หน้าที่ของสถาบันมีอะไรบ้าง

โครงสร้างและสถาบันทางสังคม


สาระสำคัญ
                โครงสร้างของสังคมประกอบด้วย กลุ่มสังคม และสถาบันสังคม โครงสร้าง ดังกล่าวจะปรากฏในสังคมมนุษย์ทุกๆสังคม แต่อาจมีรายละเอียดย่อยแตกต่างกันไป

ความหมายของโครงสร้างของสังคม (Social Structure)
                พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยาฉบับราชบัณฑิตยสถานกล่าวว่า โครงสร้าง หมายถึง องค์ประกอบที่มีส่วนต่างๆ สัมพันธ์กันอย่างมีระเบียบ และดำรงอยู่ได้ถาวรตามสมควร โครงสร้างของสังคม คือ ระบบความสัมพันธ์ ของสถาบันต่างๆ ของสังคมในขณะใดขณะหนึ่ง
                มาร์วิน อี.ออลเซน(Marvin E.Olsen) ได้อธิบายความหมายโครงสร้างของสังคม ซึ่งสรุปได้ โครงสร้างของสังคม คือ ลักษณะของส่วนประกอบต่างๆ ของสังคม ซึ่งเป็นเสมือนการจำลองภาพนิ่งของระบบความสัมพันธ์ในสังคมมนุษย์ในขณะใดขณะหนึ่ง เนื่องจากกระบวนการที่สมาชิกในสังคมมีการกระทำระหว่างกันเป็นสิ่งเคลื่อนไหวอยู่เสมอ
                เจมส์ ดับเบิลยู ศานเดน (James W.Vander Zanden) กล่าวว่า โครงสร้างของสังคม หมายถึง เค้าโครงของความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในสังคมที่มีความเชื่อมโยงผูกพันระหว่างกัน
                สรุปได้ว่า โครงสร้างของสังคม หมายถึง ส่วนต่างๆ ที่ประกอบกันเป็นระบบความสัมพันธ์ของสังคมมนุษย์ ส่วนประกอบดังกล่าวจะต้องเป็นเค้าโครงที่ปรากฏในสังคมมนุษย์ทุกๆ สังคม แม้จะมีรายละเอียดย่อยแตกต่างกันไปในแต่ละสังคมก็ตาม

องค์ประกอบของโครงสร้างของสังคม
                โครงสร้างของสังคมมีองค์ประกอบด้วย 3 ประการ คือ
                    1. กลุ่มสังคม (Social groups)
                    2. สถาบันสังคม (Social institutions)
                    3. สถานภาพและบทบาท (Status and Roles)
                องค์ประกอบโครงสร้างของสังคมที่ช่วยพยุงค้ำจุน หรือช่วยให้สังคมมั่นคงและเจริญรุ่งเรืองมากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของโครงสร้างทั้ง 3 ของสังคม กล่าวคือ ถ้าสังคมใดมีการรวมกลุ่มและร่วมมือกันทำกิจกรรมต่างๆ เช่น กลุ่มนักการศึกษาช่วยกันค้นหาความรู้เอาไปเผยแพร่ กลุ่มผู้ผลิตร่วมมือร่วมใจกันผลิตสิ่งอุปโภคบริโภค ฯลฯ สังคมนั้นย่อมกินดีอยู่ดี ถ้าสังคมใดมีชุดของบรรทัดฐานที่ใช้ในการกระทำกิจกรรมต่างๆ ที่ดี เช่น ในการจัดการศึกษามีหลักสูตรมีวิธีการสอน มีการวัดผลที่ดี ฯลฯ การศึกษาก็จะช่วยสร้างสังคมให้เจริญขึ้น และถ้าสังคมใดมีการกำหนดว่าใคร หรือกลุ่มสังคมใดมีหน้าที่รับผิดชอบอะไรและต่างก็แสดงบทบาทได้อย่างเหมาะสม สังคมนั้นย่อมเจริญก้าวหน้าไปได้เร็วขึ้น

