สิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้ามีอะไรบ้าง

คำว่า เครื่องหมายการค้า ชาวบ้านทั่วไปคงจะไม่คุ้นเคยกันนัก แต่คำว่า ยี่ห้อ ตรา โลโก้ หรือแบรนด์ ชาวบ้านจะคุ้นเคยรู้จักและเรียกขานคำเหล่านี้มากกว่า หากท่านสังเกตรอบตัวเราจะเห็นว่าชีวิตประจำวันของเราเกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้า นับตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้าจนถึงเข้านอนล้วนแล้วแต่ต้องสัมผัสกับสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องอุปโภค บริโภค ที่มีเครื่องหมายการค้า ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาปลุกที่ ปลุกให้เราตื่นนอนตรงเวลา สุขภัณฑ์ที่ใช้ทำธุระในห้องน้ำ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน สบู่ แชมพู เครื่องแต่งกายทุกชิ้น อาหาร เครื่องดื่มล้วนแล้วแต่มีเครื่องหมายการค้าทั้งนั้น เครื่องหมายการค้านาฬิกาปลุก เช่น ไซโก้ ซิติเซ่น เครื่องหมายการค้าของเครื่องสุขภัณฑ์ เช่น อเมริกันแสตนดาร์ด คอตโต้ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน เช่น คอลเกต ใกล้ชิด ไลอ้อน สบู่ เช่น ลักซ์ นกแก้ว แชมพู เช่น ซันซิล แพนทีน ที่เป็นอาหาร เช่น บะหมี่ มาม่า ไวไว ยำยำ ขนมปัง เช่น ฟาร์มเฮ้าส์ เอสแอนด์พี ยามาซากิ เครื่องดื่ม เช่น เป็ปซี่ โค้ก แฟนต้า สไปรท์ เป็นต้น

2. ประวัติเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย

ประเทศไทยได้มีกฎหมายเครื่องหมายการค้าบังคับใช้และพัฒนาปรับปรุงแก้ไขเป็นระยะๆ ดังนี้

1. กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2450 ถูกยกเลิกในปี พ.ศ. 2500 และมีประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับแทน

2. พ.ร.บ. ลักษณะเครื่องหมายการค้าและยี่ห้อการค้าขาย พ.ศ. 2457 เป็นกฎหมายเครื่องหมายการค้าฉบับแรกของไทยที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

3. พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 พ.ร.บ. ฉบับนี้ใช้บังคับแทน พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้าและยี่ห้อการค้าขาย พ.ศ. 2457 ที่ถูกยกเลิกไป มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2474 ในสมัยรัชกาลที่ 7 มีการปรับปรุงแก้ไข 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2476 และ พ.ศ. 2504

4. พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ใช้บังคับแทน พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ที่ยกเลิกไป เนื่องจาก พ.ร.บ. พ.ศ. 2474 บังคับใช้มานานมาก กฎหมายที่ใช้ไม่ทันต่อสภาวะเศรษฐกิจของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคและบริโภคในสภาวะปัจจุบันได้อย่างเพียงพอ จึงได้ทำการยกร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้น คือ พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับใช้ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2535 จนถึงปัจจุบัน กฎหมายฉบับนี้ได้บัญญัติเพิ่มเติมเครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง เครื่องหมายร่วม และสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าเพิ่มเข้ามาให้เป็นกฎหมายฉบับที่มีความทันสมัย

3. บทบาทของเครื่องหมายการค้าในเชิงพาณิชย์

3.1 เป็นสื่อกลางในการซื้อขายสินค้า เครื่องหมายการค้าทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการซื้อขายสินค้า ดังนี้

3.1.1 เป็นสัญลักษณ์แทนตัวผู้ผลิตสินค้า

3.1.2 บอกแหล่งที่มาของสินค้า

3.1.3 แสดงคุณภาพของสินค้า

ผู้ซื้อสินค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าโดยจดจำเครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้านั้นๆ ได้

