ปัญหาก่อนตัดสินใจเลือกอาชีพมีอะไรบ้าง

การเลือกอาชีพ

ปัญหาก่อนตัดสินใจเลือกอาชีพมีอะไรบ้าง
ปัญหาก่อนตัดสินใจเลือกอาชีพมีอะไรบ้าง

การตัดสินใจเลือกอาชีพเพื่อจะไปศึกษาเพิ่มเติม หรือเพื่อหางานทำนั้น เป็นเรื่องสำคัญต่อชีวิตคนเรามาก การเลือกอาชีพควรพิจารณาให้รอบคอบทั้งตัวเองและทั้งงานอาชีพว่าเหมาะสมกันเพียงใด ถ้าตัดสินใจเลือกอาชีพอย่างรีบร้อนไม่รอบคอบ อาจต้องทำงานที่ไม่ตรงกับอุปนิสัย ซึ่งเป็นผลให้ทำงานนั้นไม่ดีเท่าที่ควร ไม่มีความเจริญก้าวหน้า ก่อให้เกิดความเบื่อหน่ายต่อการทำงานนั้นๆ เป็นเหตุให้อยากเปลี่ยนงาน และอาจเป็นผู้ว่างงานในที่สุด ซึ่งจจะเป็นผลเสียหายต่อตนเองต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศชาติอย่างมาก


           ท่านจะทราบได้อย่างไรว่า ตัวท่านเองเหมาะสมกับงานอาชีพประเภทไหน ในเมื่ออาชีพต่างๆ ในประเทศไทยนั้น มีมากกว่าสองพันอาชีพ เพื่อช่วยให้ท่านได้ทราบแนวทางในการพิจารณาเลือกอาชีพอย่างถูกต้องเหมาะสมกับตัวท่านเอง ขอให้ท่านอ่านเอกสารนี้อย่างละเอียดถี่ถ้วน และใช้ดุลยพินิจพิจารณาข้อเท็จจริงต่างๆ โดยรอบคอบ อย่าลืมว่า อนาคตของท่านขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเลือกอาชีพอย่างถูกต้อง


          บางทีกว่าจะรู้ว่าอะไรอาจจะใช้เวลา  ถ้าเรารู้ได้เร็วก็จะดีต่อเราซึ่งจะเริ่มต้นได้เร็ว แต่ไม่ว่าช้าหรือเร็ว เมื่อรู้แล้วเริ่มต้นไม่มีคำว่าสาย


จะรู้ได้อย่างไรอาชีพใดเหมาะกับเรา  


         การเลือกประกอบอาชีพจึงมีความสำคัญต่อเราเป็นอันมาก  คนที่เลือกประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับตน ย่อมก่อให้เกิดความเพลิดเพลิน และก่อให้เกิดความสุขในการทำงาน และยังมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพมาก ในทางตรงกันข้าม ถ้าบุคคลประกอบอาชีพที่ไม่เหมาะสมกับตนเองแล้ว ก็จะเกิดความเบื่อหน่ายในการทำงาน และเนื่องจากคนเราต้องใช้เวลาในการประกอบอาชีพ ภายหลังจากการศึกษาเป็นเวลาช้านานถึงหนึ่งในสามของชีวิต หรือประมาณ 100,000 ชั่วโมง การที่จะต้องอดทนต่อกิจกรรมที่น่าเบื่อหน่าย เป็นระยะเวลาอันแสนนานเช่นนี้ จึงทำให้ชีวิตของตนไม่มีความสุข การประกอบอาชีพที่ไม่เหมาะสมหรือไม่สอดคล้องกับบุคลิกภาพ ความสนใจและความถนัด นอกจากจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพน้อยแล้ว ยังเป็นการทรมานชีวิตอย่างหนึ่งอีกด้วย