1. กลุ่มสังคม
                การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องกลุ่มทางสังคม จะช่วยทำให้เรามีความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของการมีชีวิตอยู่ร่วมกันของบุคคลในสังคมได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะกลุ่มทางสังคมจะมีอิทธิพลต่อบุคคลและสังคมเป็นอย่างมาก เช่น กลุ่มครอบครัว กลุ่มเพื่อนสนิท ย่อมจะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรม ความคิด และค่านิยมของบุคคลอย่างเห็นได้ชัด ในปัจจุบันสังคมมีลักษณะสลับซับซ้อนและมีขนาดใหญ่ขึ้น จึงต้องมีการจัดระเบียบสังคมบนพื้นฐานของหลักเหตุผลและเป้าหมายเฉพาะอย่าง มากกว่าการคำนึงถึงพื้นฐานความสัมพันธ์ส่วนตัว อันมีผลทำให้การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและกลุ่มทางสังคมมีลักษณะเป็นทางการมากขึ้น
                กลุ่ม หมายถึง บุคคลตั้งแต่ 2 คน หรือมากกว่านั้น ซึ่งอาจมีการกระทำระหว่างกันทางสังคม  การรวมกลุ่มของมนุษย์มีหลายลักษณะ ในบางครั้งการรวมกลุ่มอาจเกิดขึ้น โดยชั่วคราวหรือโดยบังเอิญ ในไม่ช้ากลุ่มคนดังกล่าวก็จะสลายตัวไป เช่น กลุ่มคนที่มารวมตัวกันที่ตลาด กลุ่มคนที่มาชมการแสดงหรือชมภาพยนตร์ กลุ่มคนที่มารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์จากรัฐบาล ฯลฯ เราไม่ถือว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มสังคม เนื่องจากมีการรวมตัวกันอย่างไม่มีแบบแผนความสัมพันธ์ที่ชัดแจ้ง ต่างฝ่ายต่างมารวมตัวกันโดยมีจุดมุ่งหมายที่สอดคล้องต้องกันอย่างบังเอิญเท่านั้นและระยะเวลาของการรวมตัวก็มีจำกัด จนไม่เพียงพอที่จะสร้างรูปแบบความสัมพันธ์ที่ถาวรได้   อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่มีความสำคัญต่อการธำรงอยู่ของสังคมมนุษย์มากที่สุด โดยเป็นส่วนประกอบสำคัญในโครงสร้างของสังคม ได้แก่ กลุ่มสังคม กลุ่มสังคม เป็นกลุ่มซึ่งสมาชิกมีการกระทำระหว่างกัน และสมาชิกของกลุ่ม มีความรู้สึกเป็นสมาชิกร่วมกัน
                พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายว่า กลุ่มสังคม หมายถึง กลุ่มบุคคล ที่สมาชิกในกลุ่มมีการติดต่อสัมพันธ์อย่างมีระบบแบบแผนเป็นที่ยอมรับร่วมกัน กลุ่มสังคมจะมีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยมีสัญลักษณ์ มีความสนใจคล้ายกัน ซึ่งทำให้กลุ่มมีลักษณะแตกต่างกับกลุ่มอื่นๆ
                กลุ่มทางสังคมคืออะไร นักสังคมวิทยาได้ให้ความหมายของกลุ่มทางสังคมแตกต่างกันออกไปดังนี้
                มาวิส ฮิลทูเนน ไบแซนซ์ และจอห์น ไบแซนซ์ (Mavis Hiltunen Biesanz and John Biesanz) กล่าวว่า กลุ่มสังคม หมายถึง กลุ่มซึ่งประกอบไปด้วยบุคคลตั้งแต่ 2 คน หรือมากกว่านั้น ซึ่งมีการกระทำระหว่างกัน มีความรู้สึกร่วมกันในการเป็นสมาชิกของกลุ่ม และมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้อง โดยมีตำแหน่งหรือสถานภาพในกลุ่มที่ตนเป็นสมาชิก
                โดนัลดื ไลท์ จูเนียร์และซูซาน เคลเลอร์ (Donald Light Jr. and Suzsnne Keller) กล่าวว่า กลุ่มสังคมประกอบไปด้วยบุคคล 2 คน หรือมากกว่านั้น ซึ่งมีความรู้สึกเป็นสมาชิกร่วมกันและมีการกระทำระหว่างกันทางสังคมตามเป้าหมายร่วมกัน มีแบบแผนพฤติกรรมของกลุ่มโดยการตกลงร่วมกัน
                ประเสริฐ แย้มกลิ่นฟุ้ง กล่าวว่า กลุ่มทางสังคม คือ คนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มีความสัมพันธ์ในทางร่วมมือพึ่งพาอาศัยกัน ความสัมพันธ์มีติดต่อกันไปจนเป็นความผูกพันและผู้มีสัมพันธ์กันเกิดความสำนึกว่า เป็นสมาชิกในกลุ่มเดียวกัน แยกออกได้จากกลุ่มอื่นๆ  เพื่อให้มองเห็นลักษณะของกลุ่มทางสังคมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงจะจำแนกประเภทของกลุ่มทางสังคมออกเป็นดังนี้
                1. กลุ่มครอบครัว เป็นกลุ่มทางสังคมขนาดเล็ก สมาชิกมีความสัมพันธ์กันแบบปฐมภูมิ สมาชิกมีความรักและความผูกพันในระดับสูง มีความเป็นเครือญาติกัน โดยทั่วไปสมาชิกจะประกอบด้วย สามี ภรรยา และบุตร
                2. กลุ่มสมาคม เป็นกลุ่มทางสังคมที่จงใจจัดตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยมีการจัดระเบียบของกลุ่มอย่างเป็นทางการ มีการกำหนดแผนงาน กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของสมาชิกที่ชัดเจน เช่น  บริษัท ห้างหุ้นส่วน กระทรวง ทบวง กรม ฯลฯ
                3. กลุ่มทางสังคมขนาดเล็ก เป็นกลุ่มทางสังคมที่ไม่ได้มีการจัดระเบียบทางสังคมไว้อย่างชัดเจน เช่น กลุ่มเพื่อนบ้าน กลุ่มเพื่อนร่วมชั้นเรียน เป็นต้น
                4. กลุ่มชุมชน แบ่งออกได้เป็นชุมชนบทและชุมชนเมือง
                        4.1 ชุมชนชนบท เป็นชุมชนที่อยู่นอกเขตเมือง ผู้คนที่อาศัยอยู่มีอาชีพทางด้านเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ ความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่มีน้อย ผู้คนมีความสัมพันธ์แบบเป็นกันเอง มีแบบอย่างในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพคล้ายๆกัน สภาพความเป็นอยู่โดยทั่วไปขึ้นอยู่กับธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ลักษณะโดยทั่วไปของชุมชน มีดังนี้
                                1) มีอาชีพทางการเกษตรเป็นส่วนใหญ่
                                2) แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ ชาวชนบทใกล้ชิดกับธรรมชาติ และชีวิตส่วนใหญ่เผชิญกับภาวะธรรมชาติโดยตรง เช่น ความแห้งแล้ง ฝนตก น้ำท่วม เป็นต้น
                                3) ความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่มีน้อย การตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยมักจะรวมกันเป็นกลุ่ม หรือไม่ก็ปลูกสร้างบ้านเรือนขนานไปตามแม่น้ำลำคลอง หรือริมถนน
                                4) มีความสัมพันธ์แบบเป็นกันเอง เคารพนบนอบและร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยยึดถือน้ำใจเป็นสิ่งสำคัญ
                                5) การเปลี่ยนตำแหน่งทางสังคมมีไม่มาก เนื่องจากชาวชนบทมีความผูกพันอยู่กับการเกษตรมานาน ความคิดความเชื่อและการศึกษายังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ชาวชนบทส่วนใหญ่จึงยังคงยึดอาชีพเกษตรกรรม ฐานะทางเศรษฐกิจก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง คือค่อนข้างจะยากจน
                        4.2 ชุนชนเมือง เป็นชุนชนที่อยู่ในเมือง มีประชากรอยู่รวมกันเป็นกลุ่มหนาแน่นกว่าในชนบท สภาพชุมชนโดยทั่วไปจะประกอบด้วยตึก อาคารบ้านเรือน ผู้คนส่วนใหญ่จะทำงานงานอยู่ในเมือง สำนักงานมากกว่าที่ไปทำงานกลางแจ้ง สภาพความเป็นอยู่ของประชากรในชุมชนเมืองจึงเป็นไปด้วยความเร่งรีบและแข่งขัน ลักษณะสำคัญของชุมชนเมืองที่แตกต่างจากชุมชนบท มีดังนี้
                                1) ชุมชนเมืองเป็นชุมชนอุตสาหกรรมและพาณิชกรรม ชาวเมืองจึงมีชีวิตอยู่ในโรงงาน หรือสถานประกอบการเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยได้สัมผัสกับธรรมชาติ เช่น เรือกสวน ไร่นา ป่าไม้ ภูเขา มากนัก
                                2) ความสัมพันธ์ของชาวเมืองส่วนใหญ่เป็นไปในรูปแบบของกลุ่มทุติยภูมิ คือมีความสัมพันธ์แบบมิใช่เป็นการส่วนตัว แต่เป็นความสัมพันธ์ตามระเบียบและกฎเกณฑ์ของสังคม ความเห็นใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันมีน้อย
                                3) ความแตกต่างทางสังคมมีมาก โดยในเมืองจะมีทั้งคนร่ำรวยและคนยากจนที่มีฐานะและชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันมาก
                                4) การเคลื่อนที่ทางสังคมมีมาก ชาวเมืองมีโอกาสเปลี่ยนอาชีพทางเศรษฐกิจของตนได้มากกว่า เพราะมีอาชีพหลากหลายให้เลือก ทำให้มีโอกาสเปลี่ยนอาชีพและเลื่อนตำแหน่งหน้าที่การงานได้มากกว่าชุมชนชนบท
                                5) มีการแข่งขันกันสูง ชาวเมืองต้องต่อสู้แข่งขันเพื่อความอยู่รอด ทั้งนี้เนื่องจากมีผู้คนมาอาศัยอยู่หนาแน่น ทุกสิ่งทุกอย่างค่อนข้างมีจำกัด และการที่จะให้ได้สิ่งใดมาต้องมีการแลกเปลี่ยนกันด้วยเงินตรา น้อยรายที่จะได้มาด้วยน้ำใจช่วยเหลือกัน
                                6) มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม จากการที่ชุมชนเมืองเป็นศูนย์กลางของความเจริญด้านต่างๆ ผู้คนจากสังคมภายนอกเดินทางเข้ามาประกอบกิจกรรมกันอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวต่างประเทศ ทำให้วัฒนธรรมเมืองมีลักษณะหลากหลายแตกต่างกันออกไป เช่น แต่งกายชุดสากล รับประทานอาหารญี่ปุ่น ทำความเคารพแบบไทย เป็นต้น
                    สรุปได้ว่า กลุ่มสังคมเป็นกลุ่มซึ่งประกอบด้วยบุคคลตั้งแต่ 2 คนหรือมากกว่านั้น โดยมีลักษณะที่สำคัญดังต่อไปนี้
                    1. มีการกระทำระหว่างกันทางสังคมหรือปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social interaction)
                    2. สมาชิกในกลุ่มต่างมีตำแหน่งและบทบาทหน้าที่แตกต่างกันและประสานบทบาทระหว่างกัน มีแบบพฤติกรรมตามบรรทัดฐานของกลุ่ม หรือที่เรียกว่า วัฒนธรรมย่อย
                    3. มีความรู้สึกเป็นสมาชิกร่วมกัน ทำให้มีความผูกพันในฐานะที่เป็นสมาชิกของกลุ่มสังคมเดียวกัน
                    4. มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน ที่สำคัญคือ เพื่อสนองความต้องการของสมาชิกแต่ละคนและความต้องการของสมาชิกของกลุ่มเป็นส่วนรวม  สังคมมนุษย์ประกอบไปด้วยกลุ่มสังคมหลายกหลาย ตั้งแต่กลุ่มสังคมเล็กๆ ไปจนถึงกลุ่มสังคมขนาดใหญ่ เช่น ครอบครัว กลุ่มเพื่อน สมาคมต่างๆ ชุมชน และกลุ่มชาติพันธุ์ในสังคม ฯลฯ กลุ่มสังคมเหล่านี้ต่างมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน เปรียบเหมือนสายใยของสังคมมนุษย์