3.2 รักษาสิทธิประโยชน์ของเจ้าของเครื่องหมายการค้า เจ้าของเครื่องหมายการค้า ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ดังนี้

3.2.1 สิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าของตน

3.2.2 สิทธิที่จะโอนหรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้เครื่องหมายการค้าของตนได้

3.2.3 สิทธิที่จะเรียกร้องค่าทดแทนทางแพ่ง

3.2.4 สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีอาญา

3.3 คุ้มครองผู้บริโภคสินค้า เครื่องหมายการค้าแตกต่างกันย่อมเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ดังนี้

3.3.1 ผู้บริโภคซื้อสินค้าได้ถูกต้องไม่สับสนหลงผิด

3.3.2 เพิ่มโอกาสในการเลือกซื้อสินค้าในการบริโภค

3.4 โฆษณาสินค้า การโฆษณาสินค้าเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ดังนี้

* ผู้บริโภคสามารถจดจำสินค้าจากเครื่องหมายการค้าที่กำกับอยู่กับตัวสินค้าได้

4. เครื่องหมายคืออะไร

เครื่องหมาย คือ ภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่อ คำ ตัวหนังสือ ตัวเลข ลายมือชื่อ หรือสิ่งเหล่านี้อย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน แต่ไม่หมายความรวมถึงแบบผลิตภัณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตร

5. เครื่องหมายการค้าคืออะไร

เครื่องหมายการค้า คือ เครื่องหมายที่ใช้กำกับสินค้า เพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายนั้นเป็นของผู้ใด แตกต่างกับสินค้าของผู้อื่นอย่างใด เครื่องหมายการค้าอาจจะเป็น ภาพ คำ ตัวอักษร ลายมือชื่อหรือตัวเลข ฯลฯ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันก็ได้

6. ประเภทของเครื่องหมายการค้า

เครื่องหมายการค้าแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่

6.1 เครื่องหมายการค้า (TRADEMARKS)

6.2 เครื่องหมายบริการ (SERVICE MARKS)

6.3 เครื่องหมายรับรอง (CERTIFCATION MARKS)

6.4 เครื่องหมายร่วม (COLLECTIVE MARKS)

7. ความหมายของเครื่องหมายการค้าแต่ละประเภท

7.1 เครื่องหมายการค้า คือ เครื่องหมายที่ใช้กำกับสินค้า เพื่อให้ผู้ซื้อสินค้าหรือคนทั่วไปแยกแยะได้ว่า สินค้านั้นแตกต่างกับสินค้าของผู้อื่น เช่นสินค้าน้ำอัดลม โค้ก แตกต่างกับเป็ปซี่ เป็นต้น

7.2 เครื่องหมายบริการ เป็นเครื่องหมายที่ใช้กับธุรกิจบริการ เพื่อแยกแยะว่าธุรกิจบริการนั้นแตกต่างจากธุรกิจบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการของผู้อื่น เช่น เครื่องหมายบริการรูปดอกจำปีของสายการบินไทย แตกต่างกับสายการบินอื่นๆ เป็นต้น

7.3 เครื่องหมายรับรอง เป็นเครื่องหมายที่เจ้าของเครื่องหมายใช้รับรองคุณภาพหรือบริการของผู้อื่น ว่าคุณภาพหรือลักษณะของสินค้าหรือบริการนั้นมีคุณภาพเป็นอย่างไร เช่น เครื่องหมายรับรองรูปชามเชลล์ชวนชิม เครื่องหมายรับรองเปิปพิสดาร เครื่องหมายรับรอง MOHAIR รับรองผ้าขนสัตว์ เป็นต้น

7.4 เครื่องหมายร่วม เป็นเครื่องหมายการค้าหรือบริการที่ใช้โดยบริษัท หรือรัฐวิสาหกิจในกลุ่มเดียวกัน หรือโดยสมาชิกของสมาคม สหกรณ์ เป็นต้น เช่น รูปช้างในรูปตะกร้อของเครือปูนซีเมนต์ไทย เป็นต้น

