การ งาน ม.3 การขยายพันธุ์พืช

ชั่วโมง ความหมายของการขยายพันธุ์พืช , ประเภทของการขยายพันธุ์พืช , การเพาะเมล็ด , การปักชำ , การตอนกิ่ง , การทาบกิ่ง , การติดตา , การต่อกิ่ง

เรื่อง ความหมายของการขยายพันธุ์พืช , ประเภทของการขยายพันธุ์พืช , การเพาะเมล็ด , การปักชำ , การตอนกิ่ง , การทาบกิ่ง , การติดตา , การต่อกิ่ง

การ งาน ม.3 การขยายพันธุ์พืช

    การต่อกิ่ง  เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชโดยไม่ใช้เพศที่สามารถทำได้โดยการนำกิ่งพันธุ์ดีที่มีตามากกว่า  1  ตา มาต่อบนต้นตอ เพื่อให้เนื้อเยื่อเจริญทั้งสอง เชื่อมประสานเป็นต้นเดียวกัน  การขยายพันธุ์ด้วยวิธีต่อกิ่ง จะดีกว่าการติดตามาก เพราะจะได้รอยต่อที่แข็งแรงกว่ามาก การต่อกิ่งนิยมใช้อย่างแพร่หลาย และได้ผลดีกับพืชบางชนิด  เช่น  เฟื่องฟ้า  ชบา  โกสน  เล็บครุฑ  มะม่วง พุทรา ขนุน องุ่น  ฯลฯ
    ความมุ่งหมายที่สำคัญของต่อการกิ่งพืช คือ เพื่อต้องการเชื่อมประสานเนื้อเยื่อของพืชที่เป็นต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีเข้าด้วยกัน ให้มีชีวิตและเจริญเติบโตร่วมกัน เสมือนเป็นพืชต้นเดียวกัน  ทั้งนี้  การต่อกิ่งพืช สามารถเลือกทำได้หลายวิธีตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับชนิดของพืช  ฤดูกาลและความชำนาญของผู้ต่อกิ่ง
    การต่อกิ่งมีคุณค่าและความสำคัญต่อวงการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ และไม้ผลมาก ซึ่งเห็นได้ชัดเจน  ได้แก่ การเพิ่มและช่วยเปลี่ยนยอดพันธุ์เดิมที่ปลูกอยู่แล้ว ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น  เช่น  การเพิ่มยอดกิ่งเฟื่องฟ้าให้มีหลากหลายสี การเปลี่ยนยอดต้นโมกเขียวให้เป็นโมกด่าง   การเปลี่ยนยอดมะม่วงให้เป็นมะม่วงแฟนซี คือมีหลายพันธุ์ในต้นเดียวกัน  นอกจากนี้ การต่อกิ่ง ยังเป็นการช่วยซ่อมแซมส่วนของต้นพืชที่ได้รับอันตรายจากธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ   รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากต้นตอที่มีลักษณะทนทานต่อสภาพแวดล้อมและศัตรูพืช


ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการต่อกิ่ง   

1) พืชที่นำมาเสียบเข้าด้วยกันต้องเป็นพืชตระกูลเดียวกัน แต่อาจต่างพันธุ์กันได้
2) กิ่งพันธุ์ดีจะต้องมีความสดอยู่เสมอ  ซึ่งควรเก็บรักษาไว้ในห้องเย็น
3) รอยแผลที่ทำการเสียบจะต้องแนบกันสนิทให้เนื้อเยื่อเจริญของพืชทั้งสองส่วนสัมผัสกันมากที่สุด เพื่อจะได้เชื่อมประสานกันได้รวดเร็ว
4) เลือกตาพันธุ์ที่กำลังพักตัว คือ พร้อมที่จะแตกยอดใหม่
5) ใช้แถบพลาสติกพันทับรอยเชื่อม ไม่ให้น้ำและเชื้อโรคเข้าได้
6) รอยแผลจะต้องรักษาความสะอาดให้มากที่สุด    ระวังอย่าให้สัมผัสน้ำหรือความชื้น มากเกินไป
7) ลิดใบพันธุ์ดีทิ้ง และใช้พลาสติกคลุม ป้องกันการคายน้ำ และรักษาความชื้น


