ประชากรในจังหวัดใดของประเทศไทยนับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ ข้อสอบ

ศาสนาอิสลามในประเทศไทย

ประชากรในจังหวัดใดของประเทศไทยนับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ ข้อสอบ


มัสยิดกรือเซะ หรือ มัสยิดปิตูกรือบัน เป็นมัสยิดที่มีอายุกว่า 200 ปี ในจังหวัดปัตตานี

ศาสนาอิสลาม เป็นชนกลุ่มน้อยทางศาสนาในประเทศไทย แต่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยสถิติระบุว่าประชากรมุสลิมมีระหว่าง 2.2 ล้านคน[1] ถึง 7.4 ล้านคน[2] ซึ่งมีความหลากหลายจากการอพยพเข้ามาจากทั่วโลก มุสลิมในไทยส่วนใหญ่เป็นนิกายซุนนีย์[3][4]

ประวัติ

กลุ่มชาติพันธุ์ที่คนไทยเรียกกันว่า แขก คาดว่าหมายถึงชาวมุสลิมโดยรวม ทั้งนี้พ่อค้าชาวมุสลิมในคาบสมุทรเปอร์เซียที่เข้ามาค้าขายในแหลมมลายู (อินโดนีเซียและมาเลเซีย) ได้นำศาสนาอิสลามเข้ามาด้วย ภายหลังคนพื้นเมืองจึงได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ส่วนในประเทศไทยนี้พบหลักฐานว่าคนไทยได้ติดต่อสัมผัสกับชาวมุสลิมตั้งแต่ยุคสมัยสุโขทัย และช่วงกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมา โดยชาวมุสลิมบางคนนั้น เป็นถึงขุนนางในราชสำนัก ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีชาวมุสลิมอพยพมาจากมลายูและเปลี่ยนสัญชาติเป็นไทย นอกจากนี้ยังมีชาวมุสลิมอินเดียที่เข้ามาตั้งรกราก รวมถึงชาวมุสลิมยูนนานที่หนีภัยการเบียดเบียนศาสนาหลังการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน[5]

เชื้อชาติ

ชาวไทยเชื้อสายมลายู ในจังหวัดสงขลา

ประชากรมุสลิมของไทยมีความหลากหลายและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน โดยมีกลุ่มเชื้อชาติอพยพเข้ามาจากจีน ปากีสถาน กัมพูชา บังกลาเทศ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เช่นเดียวกับชาวไทย ขณะที่มุสลิมในประเทศไทยราวสองในสามมีเชื้อสายมาเลย์[6]

ลักษณะประชากรและภูมิศาสตร์

คนส่วนใหญ่เชื่อว่าชาวมุสลิมส่วนใหญ่ของประเทศอาศัยอยู่ในสามจังหวัดใต้สุดของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส อย่างไรก็ตาม การศึกษาของกระทรวงการต่างประเทศ ชี้ว่า ชาวไทยมุสลิมเพียงร้อยละ 18 เท่านั้นที่อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดนี้ ส่วนที่เหลืออาศัยอยู่กระจายไปทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและตลอดพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2548 มุสลิมในภาคใต้คิดเป็นประชากรร้อยละ 30.4 ของประชากรอายุมากกว่า 15 ปี แต่ในส่วนอื่นของประเทศกลับมีเพียงน้อยกว่าร้อยละ 3[1]

ลักษณะเด่น

ยกเว้นในวงจำกัดของหมู่ผู้เชื่อที่ได้รับการฝึกอบรมทางศาสนศาสตร์มาแล้ว โดยทั่วไปศาสนาอิสลามในประเทศไทย เช่นเดียวกับศาสนาพุทธ ได้ผสมผสานความเชื่อต่างๆ เข้ากับหลักปฏิบัติของอิสลาม ในภาคใต้ เป็นการยากที่จะลากเส้นแบ่งระหว่างวิญญาณนิยมกับวัฒนธรรมมาเลย์ซึ่งใช้เพื่อขับไล่วิญญาณร้ายและพิธีกรรมอิสลามท้องถิ่น เนื่องจากความคล้ายคลึงกันระหว่างทั้งสอง

สถานที่บูชา

ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2550 ประเทศไทยมีมัสยิด 3,494 แห่ง โดยมีในจังหวัดปัตตานีมากที่สุด (636 แห่ง)[7] ตามกรมการศาสนา มัสยิดกว่าร้อยละ 99 เป็นนิกายซุนนีย์ และอีกร้อยละ 1 เป็นชีอะหฺ

บทสรุปผู้บริหาร

รัฐธรรมนูญ “ห้ามมิให้เลือกปฏิบัติด้วยเหตุความเชื่อทางศาสนา” และ “ปกป้องเสรีภาพในการถือศาสนา ตราบเท่าที่การปฏิบัติตามเสรีภาพในการถือศาสนานั้นไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ” ทั้งนี้กฎหมายรับรองกลุ่มศาสนา 5 กลุ่มอย่างเป็นทางการ ได้แก่ กลุ่มพุทธ กลุ่มมุสลิม กลุ่มพราหมณ์-ฮินดู กลุ่มซิกข์ และกลุ่มคริสต์ กระทรวงยุติธรรมอนุญาตให้นำหลักชะรีอะฮ์มาใช้เป็นกระบวนการตามกฎหมายแบบพิเศษที่ไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งแห่งประเทศไทยได้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายครอบครัว ซึ่งรวมถึงมรดก และใช้บังคับกับชาวมุสลิมใน “จังหวัดชายแดนภาคใต้” ชุมชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเรียกว่าเป็นจังหวัดทางใต้สุดของประเทศใกล้ชายแดนมาเลเซีย ยังคงแสดงความคับข้องใจเนื่องจากรู้สึกว่าถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเลือกปฏิบัติ และเห็นว่าระบบศาลยุติธรรมขาดการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจที่เพียงพอ เมื่อเดือนกันยายน สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอข้อมูลการจัดตั้งกลุ่มของนักศึกษามุสลิมจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ หลังจากชาวมุสลิมมาเลย์ 3 คนจากจังหวัดนราธิวาสถูกจับกุมด้วยเหตุเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ระเบิดหลายครั้งระหว่างการประชุมรัฐมนตรีสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย การตัดสินใจดังกล่าวจุดชนวนการประท้วงในกลุ่มนักสิทธิมนุษยชน ส่งผลให้เจ้าหน้าที่เลื่อนเวลาบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าวออกไป นอกจากนี้ ทางการยังจับกุมและกักตัวผู้อพยพที่ไม่มีตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร รวมไปถึงผู้ลี้ภัยบางรายที่ลงทะเบียนกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และผู้แสวงหาที่พักพิง เหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติมาในปีก่อน ๆ โดยรัฐบาลมักจะให้เหตุผลว่าการจับกุมเหล่านี้ไม่ได้เป็นผลจากการถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งและผู้ที่ถูกกักตัวมาจากหลากหลายกลุ่มศาสนา ในบางกรณี ผู้ลี้ภัยที่ UNHCR รับรองสถานะ (รวมทั้งผู้ที่หลบหนีจากการข่มเหงทางศาสนา) รายงานว่าตนพักอยู่ที่สถานกักตัวคนต่างด้าวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในสภาพแออัดเป็นเวลาหลายปี สื่อและองค์กรนอกภาครัฐรายงานในระหว่างปีว่า ชาวมุสลิมอุยกูร์หลายสิบคนจากประเทศจีนยังคงพำนักอยู่ในสถานกักตัวคนต่างด้าวทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่ถูกกักตัวมานานกว่า 5 ปี ในเดือนธันวาคม รัฐบาลเห็นชอบให้ใช้กลไกการคัดกรองแบบใหม่ซึ่งคุ้มครองบุคคลที่รัฐบาลพิจารณาเห็นว่าเป็น “ผู้ได้รับการคุ้มครอง” ไม่ให้ถูกส่งกลับประเทศเป็นการชั่วคราว UNHCR และองค์กรนอกภาครัฐบางแห่งพอใจกับข้อบังคับดังกล่าว อย่างไรก็ตาม บางองค์กรแสดงความกังวลว่ากระบวนการคัดกรองนี้อาจถูกแทรกแซงทางการเมืองได้

ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับเหตุความไม่สงบยังคงเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลย์มุสลิม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งแบ่งแยกดินแดนมายาวนาน โดยที่อัตลักษณ์ทางศาสนาและทางชาติพันธุ์มีส่วนสัมพันธ์กับปัญหาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด กลุ่มก่อความไม่สงบถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อเหตุโจมตีที่จุดตรวจแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลาเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตที่เป็นชาวพุทธ 13 ราย และชาวมุสลิม 2 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน นอกจากนี้ ยังเกิดเหตุกลุ่มก่อความไม่สงบโจมตีกองกำลังรักษาความปลอดภัยในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานีเมื่อเดือนมกราคม ส่งผลให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยชาวมุสลิมเสียชีวิต 4 ราย

เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาและสถานกงสุลใหญ่เข้าพบผู้นำทางศาสนาพุทธและมุสลิม นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องเป็นประจำ โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของสถานเอกอัครราชทูตในการส่งเสริมพหุนิยมทางศาสนาและความสมานฉันท์ รวมถึงหารือประเด็นทางศาสนาที่ซับซ้อนในสังคม เช่น อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และการเมือง ในเดือนพฤศจิกายน เอกอัครราชทูตผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯ ในประเด็นเสรีภาพทางศาสนานานาชาติ พบกับผู้นำทางศาสนาและประชาสังคมของชาวพุทธ มุสลิม และคาทอลิก เพื่อหารือถึงโอกาสและความท้าทายในการทำให้มีการยอมรับกันระหว่างความเชื่อและมีเสรีภาพทางศาสนาในประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ยังจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยสันติภาพ และอำนวยการให้วิทยากรจากสหรัฐฯ มานำเสนอเกี่ยวกับเสรีภาพทางศาสนา โดยส่งเสริมให้ชาวพุทธ มุสลิม และคริสต์ เข้าร่วมการเสวนาระหว่างความเชื่อในเรื่องความสำคัญของการปกป้องสิทธิของชนกลุ่มน้อยทางศาสนาเพื่อปกป้องเสรีภาพในการถือศาสนาของทุกคน

ตอนที่ 1. ประชากรที่นับถือศาสนา

รัฐบาลสหรัฐฯ ประมาณการไว้เมื่อกลางปี 2562 ว่าประชากรทั้งหมดในประเทศไทยมีจำนวน 68.8 ล้านคน จากข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรล่าสุดเมื่อปี 2553 ร้อยละ 93 ของประชากรนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ส่วนอีกร้อยละ 5 เป็นชาวมุสลิม อย่างไรก็ตาม องค์กรนอกภาครัฐ นักวิชาการ และกลุ่มศาสนากล่าวว่า ร้อยละ 85-95 ของประชากรนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ส่วนอีกร้อยละ 5-10 ของประชากรนับถือศาสนาอิสลาม มีประชากรจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 5 ที่นับถือภูตผี ศาสนาคริสต์ ลัทธิขงจื๊อ ศาสนาฮินดู ศาสนายูดาห์ ศาสนาซิกข์ และลัทธิเต๋า

ชาวพุทธส่วนใหญ่นำพิธีกรรมของศาสนาฮินดูและการนับถือภูตผีมาประกอบศาสนพิธีของตนด้วย พระสงฆ์ในนิกายเถรวาทแบ่งออกเป็น 2 นิกายหลักด้วยกัน ได้แก่ มหานิกายและธรรมยุติกนิกาย โดยมหานิกายมีความเก่าแก่และเป็นที่แพร่หลายมากกว่าในชุมชนสงฆ์

อิสลามเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดใน 3 จังหวัดจาก 4 จังหวัดทางใต้สุดของประเทศ (นราธิวาส ยะลา และปัตตานี) ใกล้ชายแดนมาเลเซีย ซึ่งโดยทั่วไปเรียกว่า “จังหวัดชายแดนภาคใต้” ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในจังหวัดเหล่านี้มีเชื้อสายมาเลย์ แต่ประชากรมุสลิมทั่วประเทศมีหลายเชื้อชาติ ซึ่งรวมทั้งลูกหลานของผู้อพยพจากเอเชียใต้ จีน กัมพูชา และอินโดนีเซีย รวมทั้งเชื้อสายไทยด้วย จากข้อมูลของกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ชาวมุสลิมร้อยละ 99 นับถือนิกายสุหนี่

ผู้ที่มีเชื้อสายจีนและเวียดนามส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายานหรือเถรวาท นอกจากนี้ ผู้ที่มีเชื้อสายจีนจำนวนมากรวมทั้งชาวเมี่ยน ยังนับถือลัทธิเต๋าในรูปแบบต่าง ๆ ด้วย

ชาวคริสต์ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีเชื้อสายจีน และกว่าครึ่งหนึ่งของชุมชนชาวคริสต์นับถือนิกายโรมันคาทอลิก

ตอนที่ 2. สถานะด้านการเคารพเสรีภาพในการนับถือศาสนาของรัฐบาล

กรอบทางกฎหมาย

รัฐธรรมนูญกำหนดให้มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันตามกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงความเชื่อทางศาสนา และอนุญาตให้ทุกคนนับถือศาสนา ปฏิบัติตามหลักศาสนา และประกอบกิจทางศาสนาใดก็ได้ตามที่ต้องการ ตราบใดที่เสรีภาพดังกล่าวมิได้ “เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ” รัฐธรรมนูญให้อำนาจรัฐในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ตลอดจนศาสนาอื่น ๆ แต่ก็มีบทบัญญัติเพื่อส่งเสริมศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเป็นพิเศษโดยการให้ความรู้ เผยแผ่หลักคำสอนของศาสนา และกำหนดมาตรการและกลไก “ในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด”

ในปี 2559 รัฐบาลทหารในขณะนั้นมีคำสั่งพิเศษให้รัฐอุปถัมภ์และคุ้มครอง “ทุกศาสนาอันเป็นที่รับรอง” ในประเทศ แต่ก็ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐทั้งหมดดูแลให้มี “การเผยแพร่หลักธรรมคำสอนที่ถูกต้อง” ตามแนวทางของศาสนาโดยไม่ “บิดเบือนให้เป็นความขัดแย้งในหมู่ศาสนิกชน” โดยคำสั่งดังกล่าวยังคงมีผลอยู่ กฎหมายห้ามไว้โดยเฉพาะมิให้มีการดูหมิ่นหรือเหยียดหยามศาสนาพุทธและพระสงฆ์ ผู้ฝ่าฝืนจะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท (670 เหรียญสหรัฐ) หรือทั้งจำทั้งปรับ ประมวลกฎหมายอาญาห้ามดูหมิ่นหรือก่อความรบกวนในศาสนสถานหรือศาสนพิธีของกลุ่มศาสนาที่ทางราชการรับรอง มิฉะนั้น จะต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-140,000 บาท (670-4,700 เหรียญสหรัฐ) หรือทั้งจำทั้งปรับ

กฎหมายรับรองกลุ่มศาสนาอย่างเป็นทางการทั้งหมด 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพุทธ กลุ่มมุสลิม กลุ่มพราหมณ์-ฮินดู กลุ่มซิกข์ และกลุ่มคริสต์ แม้ว่าประเทศไทยจะไม่มีศาสนาประจำชาติอย่างเป็นทางการ แต่รัฐธรรมนูญยังคงบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็น “อัครศาสนูปถัมภก”

