โครงงานภาษาไทยเรื่องวรรณคดี

ภาษาไทยม.๓

จัดทำโดย

นางสาวนริศรา คำผาสุข เลขที่ 30นางสาวศิริพร พูดเพราะ เลขที่ 37

ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/9

เสนอ

ครูธวัชชัย มีเปรม

ครปรีดาภรณ์ ไชยแสง

กิตติกรรมประกาศ

การศึกษาโครงงานภาษาไทยประเภทการสํารวจและรวบรวมข้อมูล ภาษาไทยม.๓ เล่มนี้สำเร็จลุล่วงโดยได้รับความอนุเคราะห์อย่างดี จากครูปกป้อง สนิท ซึ่งได้กรุณาให้คําปรึกษาแนะนําแนวคิดวิธีการตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ครูบุปผา ภาณุฑัต ซึ่งได้สอนและเสนอแนวคิดต่างๆใน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ครูธวัชชัย มีเปรม ที่ได้เสียสละเวลาอันมีค่าเพื่อเลือกหัวข้อโครงาน และครูปรีดาภรณ์ ไชยแสง ที่ได้เสียสละอันมีค่าตรวจสอบเนื้อหา ทั้งนี้คณะผู้จัดทำขอกราบ ขอบพระคุณเป็นอย่างสูง ณ โอกาสนี้ ขอขอบพระคุณคณะผู้บริหารโรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรี คณะครูทุกท่านที่ได้ให้การสนับสนุนการดำเนินการศึกษาโครงการเล่มนี้จนสำเร็จด้วยดี รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ที่ได้เป็นกำลังใจมาตลอด

หัวข้อโครงงาน ภาษาไทยม.๓

ผู้จัดทำ นางสาวนริศรา คำผาสุข

นางสาวศิริพร พูดเพราะ

ระดับชั้น ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/9

ชื่อครูที่ปรึกษา ครูปรีดาภรณ์ ไชยแสง

ครูธวัชชัย มีเปรม

สถานที่ศึกษา เทพศิรินทร์ นนทบุรี

บทคัดย่อ

เนื่องจากในปัจจุบันการศึกษาภาคบังคับของไทย มีวิชาภาษาไทยรวมอยู่ด้วย จึงทำให้มีการคิดริเริ่มวิธีการที่จะพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยนำสื่อการเรียนการสอนที่แตกต่างกันไปมาปรับปรุงพัฒนา เพื่อที่นักเรียนจะได้รับความรู้จากสื่อต่างๆ ไม่ใช่เพียงแค่ในหนังสือเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจจะทำให้นักเรียนมีความเบื่อหน่ายต่อการศึกษา และไม่อยากที่จะศึกษาบทเรียนนั้นๆจากในหนังสือ

ผู้จัดทำจึงได้คิดริเริ่มที่จะจัดทำเว็บไซต์ ภาษาไทยม.๓ ขึ้นมา ซึ่งในตอนแรกอยากจะทำเป็นเว็บไซต์ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายมากกว่านี้และไม่จำเป็นต้องเข้าอินเตอร์เน็ต แต่พบว่าในการดำเนินประจำวันของนักเรียนส่วนใหญ่มีการใช้อินเตอร์เน็ต ทางผู้จัดทำเลยจัดทำเว็บไซต์นี้ขึ้นมา

ที่มาและความสำคัญ

นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรี มีความจำเป็นที่จะต้องเรียนวิชาภาษาไทยเนื่องจากเป็นวิชาภาคบังคับ จึงเกิดผลกระทบต่อตัวนักเรียนและคุณครูผู้สอน เนื่องจากเนื้อหาของบทเรียนนั้นมีเยอะ และเวลาที่ต้องสอนนั้นมีน้อย จึงทำให้เกิดการคิดริเริ่มที่จะจัดทำโครงงานวิชาการนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นสื่อการเรียนรู้ เพื่อที่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ควบคู่กับการเรียนการสอนในชั้นเรียน

วัตถุประสงค์ของการทำโครงงาน

เพื่อที่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะได้เข้ามาศึกษาหาความรู้นอกห้องเรียน

เพื่อที่คุณครูผู้สอนจะได้มีสื่อการเรียนรู้ต่างๆให้แก่นักเรียน

เพื่อที่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะได้มาเรียนรู้ด้วยตัวเอง

ขอบเขตการศึกษาโครงงาน

ระยะเวลา 30 พฤศจิกายน 2558 – 25 มกราคม 2559

สถานที่ดำเนินการ โรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรี

วัสดุอุปกรณ์

  วัสดุ

1.หนังสือวรรณคดีไทยม.3

2.ตัวอย่างข้อสอบ

  อุปกรณ์

คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง

ขั้นตอนการดำเนินงาน

ขั้นตอนการสร้างเครื่องมือ

            ไปพบอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานเพื่อไปรับข้อมูลและตัวอย่างข้อสอบ

 ขั้นตอนการใช้เครื่องมือ

            นำข้อมูลที่ได้รับมาจากอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานมาสร้างเป็นเว็บไซต์

บทที่ 2

เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

บทที่ ๑ บทละครพูดเรื่อง เห็นแก่ลูก

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถยอดเยี่ยมในทางอักษรศาสตร์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีเรื่องต่างๆ ไว้มากกว่า ๑,๒๐๐ เรื่อง  ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ทั้งสารคดีและบันเทิงดี งานประพันธ์ประเภทหนึ่งที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เป็นจำนวนมากคือ บทละครพูด  มีทั้งที่ทรงผูกเค้าโครงเรื่องเองและที่แปลหรือแปลงมาจากภาษาต่างประเทศ

           แม้บทละครเรื่องนี้จะแต่งขึ้นมากว่า ๙๐ ปีแล้ว ความนิยมบางอย่างในสมัยนั้นอาจหมดไป วิธีใช้คำพูดตลอดจนกิริยามารยาทบางอย่างอาจเปลี่ยนไป ถึงกระนั้นก็ดี ความรักอันยิ่งใหญ่องบุพการีที่มีต่อบุตรของตนนั้นเป็นคุณธรรมสำคัญที่แสดงไว้ในเรื่องรวมไปถึงความรู้สึกผิดชอบชั่วดีและความรักในศักดิ์ศรี ล้วนเป็นสิ่งที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม ทุกชาติทุกภาษาและทุกยุคทุกสมัย บทละครพูดเรื่องนี้นอกจากจะได้รับคัดเลือกให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษามาเป็นเวลายาวนานแล้ว ยังได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศได้แก่ ภาษาเกาหลี จีน ญี่ปุ่น นอร์เวย์ ฝรั่งเศส มาเลย์ รัสเซีย สเปน สิงหล อังกฤษ อาหรับ อินโดนีเซีย และฮินดู เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในงานพระราชพิธีฉลองวันพระราชสมภพครบ ๑๐๐ ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้ามงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกด้วย