ข้อควรพิจารณาในการต่อกิ่ง    ได้แก่

1) การเลือกต้นตอ  จะต้องให้มีขนาดเหมาะสมกับกิ่งพันธุ์ดี  มีความแข็งแรงปราศจากศัตรูพืช  มีระบบรากแข็งแรง และหาง่าย ราคาถูก
2) การเลือกกิ่งพันธุ์  ควรเป็นกิ่งที่สมบูรณ์  แข็งแรง มีตา ที่ไม่ใช่ตาดอก โดยปกติ ส่วนมากจะเลือกกิ่งที่มีอายุ  1  ปี หรือน้อยกว่า
3) การเตรียมต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี  ในการเฉือนแผลต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี  ควรจะให้รอยแผลเรียบ และไม่ช้ำ (เกิดจากการผ่าหรือเฉือนหลายครั้ง จึงต้องมีความชำนาญในการเฉือนเพียงครั้งเดียวเท่านั้นเพื่อไม่ให้ต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีช้ำ)
4) การป้องกันเชื้อโรค  การทำให้เกิดบาดแผลแก่ต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี เป็นช่องทางที่ทำให้เกิดเชื้อโรค จึงต้องระวังในเรื่องของความสะอาดโดยเฉพาะ มีดต้องสะอาดและคม
5) การวางแนวเยื่อเจริญระหว่างต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี ต้องอยู่ในแนวเดียวกันเพื่อให้รอยประสานเกิดได้เร็วขึ้น
6) การบังคับให้กิ่งพันธุ์ดีเติบโต ภายหลังต่อกิ่ง  จะต้องทำการบังคับ เพื่อป้องกันการลำเลียงออกซิเจนจากกิ่งยอด ลงมายังกิ่งข้าง ทำให้เกิดลักษณะที่ตายอด ข่มตาข้าง โดยการบากเหนือรอยต่อให้ลึกถึงเนื้อไม้
7) ฤดูกาลที่เหมาะสำหรับต่อกิ่ง ควรเป็นระยะที่พืชมีเจริญเติบโตดี  โดยเฉพาะช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว  รองลงมา คือ กลางฤดูฝน

เครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการต่อกิ่ง

1)  ส่วนของพืชที่จะขยายพันธุ์ คือ กิ่งพันธุ์ดี
2)  ส่วนของพืชที่เป็นระบบราก คือ ต้นตอ
3)  มีดขยายพันธุ์หรือคัตเตอร์  กรรไกรตัดแต่งกิ่ง  พลาสติกพันกิ่ง
4)  วัสดุที่ใช้ในการคลุมกิ่ง เช่น เชือก ถุงพลาสติกขนาดเล็ก ถุงกระดาษคลุมกิ่ง

วิธีการต่อกิ่งที่นิยม   วิธีการต่อกิ่งมีหลากหลายรูปแบบ  ซึ่งแต่ละวิธีมีความเหมาะสมกับพืชแต่ละชนิดที่แตกต่างกัน  แต่ที่ชาวสวนหรือผู้ประกอบการผลิตพันธุ์ไม้ปฏิบัติมาก เพราะสามารถทำได้ง่ายและได้รับความสำเร็จสูง โดยเฉพาะไม้ดอกไม้ประดับ และไม้ผล  วิธีที่นิยม  ได้แก่

1) การต่อกิ่งแบบเสียบลิ่ม
2) การต่อกิ่งแบบฝานบวบ
3) การต่อกิ่งแบบเข้าลิ้น
4) การต่อกิ่งเสียบข้าง
5) การต่อกิ่งเสียบเปลือก

1) การต่อกิ่งแบบเสียบลิ่ม  พันธุ์ไม้ที่นิยม เช่น เฟื่องฟ้า โกสน น้อยหน่า ทับทิม มีขั้นตอน  ดังนี้

