แนวคิด สวัสดิการสังคมในสังคมไทย

อนาคตสังคมไทยกับงานด้านสวัสดิการสังคม
ทิศทางการจัดสวัสดิการสังคมในช่วงแผน ฯ 11 (พ.ศ.2555 – 2559)
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

เอกสารประกอบการสัมมนา
เรื่อง  อนาคตสังคมไทยกับงานด้านสวัสดิการสังคม  วันจันทร์ที่  13  กันยายน 2553
ณ ตึกสันติไมตรี  ทำเนียบรัฐบาล

1. ความเป็นมา
          1.1 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  (สศช.)  ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องศึกษา  ทบทวนทิศทางการจัดสวัสดิการสังคมในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ฉบับที่  11  (พ.ศ. 2555 – 2559)  ทั้งในส่วนของการดำเนินงานโดยภาครัฐ  ภาคเอกชนและภาคชุมชน  เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการผลักดันให้เกิดการจัดสวัสดิการสังคมได้อย่างมั่นคง  ยั่งยืน  ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึง  สอดรับกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย  สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคโลกาภิวัตน์   และสอดคล้องกับข้อจำกัดทางการเงินการคลังของประเทศในอนาคต   จึงมอบหมายให้สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนพัฒนาทางสังคม  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ทำการศึกษาตามโครงการ

          1.2 ขอบเขตการศึกษา  ครอบคลุม  3  ส่วนหลัก  ได้แก่  1)  ศึกษา  ทบทวนสถานการณ์  แผนและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดสวัสดิการสังคมในมิติต่าง ๆ ของทุกภาคส่วน  ทั้งภาครัฐ  เอกชน  และชุมชน  2)  ศึกษา  วิเคราะห์  สังเคราะห์  และกำหนดกรอบทิศทางการจัดสวัสดิการสังคมที่มีประสิทธิภาพ  ยั่งยืน  ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึง  และสอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  และ  3)   กำหนดรูปแบบ  ระบบ  และกลไกการจัดสวัสดิการทางสังคมของภาคส่วนต่าง ๆ  ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน  และชุมชนให้เหมาะสม  มีประสิทธิภาพ  สอดคล้องกับข้อจำกัดทางการเงินการคลังของประเทศ  ในช่วงแผนพัฒนาฯ  ฉบับที่  11

2. ผลการศึกษา

          2.1  วิวัฒนาการการจัดสวัสดิการสังคมของประเทศไทย    

          การจัดสวัสดิการสังคมของประเทศไทยในอดีต  เริ่มจากระบบการช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างไม่เป็นทางการของครอบครัว  เครือญาติ  และชุมชน  อันเป็นทุนทางสังคมที่สั่งสมมาเป็นเวลาช้านาน  โดยเฉพาะสถาบันทางสังคมหลักคือ  วัด   ซึ่งนอกจากจะเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของคนไทยแล้ว  ยังเป็นศูนย์กลางการช่วยเหลือหรือสงเคราะห์ผู้ตกทุกข์ได้ยากมาโดยตลอด ต่อมาเมื่อสภาพสังคมไทยปรับเปลี่ยนเป็นชุมชนเมืองและผลิตสินค้าเพื่อการขายมากขึ้น ทำให้จำเป็นต้องเร่งพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า  ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมไทยมาโดยลำดับ  และส่งผลต่อพัฒนาการของระบบสวัสดิการสังคมไทย   โดยการจัดสวัสดิการสังคมของประเทศไทยในช่วงแรก  เป็นการดำเนินงานด้านการช่วยเหลือทางสังคม  (Social  Assistance)  และสังคมสงเคราะห์  (Social  Work)  ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก  และกลุ่มเป้าหมายแรก ๆ  ที่มุ่งให้ความช่วยเหลือคือ  คนยากจนและด้อยโอกาสในสังคม  ส่วนการจัดระบบสวัสดิการสังคมเริ่มจากข้าราชการเป็นกลุ่มแรก

          ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชสู่ระบบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด    อีกทั้งโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนจากภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการที่มีการจ้างงานเป็นระบบมากขึ้น  ส่งผลให้ระบบสวัสดิการได้มีการพัฒนาให้สอดคล้องกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลง  และเป็นไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญที่ได้บัญญัติสิทธิที่ประชาชนพึงมีตามกฎหมาย  รวมถึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ  ในการจัดสวัสดิการและการสงเคราะห์ที่เหมาะสมกับประชาชนกลุ่มต่าง ๆ   รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อภารกิจในเรื่องนี้   ขณะเดียวกันภาคธุรกิจเอกชน  และภาคประชาชนเข้ามามีส่วนในการช่วยเหลือสังคมโดยถือเป็นภารกิจสำคัญมากขึ้น  ส่งผลให้รูปแบบการจัดสวัสดิการสังคมของไทยมีการปรับเปลี่ยนทิศทางไปสู่สวัสดิการแบบบูรณาการ  (Welfare  Mix)  และเป็นสังคมสวัสดิการ  (Welfare  Society)

          2.2 สถานการณ์การจัดสวัสดิการสังคมของประเทศไทย

          ปัจจุบันการจัดสวัสดิการสังคมมีความครอบคลุมและสามารถตอบสนองความต้องการของ
แต่ละกลุ่มเป้าหมายและในเชิงพื้นที่มากขึ้น   โดยมีการดำเนินงานจัดสวัสดิการสังคมตามองค์ประกอบ 4  ด้านหลัก  ประกอบด้วย  การบริการสังคม  การช่วยเหลือทางสังคม  การประกันสังคม  และการช่วยเหลือเกื้อกูลของภาคประชาชน  โดยมีการดำเนินงาน  ดังนี้

1) การบริการสังคม  (Social  Service)
          เป็นการจัดบริการโดยรัฐ เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานของประชาชนครอบคลุม 4  ด้านหลัก  ได้แก่  การศึกษา  การสาธารณสุข  สิ่งอำนวยความสะดวก  และที่พักอาศัย  โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ  ดังนี้

          1.1 )  ด้านการศึกษา  ประกอบด้วยขยายการเรียนฟรีจากเดิม  12  ปี  เป็น  15  ปี  ในปี  2552  ตามนโยบายรัฐบาล   โดยครอบคลุมตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย  รวมทั้งสายอาชีพทุกแห่งทั่วประเทศ    ทั้งสถานศึกษาของรัฐและเอกชน  พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้เกิดความเสมอภาคและความเป็นธรรมในโอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชนในกลุ่มด้อยโอกาส    ทั้งผู้ยากไร้  ผู้พิการหรือทุพพลภาพ  ผู้อยู่ในภาวะยากลำบาก  ผู้บกพร่องทางร่างกายและสติปัญญา  และชนต่างวัฒนธรรม  รวมทั้งยกระดับการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในชุมชน   โดยในปีแรกของนโยบายเรียนฟรี  15  ปีนี้   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้อนุมัติวงเงิน  19,000  ล้านบาท   เมื่อวันที่  13  มกราคม  2553 เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของประชาชน  5  รายการ  ประกอบด้วย  ค่าเล่าเรียน  ค่าหนังสือเรียน  อุปกรณ์การเรียน  เครื่องแบบนักเรียน  และกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน  นอกจากนี้  ยังมีการดำเนินงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองแก่นักเรียน  ในด้านต่าง ๆ  ควบคู่ไปด้วย  เช่น  การจัดอาหารเสริม   นมโรงเรียน  และการจัดจักรยานโรงเรียน  เป็นต้น

          ให้สิทธิคนพิการได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย    โดยประกาศใช้พระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ  พ.ศ. 2551   ซึ่งกำหนดให้คนพิการมีสิทธิได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่แรกเกิด  หรือเมื่อพบความพิการจนตลอดชีวิต   พร้อมทั้งได้รับเทคโนโลยี  สิ่งอำนวยความสะดวก   สื่อบริการ  และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา  รวมถึงให้รัฐจัดเงินอุดหนุนเพื่อส่งเสริมการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาบุคลากรด้านการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ    จัดตั้งกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา  (กยศ.)   โดยเริ่มให้กู้ยืมเป็นครั้งแรกในปีการศึกษา  2539  เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาแก่ผู้ที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน   ซึ่งครอบครัวมีรายได้ไม่เกิน 200,000  บาทต่อปี   สามารถกู้ยืมเป็นค่าเล่าเรียน  ค่าใช้จ่ายเกี่ยวเนื่องกับการศึกษา  และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างที่กำลังศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมปลาย  ประกาศนียบัตรวิชาชีพ    (ปวช.)   ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง  (ปวส.)  และปริญญาตรีทุกสาขา

