การจัดการการผลิต การใช้แรงงาน

'ผลิตภาพแรงงาน' เป็นคำที่แพร่หลายตามสื่อช่องทางต่าง ๆ เนื่องจากข่าวสารเรื่องผลิตภาพแรงงานได้รับการพูดถึงอยู่เป็นประจำ เอกสารเผยแพร่เรื่อง 'มุมมองต่อสถานการณ์ผลิตภาพแรงงานไทยในปัจจุบันยังไม่แย่แต่ไม่พอและน่ากังวล' 1 จาก อีไอซี (ศูนย์วิจัยภายใต้ธนาคารไทยพาณิชย์) ก็มีสื่อออนไลน์นำไปลงข่าวไม่น้อย แต่เคยสงสัยหรือไม่ว่า ผลิตภาพแรงงานหมายถึงอะไรกันแน่?

หากพลิกตำราเศรษฐศาสตร์พื้นฐานก็จะพบว่า ผลิตภาพแรงงานคือ อัตราส่วนระหว่างมูลค่าผลผลิตต่อจำนวนแรงงาน หรือในรูปสมการดังนี้

การจัดการการผลิต การใช้แรงงาน
"มูลค่าผลผลิต" คำนวณมาจาก ราคา x ปริมาณสินค้าหรือบริการ เนื่องจากเราไม่สามารถเทียบการผลิตสินค้าหรือบริการตามจำนวนชิ้นงานได้ ลองนึกภาพว่าสินค้าบางประเภทผลิตได้ง่ายอาจผลิตได้เป็นพันเป็นหมื่นชิ้นต่อวัน ในขณะที่สินค้าบางอย่างต้องอาศัยความประณีตและอาจผลิตได้เพียงไม่กี่ชิ้นต่อวัน การแปลงให้เป็นมูลค่าทางการเงินจึงช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ส่วน "จำนวนแรงงาน" อาจใช้จำนวนคนทำงาน หรือเพื่อให้ยุติธรรมมากขึ้นอาจเลือกใช้เป็นชั่วโมงการทำงาน (man-hour) แทน เพื่อให้สะท้อนจำนวน'แรง' ที่ใช้ในการผลิตสินค้าหรือบริการผลิตภาพแรงงานจะวัดในระดับประเทศ ระดับอุตสาหกรรม หรือในระดับองค์กรก็ย่อมได้

นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์มักใช้อัตราส่วนนี้สะท้อนถึง "ความสามารถในการผลิต" เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ขอยกตัวอย่างข้อเขียนจากเว็บไซต์สถาบันเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) ดังนี้

"ผลิตภาพแรงงาน" คือความสามารถในการทำงานที่สามารถพัฒนาหรือเพิ่มศักยภาพให้สูงขึ้นได้หลายวิธีเช่นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานโดยให้แรงงานทำงานกับเครื่องจักรมากขึ้นการฝึกอบรมแรงงานทั้งก่อนหรือขณะปฏิบัติงานเพื่อให้มีความเข้าใจและมีทักษะที่ถูกต้องการส่งเสริมให้แรงงานมีการศึกษาสูงขึ้นการปรับปรุงวิธีการบริหารจัดการธุรกิจและอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพ เป็นต้น 2

เนื้อความข้างต้นสะท้อนให้เห็นการเชื่อมโยงผลิตภาพแรงงานเข้ากับ "ทักษะแรงงาน" ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานร่วมกับเครื่องจักร การฝึกอบรม และการศึกษาอีกทอด ดูเผิน ๆ ก็เหมือนจะไม่มีปัญหาอะไร เพราะการนำมูลค่ามาหารด้วยจำนวนแรงงาน ก็น่าจะสะท้อนว่าการใช้คนจำนวนน้อยผลิตสินค้าที่มีมูลค่ามาก ย่อมมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้คนจำนวนมากผลิตสินค้าที่มีมูลค่าน้อย

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผู้เขียนได้ค้นคว้าในบริบทของประเทศไทย การอ้างถึงผลิตภาพแรงงานมักให้ความสำคัญกับความสามารถในการผลิตเพียงอย่างเดียว เห็นได้ชัดจากข้อเสนองานศึกษาต่าง ๆ ที่มักวนเวียนไม่พ้นการพัฒนาทักษะแรงงาน การฝึกอบรมเพื่อยกระดับคุณภาพแรงงาน เพื่อให้แรงงานมีความสามารถในการทำงานกับเครื่องจักรได้ดียิ่งขึ้น ผู้เขียนมีข้อโต้แย้งว่า ผลิตภาพแรงงานไม่ใช่เครื่องชี้ความสามารถในการผลิตเพียงด้านเดียวแต่ยังรวมถึงปัจจัยอื่นและความสามารถของหน่วยผลิตในการบริหารจัดการอีกด้วย3 ซึ่งอาจจะมีนัยสำคัญมากกว่าความสามารถด้านการผลิตเสียอีก