   (1) ตัดยอดต้นตอที่แตกใหม่ ให้เหลือยาวประมาณ 4  นิ้ว แล้วผ่ากลางกิ่งพืชที่ต้องการเสียบยอด ให้ลึกประมาณ 2  นิ้ว
   (2) เฉือนยอดพันธุ์ดีเป็นรูปลิ่ม ยาวประมาณ 2  นิ้ว
   (3) เสียบยอดพันธุ์ดีลงในแผลของต้นตอ ให้รอยแผลทั้งสองตรงกัน แล้วใช้เชือกมัดด้านบนและล่างรอยแผลต้นตอให้แน่น
   (4) คลุมต้นที่เสียบยอดแล้วด้วยถุงพลาสติกหรือนำไปเก็บในโรงอบพลาสติก (ถ้าต้นพืชที่ทำการเสียบยอดอยู่กลางแจ้งควรใช้ถุงกระดาษเล็กหุ้มก่อน เพื่อป้องกันความร้อน)
   (5) ประมาณ 5-7 สัปดาห์รอยแผลจะประสานกันดีแล้วให้นำออกมาพักไว้ในโรงเรือนที่รอการปลูกต่อไป

2) การต่อกิ่งแบบฝานบวบ  พันธุ์ไม้ที่นิยม  ได้แก่ประเภทไม้อวบน้ำ และไม้เนื้ออ่อน  เช่น  ฤาษีผสม  แค็คตัสชนิดต่าง ๆ    มะเขือเทศ  ฟักทอง  มะละกอ  แตงชนิดต่าง ๆ  เป็นต้น
มีขั้นตอน  ดังนี้

(1) เฉือนต้นตอให้เฉียงขึ้น เป็นลักษณะเช่นเดียวกับฝานบวบ  ให้ความยาวของรอยเฉือน  ประมาณ  1– 1.5  นิ้ว  รอยแผลที่ได้จะมีลักษณะคล้ายโล่
(2) เฉือนกิ่งพันธุ์ดีให้มีลักษณะและขนาดเช่นเดียวกับต้นตอ  แต่เฉือนลง (ตรงข้ามกับต้นตอ)
(3) นำกิ่งพันธุ์ดี ประกบเข้ากับต้นตอ  โดยให้รอยแผลประกบกันให้สนิท

(4) ใช้แถบพลาสติกพันรอบรอยแผลให้แน่น  โดยพันจากด้านล่างขึ้นสู่ด้านบน
(5) หลังจากกิ่งเชื่อมประสานกันดีแล้ว  ให้แกะพลาสติกออก เพื่อให้ต้นพืชเจริญเติบโตและขยายออกได้เต็มที่

3) การต่อกิ่งแบบเข้าลิ้น    นิยมต่อกิ่งกับพันธุ์ไม้ประเภทอวบน้ำและเนื้ออ่อน เช่นเดียวกับการต่อกิ่งแบบฝานบวบ
มีขั้นตอน  ดังนี้

(1) เฉือนต้นตอเฉียงขึ้นในลักษณะการฝานบวบ  ให้รอยแผลยาวประมาณ 1 – 1.5  นิ้ว
(2) ผ่ารอยแผลให้มีลักษณะเป็นลิ้น
(3) เฉือนกิ่งพันธุ์ดีให้เฉียงลง  ลักษณะและขนาดรอยแผลเช่นเดียวกับต้นตอ
(4) ผ่ารอยแผลกิ่งพันธุ์ดี ให้มีลักษณะเป็นลิ้น
(5) นำกิ่งพันธุ์ดี สวมลงบนต้นตอให้ลิ้นขัดกัน
(6) ใช้คลิปหนีบหรือพันด้วยพลาสติก
(7) หลังจากรอยแผลของต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี ประสานเชื่อมติดกันสนิทแล้ว (ประมาณ 1  เดือน)  หลังจากต่อกิ่ง  ให้เอาคลิปหรือแกะพลาสติกออก 

4) การต่อกิ่งเสียบข้าง  พืชที่นิยมทำได้แก่ไม้ดอกไม้ประดับ  เช่น  โกสน  เล็บครุฑ  สนชนิดต่าง ๆ   โป๊ยเซียน   ฯลฯ  และไม้ผล  เช่น  ขนุน  กระท้อน  ฯลฯ
มีขั้นตอน  ดังนี้

