ปัญหา การเมือง มี อะไร บาง

ปัญหา การเมือง มี อะไร บาง

ถ้าเราไม่มี…หัวหน้า รองหัวหน้า การแบ่งหน้าที่เวรแต่ละวัน กฎระเบียบและข้อตกลงภายในห้อง เพื่อน ๆ คิดว่าห้องเรียนของเราจะเป็นยังไง ?

นึกแล้วคงวุ่นวายน่าดูถ้าต่างคนต่างมาเรียน ไม่มีเวรคอยทำความสะอาดห้อง เวลารวมงานไปส่งก็ไม่รู้จะส่งที่ใคร จะติดต่อกับครูก็ไม่รู้จะให้ใครเป็นตัวแทนดี แถมยังมีโอกาสเกิดปัญหาชวนปวดหัวอีกมากมายตามมาในอนาคต 

ดังนั้น การมอบหมายตำแหน่งหน้าที่และการมีข้อตกลงต่าง ๆ จึงช่วยจัดระเบียบให้เราสามารถอยู่ร่วมกันในห้องเรียนหรือสังคมได้อย่างสงบสุข เช่นเดียวกับประเทศของเราที่ต้องมีการจัดสรรทรัพยากร มอบหมายหน้าที่ เลือกตัวแทน และจัดระเบียบสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเราเรียกกิจกรรมที่เกิดขึ้นเหล่านี้ว่า ‘การเมือง’ นั่นเอง

การเมืองคืออะไร ?

มีผู้ให้ความหมายของการเมือง หรือ Politics ไว้หลากหลาย อย่างฮาโรลด์  ลาสเวลล์ (Harold D. Lasswell) นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันได้กล่าวถึงความหมายของการเมืองไว้ว่า ‘การเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจว่าใครจะได้อะไร เมื่อไหร่ อย่างไร’ ส่วนพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายของการเมืองไว้ 3 ความหมาย ได้แก่ ‘ความหมายแรก คืองานที่เกี่ยวกับรัฐหรือแผ่นดิน ความหมายที่สอง คือการบริหารประเทศเฉพาะที่เกี่ยวกับนโยบายในการบริหารประเทศ และความหมายสุดท้าย คือ กิจการอำนวยหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน’ จากความหมายข้างต้น เราจึงสรุปได้ว่า การเมือง คือ กิจกรรมในการจัดระเบียบหรือปกครองของสังคมมนุษย์ เพื่อสร้างความสงบสุขให้กับสังคม 

ระบอบการเมืองการปกครอง

เวลาเราเลือกหัวหน้าห้อง หรือแบ่งหน้าที่กับเพื่อน ๆ บางครั้งก็ใช้วิธีการโหวตร่วมกันทั้งห้อง บางครั้งคุณครูเป็นคนเลือกและจัดการทุกอย่าง เช่นเดียวกับการบริหารประเทศที่มีวิธีการเลือกตัวแทนหรือมอบหมายหน้าที่แตกต่างกันออกไป แต่ละสังคมจึงมีระบอบการเมืองการปกครองที่แตกต่างกันไปด้วย ซึ่งได้แก่ 

  • ประชาธิปไตย (Democracy) เป็นการปกครองที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง และอำนาจสูงสุดอยู่ที่ประชาชน
  • สังคมนิยม (Socialism) เป็นการปกครองที่รัฐบาลเป็นผู้วางแผนเศรษฐกิจ สามารถแทรกแซงเอกชน และควบคุมกิจการที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภค ไม่ปล่อยให้เอกชนดำเนินการเองอย่างอิสระ
  • คอมมิวนิสต์ (Communism) เป็นแนวคิดของนักปรัชญาชาวเยอรมันที่ชื่อว่า คาร์ล มากซ์ (Karl Marx) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสังคมที่ไม่มีชนชั้น อย่างไรก็ดีมีผู้วิจารณ์ว่าแนวคิดของมากซ์ไม่สามารถเป็นจริงได้ เพราะสังคมมนุษย์ยังต้องการรัฐบาลปกครอง เช่น สหภาพโซเวียตที่อ้างว่าใช้ระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์เข้าไปจัดการชีวิตของประชาชนและทรัพยากรของประเทศให้เกิดความเท่าเทียม แต่ขณะเดียวกันก็ใช้อำนาจในการปกครองอย่างเข้มงวด จนมีผู้เข้าใจว่าระบอบคอมมิวนิสต์เป็นระบบเผด็จการแบบหนึ่ง
  • ราชาธิปไตย (Monarchy) เป็นการปกครองโดยอำนาจการปกครองอยู่ที่ประมุขของรัฐแต่เพียงผู้เดียว และมีการสืบทอดอำนาจดังกล่าวให้กับผู้สืบทอดทางสายเลือด ซึ่งสังคมที่มอบอำนาจการปกครองทั้งหมดให้กับกษัตริย์ เรียกว่า การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ส่วนสังคมที่มีรัฐบาลบริหาร และมอบอำนาจให้กับกษัตริย์ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญเรียกว่า การปกครองแบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

