รายได้จากต่างประเทศ นิติบุคคล

เลขที่หนังสือ : กค 0702/7386
     
วันที่ : 12 กันยายน 2554
     
เรื่อง :

ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการแก่ผู้รับบริการที่อยู่ต่างประเทศ

     
ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ทวิ (2) มาตรา 65 ตรี (13) และมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร
     
ข้อหารือ :

บริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เกี่ยวกับการวางแผนบริหารระบบคอมพิวเตอร์และตรวจสอบระบบการทำงานของซอฟต์แวร์ให้เป็นไปตามที่ลูกค้ากำหนด โดยผ่าน Web Host Based Application ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ให้กับลูกค้าที่อยู่ต่างประเทศเท่านั้น โดยมีสัญญาว่าจ้างเป็นรายปี ลูกค้าจะชำระค่าบริการด้วยวิธีการโอนเงินเข้ามาให้บริษัทฯ ที่ประเทศไทย และบริษัทฯ จะต้องจัดส่งพนักงานไปให้คำปรึกษา การวางระบบและฝึกอบรมเพื่อพัฒนาระบบเพิ่มเติมที่สำนักงานลูกค้าในต่างประเทศเป็นครั้งคราว โดยบริษัทฯ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าเดินทางไปประเทศของลูกค้า ส่วนบริษัทลูกค้าเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายที่พัก ค่าอาหาร และค่าเบี้ยเลี้ยงในระหว่างการทำงานจนแล้วเสร็จ

บริษัทฯ ขอหารือว่า

1. การให้บริการดังกล่าวบริษัทฯ ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 หรือไม่
   
2. บริษัทฯ ได้ซื้อรถยนต์แบบผ่อนชำระเพียง 1 คัน ซึ่งเป็นรถประจำตำแหน่งผู้บริหาร เพื่อใช้ในการติดต่อธุรกิจและหาลูกค้าให้กับบริษัทฯ ค่าใช้จ่ายสำหรับรถยนต์คันดังกล่าว ได้แก่ ดอกเบี้ย และค่าประกันภัย บริษัทฯ สามารถบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายได้หรือไม่
   
3. บริษัทฯ ได้ซื้อโทรทัศน์และเครื่องเสียงเพื่อใช้ในการประชุมทางไกลต่างประเทศผ่านวีดิโอ (Long Distance Video Conference) บริษัทฯ สามารถบันทึกเป็นทรัพย์สินและหักค่าเสื่อมราคาได้หรือไม่

     
แนววินิจฉัย :
1. กรณีบริษัทฯ ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เกี่ยวกับการวางแผนบริหารระบบคอมพิวเตอร์และตรวจสอบระบบการทำงานของซอฟต์แวร์ให้เป็นไปตามที่ลูกค้ากำหนด โดยผ่าน Web Host Based Application ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ให้กับลูกค้าที่อยู่ต่างประเทศ และบริษัทฯ จะจัดส่งพนักงานไปให้คำปรึกษา การวางระบบและฝึกอบรมเพื่อพัฒนาระบบเพิ่มเติมที่สำนักงานลูกค้าในต่างประเทศเป็นครั้งคราว การให้บริการดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ บริษัทฯ จึงได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105) เรื่อง กำหนดประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข กรณีการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2543
   
2. กรณีบริษัทฯ ซื้อรถยนต์แบบผ่อนชำระซึ่งเป็นรถประจำตำแหน่งของผู้บริหาร หากรถยนต์คันดังกล่าว บริษัทฯ ได้ใช้ในการประกอบกิจการของบริษัทฯ และเป็นรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนหรือรถยนต์นั่ง บริษัทฯ ต้องนำราคารถยนต์ที่พึงต้องชำระพร้อมดอกเบี้ยเพื่อการได้มาซึ่งรถยนต์นั้น เฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งล้านบาท มาถือเป็นมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สิน และหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4(5) และมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 และส่วนที่เกินหนึ่งล้านบาทบริษัทฯ ไม่มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540 สำหรับรายจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับรถยนต์คันดังกล่าว บริษัทฯ มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่เป็นรายจ่ายต้องห้าม ตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร
   