สรุปบทละครพูดเรื่อง เห็นแก่ลูก

ลักษณะการแต่ง

เรื่องเห็นแก่ลูกแต่งเป็นบทละครพูดล้วนๆ หรือละครพูดแบบร้อยแก้ว คือ ให้ตัวละครสนทนาโต้ตอบกันเหมือนในชีวิตจริง ไม่มีดนตรี ไม่มีรำ ไม่มีการขับร้อง เป็นเรื่องขนาดสั้น มี ๑ องค์ หรือ ๑ ตอน

คำศัพท์สมัยก่อน

คำ

ความหมาย

รับประทานโทษ

ได้รับโทษ

เกล้ากระผม

ผม(คำเรียกตนเอง)

เสมียนบาญชี

นักบัญชี

อาญาจักร

โทษ

มีเหย้ามีเรือน

แต่งงานมีครอบครัว

เกลอเก่า

เพื่อนเก่า

หมอความ

ทนายความ

อินัง

สนใจ เอาใจใส่

ดูเกินเวลา

ไม่ทันเวลา

ข้อคิดที่ได้จากเรื่อง

๑. ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

๒. ยาเสพติดเป็นบ่อเกิดของความหายนะ

๓. ผู้ที่กลับตัวเป็นคนดี ย่อมได้รับการให้อภัย

๔. ความรักและความภูมิใจที่บิดามีต่อบุตร ทำให้บิดายอม เสียสละให้แก่บุตรโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆทั้งสิ้น

๕. เหตุการณ์ที่กระทบใจมนุษย์ และมีผลให้มนุษย์แปรเปลี่ยนความตั้งใจไปได้อย่างตรงกันข้ามนั้น

อาจเกิดได้โดยไม่ได้คาดฝัน และโดยมิใช่เจตนาของใครทั้งสิ้น

บทที่ ๒ นิทานคำกลอน เรื่อง พระอภัยมณี ตอน พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ

พระอภัยมณี ตอน พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ กล่าวถึงพระอภัยมณีอยู่กับนางผีเสื้อจนมีบุตรชาย หน้าตาเหมือนพระบิดา แต่ดวงตาดังสุรีย์ฉาย มีกำลังดังพระยาคชาพลาย มีเขี้ยวคล้ายชนนีมีศักดา  พระบิดามีความรักใคร่เลี้ยงดูมาจนอายุได้แปดปี จึงให้ชื่อว่าสินสมุท สอนวิชาเป่าปี่และเพลงอาวุธให้จนชำนาญ

               วันหนึ่งนางผีเสื้อน้ำออกจากถ้ำไปหาภักษาหาร  ฝ่ายสินสมุทซึ่งรักพ่อมากกว่าแม่ เห็นพระอภัยหลับสนิทก็หนีไปวิ่งเล่นในคูหาเห็นแผ่นผาพิงผนิดปิดหนทาง จึงเข้าลองผลักด้วยกำลัง ก็พังออก เห็นหาดทรายงาม ทะเลกว้างและป่าที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ก็ออกวิ่งเล่นและว่ายน้ำด้วยความสนุกสนาน ไปพบเงือกเข้าก็แปลกใจ เห็นเป็นครึ่งคนครึ่งปลา จับไปให้พระบิดาดู พระอภัยทราบว่าสินสมุทออกไปนอกถ้ำ ก็ตกใจบอกว่าถ้าแม่ของสินสมุทรู้ก็จะโกรธ ด้วยเกรงว่าจะพาพระบิดาหนี จะพากันตายหมด  สินสมุทได้ฟังจึงถามความหลังจากพระบิดา พระอภัยก็เล่าให้ฟังจนหมดสิ้น สินสมุทรู้เรื่องแล้วก็เสียใจที่มีแม่เป็นยักษ์ร้าย

ฝ่ายเงือกน้ำฟังภาษามนุษย์รู้เรื่อง ก็ขออาสาพระอภัยที่ได้ช่วยชีวิตไว้ว่าจะใช้ตนทำอะไรก็จะรับใช้ทุกอย่าง    พระอภัยเห็นว่าเงือกพูดได้และได้ฟังเรื่องแล้วก็เกิดความสงสาร  แล้วบอกว่าตนต้องการหนีนางผีเสื้อ แต่ไม่รู้ว่าจะไปแห่งหนใด ขอให้เงือกผู้เจนทางกลางทะเลช่วยแนะนำด้วย   

              ฝ่ายนางผีเสื้อสมุทร อดปลาอดนอนได้สามวันก็อ่อนกำลังจวนเจียนถึงชีวิต เมื่อครบกำหนดแล้วก็หาผลไม้มากิน แล้วกลับมายังถ้ำ เห็นประตูคูหาเปิดอยู่ เข้าไปดูในถ้ำไม่พบใครก็ตกใจ แลดูปี่ที่เป่าก็หายไปด้วยก็รู้ว่าพากันหนีนางไปแล้ว มีความเสียใจที่ทั้งลูกและผัวหนีจากไป แล้วก็เกิดความโกรธ ออกติดตามดูร่องรอยในมหาสมุทรก็ไม่พบ จึงเรียกโยธาหาญของตนที่เป็นปีศาจ ราชทูตภูติพรายมาซักถาม พวกผีที่อยู่ทิศทักษิณแจ้งว่า เห็นเงือกพามนุษย์ไปทางทิศใต้เมื่อคืนวานซืน ตนจะตามไปก็เกรงขามเด็กตัวเล็กแต่ไม่กลัวผี   นางผีเสื้อรู้ความแล้วก็รีบติดตามไปอย่างรีบร้อนและเหลือโกรธ ทำลายสิ่งที่กีดขวางทางไปตลอดทาง