          1.2) ด้านสาธารณสุข  ประกอบด้วยการรักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการข้าราชการ   เป็นระบบสวัสดิการที่รัฐจัดบริการมายาวนานกว่าศตวรรษ    ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่  5  เป็นต้นมา  โดยแรกเริ่มมุ่งให้การคุ้มครองแก่กลุ่มข้าราชการและข้าราชการบำนาญภายใต้พระราชบัญญัติรักษาพยาบาลข้าราชการ พ.ศ. 2444  และพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ  พ.ศ. 2444  จนถึงปัจจุบันมีกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับบริการจากการรักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการข้าราชการครอบคลุมถึงกลุ่มพนักงานรัฐวิสาหกิจ  ข้าราชการการเมือง  และครอบครัวของข้าราชการกลุ่มดังกล่าวด้วย  โดยมีแหล่งเงินมาจากงบประมาณรายจ่ายรัฐบาล  (งบกลาง)   ภายใต้การกำกับดูแลของกรมบัญชีกลาง  เนื่องจากระบบการจ่ายผลตอบแทนเป็นแบบรัฐจ่ายตามอัตราที่สถานบริการเรียกเก็บแต่ไม่เกินอัตราที่กำหนด   ทำให้ยากต่อการกำหนดกรอบวงเงินค่าใช้จ่าย  การรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคม    เป็นการจัดสวัสดิการด้านสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติกองทุนประกันสังคม  พ.ศ. 2533  ที่มุ่งจัดสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลแก่สมาชิกผู้ทำงานในภาคเศรษฐกิจ  โดยมีแหล่งเงินกองทุนมาจากการเรียกเก็บเงินสมทบจาก  3  ฝ่าย  ได้แก่   รัฐบาล  นายจ้างและลูกจ้าง  ฝ่ายละเท่า ๆ กัน  เพื่อใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก    

          การรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า   เป็นการจัดสวัสดิการโดยภาครัฐ   เพื่อตอบสนองเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ. 2540  และ  พ.ศ. 2550  และพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  พ.ศ.  2545   ที่มุ่งให้กลุ่มคนที่ไม่อยู่ในเครือข่ายประกันสุขภาพทั้งสองระบบข้างต้น  สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง  โดยมีที่มาของเงินอุดหนุนจากรายจ่ายรัฐบาล  ซึ่งใช้ระบบการเหมาจ่ายต่อหัว  (Capitation)  ร่วมกับการจ่ายรายกิจกรรม  (Fee-of-Service)  ตามอัตรากลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม  (Diagnosis  Related  Group)  ซึ่งทำให้สามารถควบคุมต้นทุนได้  นอกจากบริการด้านการรักษาพยาบาลแล้ว  หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังครอบคลุมเรื่องการส่งเสริมและป้องกันอีกด้วย

          1.3)  ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก  ประกอบด้วย การจัดบริการสังคมด้านสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ   หรือทุพพลภาพ  และคนชรา  มุ่งดำเนินการภายใต้กรอบของกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ.2548  เป็นหลัก  อาทิ  ห้องน้ำ  ป้าย  สัญลักษณ์และทางลาด  ลิฟท์  บันได  ทางเข้าสู่อาคาร  ทางเชื่อมระหว่างอาคารและทางเดินนอกอาคารและการจัดอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ฯลฯ   โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก  ที่ผ่านมา  ส่วนใหญ่เป็นการดำเนินงานโดยภาครัฐ  เช่น  ท่าอากาศยาน  สถานีรถไฟ  สถานีขนส่ง  โรงพยาบาล  ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร / ศาลากลางจังหวัด  สำนักเขต / ที่ว่าการอำเภอ  เป็นต้น  และจากการที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก  รวมทั้งประเทศไทย  กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ  ส่งผลให้ภาคเอกชนไทยเริ่มคำนึงถึงการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับประชากรสูงอายุมากขึ้น  โดยเฉพาะในภาคบริการและการท่องเที่ยว  เพื่อเอื้อให้ผู้สูงอายุและผู้พิการสามารถเข้ามาใช้บริการได้เพิ่มมากขึ้น  เช่น  ธุรกิจโรงแรม  สถานที่ท่องเที่ยว  ห้างสรรพสินค้า  ศูนย์การค้า  เป็นต้น

          1.4)  ด้านที่พักอาศัย  ประกอบด้วย

          โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในชนบทตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง

          เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยการเคหะแห่งชาติ  มีเป้าหมายในการดำเนินงานพัฒนาที่อยู่อาศัยในชนบททุกจังหวัด    และได้กำหนดเป็นแผนระยะ  5  ปี  (พ.ศ. 2551 – 2555)   เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของแผนฉบับนี้  จะดำเนินการให้ได้ใน  25  จังหวัด  จังหวัดละ  1  หมู่บ้าน  โดยได้เริ่มจัดทำเป็นโครงการนำร่องแล้วที่หมู่บ้านช่วงกอม  จังหวัดลำปาง  หมู่บ้านร้องแง  จังหวัดน่าน  และหมู่บ้านนาต้นจั่น  จังหวัดสุโขทัย 

          โครงการบ้านเอื้ออาทร  

          เป็นโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามนโยบายของรัฐบาล  โดยให้การเคหะแห่งชาติจัดสร้างที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานสำหรับประชาชนผู้ด้อยโอกาส  ข้าราชการ /  พนักงานชั้นผู้น้อยของหน่วยงานรัฐ  และผู้มีรายได้น้อยในทุกสาขาอาชีพ  ในการนี้  การเคหะแห่งชาติยังได้ริเริ่มแนวคิดการบริหารชุมชน  โดยอาศัยหลักการ – อุดมการณ์ – วิธีการสหกรณ์  มาใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนด้วยรูปแบบขององค์กรชุมชน  นอกจากนี้  การเคหะแห่งชาติยังอยู่ระหว่างการถ่ายโอนภารกิจโครงการบ้านเอื้ออาทรไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบ  ภายใต้โครงการส่งเสริมสมรรถนะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร   ในการบริหารจัดการที่อยู่อาศัยโครงการบ้านเอื้ออาทรต่อไปในอนาคต 

          โครงการบ้านมั่นคง 

          เป็นโครงการที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  (องค์การมหาชน)   และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง   ทั้งภาครัฐและเอกชน   ร่วมกันผลักดันโครงการเมื่อปี 2546  ภายใต้แนวคิด  “ชุมชนเป็นผู้คิด  ผู้ทำโครงการ  ตลอดจนเป็นผู้ดำเนินการจัดการทางด้านการเงินและดูแลโครงการอย่างต่อเนื่อง”    เพื่อสร้างความมั่นคงในการครอบครองที่ดินสำหรับการอยู่อาศัย  และพัฒนาที่อยู่อาศัย -  ระบบสาธารณูปโภค – องค์กรชุมชน  ให้เชื่อมโยงกันในชุมชนแออัดเดิม

2) การช่วยเหลือทางสังคม  (Social  Assistance)
          เป็นการดำเนินงานของภาครัฐในการให้การสงเคราะห์แก่กลุ่มเด็กและเยาวชน  ผู้สูงอายุ  ผู้พิการ  สตรี  และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส  ที่มีปัญหาความเดือดร้อน  โดยมีการดำเนินงาน ดังนี้

     2.1) กลุ่มเด็กและเยาวชน 
          เป็นการดำเนินงานตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546  ได้บัญญัติไว้  ได้แก่  เด็กเร่ร่อน  เด็กกำพร้า  เด็กที่ถูกทอดทิ้ง  เด็กพิการ  เด็กที่ผู้ปกครองมีพฤติกรรมหรือประกอบอาชีพไม่เหมาะสม  เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูโดยมิชอบ  ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำหรือแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ  ถูกทารุณกรรม  เด็กที่อยู่สภาพยากลำบากเพราะผู้ปกครองแยกกันอยู่  ถูกจำคุก  พิการ  เจ็บป่วยเรื้อรัง  เป็นโรคประสาท  ยากจน  มีภาระหน้าที่ในครอบครัวเกินกำลังของเด็กและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้   ปัจจุบันมีการจัดสวัสดิการด้านการช่วยเหลือทางสังคมแก่เด็กและเยาวชนที่พึงให้การสงเคราะห์ 4 ด้าน  ดังนี้

          การอุปการะเลี้ยงดู  อบรม  และฝึกอาชีพ   ในสถานแรกรับ  สถานสงเคราะห์  ศูนย์สงเคราะห์และฝึกอาชีพ   สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ   สถานพัฒนาและฟื้นฟู   รวมถึงบ้านพักเด็กและครอบครัว   ซึ่งดำเนินการโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์   กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค  รวม  107  แห่ง   โดยในปี  2552  สามารถให้บริการรวมทั้งสิ้น  14,463  คน  แบ่งเป็นเด็ก  6,434  คน  เด็กและครอบครัว  7,680  คน  และเยาวชน  525 คน

          การให้ความช่วยเหลือเด็กที่อยู่ในครอบครัวและชุมชน   จัดแบ่งออกเป็น  3  กลุ่มใหญ่ ๆ  คือ  กลุ่มแรก    เป็นการสงเคราะห์เด็กในครอบครัวที่ยากจนและประสบปัญหาเดือดร้อน  โดยนักสังคมสงเคราะห์จะเข้าไปให้คำปรึกษาแนะนำ  หรืออาจให้การช่วยเหลือทั้งเงินและสิ่งของ   กลุ่มที่สอง  เป็นการจัดหาครอบครัวทดแทนชั่วคราวให้แก่เด็ก  “ครอบครัวอุปถัมภ์”  และการจัดหาครอบครัวทดแทนที่มีสถานะถาวรโดยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมทั้งของชาวไทยและชาวต่างประเทศ  และกลุ่มที่สาม  เป็นการสนับสนุนให้ภาคเอกชนจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กและสถานสงเคราะห์เด็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.  2546  รวมทั้งมีการจัดตั้งสถานรับเลี้ยงและพัฒนาเด็กปฐมวัย  เพื่อเป็นสวัสดิการแก่บุคลากรของกระทรวงฯ  และประชาชนที่มีรายได้น้อย

