มีพระอินทร์มาเทียบสายพิณให้ฟัง หมายถึงอะไร

 ดูกรภารทวาชะ เรานั้นมีความคิดเห็นว่า อันบุคคลผู้มีกายอันถึงความซูบผอมเหลือทนอย่างนี้ จะบรรลุถึงความสุข นั้นไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงกินอาหารหยาบ คือข้าวสุก ขนมกุมมาสเถิด. เราจึงกินอาหารหยาบ คือ ข้าวสุก ขนมกุมมาส. สมัยนั้น ภิกษุ(ปัญจวัคคีย์) ๕ รูป บำรุงเราอยู่ด้วยหวังใจว่า พระสมณโคดมจักบรรลุธรรมใด จักบอก ธรรมนั้นแก่เราทั้งหลาย. แต่เมื่อเรากินอาหารหยาบ คือ ข้าวสุกและขนมกุมมาส. พวกภิกษุ (ปัญจวัคคีย์) ๕ รูปนั้น เบื่อหน่ายเราหลีกไปด้วยความเข้าใจว่า พระสมณโคดมเป็นผู้มักมาก คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มัก มาก.

มีพระอินทร์มาเทียบสายพิณให้ฟัง หมายถึงอะไร

 

พระมหาบุรุษทรงอำลาท่านคณาจารย์ทั้งสองแล้วออกจากที่นั่น  แล้วเสด็จจาริกแสวงหาที่สำหรับทรงบำเพ็ญเพียร เพื่อทดลองทุกกรกิริยาที่คนสมัยนั้นนิยมทำกันดังกล่าว แล้วเสด็จไปถึงตำบลแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ในเขตแขวงมคธเหมือนกัน มีนามว่า "อุรุเวลาเสนานิคม"
"อุรุเวลา" แปลว่า กองทราย  "เสนานิคม" แปลว่า ตำบล หมู่บ้าน
พื้นที่ตำบลแห่งนี้เป็นที่ราบรื่น มีแนวป่าเขียวสด เป็นที่น่าเบิกบานใจ มีแม่น้ำเนรัญชรา น้ำไหลใสสะอาด มีท่าสำหรับลงอาบ มีหมู่บ้านตั้งอยู่โดยรอบ ไม่ใกล้เกินไป และไม่ไกลเกินไป เหมาะสำหรับเป็นที่อาศัยเที่ยวบิณฑบาตของนักบวชบำเพ็ญพรต
อุรุเวลาเสนานิคม  ถ้าจะเรียกอย่างไทยเราก็คงจะเรียกได้ว่า หมู่บ้านกองทราย หรือ หมู่บ้านทรายงาม อะไรอย่างนั้น
คัมภีร์อรรถกถาชื่อ "สมันตปสาทิกา"  เล่ม ๓ ซึ่งพระพุทธโฆษาจารย์ชาวอินเดีย สมัยหลังพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้วเป็นผู้แต่ง ได้เล่าประวัติของกองทรายที่ตำบลนี้ไว้ว่า ในอดีตสมัย ที่นี่เคยเป็นที่บำเพ็ญเพียรของพวกนักพรตจำนวนมาก  นักพรตที่มาตั้งอยู่ที่นี่ ตั้งระเบียบข้อบังคับปกครองกันเองไว้ว่า  ความผิดของคนที่แสดงออกทางกายและวาจานั้นพอมองเห็นได้ ส่วนทางใจไม่มีใครมองเห็นเลย ใครจะคิดผิด คิดชั่วอย่างไรก็มองไม่เห็น ลงโทษว่ากล่าวกันก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าใครเกิดคิดชั่ว เช่น เกิดอารมณ์ความใคร่ขึ้นมาเมื่อใดล่ะก็ ขอให้ผู้นั้นลงโทษตัวเอง โดยวิธีนำบาตรไปตักเอาทรายมาเทกองไว้ หนึ่งคนหนึ่งครั้ง ครั้งละหนึ่งบาตร เป็นการประจานตัวเองให้คนอื่นรู้  ด้วยเหตุนี้ ภูเขากองทราย หรืออุรุเวลา ซึ่งเสมือนหนึ่งอนุสรณ์แห่งกองกิเลสของพระฤาษีเก่าก่อนจึงเกิดขึ้น
สมัยพระพุทธเจ้า  บริเวณบ้านแห่งนี้ยังเรียกกันว่า "อุรุเวลาเสนานิคม" แต่มาสมัยหลัง กระทั่งทุกวันนี้เรียกบริเวณตำบลแห่งนี้ว่า "พุทธคยา"  ซึ่งปัจจุบันวัดไทยพุทธคยาก็ตั้งอยู่ที่นั่น
พระมหาบุรุษทรงเลือกตำบลนี้เป็นที่บำเพ็ญทุกกรกิริยา ซึ่งเป็นบททดลองอีกบทหนึ่งว่าจะเป็นทางตรัสรู้หรือไม่