ฝ่ายพระอภัยมณี หนียักษ์มาได้ห้าคืน เห็นทะมื่นมาข้างหลังดังสะเทือน จึงถามเงือก ฝ่ายเงือกรู้ว่าสิ่งนั้นคือ ฤทธิ์ของยักษ์จึงตอบพระอภัยไปว่า นางยักษ์กำลังตามมา คงจะทันกันในวันนี้ หนีไม่พ้น เห็นสุดจนจะม้วยลงด้วยกันสินสมุทตอบว่า จะไม่ทิ้งพระบิดา ถ้าแม้ตามมาจะห้ามไว้ แล้วให้พระบิดารีบหนีไปก่อน  ผีเสื้อสมุทรตามมาได้สามวันก็ตามทันผัวกับลูกน้อย  ฝ่ายเงือก น้ำสิ้นกำลังที่จะพาพระอภัยหนีต่อไป จึงเรียกลูกสาวให้ช่วยพาพระอภัยหนีต่อไป  สินสมุทเห็นมารดาในร่างเดิม ไม่ใช่ร่างนิมิตที่ตนเคยเห็น ก็สงสัยออกขวางกลางน้ำ แล้วร้องถามว่าเป็นสัตว์บกหรือสัตว์น้ำ ที่ตามมานั้นต้องประสงค์อะไร นางผีเสื้อน้ำได้ยินคำพูดของลูกก็ให้นึกอดสู จึงตอบไปว่าตนไม่ใช่ชาติยักษ์ เมื่ออยู่ในถ้ำไม่ได้จำแลง แต่ออกเดินทางอย่างนี้ต้องนิมิต รูปจึงผิดไปกว่าเก่าจนเป็นที่สงสัย แล้วถามพ่อไปอยู่ที่ไหน สินสมุทได้ฟังสำเนียงก็รู้ว่าเป็นแม่ แต่ดูรูปร่างแล้วน่าสมเพช ด้วยเหตุนี้พระบิดาจึงหนี จึงแกล้งบอกว่าตนไม่เชื่อ ถ้าหากเป็นแม่จริงก็อย่าตามมา ด้วยแม่เป็นผีเสื้อ แต่พระบิดาเป็นมนุษย์จึงขอให้ปล่อยพระบิดาไป ส่วนตนนั้นจะขอลาไปเที่ยวสักหนึ่งปี ถ้าได้พบ อา ย่า ปู่ อยู่เป็นสุขแล้วก็จะชวนพระบิดามาหามารดาต่อไป

เมื่อเจรจาหว่านล้อมไม่เป็นผลแล้วนางจึงเข้าโจนจับสินสมุท แต่สินสมุทก็หลบหลีกไปได้ แล้วหนีล่อให้มารดาตามตนไปต้นทาง หมายให้ห่างพระบิดาได้คลาไคล นางผีเสื้อหาลูกและผัวไม่พบ จึงอ่านพระเวท มองหาพระอภัย เมื่อเห็นแล้วก็ติดตามไปพบเงือกยายตา ที่อ่อนกำลังว่ายน้ำอยู่จึงเข้าไปจับแล้วซักถาม สองเงือกก็หลอกนางผีเสื้อว่า พระอภัยอยู่บนเขาขวางริมทางที่ผ่านมาตนจะพาไปจับตัว ถ้าไม่เหมือนคำที่สัญญา ก็ขอให้ฆ่าตนทั้งสองเสียนางผีเสื้อก็เชื่อ เงือกพานางผีเสื้อมาได้ครึ่งวันแล้วก็พูดล่อให้ต่อไป แต่นางผีเสื้อรู้ทันจึงว่าสองเงือกตอแหล จึงหักขาฉีกสองแขน แล้วเคี้ยวกินเงือกทั้งสองนั้นเสีย จากนั้นก็ออกติดตามพระอภัยต่อไป  นางเงือกพาพระอภัยมาถึงเกาะแก้วพิสดารพร้อมกับสินสมุทรนางผีเสื้อวิงวอนพระอภัยขอติดตามไปด้วยจนตลอดชีวิต ขอให้อภัยอย่าได้ตัดรอนความรักของตนเลย พระอภัยได้ฟังก็สงสาร และได้ชีแจงนางไปถึงความจำเป็น และเหตุผลที่ต้องหนีมานางผีเสื้อพยายามอ้อนวอนให้พระอภัยและสินสมุทไปหา บอกว่าจะให้มนต์เวทวิเศษ  สินสมุทสงสารแม่แล้วบอกว่าฝ่ายพระโยคีก็พูดจาปลอบโยนและให้โอวาทนางผีเสื้อ  แต่นางผีเสื้อไม่ฟัง และโกรธต่อว่าพระโยคีด้วยประการต่าง ๆ จนพระโยคีโกรธเสกทรายขว้างไป นางผีเสื้อกลัวจึงหลบ

สรุปเรื่องพระอภัยมณี ตอน พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทร

คุณค่าทางสติปัญญา

ในบรรดานิทานคำกลอนด้วยกันแล้ว เรื่องพระอภัยมณี

นับว่ามีคุณค่ามากที่สุดในเรื่องต่างๆ ต่อไปนี้

๑. จินตนาการของผู้แต่ง สุนทรภู่มีจินตนาการกว้างไกลมาก แปลกใหม่ ไม่ซ้ำแบบใคร ไม่ว่าจะเป็น ความหัศจรรย์ของท้องทะเล พฤติการณ์ในสนามรบเมืองลังกา ลักษณะและนิสัยใจคอของชนชาติภาษาต่างๆ รวมทั้งจินตนาการล่วงหน้าทางวิทยาศาสตร์ เช่น เรือโจรสุหรั่ง ซึ่งบรรยายว่า

มีกำปั่นนั้นยาวยี่สิบเส้น กระทำเป็นตึกว้านสถานถิ่น

หมากมะพร้าวส้มสูกปลูกไว้กิน ไม้รู้สิ้นเอมโอชโภชนา

เลี้ยงทั้งแพะแกะไก่สุกรห่าน ศชสารม้ามิ่งมหิงสา

มีกำปั่นห้าร้อยลอยตามมา เครื่องศัตราสำหรับคบครบทุกลำ

๒. ความรู้เรื่องคติธรรม คำสอนต่างๆ มีมากมายในเรื่องพระอภัยมณี คติพจน์หล่นี้เหมาะสม กับกาลเวลาอยู่เสมอ และมีผู้จำได้มาก เช่น

บุราณว่าถ้าเหลือกำลังลาก ให้ออกปากบอกแขกช่วยแบกหาม

(สามพราหมณ์พูดกับศรีสุวรรณ ตอนศรีสุวรรณหลงรักนางเกษรา)

รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี

(โยคีสอนสุดสาครตอนช่วยขึ้นจากเหว)

ด้วยวิสัยในประเทศทุกเขตแคว้น ถึงโกรธแค้นความรักก็หักหาย

อันความจริงหญิงก็ม้วยลงด้วยชาย ชายก็ตายลงด้วยหญิงจริงดังนี้

(สามพราหมณ์พูดกับศรีสุวรรณตอนศึกลังกา)

๓. ความรักและความกตัญญู สุนทรภู่ได้นำความรักประเภทต่างๆมาแสดงให้เห็นในเรื่อง พระอภัยมณีอย่างเป็นจริงเป็นจัง ไม่ว่าจะเป็นความรักระหว่างบิดามารดากับบุตร เช่น พระอภัยมณีกับสินสมุทร ความรักความเมตตาในเพื่อนมนุษย์ของพระโยคี เกาะแก้วพิสดาร ความรักระหว่างเพื่อน เช่น สามพราหมณ์กับศรีสุวรรณ ความรักระหว่างสามีภรรยาแบบต่างๆ เช่น รักเดียวใจเดียวของ นางผีเสื้อสมุทร ขี้หึงเหมือน

สุวรรณมาลี เคารพเทิดทูนเหมือนนางเกษรารักและเสียสละเช่นนางเงือก เป็นต้น

๔. ประเพณีสงคราม การสงครามในรูปแบบต่างๆ เช่นการรบโดยตรง การจารกรรม การใช้ กลยุทธต่างๆ ที่จะเอาชนะฝ่ายตรงข้าม การสงบศึก การปฏิบัติต่อเชลยศึก เช่น ที่พระอภัยมณีปฏิบัติต่อ อุศเรน และอุศเรนคาดโทษไว้ว่าถ้าอุศเรนจับพระอภัยมณีได้จะทำอย่างไร เป็นต้น

๕. สันติภาพ พระโยคีแห่งเกาะแก้วพิสดาร เป็นเสมือนเทพเจ้าผู้นำสันติภาพมาสู่คู่สงคราม ให้การรบข้อธรรมะเหมือนกันหมด ไม่เลือกฝ่ายผิดฝ่ายถูก ใช้หลักธรรมเป็นพื้นฐานของสันติภาพ พยายามให้คู่กรณีเป็นมิตรที่ดีต่อกัน พระโยคีถือว่าการตัดกิเลสตัณหาทั้งหลายเท่านั้นที่จะนำสันติสุขมาสู่มนุษย์ทุกคนได้

๖. ความรู้เรื่องทะเล พระอภัยมณีเป็นวรรณคดีไทยเรื่องแรกที่ใช้ฉากในทะเลและชายฝั่งตลอด ทั้งเรื่อง สุนทรภู่ได้บรรยายความรู้เรื่องทะเลไว้ดีมาก แผนที่ของเรื่องนี้กาญจนาคพันธุ์ ได้อธิบายไว้อย่าง ละเอียดในเรื่องภูมิศาสตร์สุนทรภู่ดังกล่าวแล้ว

คุณค่าทางอารมณ์ พระอภัยมณี มีรสทางวรรณดคีอันเป็นพื้นฐานทางอารมณ์ของมนุษย์อยู่พร้อมทั้ง ๙ รส แบบคติของสันสกฤต หรือรวมเป็น ๔ รส ตามคติของวรรณคดีไทย

เนื้อเรื่องย่อ

พระบรมราโชวาทนี้มีพระราชประสงค์ให้พระราชโอรสทรง ประพฤติดังนี้

๑.ให้ไปเรียนหนังสืออย่างเดียว ไม่ให้ไว้ยศว่าเป็นเจ้า ให้ถือบรรดาศักดิ์เสมอลูกผู้มีตระกูล ไม่ให้ใช้ฮิสรอแยลไฮเนสปรินซ์ นำหน้าชื่อ ถ้าใครจะเติมหน้าชื่อหรือท้ายชื่อเป็นมิสเตอร์หรือแอสไควร์ก็ได้เพราะการไว้ ยศไม่เป็นประโยชน์อะไรแก่ตัว จะทำอะไรต้องระวังตัว แม้จะซื้อของก็แพงกว่าคนอื่น

๒.เงินค่าใช้สอย และค่าเล่าเรียน จะใช้เงินพระคลังข้างที่ ซึ่งฝากไว้ในธนาคารจะจ่ายให้คนละ๓,๖๐๐ ปอนด์ เพื่อจะให้เรียนจบภายใน ๑๐ ปี เหตุที่ ไม่ใช้เงินแผ่นดิน เพราะพระองค์มีพระราชโอรสหลายพระองค์ ถ้าทรงใช้เงินแผ่นดิน หากพระราชโอรสเสด็จกลับมาแล้ว ไม่ทรงทำราชการให้คุ้มกับเงินแผ่นดิน ก็จะถูกติเตียน

๓. การเป็นเจ้านายหาช่องทางทำ ราชการได้ยากกว่าคนธรรมดา ถ้าจะทำราชการตำแหน่งต่ำๆก็ไม่เหมาะแก่ยศศักดิ์ จงอุตสาหะเล่าเรียนด้วยความเพียร เพื่อจะได้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ

๔.อย่าถือตัวว่าเป็นลูกพระเจ้า แผ่นดิน ไม่ต้องการให้อำนาจเกะกะ ถ้าทำผิดก็จะโดนทำโทษให้เป็นคนอ่อนหวาน ไม่ถือทิฐิมานะ

๕.ให้ใช้จ่ายอย่างประหยัด ไม่ทำใจโตมือโต ถือว่าเป็นลูกกษัตริย์ ให้คิดเสมอว่าเป็นคนจน ควรใช้เงินให้เป็นประโยชน์ ถ้ามีหนี้จะไม่ใช้ให้ ถ้าใช้ให้ก็ต้องมีโทษ เพื่อไม่ให้ประพฤติอีก และถ้าเอาเงินเบี้ยหวัด และเงินกลางปีไปใช้หนี้ก็ไม่สมควร ควรเก็บเอาไว้ลงทุนประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัว

๖.วิชาที่จะต้องเรียนให้รู้ จริง ๆ คือ วิชาภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน กับวิชาเลข ส่วนวิชาชำนาญพิเศษจะตัดสินภายหลัง และไม่ให้ตื่นตัวว่าได้เรียนภาษาต่างประเทศแล้วลืมภาษาไทย บังคับให้เขียนหนังสือถึงพระองค์อย่างน้อยเดือนละฉบับ ถ้าเขียนภาษาอังกฤษไม่ได้ ให้เขียนภาษาไทย ถ้าเขียนภาษาต่างประเทศภาษาใดภาษาหนึ่งได้ ให้เขียนภาษานั้นแล้วเขียนคำแปลเป็นภาษาไทย

๗. ได้มอบหมายให้กรมหมื่นเทวะ วงศ์วโรปการ ทรงเป็นธุระทางกรุงเทพฯ ถ้ามีธุระขัดข้องให้เขียนจดหมายมาปรึกษา ส่วนทางต่างประเทศถ้ามีปัญหาให้ปรึกษาราชทูตประจำประเทศนั้น ๆ

สรุปเรื่อง พระบรมราโชวาท

คุณค่าด้านเนื้อหา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เพื่อพระราชทานแก่พระเจ้าลูกยาเธอ ๔ พระองค์ คือ

พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ (กรมพระจันทบุรีนฤนาถ)

พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ (กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์)

พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม (กรมหลวงปราจิณกิติบดี)

พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช (กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช)

เมื่อคราวที่เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการ ณ ต่างประเทศ จึงทรงพระราชทานข้อคิด คำแนะนำสั่งสอนให้พระราชโอรสประพฤติปฏิบัติตามพระบรมราโชวาท ดังนี้

๑. การไปเรียนในครั้งนี้ให้ตั้งใจไปเพื่อศึกษาวิชาความรู้อย่างเดียว ไม่ควรไปเปิดเผยหรืเผยแพร่เกียรติยศชื่อเสียง ไม่ควรประกาศตนว่าเป็นเจ้า เพราะการไว้ยศนั้นทำให้วางตนลำบาก จะต้องรักษายศศักดิ์ จึงควรประพฤติตนเยี่ยงสามัญชนทั่วไป

๒. เงินที่ใช้สอยในการศึกษาเล่าเรียน เป็นเงินพระคลังข้างที่ ทั้งนี้เพราะว่าพระองค์มีพระราชโอรสมาก จึงทรงเห็นว่าการใช้เงินแผ่นดินในการส่งพระราชโอรสไปศึกษาเล่าเรียนจึงทำให้พ้นจากคำครหาทั้งปวงได้

๓. ขอให้ตระหนักว่า ถึงจะเกิดมาเป็นลูกของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ก็มิใช่ว่าจะฝักใฝ่แต่ความสบายอย่าง จึงขอให้มีความอุตสาหะใฝ่ใจศึกษาเล่าเรียน

๔. อย่าคิดว่าตนเป็นลูกพระเจ้าแผ่นดิน มีอำนาจยิ่งใหญ่ จะมาทำเกะกะระรานไม่เกรงกลัวผู้ใดไม่ได้ พระองค์ทรงปรารถนาให้พระราชโอรสมีความอ่อนน้อม ว่านอนสอนง่าย ให้ประพฤติให้ดีอยู่เสมอ ถ้าทำผิดจะถูกลงโทษทันที

๕. เงินทองที่ใช้สอย ขอให้จงประหยัดเขม็ดแขม่ อย่าทำใจโตใช้จ่ายเงินสุรุ่ยสุร่าย ถ้าใครเป็นหนี้กลับมา พระองค์จะไม่ยอมใช้ให้ หากจะใช้ให้ก็จะต้องได้รับการลงโทษเป็นประกันมั่นใจก่อนว่าจะไม่กลับไปทำอีก

๖. วิชาที่ออกไปศึกษาเล่าเรียน ต้องเรียนภาษาให้ได้สองในสาม จากภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมัน ที่สำคัญต้องไม่ลืมภาษาไทย

๗. การเล่าเรียนทั้งปวงของพระราชโอรส พระองค์ได้ทรงมอบธุระสิทธิ์ขาดให้แก่ กรมหมื่นเทวะวงษ์โรปการ และมีราชทูตเป็นธุระดูแลทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้ามีปัญหาหรือต้องการปรึกษาอันใดให้สอบถามได้

คุณค่าด้านวรรณศิลป์

- ใช้เทศนาโวหารด้วยสำนวนภาษาง่ายๆ ตรงไปตรงมา เช่น ขอจดหมายคำสั่งตามความประสงค์ให้แก่ลูก บรรดาซึ่งจะให้ออกไปเรียนหนังสือในประเทศยุโรป จง ประพฤติตามโอวาทที่จะกล่าวต่อไปนี้

...การซึ่งจะให้ออกไปเรียนหนังสือครั้งนี้ มีความประสงค์มุ่งหมายแต่จะให้ได้วิชาความรู้อย่างเดียว ไม่มั่นหมายจะให้เป็นเกียรติยศชื่อเสียง...

- จะทรงโน้มน้าวใจโดยทรงชี้ให้เห็นทั้งข้อดีและข้อเสียเปรียบเทียบกัน เช่น ถ้าเป็นเจ้านายแล้ว ต้องรักษายศศักดิ์ในกิจการทั้งปวงที่จะทำทุกอย่าง เป็นเครื่องล่อตาล่อหูคนทั้งปวงที่จะพอใจดูพอใจฟัง จะทำอันใดก็แพลกว่าคนสามัญ เพราะเขาถือว่ามั่งมี เป็นการเปลืองทรัพย์ในที่ไม่ควรจะเปลือง เพราะเหตุว่าถึงจะเป็นเจ้าก็ดีเป็นไพร่ก็ดี เมื่ออยู่ในประเทศมิใช่บ้านเมืองของตัวก็ไม่มีอำนาจที่จะทำฤทธิ์เดชอันใดไปผิดกับคนสามัญได้ จะมีประโยชน์อยู่นิดหนึ่งแต่เพียงเข้าที่ประชุมสูงๆได้ แต่ถ้าเป็นลูกผู้มีตระกูลก็จะเข้าที่ประชุมสูงๆได้เท่ากันกับเป็นเจ้านั่นเอง

- การใช้ภาพพจน์ เปรียบเทียบให้เกิดจินตนภาพ เช่น ชีวิตสังขารของมนุษย์ไม่ยั่งยืนยืดยาวเหมือนเหล็กเหมือนศิลา ถึงโดยว่าจะมีพ่ออยู่ในขณะหนึ่ง ก็คงจะมีเวลาที่ไม่มีได้ขณะหนึ่งเป็นแน่แท้ ถ้าประพฤติความชั่วเสียแต่ในเวลามีพ่ออยู่แล้ว ความชั่วนั้นควรปรากฏเป็นโทษติดตัวเหมือนเงาตามหลังอยู่ไม่ขาด