          การสนับสนุนเงินทุนของกองทุนคุ้มครองเด็กเพื่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานขององค์กรต่าง ๆ  ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546  เพื่อเป็นทุนสำหรับใช้จ่ายในการสงเคราะห์  คุ้มครองสวัสดิภาพ  และส่งเสริมความประพฤติเด็ก  รวมทั้งครอบครัว  และครอบครัวอุปถัมภ์

          การช่วยเหลือให้เด็กพิการและเด็กด้อยโอกาสมีโอกาสเรียนฟรี  ทั้งแบบประจำ – ไปกลับ – เรียนร่วม    ตั้งแต่การเตรียมความพร้อมเด็กก่อนเข้าสู่ระบบจนถึงระดับการศึกษาภาคบังคับและขั้นพื้นฐาน

     2.2) กลุ่มผู้สูงอายุ
          ปัจจุบันมีการดำเนินงานในด้าน  การดูแลผู้สูงอายุ  การจ่ายเบี้ยยังชีพและการช่วยเหลือทางสังคมอื่น ๆ  ดังนี้

          การดูแลผู้สูงอายุ มีการจัดบริการเยี่ยมบ้าน  และแนะนำดูแลสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ จากหลายภาคส่วน  ข้อมูลในปี  2552   พบว่ามีอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ  (อผส.)  13,000  คน  อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  (อพม.)  7,255  คน  อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน  (อสม.) 987,019  คน  และมีสถานบริการสำหรับผู้สูงอายุของภาครัฐ  ที่ให้บริการที่อยู่อาศัยและช่วยเหลือปัจจัยพื้นฐาน  จำนวน  25  แห่ง  สำหรับสถาบันดูแลผู้สูงอายุของภาคเอกชน  มีจำนวน  138  แห่ง  โดยมีค่าใช้จ่ายในการให้บริการ  ระหว่าง 15,000 – 52,000 บาทต่อเดือน

          การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ   เป็นการดำเนินงานครอบคลุมผู้สูงอายุโดยถ้วนหน้า   ตามนโยบายรัฐบาลในปี  2552  โดยจ่ายเบี้ยยังชีพให้คนละ 500  บาทต่อเดือน   ยกเว้นผู้ที่ได้รับสวัสดิการจากภาครัฐ  โดยในปี  2553  มีผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพ จำนวน  5.65  ล้านคน  วงเงิน  33,917,358 บาท

     2.3) กลุ่มสตรี 
          การจัดสวัสดิการสังคมแก่กลุ่มสตรีที่ด้อยโอกาส  อยู่ในกลุ่มเสี่ยง  และประสบปัญหาทางสังคม  แบ่งได้เป็น  2  กลุ่ม  คือ  กลุ่มแรก  จัดให้มีการฝึกอบรมอาชีพในศูนย์สงเคราะห์และฝึกอาชีพสตรี  8  แห่ง   รวมทั้งสนับสนุนให้มีการฝึกอาชีพระยะสั้นแก่สตรีในชุมชน   เช่น  การตัดเย็บเสื้อผ้า  การเสริมสวย  การดูแลเด็กและผู้สูงอายุ   เป็นต้น  นอกจากนี้  ยังให้การช่วยเหลือ  บำบัด  ฟื้นฟู  คุ้มครอง  และพัฒนาอาชีพสตรีที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ 4 แห่ง  ภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539  กลุ่มที่สอง  จัดให้มีศูนย์บริการช่วยเหลือเด็กและสตรีในสภาวะวิกฤตจากความรุนแรง  หรือ  ศูนย์พึ่งได้  (One  Stop  Crisis Center :  OSCC)  โดยในปี  2552 มีโรงพยาบาลที่ให้บริการ  602  แห่ง  กระจายอยู่ทั่วประเทศ

     2.4) กลุ่มผู้พิการการจัดสวัสดิการสังคมแก่คนพิการ  
          เป็นการดำเนินงานให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534  ที่มุ่งให้รัฐต้องจัดสวัสดิการให้แก่คนพิการที่ได้รับการจดทะเบียน  และพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550   ที่บัญญัติให้คนพิการมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ   โดยเฉพาะค่าอุปกรณ์เครื่องช่วยชีวิตคนพิการ  เพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพให้ดีขึ้น  โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ  ดังนี้

          การสงเคราะห์และฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ  มีสถานสงเคราะห์  10  แห่ง  ใน  6  จังหวัด  ให้บริการแก่กลุ่มคนพิการที่ยากจน  ถูกทอดทิ้ง   และขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู  โดยจัดบริการทางด้านการสงเคราะห์ปัจจัยสี่  การฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย   การรักษาพยาบาล  และการฝึกอาชีพเป็นสำคัญ 
การสงเคราะห์เครื่องกายอุปกรณ์และเครื่องช่วยความพิการ  มีหน่วยงานภาครัฐดำเนินการ  2  แห่ง  คือ

          (1)  ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ  สังกัดกรมการแพทย์  โดยในปี  2552  ได้รับการจัดสรรงบประมาณ   สนับสนุนการจัดซื้ออุปกรณ์  อาทิ  วัสดุแขนขาเทียม  อุปกรณ์ทางการมองเห็น  และรถนั่งคนพิการ  จำนวน  48.3   ล้านบาท  และ 

          (2)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ซึ่งเน้นให้ความช่วยเหลือแก่คนพิการที่เป็นสมาชิกของสมาคมคนพิการ  โดยจัดสรรงบประมาณให้ปีละ  7.11  ล้านบาท  เพื่อช่วยเหลือเป็นค่ากายอุปกรณ์รถโยกไม่เกิน  4,500  บาท  และรถเข็นไม่เกิน  4,000  บาท

          การสงเคราะห์ด้านการเงิน  มีสองส่วน  คือ 

          (1)  การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพคนพิการเดือนละ  500  บาท / คนแก่คนพิการที่ได้รับการจดทะเบียนทุกคนตามนโยบายรัฐบาล   โดยในปี  2553  สามารถจ่ายเบี้ยยังชีพคนพิการจำนวน 835,062 คน  เป็นเงิน  3,495  ล้านบาท 

          (2)  การจัดสรรเงินเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการเงินหรือสิ่งของแก่ครอบครัวผู้พิการไม่เกิน  2,000  บาทต่อครั้ง  ติดต่อไม่เกิน 3 ครั้งต่อครอบครัว  รวมถึงให้คำปรึกษาต่าง ๆ แก่ผู้พิการ  โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  เป็นหน่วยดำเนินการ

          กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ  เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550  โดยได้รับโอนงบประมาณจากกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 เพื่อส่งเสริมและดำเนินงานด้านการสงเคราะห์ช่วยเหลือคนพิการ  โดยในปี  2551   สามารถสนับสนุนโครงการทั้งขององค์กรภาครัฐและเอกชนที่ดำเนินการด้านฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการจำนวน  149  โครงการ  เป็นเงิน  30,883,872  บาท  และทำให้องค์กรเครือข่ายได้รับการส่งเสริมศักยภาพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอีก  76 องค์กร

     2.5 กลุ่มผู้ด้อยโอกาส
          เป็นการดำเนินงานสงเคราะห์ครอบคลุมกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ การส่งเสริมพัฒนาศักยภาพและคุ้มครองผู้พิทักษ์สิทธิผู้ด้อยโอกาส  5  ปี  (พ.ศ. 2551 – 2555)  ดังนี้

          คนยากจน  รัฐให้ความช่วยเหลือ  3  ด้าน  คือ 

          (1)  การจ่ายเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ราษฎรอัตคัดขาดแคลนทั่วไป  ไม่เกินครั้งละ  5,000  บาท 

          (2)  การช่วยเหลือเป็นค่าอาหาร  ค่าพาหนะ  ค่าเช่าที่พัก  และค่ารักษาพยาบาล  สำหรับผู้ตกทุกข์ได้ยากที่ต้องกลับคืนภูมิลำเนา  และ

          (3)  การให้ที่พักชั่วคราว  ณ  บ้านพักชั่วคราวคนจนเมือง  4  แห่ง  เพื่อช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยอันเนื่องมาจากประสบสาธารณภัย  ถูกไล่ที่  ต้องอพยพเร่งด่วน  โดยขอพักอาศัยได้คราวละไม่เกิน 180 ชั่วโมง