กลุ่มศาสนาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มศาสนาที่ทางราชการรับรองทั้ง 5 กลุ่มมีสิทธิขอจดทะเบียนเพื่อรับสิทธิประโยชน์จากรัฐ เช่น ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ ได้รับยกเว้นภาษีทรัพย์สินและภาษีเงินได้ และได้รับการพิจารณาวีซ่าพักอาศัยเป็นพิเศษสำหรับเจ้าหน้าที่ชาวต่างชาติ ทั้งนี้ ทางการไม่บังคับกลุ่มศาสนาให้จดทะเบียน และกลุ่มศาสนาต่าง ๆ อาจยังคงดำเนินการได้โดยไม่ถูกรัฐบาลแทรกแซง ไม่ว่าจะได้รับการจดทะเบียนหรือการรับรองอย่างเป็นทางการหรือไม่ก็ตาม ตามกฎหมายแล้ว กรมการศาสนารับผิดชอบในการจดทะเบียนกลุ่มศาสนาต่าง ๆ ยกเว้นกลุ่มพุทธที่มีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดูแล ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระของรัฐภายใต้การกำกับดูแลโดยตรงของนายกรัฐมนตรี

กรมการศาสนาอาจจดทะเบียนนิกายใหม่นอกกลุ่มศาสนาที่ทางราชการรับรองทั้ง 5 กลุ่มเฉพาะในกรณีที่นิกายดังกล่าวมีคุณสมบัติต่อไปนี้ 1. มีสาวกทั่วประเทศอย่างน้อย 5,000 คน 2. มีหลักคำสอนอันเป็นเอกลักษณ์ในทางศาสนศาสตร์ 3. ไม่ได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และ 4. ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการจากที่ประชุมซึ่งกรมการศาสนาจัดขึ้น โดยมีตัวแทนจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องและกลุ่มศาสนาที่ทางราชการรับรองทั้ง 5 กลุ่ม ผู้นำกลุ่มศาสนาที่ประสงค์จดทะเบียนกับกรมการศาสนา จะต้องยื่นเอกสารแสดงวัตถุประสงค์และวิธีดำเนินการ ความสัมพันธ์ใด ๆ กับต่างประเทศ บัญชีรายชื่อสมาชิกบริหารและเจ้าหน้าที่อาวุโส ตลอดจนที่ตั้งของสถานที่บริหาร ศาสนสถาน และสำนักสอนศาสนา อย่างไรก็ตาม ด้วยนโยบายแล้ว รัฐบาลจะไม่รับรองกลุ่มศาสนาใหม่ใด ๆ อีกนอกจาก 5 กลุ่มหลักข้างต้น

รัฐธรรมนูญห้ามนักบวช สามเณร พระสงฆ์ และพระอื่น ๆ ในศาสนาพุทธลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา หรือดำรงตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการเมือง จากข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเมื่อเดือนสิงหาคม มีพระสงฆ์ประมาณ 252,851 รูป ซึ่งไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือลงสมัครรับเลือกตั้ง นอกจากนี้ ยังห้ามมิให้นักบวชในศาสนาคริสต์สวมใส่เครื่องแต่งกายทางศาสนาไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ทั้งนี้อิหม่ามไม่ถือว่าเป็นพระหรือนักบวช ดังนั้นจึงลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ยกเว้นจุฬาราชมนตรี (ผู้ตัดสินชี้ขาดสูงสุดทางศาสนาอิสลาม) ที่ไม่สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้

มหาเถรสมาคมทำหน้าที่เป็นหน่วยงานปกครองคณะสงฆ์ในประเทศไทย พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการมหาเถรสมาคมตามพระราชอัธยาศัย โดยไม่ต้องคำนึงถึงสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ และไม่ต้องผ่านความเห็นชอบหรือทรงปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราช ผู้ซึ่งพระมหาษัตริย์มีพระราชอำนาจแต่งตั้งตามกฎหมายด้วยเช่นกัน

กฎหมายบัญญัติให้สถานศึกษาทั้งระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาให้ความรู้เกี่ยวกับศาสนากับนักเรียนทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น หลักสูตรต้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มศาสนาที่ทางราชการรับรองทั้ง 5 กลุ่ม โดยกำหนดให้มีเวลาสอนพระพุทธศาสนามากกว่าศาสนาอื่น ๆ นักเรียนที่ต้องการจะศึกษาศาสนาใดศาสนาหนึ่งอย่างละเอียดอาจเข้าเรียนที่โรงเรียนสอนศาสนาของเอกชน และโอนหน่วยกิตไปยังโรงเรียนรัฐบาลได้ โรงเรียนที่ร่วมมือกับองค์กรบริหารท้องถิ่นของตนได้รับอนุญาตให้เปิดวิชาศาสนศึกษาเพิ่มเติมได้ ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยคริสเตียนของเอกชน 2 แห่ง และวิทยาลัยคาทอลิก 1 แห่ง ซึ่งเปิดสอนศาสนาให้กับสาธารณชน รวมทั้งมีโรงเรียนคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการดูแลด้านหลักสูตรและการจดทะเบียนอยู่ประมาณ 350 แห่ง มหาเถรสมาคมจัดทำหลักสูตรพิเศษด้านพุทธศาสนศึกษา และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยจัดทำหลักสูตรพิเศษด้านอิสลามศึกษา ซึ่งอยู่ในภาคบังคับของโรงเรียนรัฐบาล

คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยประกอบด้วยสมาชิกชาวมุสลิมที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง และมีหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับประเด็นทางศาสนาอิสลามแก่กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทย รัฐบาลให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการศึกษาศาสนาอิสลาม รวมถึงมอบเงินทุนสำหรับการก่อสร้างมัสยิดและการเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ มีโรงเรียนอิสลามระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาหลายร้อยแห่งทั่วประเทศ นักเรียนสามารถรับการศึกษาศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย 4 วิธีดังต่อไปนี้ 1. จากโรงเรียนที่รัฐบาลให้เงินอุดหนุนและเปิดสอนศาสนาอิสลามตามหลักสูตรระดับประเทศ 2. จากโรงเรียนอิสลามของเอกชนที่อาจเปิดสอนวิชาอื่น ๆ นอกเหนือจากวิชาคัมภีร์อัลกุรอาน เช่น วิชาภาษาต่างประเทศ (ภาษาอาหรับและภาษาอังกฤษ) อย่างไรก็ดี หลักสูตรดังกล่าวอาจไม่ได้รับการเห็นชอบจากรัฐบาล 3. จากโรงเรียนอิสลามของเอกชนประเภทไปกลับที่เปิดสอนศาสนาอิสลามตามหลักสูตรของโรงเรียนให้กับนักเรียนทุกวัย และ 4. จากหลักสูตรศาสนาหลังเลิกเรียนสำหรับเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ที่มักจะจัดสอนที่มัสยิด

กระทรวงยุติธรรมอนุญาตให้นำหลักชะรีอะฮ์มาใช้เป็นกระบวนการตามกฎหมายแบบพิเศษ แม้ว่าจะไม่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่ง และใช้บังคับกับชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายครอบครัว ซึ่งรวมถึงมรดก ศาลจังหวัดบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว และผู้เชี่ยวชาญด้านชะรีอะฮ์เป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ผู้พิพากษา กฎหมายได้วางโครงสร้างบริหารของชุมชนชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้อย่างเป็นทางการ รวมถึงกระบวนการในการแต่งตั้งจุฬาราชมนตรีที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาราชการด้านกิจการศาสนาอิสลาม

กรมการศาสนากำหนดจำนวนผู้สอนศาสนาชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนและปฏิบัติงานในประเทศไทยไว้ดังต่อไปนี้ ชาวคริสต์ 1,357 คน ชาวมุสลิม 6 คน ชาวฮินดู 20 คน และชาวซิกข์ 41 คน การขึ้นทะเบียนจะทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์บางประการ เช่น การได้รับวีซ่าที่อายุนานขึ้น ตัวแทนของกลุ่มศาสนาที่ทางราชการรับรองทั้ง 5 กลุ่มอาจขอวีซ่าอายุ 1 ปีแบบต่ออายุได้ ผู้สอนศาสนาชาวต่างชาติจากกลุ่มศาสนาอื่น ๆ รวมทั้งเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครชาวต่างชาติขององค์กรนอกภาครัฐอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา จะต้องต่ออายุวีซ่าทุก ๆ 90 วัน

