การฉีดพ่นสารกำจัดศัตรูพืชก่อให้เกิดผลเสียอย่างไร

โลกเกิดขึ้นในระบบสุริยะเมื่อประมาณ ๔๕๐๐ ล้านปี และชีวิตได้พัฒนาอย่างสลับซับซ้อนมากขึ้น “มนุษย์” สร้างระบบสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง จนกลายสภาพเป็นระบบของโลกที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการตั้งถิ่นฐานชุมชน เกษตร และความพยายามสนองความต้องการของมนุษย์โดยวิธีการด้านอุตสาหกรรม ทำให้มนุษย์ แยกตัวออกจากสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ และก่อให้เกิดการพัฒนาที่ใช้ธรรมชาติตอบสนองความโลภ และความอยู่รอดของมนุษย์ การย้ายถิ่นของมนุษย์ สารฆ่าแมลงและสารเคมีในกระบวนการอุตสาหกรรมหลากหลายที่มีการผลิตเพิ่มปริมาณ เพิ่มชนิดมากขึ้น รวมทั้งสารเคมีต่างๆ ที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อใช้อำนวยความสะดวกและเพิ่มความเจริญเชิงวัตถุ แม้ได้มีส่วนช่วยให้มนุษย์มีชีวิตยืนยาวขึ้นและช่วยใน การผลิตภาคเกษตรอุตสาหกรรมให้มีปริมาณมา เพียงพอสำหรับประชากรส่วนใหญ่ แต่การผลิตสารเคมีเพื่อตอบสนองกิจกรรมต่างๆในระยะที่ผ่านมา มักขาดความตระหนักถึงผลกระทบอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่หลากหลายมีความสัมพันธ์โยงใยกันอย่างสลับซับซ้อนในระบบนิเวศจึงมีส่วนส่งผลให้เกิดกระทบตามมา การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อมมีผลต่อการวิวัฒนาการการแพร่กระจายของโรคที่มีแมลงเป็นพาหะ เช่น มาลาเรีย ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่กระทบถึงมนุษย์ และส่งผลถึงการปรับเปลี่ยนทางพันธุกรรมของมนุษย์ต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมอีกด้วย การปรับเปลี่ยนนี้ เป็นไปอยู่ตลอดเวลาและส่งผลถึงโรคทางพันธุกรรม ตัวอย่างเช่น โรคธาลัสสีเมีย ซึ่งพบว่าคนไทยถึงประมาณร้อยละ ๔๐ เป็นพาหะของโรคนี้ในปัจจุบัน

สารกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ (pesticides) เป็นสารเคมีที่ผลิตขึ้นเพื่อทำลายสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่มาแก่งแย่งขัดขวางการผลิตอาหาร การผลิตเครื่องนุ่งห่มหรือทำลายสิ่งมีชีวิตที่เป็นพาหะนำโรคต่อมนุษย์ สารเคมีในลักษณะเดียวกันอาจใช้ทำลายประหัตประหารมนุษย์ที่เป็นศัตรู ใช้ในการรบรากันเพื่อผล ประโยชน์ของพวกพ้องสังคม เช่นการนำสารเคมี อาวุธสงครามมาใช้ทำลายกัน