          คนเร่ร่อน  คนไร้ที่พี่ง  และคนขอทาน    รัฐให้ความช่วยเหลือ  3 ด้าน คือ 

          (1)  การช่วยเหลือสิ่งของ  และเงินค่าเครื่องอุปโภคบริโภค  ตลอดจนค่ารักษาพยาบาล  ค่าซ่อมแซมที่อยู่อาศัย  และทุนประกอบอาชีพ  ครั้งละไม่เกิน 1,000  บาท  และช่วยเหลือได้ไม่เกิน  3  ครั้ง 

          (2)  การอุปการะในสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง จำนวน  11  แห่ง  ซึ่งเน้นการช่วยเหลือด้านการฝึกอาชีพเพื่อให้สามารถออกไปประกอบอาชีพได้  รวมทั้งให้การอุปการะในสถานแรกรับคนไร้ที่พึ่งอีก  2  แห่ง และ 

          (3)  การสร้างโอกาสทางศึกษาแก่เด็กเร่ร่อนภายใต้โครงการครูข้างถนน  และต่อยอดโครงการดังกล่าวมาเป็นศูนย์สร้างโอกาสเด็ก  ปัจจุบันมีจำนวน  7  แห่ง   เพื่อเป็นศูนย์บริการเฉพาะกลางวันสำหรับครูข้างถนนและเด็กเร่ร่อน

          บุคคลที่มีปัญหาสถานะทางกฎหมาย    จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐเป็นบริการขั้นพื้นฐานคือ 

          (1) สิทธิในการรักษาพยาบาลตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 

          (2)  สิทธิในการศึกษาขั้นพื้นฐาน  และ 

          (3)  ได้รับการสงเคราะห์ช่วยเหลือจากศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา  14 แห่ง

          ผู้ได้รับผลกระทบจากเอดส์และครอบครัว    จะได้รับความช่วยเหลือดังนี้ 

          (1)  การอุปการะในสถานสงเคราะห์ที่มีอยู่  4  แห่ง 

          (2)  การสงเคราะห์เงินและสิ่งของสำหรับครอบครัวที่มีเด็ก 1 คน ได้  1,000 บาท แต่ไม่เกิน 3,000  บาท  ในกรณีมีเด็กมากกว่า  1  คน 

          (3)  สงเคราะห์เงินให้แก่ครอบครัวติดต่อกันไม่เกิน 3 ครั้ง  สำหรับ กทม.  ไม่เกิน 2,000 บาท/ราย  ชาวเขาไม่เกิน 1,000 บาท/ราย 

          (4)  เงินทุนสำหรับผู้ป่วยเอดส์นำไปประกอบอาชีพ  ไม่เกิน 5,000 บาท/ราย 

          (5)  จ่ายเบี้ยยังชีพ 500 บาทต่อคนต่อเดือน  โดยในปี  2553  มีจำนวน  37,271 ราย  เป็นเงิน  223,626,000 บาท

          ผู้พ้นโทษ   จะได้รับความช่วยเหลือ  3  ด้าน  คือ 

          (1)  ช่วยเหลือครอบครัวผู้พ้นโทษเฉพาะหน้า  อาทิ  ค่าเดินทาง  อาหาร  เครื่องอุปโภค 

          (2)  การสงเคราะห์เงินแก่ครอบครัวเพื่อเป็นทุนประกอบอาชีพ  หรือค่าครองชีพ  และ

          (3)  การคุ้มครองและพัฒนาอาชีพในสถานแรกรับ  2  แห่ง  และในสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ 4 แห่ง

          ผู้ที่อยู่ในธุรกิจบริการทางเพศ  จะได้รับสิทธิตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  ส่วนผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539  สำหรับสตรีและเด็กที่อายุต่ำกว่า  18  ปี  จะอุปการะไว้ในสถานแรกรับและสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ ซึ่งมีอยู่  4  แห่ง  โดยจะได้รับการบริการปัจจัยสี่  การศึกษาสามัญ  การฝึกอาชีพสาขาต่าง ๆ  การจัดหางาน  ให้ทำภายหลังพ้นอุปการะและส่งกลับภูมิลำเนาเดิม

     2.6  กลุ่มผู้ประสบภัย   ทั้งอุทกภัย   วาตภัย  ภัยแล้ง  และไฟป่า   มีการให้บริการ  ณ  จุดเกิดเหตุ  อาทิ  จัดอาหาร  น้ำดื่ม  และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่  การสงเคราะห์เงินและสิ่งของแก่ครอบครัวยากจนเดือดร้อน  การฝึกอาชีพและสนับสนุนการรวมกลุ่มเพื่อประกอบอาชีพแก่ผู้ประสบภัยผู้มีรายได้น้อย

3) การประกันสังคม  (Social  Insurance) 

          เป็นการจัดสวัสดิการสังคมโดยภาครัฐ  เพื่อคุ้มครองป้องกันประชาชนที่มีรายได้ไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน เมื่อต้องสูญเสียรายได้ทั้งหมด  หรือบางส่วน  หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การเลี้ยงชีพ  ให้ยังมีหลักประกันที่สามารถบรรเทาความเดือดร้อน  สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามสมควร  โดยครอบคลุมทั้งกลุ่มผู้ใช้แรงงาน  กลุ่มข้าราชการ  และประชาชนทั่วไป  ดังนี้

     3.1) กลุ่มผู้ใช้แรงงาน    มีสิทธิได้รับการคุ้มครอง  ดังนี้ 

          กองทุนประกันสังคม

          จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2533 เพื่อสร้างหลักประกันและความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้แก่สมาชิกผู้ทำงานในภาคเศรษฐกิจ  โดยเก็บเงินสมทบจากฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง ลูกจ้าง ฝ่ายละเท่าๆกัน  ในอัตราร้อยละ 5 ของผู้มีเงินได้ แต่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน (สมาชิกสมทบไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน) เพื่อใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก โดยให้สิทธิประโยชน์เพิ่มมากขึ้น จากการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโดยลำดับมา  ปัจจุบันกองทุนดังกล่าวได้ขยายการบังคับใช้ในกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป โดยให้สิทธิประโยชน์แห่งการคุ้มครองครอบคลุม 7 กรณีตามที่กฎหมายกำหนดและครบถ้วนตามหลักปฏิบัติสากล ประกอบด้วยกรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพล-ภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน โดยกองทุนประกันสังคมนี้เปิดโอกาสให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้ แต่ยังคงมีปัญหาในเรื่องของการสมทบเงินเข้ากองทุน และสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากการคุ้มครอง

          กองทุนเงินทดแทน

          จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินทดแทน พ.ศ. 2537 เพื่อเป็นกองทุนสำหรับจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้างเมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการทำงาน ทำให้ต้องหยุดงาน สูญเสียอวัยวะบางส่วน ทุพพลภาพ ตาย หรือสูญเสีย โดยเก็บเงินสมทบจากนายจ้างเพียงฝ่ายเดียว

          กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

          จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 เพื่อเป็นสวัสดิการสร้างหลักประกันให้แก่ลูกจ้างและครอบครัวในกรณีลูกจ้างเสียชีวิต ลาออกจากงาน เกษียณอายุ หรือลาออกจากกองทุน ครอบคลุมบริษัทเอกชน พนักงานรัฐวิสาหกิจ และลูกจ้างประจำส่วนราชการ โดยนายจ้างและลูกจ้างจะจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนร้อยละ 2 -15 ของค่าจ้างรายเดือน

          กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง

          จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง หรือเสียชีวิต โดยนายจ้างไม่จ่ายหรือค้างจ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด และเมื่อกองทุนจ่ายเงินให้กับลูกจ้างแล้วกองทุนมีสิทธิให้นายจ้างชดเชยเงินที่กองทุนจ่ายไป พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี

          กองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน

          จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2538 ที่ได้ให้ความเห็นชอบการจัดตั้งกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงานในลักษณะของเงินทุนหมุนเวียนตามพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 เพื่อให้การช่วยเหลือในลักษณะการส่งเสริมการออมเงิน และให้ผู้ใช้แรงงานกู้ยืมผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบการ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.75 ต่อปี

          กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน

          จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนให้กู้ยืมเงินเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยผู้มีสิทธิจะขอกู้เงินจากกองทุนประกอบด้วย ผู้รับการฝึก ผู้ดำเนินการฝึก ผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน และผู้ประกอบกิจการ โดยมีแหล่งที่มาของเงินกองทุนจากเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้ และเงินสมทบที่ผู้ประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ต้องสมทบเงินเข้ากองทุนไม่เกินร้อยละ 1 ของค่าจ้างที่ผู้ประกอบการจ่ายในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการจ่ายเงินสมทบ เว้นแต่สถานประกอบการได้จัดให้มีการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานในสัดส่วนร้อยละ 50 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมดไม่ต้องสมทบเงินเข้ากองทุน

          กองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ

         

จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองหางาน พ.ศ. 2528 เพื่อช่วยเหลือคนงานที่ถูกทอดทิ้งอยู่ในต่างประเทศได้เดินทางกลับประเทศไทย และสงเคราะห์แก่คนงานซึ่งไปหรือจะไปทำงานในต่างประเทศ หรือทายาทโดยชอบธรรมของบุคคลดังกล่าว สิทธิประโยชน์ต่างๆ อาทิ  ค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับภูมิลำเนา ค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล ค่าสงเคราะห์กรณีสมาชิกประสบอันตรายจนพิการหรือทุพพลภาพ ค่าจัดการศพ หรือเงินช่วยเหลือทายาทกรณีสมาชิกถึงแก่กรรมในต่างประเทศ โดยคนหางานที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ สามารถสมัครเป็นสมาชิกของกองทุน ซึ่งแตกต่างกันตามประเทศที่คนหางานจะเดินทางไป คือ ในอัตรา 300-500 บาท

      3.2) กลุ่มข้าราชการและลูกจ้างประจำในหน่วยงานของรัฐ มีสิทธิได้รับการคุ้มครอง ดังนี้

          กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

          เป็นการออมภาคบังคับสำหรับกลุ่มข้าราชการ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 เพื่อสร้างหลักประกันให้แก่กลุ่มข้าราชการเมื่อออกจากราชการ โดยข้าราชการและรัฐบาลสมทบเงินฝ่ายละ ร้อยละ 3 ของเงินเดือน ผลประโยชน์ที่สมาชิกได้รับขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุน และผลประโยชน์ที่เกิดจากการนำเงินของกองทุนไปลงทุน เมื่อเกษียณอายุมีสิทธิเลือกรับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญ โดยได้รับเงินบำนาญไม่เกินร้อยละ70 ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย โดยเมื่อสิ้นเดือนมกราคม 2552 มีข้าราชการเป็นสมาชิก กบข. จำนวน 1.168 ล้านคน มีเงินสะสมในกองทุน 391,882 ล้านบาท

          กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับลูกจ้างประจำของส่วนราชการซึ่งจดทะเบียนแล้ว (กสจ.)

          จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2539 โดยสมาชิก และรัฐต้องส่งเงินเข้ากองทุนร้อยละ 3 ของเงินเดือน และผลประโยชน์ที่ได้รับคือ เงินบำเหน็จลูกจ้าง และเงินที่สมาชิกส่งสมทบเข้ากองทุนและผลประโยชน์อันเกิดจากการนำเงินไปลงทุน ทั้งนี้ สมาชิกสามารถหักลดหย่อนภาษีจำนวน 10,000 บาทแรกจากที่ได้รับ แต่ถ้าเกษียณอายุราชการก่อนอายุ 55 ปี หรือเป็นสมาชิกกองทุนไม่เกิน 5 ปี จะต้องเสียภาษีได้ร้อยละ 7 โดยในปี 2551 มีสมาชิกจำนวน 152,600 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของลูกจ้างประจำภาครัฐทั้งหมด โดยกองทุนมีเงินอยู่ทั้งสิ้น 11,309 ล้านบาท

     3.3) กลุ่มประชาชนทั่วไป มีสิทธิได้รับการคุ้มครอง ดังนี้

          กองทุนสงเคราะห์ครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน

          เป็นกองทุนที่กระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้งขึ้น เพื่อจัดสวัสดิการและให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่ครูโรงเรียนเอกชนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยครูและครูใหญ่ และผู้ได้รับใบอนุญาต สมทบฝ่ายละร้อยละ 3 ของเงินเดือนครูและรัฐบาลสมทบร้อยละ 6 ของเงินเดือน ซึ่งผลตอบแทนจากเงินลงทุนในส่วนของเงินสมทบของรัฐบาล จะนำไปจัดสวัสดิการให้แก่ครู ประกอบด้วย ค่ารักษาพยาบาล ค่าศึกษาของบุตร ค่าช่วยเหลือบุตร สำหรับเงินทดแทนเมื่อครูเกษียณจะได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพ 2 ส่วน คือ เงินทุนเลี้ยงชีพประเภท 1 มาจากเงินที่ครูสมทบพร้อมดอกเบี้ย และเงินทุนเลี้ยงชีพประเภท 2 มาจากเงินที่ผู้รับใบอนุญาตและรัฐบาลสมทบเข้ากองทุนแต่ไม่รวมดอกเบี้ย โดยในปี 2551 กองทุนมีสมาชิก 110,000 คน เงินกองทุน 12,000 ล้านบาท

          กองทุนทวีสุข

          เป็นกองทุนที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจัดตั้งขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรออมเงินไว้ใช้เป็นสวัสดิการแก่ตนเองและครอบครัว เมื่อเข้าสู่วัยชราภาพ รวมทั้งเพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพ มีระยะเวลาในการดำเนินงาน 3 ปี (พ.ศ.2550-2552) โดยสมาชิกจะต้องฝากเงินเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่องจนถึงอายุ 65 ปี ปีละ 1,200 บาท 6,000 บาท หรือ 12,000 บาท ขึ้นอยู่กับความสามารถ โดยจะได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3.50 ต่อปี (เปลี่ยนแปลงตามสภาวะการตลาด) และได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครองการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุหรือทุพพลภาพถาวร เงินรับขวัญบุตรแรกเกิดคนละ 500 บาท ไม่เกิน 2 คน โดยเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2552 มีเกษตรกรสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนแล้วจำนวน 570,000 ราย มีเงินออมในกองทุนรวมประมาณ 1,300 ล้านบาท

          กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

          เป็นกองทุนเพื่อการออมแบบสมัครใจสำหรับประชาชนทั่วไป โดยมีเงื่อนไขต้องลงทุนอย่างน้อย 5 ปีติดต่อกัน และถือหน่วยลงทุนจนอายุครบ 55 ปี โดยต้องซื้อหน่วยลงทุนจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของเงินที่ได้รับในแต่ละปี หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาท แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 15 ของรายได้ ผู้ลงทุนจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินปีละ 500,000 บาท ในปี 2551 มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 39,530 บาท จำนวนกองทุน 80 กองทุน

          กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

          เป็นกองทุนเพื่อการออมแบบสมัครใจสำหรับประชาชนทั่วไปทุกวัย เพื่อไว้ใช้เมื่อเข้าสู่วัยชราภาพ จัดตั้งโดยกระทรวงการคลัง ครอบคลุมประชาชนสัญชาติไทยที่มีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ และไม่เป็นผู้ได้รับความคุ้มครองและหลักประกันทางสังคมกรณีชราภาพตามกฎหมายอื่นที่มีการจ่ายสมทบของนายจ้างหรือรัฐบาล หรืออยุ่ในระบบบำเหน็จบำนาญภาครัฐ โดยกำหนดการจ่ายเงินเข้ากองทุนจาก 2 ฝ่ายคือผู้ออมและภาครัฐ ทั้งนี้ การดำเนินงานจัดตั้งกองทุนการออมชราภาพ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.……และอยู่ระหว่างขั้นตอนดำเนินงานเพื่อเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

4) การช่วยเหลือเกื้อกูลของภาคประชาชน

          เป็นการดำเนินการขององค์กรชุมชน ภาคธุรกิจเอกชนที่เข้ามาช่วยเหลือรับผิดชอบต่อปัญหาสังคม และกิจการประกันภัยของเอกชน ดังนี้

          4.1) การรวมกลุ่มขององค์กรชุมชนที่เข้าร่วมในกระบวนการพัฒนา

          การพัฒนาประเทศภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมีรูปธรรมความสำเร็จกระจายในทุกภูมิภาค ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นฟูสืบสานวัฒนธรรมการรวมกลุ่มช่วยเหลือเกื้อกูลกันแบบเครือญาติที่เคยมีมาแต่อดีตให้กลับมามีบทบาทในชุมชนอีกครั้ง  อีกส่วนหนึ่งเกิดจากกระแสการเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการชุมชน ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย อาทิ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และ 2550 พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 และพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 ซึ่งเน้นเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและการกระจายอำนาจจากราชการส่วนกลางลงไปสู่ชุมชนท้องถิ่น ทำให้การรวมศูนย์ในการพัฒนาประเทศกลางค่อยๆ คลี่คลายลง คนในชุมชนเริ่มเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้สามารถพึ่งตนเองได้ โดยคนในชุมชนได้มีการรวมกลุ่มการจัดกิจกรรมชุมชนในรูปแบบต่างๆเพื่อเติมเต็มช่องว่างสวัสดิการที่มีอยู่ 

          การเข้าร่วมกระบวนการพัฒนาของภาคประชาชนมีรูปแบบที่หลากหลายและเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง  จากข้อมูลของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  พบว่า  ในปี  2551  มีองค์กรชุมชนที่เข้าร่วมการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น  จำนวน  64, 952 องค์กร มีสมาชิก 16.66 ล้านคน  และมีเงินออมรวม  15,798.87  ล้านบาท  โดยมีกิจกรรมดำเนินการแยกตามประเภทขององค์กร  ครอบคลุมองค์กรธุรกิจชุมชน  องค์กรวัฒนธรรม/ภูมิปัญญาท้องถิ่น  องค์กรสวัสดิการชุมชน  องค์กรสิ่งแวดล้อม/ทรัพยากร  องค์กรการเงิน  และองค์กรประชาคม  สื่อชุมชน  ฯลฯ กิจกรรมหลากหลายที่ดำเนินการนั้น  เป็นการดำเนินการโดยชุมชน  เพื่อชุมชน  ซึ่งจะเป็นหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิตบนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง  การช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในชุมชนตั้งแต่เกิดจนตาย  เป็นการจัดสวัสดิการที่เป็นการให้อย่างมีคุณค่า  การรับอย่างมีศักดิ์ศรี  การอยู่ร่วมกันของคนในชุมชนและธรรมชาติอย่างเคารพซึ่งกันและกัน  มีกระบวนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมภูมิปัญญาของท้องถิ่น  และการมีส่วนร่วมของคนอย่างกว้างขวาง