สถานการณ์การเมืองไทย

หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ในปีพ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน ได้มีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ทั้งการชุมนุม การทำรัฐประหาร และการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ซึ่งบทความนี้เราจะพาเพื่อน ๆ ไปดูสถานการณ์ทางการเมืองที่สำคัญของไทยตามลำดับเวลากัน โดยเริ่มจากช่วงปีพ.ศ. 2540 เรื่อยมามาจนถึงปัจจุบัน

  • ปี พ.ศ. 2540 เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง หรือวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของไทยในสมัยรัฐบาล พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ พร้อมกันนั้นในปีนี้ประเทศไทยได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ซึ่งถือกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการร่างของประชาชนเพราะมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างทั้งการรับฟังความคิดเห็น และการคัดเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นตัวแทนของทั้ง 76 จังหวัด
  • ปี พ.ศ. 2544 - 2549 นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล มีนโยบายที่สำคัญหลายอย่าง เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค หมู่บ้านเอื้ออาทร  กองทุนหมู่บ้าน และชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2548 อย่างถล่มทลาย
  • ปี พ.ศ. 2549 เกิดเหตุการณ์รัฐประหารขึ้น โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คมช.)
  • ปี พ.ศ. 2550 พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งและมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 
  • ปี พ.ศ. 2551  กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กลุ่มคนเสื้อเหลือง) ประท้วงรัฐบาลพรรคพลังประชาชนจากข้อกล่าวหาการทุจริตการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคพลังประชาชนจากคดีทุจริตการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550
  • ปีพ.ศ. 2551 รัฐสภาเลือกนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (คนเสื้อแดง) ได้ออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ และมีการสลายการชุมนุมในปี พ.ศ. 2553 ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
  • ปี พ.ศ. 2554  รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภา มีการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2554  โดยพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตรขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงปี พ.ศ. 2556 - พ.ศ. 2557 ต่อมาคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีประมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ได้ออกมาประท้วงรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเพราะการเตรียมออกพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน การออกนโยบายจำนำข้าว และการเตรียมเสนอฎหมายนิรโทษกรรมทางการเมือง
  • ปี พ.ศ. 2557 เกิดการปฏิวัติโดยคณะกรรมการรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2557 โดยพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
  • ปี พ.ศ. 2560 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญพ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20

ปัญหา การเมือง มี อะไร บาง

(ภาพการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา ขอบคุณภาพจาก Workpoint)


  • ปี พ.ศ. 2562 มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรกนับแต่ปี พ.ศ. 2554 และรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจำนวน 500 คน รวมกับสมาชิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้ง 250 คน ได้เลือกพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถือว่าเป็นการดำรงตำแหน่งสมัยที่สองของพลเอกประยุทธ์  อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยและตั้งคำถามถึงความโปร่งใสของรัฐบาลชุดนี้จนกลายเป็นกระแสในโลกโซเชียลมีเดียหลายประเด็น จนกระทั่งช่วงเดือนกรกรฎาคม พ.ศ. 2563 กลุ่มเยาวชนปลดเอกได้จัดการชุมนุมประท้วงและเสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อต่อรัฐบาล ได้แก่ การยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 

ปัญหาการเมืองไทย

ปัญหา การเมือง มี อะไร บาง

จากแผนภาพ เพื่อน ๆ จะเห็นว่าปัญหาการเมืองไทยเป็นวงจรอุบาทว์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดังนี้