8. เครื่องหมายการค้าจะต้องจดทะเบียน

ระบบเครื่องหมายการค้าในประเทศเราเป็นระบบการจดทะเบียน มีหลักการว่าเครื่องหมายการค้าที่จะได้รับความคุ้มครองจะต้องได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมาย

9. เครื่องหมายการค้าที่รับจดทะเบียนได้

จะต้องมีลักษณะ ดังนี้

9.1 มีลักษณะเป็นเครื่องหมาย

9.2 มีลักษณะบ่งเฉพาะ

9.3 ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย

9.4 ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้แล้ว

9.1 เครื่องหมายที่มีลักษณะเป็นเครื่องหมาย เช่น อาจเป็นภาพ คำ ตัวอักษร ตัวเลข ลายมือชื่อ เป็นต้น

9.2 เครื่องหมายที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ได้แก่ เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะที่ทำให้ผู้ซื้อสินค้าทราบและเข้าใจว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้น แตกต่างจากสินค้าของเครื่องหมายการค้าของบุคลอื่น เครื่องหมายการค้าที่ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 ต้องมีลักษณะ ดังนี้

9.2.1 ชื่อตัว ชื่อสกุล ของบุคคลที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจธรรมดา ชื่อนิติบุคคล หรือชื่อในทางการค้า ซึ่งต้องแสดงโดยลักษณะพิเศษ

ตัวอย่างเช่น คำว่า Pierre Cardin, Jack Niclaus ถนัดศรี เป็นต้น

9.2.2 คำหรือข้อความที่ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง เช่น คำว่า Super , Clean หรือ คลีน เป็นต้น

9.2.3 ตัวหนังสือ ตัวเลข หรือคำประดิษฐ์ขึ้น

ตัวอย่างเช่น คำว่า Reds , DIFF – KEEN เป็นคำที่ไม่มีความหมายจึงเป็นคำประดิษฐ์

9.2.4 คำหรือข้อความที่ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง เช่น คำว่า น้ำปลาแท้ ตรา เสม็ด และรูปปลาใช้กับสินค้าน้ำปลา เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง

9.2.5 ไม่เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ เช่น คำว่า กรุงเทพมหานคร เกาะเสม็ด ศรีราชา พัทยา สงขลา จดทะเบียนไม่ได้ เป็นต้น

9.2.6 ลายมือชื่อของผู้ของจดทะเบียนขอจดได้ แต่ของบุคลอื่นต้องขออนุญาตจากเจ้าของายมือชื่อ เช่น ถนัดศรี

9.2.7 ภาพของผู้ขอจดทะเบียนจดได้ แต่ถ้าเป็นภาพของบุคคลอื่นต้องขออนุญาตจากบุคคลนั้น หรือบุคคลที่ตายไปแล้ว ต้องขออนุญาตจากบุพพการี คู่สมรส ผู้สืบสันดาร (ถ้ามี)

ตัวอย่าง เช่น น้ำพริกเผาแม่ประนอมและรูปแม่ประนอม เป็นต้น

9.2.8 ภาพที่ประดิษฐ์ขึ้น หมายถึง ภาพที่คิดขึ้น ทำ แต่ง สร้าง จิตนาการ ดัดแปลงขึ้น และไม่เป็นภาพบรรยายสินค้า เช่น ภาพมิคกี้เม้าส์

9.3 เครื่องหมายที่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียน (มาตรา 8) ได้แก่

9.3.1 ตราแผ่นดิน เครื่องหมายราชการ ธงชาติไทย ธงราชการ

9.3.2 เครื่องหมายประจำชาติ หรือ ธงชาติของรัฐต่างประเทศ เครื่องหมายธงหรือองค์การ ระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก

9.3.3 พระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย พระปรมาภิไธยย่อ พระนามาภิไธยย่อ

9.3.4 พระบรมฉายาลักษณ์ หรือพระบรมสาทิสลักษณ์ของ พระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือรัชทายาท

9.3.5 พระราชลัญจกร ลัญจกรในราชการ หรือตราประจำตำแหน่ง

9.3.6 เครื่องราชอิสริยาภรณ์

9.3.7เครื่องหมายกาชาด นามกาชาด หรือเจนีวา

9.3.8 เครื่องหมายที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือ รัฐประศาสนโยบาย

9.3.9 เครื่องหมายที่เหมือนกับเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลาย หรือคล้ายกับเครื่องหมายดังกล่าว จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ไม่ว่า จะได้จดทะเบียนไว้แล้วหรือไม่ก็ตาม

9.3.10 เครื่องหมายอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เช่น ประกาศกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2540) เครื่องหมายที่เหมือนหรือคล้ายกับชื่อเภสัชภัณฑ์สากลที่องค์การอนามัยโลกได้ขึ้นทะเบียนสงวนสิทธิครอบครอง เครื่องหมายซึ่งอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดแหล่งกำเนิดหรือความเป็นเจ้าของสินค้าหรือบริการ

9.4 ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น

เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนจะต้องเป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น หมายถึง จะต้องไม่มีลักษณะเป็นคำๆ เดียวกันหรือเป็นรูปๆ เดียวกัน และจะต้องไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น หมายถึง เครื่องหมายที่มีลักษณะคำหรือรูปที่คล้ายคลึงกัน หรือมีทั้งรูปลักษณะของคำและรูปที่คล้ายคลึงกัน แต่ถ้าความคล้ายกันนี้สาธารณชนผู้ซื้อสินค้าสามารถแยกแยะความแตกต่างกันได้ เครื่องหมายการค้านั้นก็อาจรับจดทะเบียนได้ แต่ถ้าหากคล้ายกันจนทำให้สาธารณชนผู้ซื้อสินค้าสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้า หรือแหล่งกำเนิดของสินค้าแล้วเครื่องหมายการค้านั้นก็ไม่อาจรับจดทะเบียนได้

หลักเกณฑ์การพิจารณาความเหมือนหรือคล้ายกัน

พิจารณาเสียงและสำเนียงเรียกขานเครื่องหมายการค้า

พิจารณาการวางรูปลักษณะของคำ ของตัวอักษร จำนวนตัวอักษร หรือการประดิษฐ์ตัวอักษร

พิจารณาจากความเหมือนหรือคล้ายในรูปเครื่องหมายการค้า

พิจารณาจากลักษณะการวางรูปรอยประดิษฐ์

พิจารณาจากสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นๆ

พิจารณาจากการใช้เครื่องหมายการค้ากับตัวสินค้า

พิจารณาจากเจตนาของผู้ยื่นขอจดทะเบียน

ตัวอย่าง เช่น คำว่า SAMKO คล้ายกับ SANKO คำว่า J press คล้ายกับ L cross

รูปศรีษะคนและศรีษะสุนัข คล้าย รูปศรีษะคนและสุนัข คำว่า TINTIN & SNOWY

รูปการ์ตูน คำว่า Doctor Tee คล้าย คำว่า Doctor T.

คำว่า TROPPICANA คล้าย คำว่า TROPICALN ทรอปิคาลนา

รูปหัวอินเดียแดง คำว่า LESS คล้าย รูปหัวอินเดียแดง

10 ของเจ้าของเครื่องหมายการค้า

สิทธิในความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า แบ่งได้เป็น 2 ส่วน ดังนี้

10.1 เครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียน

เจ้าของเครื่องหมายการค้ามีสิทธิที่จะใช้เครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนนั้นได้

มีสิทธิที่จะฟ้องคดีกับบุคคลใด ซึ่งเอาสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น

แต่จะฟ้องคดีเพื่อป้องกันการละเมิดเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน หรือเรียกค่าเสียหายไม่ได้

10.2 เครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้ว

เจ้าของเครื่องหมายการค้ามีสิทธิแต่เพียงผู้เดียว ที่จะใช้เครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าที่จดทะเบียนแล้ว