          การดำเนินงานขององค์กรชุมชนดังกล่าว  ภาครัฐให้การสนับสนุนการดำเนินงาน  ทั้งในแง่งบประมาณ  กลไกสนับสนุน  การวิจัย  และกฎหมาย ส่งผลให้การพัฒนาชุมชนมีระบบและระเบียบมากขึ้น  โดย  ณ  เดือนมกราคม  2553  มีการรับรองสถานภาพการเป็นองค์กรชุมชน โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  แล้ว  36,641  กลุ่ม  ขณะเดียวกัน ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าวและอาศัยอยู่ในชุมชนต่างๆ ของแต่ละตำบล  สามารถเป็นตัวแทนของชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในรูปแบบของ  “สภาองค์กรชุมชน”เพื่อทำหน้าที่ประสานทิศทางการพัฒนา  ประสานการบริหารจัดการงบประมาณ  การประสานความร่วมมือ  และเชื่อมโยงกับองค์กรปกครองท้องถิ่น  โดยพบว่าในช่วงเดือนมีนาคม  2551  ถึงมกราคม  2553  มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนไปแล้วทั้งสิ้น  1,568  ตำบล และส่งผลให้มีกลไกของสภาองค์กรชุมชนในระดับจังหวัดเกิดขึ้นทั่วทุกจังหวัด  กลไกการดำเนินงานขององค์กรชุมชนจึงเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการเติมเต็มระบบรัฐสวัสดิการที่อาจมีข้อจำกัดได้

          4.2) การดำเนินกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม  (Corporate Social Responsibility: CSR)

          การดำเนินการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับ  และถือปฏิบัติอย่างกว้างขวาง  โดยเฉพาะประเทศตะวันตก  ซึ่งประเทศไทยรับแนวคิดนี้มาดำเนินงานกว่า  10  ปีแล้ว  โดยมีบริษัทและองค์กรธุรกิจชั้นนำหลายแห่งของไทยได้ดำเนินการ  CSR  จนประสบผลสำเร็จเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง  และหลายแห่งเริ่มมีแนวคิดในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน(Sustainable  Development: SD)  ด้วยการเริ่มมาให้การสนับสนุนธุรกิจที่เรียกว่าองค์กรธุรกิจเพื่อสังคม (Social  Enterprise)  เพื่อยกระดับเครือข่ายองค์กร/กิจการสาธารณะขึ้นมาให้มีฐานะเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา ในการดำเนินกิจการ CSR ของประเทศไทย ได้มีการจัดทำและพัฒนามาตรฐาน/ตัวชี้วัดในการดำเนินกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม  (CSR)  ดังนี้

          (1)  การกำกับดูแลกิจการที่ดี  หรือบรรษัทภิบาล  (Corporate Govemance) ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ได้ประกาศใช้ในปี  2545  และต่อมาได้นำหลักการของ  OECD  และธนาคารโลกมาปรับรวม  แล้วรณรงค์เรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งในปี  2549  ซึ่งประกอบด้วยสาระสำคัญ  5  หมวด  ได้แก่  -สิทธิของผู้ถือหุ้น  -การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน  -บทบาทของผู้มีส่านได้เสีย –การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส -ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ  ทั้งนี้  ในส่วนของผู้มีส่วนได้เสียให้มีความหมายคลอบคลุมถึงครอบครัวพนักงาน  ชุมชนที่องค์กรตั้งอยู่  ลูกค้า  คู่แข่ง  และประชาชนทั่วไปด้วย

          (2) เกณฑ์มาตรฐานว่าด้วยการแสดงความรับผิดชอบของโรงงานอุตสาหกรรมต่อชุมชน  (Corporate  Social  Responsibility  ,  Department  of  Industrial  Works )  ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้จัดทำขึ้นเพื่อสอดคล้องกับมาตรฐานสากล  ISO  26000  และประกาศใช้อย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน  2551  โดยกำหนดความรับผิดชอบต่อสังคม  10  หลักการ  ครอบคลุมกิจกรรมการดำเนินของธุรกิจทั้งภายในและภายนอกองค์กร  ได้แก่  
          -การปฏิบัติตามกฎหมาย  
          -การเคารพต่อแนวปฏิบัติสากล  
          -การยอมรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย 
          -ความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ 
          -ความโปร่งใส 
          -การพัฒนาอย่างยั่งยืน  
          -การปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม  
          -หลักการป้องกันล่วงหน้า  
          -หลักการเคารพต่อมนุษยชนพื้นฐาน  
          -หลักการเคารพต่อความหลากหลาย

          จากรายงานสำรวจสถานการณ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร  ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นองค์กรธุรกิจ  91  องค์กรที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  พบว่าองค์กรธุรกิจ  ร้อยละ  81  ได้กำหนดให้ CSR เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายบริษัทแล้ว โดยกลุ่มธุรกิจที่กำหนดให้ CSR เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายบริษัทมากที่สุด  5  ลำดับแรก  ได้แก่  กลุ่มสถาบันการเงิน  กลุ่มปิโตรเคมี  กลุ่มอุตสาหกรรม  กลุ่มธุรกิจเกษตร  และกลุ่มเทคโนโลยี  สำหรับกิจกรรมเพื่อสังคม  (CSR  after  process  )  ที่กลุ่มธุรกิจให้ความสำคัญ  3  ลำดับแรก  ได้แก่  การศึกษา  ชุมชน  และสิ่งแวดล้อม  โดยแต่ละกลุ่มธุรกิจจะเลือกให้ความสำคัญกับกิจกรรมแตกต่างกันไป  อาทิ  กลุ่มสถาบันการเงินให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาด้านการศึกษามากที่สุดถึงร้อยละ  50  รองลงมาเป็นการให้ความสำคัญกับชุมชนและพนักงาน  ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมจะให้ความสำคัญกับการแสดงความรับผิดชอบต่อชุมชนถึงร้อยละ  50 และอีกร้อยละ 50  ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อพนักงาน  ลูกค้า  ผู้ถือหุ้น

          4.3)  การประกันภัยของเอกชน

          การซื้อประกันภัยภาคเอกชน 

          ถือว่าเป็นการจัดสวัสดิการของประชาชนด้วยความสมัครใจ  สามารถแยกได้เป็น  2  ประเภทใหญ่ๆ  คือ  การประกันชีวิตและการประกันวินาศภัย  การซื้อประกันภัย  เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงปลอดภัยของชีวิต  ทรัพย์สิน  และกิจการรวมทั้งเป็นการส่งเสริมการออม  โดยมีขอบเขตการดำเนินงาน  ดังนี้

          ด้านการประกันชีวิต 

          การประกันชีวิตเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านการเงินให้แก่บุคคลและครอบครัว  และสร้างนิสัยการออม  ทำให้มีเงินไว้ใช้ยามจำเป็น  รวมทั้งชดเชยรายได้ที่ต้องสูญเสียไปอันเนื่องมาจากการตาย  ทุพพลภาพ  หรือชราภาพ  นอกจากนั้นยังเป็นการลงทุนที่สามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมกับรายได้ของครอบครัว  จากรายงานสถิติธุรกิจประกันชีวิต  สมาคมประกันชีวิตไทย  พบว่า  ในปี  2550  ธุรกิจประกันชีวิตไทยมีเงินกองทุนถึงจำนวน  110,047  ล้านบาท  มีสินทรัพย์รวม 817,297 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นหลักทรัพย์รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจคิดเป็นสัดส่วนของสินทรัพย์ ทั้งหมดร้อยละ  55.05  รองลงมาเป็นหลักทรัพย์เอกชน  และเงินให้กู้ยืมสัดส่วนร้อยละ  26.31 และ  7.79  ตามลำดับ  ภาครัฐได้ดำเนินการปรับปรุงพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 มาเป็นพระราชบัญญัติประกันชีวิต  (ฉบับที่  2)  พ.ศ.2550  ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบที่ใช้บังคับสำหรับธุรกิจประกันชีวิตไทยหลายประการ  อาทิ  การจัดทำมาตรฐานขั้นต่ำและคู่มือการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจประกันภัย  และวางแนวทางการตรวจสอบฐานะการดำเนินงานบริษัทประกันชีวิต  รวมทั้งการศึกษาการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (Risk-Based  Capital)  นอกจากนั้น  ภาครัฐยังได้มีการพิจารณาเพิ่มค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเบี้ยประกันชีวิตจาก  50,000  บาท  เป็น  100,000  บาท  ส่งผลให้ธุรกิจประกันชีวิตไทยได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปได้เป็นอย่างดี