3. บริษัทฯ ได้ซื้อโทรทัศน์และเครื่องเสียงเพื่อใช้ในการประชุมทางไกลต่างประเทศผ่านวีดิโอ (Long Distance Video Conference) ซึ่งเป็นการใช้ในการประกอบกิจการของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ ต้องบันทึกโทรทัศน์และเครื่องเสียงดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ และหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
     
เลขตู้ :

74/37871

วันที่เอกสาร

21 พฤษภาคม 2546

เลขที่หนังสือ

กค 0706/4655

ข้อกฎหมาย

มาตรา 77/1(14), มาตรา 77/1(20), มาตรา 77/2, มาตรา 82/3, มาตรา 65, มาตรา 70 ตรี

ข้อหารือ

กรณีการส่งสินค้าไปต่างประเทศโดยมีข้อเท็จจริง ดังนี้
1. บริษัทฯ ได้จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2544 ประกอบธุรกิจขายและให้เช่า
ยางเครื่องบินหรือยางอากาศยาน โดยบริษัทฯ ซื้อยางเครื่องบินจากผู้ผลิตทั้งในประเทศและต่างประเทศ
มาขายหรือให้ลูกค้าเช่า บริษัทฯ มีคลังสินค้าอยู่ในต่างประเทศ 6 แห่ง ได้แก่ ประเทศสาธารณรัฐ
ประชาชนจีน 3 แห่ง ฮ่องกง 1 แห่ง, ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ประเทศละ 1 แห่ง โดยบริษัทฯ
ใช้คลังสินค้าดังกล่าวเป็นสถานที่เพื่อส่งออกยางเครื่องบินที่ซื้อจากผู้ผลิตในประเทศไทยและซื้อจากผู้ผลิต
ในอเมริกาและยุโรปไปเก็บไว้เพื่อรอขายให้ลูกค้าในต่างประเทศหรือให้ลูกค้าในต่างประเทศเช่า ใน
การขายหรือให้เช่ายางเครื่องบิน บริษัทฯ จะขายหรือให้เช่ายางเครื่องบินแก่ลูกค้าทั้งในประเทศและ
ต่างประเทศ 3 ลักษณะดังนี้
1.1 การขายหรือให้เช่าในประเทศ บริษัทฯ ซื้อยางเครื่องบินจากผู้ผลิตในประเทศหรือ
นำเข้าจากต่างประเทศแล้วขายและส่งมอบให้ลูกค้าในประเทศไทย
1.2 การขายเพื่อส่งออก ดังต่อไปนี้
(1) บริษัทฯ ซื้อยางเครื่องบินจากผู้ผลิตในประเทศแล้วส่งออกเพื่อขายให้ลูกค้าใน
ต่างประเทศ
(2) บริษัทฯ ซื้อยางเครื่องบินจากผู้ผลิตในประเทศแล้วส่งออกไปเก็บไว้ยัง
คลังสินค้าของบริษัทฯ ที่อยู่นอกประเทศทั้ง 6 แห่งเพื่อรอการขายหรือให้เช่าแก่ลูกค้าในต่างประเทศ
โดยการสำแดงราคาสินค้าเป็นดังนี้
(ก) ช่วงก่อนที่บริษัทฯ ได้รับอนุมัติจากกรมศุลกากรให้เป็นผู้ส่งออก บริษัทฯ
จำเป็นต้องให้ผู้ผลิตยางเครื่องบินในประเทศที่ขายยางเครื่องบินให้บริษัทฯ เป็นผู้ส่งออกแทนบริษัทฯ ไป
ก่อน ซึ่งผู้ผลิตได้ระบุในใบขนสินค้าขาออกว่าผู้ผลิตเป็นผู้ส่งออกเพื่อขายให้บริษัทฯ และสำแดงราคา
ส่งออกเท่ากับราคาที่ผู้ผลิตขายให้แก่บริษัทฯ
(ข) ช่วงที่บริษัทฯ ได้รับอนุมัติจากกรมศุลกากรให้เป็นผู้ส่งออกแล้ว บริษัทฯ
ระบุในใบขนสินค้าขาออกว่าบริษัทฯ เป็นผู้ส่งออกโดยขายให้ตัวเอง และสำแดงราคาส่งออกเท่ากับราคา
ที่ผู้ผลิตขายให้แก่บริษัทฯ
1.3 การขายหรือให้เช่านอกประเทศ
(1) บริษัทฯ ขายหรือให้เช่ายางเครื่องบินที่ซื้อจากผู้ผลิตในประเทศแล้วส่งออกไป
เก็บไว้ในคลังสินค้าของบริษัทฯ ที่อยู่นอกประเทศทั้ง 6 แห่ง ให้แก่ลูกค้าในต่างประเทศ โดยการติดต่อ