2. สถาบันทางสังคม
                พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525 ให้ความหมายของคำว่า “สถาบัน” ไว้ว่า “สิ่งซึ่งคนในส่วนรวม คือสังคมจัดตั้งให้มีขึ้น เพราะเห็นประโยชน์ว่ามีความต้องการและจำเป็นแก่วิถีชีวิตของตน เช่น สถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา สถาบันการเมือง
                Dictionnary of Modern Sociology ให้ความหมายของสถาบันไว้ว่า “เป็นกระบวนการหรือการรวมกลุ่มในลักษณะ ดังนี้
                    1. มีการจัดระเบียบอย่างดี เช่น มีการกำหนดบทบาทและความสัมพันธ์ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
                    2. มีระบบ เช่น มีการกำหนดว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องทำอย่างาไร
                    3. มีเสถียรภาพหรือความมั่นคง โดยมีแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงยากและไม่ขึ้นอยู่กับบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะหรืออาจกล่าวสรุปได้ว่า
สถาบันทางสังคม หมายถึง กลุ่มของบรรทัดฐานทางสังคมที่สังคมได้กำหนดไว้เพื่อใช้เป็นหลักในการกระทำกิจกรรมต่างๆ ของสมาชิกในสังคม เพื่อแก้ปัญหาพื้นฐาน เพื่อการดำรงอยู่ของสังคม
                องค์ประกอบของสถาบันทางสังคม สถาบันทางสังคมมีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 4 ประการ คือ
                    1. กลุ่มทางสังคมหรือองค์การทางสังคม ในแต่ละสถาบันทางสังคม จะประกอบด้วยกลุ่มคนต่างๆ เช่น สถาบันครอบครัว จะประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก ญาติพี่น้อง สถาบันการศึกษา จะประกอบด้วย ครูใหญ่ ครู-อาจารย์ นักเรียน คนงานภารโรง เป็นต้น
                    2. สถานภาพและบทบาท ในแต่ละสถาบันทางสังคม จะประกอบด้วยผู้คนที่มีตำแหน่งความรับผิดชอบหรือที่เรียกว่า สถานภาพ และมีการแสดงออกตามหน้าที่ความรับผิดชอบหรือที่เรียกว่า บทบาท เช่น สถาบันครอบครัว  มีตำแหน่งต่างๆ ได้แก่ พ่อ แม่ ลูก สามี ภรรยา ผู้เป็นพ่อมีหน้าที่เลี้ยงดูครอบครัว ให้การศึกษาแก่ลูก ฯลฯ สถาบัน   การศึกษามีตำแหน่งต่างๆ ได้แก่ ครู นักเรียน คนงาน โดยครูมีหน้าที่สอนและอบรมนักเรียน ฯลฯ
                    3. หน้าที่ แต่ละสถาบันทางสังคมต่างก็มีหน้าที่เพื่อทำให้สังคมคงสภาพ และสนองความต้องการของสมาชิกในสังคม เช่น สถาบันทางเศรษฐกิจ ทำหน้าที่ในด้านการผลิต การจำหน่ายแจกเครื่องอุปโภคบริโภคของสมาชิกในสังคม สถาบันเศรษฐกิจทำหน้าที่ถ่ายทอดวัฒนธรรม สอนให้รู้จักประกอบอาชีพ ให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม เป็นต้น
                    4. บรรทัดฐานทางสังคม สถาบันทางสังคมจะประกอบด้วยกลุ่มของบรรทัดฐานเพื่อเป็นหลักปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ เช่น สถาบันทางการศึกษา จะกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน การเรียนการสอนการวัดผล ฯลฯ สถาบันทางศาสนา จะกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับพิธีกรรมทางศาสนา ข้อห้าม ข้อให้ปฏิบัติตามหลักคำสอน ฯลฯ  โดยทั่วไปแล้ว สังคมต่างๆ จะมีสถาบันพื้นฐานอยู่ 5 สถาบัน (ยกเว้นสังคมดั้งเดิม) คือ สถาบันครอบครัว สถาบันการเมืองการปกครอง สถาบันเศรษฐกิจ สถาบันการศึกษา และสถาบันศาสนา ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1. สถาบันครอบครัว
                    สถาบันครอบครัว เป็นสถาบันพื้นฐานแรกที่สุดและมีความสำคัญยิ่งของสังคม เพราะสถาบันขั้นมูลฐานที่เป็นจุดเริ่มต้นของสถาบันทั้งหลาย ในสมัยก่อนนั้นสถาบันครอบครัวทำหน้าที่เป็นทั้งสถาบันการศึกษา สถาบันเศรษฐกิจ และสถาบันการปกครอง ฯลฯ หรืออธิบายได้ว่า สถาบันครอบครัวทำหน้าที่ให้การศึกษาและความรู้ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ในด้านเศรษฐกิจ และปฏิบัติหน้าที่ในการอบรมสั่งสอนสมาชิกของครอบครัวให้เป็นพลเมือง แต่ในปัจจุบันสถาบันการศึกษาและสถาบันเศรษฐกิจได้เข้ามามีบทบาทปฏิบัติหน้าที่แทนสถาบันครอบครัวในด้านการให้การศึกษาแก่สมาชิกของสังคม และผลิตเครื่องอุปโภคและบริโภคขึ้นจำหน่ายแก่สมาชิกในสังคม บทบาทในด้านดังกล่าวของสถาบันครอบครัวจึงลดลงไป
                1. ความหมายของสถาบันครอบครัว
                    สถาบันครอบครัว หมายถึง แบบแผนพฤติกรรมที่คนที่มาติดต่อเกี่ยวข้องกันในเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวและเครือญาติจะต้องปฏิบัติตาม นั่นคือคนที่เป็นญาติกันโดยสายเลือด เช่น เป็นพ่อแม่ พี่น้องกัน เป็นญาติกันทางการแต่งงาน เช่น เป็นสามีภรรยา เป็นเขยสะใภ้กัน หรือการรับไว้เป็นญาติ เช่น เป็นบุตรบุญธรรม เป็นต้น คนเหล่านี้จะต้องปฏิบัติไปตามกฎเกณฑ์แบบแผนที่สังคมเป็นผู้กำหนดขึ้นเรียกว่า สถาบันครอบครัว ซึ่งครอบคลุมแนวทางในการปฏิบัติในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ คือ การเลือกคู่ การหมั้น การแต่งงาน การเลี้ยงดูลูก การอบรมขัดเกลา การหย่าร้างและเรื่องที่เกี่ยวข้องกับครองครัวและเครือญาติทั้งหมด
                    สรุปได้ว่า สถาบันครอบครัว หมายถึง กลุ่มของบรรทัดฐานทางสังคมที่ใช้ในการกำหนดรูปแบบของความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว เช่น บรรทัดฐานเกี่ยวกับการสมรส การเลี้ยงดูบุตร การหย่าร้าง ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อความสงบสุขของครอบครัวและสังคม
                2. องค์ประกอบของสถาบันครอบครัว มีองค์ประกอบสำคัญดังนี้
                    2.1 กลุ่มทางสังคมหรือองค์ประกอบทางสังคม ได้แก่ ครอบครัวซึ่งอาจเป็นครอบครัวเดี่ยวหรือครอบครัวขยายก็ได้ ครอบครัวเดี่ยว หมายถึง ครอบครัวที่มีสมาชิกประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก ส่วนครอบครัวขาย คือ ครอบครัวที่มีสมาชิกประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก และญาติพี่น้อง เช่น ปู่ ย่า ลุง ป้า น้า อา ฯลฯ มาอยู่ร่วมกันภายในครอบครัว
                    2.2 สถานภาพและบทบาท เป็นองค์ประกอบที่ช่วยกำหนดว่าใครเป็นใครและแต่ละคนมีหน้าที่มีบทบาทอย่างไร  สถานภาพของบุคคลในครอบครัว ได้แก่ พ่อ แม่ ลูก ปู่ ย่า ลุง ป้า ฯลฯ ซึ่งแต่ละคนต่างก็มีหน้าที่ความรับผิดชอบ เช่น พ่อมีหน้าที่เลี้ยงดูครอบครัว อบรมให้การศึกษาแก่ลูก ส่วนบทบาท หมายถึง การแสดงออกตามตำแหน่งหน้าที่ เช่น พ่อต้องปกป้องคุ้มครองให้ความรักแก่ลูก ลูกหลานก็ต้องเคารพเชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่
                    2.3 หน้าที่ของสถาบันครอบครัว ที่สำคัญมีดังต่อไปนี้
                            1) การให้สมาชิกใหม่ ถือเป็นหน้าที่สำคัญประการแรก เพราะการมีบุตรเป็นจุดเริ่มต้นของครอบครัว เป็นการสืบต่อและรับช่วงวัฏจักรของระบบครอบครัว ดังนั้นเพื่อป้องกันมิให้มีการละเมิดการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว สังคมจึงได้ออกกฎหมายให้การคุ้มครองไว้ เป็นต้นว่าห้าทำลายชีวิตทารกที่อยู่ในครรภ์หรือที่คลอดออกมาแล้ว
                            2) การจัดอบรมให้เรียนรู้ระเบียบของสังคม ครอบครัวเป็นสถาบันแรกที่ทำหน้าที่ดูแลและทำนุบำรุง รวมทั้งถ่ายทอดวัฒนธรรมให้แก่สมาชิกใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้นมา เช่น การพูด การแต่งกาย การดำรงชีวิต การรู้จักพิจารณาว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด ตลอดจนการเรียนรู้แบบแผนและวิธีปฏิบัติตนตามระเบียบของสังคม ซึ่งจะทำให้สมาชิกสามารถรับช่วงและถ่ายทอดมรดกของสังคมสืบต่อไปได้
                            3) การคุ้มครองและการทำนุบำรุง ครอบครัวมีหน้าที่ในการให้ความคุ้มครองและเลี้ยงดูบุตรตลอดจนบุคคลอื่นในครอบครัว ซึ่งสามารถกระทำได้ 2 ประการคือ
                                - การทำนุบำรุงทางร่างกาย ได้แก่ การเลี้ยงดูบุตรให้เจริญเติบโต มีสุขภาพดี มีอนามัยแข็งแรง เพื่อจะได้ทำให้เขาสามารถประกอบภารกิจหน้าที่การงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                                - การทำนุบำรุงทางคุณภาพ ได้แก่ การให้การศึกษาอบรมเพื่อให้สมาชิกใหม่ได้เรียนรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ ซึ่งจะช่วยให้เขารู้จักปรับปรุงตัวเองให้เข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อม
                            4) การกำหนดสถานภาพของบุคคล เด็กเกิดมาย่อมได้รับสถานภาพของบิดาและมารดาของตน เช่น ถ้าบิดามารดามีสัญชาติไทย เด็กที่เกิดมาก็ย่อมเป็นคนไทยด้วย
                    2.4 บรรทัดฐานทางสังคม สถาบันครอบครัวย่อมจะกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว เช่น การก่อตั้งครอบครัว การสู่ขอ การหมั้น การกำหนดว่าสามีจะมีภรรยาได้คนเดียวหรือหลายคน  การหย่าร้างจะเกิดขึ้นได้ด้วยกรณีใด ใครเป็นหัวหน้าครอบครัว บุตรจะใช้นามสกุลของทางบิดาหรือมารดา เป็นต้น