          ด้านประกันวินาศภัย 

          การประกันวินาศภัยเป็นการป้องกันความเสี่ยงของการประกอบกิจการค้า  การลงทุน  และดำเนินชีวิตประจำวัน  จากภัยที่ไม่คาดคิดทั้งที่เป็นภัยธรรมชาติและที่เกิดขึ้นจากการประมาทเลินเล่อ  หรือการกระทำโดยจงใจของมนุษย์  จากข้อมูลส่วนวิจัยและสถิติ  ศูนย์สารสนเทศ  สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย  (คปภ.)  พบว่าจำนวนการประกันวินาศภัยทุกประเภทมีจำนวนสูงถึง  32,471,496  ราย  ในปี  2551  โดยปัจจุบันธุรกิจการประกันภัยมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว  มีรูปแบบหลากหลาย  มีเงินหมุนเวียนหมื่นล้านบาทในแต่ละปี  และผู้เอาประกันได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นธุรกิจประกันภัยมีลักษณะเป็นธุรกรรมการเงินที่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศซึ่งอาศัยความคล่องตัวและความเป็นอิสระ  จึงมีการออกพระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย  พ.ศ.2550  เพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจประกันภัยและคุ้มครองสิทธิของผู้เอาประกันภัยให้มีประสิทธิภาพ

          การรวมตัวของสมาคมประกันวินาศภัยและสมาคมประกันชีวิตไทย  เพื่อทำหน้าที่วางระเบียบให้สมาชิกปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติ  ส่งเสริมกิจการของสมาชิกและสมาคมรวมทั้งติดตามการเคลื่อนไหวของกิจการประกันภัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่การประกอบธุรกิจประกันภัยและเศรษฐกิจของประเทศ  รวมทั้งร่วมมือกับรัฐบาลในการควบคุมการดำเนินงานของบริษัทประกันภัยและกำหนดระเบียบต่างๆโดยในปี  2551  สมาคมประกันชีวิตไทย  มีสมาชิกรวม  25   บริษัท  และสมาคมประกันวินาศภัย  มีสมาชิก รวมทั้งสิ้น 68  บริษัท  จากการรวมตัวเป็นสมาคมของธุรกิจประกันภัยดังกล่าว  ส่งผลให้ภาคธุรกิจประกันภัยมีการควบคุมดูแลกันเอง (Self Regulation) มีการพัฒนารูปแบบการดำเนินงาน และการปฏิบัติของธุรกิจภายในขอบเขตของกฎหมาย จัดทำมาตรฐานจรรยาบรรณ ทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีระเบียบแบบแผน และอยู่ในความเชื่อถือของประชาชน

          2.3 ข้อวิเคราะห์การจัดสวัสดิการสังคมของไทย

          การจัดสวัสดิการสังคมของประเทศไทย  ภายหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2540-2550  ได้มีความก้าวหน้ามาโดยลำดับทั้งในเรื่องกลไกระดับนโยบาย  การปรับปรุงกฎหมายเดิม การปรับปรุงกฎหมายใหม่  การพัฒนากลไกขับเคลื่อน  และการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ  ที่เกี่ยวข้อง  ทำให้ระบบสวัสดิการที่มีอยู่ในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบครอบคลุมจำนวนประชาชนกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น  และที่สำคัญคือภาคส่วนต่างๆ ในสังคมได้เข้ามามีบทบาทในการจัดสวัสดิการมากขึ้นเพื่อเติมเต็มการจัดสวัสดิการโดยภาครัฐที่อาจมีข้อจำกัด  จากการทบทวนสถานการณ์การจัดสวัสดิการที่ผ่านพบว่า  มีรูปแบบการดำเนินงานโดยสรุป  ดังนี้

          กลุ่มแรก  เป็นการจัดบริการสังคมพื้นฐานโดยภาครัฐสำหรับประชาชนทั่วไป  เช่น  การจัดการศึกษาตามโครงการให้เรียนฟรี  15  ปี  การจัดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมคนไทยทุกคนที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพ  เป็นต้น

          กลุ่มที่ 2  เป็นการจัดสวัสดิการสังคมเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย  ที่ดำเนินการโดยภาครัฐเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่สมควรได้รับเป็นพิเศษ  เช่น  เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่คลอบคลุมกลุ่มเป้าหมายครบถ้วน  เบี้ยยังชีพคนพิการ  เบี้ยยังชีพผู้ป่วยเอดส์  การช่วยเหลือทางสังคมแก่กลุ่มเด็กและเยาวชน  การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส  และกลุ่มประสบภัย  เป็นต้น

          กลุ่มที่ 3  เป็นสวัสดิการด้านการประกันสังคมที่ภาครัฐดำเนินการร่วมกับภาคีอื่นทั้งในแง่ของการบริหารจัดการและงบประมาณเพื่อเพิ่มหลักประกันทางสังคมแก่ประชาชน  เช่น  กองทุนประกันสังคม  กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  (PVD)  กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นต้น
 กลุ่มสุดท้าย  เป็นการจัดสวัสดิการสังคมโดยภาคประชาชน  ปัจเจกชน  ภาคธุรกิจ  และองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร  เช่น  สวัสดิการชุมชน  กลุ่มสัจจะออมทรัพย์  กลุ่มอาชีพ  การซื้อประกันภัยรูปแบบต่างๆการดำเนินกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR)  เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้มีความสำคัญและช่วยเติมเต็มช่องว่างของระบบสวัสดิการที่รัฐไม่สามารถจัดให้ได้

          การจัดสวัสดิการดังกล่าวข้างต้น  เป็นการดำเนินงานโดยมีกฎหมายรองรับและมีกลไกปฏิบัติชัดเจน  ส่วนกลุ่มสุดท้ายแม้จะไม่มีกฎหมายรองรับโดยตรงเมื่อครั้งแรกเริ่มดำเนินงานการในอดีต  แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาระเบียบกฎหมายใหม่ๆ เพื่อเข้าไปสนับสนุนและคุ้มครองกลุ่มเป้าหมายรวมทั้งผู้เกี่ยวข้องให้ได้รับความเป็นธรรม  มีกลไกสนับสนุนที่ค่อนข้างยืดหยุ่นเพื่อให้สอดคล้องกับความแตกต่างหลากหลายของวิถีชีวิต  วัฒนธรรม-สังคม  ของชุมชนท้องถิ่น  อย่างไรก็ตาม  ในขั้นการดำเนินงานยังคงมีประเด็นปัญหาเชิงนโยบายที่ควรให้ความสำคัญเพื่อนำไปใช้กำหนดกรอบทิศทางการจัดสวัสดิการทางสังคมในช่วงต่อไปดังนี้

     1) กลไกการดำเนินงานจัดสวัสดิการสังคม  ยังมีประเด็นที่ควรปรับปรุงแก้ไขให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติงาน  ดังนี้

          1.1)  กลไกการปฏิบัติงานของภาคส่วนต่างๆ  มีประเด็นที่ควรพิจารณา  คือ 

                  (1)  กลไกภาครัฐ  มีการพัฒนาต่อยอดเพื่อยกระดับการจัดสวัสดิการสังคมให้ดีขึ้นมาเป็นลำดับ  แต่การดำเนินงานยังมีลักษณะต่างคนต่างทำ  ภายใต้ขอบเขตอำนาจสวัสดิการของตนตามที่กฎหมายกำหนด  ลักษณะโดยธรรมชาติของหน่วยงานเช่นนี้  จึงเป็นข้อจำกัดในการเชื่อมประสานการดำเนินงานข้ามหน่วยงาน

                  (2)  กลไกภาคธุรกิจเอกชน  ได้เข้ามาร่วมมีบทบาทเพื่อเพิ่มเติมระบบการจัดสวัสดิการของภาครัฐ  ในรูป  Corporate Social Responsibility (CSR) ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นตามกระแสการตื่นตัวที่มีอยู่ทั่วโลก แต่การทำงานยังไม่สามารถขยายวงสมาชิกได้อย่างเต็มกำลังความสามารถ ในขณะที่รัฐยังไม่มีมาตรการ สิ่งจูงใจ และกฎหมายที่ชัดเจนในการสนับสนุนและเอื้ออำนวยให้ภาคธุรกิจเอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการเพื่อช่วยเหลือสังคมอย่างเต็มประสิทธิภาพ

                  (3)  กลไกภาคประชาชนและองค์กรชุมชน  เป็นองค์กรหลักในการดำเนินงานระดับพื้นที่  โดยมีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นฟูวัฒนธรรมและระบบการเกื้อกูลกันภายในชุมชนแบบดั่งเดิม  แล้วขยายการเรียนรู้ไปสู่พื้นที่อื่นๆ  เกิดกระบวนการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งหลังจากนั้นภาคีการพัฒนาต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ  องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) และภาคธุรกิจ (CSR) ได้เข้าไปส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานของชุมชน จึงเป็นส่วนสำคัญในการเติมต็มช่องว่างในการจัดสวัสดิการได้มากยิ่งขึ้น