ซื้อขายและส่งมอบกระทำในต่างประเทศทั้งหมด
(2) บริษัทฯ ซื้อยางเครื่องบินจากผู้ผลิตในอเมริกาหรือยุโรปแล้วขายต่อให้ลูกค้าใน
ต่างประเทศโดยให้ผู้ผลิตส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าโดยตรง ไม่มีการนำสินค้าดังกล่าวผ่านเข้ามาใน
ประเทศไทย
2. บริษัทฯ มีความเห็นว่า
2.1 คลังสินค้าของบริษัทฯ ที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศทั้ง 6 แห่งดังกล่าว บริษัทฯ
ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นสถานประกอบการของบริษัทฯ เนื่องจากอยู่นอกราชอาณาจักร
2.2 ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่คลังสินค้าในต่างประเทศและเกี่ยวข้องกับการขายหรือให้
เช่ายางเครื่องบินในต่างประเทศ เช่น ค่าเช่าคลังสินค้า ค่าบริการคลังสินค้า อากรขาเข้า ฯลฯ บริษัทฯ
มีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย และ
บริษัทฯ ต้องนำรายได้ที่เกิดที่คลังสินค้าในต่างประเทศทั้ง 6 แห่งดังกล่าวมารวมเป็นรายได้ใน
การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย
2.3 การประกอบกิจการขายและให้เช่ายางเครื่องบินทั้ง 3 ลักษณะ ตาม 1.1-1.3
บริษัทฯ มีความเห็นว่า
(1) การขายและให้เช่ายางเครื่องบินตามลักษณะ 1.1 และ 1.2 เป็นกิจการที่
ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 และ 0 ตามลำดับ
(2) การขายและให้เช่ายางเครื่องบินตามลักษณะ 1.3 เป็นกิจการที่ไม่ต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากเป็นการขายและให้เช่ายางเครื่องบินในต่างประเทศทั้งหมด
2.4 การเฉลี่ยภาษีซื้อสำหรับการขายและให้เช่ายางเครื่องบินตาม 1.3(1) ตัวอย่างเช่น
บริษัทฯ ซื้อยางเครื่องบินจากผู้ผลิตในประเทศเพื่อส่งออกโดยสำแดงราคาส่งออกในใบขนสินค้าขาออก
เป็นมูลค่า 100 บาท ต่อมาบริษัทฯ ขายหรือให้เช่ายางเครื่องบินในต่างประเทศเป็นมูลค่า 150 บาท
รายรับที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มคือ 100 บาท ส่วนรายรับที่ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มคือ 50 บาท
ถูกต้องหรือไม่
2.5 ในกรณีที่บริษัทฯ ซื้อยางเครื่องบินจากผู้ผลิตในประเทศแล้วส่งออกไปเก็บไว้ที่
คลังสินค้าในต่างประเทศเพื่อรอการขายหรือให้เช่าตาม 1.2(1) บริษัทฯ จะต้องนำรายได้จากการ
ส่งออกยางเครื่องบินที่สำแดงไว้ มาถือเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่
ส่งออกแต่เนื่องจากมาตรา 70 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ให้ถือว่าการส่งสินค้าออกไปต่างประเทศให้แก่
สำนักงานใหญ่ สาขา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกันเป็นการขายในประเทศ ซึ่งใช้บังคับ
สำหรับการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล มิได้ใช้บังคับสำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ จึงไม่ต้องนำรายได้
จากการส่งออกดังกล่าวมาเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 อีก