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้มีการผลิตสารเคมีหลายกลุ่ม คือ สารฆลอรีนอินทรีย์ สารฟอสเฟตอินทรีย์ และคาร์บาเมต เนื่องจากประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชของสารเคมีเหล่านี้สูงมาก สามารถลดประชากรของศัตรูพืชลงได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ความเสียหายของพืชที่อาจเกิดขึ้น จากศัตรูพืชลดลง หรือไม่เสียหายเลย นอกจากนี้วิธีการใช้สารกำจัดศัตรูพืซก็ค่อนข้างง่าย ค่าใช้จ่ายไม่สูงนักและคุ้มค่าการลงทุน เกษตรกรจึงรับวิธีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยสารเคมีอย่างรวดเร็ว การใช้สารกำจัดศัตรูพืชจึงเป็นไปอย่างกว้างขวาง แนวทางในการอารักขาพืชเปลี่ยนจากเดิมซึ่งใช้วิธีป้องกันกำจัดหลายๆ วิธี มาเป็นวิธีใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพียงวิธีเดียว การผสมพันธุ์พืชมุ่งเน้นเฉพาะพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง การอารักขาพืชก็ใช้สารเคมี บางครั้งตั้งแต่ก่อนพืชงอกตลอดไปจนถึงเก็บเกี่ยว ไม่ว่าจะมีศัตรูพืชหรือไม่ก็ตาม การใช้สารกำจัดศัตรูพืชจึงมากเกินความจำเป็น ผลกระทบในด้านลบซึ่งไม่เคยคาดคิดล่วงหน้ามาก่อนจึงปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัด อันได้แก่ผลต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆการสร้างความทนทานของศัตรูพืชต่อสารเคมี และอุบัติการณ์มลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ผลต่อสิ่งมีชีวิตอื่น

ในการใช้สารกำจัดศัตรูพืชนั้น ส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้ให้มีผลเฉพาะต่อศัตรูพืชที่ต้องการเท่านั้น มีผู้ประมาณว่าปริมาณสารกำจัดศัตรูพืชที่ใช้จะถูก ต้องศัตรูพืชเพียงไม่ถึงร้อยละ ๑. ส่วนที่เหลือก็จะกระจายไปทํ่ว ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ศัตรูธรรมชาติที่ อาศัยอยู่บริเวณเดียวกับศัตรูพืช เช่น ตัวห้ำ และตัวเบียน ศัตรูธรรมชาติเหล่านี้มักจะอ่อนแอต่อสารกำจัดศัตรูพืชยิ่งกว่าศัตรูพืช ทำให้ประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว ศัตรูธรรมชาติเหล่านี้คือกลวิธานธรรมชาติที่คอยควบคุมประชากรของศัตรูพืช เมื่อถูกทำลายลงมากๆ เข้า ทำให้แมลงหรือโรคซึ่งไม่เคยระบาดทำลายพืชมาก่อนกลับกลายเป็นศัตรูพืชชนิดใหม่และรุนแรงได้ หรือแม้กระทั่งทำให้ศัตรูพืซที่ระบาดอยู่แล้วระบาดหนักยิ่งขึ้นไปอีก

สิ่งมีชีวิตอีกจำพวกหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากสารกำจัดศัตรูพืชก็คือ พวกที่ช่วยผสมเกสร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผึ้ง พืชหลายชนิดจำเป็นต้องมีผึ้งช่วยใน การผสมเกสร การที่ประชากรของผึ้งลดลงจึงทำให้ผลผลิตของพืชนั้นๆ ลดลงไปด้วย ในสหรัฐอเมริกา มีการประมาณกันว่า ผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลง อันเนื่องมาจากผึ้งถูกทำลายไปเป็นมูลค่าถึง ๘๐- ๔,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละปี ในประเทศ ไทยยังไม่มีการประเมินผลกระทบของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชในด้านนี้ แต่คาดว่าน่าจะมีมูลค่ามหาศาลเช่นเดียวกัน

ความทนทานของศัตรูพืชต่อสารกำจัดศัตรูพืช

ความทนทานของศัตรูพืชต่อสารกำจัดศัตรูพืช เป็นผลจากการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ซึ่งจะไปฆ่าศัตรูพืชเป็นส่วนใหญ่ แต่มีบางส่วนซึ่งไม่ตายเพราะมี ลักษณะที่ต้านทานต่อสารเคมีอยู่แล้ว ก็จะไปขยายพันธุ์ทำให้ศัตรูพืชชนิดนั้นๆเกิดเป็นประชากรที่ทนทานต่อสารกำจัดศัตรูพืชเป็นส่วนใหญ่ภายในไม่กี่ชั่วชีวิต (generations) สารกำจัดศัตรูพืชที่เคยใช้ได้ผลดี ก็จะไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดอีกต่อไป

ปรากฏการณ์เกิดความต้านทานต่อสารเคมีของศัตรูพืชนั้น เป็นที่ทราบกันมานานแล้วตั้งแต่สมัยที่ยังใช้สารอนินทรีย ในการกำจัดศัตรูพืช เช่น รายงานที่เพลี้ยหอยของส้มทนทานต่อการใช้สารฮัยโดรเจนไซยาไนด์ ใน พ.ศ. ๒๔๕๔ แต่ที่มีผลกระทบอย่างมากเป็นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อมีการช้สารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มสารฆลอรีนอินทรีย์ และมีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชจำพวกนี้กันอย่างแพร่หลาย ในปี ๒๕๒๗ จำนวนศัตรูพืซที่มีรายงานว่าเกิดความทนทานต่อสารกำจัดศัตรูพืชขึ้นไปสูงถึง ๔๔๗ ชนิด ในประเทศไทยก็มีศัตรูพืชหลายชนิดที่สร้างความทนทานขึ้นอย่างรุนแรง อาทิ เพลี้ยกระโดดสี น้ำตาลในข้าว หนอนเจาะสมอฝ้าย หรือหนอนหนังเหนียวในผักและองุ่นเป็นต้น

การสร้างความทนทานต่อสารกำจัดศัตรูพืช ทำให้เกษตรกรต้องเพิ่มปริมาณสารกำจัดศัตรูพืชต้องใช้บ่อยขึ้น หรือเปลี่ยนกลุ่มของสารกำจัดศัตรูไป เพราะบางครั้งศัตรูพืชสร้างความทนทานต่อสารกำจัดศัตรูพืชชนิดหนึ่ง ก็อาจจะมีความทนทานต่อสารกำจัดศัตรูพืชชนิดอื่นในกลุ่มเดียวกันได้ ทำให้ เกษตรกรต้องมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เสี่ยงอันตรายจากพิษของสารกำจัดศัตรูพืชสูงขึ้น ในบางกรณีก็ไม่สามารถกำจัดศัตรูพืชได้ด้วยวิธีใช้สารเคมี เช่นในกรณีของหนอนเจาะสมอฝ้าย ทำให้พื้นที่การปลูกฝ้ายของประเทศไทยซึ่งเคยสูงถึงประมาณ ๑ ล้านไร่ เหลือเพียงไม่ถึง ๓ แสนไร่ในปัจจุบัน เป็นผลให้ประเทศไทยต้องนำเข้าฝ้ายจากต่างประเทศในปริมาณมหาศาล

สารกำจัดศัตรูพืชตกค้างในดินและในน้ำ

ดังได้กล่าวแล้วว่า การใช้สารกำจัดศัตรูพืชนั้น มีเพียงส่วนน้อยที่มีผลต่อศัตรูพืชที่ต้องการแต่ส่วนมากจะกระจายไป ซึ่งมักจะตกลงบนดินและในน้ำก่อนที่บางส่วนจะสลายไป การตกค้างจะนานหรือเร็วมากน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง นอกจากนี้ยังสามารถกระจายออกไปยังพื้นที่ๆ อยู่ห่าง ออกไปจากการชะล้าง และไหลไปตามน้ำฝนที่ตกลงมา

ปัจจัยที่มีผลต่อการสลายตัว ได้แก่

-การละลายน้ำของสารกำจัดศัตรูพืช สารกลุ่มฆลอรีนอินทรีย์มักจะไม่ละลายน้ำ แต่จะเพิ่มปริมาณความเข้มข้นในวงจรห่วงโซ่อาหาร โดยเข้าไปสะสมในเนื้อเยื่อไขมันของสิ่งมีชีวิตและสามารถคงทนอยู่ในธรรมชาติเป็นเวลานานหลายปี บางชนิดเป็นสิบๆ ปี และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการห้ามใช้สารกำจัดศัตรูพืชเกือบทุกชนิดในกลุ่มนี้

-สูตรตำรับ (formulation) ของสารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มที่ทำเป็นเม็ดฝอย (granules) สลายตัวช้ากว่ากลุ่มที่อยู่ในรูปของสารละลาย ส่วนกลุ่มที่อยู่ในรูปผงละลายน้ำและฝนจะสลายตัวได้เร็วที่สุด

-จุลชีพในดินสามารถย่อยสลายสารกำจัดศัตรูพืชได้ดี ถ้าประชากรของจุลชีพสูงก็ทำให้การสลายตัวของสารกำจัดศัตรูพืชเร็วขึ้น

นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับประเภทของดิน อุณหภูมิ การไถพรวนดิน ปริมาณของพืชที่ขึ้นอยู่ เป็นต้น

มลพิษของสารกำจัดศัตรูพืชในสิ่งแวดล้อมนี้ ส่งผลกระทบไปถึงสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่เข้ามาสัมผัส ที่อยู่อาศัย หรือที่ทำมาหากิน และส่งผลกระทบไปถึงห่วงโซ่อาหารด้วย

ในปัจจุบันเมื่อองค์ความรู้ซึ่งเกิดจากการศึกษาระบบการทำงานในร่างกายของสิ่งมีชีวิตเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเนื่องจากเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เช่น การพัฒนาเทคนิคทางพันธุวิศวกรรม หรือทางฟิสิกส์ ทำให้การศึกษาทั้งกลวิธานการเกิดพิษ และการวิเคราะห์ระดับสารเคมีเหล่านี้ในร่างกายสิ่งมีชีวิตทำได้มากขึ้นในระดับเป็นส่วนในล้านล้านส่วน  ผลจากการศึกษาวิจัยโดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้มนุษย์ เข้าใจและตระหนักมากยิ่งขึ้นถึงความมหัศจรรย์ของวิวัฒนาการซึ่งพัฒนาเป็นระบบการทำงานของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ และการปรับตัวที่เกิดขึ้นในระหว่าง วิวัฒนาการ (evolution) เพื่อความอยู่รอดของชีวิต (survival of the fittest) และความเป็นองค์รวม (holistic) ที่ไม่แยกจากกันที่รวมมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติหลากหลายไว้ หลายครั้งเมื่อมีการรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับความเจริญทางวัตถุและเทคโนโลยีของมนุษย์ ทำให้คนทั่วไปเริ่มย้อนกลับมามองอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เช่น มีรายงานข่าวว่าเมื่อมนุษย์อวกาศเดินทางออกนอกโลก และได้มองย้อนกลับมายังโลกมนุษย์ ให้สัมภาษณ์ว่ารู้สึกตระหนักว่าโลกมนุษย์ที่สวยงามใบนี้มีโลกเดียว รู้สึกรักโลกนี้มากและเสียดายที่ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจะย้อนคืนกลับไม่ได้อีกแล้ว

กระแสของความตระหนักเพื่อพัฒนาให้เกิดกระบวนการรักษาธรรมชาติ และการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของโลกมนุษย์ยังเกิดขึ้น เนื่องจากการรับรู้ว่า กลวิธานการทำลายชีวิตของสารพิษเหล่านี้มิได้มีผลเพียงต่อระบบที่ต้องการให้สารเคมีเหล่านี้ออกฤทธิ์เท่านั้น แต่ยังทำลายรบกวนระบบการทำงานขั้นพื้นฐานอื่นๆ ในระบบร่างกายของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ในระบบนิเวศอีกด้วย เช่นการพบว่าไดออกซิน ซึ่งเป็นสารปนเปื้อนในกระบวนการผลิตสารฆ่าวัชพืช กลุ่มฟีนอกซีย์ ๒-๔-๕ ที (2-4-5 Trichorophe- noxyacetic acid) สามารถรบกวนการสื่อสารระหว่างเซลส์ เกิดการรบกวนระบบภูมิคุ้มกันและเปลี่ยนแปลงระบบฮอร์โมนเป็นต้น ผลกระทบเหล่านี้มิได้มีต่อร่างกายของมนุษย์ในลักษณะพิษฉับพลัน ซึ่งเกิดขึ้นทันทีทันใดแต่อาจเกี่ยวข้องมีอิทธิพลต่อโรคภัยไข้เจ็บที่มีสาเหตุสลับซับช้อน และมนุษย์ยังรักษาให้หายขาดมิได้ เช่น โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคหลอดเลือดในสมองตีบ โรคสมองเสื่อม เป็นต้น และยังมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ความสัมพันธ์และความสมดุลของประชากรสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ในโลกมนุษย์อีกด้วย

กลวิธานการออกฤทธิ์ของสารเคมีเพื่อทำลายสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ในระยะหลังจากนั้นไม่นานเป็น กลวิธานซึ่งเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการทำงานขั้นพื้น ฐานของชีวิตของสิ่งมีชีวิตทั้งปวงที่อุบัติขึ้นในโลกอย่างไม่จำเพาะเจาะจง ยกตัวอย่างเช่นกลวิธานการออกฤทธิ์ของสารกำจัดศัตรูพืชที่นิยมใช้กันทั่วโลก

๑. กลวิธานการออกฤทธิ์โดยทำลายระบบการขนส่งอีเลคตรอนในการสังเคราะห์พลังงานการหายใจยองพืช และสัตว์เช่น สารฆ่าหญ้าพาราควอต

๒. กลวิธานการออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ก่อให้เกิดการคั่งของสารสื่อประสาทอะเศติย์ลโฆลีน ในระบบประสาทเสรี และในสมอง เช่น สารฆ่า แมลงกลุ่มสารฟอสเฟตอินทรีย์ และคาร์บาเมต

๓. กลวิธานการออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ก่อให้เกิดการรบกวนการส่งผ่านสัญญาณกระแสไฟฟ้าในเส้นประสาท เช่น สารฆ่าแมลงกลุ่มสาร ฆลอรีนอินทรีย์

๔. กลวิธานการออกฤทธิ์ โดยการขัดขวางการสร้างพลังงาน เช่น ในการออกฤทธิ์ขัดขวางวงจรเคร็บ (Kreb cycle) โดยสารกำจัดหนูประเภทสารประกอบ ๑๐๘๐ และดีเอ็นพี (DNP, dinitrophenol) ซึ่งแยกการส่งผ่านอีเลคตรอนจากการสร้างเอทีพี เป็นต้น

กลวิธานบางอย่างซึ่งเคยเข้าใจว่ารู้เรื่องดี เมื่อมีการศึกษามากขึ้นก็อาจทำให้รู้เป็นอื่น เช่นการค้นพบโปรตีนซึ่งเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนพารารัยรอยด์ เคยเข้าใจว่าอาการของการมีแคลเซียมในเลือดสูง ในผู้ป่วยมะเร็งชนิดต่างๆ เกิดขึ้นเนื่องจากการสร้างฮอร์โมนพาราธัยรอยด์ในร่างกายผิดพลาดเท่านั้น แต่เมื่อขีดความสามารถในการตรวจหาการออกฤทธิ์ ของสารซึ่งคล้ายฮอร์โมนพาราธัยรอยด์ทำได้โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่รวดเร็วแม่นยำ และมีความไวเพียงพอจึงพบว่าสารสกัดจากเนื้องอก ที่พบในสัตว์ทดลองและมนุษย์ที่มีระดับแคลเซียมในเลือดสูงนั้น มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนพาราธัยรอยด์ โดยผู้วิจัยสังเกตเห็นการสนองตอบของ adenylate cyclase ในเซลล์อ่อนของกระดูกและในไต สารดังกล่าวเป็นโปรตีนซึ่งแม้จะถูกยับยั้งฤทธิ์ได้โดยสารที่มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนพาราธัยรอยด์ แต่ไม่ทำปฏิกิริยา กับแอนติสีรัม ของฮอร์โมนพาราธัยรอยด์ เป็นต้น ปัจจุบันนี้พบว่าสารซึ่งพบได้จากเนื้องอกสามารถไปกระตุ้นทำให้กระดูกบางลงได้ เช่น สาร interleukin-1 (IL-1), TNF α และ ß, โปรตีนเกี่ยวข้องกันฮอร์โมนพาราธัยรอยด์ (PTHrP) และ TGF-α ซึ่งมีผู้รายงานผลก่อความผิดปรกติต่อตัวอ่อนของสัตว์ทดลอง ทำให้เพดานโหว่ปากแหว่งในลักษณะเฉพาะคล้ายคลึงกับการออกฤทธิ์ของไดออกซิน (สารปนเปื้อนในสารกำจัดวัชพืช ๒,๔,๕ ที ระหว่างกระบวนการสังเคราะห์สารกำจัดวัชพืช) เป็นต้น