- การเปรียบเทียบความประพฤติของคนที่อยู่นิ่งๆโดยไม่ทำการสิ่งใด เพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้ฟังเกิดแรงบันดาลใจ มีมานะที่จะหมั่นศึกษาหาความรู้ เช่น ถ้าจะถือว้าเกิดมาเป็นเจ้านายแล้วนิ่งๆอยู่จนตลอดชีวิตก็สบายดังนั้น จะไม่ผิดอันใดกับสัตว์ดิรัจฉานอย่างเลวนัก

คุณค่าด้านสังคม

- สะท้อนให้เห็นว่าสมัยแต่เดิมนั้นบุตรของท่านผู้มีบรรดาศักดิ์ทั้งหลายจะหาช่องทางรับ ราชการยากเพราะเป็นผู้มีวาสนาก็จะต้องแต่งตั้งให้รับตำแหน่งใหญ่โตสมฐานะ แต่ถึงตำแหน่งจะใหญ่โตความรู้ความสามารถก็ยังต้องถึงด้วย ดังคำสอนในพระบรมราโชวาทว่า

เจ้านายจะเป็นผู้ได้ทำราชการ มีชื่อเสียงดีก็อาศัยได้แต่สติปัญญาความรู้และความเพียรของตัว เพราะฉะนั้นจงอุตสาหะเล่าเรียนโดยความเพียรอย่างยิ่ง

- สมัยก่อนการให้ความรู้นั้นถือว่ามากกว่าทรัพย์สินเงินทอง เพราะเป็นของติดตัวไม่เสื่อมสูญ ดังคำสอนในพระบรมราโชวาท

การซึ่งให้มีโอกาสและให้ทุนทรัพย์ซึ่งจะได้เล่าเรียนวิชานี้เป็นหลักทรัพย์มรดกอันประเสริฐดีกว่าทรัพย์สินเงินทองอื่นๆ ด้วยเป็นของติดตัวอยู่ได้ไม่มีอันตรายที่จะเสื่อมสูญ เหมือนหนึ่งได้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ลูกเสมอๆ กันทุกคน

- สะท้อนให้เห็นว่าฝรั่งแต่ก่อนนั้นมั่งมี มีเงินใช้เยอะๆนั้นมาจากการได้ดอกเบี้ย สมัยก่อนนั้นจึงสอนบุตรไม่ให้อวดมั่งอวดมีทำเทียบเทียมผู้ดีฝรั่ง ให้ใช้เงินอย่างประหยัด มีเงินใช้เฉพาะแต่ที่จะรักษาความสุขของตนพอสมควร ดังคำสอนในพระบรมราโชวาท

ตั้งใจอยู่เสมอว่าตัวเป็นคนจน มีเงินใช้มีเงินใช้เฉพาะแต่ที่จะรักษาความสุขของตนพอสมควรดัง ไม่มั่งมีเหมือนผู้ดีฝรั่งที่เขาสืบตระกูลกันมาได้ด้วยดอกเบี้ย อย่าอวดมั่งอวดมีทำเทียบเทียบเขาให้ฟุ้งซ่านไปเป็นอันขาด

- สะท้อนให้เห็นว่าวิชาความรู้ในสมัยก่อนนั้นยังไม่รุ่งเรือง เหมือนสมัยนี้ มาจากการที่ไม่ได้คบค้าสมาคมกับชาติอื่นมาช้านาน ฝ่ายหนังสือไทยจึงไม่พอที่จะเล่าเรียน จึงต้องไปเรียนภาษาอื่นเพื่อนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ดังที่ตรัสไว้ในพระบรมราโชวาทว่า

จงเข้าใจว่าภาษาต่างประเทศนั้นเป็นแต่พื้นของความรู้ เพราะวิชาความรู้ในหนังสือไทยที่มีผู้แต่งไว้นั้นเป็นแต่ของเก่ามีน้อย เนื่องจากมิได้สมาคมกับชาติอื่นมาช้านาน ฝ่ายหนังสือไทยจึงไม่พอที่จะเล่าเรียนจึงต้องไปเรียนภาษาอื่น แล้วเอากลับลงมาใช้เป็นภาษาไทยทั้งสิ้น

บทที่ ๔ อิศรญาณภาษิต

ความเป็นมา

อิศรญาณภาษิตเรียกอีกอย่างว่า “เพลงยาวอิศรญาณ” เป็นพระนิพนธ์ของหม่อมเจ้าอิศรญาณ ซึ่งเล่ากันว่าเป็นผู้มีพระจริตไม่ปกติ ครั้งหนึ่งพระองค์ได้ทำสิ่งวิปริตไปแล้วพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรับริภาษว่าเป็นบ้า ทำให้ใครๆ ก็พากันเห็นด้วยกับพระราชดำรัสนั้น ด้วยความน้อยพระทัยของหม่อมเจ้าอิศรญาณจึงทรงนิพนธ์เพลงยาวฉบับนี้ขึ้น มีผู้สันนิษฐานว่าอิศรญาณภาษิตนี้ ไม่ใช่พระนิพนธ์ของหม่อมเจ้าอิศรญาณแต่เพียงผู้เดียว หากแต่ทรงนิพนธ์ไว้เพียงตอนแรกเท่านั้น กล่าวคือ สันนิษฐานว่าทรงนิพนธ์ถึงวรรคว่า “ปุถุชนรักกับชังไม่ยั่งยืน” ซึ่งมีลีลาการแต่งไว้ด้วยน้ำเสียงเหน็บแนมประชดประชันอย่างรุนแรง ชัดเจนส่วนที่เหลือเป็นของผู้อื่นแต่งต่อ โดยเป็นการสอนเรื่องทั่วๆ ไป มีลีลาหรือท่วงทำนองแบบเรียบๆ มุ่งสั่งสอนตามปกติของผู้มีประสบการณ์ในเรื่องต่างๆ ซึ่งได้นำมาเรียบเรียงไว้ทั้งหมด

ประวัติผู้แต่ง

หม่อมเจ้าอิศรญาณ(ไม่ทราบพระนาม เดิม)เป็นโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงมหิศวรินทรามเรศ พระองค์ทรงผนวชที่วัดบวรนิเวศ ได้พระนามฉายาว่า อิสสรญาโณ มีพระชนม์ชีพอยู่ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลักษณะคำประพันธ์

