นโยบาย เปลี่ยน สนามรบ เป็นสนามการค้า เป็น นโยบาย ใคร

นโยบายยุคน้าชาติ ที่ว่าเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้านี่ หมายถึงที่ไหนครับความเป็นมาเป็นอย่างไรครับ

พอดีผมกำลังติดตามอ่านเรื่องเศรฐกิจ ที่มาของสมัยยุคต้มยำกุ้ง ครับ แล้วผมก็มาสดุดตรงนโยบายของน้าชาติ ที่ว่า
"เปลี่ยนสนามรบ เป็นสนามการค้า" เลยอยากทราบครับว่า :

-สนามรบที่ว่าในยุคนั้นคือ สนามรบที่ไหน ครับ ?
-กับชาติอะไรที่รบกัน แล้วน้าชาติ เขามีวิธีเปลี่ยน ให้เป็นสนามการค้าได้อย่างไร ครับ?
-นโยบายนี้สำเร็จหรือไม่ ?
-จากนโยบายนี้มีข้อดี และ ข้อเสียอย่างไรกับประเทศเราบ้างครับ ?

ขอบคุณทุกคอมเม้นท์ล่วงหน้าครับ


“สอดแนมการเมือง”
“ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”

จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐอเมริกา เคยพูดสั้นๆแต่ชัดเจนอย่างยิ่งว่า

“ทุกอย่างไม่ได้เกิดขึ้นมาเฉยๆ ทุกอย่างถูกสร้างให้เกิดขึ้น”

อืม..โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจและการเมือง ฯลฯ ไม่ว่าเรื่องดีหรือเลวที่เกิดขึ้นในชาติไทย ล้วนมาจากการกระทำของ “คนดี” กับ “คนเลว” ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมทั้งสิ้น

นโยบายใหม่เอี่ยม “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ในยุครัฐบาล “น้าชาติ-พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ” ที่มี “จารย์โต้ง-ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” กับเพื่อนพ้องน้องพี่ ช่วยกันทำงานอย่างเอาจริงเอาจัง จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ด้วยชาวไทยกับชาวโลก ล้วนติดตามดูอย่างใกล้ชิดว่า นโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ของรัฐบาล “พล.อ.ชาติชาย” จะทำสำเร็จหรือล้มเหลว..?

งานเปลี่ยนภูมิภาคอินโดจีน จาก “สนามรบ” ให้เป็น “สนามการค้า” ที่ “โคตรยาก” นี้ “น้าชาติ”กับ “จารย์โต้ง” มองทะลุถึงเงื่อนไขสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้ ก็โดยต้องประสานและผลักดันถึงสองหลักใหญ่ให้เกิดผลโดยเร็ว นั่นคือ ต้องยุติความขัดแย้งและการสู้รบภายในกัมพูชาลงให้ได้โดยเร็วที่สุด อีกทั้งต้องพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับทุกชาติในอินโดจีนไปพร้อมๆ กันด้วย

ส่วน “บิ๊กจิ๋ว-พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ” ในฐานะผู้นำทางทหารของไทย ก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดัน และเป็นตัวกลางประสานกับเขมรสี่ฝ่าย ให้ยุติการสู้รบในกัมพูชา ด้วยหลักใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับทุกประเทศในอินโดจีน โดยไม่คำนึงว่าประเทศนั้นๆจะปกครองด้วยรูปแบบใด

“น้าชาติ-บิ๊กจิ๋ว-จารย์โต้ง” และผู้เกี่ยวข้องทุกคน ล้วนมั่นใจว่า ความสำเร็จในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ จะทำให้เกิด “สันติภาพ” ในภูมิภาคอินโดจีนได้

คนที่ทำงานหนักในนโยบายนี้ หนีไม่พ้น “จารย์โต้ง” ที่ต้องประสานอย่างใกล้ชิดกับ “นายกฯ ชาติชาย” แล้ว “จารย์โต้ง” ยังต้องทำงานอื่นๆ อีกหลายเรื่อง ร่วมกับทีมงานที่ปรึกษา “บ้านพิษณุโลก” ทั้งแก้ปัญหาเก่าและสร้างโครงการใหม่ๆ มากมายให้กับรัฐบาล “น้าชาติ”