        การเลือกอาชีพที่ไม่เหมาะสมกับบุคลิก ลักษณะอุปนิสัย ความรู้ ความสามารถ ความสนใจ และความถนัดในงานอาชีพของตนเองและความต้องการของตลาดแรงงาน อาจก่อให้เกิดผลเสียหายหลายประการ เช่น เรียนไม่สำเร็จต้องเปลี่ยนวิชาใหม่ ทำให้เสียเวลาและทุนทรัพย์ไปโดยเปล่าประโยชน์ หางานทำยาก หางานทำไม่ได้ หรือไม่อยากทำงานอาชีพตามที่ได้รับการศึกษาอบรมมา ทำงานไม่ก้าวหน้า เนื่องจากการทำงานอาชีพจะต้องทำด้วยใจรัก ตั้งใจและมีความรับผิดชอบในหน้าที่หากได้งานทำที่ไม่เหมาะสมกับบุคลิกลักษณะอุปนิสัย ความสามารถ ความถนัด หรือความสนใจแล้วโอกาสที่รักงาน ตั้งใจทำงาน หรือรับผิดชอบในหน้าที่การงานก็จะมีน้อย มีแต่ความเบื่องานไม่อยากทำงานหรือทำไปอย่างแกนๆ โอกาสก้าวหน้าจึงมีน้อย เปลี่ยนบ่อย เมื่อเกิดความเบื่องาน ไม่อยากทำงานก็จำเป็นต้องหางานใหม่ที่น่าสนใจและถูกใจกว่า จึงต้องเปลี่ยนงานบ่อยไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถูกใจ

ปัญหาก่อนตัดสินใจเลือกอาชีพมีอะไรบ้าง

       ผลเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ก่อให้เกิดการสูญเปล่าทั้งเวลาความเจริญก้าวหน้าของบุคคล เศรษฐกิจของครอบครัว และของประเทศชาติเป็นส่วนรวมอีกด้วย การเลือกประกอบอาชีพเป็นกระบวนการที่สลับซับซ้อน ซึ่งบุคคลที่จะตัดสินใจเลือกอาชีพ จะต้องรู้จักตัวเองในด้านความสนใจ ความสามารถ และความถนัดเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นการยากสำหรับปุถุชนทั่วไป นอกจากจะต้องรู้จักตัวเองแล้ว ผู้เลือกอาชีพจะต้องรู้จักโลกของงาน คือ รู้จักอาชีพโดยละเอียดหลายอาชีพจึงมีความจำเป็นต้องจัดบริการแนะแนวอาชีพ เพื่อช่วยเหลือบุคคลให้สามารถเลือกอาชีพที่เหมาะสมกับตนเอง เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ สามารถทำประโยชน์ให้แก่ตนเองและสังคม คนเรามีความถนัด ความสามารถ และความสนใจในงาน อาชีพแตกต่างกัน ดังนั้น  ท่านต้องรู้จักตัวเอง และรู้จักงานอาชีพต่างๆ อย่างกว้างขวาง รวมทั้งรู้จักพิจารณาดูว่า มีงานอะไรบ้างที่ท่านชอบ และสนใจมากที่สุด และงานนั้นๆ เหมาะสมกับอุปนิสัยและบุคลิกลักษณะของท่านหรือไม่  ก่อนก่อนสินใจเลือกอาชีพ มี 2 ประการที่ท่านต้องพิจารณา คือ

ประการที่ 1 ผู้ที่จะตัดสินใจเลือกอาชีพควรรู้จักตัวเองให้ดีเสียก่อน โดยเฉพาะในด้านอุปนิสัย ความรู้ ความถนัด ความสามารถ ความสนใจ บุคลิกลักษณะ สุขภาพ นิสัย ทัศนคติที่เกี่ยวกับอาชีพนั้นๆ และฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว อย่างเช่น ถ้าเราชอบทดลอง เรียนรู้ อาจจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ ถ้าเราชอบพูด ชอบพบปะผู้คนก็อาจจะเป็นนักพูด พิธีกร นักแสดง ถ้าเราชอบเสียงดนตรี ก็อาจจะเป็นนักดนตรี นักร้อง