  1. รัฐบาลเกิดการทุจริต ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม และมีปัญหาเรื่องจริยธรรม
  2. ประชาชนไม่พอใจ จึงเรียกร้องโดยการออกมาประท้วงบนท้องถนน ซึ่งในช่วงยี่สิบปีหลังมานี้การประท้วงมาพร้อมกับความรุนแรงและการใช้กำลังอาวุธ ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
  3. ความรุนแรงจากการประท้วงและการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้กองทัพใช้เป็นเหตุผลในการยึดอำนาจจากรัฐบาล ซึ่งการยึดอำนาจโดยกองทัพทำให้ต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเก่า แล้วร่างฉบับใหม่ขึ้นมา
  4. เกิดการเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ หลังยุบสภาและยึดอำนาจเรียบร้อยแล้ว หรือเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่
  5. เกิดปัญหาเดิมในรัฐบาลชุดใหม่คือ รัฐบาลเกิดการทุจริต ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม และมีปัญหาเรื่องจริยธรรม ทำให้ประชาชนที่ไม่พอใจออกมาประท้วงอีกครั้ง กลายเป็นวงจรอุบาทว์ของการเมืองไทยนั่นเอง

แนวทางการแก้ปัญหาการเมืองไทยตามบทเรียน

  1. ประชาชนต้องตระหนักรู้ในบทบาท หน้าที่ และสิทธิของตนเองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
  2. การปฏิบัติตามกฎและกติกาทางการเมืองตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  3. เคารพในความคิดเห็นของผู้อื่น

กระบวนการตรวจสอบอำนาจรัฐโดยประชาชน

สำหรับการเมืองการปกครองของไทย ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจะเลือกนายกรัฐมนตรี แล้วนายกรัฐมนตรีก็จะเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นมา ซึ่งจะเห็นได้ว่าประชาชนมีสิทธิเลือกผู้แทนเข้าไปบริหารประเทศ ประชาชนจึงมีสิทธิตรวจสอบการทำงานของผู้แทนด้วยเช่นกัน โดยมาตรา 78 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 กล่าวว่า ‘รัฐต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ ทั้งการจัดทำบริการสาธารณะ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การต่อต้านการทุจริต รวมทั้งการตัดสินใจทางการเมือง และบริการอื่น ๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชน’ ดังนั้น ประชาชนสามารถตรวจสอบอำนาจรัฐและมีสิทธิแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ โดยสามารถทำได้ดังนี้

  • การเข้าชื่อของประชาชน เพื่อเสนอแนะหน่วยงานของรัฐ หรือเสนอให้แก้ไข/ร่างกฎหมาย จำนวน 10,000 รายชื่อ ส่วนการเข้าชื่อของประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 50,000 รายชื่อ
  • การร้องเรียนถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบ การร้องเรียนถึงองค์กรอิสระ เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) 
  • การร้องเรียนรัฐสภา เช่น การยื่นเรื่องถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

กระบวนการตรวจสอบอำนาจรัฐโดยองค์กรอิสระ

นอกจากการตรวจสอบอำนาจรัฐโดยประชาชนแล้ว ยังมีการตรวจสอบจากองค์กรอิสระอีกด้วย ซึ่งองค์กรอิสระ คือ องค์กรที่ไม่ขึ้นกับภาครัฐ มีอำนาจภายใต้ขอบเขตความรับผิดชอบของหน่วยงาน สามารถชี้มูลความผิดเพื่อนำเรื่องส่งต่อให้ศาลยุติธรรม (กรณีเป็นคดีอาญา) ตามรัฐธรรมนูญ 2560 โดยองค์กรอิสระที่ว่านี้มาจากการสรรหาโดยมีวุฒิสภาเป็นผู้พิจารณา เช่น

  • คณะกรรมการการเลือกตั้ง ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งและออกเสียงประชามติ สืบสวนสอบสวนกรณีทุจริตการเลือกตั้ง สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่กรณีทุจริตการเลือกตั้ง ลงโทษและถอดถอนผู้กระทำการทุจริตการเลือกตั้ง รวมถึงออกกฎระเบียบการเลือกตั้ง
  • ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหน้าที่ติดตามและตรวจสอบฝ่ายบริหารและข้าราชการเมื่อเกิดกรณีมีข้อร้องเรียนเรื่องการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบซึ่งสร้างความเสียหายหรือความเดือดร้อนแก่ประชาชน เสนอแนะการแก้ไขกฎระเบียบหรือข้อปฏิบัติของภาครัฐเพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการทำงานรับใช้ประเทศ
  • คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)มีหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐและข้าราชการเพื่อป้องกันการทุจริต และสามารถส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องร้องในชั้นศาลต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจากอิทธิพล จึงวัฒนาวงค์ (ครูจั๊มป์)

ปัญหา การเมือง มี อะไร บาง

Did you know ?