แนววินิจฉัย

1. กรณีบริษัทฯ จัดตั้งคลังสินค้าในต่างประเทศเพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บสินค้าที่ซื้อจากผู้ผลิตใน
ประเทศและที่ซื้อจากผู้ผลิตในอเมริกา และยุโรปเพื่อรอขายหรือให้เช่าแก่ลูกค้าในต่างประเทศ ไม่ถือ
เป็นสถานประกอบการในประเทศไทยตามมาตรา 77/1(20) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่ต้องแจ้งการ
เปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/7 แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีบริษัทฯ มีรายได้จากการขายหรือให้เช่ายางเครื่องบินในต่างประเทศและมีค่าใช้จ่าย
ต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่คลังสินค้าในต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการขายหรือให้เช่ายางเครื่องบินในต่างประเทศ
บริษัทฯ ต้องนำรายได้และรายจ่ายดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลใน
รอบระยะเวลาบัญชีนั้นตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
3. กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการขายหรือให้เช่ายางเครื่องบินในประเทศ อยู่ในบังคับต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร โดยคำนวณภาษีตามมาตรา 80 แห่ง
ประมวลรัษฎากร กรณีบริษัทฯ ส่งออกยางเครื่องบินไปเก็บไว้ยังคลังสินค้าในต่างประเทศ ถือเป็นการ
ส่งออกสินค้าตามมาตรา 77/1(14) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ใน
อัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีบริษัทฯ ขายหรือให้เช่ายาง
เครื่องบินนอกราชอาณาจักร ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่ง
ประมวลรัษฎากร
4. กรณีบริษัทฯ ซื้อยางเครื่องบินจากผู้ผลิตในประเทศแล้วส่งออกไปเก็บไว้ยังคลังสินค้าของ
บริษัทฯ ที่อยู่นอกราชอาณาจักรทั้ง 6 แห่ง เพื่อรอการขายหรือให้เช่ายางเครื่องบินแก่ลูกค้าใน
ต่างประเทศ บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้ออันเกิดจากการซื้อยางเครื่องบินเพื่อส่งออกไปขายหรือให้เช่าแก่
ลูกค้าในต่างประเทศดังกล่าว ไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่ง
ประมวลรัษฎากร
5. กรณีบริษัทฯ ซื้อยางเครื่องบินจากผู้ผลิตในประเทศ แล้วส่งออกไปเก็บไว้ที่คลังสินค้าใน
ต่างประเทศเพื่อรอการขายหรือให้เช่าแก่ลูกค้าในต่างประเทศ กรณีดังกล่าวถือเป็นการส่งออกสินค้าของ
บริษัทฯ ให้แก่หรือตามคำสั่งของสำนักงานใหญ่ สาขา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน
ตัวการ ตัวแทน นายจ้างหรือลูกจ้าง ซึ่งให้ถือว่าการที่ได้ส่งสินค้าไปนั้นเป็นการขายในประเทศ และให้
ถือราคาสินค้าตามราคาตลาดในวันที่ส่งไปเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 70 ตรี
แห่งประมวลรัษฎากร

กรมสรรพากรแก้ไขล่าสุด

29 มีนาคม 2560