ฝุ่น pm 2.5 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

“สภาพอากาศขั้นวิกฤติ” นี้ยังได้สร้างผลกระทบต่อบรรยากาศการใช้จ่าย ความเชื่อมั่น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยเพิ่มขึ้นด้วย หลังจากที่มีข่าวว่ากรุงเทพฯติดอันดับ 1 ใน 10 เมืองที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานโลก

โดยก่อนหน้านี้ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมินในเบื้องต้นว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาที่ประสบอยู่นี้หากเกิดขึ้นในกรอบเวลา 1 เดือน จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นเงินขั้นต่ำ 2,600 ล้านบาท หรืออาจพุ่งสูงถึง 6,600 ล้านบาท ในกรณีเลวร้าย ทั้งในประเด็นสุขภาพ การเสียโอกาสการใช้จ่ายและการท่องเที่ยว

ภายใต้สมมติฐานว่า กรณีดังกล่าวอาจจะทำให้ 50% ของผู้ที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลต้องเดินทางไปพบแพทย์ คิดเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และค่าเสียโอกาสในการประกอบอาชีพเฉลี่ยอยู่ที่ 1,000 บาทต่อคน ขณะที่ค่าใช้จ่ายในส่วนหน้ากากอนามัย คิดเฉลี่ยขั้นต่ำที่ 22.50 บาทต่อวัน ทำให้ประเมินค่าเสียโอกาสจากประเด็นด้านสุขภาพ คิดเป็นเม็ดเงินราว 1,600-3,100 ล้านบาท

ส่วนค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยว เกิดทั้งจากกรณีนักท่องเที่ยวเลี่ยงมาเที่ยวกรุงเทพฯ และกรณีเลี่ยงไม่มาเที่ยวเมืองไทยไปเลย คิดเป็นเม็ดเงินค่าเสียโอกาสเบื้องต้นที่ประมาณ 1,000-3,500 ล้านบาท

ผลกระทบจากปัญหาฝุ่นพิษยังก่อให้เกิดคำถามถึงความจำเป็นในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐ และโครงการก่อสร้างเอกชนที่กำลังเดินหน้าอยู่ การหยุดทำงานของโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อลดการปล่อยมลพิษ รวมทั้งการแก้ปัญหาสภาพการจราจรติดขัดและการลดการใช้น้ำมันดีเซลทั้งหมดกระทบต่อแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจภาพรวมของไทยในระยะต่อไป!!

ยิ่งไปกว่านั้น “พิษของฝุ่น” ยังกระทบลึกลงไปถึง “เศรษฐกิจข้างทาง” เศรษฐกิจระดับรากฐานของประเทศ คนที่ต้องทำงานในพื้นที่เมืองที่เต็มไปด้วยฝุ่นละออง ไม่ว่าจะเป็นคนงานก่อสร้าง บรรดาแม่ค้าหาบเร่แผงลอย ร้านค้าริมถนน แม้กระทั่งวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ทั้งผลกระทบในด้านสุขภาพ และรายได้

ในวันที่เรายังไม่เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนว่าเราจะผ่านพ้น “วิกฤติฝุ่นพิษ” นี้ไปได้อย่างไร “ทีมเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์ถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อความเป็นอยู่ และมาตรการนำมาใช้บรรเทา “ฝุ่นพิษ” จากภาครัฐ นักวิชาการ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อสะท้อนให้เห็นปัญหาและหาทางรับมือ...

เศรษฐกิจกระทบหมื่นล้าน

เริ่มต้นจากผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ และการท่องเที่ยว “ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย” ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ฝุ่นจิ๋วแม้ว่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้นๆ แต่ส่งผลกระทบในหลายด้าน คิดเป็นมูลค่า 5,000-10,000 ล้านบาท

โดยประเมินจากผลกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิตประจำวัน คิดเป็นมูลค่า ไม่ต่ำกว่า 50-1,000 ล้านบาท เพราะต้องซื้อหน้ากากอนามัยมาใช้ จนเกิดภาวะขาดแคลน ทำให้ผู้ประกอบการต้องผลิต และนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยคาดว่ายอดนำเข้าเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 200-300 ล้านบาท รวมทั้งเงินที่ประชาชนต้องใช้จ่ายไปกับการรักษาอาการเจ็บป่วย