2. สถาบันการเมืองการปกครอง
                ทุกสังคมจะต้องมีสถาบันการเมืองการปกครอง ทั้งนี้เพื่ออำนวยประโยชน์ในด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย และเพื่อจัดระเบียบสังคมให้เกิดสันติสุข ดังนั้นจึงได้เกิดมีสถาบันการปกครองเพื่อทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อให้ผู้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
                    1. ความหมาย : สถาบันการปกครอง คือ แบบอย่างของการคิดการกระทำในเรื่องเกี่ยวกับการรักษาระเบียบ ความสงบ การบรรลุเป้าหมายของสังคมร่วมกันและการตัดสินใจร่วมกัน สถาบันการปกครองเป็นสถาบันที่ครอบคลุ่มตั้งแต่เรื่องผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจในสังคม รวมทั้งการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ผู้นำการเลือกตั้ง ลัทธิการเมืองต่างๆ และอุดมการณ์ทางการเมือง เป็นต้น
                    สถาบันทางการเมืองการปกครอง เป็นกลุ่มของบรรทัดฐานเกี่ยวกับการใช้อำนาจ เพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม และกำหนดสิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม ทุกสังคมจะต้องมีสถาบันการเมืองการปกครอง เพื่อควบคุมดูแลให้ผู้คนในสังคมปฏิบัติตามบรรทัดฐาน มิฉะนั้นจะเกิดการไร้ระเบียบ เพราะเมือง ต่างคนต่างก็มีความต้องการจะกระทำในสิ่งต่างๆ ถ้าไม่มีข้อกำหนดกฎเกณฑ์ ก็ยากที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของแต่ละบุคคลได้ สถาบันการเมืองการปกครองนี้นอกจากจะเกิดจากความต้องการให้ผู้คนในสังคมอยู่ร่วมกันด้วนสันติสุขแล้ว ยังมีผลมาจากความต้องการที่จะธำรงอธิปไตยของสังคมโดยส่วนรวมไว้ให้ปลอดภัยจาการรุกรานของสังคมอื่นด้วย
                    2. องค์ประกอบของสถาบันการเมืองการปกครอง ที่สำคัญมีดังนี้
                            2.1 กลุ่มทางสังคมหรือองค์ประกอบทางสังคม สถาบันการเมืองการปกครองจะประกอบด้วยกลุ่มทางสังคมหรือองค์การทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่ พรรคการเมือง สภาผู้แทนราษฎร รัฐสภา คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ
                            2.2 สถานภาพและบทบาท องค์ประกอบของสถาบันการเมืองการปกครองเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบและบทบาท สามารถแยกพิจารณาได้ดังนี้
                            สถานภาพ หรือตำแหน่งหน้าที่สำคัญของสถาบัน ได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ ซึ่งและคนที่ได้รับตำแหน่งนั้น ๆ ย่อมจะต้องปฏิบัติหน้าที่ไปตามบรรทัดฐานที่สังคมได้กำหนดไว้ และแสดงบทบาทของตนให้เหมาะสมกันหน้าที่ เช่น การเป็นนายกรัฐมนตรี ย่อจะต้องแสดงถึงภาวะการเป็นผู้นำคณะรัฐบาลในการบริหารประเทศ ใช้มติของคณะรัฐมนตรีเป็นแนวการพัฒนาประเทศอย่างสุจริต ยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่อำนาจโดยเผด็จการ หรือยอมทำตามคำบัญชาของบุคคลใด หรือกลุ่มบุคคลคณะใด
                        2.3 หน้าที่ของสถาบันการเมืองการปกครอง หน้าที่ของสถาบันการเมืองการปกครองย่อมหมายถึงหน้าที่ของฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายที่มีส่วนในการจัดการปกครองประเทศ ซึ่งโดยทั่วไปฝ่ายปกครองหรือฝ่ายรัฐบาลจะต้องทำหน้าที่ที่สำคัญดังต่อไปนี้
                                1) รักษาความมั่นคงปลอดภัยของชาติ กล่าวคือ ต้องรักษาเอกราชของชาติให้ปลอดภัยจากการรุกรานของศัตรูภายนอก
                                2) บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ราษฎร เช่น ปราบปรามโจรผู้ร้ายที่ทำลายความสงบสุขของประชาชน รวมทั้งการส่งเสริมสวัสดิภาพให้แก่ประชาชนอย่างทั่วหน้า
                                3) สร้างความมั่นคงและรักษาสิทธิประโยชน์ทางเศรษฐกิจ คือ การช่วยให้ประชาชนมีรายได้ดีขึ้น มีความเป็นอยู่อย่างสุขสมบูรณ์ มีเครื่องอุปโภคบริโภคอย่างพอเพียงกับความต้องการ
                                4) จัดให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการศึกษาภาคบังคับและในโอกาสเดียวกันก็ต้องปรับปรุงคุณภาพของการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
                                5) สร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของชาติและเพื่อความร่วมมือในทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือการศึกษา
                                6) หารายได้บำรุงประเทศชาติ เช่น การเรียกเก็บภาษีจากราษฎรอย่างเป็นธรรม การค้าขายกับต่างประเทศ การประกอบการสาธารณูปโภค เป็นต้น
                                7) ส่งเสริมศีลธรรมและวัฒนธรรมแก่คนในชาติ โดยการกำหนดนโยบายหรือวางแผนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ
                    2.4 บรรทัดฐานทางสังคม สถาบันการเมืองการปกครองย่อมมีบรรทัดฐานทางสังคมเพื่อใช้เป็นหลักปฏิบัติ เช่น ผู้ที่จะมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องมาจากการเลือกตั้งนายรัฐมนตรีต้องมาจากหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด หรือถ้าคณะรัฐมนตรีไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้ต้องลาออก เพื่อเปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่ เป็นต้น

