเหล่านั้น เป็นพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน
สังคมไทยมีพื้นฐานมาจาก สังคมเกษตรกรรม และเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมต้องพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก วัฒนธรรมไทยหลายอย่างผูกพันกับการแสดงออกซึ่งความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณในการเพาะปลูก คนไทยแต่โบราณกาลจึงมีความอ่อนน้อมต่อธรรมชาติและผูกพันกับธรรมชาติอย่างแยกกันไม่ออก นับว่าคนไทยมีพื้นฐานเชิงวัฒนธรรมพร้อมมูลอยู่แล้ว
แม้ว่าการศึกษาสมัยใหม่จะมีการเรียนรู้เกี่ยวกับวิชาการและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า แต่การใช้เทคโนโลยีและวิชาการอย่างไม่เข้าใจหลักการและความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ย่อมนำสังคมไปสู่หายนะในระยะยาว แม้ว่าในระยะสั้นจะดูเหมือนว่ามีความเจริญรุ่งเรืองก็ตาม

Last Updated on Tuesday, 21 June 2011 08:21

ความหลากหลายทางชีวภาพตรงกับภาษาอังกฤษข้อใด

ความหลากหลายทางชีวภาพ (อังกฤษ: biodiversity) หมายถึง การมีสิ่งมีชีวิตนานาชนิดพันธุ์ในระบบนิเวศอันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ซึ่งมีมากมายและแตกต่างกันทั่วโลก หรือง่าย ๆ คือ การที่มีชนิดพันธุ์ (species) สายพันธุ์ (genetics) และระบบนิเวศ (ecosystem) ที่แตกต่างหลากหลายบนโลก

ความหลากหลายทางชีวภาพมีความสําคัญอย่างไรบ้าง

ความสำคัญของความหลากหลายชีวภาพทางการเกษตร สร้างความมีเสถียรภาพและความยั่งยืนให้กับพื้นที่เกษตรกรรมและสภาพแวดล้อม การมีสายพันธุ์พืช สายพันธุ์สัตว์ ที่หลากหลายซึ่งช่วยป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูพืชได้ มีส่วนช่วยในการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินและการอนุรักษ์ดินและน้ำ

ความหมายของความหลากหลายทางชีวภาพคืออะไร

ความหลากหลายทางชีวภาพ หมายถึง การมีสิ่งมีชีวิตนานาชนิด นานาพันธุ์ในระบบนิเวศอันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ซึ่งมีมากมายและแตกต่างกันทั่วโลก หรือง่ายๆ คือ การที่มีชนิดพันธุ์ (species) สายพันธุ์ (genetic) และระบบนิเวศ (ecosystem) ที่แตกต่างหลากหลายบนโลก

อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพมีชื่อย่อภาษาอังกฤษว่าอะไร

อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ( The Convention on Biological Diversity – CBD)