ท้องพระโรงกรุงธนบุรีในพระราชวังเดิม

พระราชวังเดิมหรือพระราช วังกรุงธนบุรี นับเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญและมีคุณค่ายิ่งทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของชาติ เนื่องด้วยเป็นพระราช วังที่สร้างขึ้นในสมัยธนบุรีหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้เอกราชจากพม่าได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2310 พระองค์ทรงเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่แทนกรุงศรีอยุธยาที่อยู่ในสภาพทรุดโทรมจนไม่สามารถบูรณะให้กลับมาสู่สภาพเดิมได้

การที่ทรงเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานี สันนิษฐานว่าเนื่องจากเป็นเมืองขนาดเล็ก เหมาะกับกำลังไพร่พลที่พระองค์มีอยู่ในขณะนั้น ทั้งยังเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญอยู่ใกล้ทะเลทำให้สามารถควบคุม เส้นทางเดินเรือเข้าออก มีป้อมปราการเป็นชัยภูมิที่ดีและตั้งอยู่ใกล้ปากแม่น้ำ ฯลฯ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังหลวงขึ้นทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระ พุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติทรงย้ายราชธานีมาอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาและทรงสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นเป็นที่ประทับ พระราชวังกรุงธนบุรีจึงได้รับการเรียกขานว่า “พระราชวังเดิม” นับแต่นั้นมา

เพิ่งผ่านพ้นไปสำหรับ วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งตรงกับวันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี ในวันสำคัญดังกล่าวหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชนต่างร่วมกันจัดกิจกรรมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงมีต่อชาติไทยและปวงชนชาวไทย และหนึ่งในโบราณสถานสำคัญทรงคุณค่า พระราชวังเดิม สถานที่สำคัญแห่งนี้พร้อมให้ศึกษาเรียนรู้ พระราชประวัติ พระเกียรติคุณสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

แพทย์หญิง คุณหญิงนงนุช ศิริเดช รองประธานมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิมให้ความรู้เล่าถึงประวัติพระราชวังและการบูรณะที่ผ่านมาว่า พระราชวังเดิมแห่งนี้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2311 เพื่อใช้เป็นที่ประทับและว่าราชการ นอกจากนี้พระราชวังเดิมยังเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ชั้นสูงในราชวงศ์จักรีอีกหลายพระองค์

หลังจากสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระ ราชวังเดิมให้เป็น ที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ โดยทรงขอให้รักษาซ่อมแซมสิ่งที่ปลูกสร้างที่มีมาแต่เดิม ได้แก่ ท้องพระโรง, พระตำหนักของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว, ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และศาลศีรษะปลาวาฬ ต่อมาหลังจากโรงเรียนนายเรือย้ายออกไปตั้งอยู่ที่สมุทรปราการ กองทัพเรือได้ดัดแปลงอาคารของโรงเรียนนายเรือที่พระ ราชวังเดิมเป็นแบบทรงไทยใช้เป็นที่ตั้งของ กองบัญชาการกองทัพเรือมาถึงปัจจุบัน

“พระราชวังเดิมเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่งซึ่งก่อนหน้าจะดำเนินโครงการบูรณะพบความทรุดโทรมของพระราชวังซึ่งเป็นผลจากการเสื่อมสภาพตามกาลเวลา ทั้งในส่วนหลังคาที่รั่วซึม สีหลุดลอกและพบปลวกอยู่มากในอาคาร ฯลฯ หลังจากที่ทำการสำรวจโดยมูลนิธิฯ ผสานความร่วมมือกับกรมศิลปากรและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อดำเนินการบูรณะ ได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานที่ปรึกษาซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดโครง การและบวงสรวงพระมหากษัตริย์ที่เคยประทับในพระราชวังเดิม เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 ในการซ่อมแซมดำเนินการอนุรักษ์ ตามขั้นตอนโดยรักษารูปแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลงสิ่งใด”

ด้วยจุดหมายเทิดพระเกียรติคุณโดยที่นี่เป็นพระราชวังหลวงในสมัยธนบุรี เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์สถานที่หนึ่งที่พร้อมให้คนรุ่นหลังเข้ามาศึกษาเรียนรู้ ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในงานอนุรักษ์ของมูลนิธิฯ ซึ่งตั้งใจดำเนินการอนุรักษ์โบราณสถาน บูรณะเพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เข้ามาศึกษา เรียนรู้อันจะนำมาซึ่งความรัก ภาคภูมิใจ ร่วมกันดูแลรักษามรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ คงอยู่สืบไป

นอกจากพระราชวังเดิมจะเป็นแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์ ในมิติคุณค่าทางสถาปัตยกรรม มีรายละเอียดอีกมากมายให้ศึกษา ด้วยมีความหลากหลายทั้งสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกผสมผสานกับสถาปัตยกรรมไทย สถาปัตยกรรมจีน ฯลฯ โดยเมื่อเดินเข้ามาด้านในพระราชวัง โบราณสถานที่ปรากฏ ได้แก่ ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ศาลพระเจ้าตาก) โดยศาลหลังปัจจุบันสร้างขึ้นเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ เสด็จประทับที่พระราชวังเดิม โดยรูปแบบของอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณีผสมผสานรูปแบบตะวันตก ภายในศาลประดิษฐานพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในท่าประทับยืนทรงพระแสงดาบ