Did you know ? วันนี้ขอเสนอคำในหมวดการเมืองที่เพื่อน ๆ หลายคนน่าจะสับสนกันบ่อย ๆ ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูพร้อมกันเลยดีกว่า !

  • ความแตกต่างของกบฎ - ปฏิวัติ - รัฐประหาร

จุดร่วมของทั้งสามคำนี้ คือการใช้กำลังยึดอำนาจทางการเมืองและเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ส่วนความแตกต่างคือ ‘รัฐประหาร ( Coup d , Etat)’ เป็นการยึดอำนาจจากรัฐบาล โดยอาจมีการประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมและจัดการเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ ส่วน ‘การปฏิวัติ (Revolution)’ เป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีการปฏิวัติเพียงครั้งเดียวคือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งการปฏิวัติและรัฐประหารนี้ หากทำไม่สำเร็จจะเรียกว่า กบฏ (Rebellion) นั่นเอง

  • ความแตกต่างของทุนนิยม - สังคมนิยม - คอมมิวนิสต์

สามคำข้างต้นเป็นระบบเศรษฐกิจสามรูปแบบ ซึ่งระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม คือ การปล่อยให้เอกชนเป็นเจ้าของกิจการและแข่งขันกันได้อย่างเสรี รัฐไม่มีสิทธิเข้ามาแทรกแทรง ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนี้ แม้จะทำให้เศรษฐกิจดี แต่ก็มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม และการกดขี่จากนายทุนเกิดขึ้นเช่นกัน ต่อมาจึงเกิดแนวคิดที่ต้องการแก้ปัญหาของระบบทุนนิยมขึ้น ซึ่งสองแนวคิดนั้นคือ สังคมนิยม และคอมมิวนิสต์นั่นเอง แต่คอมมิวนิสต์ รัฐจะยึดครองทรัพยากรทุกสิ่ง และแจกจ่ายให้ผู้คนอย่างเท่าเทียมกัน โดยมีเป้าหมายสูงสุดที่เรียกว่า ยูโทเปีย (Utopia) คือสังคมที่ไม่มีชนชั้น ทุกคนเท่าเทียมกันและอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังไม่มีสิ่งที่เรียกว่ายูโทเปียเกิดขึ้นจริงบนโลกจากระบบคอมมิวนิสต์นี้ 

ส่วนระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม จะยืดหยุ่นกว่าคอมมิวนิสต์มากขึ้น คือรัฐไม่ได้ครอบครองทรัพยากรทุกอย่าง แต่เข้าไปแทรงแซงเอกชน และยึดครองทรัพยากรเพียงบางส่วน อย่างรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้าและการรถไฟ ก็นับเป็นรูปแบบหนึ่งของสังคมนิยมเช่นกัน

ไหน ๆ ก็อ่านเรื่องการเมืองไปแล้ว ใครสนใจเรื่องความเท่าเทียมลองแวะไปอ่านบทความเรื่องสีผิวไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนมองบทเรียนวรรณคดีไทยและประเด็นเรื่องสีผิว และบทความเรียนรู้เรื่องความเท่าเทียมไปกับ SpongeBob SquarePants กันต่อ หรือจะเตรียมสอบแบบความรู้แน่นแถมสนุกยิ่งขึ้น ไปกับแอปพลิเคชัน StartDee ก็ได้นะ ! 

Reference

Histofun Deluxe. (2020, February 15). Histofun DELUXE. Retrieved August 05, 2020, from https://www.blockdit.com/articles/5e48150e06e6460cb170c81f

ประวัติการยึดอำนาจในประเทศไทย. (n.d.). Retrieved August 05, 2020, from http://www.satit.up.ac.th/BBC07/AroundTheWorld/pol/145.html