เมื่อมูลค่าเท่ากับราคา x ปริมาณ ราคาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของมูลค่า และนักเศรษฐศาสตร์ยอมรับกันโดยทั่วกันว่า ราคาถูกกำหนดขึ้นในตลาดร่วมกันจากพลังของอุปสงค์และอุปทาน นั่นหมายความว่าราคาเป็นส่วนกำหนดผลิตภาพแรงงานด้วยเช่นกัน ในบริบทที่แตกต่างกันทำให้ความต้องการของผู้บริโภคแตกต่างกันนำไปสู่ความเต็มใจจ่ายของผู้บริโภคที่แตกต่างกัน และสุดท้ายคือราคาสินค้าหรือบริการก็แตกต่างกันในแต่ละสังคมด้วย ตัวอย่างเช่นการประมูลปลาทูน่าครีบน้ำเงินหนัก 276 กิโลกรัมในประเทศญี่ปุ่นด้วยราคาสุดท้ายราว 54.36 ล้านบาทเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2563 ถือว่าแพงที่สุดเป็นลำดับ 2 นับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติการประมูล4 ราคาที่สูงลิ่วส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้คนในประเทศญี่ปุ่นให้ค่ากับการกินปลาทูน่าครีบน้ำเงิน สมมติว่าชาวประมงที่ร่วมกันจับเจ้าปลาทูน่าตัวนี้นำไปขายในประเทศที่ไม่ได้นิยมเนื้อปลาทูน่าสีแดงเอาเสียเลย และหากราคาขายในประเทศนั้นต่ำกว่าในประเทศญี่ปุ่น ก็จะกดให้ผลิตภาพชาวประมงน้อยลงไปทันที ทั้ง ๆ ที่งานของชาวประมงคือการจับปลาเหมือนเดิม ความสามารถในการจับปลาก็คงเดิม และผลผลิตก็ยังเป็นเจ้าปลาทูน่าตัวเดียวกัน

นอกจากนั้น ในโลกความเป็นจริงผู้ผลิตมักมีอำนาจเหนือตลาด (market power) ที่ทำให้สามารถตั้งราคาให้สูงกว่าต้นทุน ได้ไม่มากก็น้อย (เรียกว่าการ mark-up) วิธีการสร้างอำนาจเหนือตลาดแบบหนึ่งคือการทำให้ผู้บริโภค "รู้สึก" พึงพอใจในการบริโภคสินค้าหรือบริการและยอมจ่ายด้วยราคาที่สูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นด้วยการพัฒนาคุณภาพหรือภาพลักษณ์ดังนั้น การตัดสินใจของผู้บริหารในการเลือกกลยุทธ์ทางการตลาด การเจาะตลาดหรือหาตลาดใหม่ ๆ การสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ ฯลฯ ล้วนมีผลต่อการกำหนดราคาสินค้าทั้งสิ้น มิเช่นนั้นวิชาการตลาดคงไร้ความหมายไปแล้วในปัจจุบันยกตัวอย่างเช่นสมมติให้มีหน่วยผลิตกระเป๋าสองราย มีจำนวนแรงงานและผู้บริหารเท่ากันทั้งหมด ผลิตกระเป๋าที่มีคุณภาพเท่ากันได้จำนวนเท่ากันในแต่ละวัน แต่ผู้บริหารของหน่วยผลิตรายหนึ่งสามารถสร้างภาพลักษณ์สินค้าให้เป็น "กระเป๋าแบรนด์เนม" ขายในราคาใบละร่วมหมื่นร่วมแสนส่วนอีกรายนำกระเป๋าแบขายกับดินตามตลาดนัดอาจตั้งราคาได้เพียงหลักร้อย

การพัฒนาทักษะแรงงานให้มีความยืดหยุ่นในการผลิตเพื่อรองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วอย่างทุกวันนี้ เป็นแนวนโยบายที่ควรได้รับการสนับสนุน แต่การเสนอแนะนโยบายลักษณะนี้เป็นเพียงด้านเดียวของการพัฒนาผลิตภาพแรงงานเท่านั้น เราต้องสร้างข้อถกเถียงเพิ่มเติมในประเด็นเช่น สินค้าหรือบริการของเราเป็นที่ต้องการของตลาดโลกหรือไม่ การบริหารจัดการในองค์กรของเรามีประสิทธิภาพหรือยัง มีข้อจำกัดอะไรที่ทำให้เราไม่สามารถก้าวข้ามการเป็นประเทศ "รับจ้างผลิต" ไปสู่ประเทศนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ฯลฯ

1https://www.scbeic.com/th/detail/product/5942
2https://tdri.or.th/2016/11/labour-productivity/
3เนื้อหาการโต้แย้ง อ้างอิงจากงานเขียนของ Roger L. Martin เรื่อง 'What Economists Get Wrong About Measuring Productivity'
4https://thestandard.co/japan-bluefin-tuna-auction-second-highest-price-on-record/