อีกทั้งในการบูรณะที่ผ่านมา ช่วงระหว่างทำการขุดสำรวจพบฐานอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าบริเวณพื้นที่ที่อยู่ระหว่างศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและตำหนักเก๋งคู่หลังเล็ก สันนิษฐานเป็น อาคารศาลศีรษะปลาวาฬ เดิมที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่ได้พังลง ปัจจุบันศาลที่ปรากฎสร้างขึ้นดังเดิม จัดแสดงกระดูกศีรษะปลาวาฬโดยรูปแบบอาคารเป็นรูปแบบประยุกต์เหมาะสมกับอาคารโบราณสถานโดยรอบ โดยยังคงรูปแบบเป็นเก๋งจีน

ตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์เสด็จประทับ ณ พระราชวังเดิม ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนผสมไทย หลังคาตกแต่งด้วยปูนปั้นและลายเขียนสี ส่วนกรอบประตูหน้าต่างจำหลักไม้ ประดับด้วยลวดลายแบบไทย ปัจจุบันด้านในอาคารจัดแสดงพระราชกรณียกิจทางด้านเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม พร้อมทั้งจัดแสดงภาพเขียนและโบราณวัตถุต่าง ๆ

ตำหนักเก๋งคู่หลังเล็ก ปรากฏอยู่ใกล้เคียงกัน โดยตำหนักเก๋งคู่หลังเล็กสร้างขึ้นในสมัยต้นกรุงรัตน โกสินทร์ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จประทับ ณ พระราชวังเดิม ขณะที่ยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เสด็จมาประทับที่นี่สันนิษฐานว่าทรงซ่อมแซมปรับปรุงอาคาร พร้อมกับสร้างตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่ โดยรูปแบบของตำหนักเก๋งคู่หลังเล็กเป็นสถาปัตยกรรมจีน ปัจจุบันภายในอาคารจัดแสดงนิทรรศ การเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจด้านการรบของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โบราณวัตถุและอาวุธที่ใช้

สำหรับ ท้องพระโรง สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2311 พร้อมกับการสร้างพระราชวังกรุงธนบุรีและการสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี รูปแบบของอาคารเป็นสถาปัตย กรรมไทยซึ่งสืบทอดมาจากสมัยอยุธยาตอนปลายผังอาคารเป็นตรีมุข หลังคาทรงไทยมุงกระเบื้องดินเผาสีส้ม หน้าจั่วประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์และนาคสะดุ้ง หน้าบันไม่ตกแต่ง

อาคารท้องพระโรงประกอบด้วยพระที่นั่งสององค์เชื่อมต่อกัน โดย พระที่นั่งทางทิศเหนือเรียกว่า ท้องพระโรงหรือวินิจฉัย เป็นพระที่นั่งโถงใช้เป็นที่เสด็จออกขุนนางและประกอบพิธีสำคัญ ส่วนพระที่นั่งองค์ทิศใต้เรียกว่าพระที่นั่งขวางเป็นส่วนพระราชมณเฑียร หรือส่วนที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ปัจจุบันกองทัพเรือใช้โถงท้องพระโรงในพระที่นั่งองค์ทิศเหนือเป็นที่จัดงานและประกอบพิธีสำคัญ ส่วนพระที่นั่งองค์ขวางใช้เป็นห้องรับรองและห้องประชุม

สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งเสด็จประทับที่พระราชวังเดิมตัวอาคารเป็นแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกถือได้ว่าเป็นตำหนักของพระบรมวงศานุวงศ์ที่สร้างแบบตะวันตกหลังแรก ๆ ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์

รูปแบบอาคารโดยทั่วไปเป็นตึกก่ออิฐถือปูนสองชั้น หลังคาทรงปั้นหยา หน้าบันตกแต่งด้วยปูนปั้นตราพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณที่เป็นไม้ทาสีเขียว สีที่นิยมกันในครั้งนั้น ปัจจุบันมูลนิธิฯ จัดชั้นบนเป็นที่แสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจและเป็นห้องสมุด ส่วนชั้นล่างจัดแสดงนิทรรศ การเงินตรา เครื่องถ้วยโบราณของไทย ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีอาคารโรงพยาบาลเดิมของโรงเรียนนายเรือในสมัยนั้น โดยระยะแรกสร้างเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวยกพื้น บนเนินหรือเขาดินที่สร้างขึ้นมานับแต่สมัยที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์เสด็จประทับ ปัจจุบันสถานที่นี้เป็นห้องประชุม รวมทั้งยังเป็นจุดฉายวีดิทัศน์แนะนำให้ได้เรียนรู้จักกับพระราชวังเดิมในเบื้องต้น ฯลฯ

ป้อมวิไชยประสิทธิ์ โบราณสถานที่มีความสำคัญอีกสถานที่ แต่เดิมเรียกว่า ป้อมวิไชยเยนทร์ ซึ่งสร้างขึ้นนับแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์เพื่อใช้เป็นป้อมปราการเมืองบางกอกอันเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญและเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีได้ทรงสร้างพระราชวังขึ้นบริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ได้ปรับปรุงป้อมแห่งนี้และพระราชทานนามใหม่ดังชื่อในปัจจุบัน ป้อมแห่งนี้ปัจจุบันใช้เป็นที่ยิงสลุตในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ และติดตั้งเสาธงประดับธงราชนาวีและธงผู้บัญชาการทหารเรือ ฯลฯ เรียกว่าทุกพื้นที่ของพระราชวังเดิมมีรายละเอียดความงดงามโดดเด่นของสถาปัตยกรรมซึ่งที่ผ่านมา โครงการอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม ได้รับรางวัล Award of Merit จากองค์การยูเนสโก อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