ปัจจุบันประเทศไทยเป็นรัฐภาคีแห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

แนวทางปฏิบัติของรัฐบาล

เนื่องจากศาสนาและชาติพันธุ์มักมีส่วนสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด จึงเป็นการยากที่จะจำแนกเหตุการณ์ความรุนแรงหลายครั้งที่เกิดจากกลุ่มก่อความไม่สงบชาวมาเลย์มุสลิมว่ามีพื้นฐานจากอัตลักษณ์ทางศาสนาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐระบุว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 140 รายจากความรุนแรงที่เกิดจากการก่อความไม่สงบ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน ในจำนวนดังกล่าว เป็นชาวมุสลิม 102 คน และชาวพุทธ 36 คน รวมทั้งมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 207 รายระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว โดยเป็นชาวมุสลิม 97 คน และชาวพุทธ 110 คน ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้รายงานว่า ตลอดปี 2561 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบเป็นชาวมุสลิม 171 คน ชาวพุทธ 43 คน และไม่ระบุอีก 4 คน องค์กรนอกภาครัฐในพื้นที่รายงานว่า กลุ่มก่อความไม่สงบมักมองว่าครูและทหารที่อารักขาครูมีความเกี่ยวข้องกับรัฐ จึงถือเป็นเป้าโจมตีอันชอบธรรม ประธานสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้และเจ้าหน้าที่ของศูนย์บริหารและประสานงานการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ระบุว่า ในระหว่างปีไม่มีครูหรือนักเรียนเสียชีวิตจากเหตุการณ์โจมตีของผู้ก่อความไม่สงบ อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์กลุ่มก่อความไม่สงบโจมตีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงภายในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานีเมื่อเดือนมกราคม ส่งผลให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยชาวมุสลิมเสียชีวิต 4 ราย

ชุมชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงแสดงความคับข้องใจเนื่องจากรู้สึกว่าถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเลือกปฏิบัติ และเห็นว่าระบบศาลยุติธรรมขาดการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจที่เพียงพอ เว็บไซต์ของประชาไทรายงานว่า ในเดือนมกราคม ตำรวจนครบาลควบคุมตัวชายจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ 16 คนที่ทำงานอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อพิมพ์ลายนิ้วมือและเก็บข้อมูล DNA โดยไม่มีหมายศาล ชายทั้ง 16 คนได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมาโดยไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาใด ๆ

ทางการยังคงใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกที่บังคับใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2548 และ 2547 ตามลำดับ ซึ่งให้อำนาจอย่างมีนัยสำคัญแก่ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน ในการจำกัดสิทธิพื้นฐานบางประการ ซึ่งรวมถึงการกักตัวก่อนการพิจารณาคดีและการเข้าตรวจค้นโดยไม่มีหมายศาล ทางการให้อำนาจบางประการด้านความมั่นคงภายในแก่กองทัพ ซึ่งมักส่งผลให้ชาวมุสลิมกล่าวหาว่ามีการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม

เว็บไซต์ข่าวมุสลิม “เอ็มทูเดย์” ได้เผยแพร่รายงานของเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐ ในเดือนเมษายน โดยรายงานดังกล่าวระบุว่า นายมะรอบี บือแน ครูสอนศาสนาชาวมุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงควบคุมตัวไปสอบปากคำโดยไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหาเป็นเวลา 34 วัน

สมาชิกชุมชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้แสดงความคับข้องใจกับเหตุการณ์ตรวจค้นเวลากลางคืนที่โรงเรียนปอเนาะแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานีเมื่อเดือนมกราคม ซึ่งกองทัพจับกุมนักเรียนชาวมุสลิมกัมพูชาหลายคนและครูสอนศาสนา 1 คน ทั้งนี้กองทัพกล่าวหาว่านักเรียนกลุ่มนี้เป็นชาวกัมพูชาเข้าเมืองโดยไม่มีเอกสารการเดินทาง และฝึกการต่อสู้ทางทหาร ขณะที่โรงเรียนกล่าวว่านักเรียนเพียงแค่เล่นกัน และการตรวจค้นดังกล่าวไม่มีเหตุผลสมควร ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า นักเรียนชาวกัมพูชาถูกส่งตัวกลับกัมพูชาหลังจากเจ้าหน้าที่ไม่พบความเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เห็นว่านักเรียนเหล่านั้นอยู่ในประเทศโดยผิดกฎหมาย

รายงานของกลุ่มสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนระบุว่า ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงจำนวนมากในประเทศไทยหลบหนีการข่มเหงทางศาสนามาจากประเทศของตน UNHCR ระบุว่า ตามกฎหมายของไทยแล้ว ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงที่เข้าประเทศโดยไม่มีวีซ่าถูกต้องตามกฎหมาย ถือเป็นคนต่างด้าวผิดกฎหมาย จึงอาจถูกจับกุม กักตัว และส่งตัวกลับประเทศ ไม่ว่าจะได้ลงทะเบียนกับทางหน่วยงานไว้แล้วหรือไม่ก็ตาม เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองตรวจค้นกลุ่มเป้าหมายที่อาศัยอยู่ในประเทศโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงที่ได้ลงทะเบียนกับ UNHCR แล้วหลายครั้งเหมือนเช่นในปีที่ผ่าน ๆ มา รายงานของสื่อมวลชนระบุว่า ในเดือนกรกฎาคมและธันวาคม เจ้าหน้าที่รัฐในกรุงเทพฯ เข้าตรวจค้นที่พักและต่อมาจับกุมชาวคริสเตียนเชื้อสายปากีสถานหลายสิบคน โดยหลายคนมีสถานะผู้ลี้ภัยหรือผู้แสวงหาที่พักพิงในข้อมูลของ UNHCR ทางการแจ้งว่า การเข้าตรวจค้นไม่ได้เจาะจงกลุ่มศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นการเฉพาะ และสื่อมวลชนรายงานโดยสอดคล้องกันว่า การจับกุมเป็นส่วนหนึ่งของการขยายการปราบปรามการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และไม่ได้มีแรงจูงใจเกี่ยวกับศาสนา

โดยปกติแล้ว ทางการจะไม่เนรเทศบุคคลในความห่วงใยที่มีสถานะผู้แสวงหาที่พักพิงหรือผู้ลี้ภัยของ UNHCR อย่างถูกต้อง และอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ UNHCR เข้าพบผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัยที่ถูกกักตัวอยู่ได้ ในบางกรณี ผู้ลี้ภัยที่ UNHCR รับรองสถานะ (รวมทั้งผู้ที่หลบหนีจากการข่มเหงทางศาสนา) รายงานว่าตนพักอยู่ที่สถานกักตัวคนต่างด้าวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในสภาพแออัดเป็นเวลาหลายปี ในหลายกรณี ทางการให้แม่และเด็กอยู่ในสถานพักพิง เพื่อปฏิบัติตามนโยบายลดการกักตัวผู้อพยพที่เป็นเด็ก ในทางปฏิบัติแล้ว สถานพักพิงดังกล่าวมีพื้นที่มากกว่าสถานกักตัวคนต่างด้าวฯ แต่ยังคงจำกัดเสรีภาพในการเดินทางอย่างเคร่งครัด

กลุ่มนักเคลื่อนไหว เช่น ฮิวแมนไรท์วอทช์ แสดงความกังกลเกี่ยวกับปฏิกิริยาที่รัฐบาลอาจจะมีต่อคำร้องขอจากจีนให้ส่งตัวผู้ต่อต้านรัฐบาลจีนกลับประเทศ ซึ่งรวมไปถึงผู้เกี่ยวข้องกับกลุ่มศาสนาที่ถูกห้ามในประเทศจีน นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าในระหว่างปี สมาชิกของกลุ่มฝ่าหลุนกงซึ่งมีสถานะผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ถูกตำรวจตรวจสอบหรือจับกุมเป็นช่วง ๆ ตัวอย่างเช่น สื่อและนักเคลื่อนไหวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจับกุมนายเหลิ่ง เตา สมาชิกกลุ่มฝ่าหลุนกงในเดือนพฤศจิกายน UNHCR ประเมินว่า ผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัยชาวจีนส่วนใหญ่ รวมทั้งผู้ที่ถูกกักตัว ไม่มีความเสี่ยงที่จะถูกส่งกลับตัวไปสู่อันตรายในจีน

