ประเพณีแห่พระแข่งเรือ ภาคใต้

เริ่มแล้ว แข่งเรือขึ้นโขนชิงธง หนึ่งเดียวในสยาม มรดกวัฒนธรรมลุ่มน้ำหลังสวน 176 ปี

เริ่มแล้ว แข่งเรือขึ้นโขนชิงธง หนึ่งเดียวในสยาม มรดกวัฒนธรรมลุ่มน้ำหลังสวน 176 ปี

ที่ท่าน้ำวัดด่านประชากร อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะ เดินทางมาเป็นประธานเปิดงาน ประเพณีแห่พระแข่งเรือขึ้นโขนชิงธง มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมลุ่มน้ำหลังสวน 176 ปี ชิงถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ณ สนามแข่งขันกลางภาคใต้แม่น้ำหลังสวน โดยมีนายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร พร้อมด้วยข้าราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการจัดงาน ร่วมให้การต้อนรับ ซึ่งได้รับความสนใจจากชาวหลังสวน และนักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัย เดินทางมาชมการแข่งขันที่สนุกตื่นเต้นไม่เหมือนที่ไหน นั่นคือการตัดสินผู้ชนะด้วยการขึ้นโขนชิงธงเท่านั้น ไม่ว่าเรือลำใดจะเข้าเส้นชัยก่อน แต่หากนายหัวเรือไม่สามารถปีนโขนเรือขึ้นไปชิงธงที่เส้นชัยได้ เรือลำนั้นจะถือเป็นฝ่ายแพ้ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของ "ประเพณีแห่พระแข่งเรือขึ้นโขนชิงธง" ของชาวหลังสวน จังหวัดชุมพร จึงได้รับการจัดให้เป็น Unseen Thailand จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพราะถือเป็นเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นของการแข่งขันเรือยาวในประเทศไทย และวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ประกาศให้การแข่งขันเรือยาวขึ้นโขนชิงธง ขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ด้านการเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน อีกด้วย

โดยประเพณีแห่พระแข่งเรือขึ้นโขนชิงธง มีมาอย่างยาวนาน ได้มีการบันทึกไว้เป็นประวัติว่า การแข่งเรือหลังสวนนั้นมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ประมาณ พ.ศ.2387 เป็นเวลาที่ไทยว่างเว้นจากศึกสงครามทำให้มีการค้าขายรุ่งเรือง มีการสร้างวัดวาอารามที่เกิดขึ้นมากมาย และได้มีการประกอบพิธีทำบุญแห่พระและลากพระ ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเมืองหลังสวนซึ่งเป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อราชธานี ใน ร.ศ.108 มีเรือนำเสด็จ 2 ลำ คือ เรือมะเขือยำ และเรือศรีนวล จึงเป็นหลักฐานได้ว่าการแข่งเรือหลังสวนมีมากว่า 176 ปี โดยการแข่งขันเรือยาวขึ้นโขนชิงธง จะเริ่มขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นวันออกพรรษาของทุกปี เพราะในวันออกพรรษานี้ชาวพุทธจะไปร่วมทำบุญตักบาตรเทโวที่วัด และในสมัยนั้นวัดส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ริมน้ำ ชาวบ้านจะใช้เรือเป็นพาหนะ เสร็จจากการร่วมทำบุญตักบาตรแล้ว ก็สนุกสนานด้วยการพายเรือแข่งกัน

สำหรับประเพณีแห่พระแข่งเรือขึ้นโขนชิงธง ประจำปี 2562 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-18 ตุลาคม 2562 ณ สนามแข่งขันกลางภาคใต้แม่น้ำหลังสวน ระยะทางประมาณ 500 เมตร มีการแข่งขันเรือยาว 32 ฝีพายประเภทต่าง ๆ เรือฝีพายภายในตำบล เรือนักเรียนเยาวชน เรือประเภท ข ฝีพายเรือในจังหวัดชุมพร และเรือประเภท ก โอเพ่นทั่วไป

