กฎหมาย และ อนุสัญญา ที่ เกี่ยวกับ มหันตภัย โลกร้อน มี อะไร บาง

กฎหมาย และ อนุสัญญา ที่ เกี่ยวกับ มหันตภัย โลกร้อน มี อะไร บาง

อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC

ในปีพ.ศ. 2533 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ  IPCC ได้จัดทำเอกสาร First Assessment Report ซึ่งยืนยันว่ากิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิ-อากาศจริง และได้มีการยกร่างอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC)  ขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2535 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 มีนาคม 2537 ภายหลังจากมีประเทศให้สัตยาบันมากกว่า 50 ประเทศ ตามเงื่อนไขของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

UNFCCC หรือ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  เป็นอนุสัญญา “กรอบการทำงาน” และจำเป็นต้องมีวิธีการทางกฎหมายในการสนับสนุน (เช่นพิธีสารต่างๆ) เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย อนุสัญญานี้มีเป้าหมายแบบไม่ผูกมัด ซึ่งเรียกร้องให้ประเทศอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือเท่ากับระดับพ.ศ. 2533 ภายในพ.ศ. 2543

มีวัตถุประสงค์

  • เพื่อรักษาปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้คงที่ – GHG stabilization
  • เพื่อให้ระบบนิเวศมีการปรับตัวทัน – Ecosystem adaptation
  • เพื่อให้มีความมั่นคงทางอาหาร – Ensure food production
  • เพื่อให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน – Sustainable economic development

กล่าวโดยสรุปวัตถุประสงค์สูงสุดของ UNFCCC หรืออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  คือ

“การรักษาระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศให้คงที่ในระดับที่สามารถป้องกันการแทรกแซงระบบภูมิอากาศโดยมนุษย์ ระดับดังกล่าวควรบรรลุให้ได้ภายในเวลาที่สามารถทำให้ระบบนิเวศปรับตัวเข้ากับภาวะโลกร้อนได้โดยธรรมชาติ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการผลิตอาหารจะไม่ถูกคุกคาม และเพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจดำเนินต่อไปในแบบยั่งยืน” ภายใต้หลักการ

  1. “หลักการป้องกันไว้ก่อน”ภายใต้หลักการป้องกันไว้ก่อนนั้น กิจกรรมที่มีโอกาสจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสภาพภูมิอากาศจะต้องมีการจำกัดหรือห้ามดำเนินการ ถึงแม้จะยังพิสูจน์ไม่ได้อย่างชัดเจนว่าเป็นสาเหตุดังกล่าวก็ตาม เนื่องจากหากรอให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ตลอดจนเทคนิคการวิเคราะห์พัฒนาที่จะทำให้พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนแล้ว ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอาจจะสายเกินกว่าที่จะแก้ไขได้ หลักการนี้จึงให้โอกาสในการควบคุมกิจกรรมที่มีความเสี่ยงอย่างเนิ่นๆ เช่น การกำหนดให้มีการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในระดับการปล่อย ณ ปี พ.ศ. 2533 ให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2543
  2. “หลักการความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง”ทุกประเทศภาคีอนุสัญญาฯ มีพันธกรณีในการดำเนินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยอนุสัญญาฯ แบ่งประเทศภาคีต่างๆออกเป็น สองกลุ่มใหญ่ คือ ประเทศในภาคผนวกที่ 1 (Annex I countries) กับกลุ่มประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 (Non Annex I countries)
  3. “หลักการสื่อสารด้านข้อมูลข่าวสาร”ประเทศภาคีอนุสัญญาฯ ต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความโปร่งใส ภายใต้ข้อตกลงที่ว่าต้องมีการจัดทำ รายงานแห่งชาติภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (National Communication under United Nations Framework Convention on Climate Change) ซึ่งมีเงื่อนไขในเรื่องของความสมบูรณ์ของเนื้อหา และระยะเวลา ที่แตกต่างกันระหว่างประเทศในภาคผนวก I และนอกภาคผนวก I
  4. “หลักการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยกว่า”เนื่องจากประเทศที่กำลังพัฒนามีโอกาสเสี่ยงต่อผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูง ดังนั้นหลักการนี้ต้องการให้ประเทศพัฒนาแล้วให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน ให้ความสะดวก สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ทั้งทางด้านการเงินและเทคโนโลยี กับประเทศกำลังพัฒนาและความช่วยเหลือนี้ต้องเป็นส่วนเพิ่มเติมจากความช่วยเหลือระหว่างประเทศที่ให้อยู่เดิม ปัจจุบัน อนุสัญญาฯ ได้ใช้กองทุนสิ่งแวดล้อมโลกเป็นกลไกหนึ่งในการสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกำหนดให้ประเทศพัฒนาแล้วดำเนินนโยบายถ่ายทอดเทคโนโลยีที่สะอาดให้กับประเทศกำลังพัฒนา

การประชุมประจำปีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  เรียกว่า การประชุมสมัชชาภาคี (Conference of Parties; COPS)

จุดอ่อนของ UNFCCC

เนื่องจากอนุสัญญานี้มีเป้าหมายแบบไม่ผูกมัด  ในพ.ศ. 2538 ก็เห็นได้ชัดแล้วว่าเป้าหมายโดยสมัครใจนี้ไม่เพียงพอ ดังนั้นในพ.ศ. 2538 ประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญากรอบการทำงานแห่งสหประชาชาติซึ่งตระหนักถึงความจำเป็นของการใช้อีกวิธีการหนึ่ง ได้จัดตั้งกระบวนการในการเจรจาเพื่อพิธีสารที่มีเป้าหมายผูกมัดและกำหนดเวลา “ในฐานะเป็นเรื่องเร่งด่วน”  ในป พ.ศ. 2540 ที่ประชุมใหญ่ของสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ได้มีการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ และการรักษาระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยที่ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่นซึ่ง เป็นที่มาของอนุสัญญาพิธีสารเกียวโต ที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2548

ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nation Framework Convention on Climate Change, UNFCCC) เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2537 และลงนามให้สัตยาบันในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ซึ่งเป็นพิธีสารภายใต้อนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2545

Post Views: 17,378