สื่อและองค์กรนอกภาครัฐรายงานในระหว่างปีว่า ชาวมุสลิมอุยกูร์หลายสิบคนยังคงพำนักอยู่ในสถานกักตัวคนต่างด้าวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่ถูกกักตัวมาตั้งแต่ปี 2558 ในเดือนตุลาคม สื่อรายงานว่า คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้เข้าเยี่ยมชาวมุสลิมโรฮีนจาจากพม่าและผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ในสถานกักตัวคนต่างด้าวใกล้ชายแดนทางตอนใต้ของไทย ผู้ต้องกักชาวอุยกูร์รายหนึ่งกล่าวกับคณะกรรมาธิการว่า เขาหวังว่าจะได้รับการปล่อยตัวไปสู่ประเทศที่สาม แต่ยืนกรานที่จะไม่กลับไปประเทศจีนโดยเด็ดขาด

รัฐบาลยังคงเดินหน้าสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีในกรณีที่มีการกล่าวหาว่าพระสงฆ์อาวุโสและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติยักยอกทรัพย์ ในเดือนกันยายน นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม แจ้งต่อสภาผู้แทนราษฎรว่ามีการดำเนินคดีว่าด้วยการทุจริตโดยลุล่วงแล้ว 32 คดี ในขณะที่อีก 51 คดียังอยู่ในชั้นศาล และ 41 คดีอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนโดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

ในเดือนเมษายน ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาจำคุกพระครูกิตติ พัชรคุณ เจ้าอาวาสวัดลาดแค เป็นเวลา 26 ปีในความผิดฐานฟอกเงิน ตั้งแต่เริ่มการสืบสวนสอบสวนในปี 2558 ทางการได้จับกุมและพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแล้วกว่า 10 ราย ซึ่งนำไปสู่การเปิดโปงการลักทรัพย์มูลค่าไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท (336,000 เหรียญสหรัฐ)

รัฐบาลไม่ได้รับรองกลุ่มศาสนาใหม่ใด ๆ เพิ่มเติมนับตั้งแต่ปี 2527 ถึงแม้ว่าจะไม่มีการรับรองหรือจดทะเบียนอย่างเป็นทางการตามกฎหมาย แต่กลุ่มประชาสังคมยังคงรายงานว่า กลุ่มศาสนาที่ไม่ได้จดทะเบียนสามารถดำเนินการได้อย่างเสรี และการที่รัฐบาลไม่รับรองหรือจดทะเบียนกลุ่มศาสนาเพิ่มเติมก็ไม่ได้จำกัดการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มเหล่านี้แต่อย่างใด แม้ว่าการจดทะเบียนจะให้สิทธิประโยชน์บางประการ เช่น การได้รับวีซ่าที่อายุนานขึ้น แต่กลุ่มศาสนารายงานว่าการไม่จดทะเบียนไม่ได้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อกิจกรรมการประกาศศาสนาของครูสอนศาสนาต่างชาติ ผู้เผยแผ่ศาสนาที่ไม่ได้จดทะเบียนจำนวนมากทำงานในประเทศได้โดยไม่ถูกรัฐบาลแทรกแซง อย่างไรก็ตาม สมาชิกแกนนำของกลุ่มฝ่าหลุนกงรายงานว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงคอยจับตาดูสมาชิกกลุ่มอย่างใกล้ชิด และบางครั้งก็ข่มขู่ผู้ฝึกที่แจกเอกสารของกลุ่มด้วย

ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม พรรคการเมืองบางพรรคแสดงการสนับสนุนให้มีการผ่อนคลายข้อจำกัดด้านสิทธิทางการเมืองของพระสงฆ์ ทั้งนี้ ภิกษุและคณะกรรมการวัดยังคงปฏิบัติตามคำสั่งของมหาเถรสมาคมในปี 2561 ซึ่งห้ามใช้พื้นที่ของวัดจัดกิจกรรมหรือชุมนุมทางการเมือง การประชุม หรือการสัมมนาเพื่อวัตถุประสงค์ที่ละเมิดกฎหมายหรือกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้ว่าจะมีพระสงฆ์อย่างน้อย 1 รูปที่สนับสนุนการคืนสิทธิทางการเมืองนี้อย่างเปิดเผย แต่ไม่มีสื่อใดรายงานว่า มีพระภิกษุฝ่าฝืนคำสั่งของมหาเถรสมาคมด้วยการพยายามลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หรือเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในรูปแบบอื่น ๆ

กฎหมายยังคงไม่รับรองสถานะของภิกษุณีอย่างเป็นทางการ แม้ว่าในเดือนมิถุนายน 2558 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้แนะนำให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วก็ตาม มหาเถรสมาคมยังคงห้ามผู้หญิงบวชเป็นภิกษุณี ผู้หญิงที่ประสงค์ครองสมณเพศมักเดินทางไปเข้ารับการอุปสมบทที่ศรีลังกา จากจำนวนนักบวชในพระพุทธศาสนาประมาณ 253,000 รูปทั่วประเทศ มีภิกษุณี 285 รูป แต่เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศยกเว้นกรณีที่เกี่ยวข้องกับ “การปฏิบัติตามหลักการทางศาสนา” นักบวชหญิง (ภิกษุณี) จึงไม่ได้รับการคุ้มครองด้านความเท่าเทียมระหว่างเพศจากรัฐบาล เจ้าหน้าที่ทางการยังคงไม่ได้ต่อต้านหรือสนับสนุนการอุปสมบทภิกษุณีอย่างเป็นทางการ และยังอนุญาตให้ภิกษุณีปฏิบัติศาสนกิจและก่อตั้งอารามและวัดได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ อารามของภิกษุณียังคงไม่สามารถรับสิทธิประโยชน์ใด ๆ จากรัฐบาลเหมือนที่วัดในพระพุทธศาสนาได้รับ โดยหลักแล้ว ได้แก่ การยกเว้นภาษี การรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และเงินอุดหนุนสำหรับการก่อสร้างและดำเนินโครงการด้านสวัสดิการสังคม ภิกษุณีไม่ได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษจากรัฐบาลจากการประทุษร้ายทางวาจาและทางกาย เหมือนเช่นที่ภิกษุสงฆ์ได้รับ บางครั้งการประทุษร้ายดังกล่าวเกิดจากพระภิกษุที่ต่อต้านการบวชภิกษุณี ระหว่างปี ไม่มีรายงานเกี่ยวกับการประทุษร้ายในลักษณะนี้ ซึ่งแตกต่างจากปีก่อน ๆ

มหาวิทยาลัยฟาฏอนี มหาวิทยาลัยอิสลามแห่งเดียวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาล ยังคงเปิดสอนหลักสูตรพิเศษให้กับนักเรียนชาวมุสลิม โดยจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาไทย อังกฤษ อาหรับ และมลายู ตลอดจนจัดให้มีหลักสูตรสันติศึกษาเป็นหลักสูตรบังคับ และผนวกหลักการทางศาสนาเข้ากับหลักสูตรส่วนใหญ่ที่เปิดสอน จนถึงเดือนสิงหาคม มหาวิทยาลัยฟาฏอนีมีนักศึกษาประมาณ 3,000 คน และบุคลากรวิชาการ 210 คน

ที่โรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่งในพื้นที่ของวัดพุทธในจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม นักเรียนชาวมุสลิมยังสามารถใส่ผ้าคลุมผมไปโรงเรียนได้ระหว่างรอการพิจารณาคดีของศาลปกครองยะลาว่าการสวมเครื่องแบบในลักษณะดังกล่าวขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากคดีในปี 2561 ที่ผู้ปกครองชาวมุสลิมยื่นเรื่องคัดค้านระเบียบกระทรวงศึกษาธิการฉบับใหม่ ซึ่งห้ามนักเรียนแต่งกายตามความเชื่อทางศาสนาของตน และกำหนดให้สวมเครื่องแบบที่โรงเรียนและวัดยอมรับเท่านั้น โดยไม่อนุญาตให้สวมใส่เครื่องแต่งกายตามศาสนา เมื่อถึงสิ้นปี คดีดังกล่าวยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณา

บุคลากรอาวุโสของมหาวิทยาลัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้แห่งหนึ่งรายงานว่า อาจารย์และครูสอนศาสนาอิสลามไม่ถูกตรวจสอบโดยกองทัพ ซึ่งแตกต่างจากปีก่อน ๆ

เมื่อเดือนกันยายน สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอให้มหาวิทยาลัยบางแห่งในประเทศส่งข้อมูลการจัดตั้งกลุ่มของนักศึกษามุสลิม เช่น จำนวนสมาชิก ภูมิลำเนา และนิกายที่นับถือ กลุ่มสิทธิมนุษยชนคัดค้านการกระทำดังกล่าว และรัฐบาลก็ได้ยุติการขอข้อมูลในวันที่ 2 ตุลาคม ภายหลังการคัดค้านจากองค์กรมุสลิมหลายแห่ง รวมไปถึงสำนักจุฬาราชมนตรี อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐยังคงยืนยันว่าการกระทำดังกล่าวซึ่งเป็น “การขอ [ข้อมูล] ตามปกติ” ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแต่อย่างใด ทั้งนี้ มีรายงานว่าการขอข้อมูลในลักษณะนี้เป็นผลจากการวางระเบิดหลายจุดระหว่างการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนในกรุงเทพมหานครเมื่อเดือนสิงหาคม ซึ่งคาดว่าเชื่อมโยงกับชาวมาเลย์มุสลิม 3 คน บรรดาผู้นำชาวมุสลิมกล่าวว่าการขอข้อมูลนี้เป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งศาสนา เนื่องจากไม่ได้มีการขอข้อมูลที่คล้ายคลึงกันจากกลุ่มนักศึกษาศาสนาอื่น ๆ พวกเขายังชี้อีกด้วยว่าการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลแสดงถึงกระแสต่อต้านชาวมุสลิม

ในเดือนพฤษภาคม สื่อรายงานว่ารัฐบาลระงับการเทศนาของพระวีระธุ พระสงฆ์พม่าผู้เรียกตัวเองว่าเป็นภิกษุชาตินิยม ซึ่งเดิมมีกำหนดจัดขึ้นที่ภูเก็ต หลังกลุ่มผู้อพยพหลายกลุ่มแสดงความกังวลว่าการเทศนานี้อาจก่อให้เกิดความตึงเครียดระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิม

ตั้งแต่ปีงบประมาณ 1 ตุลาคม 2561 ถึง 30 กันยายน 2562 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้แก่กรมการศาสนาสำหรับโครงการริเริ่มเกี่ยวกับศาสนาต่าง ๆ นอกจากพระพุทธศาสนาประมาณ 415 ล้านบาท (13.94 ล้านเหรียญสหรัฐ) เทียบกับ 410 ล้านบาท (13.77 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปีงบประมาณก่อนหน้า โดยในจำนวนนี้ ประมาณ 341.5 ล้านบาท (11.47 ล้านเหรียญสหรัฐ) จัดสรรไว้สำหรับวางแผนเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการส่งเสริมศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม รวมทั้งความร่วมมือระหว่างความเชื่อ ผ่านโครงการสร้างสันติภาพต่าง ๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เทียบกับ 333 ล้านบาท (11.19 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปีงบประมาณก่อนหน้า งบประมาณของกรมการศาสนานี้ยังรวมไปถึงเงินสนับสนุนเพื่อบำรุงรักษาและบูรณะศาสนสถานของกลุ่มศาสนาที่ทางราชการรับรองจำนวน 5 กลุ่ม ยกเว้นพระศาสนาพุทธ ประมาณ 16 ล้านบาท (537,000 เหรียญสหรัฐ) และเบี้ยเลี้ยงรายปีของจุฬาราชมนตรี 240,000 บาท (8,100 เหรียญสหรัฐ)

รัฐบาลจัดสรรงบประมาณจำนวน 4,850 ล้านบาท (162.9 ล้านเหรียญสหรัฐ) ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแยกต่างหากจากกรมการศาสนา เทียบกับ 4,900 ล้านบาท (164.6 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปีงบประมาณก่อนหน้า โดยในจำนวนนี้เป็นงบประมาณสำหรับโครงการส่งเสริมความสามารถและพัฒนาทุนมนุษย์จำนวน 1,870 ล้านบาท (62.81 ล้านเหรียญสหรัฐ) เทียบกับ 1,600 ล้านบาท (53.75 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปีงบประมาณก่อนหน้า ตลอดจนงบบริหารงานบุคคล 1,600 ล้านบาท (53.75 ล้านเหรียญสหรัฐ) โครงการศึกษา 1,100 ล้านบาท (36.95 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งรวมถึงการให้ความรู้กับพระภิกษุและสามเณรเกี่ยวกับพระธรรมวินัยและการบันทึก และโครงการแก้ไขความขัดแย้งและพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ 242 ล้านบาท (8.13 ล้านเหรียญสหรัฐ) เมื่อเทียบกับงบจำนวน 1,600 ล้านบาท (53.75 ล้านเหรียญสหรัฐ), 1,200 ล้านบาท (40.31 ล้านเหรียญสหรัฐ) และ 256 ล้านบาท (8.6 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปีงบประมาณก่อนหน้าของกิจกรรมทั้งสามด้านตามลำดับ

รัฐบาลยังคงให้การรับรองคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่ได้รับการแต่งตั้งทั้งหมด 40 คณะทั่วประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิม 1 คณะ คณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่ให้คำแนะนำแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเกี่ยวกับประเด็นด้านศาสนาอิสลาม ตัดสินใจเกี่ยวกับการตั้งมัสยิด การย้ายมัสยิด การรวมมัสยิด และการยุบเลิกมัสยิด การแต่งตั้งอิหม่าม รวมทั้งการออกประกาศและการอนุมัติเกี่ยวกับศาสนกิจของศาสนาอิสลาม สมาชิกคณะกรรมการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงรายงานว่า คณะกรรมการบางคนให้คำปรึกษาด้านการจัดการกับประเด็นชาติพันธุ์ชาตินิยมและความตึงเครียดทางศาสนาในพื้นที่แก่เจ้าหน้าที่รัฐบาล

ไม่มีรายงานว่ากลุ่มศาสนาถูกแทรกแซงขณะชักชวนคนให้เปลี่ยนศาสนา มีพระสงฆ์เผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะบริเวณชายแดนที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ของประเทศอาศัยอยู่ โดยได้รับเงินทุนบางส่วนจากรัฐบาล จากข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พระสงฆ์ที่เผยแผ่ศาสนาทั่วประเทศมีจำนวน 5,350 รูป โดยจะต้องผ่านการฝึกอบรมและเข้าร่วมโครงการการศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งจากมหาเถรสมาคมให้เผยแผ่พระพุทธศาสนา ในเดือนกรกฎาคม มหาเถรสมาคมประกาศเป้าหมายในการส่งพระสงฆ์ไปเผยแผ่ศาสนาในทุกตำบล ตำบลละ 2 รูป หรือประมาณ 15,100 รูปทั่วประเทศ โดยในทางปฏิบัติจะขึ้นอยู่กับว่า มีทรัพยากรทางการเงินและทรัพยากรมนุษย์เพียงพอหรือไม่ แต่จนถึงสิ้นปีก็ยังไม่มีการส่งพระสงฆ์ไปเผยแผ่ศาสนาภายใต้โครงการดังกล่าว ทั้งนี้ ตามกฎข้อบังคับของทางการ พระภิกษุต่างชาติไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาภายในประเทศ

กลุ่มครูสอนศาสนาต่างชาติที่จดทะเบียนและมีวีซ่าดำเนินงานในประเทศตลอดทั้งปีมีจำนวน 11 กลุ่ม ได้แก่ ศาสนาคริสต์ 6 กลุ่ม ศาสนาอิสลาม 1 กลุ่ม ศาสนาฮินดู 2 กลุ่ม และศาสนาซิกข์ 2 กลุ่ม ซึ่งจำนวนดังกล่าวไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ มีผู้เผยแผ่ศาสนาคริสต์ที่จดทะเบียนจำนวน 1,357 คน กลุ่มมุสลิม ซิกข์ และฮินดูมีครูสอนศาสนาในประเทศในจำนวนที่น้อยกว่า ครูสอนศาสนาต่างชาติจำนวนมากเข้าประเทศโดยใช้วีซ่าท่องเที่ยว และชักชวนคนให้เปลี่ยนศาสนาได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากกรมการศาสนา ครูสอนศาสนาต่าง ๆ นอกจากพระพุทธศาสนาไม่ได้รับเงินทุนหรือเงินช่วยเหลือจากรัฐ

ถึงแม้ว่าศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (มอรมอน) จะไม่ได้เป็นกลุ่มศาสนาที่ทางราชการรับรอง แต่ก็ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการต่างประเทศและสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้มีผู้สอนศาสนาจำนวน 200 คนได้เป็นพิเศษ ผู้นำคริสตจักรรายงานว่า ผู้เผยแผ่ศาสนาของคริสตจักรมีสิทธิขอวีซ่าประเภทอายุ 90 วันที่สามารถขยายระยะเวลาพำนักได้เท่านั้น จากเดิมที่เคยได้รับใบอนุญาตทำงานอายุ 1 ปี อันเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับสำหรับผู้เผยแผ่ศาสนาที่เป็นชาวต่างชาติทุกคน เช่นเดียวกับอาสาสมัครและพนักงานขององค์กรนอกภาครัฐด้านอื่น ๆ แม้ว่าในเดือนพฤษภาคม ผู้นำคริสตจักรได้ยื่นคำร้องให้รัฐบาลพิจารณาระเบียบข้อบังคับข้อใหม่นี้อีกครั้ง แต่ทางการแนะนำให้พวกเขาปฏิบัติตามข้อบังคับใหม่ดังกล่าว

ตอนที่ 3. สถานภาพของการให้ความเคารพทางสังคมต่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา

กลุ่มก่อความไม่สงบชาวมาเลย์ยังคงโจมตีชาวพุทธและมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 18 มกราคม ผู้ก่อความไม่สงบประมาณ 10 คน ใช้ปืนเล็กยาวจู่โจมกราดยิงวัดรัตนานุภาพในจังหวัดนราธิวาส ทำให้พระสงฆ์มรณภาพ 3 รูป โดยหนึ่งในนั้นคือเจ้าอาวาสวัดดังกล่าว และมีพระอีก 1 รูปได้รับบาดเจ็บ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เหตุการณ์นี้เป็นครั้งแรกที่มีพระสงฆ์เสียชีวิตจากเหตุความรุนแรงในภาคใต้นับตั้งแต่ปี 2558 การกราดยิงครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่อิหม่ามรายหนึ่งถูกยิงเสียชีวิตในจังหวัดนราธิวาสเมื่อวันที่ 11 มกราคม โดยเป็นอิหม่ามรายที่สามที่เสียชีวิตจากการโจมตีด้วยอาวุธปืนในรอบ 2 เดือนก่อนหน้านั้น ทำให้แหล่งข่าวบางแห่งตั้งข้อสงสัยว่าการโจมตีวัดรัตนานุภาพเป็นการตอบโต้เหตุการณ์เหล่านี้ สำนักจุฬาราชมนตรีและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตลอดจนองค์กรภาคประชาสังคม กลุ่มศาสนาพุทธ และกลุ่มศาสนาอิสลามหลายแห่ง ออกแถลงการณ์ประณามการเข่นฆ่าผู้นำของทั้งสองศาสนา ชาวมาเลย์มุสลิมในพื้นที่บางคนแสดงความคับข้องใจที่การมรณภาพของพระสงฆ์ได้รับความสนใจจากสื่อมากกว่าการเสียชีวิตของอิหม่าม

เจ้าหน้าที่ทหารอ้างว่ากลุ่มก่อความไม่สงบเป็นผู้โจมตีจุดตรวจในจังหวัดยะลาเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ทำให้มีผู้เสียชีวิตชาวพุทธ 13 ราย และชาวมุสลิม 2 ราย รายงานข่าวท้องถิ่นระบุว่าในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หลังเหตุการณ์ดังกล่าว สมาคมปกป้องพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่มชาตินิยม เรียกร้องให้พุทธศาสนิกชนลุกฮือและมาชุมนุมกันที่พุทธมณฑล (พื้นที่ของศาสนาพุทธ) ในจังหวัดนครปฐม ทว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติห้ามไม่ให้สมาคมใช้สถานที่ดังกล่าว พร้อมทั้งส่งจดหมายอย่างเป็นทางการไปยังเจ้าคณะจังหวัดทุกจังหวัดเพื่อขอไม่ให้สนับสนุนหรืออนุญาตให้ภิกษุใต้ปกครองเข้าร่วมการชุมนุม รวมทั้งขอให้เจ้าคณะจังหวัดตักเตือนชาวพุทธไม่ให้เข้าร่วมด้วย

กลุ่มด้วยใจ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุว่าข้อห้ามของรัฐบาลที่ไม่อนุญาตให้มีการแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลามในบางโรงเรียนยิ่งทำให้ประชากรชาวมุสลิมและชาวพุทธห่างเหินกันมากขึ้น ทั้งนี้ระเบียบข้อห้ามดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองยะลา ในภายหลัง กลุ่มผู้นับถือศาสนาพุทธบางกลุ่มแสดงความคับข้องใจกับข้อยกเว้นต่าง ๆ ที่พวกเขามองว่าเป็นสิทธิพิเศษสำหรับชาวมุสลิมเท่านั้น ในเดือนเมษายน กลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดินยื่นจดหมายคัดค้านระบบโควตาพิเศษรับนักศึกษามุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยมหิดล กลุ่มพุทธในจังหวัดยะลาจัดการชุมนุมขึ้นและกล่าวระหว่างการเคลื่อนไหวว่าชาวมุสลิมได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าในโรงพยาบาลรัฐ เช่น การมีครัวฮาลาล และเรียกร้องให้โรงพยาบาลมีครัวพิเศษสำหรับชาวพุทธและห้องพักพิเศษสำหรับพระสงฆ์ที่อาพาธด้วยเช่นกัน รัฐบาลยังคงปฏิเสธข้อเรียกร้องเหล่านี้ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และในเดือนมกราคม กระทรวงมหาดไทยออกแถลงการณ์ปฏิเสธข้อกล่าวอ้างว่ารัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณเต็มจำนวนในการก่อสร้างมัสยิด อีกทั้งให้เบี้ยเลี้ยงในการประกอบพิธีทางศาสนาและการปฏิบัติหน้าที่บริหารปกครองแก่อิหม่ามในศาสนาอิสลามสูงกว่าพระสงฆ์

ในเดือนธันวาคม “องค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ” จัดการเสวนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อหารือประเด็นที่องค์กรมองว่าศาสนาอิสลามเป็นภัยคุกคามต่อศาสนาพุทธ และคัดค้านการที่รัฐบาลอำนวยอภิสิทธิ์ให้กับชาวมุสลิม ซึ่งเป็นสถานการณ์ตามคำกล่าวอ้างขององค์กร โดยผู้เข้าร่วม 50 คนประกอบด้วยฆราวาสและพระภิกษุ หลังการเสวนา องค์กรดังกล่าวยื่นข้อเรียกร้อง 9 ข้อต่อจุฬาราชมนตรี ซึ่งรวมไปถึงข้อเรียกร้องให้ผู้นำชาวมุสลิมหยุดการสร้างมัสยิด เพื่อ “ความสบายใจ” รวมถึงยกเลิกการออกบัญญัติทางศาสนาที่ทำให้ชาวมุสลิมได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษ และช่วยต่อต้าน “เชื้อร้ายมุสลิมหัวรุนแรง” ซึ่งเห็นได้ชัดจากความรุนแรงโดยกลุ่มก่อความไม่สงบและผู้นำทางศาสนาที่ปลุกปั่นเยาวชนให้ก่อเหตุรุนแรงในประเทศ ภายหลัง คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้ส่งจดหมายไปยังคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ช่วยสร้างความสมานฉันท์ แต่จนถึงสิ้นปีก็ยังไม่มีการตอบรับ