          1.2)  กลไกกลางที่ทำหน้าที่กำหนดทิศทาง นโยบาย และบูรณาการการขับเคลื่อนงานสวัสดิการสังคม ในรูป “คณะกรรมการระดับชาติ”ภายใต้ข้อกฎหมายที่กำหนด มีอยู่หลายคณะ ซึ่งสามารถขับเคลื่อนนโยบายในการจัดสวัสดิการสังคมให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและมีความก้าวหน้าหลายเรื่อง แต่อาจกล่าวได้ว่ายังไม่สามารถบูรณาการกลไกการจัดสวัสดิการสังคมให้เกิดความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างเกื้อกูล

     2) การจัดสวัสดิการสังคมสำหรับคนกลุ่มวัยต่างๆ  ในทางปฏิบัติยังคงมีปัญหาการเข้าถึงบริการ  อาทิ

         2.1) กลุ่มเด็กและเยาวชน  มีปัญหาในการรับบริการ  อาทิ  
                (1) การจัดการศึกษาของไทย  แม้จะมีนโยบายเรียนฟรี  15  ปี  เพื่อเด็กและเยาวชนทุกคนสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้  แต่การจัดการศึกษายังมีปัญหาในเชิงคุณภาพ  และปัญหาความเหลื่อมล้ำของคุณภาพทางการศึกษาระหว่างเมืองกับชนบทค่อนข้างสูง นอกจากนี้  การจัดการศึกษาที่เป็นอยู่ยังไม่สามารถตอบสนองปัญหาการศึกษาที่จะสร้างคนให้สมบูรณ์  รู้จักคิด  รู้จักวิเคราะห์  มีจิตสำนึก สามารถศึกษาหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง  จากข้อมูลโครงสร้างประชากร  และสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา  พบว่ามีแนวโน้มลดลงตามการปรับตัวของจำนวนนักเรียน  นักศึกษา  จึงเป็นโอกาสที่จะหันมาพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้มากขึ้น  
                (2)  กลไกและการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่มีปัญหา  ยังไม่สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงได้  โดยเฉพาะประเด็นปัญหาที่เกิดจากการเชื่อมโยงของกระแสการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยี  ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้เด็กและเยาวชนไทยที่ขาดทักษะในการวิเคราะห์  การกลั่นกรองข้อมูลไม่สามารถปรับตัวให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง  ซึ่งมีผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของกลุ่มคนเหล่านี้ไปในทางที่ไม่เหมาะสม

         2.2)  กลุ่มวัยทำงาน  โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ  ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบการประกันสังคม(Social Insurance) ได้ ขณะที่ฐานข้อมูลกลุ่มแรงงานนอกระบบยังไม่เป็นหมวดหมู่ที่ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มแรงงานนอกระบบเริ่มมีแนวคิดในการรวมกลุ่มเพื่อจัดระบบการประกันสังคมของตนเอง เช่น กองทุนสวัสดิการชาวนา เป็นต้น ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ใช้แรงงานนอกจากระบบที่จะสามารถเข้าถึงระบบการประกันสังคม

          2.3)  กลุ่มผู้สูงอายุ  พบว่า  รูปแบบการจัดสวัสดิการเพื่อกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอยู่ยังคงให้ความสำคัญกับการสงเคราะห์หรือเป็นผู้รับมากกว่าการเป็นผู้ให้ผลประโยชน์แก่สังคมโดยที่ยังไม่คำนึงถึงหลักของการพึ่งพาตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี  ในส่วนของการจัดสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้  ยังขาดการบูรณาการกลไกต่างๆ ที่มีอยู่ในระดับพื้นที่  และยังไม่มีการเชื่อมโยงการดูแลโดยครอบครัว  ซึ่งเป็นหลักสำคัญ  รวมถึงขาดการเชื่อมโยงกับการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชนในรูปแบบของการบริการเยี่ยมบ้าน (home visit) ของอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ (อผส.)  และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน  (อสม.)  เพื่อให้การจัดสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจากการศึกษาพบว่า  ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคม จะปรับตัวเพิ่มขึ้นพร้อมกับจำนวนผู้สูงอายุ  รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของกองทุนการออมแห่งชาติ  ซึ่งจะพัฒนาบริการไปสู่ระบบบำนาญเพื่อการชราภาพของประชาชนทั่วไป 

          2.4 ) กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ข้อค้นพบที่สำคัญเกี่ยวกับสวัสดิการสำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เป็นไปในทำนองเดียวกันกับกลุ่มผู้สูงอายุคือ รูปแบบการจัดสวัสดิการที่มีอยู่ยังคงให้ความสำคัญกับการสงเคราะห์หรือเป็นผู้รับ โดยที่ยังขาดการพัฒนาศักยภาพแบบครบวงจร เพื่อให้กลุ่มผู้พิการและด้อยโอกาสสามารถพึ่งตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี รวมทั้งการเป็นผู้ให้ประโยชน์แก่สังคม

     3) ความสอดคล้องกับสถานะทางการเงินการคลังของประเทศ ตามกรอบของแผนการลงทุนด้านสังคม

     โครงการศึกษาวิจัยการลงทุนด้านสังคมภายใต้เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงทางสังคมฯ ที่ สศช. และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยศึกษาไว้ ได้วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการลงทุนจัดสวัสดิการใน 5 ด้าน คือ

      (1) โครงสร้างประชากร การกระจายตัว และการเคลื่อนย้ายของประชากร

      (2) ระดับฐานะทางเศรษฐกิจของประชากร

      (3) บัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

      (4) ผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัตน์

      (5) ความผูกพันจากข้อตกลงระหว่างประเทศ

          ซึ่งได้นำปัจจัยดังกล่าวมาใช้ในการวิเคราะห์แนวโน้มการลงทุนด้านสวัสดิการสังคม โดยกำหนดทิศทางการลงทุนด้านสวัสดิการสังคมที่มุ่งเน้นให้ประชากรไทยทุกคนได้รับบริการและการคุ้มครองทางสังคมทุกด้านอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเพียงพอ ผ่านกระบวนการลงทุนออกเป็น 3 ระดับ คือ So เป็นการลงทุนตามแนวโน้มปกติภายใต้เงื่อนไขและข้อผูกพันต่างๆ S1 เป็นการลงทุนกรณีที่มีการปรับปรุงคุณภาพ และประสิทธิภาพการจัดการให้ดีขึ้นมากกว่ามาตรฐานขั้นต่ำ และS2 เป็นการลงทุนกรณีที่มีการปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพการจัดบริการให้ดีที่สุดเทียบเคียงกับกรณีประเทศที่ประสบความสำเร็จ โดยการลงทุนในแต่ละระดับ จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดของการลงทุน

ตารางที่ 35 ขนาดการลงทุนด้านสวัสดิการสังคมหน่วย: ร้อยละต่อ GDPอนาคตสังคมไทยกับงานด้านสวัสดิการสังคม

 รายจ่าย  เฉลี่ยปี 2548-51  2571          so  
 s1
 
 s2
 การศึกษา    5.10  3.31  4.28  5.24
 การวิจัย  0.20  0.75  1.00  1.50
 การพัฒนาฝีมือแรงงาน  0.16  0.32  0.85  1.80
 สุขภาพ  3.23  4.13  5.23  6.25
 การจัดสวัสดิการ  0.60  2.80  4.10  4.70
 รวม  9.29  11.49  15.46  19.49

สวัสดิการสังคมไทยสอดคล้องกับแนวคิดใด

ส าหรับหลักการของสวัสดิการสังคมไทยในปัจจุบันได้ค านึงถึงหลักการที่ สอดคล้องกับความเป็นสากลสาคัญ (ระพีพรรณ คาหอม, 2554 : 27 - 28) ได้แก่ 1. สิทธิมนุษยชน (Human Rights) 2. ความต้องการขั้นพื้นฐาน (Basic Needs) 3. ความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice) 4. การมีส่วนร่วมของคนในสังคมทุกระดับ (Participation) 5. ความโปร่งใส ( ...

ประเทศไทยมีรูปแบบจัดสวัสดิการสังคมอย่างไร

การจัดสวัสดิการสังคมของประเทศไทยในอดีต เริ่มจากระบบการช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างไม่เป็นทางการของครอบครัว เครือญาติ และชุมชน อันเป็นทุนทางสังคมที่สั่งสมมาเป็นเวลาช้านาน โดยเฉพาะสถาบันทางสังคมหลักคือ วัด ซึ่งนอกจากจะเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของคนไทยแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางการช่วยเหลือหรือสงเคราะห์ผู้ตกทุกข์ได้ยากมาโดยตลอด ต่อมา ...

สวัสดิการทางสังคม มีอะไรบ้าง

องคประกอบของสวัสดิการสังคม 7 ดาน 1. การศึกษา (education) 2. สุขภาพอนามัย (health) 3. ทีอยู่อาศัย (housing) 4. การทํางานและการมีรายได้ (employment and income maintenance) 5. ความมันคงทางสังคม (social security) 6. บริการสังคม (general social services) 7. นันทนาการ (recreation)

สวัสดิการสังคมในประเทศไทย มีอะไรบ้าง

สถานการณ์สวัสดิการของประเทศไทยในปัจจุบัน.