นอกจากนี้ ยังกระทบต่อรายได้ของผู้ค้าอาหารข้างทางและห้างร้านต่างๆ เพราะประชาชนออกจากบ้านน้อยลง เดินช็อปปิ้งหรือซื้ออาหารข้างทางน้อยลง เพราะกังวลต่อความสะอาด น่าจะทำให้รายได้ผู้ประกอบการหายไป 1,000-2,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน จะมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติกังวลปัญหาสุขภาพ และอาจไม่มาเที่ยวไทย ทำให้รายได้หายไปไม่ต่ำกว่า 1,000-2,000 ล้านบาท

“หากสถานการณ์ฝุ่นขนาดจิ๋วยังไม่คลี่คลายใน 1 เดือน จะเห็นภาพผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคส่วนต่างๆ คิดเป็นมูลค่าอย่างต่ำ 5,000-10,000 ล้านบาท แต่หากในอนาคตรัฐบาลยังแก้ปัญหาไม่ได้จะกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมมากขึ้น เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวจะหายไปมากขึ้น และกระทบต่อระบบประกันสุขภาพของประเทศ เพราะประชาชนจะเจ็บป่วยและเข้ารับการรักษามากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น รัฐบาลต้องให้ความรู้กับประชาชนถึงวิธีการป้องกันตัว การตรวจคุณภาพรถยนต์ และดูแลการก่อสร้างไม่ให้เกิดฝุ่นละออง ส่วนระยะปานกลาง ต้องเช็กปริมาณฝุ่นละอองเป็นประจำ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวง และเมืองท่องเที่ยว เพราะยังต้องมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสายอีกอย่างน้อย 3-5 ปี รวมถึงฝุ่นละอองในโรงงานอุตสาหกรรม และในระยะยาว รัฐบาลต้องวางแผนทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น เช่น ส่งเสริมให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงแทนน้ำมันดีเซล จำกัดอายุการใช้งานของรถยนต์ เป็นต้น

อุตสาหกรรมคุมเข้มมลพิษโรงงาน

หันมาที่การเร่งแก้ปัญหาของฝั่งรัฐบาล โรงงานอุตสาหกรรม ถือเป็นอีกหนึ่ง “จำเลย” ที่สร้างฝุ่นละอองและมลพิษในอากาศ ซึ่ง “นายอุตตม สาวนายน” รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้เร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และหาทางป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้น “ซ้ำรอย” เดิมอีกในอนาคต

“เราได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน และมลพิษทางอากาศจากภาคอุตสาหกรรม โดยจัดทำแผนการตรวจ กำกับ ดูแล และเฝ้าระวังโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงานที่มีความเสี่ยงจะเกิดฝุ่นและมลพิษแบบปูพรมทั่วประเทศ หากพบให้จัดการตามกฎหมายอย่างทันที”

โดยให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ตรวจวัดคุณภาพอากาศจากปลายปล่องของโรงงานขนาดใหญ่ และกำกับดูแลอย่างเข้มงวด อีกทั้งให้ตรวจวัดมลพิษทางอากาศในพื้นที่ที่มีโรงงานหนาแน่น และเลือกตรวจสอบเป็นพิเศษในโรงงานที่มีความเสี่ยงสูงสุดใน 12 จังหวัด อีก 20 โรงงาน ในกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี และราชบุรี ขณะที่ กรอ.ได้ออกกฎหมายเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุม และกำหนดให้โรงงานที่มีความเสี่ยงสูงติดตั้งระบบตรวจวัดมลพิษอากาศจากปล่องระบายอย่างต่อเนื่องอัตโนมัติ (CEMS) ตลอด 24 ชม. ซึ่งมีโรงงานที่ต้องปฏิบัติตาม 600 แห่ง

“นอกจากนั้น งานที่สำคัญคือ การเฝ้าระวังมลพิษทางอากาศในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แต่ข้อดีคือโรงงานส่วนใหญ่ในอีอีซีนิยมใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสะอาด และมักใช้ระบบการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่อุณหภูมิสูง มีการเผาไหม้สมบูรณ์ จึงไม่มีผลกระทบด้านฝุ่นละออง อีกทั้งอุตสาหกรรมตั้งกิจการในอีอีซี เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตที่ปลอดมลพิษ และยังมีมาตรการเฝ้าระวังการระบายมลพิษอากาศ จึงไม่น่ามีปัญหาฝุ่นละอองเพิ่มขึ้น”

