ศาสนากับการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

ความหมายของศาสนา

ศาสนาคือ คำสอนที่ศาสดานำมาเผยแผ่ สั่งสอน แจกแจง แสดงให้มนุษย์เว้นจากความชั่ว กระทำแต่ความดี ซึ่งมนุษย์ยึดถือปฎิบัติตามคำสอนนั้นด้วยความเคารพเลื่อมใสและศรัทธา คำสอนดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นสัจธรรม ศาสนามีความสำคัญต่อบุคคลและสังคม ทำให้มนุษย์ทุกคนเป็นคนดีและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ศาสนาในโลกนี้มีอยู่มากมายหลายศาสนาด้วยกัน แต่วัตถุประสงค์อันสำคัญยิ่งของทุกๆศาสนาเป็นไปในทางเดียวกันกล่าวคือ จูงใจให้คนละความชั่ว ประพฤติความดีเหมือนกันหมด หากแต่ว่าการปฎิบัติพิธีกรรมย่อมแตกต่างกันความเชื่อถือของแต่ละศาสนา

คุณค่าของศาสนา

1. เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของมนุษย์

2. เป็นบ่อเกิดแห่งความสามัคคีของหมู่คณะและในหมู่มนุษย์ชาติ

3. เป็นเครื่องดับความเร้าร้อนใจทำให้สงบร่มเย็น

4. เป็นบ่อเกิดแห่งจริยธรรมศีลธรรมและคุณธรรม

5. เป็นบ่อเกิดแห่งการศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม

6. เป็นดวงประทีบส่องโลกที่มืดมิดอวิชชาให้กลับสว่างไสวด้วยวิชา

ประโยชน์ของศาสนา

ศาสนามีประโยชน์มากมายหลายประการกล่าวโดยสรุป 6 ประการคือ

1. ศาสนาเป็นแหล่งกำเนิดจริยธรรม ศาสนาทุกศาสนา สอนให้เราทราบว่า อะไรคือความชั่ว ที่ควรละเว้น อะไรคือสิ่งที่บุคคลในสังคมพึงปฎิบัติ เพื่อให้อยูร่วมกันอย่างมีความสุขดังนั้น ทุกศาสนาจึงเป็นแหล่งกำเนิดแห่งความดีทั้งปวง

2. ศาสนาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต ทุกศาสนาจะวางหลักการดำเนินชีวิตเป็นขั้นๆ เช่น พระพุทธศาสนาวางไว้ 3 ขั้นคือ ขั้นต้นเน้นการพึ่งต้นเองได้มีความสุขตามประสาชาวโลก ขั้นกลางเน้นความเจริญก้าวหน้าทางคุณธรรม และขั้นสูงเน้นการลด ละ โลภ โกรธ หลง

3. ศาสนาให้ผู้นับถือปกครองตนเองได้ หลักคำสอนให้รู้จักรับผิดชอบตนเองคนที่ทำตามคำสอนของศาสนาเคร่งครัดจะมี หิริ โอตตัปปะ ไม่ทำชั่วทั้งที่ลับและที่แจ้ง เพราะสามารถควบคุมตนเองได้

4. ศาสนาช่วยให้สังคมดีขึ้น คำสอนทางศาสนาเน้นให้คุณในสังคมเว้นจากการเบียดเบียนกันเอาเปรียบกันสอนให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อกันเป็นเหตุให้สังคมมีความสงบสันติยิ่งขึ้นสอนให้อดทนเพียรพยายามทำให้ความดีสร้างสรรค์ผลงานและประโยชน์ให้กับสังคม

5. ศาสนาช่วยควบคุมสังคมที่ดีขึ้น ทุกสังคมจะมีข้อระเบียบข้อบังคับจารีตประเพณีและกฎหมายเป็นมาตรการควบคุมสังคมให้สงบสุขแต่สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถควบคุมสังคมให้สงบสุขแท้จริงได้ เช่น กฎหมายควบคุมคนได้เฉพาะพฤติกรรมทางกายและทางวาจาเท่านั้นไม่สามรถลึกลงไปถึงจิตใจได้ ศาสนาเท่านั้นจึงจะควบคุมได้ทั้งกายวาจาและใจ

ศาสนาในประเทศ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทยมีผู้นับถือมากที่สุด รองลงมาคือศาสนา อิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์

สังคมไทยมีความหลากหลายทางด้านการนับถือศาสนา ที่ส่งผลให้มีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันไปตามความเชื่อ ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม แต่โชคดีที่เรามีสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจร่วมกัน ซึ่งถือเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสงบสุขและสมานฉันท์

การอยู่ร่วมในสังคมพหุวัฒนธรรมนั้น สิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้คือ ความแตกต่างทางด้านวิธีคิด ความเชื่อ และการปฏิบัติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องของความเชื่อ ความศรัทธาที่แต่ละคนต่างได้รับการอบรมสั่งสอนตามพ่อแม่และบรรพบุรุษที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา ดังนั้น การเรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การเคารพในการปฏิบัติที่แตกต่างของศาสนิกชนศาสนาอื่นด้วย

“ศาสนาทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี” เป็นคำกล่าวที่เรามักได้ยินบ่อย ๆ และต่างก็คงเชื่อมั่นในคุณงามความดีตามหลักธรรมคำสอนของแต่ละศาสนา และเชื่ออีกเช่นกันว่าถ้าคนไทยทุกคนมีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและหมั่นศึกษาใฝ่เรียนรู้ให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงหลักคำสอนที่ถูกต้องแห่งศาสนาของตน และต่างนำพาไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวันด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ ศาสนาก็จะเป็นพลังสำคัญในชีวิตที่เป็นเหมือนดั่งดวงประทีปคอยส่องสว่างกลางใจทุกคน อันจะนำพาไปสู่ “สันติสุข” และ “สันติภาพ” ในสังคม