กลอนเพลงยาว ซึ่งขึ้นต้นด้วยวรรคสดับ(มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเพลงยาวอิศรญาณหรือภาษิตอิศรญาณ)

จุดประสงค์

๑. เพื่อสั่งสอน

๒. เพื่อเตือนใจให้คิดก่อนที่จะทำสิ่งใด

๓. สอนเกี่ยวกับการปฏิบัติตนต่อผู้อื่นในสังคมให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

เนื้อหา

อิศรญาณภาษิตมีเนื้อหาที่เป็นคำสั่ง สอนแบบเตือนสติ และแนะนำเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติให้เป็นที่พอใจของผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจมากกว่า สอนว่าควรจะทำอย่างไรจึงจะอยู่ในสังคมได้โดยปราศจากภัยแก่ตน ทำอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จสมหวังบางตอนก็เน้นเรื่องการเห็นคุณค่าและ ความสำคัญของผู้อื่นโดยไม่สบประมาทหรือดูแคลนกัน โดยทั้งนี้การสอนบางครั้งอาจเป็นการบอกตรงๆ หรือบางครั้งก็สอนโดยคำประชดประชันเหน็บแนม เนื้อหาส่วนใหญ่จะสั่งสอนให้คนมีปัญญา ไม่หลงใหลกับคำเยินยอ สอนให้รู้จักคิดไตร่ตรองก่อนพูด รู้จักเคารพผู้อาวุโส รู้จักทำตามที่ผู้ใหญ่แนะนำรู้จักกตัญญูผู้ใหญ่

คุณค่างานประพันธ์

คุณค่าด้านวรรณศิลป์ ใช้ถ้อยคำง่าย ๆ มาเรียงร้อยได้เหมาะเจาะและมีความหมายลึกซึ้ง

คุณค่าด้านสังคม ให้ข้อคิดในการดำเนินชีวิตเพื่อดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

สรุปเรื่อง อิศรญาณภาษิต

อิศรญาณเป็นวรรณคดีที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสอน โดยเฉพาะเรื่องการปฏิบัติตนที่จะทำให้อยู่ในสังคมอย่างเป็นปกติสุข ดังนั้น การอ่านวรรณคดีประเภทนี้จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับสังคมไทยในปัจจุบันซึ่งผู้อ่านจะได้ข้อคิดต่าง ๆ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยขึ้นอยู่กับวัยและประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ดังต่อไปนี้

๑. การมีน้ำใจ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ ดังนั้น ถ้าจะอยู่ในสังคมให้ได้จึงต้องมีการถ้อยทีถ้อยอาศัยให้อภัยซึ่งกันและกัน

๒. การเข้าสังคมและการปฏิบัติตนต่อผู้อื่น ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ย่อมมีการติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ในบางครั้งความขัดแย้ง อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้น อิศรญาณภาษิตจึงได้สั่งสอนในเรื่องการปฏิบัติตนต่อผู้อื่นในที่สาธารณชน

๓. หลักการฟัง ในชีวิตประจำวันของมนุษย์จะต้องใช้ทักษะทั้ง ๔ ประการในการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นทักษะการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน ซึ่งในอิศรญาณภาษิตกวีได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการฟังไว้

๔. การรับราชการ โดยมุ่งเน้นเฉพาะผู้ที่ทำงานใกล้ชิดพระมหากษัตริย์

๕. การออมทรัพย์ สังคมมนุษย์ได้เปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานที่เคยเป็นระบบแลกเปลี่ยนสินค้ามาเป็นระบบเงินตราที่เป็นบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ อิศรญาณภาษิตได้ให้ข้อคิดประการหนึ่งที่ให้มนุษย์รู้จักการออม

๖. การคบมิตร ในปัจจุบันสังคมปะปนไปทั้งคนดีและคนไม่ดี ดังนั้นการมีหลักยึดในการคบมิตรจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งอิศรญาณภาษิตได้ให้ข้อคิดประการนี้