ประการที่ 2  ควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาชีพต่างๆ ลักษณะของงานอาชีพ สถานที่ที่จะศึกษาเพื่อประกอบอาชีพนั้นๆ ค่าจ้าง สวัสดิการ ความก้าวหน้าและความมั่นคงของงาน ตลอดจนความต้องการของตลาดแรงงาน

ถ้าเราต้องการทำงานแน่นอนก็ควรเรียนสายอาชีพ อาชีวะ เดี๋ยวนี้มีถึงระดับปริญญาตรี เปิดกว้างมากขึ้น

ประการที่ 3  ต้องศึกษาติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจสังคมโลก ด้วยการหมั่นอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ ค้นหาข้อมูลจากสื่ออินเตอร์เน็ท รายงานการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแนวโน้มความต้องการแรงงานโดยประเด็นที่ควรสนใจเป็นพิเศษ คือ อาชีพที่จะเกิดขึ้นใหม่ซึ่งมักจะเปลี่ยนแปลงไปตามเศรษฐกิจสังคมของโลกและประเทศ สำหรับประเด็นที่กล่าวถึงกันมากในช่วงทศวรรษนี้เห็นจะได้แก่ การเปิดการค้าเสรี (Free Trade Area) ของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค และโดยเฉพาะประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ จึงคาดว่าจะส่งผลให้ภาคธุรกิจของไทยมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นด้วยและจากการศึกษาวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เกี่ยวกับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (Logistics) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ทำธุรกิจด้านการขนส่ง การให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่ง คลังสินค้า การจัดการสินค้า การขนถ่ายสินค้า รวมถึงการทำพิธีการศุลกากร โดย TDRI คาดว่า ในปี 2548-2552 จำนวนผู้ที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะเข้าสู่ระบบโลจิสติกส์ในปี 2548 มีจำนวน 240,850 คน และเพิ่มขึ้นเป็น 272,329 คน ในปี 2552 และเมื่อจำแนกตามระดับการศึกษาแล้ว พบว่าในระดับอาชีวศึกษาสาขาที่เกี่ยวข้องกับด้านโลจิสติกส์ ได้แก่ ช่างไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ช่างยนต์ สาขาวิชาในระดับปริญญาตรีจะอยู่ในสาขามนุษยศาสตร์ ด้านภาษาประกอบด้วยภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส สังคมศาสตร์ พาณิชยการและกฎหมาย วิทยาศาสตร์ในสาขาคณิตศาสตร์และสถิติ คอมพิวเตอร์ วิศวกรรมศาสตร์สาขาคอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม การบินและอากาศยาน เรือ ยานยนต์และขนส่ง สำหรับความรู้ความสามารถและทักษะของบุคลากรที่อุตสาหกรรมโลจิสติกส์มีความต้องการจำแนกตามกิจกรรมหลัก ประกอบด้วย

         1. การจัดซื้อและเจรจาต่อรอง  ต้องการบุคลากรที่มีระดับความรู้เกี่ยวกับหลักการจัดซื้อและกระบวนการ ระดับทักษะที่ต้องมีคือ การใช้คอมพิวเตอร์ และซอฟท์แวร์ที่เกี่ยวข้อง          


         2. การจัดการขนส่ง ต้องการบุคลากรที่มีระดับความรู้เกี่ยวกับการจัดตารางเวลาและรูปแบบการขนส่งที่เหมาะสม ความรู้เกี่ยวกับถนนและเส้นทางการขนส่ง การขับรถอย่างปลอดภัย ความรู้เกี่ยวกับสินค้า กฎระเบียบด้านความปลอดภัย กฎหมายการขนย้ายสินค้าและมีทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ ภาษาและการสื่อสาร การจัดการอุปกรณ์และบุคลากร การจัดลำดับความสำคัญของงานให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด การเข้าใจและทำตามคำสั่งได้ รวมทั้งการให้บริการลูกค้า         