ผู้นำของศาสนาพุทธและอิสลามกล่าวว่า คนส่วนใหญ่ในชุมชนของตนยังคงสนับสนุนการเสวนาระหว่างความเชื่อและความเข้าใจทางวัฒนธรรม

นักเคลื่อนไหวชาวพุทธยังคงรณรงค์เพื่อให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แนวคิดนี้ยังเป็นนโยบายของพรรคแผ่นดินธรรม ซึ่งมีนายกรณ์ มีดี ชาวพุทธชาตินิยม เป็นหัวหน้าพรรค พรรคแผ่นดินธรรมมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต 145 ราย และแบบบัญชีรายชื่อ 24 ราย และได้รับคะแนนเสียง 21,463 คะแนนจากทั้งหมดประมาณ 35 ล้านคะแนน นอกจากนี้ พรรคยังเรียกร้องให้มีการจัดตั้งชุมชนสำหรับชาวพุทธโดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม หน้าเฟซบุ๊กของพรรคแผ่นดินธรรมมีผู้ติดตามประมาณ 10,000 คน วัดธรรมกาย ซึ่งมักตกเป็นข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการฉ้อโกง มีความสัมพันธ์อันยาวนานกับพระวีระธุ ผู้นำขบวนการ 969 ของพม่า ซึ่งกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวว่าเป็นกลุ่มต่อต้านชาวมุสลิม และในเดือนธันวาคม พระสงฆ์ที่มีความเชื่อมโยงกับวัดธรรมกายได้เดินทางไปยังเมืองมัณฑะเลย์ของพม่าเพื่อเข้าร่วมพิธีประจำปีเนื่องในเทศกาลปีใหม่อีกด้วย

ในเดือนพฤศจิกายน สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเสด็จเยือนประเทศไทยเป็นเวลา 3 วัน และประทานพระดำรัสเกี่ยวกับความสมานฉันท์และความปรองดองระหว่างความเชื่อ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากทั้งผู้ที่นับถือและไม่ได้นับถือนิกายโรมันคาทอลิก

ตอนที่ 4. นโยบายและการมีส่วนร่วมของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่เข้าพบผู้นำทางศาสนาพุทธและมุสลิม รวมถึงนักวิชาการเป็นประจำ โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของสถานเอกอัครราชทูตในการส่งเสริมการยอมรับกันและความสมานฉันท์ รวมถึงหารือประเด็นทางศาสนาในสังคม เช่น อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และการเมือง เมื่อเดือนมีนาคม อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ เข้าพบนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของศาสนาอิสลามในไทย และพูดคุยเกี่ยวกับโครงการด้านการเสวนาระหว่างความเชื่อที่สถานเอกอัครราชทูตจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในเดือนพฤศจิกายน เอกอัครราชทูตผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯ ในประเด็นเสรีภาพทางศาสนานานาชาติ พบกับผู้นำทางศาสนาและประชาสังคมของชาวพุทธ มุสลิม และคาทอลิก เพื่อหารือถึงโอกาสและความท้าทายในการทำให้มีการยอมรับกันระหว่างความเชื่อและมีเสรีภาพทางศาสนาในประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตผู้แทนพิเศษยังได้กล่าวปาฐกถาในการประชุมประจำปีว่าด้วยเสรีภาพทางศาสนาหรือความเชื่อของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Annual Southeast Asian Freedom of Religion or Belief Conference) ครั้งที่ 5 โดยสนับสนุนการขับเคลื่อนในระดับฐานราก ตลอดจนการจัดให้มีเวทีอภิปรายระดับประเทศเพื่อส่งเสริมเสรีภาพทางศาสนาในฐานะสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานประการหนึ่ง

เพื่อเป็นการติดตามผลจากโครงการระหว่างศาสนาว่าด้วยสันติภาพในจังหวัดปัตตานีของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในปี 2561 สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ในเชียงใหม่ ร่วมกับเครือข่ายคนรักสันติเพื่อศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในกรุงเทพมหานครและเชียงใหม่ โดยมุ่งเน้นการปฏิสัมพันธ์ในระดับบุคคลเพื่อประสานความขัดแย้ง ชาวอเมริกันมุสลิมรายหนึ่งที่ร่วมโครงการยังได้ดำเนินการบรรยายในหัวข้อการเสวนาระหว่างความเชื่อให้แก่ผู้ฟังหลากหลายศาสนา ทั้งชาวพุทธ ชาวมุสลิม และชาวคริสต์ ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยพายัพ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาและมหาวิทยาลัยเพรสไบทีเรียนที่เก่าแก่ที่สุดของไทยตามลำดับ โดยสำนักข่าวมุสลิมในท้องถิ่นได้รายงานเกี่ยวกับกิจกรรมดังกล่าว

สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ประสานงานเป็นประจำกับชนกลุ่มน้อยทางศาสนา ซึ่งรวมถึงชาวมุสลิม ชาวคริสต์ สมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย และชาวฮินดู ในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเสวนาระหว่างความเชื่อเพื่อสนับสนุนการเคารพสิทธิส่วนบุคคลในการนับถือศาสนา และความสำคัญของพหุนิยมทางศาสนา โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการยกระดับความสำคัญของการประชุมและโครงการเหล่านี้ อันเป็นการสร้างเสรีภาพและการยอมรับกันทางศาสนามากยิ่งขึ้น

ในเดือนพฤษภาคม อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ จัดงานเลี้ยงรับประทานอาหารละศีลอดหรืออิฟตาร์ โดยมีชาวมุสลิมที่มีชื่อเสียงเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ได้ใช้โอกาสนี้เพื่อส่งเสริมคุณค่าของความหลากหลายทางศาสนาและการเสวนาระหว่างความเชื่อ มีผู้แสดงความคิดเห็นทั้งในแง่บวกและแง่ลบบนโพสต์เฟซบุ๊กของผู้นำทางศาสนาอิสลามเกี่ยวกับงานเลี้ยงอิฟตาร์นี้ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่คล้ายคลึงกันกับโพสต์อื่น ๆ เกี่ยวกับนโยบายในสื่อสังคมออนไลน์ของสถานเอกอัครราชทูต

ในเดือนกรกฎาคม ผู้ที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ซึ่งเป็นชาวพุทธและชาวมุสลิมที่เป็นที่รู้จัก 5 คน ได้เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการซึ่งมุ่งเน้นเสรีภาพทางศาสนาที่สหรัฐอเมริกา ระหว่างการเที่ยวชมเมือง 3 แห่ง ผู้เข้าร่วมกลุ่มนี้ได้พูดคุยหารือกับผู้นำอื่น ๆ จากทั่วทวีปเอเชีย เพื่อสนับสนุนให้ผู้นำทางศาสนาและผู้นำภาคประชาชนส่งเสริมการเสวนาระหว่างความเชื่อ การยอมรับกัน และการพัฒนาชุมชน อีกทั้งยังได้สานต่อโครงการดังกล่าวด้วยการจัดกิจกรรมระดับภูมิภาคในกรุงเทพมหานครเมื่อเดือนพฤศจิกายน กิจกรรมดังกล่าวให้ความสำคัญกับการต่อต้านการบิดเบือนข้อมูลและข้อความของกลุ่มหัวรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ซึ่งปรากฏในการสื่อสารทางดิจิทัลและบนสื่อสังคมออนไลน์ ตลอดจนสร้างเสริมการเรียกร้องให้เกิดการยอมรับกันและการอยู่ร่วมกัน