บทที่ ๕ บทพากย์เอราวัญ

๏ อินทรชิตบิดเบือนกายิน เหมือนองค์อมรินทร์

ทรงคชเอราวัณ

๏ ช้างนิมิตฤทธิแรงแข็งขัน เผือกผ่องผิวพรรณ

สีสังข์สะอาดโอฬาร์

๏ สามสิบสามเศียรโสภา เศียรหนึ่งเจ็ดงา

ดั่งเพชรรัตน์รูจี

๏ งาหนึ่งเจ็ดโบกขรณี สระหนึ่งย่อมมี

เจ็ดกออุบลบันดาล

๏ กอหนึ่งเจ็ดดอกดวงมาลย์ ดอกหนึ่งแบ่งบาน

มีกลีบได้เจ็ดกลีบผกา

๏ กลีบหนึ่งมีเทพธิดา เจ็ดองค์โสภา

แน่งน้อยลำเพานงพาล

๏ นางหนึ่งย่อมมีบริวาร อีกเจ็ดเยาวมาลย์

ล้วนรูปนิรมิตมายา

๏ จับระบำรำร่ายส่ายหา ชำเลืองหางตา

ทำทีดังเทพอัปสร

๏ มีวิมานแก้วงามบวร ทุกเกศกุญชร

ดังเวไชยันต์อมรินทร์

๏ เครื่องประดับเก้าแก้วโกมิน ซองหางกระวิน

สร้อยสายชนักถักทอง

๏ ตาข่ายเพชรรัตน์ร้อยกรอง ผ้าทิพย์ปกตระพอง

ห้ยพู่ทุกหูคชสาร

๏ โลทันสารถีขุนมาร เป็นเทพบุตรควาญ

ขับท้ายที่นั่งช้างทรง

๏ บรรดาโยธาจัตุรงค์ เปลี่ยนแปลงกายคง

เป็นเทพไทเทวัญ

๏ ทัพหน้าอารักขไพรสัณฑ์ ทัพหลังสุบรรณ

กินนรนาคนาคา

๏ ปีกซ้ายฤาษิตวิทยา คนธรรพ์ปีกขวา

ตั้งตามตำรับทัพชัย

๏ ล้วนถืออาวุธเกรียงไกร โตมรศรชัย

พระขรรค์คทาถ้วนตน

๏ ลอยฟ้ามาในเวหน รีบเร่งรี้พล

มาถึงสมรภูมิชัย ฯ

๏ เมื่อนั้นจึงพระจักรี พอพระสุริย์ศรี

อรุณเรืองเมฆา

๏ ลมหวนอวลกลิ่นมาลา เฟื่องฟุ้งวนา

นิวาสแถวแนวดง

๏ ผึ้งภู่หมู่คณาเหมหงส์ ร่อนราถาลง

แทรกไซ้ในสร้อยสุมาลี

๏ ดุเหว่าเร้าเร่งพระสุริย์ศรี ไก่ขันปีกตี

กู่ก้องในท้องดงดาน

๏ ปักษาตื่นตาขันขาน หาคู่เคียงประสาน

สำเนียงเสนาะในไพร

๏ เดือนดาวดับเศร้าแสงใส สร่างแสงอโณทัย

ก็ผ่านพยับรองเรือง

๏ จับฟ้าอากาศแลเหลือง ธิบดินทร์เธอบรรเทือง

บรรทมฟื้นจากไสยา

สรุปบทพากย์เอราวัญ

๑) คุณค่าด้านเนื้อหา สาระสำคัญที่ปรากฏคือ “ความประมาทเพราะลุ่มหลงเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียและพ่ายแพ้” ดังที่ปรากฏในเรื่อง เหตุที่พระลักษมณ์ต้องศรพรหมาสตร์เพราะหลงมองความงามของขบวนทัพพระอินทร์ ทั้งที่สุครีพได้กล่าวเตือนแต่เพราะประมาทจึงต้องพ่ายแพ้ในศึกครั้งนี้

กรอบแนวคิด

ข้อมูลทั่วไปของเว็บไซต์ ได้แก่ บทละครพูดเรื่องเห็นแก่ลูก นิทานคำกลอน เรื่อง พระอภัยมณี ตอน หนีนางผีเสื้อสมุทร พระบรมราโชวาท อิศรญาณภาษิต และบทพากย์เอราวัญ

ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

กลุ่มประชากรในการศึกษาครั้งนี้ คือ นักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มาจากกลุ่มตัวอย่าง

ข้อมูลและการรวบรวมข้อมูล

ข้อมูลทั่วไปของเว็บไซต์ ได้แก่ บทละครพูดเรื่องเห็นแก่ลูก นิทานคำกลอน เรื่อง พระอภัยมณี ตอน หนีนางผีเสื้อสมุทร พระบรมราโชวาท อิศรญาณภาษิต และบทพากย์เอราวัญ การรวบรวมข้อมูลโดยการสร้างเว็บไซต์ แล้วนำมาวิจัยต่อไป

การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้

การวิเคราะห์ข้อมูล ผู้วิจัยจะนำเสนอข้อมูลที่ได้จากการสร้างเว็บไซต์มาทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าสถิติดังนี้

  • วิเคราะห์ข้อมูลโดยการนำรูปของเว็บไซต์มานำเสนอ

เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล

การทำวิจัยครั้งนี้ใช้เว็บไซต์เป็นเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลโดยเว็บไซต์มีรายละเอียดได้แก่ บทละครพูดเรื่องเห็นแก่ลูก สรุปเรื่องบทละครพูดเรื่องเห็นแก่ลูก แบบฝึกหัดบทละครพูดเรื่องเห็นแก่ลูก นิทานคำกลอน เรื่อง พระอภัยมณี ตอน หนีนางผีเสื้อสมุทร สรุปนิทานคำกลอน เรื่อง พระอภัยมณี ตอน หนีนางผีเสื้อสมุทร แบบฝึกหัดนิทานคำกลอน เรื่อง พระอภัยมณี ตอน หนีนางผีเสื้อสมุทร พระบรมราโชวาท สรุปเรื่องพระบรมราโชวาท แบบฝึกหัดเรื่องพระบรมราโชวาท อิศรญาณภาษิต สรุปเรื่องพระบรมราโชวาท แบบฝึกหัดเรื่องพระบรมราโชวาท บทพากย์เอราวัญ สรุปเรื่องบทพากย์เอราวัญ แบบฝึกหัดเรื่องบทพากย์เอราวัญ

เว็บไซต์ภาษาไทย ม.๓https://sites.google.com/site/phinklawnamwan59/

บทที่ 5

สรุปผลและข้อเสนอแนะ

สรุปผลการศึกษา

จากการศึกษาและจัดทำเว็บไซต์ของกลุ่มผู้จัดทำ เรื่อง ภาษาไทยม.๓ พบว่า ผู้ที่เข้ามาชมเว็บไซต์ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษษปีที่ 3 มากที่สุด

อภิปรายผลการศึกษา

ในการศึกษา เรื่อง ภาษาไทยม.๓ ผลปรากฏว่า หากเว็บไซต์มีเนื้อหาที่ครบถ้วนทุกประการ และมีการใส่ลูกเล่นสีสันของเว็บไซต์ให้ดูน่าสนใจมากเท่าไหร่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ก็จะเข้ามาชมเว็บไซต์มากขึ้นเท่านั้น

ข้อเสนอแนะในการศึกษา

- จัดหาข้อมูลให้มากกว่านี้ เพื่อให้ผลการศึกษาสมบูรณ์มากขึ้น

- จัดทำเว็บไซต์ให้น่าสนใจมากกว่านี้

บรรณานุกรม

ฟองจันทร์/สุขยิ่ง และคณะ. //(มปป).//ภาษาไทยวรรณคดีและวรรณกรรมชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓. //พิมพ์ครั้งที่/8.//กรุงเทพฯ:/ไทยร่มเกล้า

พัชรา แสงศรี. 2557. แบบทดสอบเรื่องอิศรญาณภาษิต. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.trueplookpanya.com/. 28 ธันวาคม 2558

บุญเหลือ เทพยสุวรรณ. 2535. แบบทดสอบเรื่องพระอภัยมณี. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://rungfa.chs.ac.th/praapai/. 29 ธันวาคม 2558

มณีปิ่น พรหมสุทธิรักษ์. 2548.แบบทดสอบเรื่องพระบรมราโชวาท. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://savrakthai.igetweb.com/articles/html. 31 ธันวาคม

วิญญู บุญบงค์. 2542. แบบทดสอบบทละครพูดเรื่องเห็นแก่ลูก. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://travel.mweb.co.th/north/Chiangmai/index.html. ๑๒ มกราคม ๒๕๔๗