(1) เฉือนต้นตอจากปลายไปสู่โคน  โดยเฉือนลึกเข้าไปในเนื้อไม้เล็กน้อย  ให้แผลยาวประมาณ  1.5 – 2  นิ้ว
(2) ตัดยอดกิ่งพันธุ์ดี ยาวประมาณ  2 – 3 นิ้ว  เฉือนให้เป็นรูปปากฉลาม  รอยแผลยาวประมาณ  1.5 – 2  นิ้ว  เฉือนด้านหลังของรอยแผล เพื่อให้แผลมีลักษณะเป็นรูปลิ่ม
(3) นำยอดกิ่งพันธุ์ดี เสียบเข้ารอยแผลของต้นตอ  จัดให้รอยแผลแนบสนิทกัน  โดยจัดให้ส่วนของเนื้อเยื่อเจริญของกิ่งพันธุ์ดีและต้นตอตรงกัน
(4) พันด้วยพลาสติก หุ้มรอยแผลให้แน่น  โดนพันจากล่างขึ้นบน
(5) ประมาณ  2 – 3 สัปดาห์  จึงแกะพลาสติกออก แล้วพันใหม่  โดยเว้นส่วนของยอดกิ่งพันธุ์ดีไว้ เพื่อให้ตาแตกยอดใหม่ออกมาได้
(6) หลังจากกิ่งใหม่เจริญดีแล้ว  จึงตัดยอดเดิมของต้นตอทิ้งไป เพื่อให้ยอดใหม่เจริญได้เต็มที่

5) การต่อกิ่งเสียบเปลือก พันธุ์ไม้ที่นิยมส่วนมากเป็นไม้ผลที่มีเปลือกหนา ล่อน และลอกเปลือกได้ง่าย   ได้แก่  มะม่วง  ขนุน  กระท้อน
มีขั้นตอน  ดังนี้

(1) ตัดต้นตอ ตั้งฉากกับกิ่งบริเวณใต้ข้อและชิดข้อ
(2) กรีดเปลือกต้นตอตามแนวตั้ง ยาวประมาณ  2  นิ้ว  แล้วเผยอเปลือกต้นตอที่กรีดไว้
(3) เลือกยอดพันธุ์ดีที่มีตายอดเต่ง พร้อมที่จะแตกเป็นยอดใหม่  ตัดยอดพันธุ์ดี ประมาณ  3  นิ้ว  แล้วเฉือนจากปลายไป โดยให้รอยแผลเป็นรูปปากฉลาม   ยาวประมาณ  2 – 2.5  นิ้ว  หรือเท่ากับรอยแผลของต้นตอ  จากนั้น ตัดปลายส่วนของด้านหลังของรอยแผลเฉียง ประมาณ 45  องศา เพื่อให้รับกับรอยแผลของต้นตอที่เตรียมไว้
(4) นำยอดกิ่งพันธุ์ดีมาสอดเข้ารอยแผลของต้นตอ  จัดให้รอยแผลสนิทกัน
(5) พันกิ่งให้แน่นด้วยแถบพลาสติก  โดยพันจากด้านล่างขึ้นบน
(6) ประมาณ 2 – 3 สัปดาห์  หากยอดพันธุ์ดีเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล  แสดงว่ารอยแผลไม่เชื่อมประสานกัน  จึงแกะออกทิ้ง  แต่ถ้ายอดพันธุ์ยังเขียวดีอยู่ แสดงว่า ยังมีชีวิตอยู่  จึงแกะพลาสติกที่พันไว้ออก แล้วพันใหม่  โดยพันคร่อมยอดให้ยอดโผล่  เพื่อให้ตาเจริญออกมาได้  ถ้าหากฝนตก ควรกรีดพลาสติกด้านล่าง เพื่อให้น้ำซึมออกได้
(7) บากเตือนต้นตอ  โดยบากเหนือรอยแผลเล็กน้อย  บากลึกประมาณ 1 ใน 3 ของลำต้น  และเมื่อยอดใหม่เจริญดีแล้ว  จึงตัดยอดของต้นตอทิ้งไป  เพื่อให้ยอดกิ่งพันธุ์ดีเจริญ เป็นต้นใหม่แทน