3. สถาบันเศรษฐกิจ
                สถาบันเศรษฐกิจเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ช่วยสนองความต้องการของบุคคลในสังคมทั้งในด้านสิ่งบริโภคและอุปโภค ในสังคมที่แตกต่างกัน ย่อมมีระเบียบแบบแผนในการผลิต การจำหน่ายการบริโภคอุปโภคที่แตกต่างกัน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อสังคม เช่น สังคมที่มีประชากรมากและมีทรัพยากรจำกัด อาจต้องใช้วิธีการแบ่งปันทรัพยากรกันกินและใช้
                    1. ความหมายของสถาบันเศรษฐกิจ สถาบันเศรษฐกิจ หมายถึง แบบของการคิดการกระทำเกี่ยวกับเรื่องการผลิตสินค้าและอาหารต่างๆ รวมทั้งการแจกจ่ายสินค้าและการให้บริการต่างๆ ให้แก่สมาชิกในสังคม สถาบันเศรษฐกิจเป็นกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่ลูกจ้าง นายจ้าง เจ้าของโรงงาน ธนาคารและผู้ผลิตสินค้าและบริการในเรื่องต่างๆ จะต้องปฏิบัติตามจากความหมายข้างต้น พอจะสรุปได้ว่า สถาบันเศรษฐกิจ หมายถึง กลุ่มของบรรทัดฐานที่นำเอามาเป็นแนวทางในการทำการผลิต การจำหน่ายจ่ายแจกและการบริโภค เพื่อก่อให้เกิดการกินดีอยู่ดี โดยมีกลุ่มสังคมต่างๆรับผิดชอบโดยปฏิบัติตามบรรทัดฐานที่สังคมได้วางไว้
                        สถาบันเศรษฐกิจมีเป้าหมายอยู่ที่การกินดีอยู่ดีของประชาชน ดังนั้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงเกี่ยวข้องกับกรรมวิธีที่จะก่อให้เกิดความมั่งมี การกินดีอยู่ดี หรืออย่างน้อยก็เพื่อการมีกินมีใช้ของประชาชน กรรมวิธีดำเนินการมักขึ้นอยู่กับปรัชญาทางเศรษฐกิจของผู้มีบทบาทอำนาจหน้าทีทางเศรษฐกิจของสังคมนั้นๆ เพื่อจะกำหนดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจควรจะดำเนินไปในรูปแบบใด จะให้ประชาชนมีสิทธิในการดำเนินการผลิตเอง มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน รัฐจะเข้าควบคุมหรือปล่อยให้เอกชนดำเนินงานอย่างเสรี ฯลฯ เหล่านี้เป็นวิธีการซึ่งมีเป้าหมายคือการมีกินมีใช้
                    2. องค์ประกอบของสถาบันเศรษฐกิจ มีดังนี้
                        2.1 กลุ่มทางสังคมหรือองค์การทางสังคม ซึ่งเป็นองค์ประกอบของสถาบันเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม บริษัท ร้านค้า สถานบริการต่างๆ
                        2.2 สถานภาพและบทบาท ในสถาบันเศรษฐกิจจะประกอบด้วยสถานภาพที่สำคัญ เช่น นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้จัดการ ลูกค้า พ่อค้าคนกลาง แต่ละสถานภาพจะมีหน้าที่ความรับผิดชอบ เพื่อก่อนให้เกิดการผลิต การจำหน่ายเครื่องบริโภคอุปโภค เช่น ลูกจ้างย่อมมีหน้าที่ทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย ต้องซื่อสัตย์ต่อนายจ้างหรือองค์กร บทบาทของลูกจ้าง คือเป็นผู้ปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้รับคำสั่งจากนายจ้างมาปฏิบัติ ไม่ใช้เป็นผู้สั่งงาน ส่วนนายจ้างมีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการ สั่งหรือมอบหมายให้ลูกจ้าง คอยตรวจสอบติดตามผลงาน รวมทั้งพิจารณากำหนดค่าตอบแทนให้กับลูกจ้าง นายจ้างต้องทำตัวให้ลูกจ้างนับถือ ต้องให้เกียรติแก่ลูกจ้างด้วย มิฉะนั้นธุรกิจที่ดำเนินอยู่อาจไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
                        2.3 หน้าที่ของสถาบันเศรษฐกิจ สถาบันเศรษฐกิจมีหน้าที่และบทบาทต่อสังคมต่อไปนี้
                                1) ผลิตและกระจายสินค้าและบริการแก่สังคมเพื่อให้สามชิกของสังคมสามารถดำรงชีพอยู่ได้
                                2) ฐานะทางเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตและการพัฒนาสังคม
                                3) แบ่งแยกชนชั้นในสังคม ในสมัยก่อนถือเรื่องยศถาบรรดาศักดิ์เป็นตัวกำหนดชนชั้น ปัจจุบันอาชีและรายได้เป็นสิ่งที่กำหนดชนชั้นทางสังคม
                                4) สถาบันเศรษฐกิจเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างรากฐานทางการเมือง
                        2.4 บรรทัดฐานทางสังคม สถาบันทางเศรษฐกิจย่อมมีบรรทัดฐานทางสังคมที่ใช้เป็นแนวปฏิบัติในการผลิต การจำหน่าย เช่น ในด้านการผลิต มีบรรทัดฐานเกี่ยวกับสินค้าที่ให้ผลิตได้ สินค้าที่ห้ามผลิต การตั้งโรงงานผลิตสินค้าชนิดใด ณ ที่ใดต้องขออนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมก่อน ในส่วนของการจำหน่ายสินค้า อาจมีการกำหนดคุณภาพและราคา มีการกำหนดให้ติดราคาขายและจะต้องขายไม่เกินราคาที่รัฐบาลกำหนด

