การคิดในเชิงบวก

ผู้เขียนได้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมหลักสูตร “การพัฒนาความคิดเชิงบวกเพื่อประสิทธิภาพในการทำงาน” จัดโดย สำนักเสริมศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 11-12 มิถุนายน 2558 วิทยากร คือ  อ.สุรวัฒน์ ชมภูพงษ์ การอบรมประกอบด้วยการฟังบรรยาย และฝึกปฏิบัติ เนื้อหาการอบรมสรุปได้ดังนี้

การทำงานเพื่อมุ่งสู่องค์กรที่เป็นเลิศ ทำให้เกิดประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ ต่อไปนี้

  1. ความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค (Core Technical)
  2. บริการเป็นเลิศ (Services Excellence)
  3. การตลาดและการสื่อสาร (Sale marketing & communication)
  4. ความเชี่ยวชาญเฉพาะ (Specialization)
  5. ความเป็นผู้นำ (Leadership)
  6. ประสิทธิผลการบริหารจัดการ (Management Effectiveness)

การบริหารแนวใหม่ (Modern management) ประกอบด้วย

  1. โลกาภิวัฒน์ (Globalization)
  2. สิทธิมนุษยชน (Human rights)
  3. สิ่งแวดล้อม (Environment)
  4. การมีส่วนร่วม (Participative democracy)
  5. มนุษยสัมพันธ์ (Human relations)
  6. บุคลิกภาพ (Personality)
  7. ความคิดสร้างสรรค์ (Creative thinking)

การบริหารแนวใหม่ด้วยความคิดเชิงบวก (Positive thinking) ประกอบด้วย

  1. ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual property)
  2. การจัดการทีม (Team management)
  3. การจัดการความเครียด (Stress management)
  4. การจัดการเวลา (Time management)
  5. อารมณ์ขัน (Sense of humor)
  6. วิธีการนำเสนอ (How to presentation)

บุคคลที่มีความคิดเชิงบวก มีลักษณะดังนี้

  1. มีความหวัง (Hope) รู้สึกด้านบวกต่อเป้าหมาย (Goal) ว่าจะสำเร็จได้ ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ ความมุ่งมั่นในการค้นหาและทำตามกระบวนวิธีเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายนั้น
  2. มองโลกในแง่ดี (Optimism) มีการคาดหวังผลลัพธ์ที่ดีท่ามกลางอุปสรรคปัญหา เป็นมุมมองที่เชื่อว่าเหตุการณ์นั้นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงที่ดีต่อกัน จึงย่อมเกิดผลดีในที่สุด
  3. มีความเชื่อมั่นในสมรรถนะของตน (Self-efficacy) เป็นความมั่นใจในความสามารถของตน ในการรับมือและเอาชนะสิ่งท้าทายที่ต้องเผชิญ
  4. มีความยืดหยุ่น (Resilience) เป็นความสามารถในการต้านทานและรับมือกับความเครียดและปัญหา อีกทั้งสามารถทำให้ตนเองกลับคืนสู่ปกติได้อย่างรวดเร็วหลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก
  5. มีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient) เป็นความสามารถในการควบคุมอารมณ์ มีจิตใจที่มั่นคง การมองโลกในแง่ดี รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา มีความมุ่งมั่นแน่วแน่ มีเหตุผล มีสติ สามารถควบคุมตนเอง มีความสามารถในการรับรู้ถึงความต้องการของคนอื่น และรู้จักมารยาททางสังคม เป็นต้น