การ งาน ม.3 การขยายพันธุ์พืช

เป็นวิทยาการสมัยใหม่เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บรักษาพันธุ์พืชเอกลักษณ์ที่หายาก มิให้สูญพันธุ์และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

    การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชวิธีหนึ่ง แต่มีการปฏิบัติภายใต้สภาพที่ควบคุม เรื่อง ความสะอาดแบบปลอดเชื้อ อุณหภูมิ และแสง ด้วยการนำชิ้นส่วนของพืชที่ยังมีชีวิต เช่น ลำต้น ยอด ตาข้าง ก้านช่อดอก ใบ ก้านใบ อับละอองเกสร เป็นต้น มาเพาะเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์ และชิ้นส่วนนั้นสามารถ เจริญและพัฒนาเป็นต้นพืชที่สมบูรณ์ มีทั้งส่วนใบ ลำต้น และรากที่สามารถนำออกปลูกในสภาพธรรมชาติได้
    ที่ผ่านมามีการนำเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชประยุกต์ใช้กับงานด้านเภสัชวิทยา และชีววิทยา แต่ปัจจุบันมีการพัฒนา และนำมาใช้แก้ปัญหาหรือเพื่อประโยชน์ในภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรมกันมาก ขึ้น เช่น การนำเมล็ดไผ่มาผลิต-ขยายด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ไผ่ออกดอกประมาณปี 2538 หรือการนำหน่อที่มีคุณลักษณะที่ดีของหน่อไม้ฝรั่งมาผลิต-ขยายด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อลดปัญหา การใช้เมล็ดซึ่งมีการคละเพศ นอกเหนือจากราคาของเมล็ดพันธุ์ที่ค่อนข้างสูง และยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อีกด้วย เป็นต้น

ประโยชน์ของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

คุณสมบัติที่ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ของวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมีหลายข้อพอสรุปได้ดังนี้
1. สามารถผลิตต้นพันธุ์พืชปริมาณมาณมากในระยะเวลาอันรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น หากพืชสามารถเพิ่ม ปริมาณได้ 3 เท่า ต่อการย้ายเนื้อเยื่อลงอาหารใหม่ทุกเดือนๆ ละ 1 ครั้ง เมื่อเวลาผ่านไป 6 เดือน จะสามารถผลิต ต้นพันธุ์พืชได้ถึง 243 ต้น
2. ต้นพืชที่ผลิตได้จะปลอดโรค โดยเฉพาะโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส มายโคพลาสมา ด้วยการตัด เนื้อเยื่อเจริญที่อยู่บริเวณปลายยอดของลำต้น ซึ่งยังไม่มีท่อน้ำท่ออาหาร อันเป้นทางเคลื่อนย้ายของเชื้อโรค ดังกล่าว
3. ต้นพืชที่ผลิตได้ จะมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนต้นแม่ คือ มีลักษณะตรงตามพันธุ์ ด้วยการใช้ เทคนิคของการเลี้ยงจากชิ้นตาพืชพัฒนาเป็นต้นโดยตรง หลีกเลี่ยงขั้นตอนการเกิดกลุ่มก้อนเซลล์ที่เรียกว่า แคลลัส
4. ต้นพืชที่ผลิตได้จะมีขนาดสม่ำเสมอ ผลผลิตที่ได้มีมาตรฐานและเก็บเกี่ยวได้คราวละมากๆ พร้อมกัน หรือในเวลาเดียวกัน
5. เพื่อการเก็บรักษาหรือแลกเปลี่ยนพันธุ์พืชระหว่างประเทศ เช่น การมอบเชื้อพันธุ์กล้วยในสภาพปลอดเชื้อ ขององค์กรกล้วยนานาชาติ (INIBAP) ให้กรมส่งเสริมการเกษตร เมื่อปี พ.ศ. 2542
6. เพื่อประโยชน์ด้านการสกัดสารจากต้นพืช นำมาใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ เช่น ยาฆ่าแมลง ยารักษาโรค เป็นต้น