คมนาคมตื่น!ปรับกลยุทธ์ลดฝุ่น

ขณะที่กระทรวงคมนาคมไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหานี้เช่นกัน “นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คมนาคม กล่าวว่า ได้ออกมาตรการด่วน สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งมวลชนทั้งหมด ทั้ง “รถไฟ-เรือ-รถเมล์-โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า” หากมีการประชุมและต้องเดินทางก็ให้ทุกหน่วยไม่ต้องมาประชุม แต่ให้ประชุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แทน เพื่อลดฝุ่น และควันพิษจากการจราจร

ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 10 สาย 10 สี ที่อยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่เร่งก่อสร้างในขณะนี้ หากมีกิจกรรมใดก่อให้เกิดฝุ่น ควรจัดรถดูดฝุ่น ล้างพื้นที่ก่อสร้าง และบำรุงรักษาเครื่องจักรให้มีคุณภาพอยู่เสมอ พร้อมกับคืนพื้นที่และพื้นผิวจราจรทันทีที่ก่อสร้างงานพื้นฐานโครงการรถไฟฟ้าแล้วเสร็จ เพื่อคลี่คลายปัญหาจราจร

“นอกจากนั้น ยังได้เร่งรณรงค์ให้ประชาชนใช้บริการระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น ด้วยการงดเก็บค่าบริการที่อาคารจอดแล้วจรของสถานีรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล”

สำหรับรถเมล์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถร่วม ขสมก. ที่เป็นโจทก์สำคัญที่ถูก “กล่าวหา” เป็นต้นเหตุปล่อยควันพิษมากที่สุดนั้น ได้เร่งแก้ปัญหาระยะสั้น โดยสั่งการให้รถเมล์ ขสมก.เปลี่ยนมาใช้น้ำมันดีเซลผสมน้ำมันปาล์ม (ดีเซลบี 20) ส่วนระยะยาว สั่งการให้ ขสมก.เร่งจัดหารถเมล์ใหม่ 2,188 คัน ที่ใช้ก๊าซเชื้อเพลิงธรรมชาติ (เอ็นจีวี) รถเมล์ไฟฟ้า และรถไฟฟ้าไฮบริดดีเซล-ไฟฟ้า อย่างด่วน

ขณะเดียวกัน ยังได้เร่งรัดให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทดสอบการใช้ไบโอดีเซลบี 20 กับขบวนรถไฟดีเซลราง และให้เฝ้าระวังค่าฝุ่นในโรงงานซ่อม โรงรถจักร รวมถึงมอบหมายให้พัฒนาระบบใหม่ๆขึ้นมาใช้งาน ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดพลังงาน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ และยังสั่งการให้กรมเจ้าท่าเร่งตรวจสอบเรือโดยสารทุกลำ ทั้งในลำน้ำเจ้าพระยา และคลองแสน-แสบ หากพบเรือลำใดปล่อยควันดำเกินค่ามาตรฐานสั่งให้หยุดเดินเรือทันที

เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาของรถยนต์ส่วนบุคคลที่ใช้น้ำมันดีเซล ให้ตรวจสอบอย่างเข้มงวด หากพบปล่อยควันดำเกินค่ามาตรฐาน ให้ติดสติกเกอร์งดใช้ชั่วคราวจนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขใหม่ ไม่เช่นนั้นจะให้หยุดวิ่งทันที

ผู้ค้าข้างทางกลัวหนี้มากกว่าฝุ่น

ขณะที่ในฝั่งคนเดินดินกินข้างทาง “เศรษฐกิจรากฐาน” ของคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ขาย วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่จะต้องใช้ชีวิตอยู่ในท้องถนนตลอดทั้งวัน คนเหล่านี้แม้จะเป็นห่วงสุขภาพของตัวเอง แต่ด้วยภาวะจำยอมทางฐานะและรายได้ แม้ต้องใช้ชีวิตท่ามกลาง “ฝุ่นพิษ” แต่ก็ไม่มีทางเลือก

“สุรศักดิ์ เหลี่ยมเพ็ชร” มอเตอร์ไซค์วิน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ เล่าให้ฟังว่า วินของตนอยู่ใกล้โรงพยาบาลศิริราช ลูกค้าที่เป็นหมอ หรือพยาบาลสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 ทุกคน แต่ลูกค้าทั่วไปสวมบ้าง ไม่สวมบ้าง ส่วนตนไม่ได้สวมหน้ากากตลอดเวลา แม้ในใจก็รู้ว่าอันตราย แต่ไม่กังวล เพราะคนรอบตัวยังไม่มีใครป่วย