          3. การจัดการด้านส่งออกและนำเข้า ต้องการบุคลากรที่มีความรู้และทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ ภาษาและการสื่อสาร การวิเคราะห์และวางแผนงาน          


          4. การเคลื่อนย้ายสินค้า การจัดการคลังสินค้าและสินค้าคงคลัง ต้องการบุคลาการที่มีความรู้พื้นฐานในการดูแลระบบสินค้าคงคลังและกระบวนการของสินค้าคงคลัง ความรู้เกี่ยวกับสินค้า กฎหมายและความปลอดภัย ส่วนทักษะที่ต้องมีคือ การใช้คอมพิวเตอร์ ภาษาและการสื่อสาร          


           5. การตลาดและการให้บริการลูกค้า ต้องการบุคลาการที่มีความรู้เกี่ยวกับโลจิสติกส์และการบริการ ความรู้พื้นฐานด้านบัญชี กฎหมายการค้าการลงทุน และความรู้เกี่ยวกับการประกันสินค้า          


           6. การจัดการห่วงโซ่อุปทาน ต้องการบุคลากรที่มีความรู้เกี่ยวกับคลังสินค้าและระบบสินค้าคงคลัง กระบวนการและการวางแผนวัตถุดิบ ความรู้เกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทาน เทคโนโลยีและการจัดการการขนส่งและการกระจายสินค้าส่วนทักษะที่บุคลากรจำเป็นต้องมีคือ การวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทาน     การแก้ไขปัญหา การติดต่อและการนำเสนอ การประสานงาน ภาษาและการสื่อสาร การใช้กลยุทธ์และการเชื่อมโยงระหว่างองค์กร รวมทั้งการจัดการด้านทุน           

ประการที่ 4  ต้องทราบแนวโน้มของเศรษฐกิจและรายได้ของประเทศ  ข้อนี้มีหลักการ

ง่ายๆ คือ "การจะเลือกประกอบอาชีพใด ควรดูจากรายได้ของประเทศว่ามาจากภาคเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมใด การจะเลือกประกอบอาชีพใดให้ดูจากรายได้หรือค่าตอบแทนแรงงานในอาชีพนั้น" แน่นอนว่าทุกคนหวังที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีบ้าน มีรถและมีเงินทองสำหรับใช้สอยในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่จึงควรติดตามและสังเกตุอาชีพรอบตัวที่พบเห็นในสังคม มีวิธีการอยู่วิธีการหนึ่ง เรียกว่า "การวิจัยอาชีพ" โดยผู้ที่สนใจที่จะประกอบอาชีพใดให้ทำการวิจัยด้วยการสำรวจอาชีพที่เราสนใจหรืออาชีพที่เราใฝ่ฝันไว้ และสอบถามจาก ผู้รู้ (Key Person) 3 คน คือ นายจ้าง ผู้ประกอบอาชีพนั้นอยู่และหน่วยงานผลิตกำลังคนหรือสถาบันการศึกษา ที่ออกแบบหลักสูตรการศึกษาต่างๆ เพราะกลุ่มบุคคลเหล่านี้จะมีข้อมูลและทราบแนวโน้มสถานการณ์ สภาพการทำงานที่เกี่ยวข้องกับอาชีพที่เราสนใจ เมื่อเราเก็บรวบรวมข้อมุลได้แล้วจึงนำมาสังเคราะห์และสรุปเพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจว่าเหมาะสมที่เราจะเรียนต่อในสาขาวิชานั้นๆ หรือไม่

โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ อาจจะมีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นมา ซึ่งเราก็ต้องติดตาม 

โลกเดี๋ยวนี้ไร้พรหมแดน สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายมากขึ้น  ซึ่งผู้ที่มีความรู้ด้านภาษาย่อมได้เปรียบ
ผู้มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ จะมีโอกาสมากขึ้น เราต้องหมั่นปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ อนาคตรออยู่
ก้าวต่อไป