ตอนที่พระมหาบุรุษบำเพ็ญทุกกรกิริยา  กลุ่มคนที่นั่งอยู่เบื้องหน้าพระพักตร์นั้นคือ คณะปัญจวัคคีย์ มี ๕ คนด้วยกัน คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ทั้งหมดตามเสด็จพระมหาบุรุษออกมาเพื่อเฝ้าอุปัฏฐาก  ส่วนผู้ที่ถือพิณอยู่บนอากาศนั้นคือ พระอินทร์
คนหัวหน้า คือ โกณฑัญญะ เป็นคนหนึ่งในจำนวนพราหมณ์  ๘ คน ที่เคยทำนายพระลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะ ตอนนั้นยังหนุ่ม แต่ตอนนี้แก่มากแล้ว อีก ๔ คน เป็นลูกของพราหมณ์ที่เหลือ คือในจำนวนพราหมณ์  ๗ คนนั้น
ทุกกรกิริยา เป็นพรตอย่างหนึ่ง ซึ่งนักบวชสมัยนั้นนิยมทำกัน  มีตั้งแต่อย่างต่ำธรรมดา จนถึงขั้นอาการปางตาย ที่เกินวิสัยสามัญมนุษย์จะทำได้อย่างยิ่งยวด ปางตาย คือ กัดฟัน กลั้นลมหายใจเข้าออก และ อดอาหาร
พระมหาบุรุษทรงทดลองดูทุกอย่าง จนบางครั้ง เช่น คราวลดเสวยอาหารน้อยลง ๆ จนถึงอดเสวยเลย แทบสิ้นพระชนม์ พระกายซูบผอม พระโลมา (ขน) รากเน่าหลุดออกมา เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก เวลาเสด็จดำเนิน ถึงกับซวนเซล้มลง
ทรงทดลองดูแล้วก็ทรงประจักษ์ความจริง  ความจริงที่ว่านี้ กวีท่านแต่งเป็นปุคลาธิษฐาน คือ
พระอินทร์ ถือพิณสามสายมาทรงดีดให้ฟัง  สายพิณที่หนึ่ง ลวดขึงตึงเกินไปเลยขาด สายที่สอง หย่อนเกินไป ดีดไม่ดัง  สายที่สาม ไม่หย่อนไม่ตึงนัก ดีดดัง เพราะ
พระอินทร์ ดีดพิณสายที่สาม (มัชฌิมาปฏิปทา)  ดังออกมาเป็นความว่า  ไม้สดแช่อยู่ในน้ำ ทำอย่างไรก็สีให้เกิดเป็นไฟไม่ได้ ถึงอยู่บนบก แต่ยังสด ก็สีให้เกิดไฟไม่ได้  ส่วนไม้แห้งและอยู่บนบก จึงสีให้เกิดไฟได้  อย่างแรกเหมือนคนยังมีกิเลส และอยู่ครองเรือน อย่างที่สองเหมือนคนออกบวชแล้ว แต่ใจยังสดด้วยกิเลส  อย่างที่สามเหมือนคนออกบวชแล้วใจเหี่ยวแห้งจากกิเลส
พอทรงเห็นหรือได้ยินเช่นนั้น  พระมหาบุรุษจึงทรงเลิกบำเพ็ญทุกกรกิริยา  ซึ่งเป็นความเพียรทางกาย แล้วเริ่มกลับเสวยอาหารเพื่อบำเพ็ญเพียรทางใจ พวกปัญจวัคคีย์ทราบเข้า ก็เกิดเสื่อมศรัทธา หาว่าพระมหาบุรุษคลายความเพียร เวียนมาเพื่อกลับเป็นผู้มักมากเสียแล้ว เลยพากันละทิ้งหน้าที่อุปัฏฐากหนีไปอยู่ที่อื่น