พันธุ์พืชที่ทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
1. อ้อย
2. เบญจมาศ
3. สตรอเบอรี่
4. หน่อไม้ฝรั่ง
5. ขิง
6. มันฝรั่ง
7. สับปะรด
8. สมุนไพร
9. กล้วย
10. กระเจียว/ปทุมมา
11. ปูเล่
12. ไผ่
13. กล้วยไม้ป่า
14. สมุนไพร

ห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยง

ห้องปฏิบัติการ ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ
1. ห้องเตรียมอาหาร ควรเป็นห้องที่มีโต๊ะสำหรับเตรียมสารเคมี อ่างน้ำ ตู้เย็น สำหรับเก็บสารละลายเข้มข้น เครื่องชั่ง เครื่องวัดความเป็นกรด – ด่าง เตาหลอมอาหาร หม้อนึ่งฆ่าเชื้อจุลินทรีย์แบบความดันไอน้ำ

2. ห้องถ่ายเนื้อเยื่อ เครื่องมือสำคัญในห้องนี้คือ ตู้สำหรับเลี้ยงหรือถ่ายเนื้อเยื่อ เป็นตู้ที่มีอากาศถ่ายเทผ่านแผ่นกรอง ที่สามารถกรองจุลินทรีย์ไว้ได้ตลอดเวลา ทำให้อากาศภายในตู้บริสุทธิ์ ช่วยให้ทำงานสะดวกรวดเร็ว
3. ห้องเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเลี้ยงเนื้อเยื่อจะแตกต่างกันสำหรับพืชแต่ละชนิด โดยทั่วไปมักจะปรับสภาพแวดล้อมภายในห้องให้มีอุณหภูมิประมาณ 25 องศาเซลเซียส ระยะเวลาที่ให้แสงประมาณ 12 – 16 ชั่วโมง / วัน ความเข้มของแสง 1,000 – 3,000 ลักซ์

การดูแลห้องเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชจะต้องสะอาดอยู่เสมอ หมั่นตรวจดูขวดหรือภาชนะที่เลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ถ้าพบว่ามีจุลินทรีย์ขึ้นปะปน จะต้องรีบนำออกไปต้มฆ่าเชื้อและล้างทันที ไม่ให้เป็นที่ สะสมเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งอาจแพร่กระจายภายในห้องได้

อุปกรณ์ในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

1. พันธุ์พืชที่จะนำมาเพาะเลี้ยงควรสะอาด ปราศจากโรคและเป็นส่วนที่สำคัญที่ยังอ่อนอยู่ เช่น ตาเป็นอวัยวะที่ดีที่สุด ส่วนใบ ดอก ราก ก็สามารถนำมาเลี้ยงได้
2. เครื่องแก้วต่าง ๆ ได้แก่ ฟลาสค์ บีกเกอร์ ปิเปตต์ จานเพาะเชื้อ กระบอกตวง ขวดสำหรับเลี้ยงเนื้อเยื่อ
3. สารเคมีต่าง ๆ
3.1 สารเคมีที่ใช้ฆ่าเชื้อที่ติดมากับผิวพืช เช่น คลอรอกซ์ เอททิลแอลกฮอล์ เมอคิวริคคลอไรด์ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์
3.2 สารเคมีที่ใช้เตรียมสูตรอาหารต่าง ๆ
3.3 สารเคมีที่ควบคุมการเจริญเติบโต
3.4 น้ำตาลซูโครส
3.5 วุ้น
4. เครื่องมือผ่าตัด ได้แก่ มีดผ่าตัด ปากคีบ
5. ตู้ถ่ายเนื้อเยื่อ
6. อุปกรณ์เบ็ดเตล็ดต่าง ๆ
7. อาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

ความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง สิ่งที่สำคัญมากอย่างหนึ่งคือองค์ประกอบของอาหารที่เหมาะสม ซึ่งต้องประกอบด้วยอาหารที่พืชสามารถนำไปใช้อย่างมี ประสิทธิภาพ สูตรอาหารเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้
1. สารอนินทรีย์
2. สารประกอบอินทรีย์
3. สารที่ได้จากธรรมชาติ
4. สารไม่ออกฤทธิ์