การ “แสวงหาจุดร่วมและสงวนจุดต่าง” จึงเป็นสิ่งจำเป็นท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรม ดังนั้นในการอยู่ร่วมกันทุกคนต้องเรียนรู้ เข้าใจ และเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่างศาสนา ต้องไม่คุกคามอัตลักษณ์ ความเชื่อ ศรัทธาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และการปฏิบัติอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ไม่อาจมองข้าม

“วิถีชีวิต 5 ศาสนิกในประเทศไทย” เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่น่าสนใจจัดทำขึ้นโดยคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมกิจการศาสนาและศาสนิกสัมพันธ์ ในคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา เนื่องจากเห็นว่ามักมีบ่อยครั้งที่ศาสนิกต่าง ๆ มีทัศนคติหรือการปฏิบัติที่อาจกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกและการการวางตัวที่ยากลำบากต่อกัน อันเนื่องมาจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจหรือการเข้าใจที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงในศาสนาของต่างศาสนิกหรือแม้แต่ในบางครั้งก็ยังไม่เกิดความเข้าใจในศาสนาที่ตนนับถือได้อย่างถ่องแท้

“5 ศาสนิก” ที่กล่าวถึงในหนังสือดังกล่าว คือ พุทธ อิสลาม คริสต์ พราหมณ์-ฮินดู และซิกข์ เป็นการหยิบยกประเด็นที่ทุกศาสนิกคุ้นเคยและเป็นวัฒนธรรมร่วมในสังคม 4 ประเด็น คือ ข้อปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ข้อปฏิบัติในช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต วันสำคัญทางศาสนา ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ โดยมีการเกริ่นนำถึงรูปแบบและหลักคำสอนพื้นฐานของแต่ละศาสนา

หนังสือ “วิถีชีวิต 5 ศาสนิกในประเทศไทย” เกิดจากเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยอาศัยหลักคำสอนและความร่วมมือระหว่างศาสนิก ศาสนาต่าง ๆ ในประเทศไทย แม้ในเบื้องต้นดำริที่จะบรรจุคำสอนของทุกศาสนาในประเทศไทย แต่ด้วยข้อจำกัดหลายประการจึงเสนอได้เพียง 5 ศาสนาหลัก คือ พุทธ อิสลาม คริสต์ พราหมณ์-ฮินดู และซิกข์ โดยคาดหวังที่จะให้เป็นคู่มือสำหรับเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ได้มีหนังสือทางศาสนาที่ไม่ยากนักต่อการเรียนรู้และนำไปปฏิบัติ รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างศาสนา ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะให้เกิดพลังสร้างสรรค์ร่วมกันในสังคมไทยต่อไป” นายสุริยา ปันจอร์ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสตูล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา กล่าวถึงจุดประกายที่นำมาซึ่งหนังสือเล่มดังกล่าว

“ในยามที่สังคมไทยประสบวิกฤติและสามารถสืบหาสาเหตุได้ว่า วิกฤติทั้งหลายมีต้นตอมาจากตัวมนุษย์ เพราะความห่างไกลของมนุษย์จากหลักธรรมคำสอนของศาสนาเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้น ศาสนาจึงเป็นทางออกหลักเป็นที่พึ่งอันสำคัญของสังคมไทย อันสมควรที่หนังสือ “วิถีชีวิต 5 ศาสนิกในประเทศไทย” จะได้มีส่วนเสริมสร้างพลังให้สังคมไทยรอดพ้นวิกฤติต่าง ๆ” ข้อความตอนหนึ่งจากคำนิยมของนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา

นับเป็นหนังสือที่ดีมากเล่มหนึ่งหากจะมีหน่วยงานหรือองค์กรใดคิดที่จะนำไปประยุกต์ดัดแปลงจัดทำเป็นสื่อการเรียนรู้ร่วมกันในรูปแบบอื่น ๆ ที่หลากหลาย เชื่อแน่ว่าคณะกรรมาธิการการศาสนาฯ วุฒิสภา คงไม่ขัดข้อง ไม่ว่าจะจัดทำเป็นหนังสือ “ฉบับการ์ตูน” ที่ง่ายต่อการอ่านและดึงดูดความสนใจให้น่าอ่านมากยิ่งขึ้น หรือทำเป็น “การ์ตูนแอนิเมชั่น” ซึ่งเป็นสื่อที่เด็กและเยาวชนน้อยคนนักที่จะปฏิเสธ หรือแม้แต่การจัดทำเป็น “หนังสือเล่มเล็ก” ฉบับประชาชน ซึ่งล้วนแล้วแต่จะเป็นการเพิ่มมูลค่าและสร้างความน่าสนใจได้มากยิ่งขึ้น

ณ เวลานี้ คงต้องฝากเป็นโจทย์ให้กับรัฐบาลนำไปคิดพิจารณากำหนดยุทธศาสตร์และวิธีการในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและจิตใจของคนไทยทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมตามหลักธรรมคำสอนของศาสนาที่ตนนับถือให้ฝังแน่นอยู่ในจิตวิญญาณ ทุกคนจะต้องเรียนรู้ เข้าใจ และเคารพความแตกต่างในอัตลักษณ์ซึ่งกันและกันในสังคมพหุวัฒนธรรม เพราะนั่นคือกลไกหนึ่งที่สำคัญและจะนำพาไปสู่ “สันติสุข” และ “สันติภาพ” ให้เกิดขึ้นอย่างถาวรทั้งต่อตนเอง ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และประชาคมโลก.

ฟาฏินา วงศ์เลขา