หลักการประเมินค่าที่ดี มีอะไรบ้าง

การอ่านในชีวิตประจำวัน 

หลักการประเมินค่าที่ดี มีอะไรบ้าง

การอ่านเพื่อจับใจความสำคัญ

    ความหมาย

    การอ่านเพื่อจับใจความสำคัญ คือ การอ่านเพื่อค้นหาสาระสำคัญของเรื่องที่อ่าน ซึ่งผู้เขียนต้องการสื่อ โดยในย่อหน้าหนึ่งจะมีใจความสำคัญที่สุดเพียงใจความเดียว นอกจากนั้นจะเป็นพลความหรือส่วนประกอบ ผู้อ่านต้องพิจารณาทั้งสองประการนี้ เพื่อให้สามารถจับใจความได้เร็วขึ้น

ความสำคัญของการอ่านจับใจความสำคัญ

    ๑. เป็นพื้นฐานของการอ่าน โดยสามารถนำไปต่อยอดเป็นการวิเคราะห์และประเมินค่าเรื่องที่อ่านต่อไปได้เพราะการอ่านจับใจความสำคัญทำให้ทราบข้อมูลเบื้องต้นว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร

    ๒. เป็นการรับทราบข้อมูลในระยะเวลาสั้น เป็นการอ่านคร่าวๆเพื่อค้นหาเพียงใจความสำคัญที่สุด

    ๓. เป็นการนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน การอ่านจับใจความสำคัญทำให้ทราบความคิดและความรู้ที่ผู้เขียนถ่ายทอด เมื่อนำมาวิเคราะห์และประเมินค่าสารนั้นแล้ว ก็สามารถเลือกสรรสิ่งที่มีประโยชน์มาใช้ในชีวิตประจำวันได้

หลักการอ่านเพื่อจับใจความสำคัญ

   ๑. อ่าน  ทำความเข้าใจในเนื้อหา พยายามจับใจความสำคัญของแต่ละย่อหน้า

   ๒. คิด  คิดตั้งคำถามว่าอะไรเป็นจุดสำคัญของเรื่องหรือใจความสำคัญของเรื่อง

   ๓. เขียน ร่างข้อความที่ได้โดยสรุปไว้เป็นตอนๆ

   ๔. เรียบเรียง นำข้อความที่สรุปไว้มาเรียงให้เป็นข้อความ โดยใช้ภาษาของตนเอง

การอ่านเพื่อการวิเคราะห์

ความหมาย

     วิเคราะห์ คือ แยกออกเป็นส่วนๆ เพื่อนำมาแยกแยะทำความเข้าใจและมองเห็นความสัมพันธ์ของส่วนย่อยๆ  ดังนั้น ในการอ่านเพื่อวิเคราะห์ ผู้อ่านจึงต้องอ่านเบื้องต้นเพื่อจับใจความสำคัญว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร แล้วตั้งคำถามเพื่อการวิเคราะห์ว่าทำไม  เพราะเหตุใด  การอ่านเพื่อการวิเคราะห์ จะต้องพิจารณาเนื้อหาทั้งด้านศิลปะการเขียนและเนื้อเรื่อง โดยพิจารณาข้อความที่น่าสนใจและนำมาคิดแยกย่อย เพื่อกรองจนได้แก่นสำคัญของเรื่องและนำมาพิจารณาคุณค่าที่ปรากฏในเรื่อง

ความสำคัญของการอ่านเพื่อการวิเคราะห์

    ๑. ผู้อ่านทราบข้อมูลที่สูงขึ้น

    ๒. ผู้อ่านประทับใจในเรื่องที่อ่าน เมื่อวิเคราะห์จนทราบถึงสาเหตุและความเป็นไปของเรื่อง จะทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจ ซาบซึ้งและมองเห็นคุณค่าความงดงามที่แฝงอยู่

    ๓. ผู้อ่านสามารถรู้ถึงความสำคัญหลักของเรื่องได้

    ๔. ผู้อ่านสามารถเห็นความเกี่ยวข้องกันระหว่างข้อมูลแต่ละส่วน เป็นการพัฒนาทักษะการคิดเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ

หลักในการอ่านเพื่อการวิเคราะห์

    ๑. พิจารณารูปแบบของเรื่อง เช่น นิทาน บทร้อยกรอง บทละคร หรือบทความฯลฯ

    ๒. จับใจความสำคัญของเรื่อง

    ๓. แยกพิจารณา โดยจำแนกประเด็นดังนี้ ข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น ข้อมูลสนับสนุน

    ๔. พิจารณาทัศนคติของผู้เขียน ว่ามีทัศนคติอย่างไรต่อเรื่องนั้น

    ๕. พิจารณาการเรียงลำดับเหตุการณ์ จากเหตุไปหาผล ผลไปหาเหตุ ตามลำดับเหตุการณ์เป็นต้น

    ๖. พิจารณาการใช้สำนวนภาษา ว่าผู้เขียนมีการใช้ภาษาเหมาะสมกับประเภทของงานเขียนหรือไม่อย่างไร

การอ่านเพื่อประเมินค่า

       ความหมาย

     การอ่านเพื่อประเมินค่า คือ การอ่านเพื่ออธิบายลักษณะของงานเขียนว่ามีข้อดี มีคุณค่า หรือมีข้อบกพร่องอย่างไรบ้าง ผู้ประเมินจะต้องวิจารณ์งานเขียนโดยละเอียด หยิบยกแต่ละประเด็นมาทำความเข้าใจ วิเคราะห์ ตีความหมายที่ซ่อนเร้น ตลอดจนวินิจฉัยคุณค่าที่พบในเนื้อหาทั้ด้านสังคมและด้านอารมณ์และด้านศิลปะการประพันธ์

ความสำคัญของการอ่านประเมินค่า

    ๑. ทำให้เกิดวิจารณญาณ เป็นการใช้วิจารณญาณคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับงานเขียนทุกๆด้านอย่างมีเหตุผล ทำให้ผู้อ่านตัดสินใจงานเขียนนั้นได้ว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ มีคุณค่าเพียงใด และสามารถนำไปใช้กับการอ่านข่าวสารในชีวิตประจำวันได้

    ๒. พัฒนาศักยภาพการอ่าน เพราะต้องใช้ทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ การวิเคราะห์แล้วจึงประเมินเรื่องที่อ่าน การประเมินคุณค่างานเขียนจะทำให้ผู้อ่านได้ฝึกตนเองในการอ่านและพิจารณาสาร

    ๓. ได้ข้อคิดไปใช้ในชีวิตประจำวัน

หลักการอ่านเพื่อประเมินค่า

    ๑. พิจารณาเนื้อหาและส่วนประกอบของเนื้อหา ว่ามีองค์ประกอบใดบ้าง และแยกแยะองค์ประกอบแต่ละส่วนว่ามีลักษณะอย่างไร สอดคล้องสัมพันธ์กันอย่างไร

    ๒. พิจารณาคุณค่าด้านการใช้ภาษา(วรรณศิลป์)  ว่าเหมาะสมกับเนื้อหา ไพเราะงดงาม สละสลวยน่าอ่าน ให้ทั้งเสียงและความหมายก่อให่เกิดจินตนาการเพียงใด

   ๓. พิจารณาแนวคิด ข้อคิดของผู้เขียน ว่าผู้เขียนนำเสนอเรื่องใดและมีข้อคิดใดบ้างที่มีคุณค่า เสนอแนะแนวทางในการนำข้อคิดที่มีคุณค่าไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน