ความแตกต่างและความหลากหลายทางวัฒนธรรมก่อให้เกิดผลดีอย่างไร

ความแตกต่างและความหลากหลายทางวัฒนธรรมก่อให้เกิดผลดีอย่างไร

6,500 คือตัวเลขแบบหยาบๆ ของภาษาพูด จากจำนวนประเทศทั่วโลกราว 195 ประเทศที่มีอยู่บนโลกใบนี้ และก็มากถึง 4,200 ศาสนาที่มนุษยชาติเลือกนับถือไปตามความเชื่อและเผ่าพันธุ์ของตน แค่ศาสนาฮินดูก็มีจำนวนเทพเจ้ามากถึง 33 ล้านองค์ ที่ผู้คนเลือกให้ค่าความสำคัญลดหลั่นกันไปตามแต่จะศรัทธา หรือในเรื่องของเพศ เราก็ไม่ได้ใช้ระบบเพศหญิง-ชายอีกต่อไป แต่ล่าสุด ต้นปี 2019 ข้อมูลจากเว็บไซต์ Tumblr ได้มีการรวบรวมรายชื่อของเพศทางเลือกต่างๆ และสรุปออกมาว่า เรามีเพศในปัจจุบันมากถึง 112 เพศ

     จำนวนมากมายเหล่านี้ไม่เพียงบอกว่า โลกของเรากว้างใหญ่ขนาดไหน แต่มันกำลังบอกว่า เราในฐานะมนุษย์ ‘หลากหลาย’ เพียงใด ทว่าในความหลากหลาย ทั้งเชื้อชาติ เพศ ความเชื่อ สีผิว และภาษา ที่เราต่างเคยชินว่ามันเป็นตัวการแบ่งแยก ‘เขา’ และ ‘เรา’ ให้เป็นฝักเป็นฝ่าย เป็นชนวนของความขัดแย้งหลายๆ กรณีตลอดรายทางประวัติศาสตร์ มองลึกลงไปในเชิงชีววิทยา เราจะพบว่า มนุษย์ทั่วโลกมีเพียง 4 เผ่าพันธุ์หลักเท่านั้นคือ 1. นิกรอยด์ 2. คอเคซอยด์ 3. มองโกลอยด์ และ 4. ออสเตรลอยด์ แถมวิธีการแบ่งก็เป็นเพียงการแบ่งจากลักษณะเส้นผมเท่านั้น ขณะที่หากมองย้อนไปเราจะพบว่า ทั้งกฎหมายและบรรทัดฐานบางอย่างในบางสังคม ได้ทำให้คนบางกลุ่มกลายเป็น ‘ทาส’ และอีกกลุ่มกลายเป็น ‘นาย’ จากเรื่องสีผิว ทั้งที่อริสโตเติล นักปรัชญากรีกยุคโบราณ บอกว่า “มันไม่มีหลักฐานใดเลยทางชีววิทยาที่แบ่งแยกความแตกต่างระหว่างทาสกับอิสรชนออกจากกัน”

     ขณะ ยูวาล โนอา ฮารารี เสนออีกแง่มุมหนึ่ง แต่ไปในทิศทางเดียวกันไว้ในหนังสือ Sapiens : A Brief History of Humankind อันโด่งดังของเขาว่า “ระหว่างคนผิวสีและคนขาวมีความแตกต่างทางชีววิทยาบางอย่าง เช่น สีผิว ลักษณะเส้นผม แต่มันไม่มีหลักฐานใดแสดงถึงความแตกต่างทางด้านเชาวน์ปัญญา หรือศีลธรรม”

     ในโลกทุนยุคใหม่ การวิจัยบางชิ้นพบว่า ความหลากหลายของพนักงานในบริษัทสามารถเพิ่มผลกำไรได้มากถึง 19% ก็เหมือนกับที่ อเล็กซานดรา ไรช์ แห่งดีแทค บอกกับเราตอนสัมภาษณ์เพื่อมาเป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ในนิตยสาร a day BULLETIN ฉบับ 579 ว่า ความท้าทายของเธอในฐานะซีอีโอคือการสร้างพื้นที่ของการสนทนาที่ก่อให้เกิดการนำเสนอไอเดียที่หลากหลายผ่านการโต้เถียงและวิพากษ์วิจารณ์ นั่นก็เพราะความหลากหลายจะนำมาซึ่ง ‘ความเป็นไปได้ใหม่ๆ’ ผ่านความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น (Empathy) เพราะ ‘การเคารพความหลากหลาย’ ของผู้อื่นให้เป็น จะนำมาซึ่งสังคมที่สงบสุข, ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) จากมุมมองและประสบการณ์ที่แตกต่างของแต่ละคน ซึ่งสุดท้ายจะทำให้เกิดความสามารถในการผลิต (Productivity)

     ‘ความหลากหลาย’ ในโลกทุกวันนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องศีลธรรมจรรยาหรือสิทธิมนุษยชน แต่มันคือเครื่องมือนำพาสังคมและเราในฐานะพลเมืองโลกไปสู่ทางออกของปัญหา นั่นก็เพราะไม่ว่าเราจะแตกต่างกันมากมายเพียงไร ท้ายที่สุด เราก็เป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน

ความแตกต่างและความหลากหลายทางวัฒนธรรมก่อให้เกิดผลดีอย่างไร

Empathy: ความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น

     มันซ่อนอยู่ในนั้น ในชีวิตประจำวันของเราเอง ทั้งมีเสียงและไม่มี ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว มันแอบอยู่ในทั้งความเพิกเฉยและการโพล่งหัวเราะชอบใจจากมุกเห่ยๆ ของการล้อเลียนเรื่อง ‘เพศสภาวะ’ ของคนอื่น หรือแม้กระทั่งคำทักทายระหว่างกันของคนที่ไม่ได้เจอหน้ามานานเป็นปีๆ ด้วยประโยคสั้นๆ ว่า “อ้วนขึ้นหรือเปล่า” แทนที่จะถามสารทุกข์สุกดิบ

     คุณก็เคยใช่ไหมที่ต้องเจอกับภาวะอึดอัดแบบนั้น กลืนไม่เข้าคายไม่ออกด้วยไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร จะด่าหยาบๆ คายๆ ออกไปก็จะกลายเป็นคนไม่มีอารยะ สุดท้ายก็ต้องยอมปิดปาก ก้มหน้า และยอมรับว่านั้นเป็นเรื่องของ ‘วัฒนธรรม’

     คำถามคือ นั่นเป็นเรื่องของวัฒนธรรมจริงๆ หรือมันเป็นเพียงการขาดความ ‘เคารพ’ ในความหลากหลายของผู้อื่น เป็นภาวะของการไม่เข้าใจในเพื่อนมนุษย์ และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของประเด็นที่จะรุนแรงขึ้นยิ่งกว่า ทั้งการมองเพศตรงข้ามทางสายตาราวกับว่าเขาหรือเธอเป็นวัตถุทางเพศ หรือการเหยียดหยาม และก่อให้เกิด Sexual Harassment ทั้งทางวาจาและการกระทำ

กระแสสะท้อนความหลากหลาย (Diversity) ในปี 2019

     กระแส #MeToo ที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วนั่นก็ใช่ หรือจะเป็นกรณีเหยียดหยามเพศทางเลือกว่า ‘ไม่มีคุณสมบัติในการเป็นครู’ ของอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่งก็ด้วย นี่เองที่โลกเริ่มขยับตัวครั้งใหญ่เกี่ยวกับประเด็นเรื่องความหลากหลาย เพื่อทำให้ผู้คนเข้าใจกันและกัน หรือเกิดความเห็นอกเห็นใจกันและกันมากขึ้น อันจะสังเกตได้จากกระแสต่างๆ ทั้งภาคธุรกิจและสังคมที่พอจะคาดเดาว่าจะเกิดขึ้นในปี 2019 นี้ เพราะความหลากหลายไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหา แต่ความไม่เข้าใจในเพื่อนมนุษย์อย่างถ่องแท้ต่างหากคือเชื้อไฟ…

คำขอโทษจากผู้บริหารในองค์กรใหญ่ๆ จะเพิ่มขึ้น

     ในปี 2018 แบรนด์ดังๆ อย่าง Starbucks, H&M, Victoria’s Secret และอื่นๆ ต่างเคยเจอการถล่มของประชาคมโลกในเรื่องของการโฆษณาที่ไม่เคารพความหลากหลาย หรือการปฏิบัติต่อพนักงานอย่างไม่เป็นธรรม แน่นอนว่าความผิดพลาดยังคงมีให้เห็นในปี 2019 แต่ตอนนี้องค์กรระดับโลกมากมายก็กำลังให้ความสนใจเกี่ยวกับการสร้างองค์กรให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ครอบคลุมและเท่าเทียมกันต่อพนักงานและลูกค้า หรือในไทยเอง องค์กรด้านการสื่อสารอย่างดีแทคที่ให้ความสำคัญในเรื่อง ‘ความหลากหลาย’ มาโดยตลอด ก็กำลังพุ่งเป้าไปกับการเทรนนิงในเรื่องความหลากหลาย การปฏิบัติตัวต่อผู้ร่วมองค์กร การลบอคติที่เกิดขึ้นอย่างไม่รู้ตัว และมากไปกว่านั้น คือการทำให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ของตนจะครอบคลุมลูกค้าที่มีความหลากหลาย

#MeToo อาฟเตอร์เอฟเฟ็กต์

     กระแส #MeToo ในปี 2019 ทำให้เกิดความตระหนักรู้มากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องการคุกคามทางเพศ แต่ในทางตรงกันข้ามมันกลับทำให้เกิดความสับสนเช่นกัน 51% ของผู้ตอบแบบสอบถามหนึ่งแสดงให้เห็นว่า การโฟกัสอย่างหนักไปที่เรื่องการคุกคามทางเพศจะทำให้เกิดภาวะกระอักกระอ่วนต่อผู้ชายผู้ไม่รู้ว่าควรปฏิบัติตัวต่อเพศหญิงในองค์กรตัวเองอย่างไร พวกเขาอาจลังเล ไม่แน่ใจว่าควรพูด ประชุม ชวนเพื่อนร่วมงานไปกินข้าวแบบไหน ดังนั้น ทางออกในปี 2019 จึงอาจเป็นการหันหน้าเข้าหากันระหว่างผู้คนแต่ละเพศเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจต่อกันและกันมากขึ้นมากกว่าการแบ่งเขาแบ่งเรา

ความหลากหลายในเหล่าผู้นำ

     บริษัทใหญ่ๆ ระดับโลกอย่าง Netffllix, M&T Bank และ Uber ได้เพิ่มจำนวนของผู้บริหารในองค์กรให้มีความหลากหลายมากขึ้นมาตั้งแต่ปี 2018 และดูเหมือนองค์กรอื่นๆ ก็กำลังจะเดินไปในทิศทางเดียวกันในปีนี้ นั่นก็เพราะมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า การมีผู้นำองค์กรที่มีความหลากหลายจะช่วยซัพพอร์ตเรื่องความสำเร็จในองค์กร เพราะยิ่งมีผู้นำที่มีความหลากหลายมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งบอกว่าองค์กรให้ความสนใจและเข้าใจคุณค่าเรื่องความหลากหลายมากขึ้นเท่านั้น

วิธีการเพิ่มความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น

     คำถามก็คือเราจะเพิ่มความสามารถในการเข้าใจผู้อื่นได้อย่างไร โดยเฉพาะในสถานที่ทำงานของตัวเอง กับเพื่อนร่วมงานที่เราไม่ได้สนิทชิดเชื้อถึงขั้นที่จะตบหัวลูบหลังกันได้โดยไม่ตะขิดตะขวง คำตอบง่ายๆ คือ ‘รับฟัง’ ‘สงสัย’ ‘อย่าเพิ่งรีบตัดสิน’ โดย Frieda Edgette โค้ชและผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์การบริหารจัดการองค์กร ได้แนะนำสองวิธีการที่ปฏิบัติง่ายใช้งานได้จริงไว้ ดังนี้

วิธีที่หนึ่ง: 3 สิ่งที่เรามีร่วมกัน

เริ่มจากพิจารณาใครสักคนที่มีความแตกต่างจากเรา โดยใช้เวลาสั้นๆ เพียง 60 วินาที เขียนลงไปว่าเขาหรือเธอมีอะไรที่คล้ายเราบ้าง เช่น (1) เราทั้งคู่เป็นมนุษย์เหมือนกัน (2) เราทั้งคู่ต้องการจะเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยเหมือนกัน (3) เราทั้งคู่ต่างต้องการคำยอมรับจากสังคมเหมือนกัน และเมื่อหมด 60 วินาที ลองอ่านลิสต์ของคุณช้าๆ ก่อนถามตัวเองว่า ‘มันทำให้คุณตระหนักถึงอะไรบ้าง?’ และ ‘มันทำให้มุมมองของคุณต่อคนคนคนนั้นเปลี่ยนไปอย่างไร?’

วิธีที่สอง: ทำสิ่งดีๆ 5 อย่างในหนึ่งวัน

     อาจจะเป็นคำแนะนำเชยๆ แต่การพยายามแสดงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นในเชิงปฏิบัติก็อาจสร้างความแตกต่างได้ เช่น การช่วยเหลือคนข้ามถนน ซื้ออาหารให้แก่คนไร้บ้าน ชมเชยเพื่อนร่วมงานหรือลูกน้องของคุณเมื่อพวกเขาทำงานได้ดี หรือแม้กระทั่งการพยายามคุยกับป้าแม่บ้านในออฟฟิศ เป็นต้น ลองทำสิ่งดีๆ เล็กๆ เหล่านี้ 5 อย่างต่อวัน ไม่ต้องเยอะ ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ แล้วลองตั้งคำถามกับตัวเองว่ามันทำให้เราเข้าใจผู้อื่นมากขึ้นหรือไม่

ความแตกต่างและความหลากหลายทางวัฒนธรรมก่อให้เกิดผลดีอย่างไร

Creativity: ความคิดสร้างสรรค์

     ความหลากหลายทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร?

     คำตอบคือ นั่นเพราะในฐานะมนุษย์ที่หลากหลาย เราแต่ละคนต่างมองปัญหาและทางออกของปัญหาผ่านมุมมองที่แตกต่างกัน ซึ่งนั่นคือกระบวนการคิดแบบ heuristics หรือวิทยาการศึกษาสำนึก ที่มาจากรากภาษากรีกเดียวกันกับคำว่า ยูเรก้า (eureka) ซึ่งหมายถึง ‘ข้าพเจ้าพบแล้ว’ (I ffiind) หรือแปลให้เข้าใจง่ายอีกทีว่า การควานหาทางแก้ปัญหาโดยไม่มีหลักการตายตัว

     งานรีเสิร์ชมากมายอย่างน้อย 108 ชิ้นยืนยันว่า ความหลากหลายเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากสำหรับนวัตกรรมใหม่ๆ ศาสตราจารย์ รอน เบิร์ต แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ได้รวบรวมการทดลองจากการสังเกตที่บ่งบอกว่าผู้คนที่มีประสบการณ์หรือภูมิหลังที่แตกต่างของข้อมูล สามารถสร้างไอเดียที่ดีกว่าอย่างสอดคล้องกัน—แล้วเหตุผลสำคัญของผลลัพธ์เหล่านี้ที่ก่อตัวจากความหลากหลาย ประสบการณ์ และมุมมองที่แตกต่างทำงานอย่างไร?

ความสัมพันธ์กับคนต่างวัฒนธรรม

     การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความแตกต่างทางวัฒนธรรมพบว่า การติดต่อกันบ่อยครั้งระหว่างเพื่อนจากอีกหนึ่งวัฒนธรรมมักก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ระหว่างบุคคล โดยผู้เขียนการวิจัยนี้ได้สรุปว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน หรือกระทั่งความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ โดยการเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมอื่นๆ ที่สะดวกสบายขึ้นผ่านความสัมพันธ์” ซึ่งพวกเขาแนะนำว่ากลไกของการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ก็คือ ‘ความยืดหยุ่นทางใจ’ ที่สอดคล้องกับการปฏิสัมพันธ์กับคนที่มาจากวัฒนธรรมอื่น หรือเรียกอีกอย่างว่าการ ‘ลดอีโก้’ นั่นเอง

การแชร์ความรู้คือคีย์สำคัญ

     คำเตือนคือ ไม่ว่าจะมีความหลากหลายมากมายเพียงใดในสถานที่ทำงาน ความหลากหลายเพียงลำพังก็ไม่สามารถทำให้เกิดการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ได้ จนกว่าเราจะทำให้เกิดวัฒนธรรมการแชร์ความรู้ในองค์กร โดยมีงานวิจัยเกี่ยวกับบริษัทโซเชียลเน็ตเวิร์กแห่งหนึ่งที่พบว่า ปริมาณความคิดสร้างสรรค์ที่สูงกว่าจะเกิดขึ้นในกลุ่มการทำงานที่มีการเชื่อมต่อเข้าหากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบุคลากรที่มีความคิดสร้างสรรค์และไอเดียด้านการลงทุนเป็นศูนย์กลางของทีมนั้นๆ 

เพิ่มความเข้าใจที่มากกว่า

     การเพิ่มทีมงานที่หลากหลายเข้ามาในกระบวนการคิดวิเคราะห์ มักเพิ่มความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการคิดงานหนึ่งๆ สำหรับกลุ่มเป้าหมาย การเข้าใจว่าในโลกทุกวันนี้เรามีผู้คนที่มีวัฒนธรรม สีผิว หรือความเชื่อที่แตกต่าง คือหัวใจสำคัญในการควานหา insight ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างนวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์ ก็เหมือนกับที่ไนกี้ได้ออกแบบฮิญาบสำหรับนักกีฬาหญิงมุสลิม ซึ่งมีคุณสมบัติเบาสบาย หายใจได้ไม่ติดขัดแม้ครอบไว้ทั้งศีรษะ นั่นเพราะพวกเขาควานหา insight จากความหลากหลายในทีมงานของตน และพยายามทำความเข้าใจมันนั่นเอง

Productivity: ความสามารถในการผลิต

     “การมีคนทำงานที่หลากหลายกว่าหมายถึงคุณจะมีทักษะที่หลากหลายมากกว่า” นั่นคือคำยืนยันของ Sara Ellison หนึ่งในผู้วิจัยจาก MIT economist เอาเฉพาะแค่จำนวนความแตกต่างทางเพศในทีม ก็มีตัวเลขการสำรวจยืนยันว่าทีมทำงานที่มีจำนวนเพศหญิงและเพศชายเท่ากัน จะสามารถเพิ่มผลกำไรได้มากถึง 41% 

     ไม่เพียงเท่านั้น ทั้งเรื่องทักษะความเข้าใจในมนุษย์และความคิดสร้างสรรค์ที่เราได้กล่าวไปแล้วก็คือปัจจัยที่ช่วยผลักดันให้ผลผลิตครอบคลุมกับความต้องการของผู้ใช้ที่แตกต่าง 

     ในรอบปี 2018 ที่ผ่านมา กระแสการออกแบบสินค้าให้ครอบคลุมความต้องการของผู้คนที่หลากหลาย ตามหลัก Universal Design นั้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ Gregg C. Vanderheiden ไดเร็กเตอร์จาก Trace Research and Design Center แห่ง University of Wisconsin-Madison แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ Universal Design ไว้ว่า “คือกระบวนการผลิตสินค้า ทั้งอุปกรณ์ สภาพแวดล้อม ระบบ วิธีการที่พร้อมใช้งาน และมีประโยชน์ต่อผู้คนในขอบเขตที่กว้างที่สุด”

     นี่คือกระแสโลกที่กำลังเป็นไป เพราะเราคือสัตว์สังคมที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับคนอื่นทุกเมื่อเชื่อวัน ยิ่งในโลกที่เราใกล้กันมากขึ้นด้วยอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี เราก็จะมีโอกาสที่จะเจอกับผู้คนที่แตกต่างทั้งทางภาษา ความเชื่อ เผ่าพันธุ์ และวัฒนธรรมมากขึ้นในทำนองเดียวกัน จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่หนังเข้าชิงออสการ์อย่าง Black Panther จะใช้นักแสดงเป็นคนผิวสีเกือบทั้งหมด เพื่อประกาศว่าโลกนี้ไม่ได้มีเพียงพื้นที่ของคนผิวขาว และไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่ความหลากหลายจะกลายเป็นหนึ่งในโมเดลทางธุรกิจที่ทำให้แบรนด์เครื่องสำอาง Fenty Beauty ของนักร้องสาวริฮันนา รับเงินถล่มทลายถึง 100 ล้านดอลลาร์ฯ หลังเปิดตัวได้เพียง 40 วัน เนื่องจากสินค้าของเธอถูกออกแบบมาเพื่อตอบรับกับสเปกตรัมสีผิวของคนที่หลากหลาย จนกลายเป็นกระแส Fenty Effect ที่ส่งผลครั้งใหญ่ต่อทิศทางของโลกธุรกิจที่พยายามไล่ตะครุบสิ่งที่ความหลากหลายสามารถมอบให้

     ทั้งหมดนั้นเริ่มต้นจากทักษะความเข้าใจในมนุษย์คนอื่น (empathy) จนเกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ (creativity) ซึ่งนำไปสู่นวัตกรรม สินค้า และความเป็นไปได้ใหม่ๆ (productivity)

สุดยอดผลิตภัณฑ์ที่ตระหนักถึงความหลากหลายเป็นสำคัญ

Xbox Adaptive Controller 

ความแตกต่างและความหลากหลายทางวัฒนธรรมก่อให้เกิดผลดีอย่างไร

     จอยเกมส์จากค่าย Microsoft ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อปี 2018 ที่ออกแบบมาเพื่อผู้พิการ โดยออกแบบมาให้ผู้พิการซึ่งมีการเคลื่อนไหวร่างกายจำกัดควบคุมเกมได้อย่างอิสระ ด้วยมุ่งหมายจะกระจายความเพลิดเพลินของการเล่นเกมไปสู่คนทุกกลุ่ม โดยไอเดียนี้ถูกพัฒนามาจากการระดมไอเดียแบบ hackathon ซึ่งก็ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายของผู้คนจนเกิดเป็นไอเดียใหม่ๆ นั่นเอง

OXO Kitchen Tool

ความแตกต่างและความหลากหลายทางวัฒนธรรมก่อให้เกิดผลดีอย่างไร

     OXO เป็นบริษัทดีไซน์เครื่องครัวสำหรับทั้งเด็กและคนแก่ ทั้งชายและหญิง ทั้งคนที่ถนัดซ้ายและขวา ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับความต้องการในการใช้งานที่หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น เครื่องปั่นสลัดมือเดียวที่เอื้อประโยชน์ให้คุณไม่จำเป็นต้องก้มตัวเพื่อจะอ่านมาตรวัดขนาดถ้วยอีกต่อไป

Billie

ความแตกต่างและความหลากหลายทางวัฒนธรรมก่อให้เกิดผลดีอย่างไร

     มีดโกนสำหรับผู้หญิงในแพ็กเกจดีไซน์สวย ที่ออกแบบมาลบล้าง ‘ภาษีสีชมพู’ (pink tax) ที่มีการสำรวจไปเมื่อปี 2016 โดยนิตยสาร ไทม์ และพบว่า ในขณะที่ผู้ชายจ่ายราคามีดโกนในราคาหนึ่ง แต่ผู้หญิงกลับต้องจ่ายมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า เพียงเพราะดีไซน์สีชมพูที่ออกแบบมาจับกลุ่มตลาดผู้หญิงเท่านั้น ทั้งๆ ที่วัสดุหรือฟังก์ชันการใช้งานก็ไม่แตกต่างกัน แถม Billie ยังได้ปล่อยโฆษณาที่เรียกเสียงฮือฮา โดยการฉายภาพผู้หญิงโกนขนของตัวเองแบบเรียลๆ  เพื่อบอกว่าการมีขนนั้นเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องน่าอาย ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม 