นับตั้งแต่พระมหาบุรุษเสด็จออกบวชเป็นต้นมาจนถึงวันที่เห็นอยู่ในภาพนี้เป็นเวลาย่างเข้าปีที่ ๖ ตอนนี้พระมหาบุรุษเริ่มเสวยอาหารจนพระกายมีกำลังเป็นปกติแล้ว และวันนี้เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖
ก่อนพระพุทธเจ้านิพพาน  ๔๕  ปี   สตรีที่กำลังถวายของแด่พระมหาบุรุษ คือ นางสุชาดา เป็นธิดาของคหบดีผู้หนึ่งในหมู่บ้าน  ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม  ของที่นางถวาย  คือ
ข้าวมาธุปายาส  เป็นข้าวที่หุงด้วยนมโคล้วน  เป็นอาหารจำพวกมังสวิรัติ ไม่ปนเนื้อ ไม่เจือปลา ใช้สำหรับบวงสรวงเทพเจ้าโดยเฉพาะ
ปฐมสมโพธิ เล่าว่า นางสุชาดาเคยบนเทพเจ้าไว้ที่ต้นไทร เพื่อให้ได้สามีผู้มีชาติสกุลเสมอกัน และได้ลูกที่มีบุญ  เมื่อนางได้สมปรารถนาแล้ว  จึงหุงข้าวมธุปายาสเพื่อแก้บน ก่อนถึงวันหุง
นางสุชาดาสั่งคนงานให้ไล่ต้อนฝูงโคจำนวนหนึ่งพันตัว เข้าไปเข้าเลี้ยงในป่าชะเอมเครือ กินอิ่มแล้วไล่ต้อนออกมา  แล้วแบ่งแม่โคนมออกเป็นสองฝูง ฝูงละ  ๕๐๐  ตัว แล้วรีดเอานมจากแม่โคนมฝูงหนึ่งมาให้แม่โคนมอีกฝูงหนึ่งกิน  แบ่งและคัดแม่โคนมอย่างนี้เรื่อย ๆ ไป
จนเหลือแม่โคนม ๘ ตัว เสร็จแล้วจึงรีดน้ำนมจากแม่โคนมทั้ง ๘ ตัว มาหุงข้าวมธุปายาส
หุงเสร็จแล้ว  นางสุชาดาสั่งให้นางทาสีหญิงรับใช้ไปทำความสะอาดปัดกวาดบริเวณต้นไทร นางทาสีไปแล้วกลับมารายงานให้นางสุชาดาทราบว่า เวลานี้รุกขเทพเจ้าที่จะรับเครื่องสังเวยได้สำแดงกายให้ปรากฎ  นั่งรออยู่ที่โคนต้นไทรแล้ว นางสุชาดาดีใจเป็นกำลัง  จึงยกถาดข้าวมธุปายาสขึ้นทูนหัวเดินมาที่ต้นไทรพร้อมกับนางทาสี ก็ได้เห็นจริงอย่างนางทาสีเล่า  นางจึงน้อมถาดข้าวมธุปายาสไปถวาย  พระมหาบุรุษทรงรับแล้วทอดพระเนตรดูนาง  นางทราบพระอาการกิริยาว่า พระมหาบุรุษไม่มีบาตรหรือภาชนะอย่างอื่นรับอาหาร  นางจึงกล่าวคำถวายข้าวมธุปายาสพร้อมทั้งถาดนั้น
ถวายเสร็จแล้วก็ไหว้ แล้วเดินกลับบ้านด้วยความยินดี  และด้วยความสำคัญหมายว่า พระมหาบุรุษนั้นเป็นรุกขเทพเจ้า