“จารย์โต้ง” ยังต้องทำงานประสาน กับผู้นำทางทหาร “บิ๊กจิ๋ว” ทั้งต้องผลักดันให้เขมรทั้งสี่ฝ่ายในกัมพูชา ยุติการสู้รบลงให้ได้อีกด้วย แถม “จารย์โต้ง” กับทีมที่ปรึกษาบางคน ยังต้องทำภารกิจทั้ง “ลับและเสี่ยง” ด้วยการติดต่อกับ “จีน” ที่ขณะนั้นสนับสนุนกองกำลังเขมรแดงอีกต่างหาก

เฮ้อ..บอกตรงๆ ว่า การ “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” นั้น มิใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพราะรัฐบาล “พล.อ.ชาติชาย” กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจ-ประสาน-ผลักดัน ฯลฯ ให้ผู้คนทั้งในชาติไทยกับทุกชาติในอินโดจีน รวมถึง “จีน” กับชาติมหาอำนาจ และชาติอื่นๆในโลก ให้สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลไทย ในเรื่อง “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ให้สำเร็จ..

ทั้งหมดมิใช่เรื่อง “ปอกกล้วยเข้าปาก” เมื่อผมนึกย้อนกลับไปถึงวันที่ “เหงียนโกธัค” รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศเวียดนาม นัดหมายจะเข้าพบกับ “นายกฯ ชาติชาย” ทว่าก่อนวันนัดหมายหนึ่งวัน เอกสารการนัดพบอย่างเป็นทางการครั้งประวัติศาสตร์ กลับยังไม่ออกมาจากฝ่ายผู้รับผิดชอบ คือกระทรวงการต่างประเทศไทย

หากไม่มีเอกสารอย่างเป็นทางการ จาก ก.ต่างประเทศ อนุมัติให้ “เหงียนโกธัค” เข้าพบ “นายกฯชาติชาย” อย่างเป็นทางการ นั่นหมายถึงการบินด่วนมาจากประเทศเชคโกสโลวาเกีย เพื่อมาพบกับ “นายกฯชาติชาย” ของ “เหงียนโกธัค” จะกลายเป็นเรื่อง “แม่สายบัวรอเก้อ” ไปเลย..เฮ้อ..

เรื่องกะทันหันชวนเครียดเช่นนี้ สำหรับ “น้าชาติ” แล้ว “โนพลอมแพลม” ว่ะ “จารย์โต้ง” ได้เล่าถึงการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ว่า

“นายกฯ ชาติชาย” ได้โทรศัพท์สายตรงไปถึงผู้รับผิดชอบ ก.ต่างประเทศ ให้เซ็นเอกสารการขอเข้าพบของ “เหงียนโกธัค” ทันที แล้วให้ “จารย์โต้ง”ไปรับเอกสารนี้ ที่บ้านผู้รับผิดชอบ ก.ต่างประเทศในค่ำคืนนั้น

งานนี้สำเร็จแบบ “เส้นยาแดงผ่าแปด” เลยล่ะ เพราะเช้าวันรุ่งขึ้น รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ “เหงียนโกธัค” จึงเข้าพบกับ “นายกฯ ชาติชาย” อย่างเป็นทางการ ที่ “บ้านราชครูหลังเก่า” ซึ่งในห้วงนั้นยังมีเครื่องบินปลดระวางแล้ว ตั้งเด่นอยู่กลางสนามหญ้า

นั่นเป็นเกร็ดหนึ่งในประวัติศาสตร์ ของการเปิดฉากพูดคุยกันระหว่าง ผู้นำชาติไทย “พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ” นายกรัฐมนตรี กับ “เหงียนโกธัค”รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ก.ต่างประเทศ ที่เป็นตัวแทนของผู้นำชาติเวียดนาม

ทว่านั่นแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า มี “นักการเมืองไทยบางคน” ยังไม่เป็นเอกภาพในนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ของ “นายกฯ ชาติชาย” จึงไม่ร่วมมือและดึงเกม ด้วยการไม่ยอมเซ็นเอกสารฯ ให้ “เหงียนโกธัค” เข้าพบกับ “นายกฯ ชาติชาย” เพื่อเจรจาความเมืองให้เรื่องนี้เกิดขึ้นไงล่ะ..จริงไหม?