4. สถาบันศาสนา
                    จากการศึกษาประวัติความเป็นมาของศาสนาพบว่าศาสนาเกิดจากความต้องการด้านจิตใจของมนุษย์ เพื่อสร้างความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัยทางด้านจิตใจ กล่าวคือ มนุษย์สมัยก่อนมีความรู้ความสามารถจำกัด ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของปรากฏการณ์ธรรมชาติ จึงคิดว่าเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตและสิ่งแวดล้อมของตนนั้น เช่น ฝนตก ฟ้าผ่า น้ำท่วม แผ่นดินไหว โรคระบาด เป็นต้น เกิดจากอำนาจลึกลับและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มนุษย์จึงพากันกราบไหว้บูชา เซ่นสรวง เพื่อหวังจะให้ดวงวิญญาณอำนาจลึกลับ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นพึงพอใจ จะได้ช่วยคุ้มครองปกป้องรักษาพวกตน ซึ่งความคิดเช่นนี้ได้ทำให้เกิดระบบความเชื่อต่างๆ และสถาบันศาสนาขึ้นในที่สุด
                    1. ความหมายของสถาบันศาสนา สถาบันศาสนา หมายถึง แบบแผนของความคิดการกระทำในเรื่องเกี่ยวกับจิตใจ ความเชื่อทางสังคม ทางศาสนา เป็นสถาบันที่ครอบคลุมในเรื่องต่างๆ ดังนี้ เช่น การปฏิบัติของฆราวาสต่อภิกษุ พิธีกรรมต่างๆ ความเชื่อเกี่ยวกับไสยศาสตร์ และเกี่ยวกับชีวิตในโลกนี้โลกหน้า
                    สรุปได้ว่า สถาบันศาสนา เป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ช่วยสนองความต้องการด้านจิตใจ เสริมสร้างกำลังใจให้สมาชิกในสังคมได้ต่อสู่กับปัญหาโดยปฏิบัติตามคติความเชื่อ และมีกลุ่มทางสังคม ได้แก่ วัด สำนักสงฆ์ ทำหน้าที่ในด้านนี้  ทุกสังคมจะมีศาสนาเป็นสิ่งยึดถือและใช้เป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินชีวิต และแต่ละสังคมก็อาจนับถือศาสนาแตกต่างกันออกไป บางสังคมก็นับถือศาสนาที่เชื่อในพระเจ้าองค์เดียว บางสังคมก็นับถือศาสนาที่เชื่อในพระเจ้าหลายองค์ และบางสังคมก็ไม่นับถือพระเจ้า แต่ถือว่ามนุษย์เป็นใหญ่ในตัวเอง ควบคุมชะตาชีวิตของตนเอง ส่วนในสังคมที่ยังด้อยการศึกษา ผู้คนอาจยึดถือลัทธิความเชื่อในเรื่องของวิญญาณและปรากฏการณ์ธรรมชาติ ส่วนการปฏิบัติตามพิธีกรรมทางศาสนาก็ย่อมแตกต่างกันไปตามความเชื่อของศาสนานั้น
                   สำหรับประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งคำสอนนั้นมิได้มุ่งสั่งสอนแต่เพียงหลักศีลธรรมจรรยาอันมีผลไปถึงปรัชญาในการดำเนินชีวิตเท่านั้น หากแต่ยังมุ่งรวมไปถึงผลที่มีต่อประเทศชาติโดยส่วนรวมอีกด้วย เช่น คำสอนที่ว่า สุขเสมอด้วยความสงบไม่มี นอกจากจะสอนให้คนไทยเป็นคนรักความสงบแล้ว คำสอนดังกล่าวยังส่งผลต่อประเทศชาติโดยส่วนรวมคือ ทำให้ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่รักความสงบ ใฝ่สันติภาพ และไม่คิดรุกรานใคร ประเทศไทยจึงมีแต่ความปรารถนาดีต่อประเทศเพื่อนบ้านมาตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
                    2. องค์ประกอบของสถาบันศาสนา ได้แก่
                        2.1 กลุ่มทางสังคมหรือองค์การทางสังคม สถาบันศาสนาจะประกอบด้วยกลุ่มทางสังคมหรือองค์การทางสังคมที่สำคัญ เช่น วัด สำนักสงฆ์ สถาบันทางการศึกษาทางสังคม เช่น วิทยาลัยสงฆ์ เพื่อช่วยทำหน้าที่ของสถาบันทางศาสนาได้อย่างครบถ้วน
                        2.2 สถานภาพและบทบาท ในสถาบันศาสนาจะมีสถานภาพที่สำคัญ ได้แก่ ศาสดา สาวกและศาสนิกชน ในพระพุทธศาสนาคือ พระพุทธเจ้า มีสาวกได้แก่ พระภิกษุสงฆ์ ในคณะสงฆ์แบ่งสถานภาพออกไปตามสมณศักดิ์ เช่น แบ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ พระครู ฯลฯ ซึ่งแต่ละตำแหน่งย่อมกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ และมีบทบาทที่แสดงให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ เช่น เป็นพระต้องสำรวมอิริยาบถ มีความเมตตาต่อสัตว์โลก เทศนาสั่งสอนศาสนิกชน และประพฤติตามพระธรรมวินัย เป็นต้น
                        2.3 หน้าที่ของสถาบันศาสนา มีหน้าที่ต่อสังคมทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมดังนี้
                                1) สร้างความเป็นปึกแผ่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคม คือ มีปรัชญาในการดำเนินชีวิตที่เหมือนกัน
                                2) ควบคุมมาตรฐานความประพฤติปฏิบัติของสมาชิกในสังคม
                                3) ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางจิตใจ ให้สมาชิกสามารถเผชิญกับปัญหาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีสติ
                                4) มีอิทธิพลต่อการจัดระบบความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก
                                5) เป็นเครื่องสร้างความผูกพันระหว่างคนในชาติและวัฒนธรรมของสังคม
                        2.4 บรรทัดฐานทางสังคม สถาบันทางศาสนาจะกำหนดหลักคำสอน และแนวการปฏิบัติของสมาชิก เช่น ผู้ที่ต้องการอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ต้องเป็นชายและมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ พระภิกษุสงฆ์ต้องเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ต้องยังชีพด้วยการออกบิณฑบาตโปรดสัตว์โลก ในระหว่างพรรษาภิกษุต้องจำศีลที่วัด   พุทธศาสนิกชนที่ดีต้องมีศีล 5 ต้องร่วมประกอบศาสนากิจในวันสำคัญทางศาสนา