ทักษะมองโลกในแง่ดี (Optimism) มีดังนี้

  1. มองหาแหล่งสนับสนุนอื่นๆ (Others) มีใครที่จะสามารถสนับสนุนช่วยเหลือได้อีกบ้าง
  2. มองหาด้านบวก (Positive) เรื่องที่เกิดขึ้นทำให้เรียนรู้อะไร ฝึกฝนเราในเรื่องอะไร
  3. มองหาเวลาสิ้นสุด (Time) เรื่องนี้คาดว่าจะบรรเทาลงเมื่อใด และจะสิ้นสุดลงเมื่อใด
  4. มองผลกระทบ (Impact) จะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง และจะป้องกันหรือลดผลกระทบนี้อย่างไร
  5. มองถึงการจัดการด้วยตนเอง (Manage) มีอะไรที่เราพอจะทำได้บ้าง เพื่อคลี่คลายปัญหาและผลกระทบ และมั่นใจว่ารับมือได้

วิธีการฝึกคิดเชิงบวก  คือ การสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง  เชื่อในสิ่งที่ดีงามว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง มองสิ่งต่างๆ อย่างเข้าใจ ยอมรับได้ในด้านลบ มองปัญหา ความทุกข์ ความไม่ราบรื่นเป็นเรื่องธรรมดา รู้จักเลือกใช้ประโยชน์จากด้านบวกที่แฝงอยู่จากสิ่งนั้นๆ  ได้  เหตุการณ์บางอย่าง เราไม่สามารถเลือกได้ว่าจะให้เกิดหรือไม่ให้เกิด   แต่เมื่อเกิดขึ้นไปแล้ว เราเลือกได้ว่าจะมองและรู้สึกกับมันอย่างไร  การฝึกตนให้เป็นคนคิดในเชิงบวกอยู่เสมอจะทำให้เป็นคนที่ความสุขในชีวิต การคิดบวกจะเป็นพลังขับเคลื่อนให้มีพฤติกรรมที่จะตอบสนองต่อบุคคลรอบข้างในทางบวก

  1. มองตัวเองว่า “มีดี”
  2. มองคนอื่นว่าดี ดึงความดีของคนอื่นออกมาชื่นชม
  3. มองสิ่งที่เหลืออยู่ไม่ใช่สิ่งที่ขาด
  4. หมั่นบอกตัวเองให้คิดบวก
  5. ใช้ประโยชน์จากคำ “ขอบคุณ”

ความคิดเชิงบวกกับการทำงาน

  1. รู้สึกดีกับงานที่ทำอยู่ และมีความอยากที่จะทำงานนั้น
  2. ไม่กลัวความล้มเหลว เชื่อว่าปัญหาทุกอย่างสามารถแก้ไขได้ ทุกคนสามารถเรียนรู้และเข้าถึงปัญหาได้
  3. เชื่อมั่นว่าสามารถทำงานนั้นได้ แม้ว่างานนั้นจะยากหรือไม่เคยทำงานนั้นมาก่อน
  4. เมื่อล้มเหลว ก็ให้บอกกับตัวเองว่าเป็นประสบการณ์ชีวิต
  5. เชื่อว่าการคิดดี ทำดี มีจิตสำนึกดีนั้นทำได้ทันที
  6. เชื่อว่าทุกคนมีส่วนดี สนับสนุนให้นำส่วนดีแต่ละคนมาใช้ประโยชน์ต่อการทำงาน
  7. เมื่อสำเร็จ ผลลัพธ์ที่ได้จะส่งผลหลายๆ อย่างให้เรา

การเสริมพลังด้วยความคิดเชิงบวกในการทำงาน

  1. ดูแบบอย่างจากคนอื่นที่ทำสำเร็จ
  2. หลีกเลี่ยงการสมาคมกับคนมองโลกในแง่ร้ายหรือแง่ลบ
  3. สร้างกลุ่มเพื่อนที่มองโลกในแง่ดีหรือแง่บวก
  4. ให้คำชมเชยจุดเด่นของผู้มาเยือน
  5. เขียนบันทึกประจำวันเป็นประจำทุกวัน
  6. หาคนที่สามารถพูดคุยอย่างเปิดอกได้อย่างสนิทใจ
  7. เขียนจดหมาย/จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงเพื่อน
  8. อ่านหนังสือ
  9. ฝึกสมาธิ