สารอนินทรีย์ ได้แก่ ธาตุอาหารหลัก คือ ธาตุอาหารที่พืชจำเป็นต้องใช้ในปริมาณมาก เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปรแตสเซียม กำมะถัน แคลเซียม แมกนีเซียม และธาตุอาหารรองหรือธาตุอาหารที่พืชจำเป็นใช้ในปริมาณน้อย เช่น แมงกานีส สังกะสี ทองแดง โมลิบดีนัม โบรอน ไอโอดีน โคบอล คลอรีน
สารประกอบอินทรีย์ แบ่งออกได้หลายพวก คือ
2.1 น้ำตาล
2.2 ไวตามิน ชนิดที่มีความสำคัญ ได้แก่ ไธอะมีน
2.3 อมิโนแอซิค เช่น ไกลซีน

สารควบคุมการเจริญเติบโต ได้แก่ ออกซิน ไซโตไคนิน จิบเบอเรลลิน
สารอินทรีย์พวก อิโนซิทอล อะดีนีน ช่วยส่งเสริมให้เกิดยอด ซิตริคหรือแอสคอบิคแอซิดช่วยลดน้ำตาลที่บริเวณชิ้นส่วนพืช
สารที่ได้จากธรรมชาติ เช่น กล้วยบด น้ำมะพร้าว น้ำส้มคั้น น้ำมะเขือเทศ
สารไม่ออกฤทธิ์ เช่น วุ้นช่วยให้พืชตั้งอยู่ได้ ผงถ่านช่วยดูดซับสารพิษที่พืชสร้าง ออกมาและเป็นพิษกับพืชเอง

การเตรียมสารละลายเข้มข้น
การเตรียมอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช จะไม่เตรียมโดยการชั่งสารเคมีในแต่ละครั้งที่เตรียม แต่จะเตรียมเป็นสารละลายเข้มข้น คือ การรวมสารเคมีพวกที่สามารถรวมกันได้โดยไม่ตกตะกอน ไว้ด้วยกัน

วิธีการเตรียมเริ่มจากชั่งสารเคมีตามจำนวนที่ต้องการ ละลายสารแต่ละชนิดให้หมดก่อนแล้วจึงนำมาผสมกัน เติมน้ำกลั่นให้ได้ปริมาณที่ต้องการ กวนให้เข้ากัน แล้วจึงบรรจุในขวดสารละลาย ลงรายละเอียดชนิดของสาร ความเข้มข้น วันเดือนปี ปริมาตร แล้วเก็บในตู้เย็น

วิธีการเตรียมอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช

1. นำสารละลายเข้มข้นชนิดต่าง ๆ มาผสมกัน ค่อย ๆ กวนให้เข้ากันจนหมดครบทุกชนิด
2. เติมน้ำตาล แล้วเติมน้ำกลั่นให้ได้ปริมาตรที่ต้องการ ปรับ pH 5.6 – 5.7
3. นำวุ้นผสมกับอาหารที่เตรียม หลอมวุ้นให้ละลาย
4. บรรจุลงในขวดอาหารในปริมาตรเท่า ๆ กัน ปิดฝาให้สนิท

การฆ่าเชื้อจุลินทรีย์
การฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในอาหาร
นำขวดที่บรรจุอาหารแล้วไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งความดันไอน้ำที่อุณหภูมิ 121 องศาเซลเซียส ความดัน 15 ปอนด์ / ตารางนิ้ว เป็นเวลา 15 – 20 นาที