หรือตัวอย่างเช่นการค้นพบโปรตีนหลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับการออกฤทธิ์ของอินสุลินซึ่งควบคุม เมแทบอลิสมของน้ำตาลกลูโคส การใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ในการหาระดับของการแสดงออกของหน่วยพันธุกรรม (ยีน) และวิธีตรวจกรองอย่างรวดเร็วเพื่อหาโพลีย์มอร์ฟิสม ของหน่วยพันธุกรรม เทคนิคการย้ายหน่วยพันธุกรรม และการทดสอบพิษในสัตว์ทดลองที่ทำให้หน่วยพันธุกรรมหายไป (gene knockout) ทำให้เข้าใจบทบาทของโปรตีนเหล่านี้ ในกระบวนการเมแทบอลิสมมากยิ่งขึ้น มนุษย์ค้นพบว่าปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น โรคอ้วน อาหาร การออกกำลังกาย และความชราภาพส่งผลต่อการควบคุมเมแทบอสิสมของกลูโคส โดยไม่อาจหาสาเหตุใดเพียงสาเหตุเดียวที่ส่งผลถึงต่อการไม่สนองตอบของเซลล์ต่ออินสุลินได้ เซลล์ไขมันของคนอ้วน มีการแสดงออกของ TNF-α สูงขึ้น

จากผลกระทบที่ไม่พึงปรารถนาของสารกำจัดศัตรูพืชทำให้แนวคิดของกระแสสังคมของโลกในการกำจัดศัตรูพืชเริ่มเปลี่ยนไปจากการพึ่งพาสาร กำจัดศัตรูพืชชนิดวิธีเดียวเป็นการป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (integrated pest manage­ment) แนวคิดนี้เริ่มประมาณปี ๒๕๐๙ ซึ่งต่อมา ภายหลังมีผู้ให้คำจำกัดความไว้ต่างๆกัน อาทิ

การป้องกันกำจัดพืชโดยวิธีผสมผสาน เป็นระบบการจัดการศัตรูพืชซึ่งจะต้องประมวลข้อมูลของสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องและความผันแปรของประชากรของศัตรูพืช และใช้เทคนิคและวิธีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่เหมาะสม และสามารถผสมผสานกันเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อที่จะควบคุมประชากรของศัตรูพืชให้อยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจได้

การเปลี่ยนแปลงการป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยพึ่งพาแต่สารกำจัดศัตรูพืชเพียงอย่างเดียวไปเป็นแนวคิดในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน มีสิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างน้อย ๓ ประการ คือ

๑. การป้องกันกำจัดศัตรูพืชซึ่งหลังจากสามารถสังเคราะห์สารเคมีที่มีคุณสมบัติป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพสูงแล้วก็ต้องการกำจัดศัตรูแบบสิ้นซาก หรือมีการใช้สารเคมีถึงแม้ว่าจะมีศัตรูพืชเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยก็ตาม เปลี่ยนเป็นการจัดการให้ประชากรของศัตรูพืชอยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ

๒. การใช้วิธีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชวิธีเดียว เปลี่ยนเป็นการผสมผสานหลายๆ วิธี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดผลกระทบที่ไม่ปรารถนาลงให้เหลือน้อยที่สุด

๓. การใช้สารกำจัดศัตรูพืชเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ตั้งแต่เครื่องมือที่ใช้ ชนิดของสารกำจัดศัตรูพืช ความเข้มข้น วิธีการพ่น ตลอดจนถึงผู้ใช้จะต้องได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี การใช้ผิดอาจก่อให้เกิดอันตรายและแม้แต่ถึงชีวิตได้ เพราะสารกำจัดศัตรูพืชส่วนใหญ่เป็นสารที่มีพิษสูงมาก