Foxleaf Bra 

ความแตกต่างและความหลากหลายทางวัฒนธรรมก่อให้เกิดผลดีอย่างไร

     บราเพื่อผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ที่ออกแบบโดยเภสัชกรอย่าง Sara da Costa จาก Central Saint Martin ร่วมมือกับ Ipsita Roy ด้วยเล็งเห็น insight ที่ว่า ผู้หญิงมากถึง 40% ไม่สามารถทนกับการกินยาทางปากได้ โดยทั้งคู่ได้ออกแบบผืนผ้าชนิดพิเศษรูปใบไม้ที่จะทำให้ผิวหนังซึมซับยาทาม็อกซิเฟน หรือฮอร์โมนรักษาโรคมะเร็งเต้านมผ่านทางตาข่ายขึ้นมา ซึ่งข้อดีอีกประการก็คือผู้ใช้สามารถซักผ้าบราของตนได้อย่างปกติอีกด้วย


#RESPECTTHEDIFFERENCE

ความแตกต่างและความหลากหลายทางวัฒนธรรมก่อให้เกิดผลดีอย่างไร

     ด้วยเชื่อว่า ‘ความหลากหลาย’ จะนำมาซึ่งความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นไปได้ นวัตกรรมใหม่ๆ และความเข้าใจต่อเพื่อนมนุษย์คนอื่น ดีแทค องค์กรด้านการสื่อสารโทรคมนาคมอันดับต้นของประเทศไทย จึงร่วมมือกับ a day BULLETIN ผลักดันแคมเปญ เพื่อเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของความหลากหลาย ไม่ว่าจะมีเพศ สีผิว เชื้อชาติ มีความเชื่อ หรือมีสถานะทางสังคมแบบใด การอยู่ร่วมกันด้วยการเคารพความหลากหลายของผู้อื่นคือหนทางที่จะนำไปสู่สังคมที่ดีกว่า 

     เราจึงขอเรียนเชิญผู้อ่านทุกคนร่วมเรียนรู้ในการเคารพความหลากหลายของผู้อื่น ด้วยการประกอบบางส่วนของใบหน้าของคุณเข้ากับใบหน้าของคนอื่น เพื่อยืนยันว่า ไม่ว่าจะแตกต่างกันอย่างไร เราต่างเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ผ่าน respectthedifference.adaybulletin.com


อ้างอิง:

  • www.campaignlive.co.uk/article/channel-4s-brooke-diversity-makes-us-creative/1430545
  • https://dieste.com/provoke-weekly/2015/03/18/five-reasons-why-diversity-makes-us-more-productive
  • www.diversityjournal.com/innovations2018
  • www.diversityinc.com/diversity-management/proof-that-diversity-drives-innovation
  • https://dudeasks.com/how-many-genders-are-there-in-2019
  • www.forbes.com/sites/annapowers/2018/06/27/a-study-finds-that-diverse-companies-produce-19-more-revenue/#715097f9506f
  • www.forbes.com/sites/janicegassam/2018/09/25/empathy-the-key-to-a-diverse-and-inclusive-workplace/#64a4d6bf709
  • www.forbes.com/sites/janicegassam/2018/12/19/5-diversity-and-inclusion-trends-we-can-expect-in-2019/#3c097aa16f7b
  • https://greatergood.berkeley.edu/article/item/how_diversity_makes_us_smarter
  • https://hbr.org/2017/06/does-diversity-actually-increase-creativity
  • www.innovationmanagement.se/imtool-articles/why-diversity-is-the-mother-of-creativity
  • https://motherboard.vice.com/en_us/article/nz739m/this-fashion-designer-wants-to-save-the-lives-of-refugees
  • http://news.mit.edu/2014/workplace-diversity-can-help-bottom-line-1007
  • https://www.nextgengovt.com/nextgen/how-to-embrace-diversity-with-empathy
  • www.theatlantic.com/politics/archive/2016/05/white-people-dont-use-white-emoji/481695/?fbclid=IwAR2_pA71BpK0yDjMd75TPZQpE70cZaDuV–iehrOo9nkLQZBLcL-pYmbu9A