5. สถาบันการศึกษา
                    ทุกสังคมย่อมจะต้องมีหน้าที่ในการให้การศึกษาแก่มวลชน เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้รู้จักบรรทัดฐานของสังคม เรียนรู้เกี่ยวกับวิถีการดำเนินชีวิต การทำมาหาเลี้ยงชีพ และวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้สร้างสมไว้ให้เพื่อสืบทอดต่อไป
                    1. ความหมายของสถาบันการศึกษา สถาบันการศึกษา หมายถึง แนวแผนในการคิดและการกระทำเกี่ยวกับเรื่องการอบรมให้การศึกษาแก่สมาชิกใหม่ของสังคม รวมทั้งการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากคนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่งด้วย เป็นสถาบันที่ครอบคลุมหัวข้อต่างๆ ดังนี้ เช่น เรื่องกับหลักสูตร การสอบเข้า การเรียนการสอน การฝึกอบรมในด้านต่างๆ และการเลื่อนชั้น เป็นต้น
                    การศึกษามีบทบาทสำคัญต่อสังคมในปัจจุบัน กล่าวคือ การศึกษามิใช่เป็นเรื่องของการแสวงหาความรู้เฉพาะด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นการศึกษาเพื่อให้เกิดความคิดและเกิดปัญญาในอันที่จะนำความรู้นั้นไปใช้แก้ไขปัญหา และพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้เจริญก้าวหน้า บุคคลที่มีการศึกษา หมายถึงบุคคลที่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้เป็นผลสำเร็จ และบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยส่วนรวม  ฉะนั้น สถาบันการศึกษาจึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เพราะการศึกษากระตุ้นให้คนมีความคิด มีความกระตือรือร้น มีความพยายาม และพร้อมที่จะปรับปรุงหรือปฏิรูปสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น
                    2. องค์ประกอบของสถาบันการศึกษา มีดังนี้
                            2.1 องค์การทางสังคมหรือกลุ่มทางสังคม ซึ่งเป็นองค์ประกอบของสถาบันการศึกษาที่สำคัญ ได้แก่ โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย นอกจากนั้นอาจมีองค์การทางสังคมอื่นๆ เข้ามามีส่วนช่วยในการจัดการศึกษา เช่น กระทรวง ทบวง กรม บริษัท โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
                            2.2 สถานภาพและบทบาท ในสถาบันการศึกษาจะประกอบด้วยสถานภาพต่างๆ เช่น ผู้บริหารสถานศึกษา ครู-อาจารย์ นักเรียน คนงานภารโรง แต่ละตำแหน่งย่อมมีหน้าที่ความรับผิดชอบ เพื่อช่วยให้การจัดการศึกษาสำเร็จตามจุดม่งหมาย ให้นักเรียนเกิดความรู้ ประพฤติตนเป็นคนดีของสังคม เช่น ครูมีหน้าที่สอนและอบรมนักเรียน ส่วนบทบาทของครู ได้แก่ การอธิบาย การชี้แจงแสดงเหตุผลให้นักเรียนเข้าใจบทเรียน การทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีหรือเป็นแม่พิมพ์ที่ดี
                            2.3 หน้าที่ของสถาบันการศึกษา เมื่อพิจารณาถึงหน้าที่ของการศึกษาไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน หรือการศึกษาแบบไม่มีระบบ โดยทั่วไปแล้วสถาบันการศึกษามีหน้าที่ต่อบุคคลและสังคม ดังต่อไปนี้
                                1) พัฒนาความเจริญงอกงามส่วนบุคคล กล่าวคือ ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความเจริญงอกงามทั้งทางด้านความรู้ ความคิด ความสามารถในการเขียนอ่าน สุขภาพอนามัยแข็งแรงสมบูรณ์ เป็นต้น
                                2) ส่งเสริมให้บุคคลเป็นคนดี ให้เป็นคนมีศีลธรรม วัฒนธรรม รู้จักขนบธรรมเนียมประเพณี มีค่านิยมที่ดีงาม ปฏิบัติตามกฎตามระเบียบของสังคม สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
                                3) พัฒนาความสามารถในการประกอบอาชีพของบุคคล กล่าวคือ ให้มีความรู้สามารถในการประกอบอาชีพ
                                4) ส่งเสริมให้บุคคลเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม กล่าวคือ ให้รู้จักสิทธิหน้าที่ที่ตนพึงปฏิบัติต่อสังคมและประเทศชาติ เช่น การเสียภาษี การใช้สิทธิเลือกตั้ง การช่วยเหลือชาติบ้านเมืองด้วยวิธีการอื่นๆ
                                5) ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสถานภาพของบุคคล กล่าวคือ การศึกษาสามารถช่วยให้บุคคลมีความรู้ แล้วใช้ความรู้ที่มีอยู่เปลี่ยนจากอาชีพเดิมไปประกอบอาชีพใหม่หรือช่วยเลื่อนจากตำแหน่งที่ต่ำกว่าไปสู่ตำแหน่งที่สูงกว่า
                                6) ส่งเสริมให้เกิดความสมดุลตามธรรมชาติ เช่น ช่วยให้ประชาชนเข้าใจและรักธรรมชาติ ไม่พยายามที่จะเอาชนะธรรมชาติจนทำให้เกิดมลพิษต่างๆ ขึ้น
                                7) ช่วยให้คนคิดเป็นแก้ปัญหาเป็นสามารถใช้ความรู้และสติปัญญาแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเองและสังคม
                                8) ส่งเสริมให้เกิดความกลมกลืนในสังคม เช่น การปลูกฝังค่านิยม การใช้ภาษาร่วมกันของคนหลายเชื้อชาติในการเรียนการสอน ทำให้เกิดความสัมพันธ์กัน มีความเข้าใจอันดีต่อกันมากขึ้น
                                9) ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปสังคม กล่าวคือ ความเจริญก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในสังคมมักจะมีพื้นฐานมาจากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยากรก่อนเสมอ
                                10) รักษาและถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรม จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง
                            2.4 บรรทัดฐานทางสังคม สถาบันทางการศึกษาย่อมต้องกำหนดบรรทัดฐานเพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอน เช่น การรับนักศึกษาเข้าเรียน การกำหนดหลักสูตร กำหนดแผนการเรียน การลงทะเบียน การสอบวัดผล ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้การเรียนการสอนดำเนินสู่จุดมุ่งหมาย เช่น การสอบวัดผล จะกระทำเมื่อการเรียนการสอนได้จบสิ้นลงตามคาบเวลาและสอนเนื้อหาครบตามหลักสูตร เพื่อจะได้ทราบว่านักเรียนนิสิตนักศึกษามีความรู้ระดับใด ให้ผ่านได้หรือยังไม่มีความรู้พอ จะต้องเรียนซ้ำในวิชานั้นใหม่