ปัญหาที่เกิดขึ้นที่มาจากน้ำมือของมนุษย์ เช่น การสังเคราะห์และใช้สารเคมีอย่างกว้างขวางและในปริมาณมาก ยังส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีที่สลายตัวยากเหล่านี้ในสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง เช่นสารฆ่าแมลงกลุ่มฆลอรีนอินทรีย์ เช่น ดีดีที อัลดริน ดีลดริน สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน น้ำ อากาศ เป็นเวลานานนับสิบปี อากาศที่พัดพาสารเคมีเหล่านี้ไปทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายระยะไกล (long range transport) ทำให้สิ่งมีชีวิตที่ไม่มีส่วนร่วมจากการใช้ประโยชน์ของสารเหล่านี้ ต้องได้รับผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของตนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยกตัวอย่าง เช่นมีการพบการปนเปื้อนของดีดีทีในน้ำนมของผู้หญิงที่อาศัยอยู่บริเวณขั้วโลกเหนือ เนื่องจากดีดีที และ พีซีบี (poly­chlorinated biphenyls) ปนเปื้อนอยู่ในแมวน้ำ ซึ่งเป็นอาหารของชนเผ่าเอสกิโม โดยเข้าใจว่าเกิดขึ้นเนื่องจากการเพิ่มปริมาณของสารเหล่านี้โดยกล วิธานห่วงโซ่อาหารที่ทำให้สารละลายได้ดีในไขมันกระจายตัวสะสมในเนื้อที่มีไขมันสูงเพิ่มขึ้นเป็นพันๆ เท่าตามหลักการเคมี like disolves like นั้นเอง

นอกจากนี้ยังมีสารเคมีหลายอย่างอาจทำให้เกิดผลกระทบที่ส่งผลต่อภูมิอากาศ และสุขภาพอนามัยของคนทั่วโลกได้ เช่นโอโซน และสารในกลุ่มซีเอฟซี (chlorofluorocarbons) เป็นต้น

นักคิด นักอนุรักษ์ และนักพัฒนาทั่วโลกในปัจจุบันที่เกิดความตระหนักในปัญหาเหล่านี้จึงเกิดกระบวนการส่งเสริมการพัฒนาที่ให้ความสำคัญต่อ มนุษย์ และพฤติกรรม โดยให้ความสำคัญกับจิตวิญญาณเป็นขั้นพื้นฐานสนับสนุนแนวคิดที่มนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งเพียงส่วนเดียวของจักรวาล และเพิ่มความเมตตาอาทรที่ควรมีให้แก่กันและกันเป็นรากฐานสำคัญของแนวทางพัฒนาในระบบความสัมพันธ์ดังกล่าว

ดังนั้น เงื่อนไขระยะเวลาเป็นเรื่องสำคัญและเป็นสิ่งท้าทายว่าประเทศไทยจะปรับตัวหรือปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อการปฏิบัติอย่างจริงจังในการ พัฒนาประเทศได้ทันการ และจะสามารถสนองตอบต่อกระแสสังคมของโลกในยุคปัจจุบันได้หรือไม่ การปรับตัวเช่นนี้นับเป็นสิ่งจำเป็นในยุคเศรษฐกิจปั่น ป่วนทั้งภูมิภาคเช่นในปัจจุบันนี้ แนวพระราชดำริหลายแนวทาง เช่น เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ผักปลอดสารพิษ การผลิตผักในชุมชนที่ดินว่างเปล่า กังหันน้ำชัยพัฒนา ล้วนแล้วแต่แสดงถึงพระปรีชาญาณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ทรงเป็นองค์ผู้นำแนวคิดและวิสัยทัศน์ในการสร้างความเจริญแก่ชุมชนท้องถิ่นของไทย  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระบิดาแห่งงานวิจัยภาคปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลอย่างแท้จริงในประเทศไทย