#เริ่มแล้ว #แข่งเรือขึ้นโขนชิงธง #มรดกวัฒนธรรมลุ่มน้ำหลังสวน #สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ #NNT #ILOVETHAILAND

ข้อมูลข่าวและที่มา

ผู้สื่อข่าว : พอพล กล้าผจญ

ผู้เรียบเรียง : วสันต์พรรษ จำเริญนุสิต

แหล่งที่มา : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดชุมพร

ที่มา: 

ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

งานประเพณีแห่พระแข่งเรือ

ประเพณีแห่พระแข่งเรือ ภาคใต้

ประเพณีแห่พระแข่งเรือ ภาคใต้

ประเพณีแห่พระแข่งเรือ ภาคใต้

ภาค         ภาคใต้
จังหวัด      ชุมพร
ช่วงเวลา    เริ่มงานวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ (วันออกพรรษา) ของทุกปี

  • ความสำคัญ

งานประเพณีแห่พระแข่งเรือ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร จัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชน และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น โดยเฉพาะการขึ้นโขนชิงธง ที่นายท้ายเรือต้องถือท้ายเรือให้ตรงเพื่อให้นายหัวเรือคว้าธงที่ทุ่นเส้น ชัย โดยการขึ้นโขนเรือ

  • พิธีกรรม

การแข่งเรือของอำเภอหลังสวนเริ่มมีครั้งแรกในสมัยพระยาจรูญราชโภคากร เป็นเจ้าเมืองหลังสวน เมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีเศษ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นการลากพระชิงสายกันในแม่น้ำ โดยใช้เรือพายเป็นเรือดึงลากแย่งกัน วัด หรือหมู่บ้านใดมีเรือมากฝีพายดี ก็แย่งพระไปได้ อัญเชิญพระไปประดิษฐานไว้ในวัดที่ตนต้องการ มีงานสมโภชอย่างสนุกสนานในตอนกลางคืน รุ่งเช้าถวายสลากภัต
ต่อมาสมัยหลวงปราณีประชาชน อำมาตย์เอก ได้ดัดแปลงให้มีสัญญาณในการปล่อยเรือโดยใช้เชือกผูกหางเรือคู่ที่จะแข่ง ให้เรือถูกพายไปจนตึงแล้วใช้มีดสับเชือกที่ผูกไว้ให้ขาด

ลักษณะของเรือที่ใช้แข่งในปัจจุบันขุดจากไม้ซุง (ตะเคียน) ทั้งต้น ยาวประมาณ ๑๘-๑๙ เมตร มีธงประจำเรือติดอยู่ เรือแข่งจะแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ฝีพาย ๓๐ คน และฝีพาย ๓๒ คน ฝีพายจะนั่งกันเป็นคู่ ยกเว้นนายหัวกับนายท้าย เรือแต่ละลำจะมีฆ้องหรือนกหวีดเพื่อตีหรือเป่าให้จังหวะฝีพายได้พายอย่าง พร้อมเพรียงกัน
รางวัลสำหรับการแข่งขันในสมัยก่อน เรือที่ชนะจะได้รับผ้าแถบหัวเรือ ส่วนฝีพายจะได้รับผ้าขาวม้าคนละผืน ต่อมาเป็นการแข่งขันชิงน้ำมันก๊าด เพื่อนำไปถวายวัด เพราะเรือส่วนใหญ่เป็นเรือของวัด และตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นต้นมา เป็นการแข่งขันเพื่อชิงโล่พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
กติกาการปล่อยเรือและการเข้าเส้นชัยมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการณ์ เช่น ในปัจจุบันมีการแบ่งสายน้ำโดยการจับสลาก กำหนดระยะทางที่แน่นอน คือ ๕๐๐ เมตร มีเรือเข้าร่วมแข่งขันทั้งเรือในท้องถิ่นจังหวัดชุมพรเอง และเรือจากต่างจังหวัด สถานที่คือวัดด่านประชากร

  • สาระ

แสดงถึงความสามัคคีและความพร้อมเพรียงที่แสดงออกในรูปของการกีฬา และเป็นการสืบทอดประเพณีอันยาวนานของท้องถิ่น