ในกรณีที่มีผู้อื่นละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้า เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้มีสิทธิที่จะฟ้องร้องและเรียกค่าสินไหมทดแทนได้

มีสิทธิที่ฟ้องคดีอาญาสำหรับผู้กระทำผิด ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้าฯ ได้

มีสิทธิโอนเครื่องหมายการค้าให้ผู้อื่น

มีสิทธิในการทำสัญญาอนุญาตให้ผู้อื่นใช้เครื่องหมายการค้าของตน

มีสิทธิในการใช้สีเครื่องหมายการค้าได้ทุกสี ในกรณีที่จดทะเบียนไว้โดยไม่จำกัดสี

11. การได้มาซึ่งความคุ้มครองเครื่องหมายการค้า

ผู้ซึ่งประสงค์ที่จะได้รับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการเครื่องหมายรับรอง และเครื่องหมายร่วม จะต้องนำเครื่องหมายนั้นๆ ไปจดทะเบียนจึงจะได้รับความคุ้มครองที่สมบูรณ์

12. อายุความคุ้มครองและการต่ออายุ

เครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วจะมีอายุความคุ้มครอง 10 ปี นับแต่วันยื่นจดทะเบียน และสามารถต่ออายุได้ทุกๆ 10 ปี โดยไม่จำกัดแต่จะต้องยื่นคำขอต่อนายทะเบียน ภายใน 90 วัน ก่อนวันสิ้นอายุ มิฉะนั้นจะถือว่า เครื่องหมายการค้านั้นได้ถูกเพิกถอนการจดทะเบียน

13. การโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้า

เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วย่อมโอนหรือรับมรดกกันได้ ทั้งนี้ จะเป็นการโอนหรือรับมรดกพร้อมกับกิจการที่เกี่ยวกับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วหรือไม่ก็ได้ และจะต้องจดทะเบียนต่อนายทะเบียนจึงจะมีผลสมบูรณ์ในกรณีที่ได้จดทะเบียนไว้เป็นเครื่องหมายชุด การโอนจะต้องโอนทั้งชุด

14. การจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ

เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้ว จะทำสัญญาอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายของตน สำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ทั้งหมดหรือบางอย่างก็ได้ สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียน

15. การเพิกถอนการจดทะเบียน

เครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว อาจถูกเพิกถอนได้ด้วยเหตุต่างๆ ดังนี้

เจ้าของเครื่องหมายการค้ามิได้ต่ออายุภายในกำหนดเวลา (มาตรา 56)

เจ้าของเครื่องหมายการค้าขอถอนการจดทะเบียน (มาตรา 57)

เจ้าของเครื่องหมายการค้าฝ่าฝืนหรือมิได้ปฎิบัติตามเงื่อนไข หรือข้อจำกัดที่นายทะเบียนกำหนดในการรับจดทะเบียน (มาตรา 58)

เจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือตัวแทนเลิกตั้งสำนักงาน หรือสถานที่ที่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย (มาตรา 59)

ผู้มีส่วนได้เสียหรือนายทะเบียนร้องขอต่อคณะกรรมการ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนหากแสดงได้ว่าในขณะที่จดทะเบียน มิได้เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 หรือเป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 (มาตรา 61)

มีผู้ขอร้องขอต่อคณะกรรมการให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียน เพราะเป็นเครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือรัฐประศาสโนบาย (มาตรา 62)

ผู้มีส่วนได้เสียหรือนายทะเบียนร้องขอต่อคณะกรรมการให้เพิกถอนการจดทะเบียน หากพิสูจน์ได้ว่าในขณะที่ยื่นขอจดทะเบียนเจ้าของเครื่องหมายการค้า มิได้ตั้งใจโดยสุจริตที่จะใช้เครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าที่จดทะเบียนไว้ หรือในระหว่าง 3 ปี ก่อนที่จะมีคำร้องขอเพิกถอนมิได้มีการใช้โดยสุจริตสำหรับสินค้าที่จดทะเบียนไว้ (มาตรา 63)