เมื่อนางสุชาดากลับไปบ้านแล้ว  พระมหาบุรุษเสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ ทรงถือถาดทองข้าวมธุปายาส เสด็จไปยังริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา  เสด็จลงสรงน้ำ  แล้วเสด็จขึ้นมาประทับนั่งริมฝั่ง  ทรงปั้นข้าวมธุปายาสออกเป็นปั้น รวมได้ ๔๙ ปั้น แล้วเสวยจนหมด ปฐมสมโพธิว่า
"  เป็นอาหารที่คุ้มไปได้  ๗ วัน ๗ หน "    เสร็จแล้วทรงลอยถาด
และทรงอธิษฐานว่าถ้าจะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า  ขอให้ถาดจงลอยทวนกระแสน้ำ  เมื่อทรงปล่อยพระหัตถ์ ถาดนั้นก็ล่องลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไปไกลถึง ๘๐ ศอก ไปจนถึงวังน้ำวนแห่งหนึ่ง
ถาดนั้นจึงจมดิ่งหายลงไปจนถึงพิภพของกาฬนาคราช กระทบกับถาดสามใบของพระพุทธเจ้าในอดีตสามพระองค์เสียงดังกริ๊ก
พระพุทธเจ้าในอดีตสามพระองค์นั้น คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมน์ และ พระกัสสปะ  พระมหาบุรุษกำลังจะเป็น องค์ที่ ๔
กาฬนาคราช หลับมาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าในอดีต  จะตื่นทุกครั้งที่ได้ยินเสียงถาด พอได้ยินก็รู้ได้ว่า  พระพุทธเจ้าองค์ใหม่เกิดในโลกแล้ว  คราวนี้ก็เหมือนกัน  เมื่อได้ยินเสียงถาดของพระมหาบุรุษ ก็งัวเงียแล้วงึมงัมว่า "เมื่อวานนี้พระชินสีห์ (หมายถึง พระกัสสปพุทธเจ้า) อุบัติในโลกพระองค์หนึ่ง  แล้วซ้ำบังเกิดอีกพระองค์หนึ่งเล่า " ลุกขึ้นมาไหว้พระพุทธเจ้าเกิดใหม่ แล้วก็หลับต่อไปอีก
ความที่กล่าวมาถึงตอนพระมหาบุรุษทรงลอยถาด แล้าถาดลอยทวนกระแสน้ำจนถึง  กาฬนาคราชใต้บาดาลได้ยินเสียงตกลงมานั้น  ท่านพรรณนาเป็นปุคคลาธิษฐาน ถ้าถอดความเป็นธรรมาธิษฐาน ก็ได้ความอย่างนี้ คือ  ถาดนั้น คือ พระศาสนาของพระพุทธเจ้า  แม่น้ำคือโลก หรือ คนในโลก  คำสั่งสอนหรือพระศาสนาของพระพุทธเจ้า  พาคนไหลทวนกระแสโลก ไปสู่กระแสนิพพาน  คือ  ความพ้นทุกข์ที่ไม่มีเกิด แก่ เจ็บ และตาย
พญานาคใต้บาดาลผู้หลับใหล  คือ สัตว์โลกที่หนาแน่นด้วยกิเลส  เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอุบัติบังเกิดขึ้นมาในโลกก็รู้ว่าเป็นพระพุทธเจ้า รู้แล้วก็หลับใหลไปด้วยอำนาจแห่งกิเลสต่อไปอีก

เสร็จจากทรงลอยถาดอธิษฐานแล้ว  เวลาสายขึ้น แดดเริ่มจัด พระมหาบุรุษจึงเสด็จจากชายฝั่งแม่น้ำเนรัญชราเข้าไปยังดังไม้สาละ  ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำแห่งนี้ ประทับอยู่ที่นี่ตลอดเวลากลางวัน  เวลาบ่ายเกือบเย็นจึงเสด็จไปยังต้นพระศรีมหาโพธิ์
พระศรีมหาโพธิ์เป็นต้นไม้ประเภทต้นโพธิ์ที่เราเห็นอยู่ในเมืองไทย  ในป่าก็มี แต่ส่วนมากมีตามวัด ก่อนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ไม่ได้เรียกว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์  แต่เรียกโดยชื่อตามภาษาพื้นเมือง ๒ อย่าง  อย่างหนึ่งเป็นภาษาชาวบ้าน เรียกว่า "ต้นปีบปัน" อีกอย่างหนึ่งเป็นภาษาหนังสือเรียกว่า "ต้นอัสสัตถะ"
หรือ "อัสสัตถพฤกษ์"  เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว จึงเรียกว่า "โพธิ์"  แปลว่า ต้นไม้เป็นที่อาศัยตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า  ต่อมาเพิ่มคำนำหน้าขึ้นอีกเป็น มหาโพธิ์บ้าง พระศรีมหาโพธิ์บ้าง  และว่าเป็นต้นไม้สหชาติของพระพุทธเจ้า คือ เกิดพร้อมกันในวันที่พระพุทธเจ้าสมัยที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ ดังได้เคยเล่าไว้แล้ว
ระหว่างทางเสด็จไปยังโคนต้นพระศรีมหาโพธิ์  พระมหาบุรุษได้สวนทางกับชายผู้หนึ่งซึ่งอยู่ในวรรณะพราหมณ์ ชื่อ โสตถิยะ  พราหมณ์โสตถิยะเดินถือกำหญ้าคามา ๘ กำ  ได้ถวายหญ้าคาทั้ง ๘ กำ แก่พระมหาบุรุษ  พระมหาบุรุษทรงรับ  แล้วทรงนำไปปูเป็นอาสนะสำหรับประทับนั่งที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์
พระมหาบุรุษประทับนั่งขัดสมาธิ  พระบาทขวาวางทับพระบาทซ้าย  และพระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ผินพระปฤษฏางค์ คือ หลัง ไปทางลำต้นพระศรีมหาโพธิ์ แล้วทรงตั้งพระทัยเป็นสัจจะแน่วแน่ว่า
"ถ้าเรายังไม่ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณตราบใด  เราจักไม่ยอมลุกขึ้นตราบนั้น  แม้ว่าเนื้อและเลือด  จะเหือดแห้งไปเหลือแต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตามที "

เหตุการณ์ที่เกิดกับพระมหาบุรุษตอนนี้เรียกว่า  "มารผจญ"  ซึ่งเกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือนหก ก่อนตรัสรู้ไม่กี่ชั่วโมง  พระอาทิตย์กำลังอัสดงลงลับทิวไม้ สัตว์สี่เท้าที่กำลังจะใช้งาทิ่มแทงพระมหาบุรุษนั้นมีชื่อว่า
"นาราคีรีเมล์"  เป็นช้างทรงของพระยาวัสสวดีมาร ซึ่งเป็นจอมทัพ
สตรีที่กำลังบีบมวยผมนั้น คือ นางพระธรณี  มีชื่อจริงว่า  " สุนธรีวนิดา"
พระยามารตนนี้เคยผจญพระมหาบุรุษมาครั้งหนึ่งแล้ว  คือ  เมื่อ คราวเสด็จออกจากเมือง แต่คราวนี้เป็นการผจญชิงชัยกับพระมหาบุรุษยิ่งใหญ่กว่าทุกคราว  กำลังพลที่พระยามารยกมาครั้งนี้มืดฟ้ามัวดิน  มาทั้งบนบก มาทั้งบนเวหา  และใต้บาดาล  ขนาดเทพเจ้าที่มาเฝ้ารักษาพระมหาบุรุษ ต่างเผ่นหนีกลับวิมานกันหมด เพราะเกรงกลัวมาร ปฐมสมโพธิพรรณนาพลมารตอนนี้ไว้ว่า " ....บางจำพวกก็หน้าแดงกายเขียว บางจำพวกก็หน้าเขียวกายแดง ลางเหล่าจำแลงกายขาวหน้าเหลือง..บางหมู่กายลายพร้อยหน้าดำ...ลางพวกกายท่อนล่างเป็นนาค กายท่อนต่ำหลากเป็นมนุษย์ "ส่วนตัวพระยามารเนรมิตพาหา คือ แขนซ้ายและขวาข้างละหนึ่งพันแขน แต่ละแขนถืออาวุธต่าง ๆ เช่น ดาบ หอก ธนู ศร โตมร (หอกซัด)  จักรสังข์ อังกุส (ของ้าวเหล็ก)  คทา ก้อนศิลา หลาว เหล็ก ครกเหล็ก ขวานถาก ขวานผ่า ตรีศูล(หลาวสามง่าม) ฯลฯ
เหตุที่พระยามารมาผจญพระมหาบุรุษทุกครั้ง  เพราะพระยามารมีนิสัยไม่อยากเห็นใครดีเกินหน้าตน  เมื่อพระมหาบุรุษจะทรงพยายามเพื่อเป็นคนดีที่สุดในโลก  จึงขัดขวางไว้ แต่ก็พ่ายแพ้พระมหาบุรุษทุกครั้ง   ครั้งนี้เมื่อเริ่มยกแรกก็แพ้  แพ้แล้วก็ใช้เล่ห์  คือ  กล่าวตู่พระมหาบุรุษว่า มายึดเอาโพธิบัลลังก์  คือตรงที่พระมหาบุรุษประทับนั่ง ซึ่งพระยามารตู่เป็นที่ของตน  พระยามารอ้างพยานบุคคลคือพวกพ้องของตน  ฝ่ายพระมหาบุรุษทรงมองหาใครเป็นพยานไม่ได้  เทพเจ้าเล่าก็เปิดหนีกันหมด  จึงทรงเหยียดพระหัตถ์ขวาออกจากชายจีวร แล้วทรงชี้พระดัชนีลงยังพื้นพระธรณี  พระนางธรณีจึงผุดขึ้นตอนนี้เพื่อเป็นพยาน ความที่บรรยายมาทั้งหมดนี้เป็นปุคคลาธิษฐาน  จะถอดความให้เห็นเป็นธรรมาธิษฐานในคำบรรยายที่ ๒๖