แต่ “นายกฯ ชาติชาย-พล.อ.ชวลิต-ไกรศักดิ์” กับผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย ก็มิได้ย่อท้อ และยังคงเดินหน้าทำงานกันอย่างหนักต่อไป จนในที่สุด “จารย์โต้ง” ก็ได้ประสานงาน ให้ “เจ้านโรดม สีหนุ” กับ “ฮุน เซน” มาหารือกันที่บ้านของ “น้าชาติ” ในซอยราชครู กรุงเทพมหานคร

ในหนังสือ “ชีวิต-มุมมอง-ความคิด ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” ระบุไว้ว่า “การมากรุงเทพฯในครั้งนี้ ทำให้ “ฮุน เซน” เห็นความเจริญของกรุงเทพฯ แล้วอยากจะหาทางสงบศึกในบ้านตัวเอง เพื่อพัฒนาประเทศเสียที”

ดังนั้น เป้าหมายในการให้เวียดนามถอนกำลังทหารออกจากกัมพูชา และยุติการสู้รบของฝ่ายต่างๆในกัมพูชา ก็เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจ ปูทางไปสู่การมี”สันติภาพ”นั่นเอง

ฝ่ายไทยถือ “เจ้านโรดมสีหนุ” เป็นตัวแทนของเขมรแดง ส่วน “ฮุน เซน” ที่เวียดนามหนุนหลังอยู่นั้น ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงหยุดยิง แม้ในนาทีสุดท้าย ฝ่ายเขมรแดงของ “เขียว สัมพัน” จะไม่ยอมรับแถลงการณ์ร่วมนี้ก็ตาม แต่ก็ถือว่าการลงนามในครั้งนี้ ได้ประสบความสำเร็จในก้าวแรกแล้ว

โดยประเทศมหาอำนาจอย่างสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ก็พึงพอใจต่อผลการประชุมในครั้งนี้ เพราะถือการลงนามในข้อตกลงหยุดยิง เป็นขั้นตอนสำคัญ ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหากัมพูชาให้สมบูรณ์ต่อไปในอนาคต

จากความสำเร็จในก้าวแรก ที่รัฐบาล “พล.อ.ชาติชาย” ริเริ่มและผลักดัน รวมทั้งนานาชาติส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน นโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ในอินโดจีน จึงเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมทางด้านเศรษฐกิจอย่างชัดเจน

เพราะห้วงก่อนจะเริ่มนโยบายนี้ อาเซียนมีนโยบายห้ามค้าขายกับประเทศคอมมิวนิสต์ ซึ่งไทยมีการห้ามส่งสินค้าหลายสิบชนิด ที่ถือเป็น”ยุทธปัจจัย”ไปขายให้กับคอมมิวนิสต์ แต่รัฐบาลสิงคโปร์มักอนุมัติให้เอกชนของตน ส่งสินค้าไทยไปขายที่เวียดนามโดยตลอด

งานนี้..ทางเวียดนามได้นำเอกสารรายการสินค้าไทย ที่สิงคโปร์ส่งไปขายเวียดนาม ให้ “พีรพล”กับ “ผม” นำมาให้ “จารย์โต้ง” ทำให้ “น้าชาติ” ได้รับรู้ความจริง ห้วงนั้นสิงคโปร์ส่งออกสินค้าไทย เฉพาะที่ไปขายในเวียดนาม มีมูลค่าปีละ 3-4 พันล้านบาททีเดียว

เมื่อนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” เริ่มขับเคลื่อน มูลค่าการค้าไทยกับอินโดจีน เพิ่มขึ้นจาก 300 ล้านบาทในปี 2531 เป็น 1.2 พันล้านในปี 2532 และเป็น 2 พันล้านบาทในปี 2533

แม้ภายหลังรัฐบาล “พล.อ.ชาติชาย” ถูกรัฐประหารในปี 2534 นโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ยังคงได้รับการสานต่อในทุกรัฐบาล เพราะการค้าระหว่างไทยกับประเทศในอินโดจีน ยังขยายตัวต่อเนื่องจนทุกวันนี้

“จารย์โต้ง” มักพูดเสมอว่า การมีส่วนร่วมสร้างสันติภาพในอินโดจีน เป็นงานที่ “จารย์โต้ง” ภูมิใจมากที่สุดงานหนึ่ง ในช่วงที่อยู่ในทีมที่ปรึกษา “บ้านพิษณุโลก”

อืม..เพราะ “จารย์โต้ง-ผู้ลูก” เป็นที่ปรึกษา ให้รัฐบาล “พล.อ.ชาติชาย-ผู้พ่อ” นั่นเอง!

..โปรดติดตามตอนต่อไป..