สรุป  โครงสร้างของสังคมเป็นสิ่งที่ช่วยพยุงให้สังคมมีความมั่นคงถาวร ซึ่งองค์ประกอบที่สำคัญในโครงสร้างของสังคมที่กล่าวไว้ คือ กลุ่มทางสังคม และสถาบันทางสังคม โดยองค์ประกอบเหล่านี้ ถ้ามีคุณสมบัติที่ดีก็ช่วยให้สังคมเจริญรุ่งเรือง   กลุ่มทางสังคม มีอิทธิพลต่อพฤติกรรม ความคิด และค่านิยมของบุคคลและสังคม โดยกลุ่มที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มครอบครัว กลุ่มสมาคม กลุ่มทางสังคมขนาดเล็ก และกลุ่มชุมชน ซึ่งกลุ่มต่างๆ เหล่านี้จะมีการติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างบุคคลและกลุ่มในสังคม

บทบาทหน้าที่ของสถาบันทางสังคมมีอะไรบ้าง

บทบาทสำคัญของสถาบันทางสังคม ได้แก่ การกำหนดแบบอย่างการกระทำของสมาชิกให้เป็นระเบียบ การตอบสนองความต้องการของคนและสังคม การรักษาและถ่ายทอดวัฒนธรรมจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง จนกลายเป็นมรดกของสังคม และการจัดการให้สังคมมีระเบียบเพื่อให้สมาชิกได้รับความสะดวกสบาย สถาบันทางสังคมที่สำคัญ

สถาบันการศึกษามีหน้าที่อะไร

บทบาทหน้าที่ของสถานศึกษาตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 1. จัดทำนโยบายแผนพัฒนาการศึกษาด้านวิชาการ บุคคล งบประมาณ บริหารทั่วไป 2. จัดตั้ง/รับผิดชอบการใช้จ่ายงบประมาณ 3. พัฒนาหลักสูตร/จัดการเรียนการสอน 4. ออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ แนวปฏิบัติ 5. กำกับ ติดตามประเมินผลตามแผนงานโครงการ 6. ระดมทรัพยากร ปกครอง ...

หน้าที่ของสถาบันเศรษฐกิจมีอะไรบ้าง

หน้าที่ของสถาบันเศรษฐกิจที่สำคัญ มีดังนี้ 1. บำบัดความต้องการทางเศรษฐกิจ เช่น มีการผลิต การแบ่งปันวัตถุ หรือบริการที่มนุษย์ต้องการบริโภค 2. ให้ความสะดวกแก่มนุษย์ในการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น ระบบสินเชื่อ การใช้เงินตรา จัดให้มีการแบ่งงาน ตลาดระบบผลกำไร ค่าจ้างและดอกเบี้ย

ลักษณะสำคัญของสถาบัน คืออะไร

1. สถาบันสังคมเป็นนามธรรม สถาบันสังคมไม่ใช่ตัวบุคคลหรือกลุ่มคนและไม่ใช่วัตถุสิ่งของที่จับต้อง ได้แต่เป็นแบบแผนในการประพฤติปฏิบัติร่วมกันของสมาชิกทุกคน 2. สถาบันสังคมเกิดจากการเชื่อมโยงบรรทัดฐานต่างๆ ทางสังคม 3. สถาบันเกิดขึ้นเพื่อสนองความต้องการในด้านต่างๆ ร่วมกันของสมาชิกในสังคม 4. สถาบันสังคมเกิดจากการยอมรับร่วมกัน ...