“ผมขับมอเตอร์ไซค์ทุกวัน สังเกตว่าฝุ่นเยอะขึ้นจริงๆ แต่จำนวนคนที่ใช้บริการมอเตอร์ไซค์ไม่ได้ลดลง ผู้โดยสารเกือบทุกคนบ่นว่ากลัวฝุ่นจิ๋ว กลัวป่วยเป็นโรคร้ายก็ต้องดูแลตัวเองกันไป เพราะเลือกวิธีเดินทางได้ไม่มาก”

ส่วน “เทวราช พัดทอง” เจ้าของร้านอาหารอีสาน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ บอกว่า รู้ข่าวเรื่องฝุ่น PM 2.5 ว่าอันตราย แต่ก็ไม่ได้ใส่หน้ากากป้องกัน เพราะเวลาปรุงอาหารต้องชิมไปด้วย จะปิดปากปิดจมูกไม่ได้ ส่วนลูกค้าปรับตัวโดยซื้อใส่ถุงกลับไปรับประทานที่บ้านกันมากขึ้น ต้องใช้ถุงพลาสติกมากขึ้น ซึ่งเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

“รู้ว่าฝุ่นจิ๋วเป็นอันตราย แต่จำไม่ได้ว่ารัฐบาลบอกให้ทำอะไรบ้าง ตอนนี้ลูกค้าลดลง ไม่น่าจะเป็นเพราะฝุ่น PM 2.5 น่าจะมาจากเศรษฐกิจ ฝุ่นไม่กลัว กลัวหนี้มากกว่า ยังต้องทำมาค้าขายต่อไปแม้จะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงก็ตาม”

**********

ทั้งหมดนี้เป็นเสียงสะท้อนและความพยายามแก้ปัญหาทั้งจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงแนวทางเริ่มต้น หรือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่อยากให้ทุกฝ่ายตระหนักว่า “วิกฤติฝุ่นพิษ” ไม่ใช่ “ดราม่า” ที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว แต่เป็น “ปัญหาใหญ่” ที่จะกระทบต่อสุขภาพ ร่างกาย และภาพรวมเศรษฐกิจไทยได้มากกว่าที่คิด.

ทีมเศรษฐกิจ

คุณภาพอากาศมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร

มลพิษทางอากาศอาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมากต่อผู้คนและชุมชนของพวกเขา ได้แก่ : ลดชั่วโมงการทำงานและกะ ค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้นจากความพิการโรคหอบหืดและโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง สูญเสียรายได้ครัวเรือนจากการดูแลสมาชิกในครอบครัวที่ป่วย

ฝุ่น PM 2.5 ผลกระทบต่อร่างกายอย่างไร

ความที่ขนาดของpm2.5เล็กมากทำให้สามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายและกระแสเลือดไปก่อให้เกิดการอักเสบของอวัยวะต่างๆภายในของร่างกายได้โดยตรง จนก่อให้เกิดอาการที่ผิดปกติได้หลายระบบ ตั้งแต่ ระบบทางเดินหายใจ แสบจมูก คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ แน่นหน้าอก ภูมิแพ้กำเริบ ระบบผิวหนัง ตุ่ม ผืน นูนแดง

ฝุ่น PM 2.5 มีความหมายตรงกับข้อใด

ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เป็นฝุ่นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน เกิดจากการเผาไหม้ทั้งจากยานพาหนะ การเผาวัสดุการเกษตร ไฟป่า และกระบวนการอุตสาหกรรม สามารถเข้าไปถึงถุงลมในปอดได้ เป็นผลทําให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ และโรคปอดต่างๆ หากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานานจะสะสมในเนื้อเยื่อปอด ทําให้การ ...

PM 2.5 สาเหตุเกิดจากอะไร

PM2.5 నీర ไอเสียจากรถยนต์ หรือจากการจราจร BUS STOP. |||/ อากาศพิษจากปล่องโรงงาน อุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า จากข้อมูลโดยกรมควบคุมมลพิษ การ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล หรือ การเผาเศษวัสดุเหลือใช้ของภาค เผาไหม้น้ำมันดีเซลบวกกับการจราจร เชื้อเพลิงที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเกษตรเพื่อเตรียมการเพาะปลูก