ผู้มีส่วนได้เสียหรือนายทะเบียนร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนการจดทะเบียนหากแสดงได้ว่า ในขณะที่ร้องขอเครื่องหมายการค้านั้นกลายเป็นสิ่งสามัญ ในการค้าขายสำหรับสินค้าบางอย่างหรือบางจำพวก (มาตรา 66)

ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียน ผู้มีสิทธิดีกว่าร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (มาตรา 67)

16. บทบาทของกรมทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า

16.1 การจดทะเบียน บุคคลหรือนิติบุคคล หากประสงค์จะให้เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง และเครื่องหมายร่วม ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย จะต้องนำเครื่องหมายนั้นๆ มายื่นขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามระเบียบและวิธีการที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญามีหน้าที่ให้บริการจดทะเบียนอยู่แล้ว

16.2 การคุ้มครองสิทธิ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้จัดตั้งศูนย์ประสานการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาขึ้น เพื่อดำเนินงานด้านคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา อันได้แก่ เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตร ตลอดจนเข้าร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ในการดำเนินการปราบปรามการละเมิดหรือการกระทำที่ผิดกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา

17. ผลกระทบของการละเมิดเครื่องหมายการค้าต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ทำให้เกิดการฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อโต้แย้งสิทธิในความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าระหว่างกันขึ้น

การละเมิดเครื่องหมายการค้าของต่างประเทศ เกิดผลเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ตอบโต้ด้วยการตัด GSP หลายรายการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจการส่งออกของไทยเป็นอย่างมาก

ต่างประเทศที่ละเมิดเครื่องหมายการค้าของไทย มีผลทำให้ผู้ส่งออกของไทยไม่สามารถส่งสินค้าไปขายต่างประเทศนั้นๆ ได้ ทำให้ต้องสูญเสียรายได้และการขยายตลาดส่งออก

18. บทกำหนดโทษ

บทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 เช่น

18.1 แสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อนายทะเบียนหรือคณะกรรมการต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 107)

18.2 ปลอมเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรองเครื่องหมายร่วม จำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 108)

18.3 เลียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง เครื่องหมายร่วม จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 109) แสดงเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วม ที่มิได้จดทะเบียนในราชอาณาจักรว่าเป็นเครื่องหมายที่ได้จดทะเบียนในราชอาณาจักรแล้ว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 111)

19. ค่าธรรมเนียม

การชำระค่าธรรมเนียมคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนการยื่นคำขอจดทะเบียน ค่าธรรมเนียมขึ้นอยู่กับจำนวนรายการสินค้าหรือบริการที่จะจดทะเบียน ซึ่งจะต้องชำระค่าธรรมเนียมสินค้าหรือบริการอย่างละ 500 บาท

ขั้นตอนการประกาศโฆษณา ผู้ขอจะต้องชำระค่าธรรมเนียมการประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียน คำขอละ 200 บาท

ขั้นตอนการรับจดทะเบียน ผู้ขอจะต้องชำระค่าธรรมเนียมภายหลังจากครบกำหนดการประกาศโฆษณ าและไม่มีผู้คัดค้านการจดทะเบียน โดยผู้ขอจะต้องชำระค่าธรรมเนียมตามจำนวนสินค้าหรือบริการอย่างละ 300 บาท

20. วิธีการและสถานที่ยื่นขอจดทะเบียน

20.1 วิธีการยื่นขอจดทะเบียน

20.1.1 ยื่นคำขอโดยตรงต่อนายทะเบียน พร้อมชำระค่าธรรมเนียม

20.1.2 ยื่นคำขอโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ถึงนายทะเบียนกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พร้อมชำระค่าธรรมเนียมโดยทางธนาณัติสั่งจ่ายนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า

20.2 สถานที่ยื่นคำขอจดทะเบียน ยื่นคำขอจดทะเบียนได้ที่ งานบริการประชาชนชั้น 3 สำนักเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดที่ผู้ขอมีภูมิลำเนาอยู่