การฆ่าเชื้อจุลินทรีย์บริเวณภายนอกชิ้นส่วนพืช

เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่จะต้องฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ติดมากับบริเวณผิวนอกของชิ้นส่วนพืช เนื่องจากอาหารที่ใช้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชมีธาตุอาหารและไวตามิน ที่จุลินทรีย์ต่าง ๆ เจริญได้ดีและรวดเร็วกว่าเนื้อเยื่อพืช การฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำได้สะดวกและได้ผลดี โดยการใช้สารเคมีชนิดที่สามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้หมดทุกชนิด และล้างออกได้ง่าย เพราะถ้าล้างออกได้ยาก สารเคมีเหล่านี้จะมีผลทำให้เนื้อเยื่อพืชตาย หรือมีการเจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร
การเติมน้ำยาซักฟอกลงไปในสารเคมีที่ใช้ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ จะทำให้ประสิทธิภาพสารเคมีเหล่านั้นดีขึ้น เนื่องจากจะทำให้ลดแรงตึงผิวบริเวณผิวนอกของชิ้นส่วนพืช สารเคมีจะแทรกซึมเข้าไปทำลายจุลินทรีย์ตามซอกต่าง ๆ ได้ดีขึ้น การเตรียมสารเคมีฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ทำโดยตวงสารให้ได้ปริมาณตามที่ต้องการ แล้วเติมน้ำกลั่นที่นึ่งฆ่าเชื้อและน้ำยาซักฟอกลงไป เขย่าให้เข้ากัน การเตรียมนี้ควรเตรียมใหม่ทุกครั้งที่ใช้

วิธีการเลี้ยงเนื้อเยื่อ

1. นำชิ้นส่วนพืชที่ต้องการมาล้างน้ำให้สะอาด
2. ตกแต่งชิ้นส่วนพืช ตัดส่วนที่ไม่ต้องการออก
3. นำชิ้นส่วนพืชจุ่มในแอลกอฮอล์ 95 % เพื่อลดแรงตึงผิวบริเวณนอกชิ้นส่วนพืช
4. นำชิ้นส่วนพืชมาเขย่าในสารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่เตรียมไว้นาน 10 – 15 นาที
5. ใช้ปากคีบคีบชิ้นส่วนพืช ล้างในน้ำกลั่นที่นึ่งฆ่าเชื้อ 3 ครั้ง
6. ตัดชิ้นส่วนพืชตามขนาดที่ต้องการแล้ววางบนอาหารสังเคราะห์
7. ลงรายละเอียด เช่น ชนิดพืช วันเดือนปี หรือรหัส ในการทำการฆ่าเชื้อที่ติดมากับผิวพืช และการนำไปเลี้ยงบนอาหารทำในตู้ถ่ายเนื้อเยื่อ โดยตลอด

การดูแลเนื้อเยื่อระหว่างการเลี้ยง

1. นำขวดเลี้ยงเนื้อเยื่อไปวางบนชั้นในห้องเลี้ยงเนื้อเยื่อ โดยปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมโดยทั่วไปปรับอุณหภูมิภายในห้องประมาณ 25 องศาเซลเซียส ระยะเวลาที่ให้แสงประมาณ 12 – 16 ชั่วโมง / วัน ความเข้มของแสง 1,000 – 3,000 lux 2. เนื้อเยื่อพืชที่เลี้ยงควรเปลี่ยนอาหารใหม่ทุก 2 สัปดาห์ ระหว่างการเลี้ยงตรวจดู
3. การเจริญเติบโต สังเกตุการเปลี่ยนแปลง บันทึกรายงานไว้เพื่อเป็นข้อมูล
4. การย้ายพืชออกจากขวดเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อลงปลูกในกระถาง

เมื่อพืชเจริญเติบโตเป็นต้นที่สมบูรณ์แล้ว ก็นำลงปลูกในกระถางดังนี้

1. เตรียมทราย : ถ่านแกลบ หรือ ทราย : ขุยมะพร้าว อัตราส่วน 1 : 1 ใส่กระถางหรือกระบะพลาสติค
2. ใช้ปากคีบ คีบต้นพืชออกจากขวดอย่างระมัดระวัง
3. ล้างเศษวุ้นที่ติดอยู่บริเวณรากออกให้หมด
4. จุ่มยากันรา ตามอัตราส่วนที่กำหนดในสลากยา

ปลูกในกระถางหรือกระบะ

นำไปไว้ในตู้ควบคุมความชื้น แสง อุณหภูมิ หรือนำไว้ในกระบะพ่นหมอก เมื่อพืชเจริญตั้งตัวดีแล้วจึงย้ายลงแปลงปลูกต่อไป