กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งเสียภาษีในกรณีใด

  • หน้าแรก

  • News

  • ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งเสียภาษีในกรณีใด

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

1. บุคคลธรรมดา  มีงินได้ขั้นต่ำถึงเกณฑ์ที่ประมวลรัษฎากรกำหนดไว้ ก็มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยมิได้จำกัดอายุ ความสามารถ สัญชาติ และอื่นๆของผู้มีเงินได้

2. ห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล และคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล

  • ห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล คือการที่บุคคลธรรมดาตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปตกลงเข้าทุนกันไม่ว่าจะเป็นเงิน แรงงาน หรือทรัพย์สิน เพื่อกระทำการร่วมกันโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งปันผลกำไรที่จะพึงได้จากกิจการที่ทำนั้น
  • คณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล คือการที่บุคคลธรรมดาตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปตกลงเข้าทุนกันไม่ว่าจะเป็นเงิน แรงงาน หรือทรัพย์สิน เพื่อกระทำการร่วมกันโดยไม่จำเป็นต้องมีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งปันผลกำไรที่จะพึงได้จากกิจการที่ทำนั้น

3. ผู้ถึงแก่ความตาย - ผู้ถึงแก่ความตายในระหว่างปีภาษี ที่มีเงินได้ขั้นต่ำถึงเกณฑ์ที่ประมวลรัษฎากรกำหนดไว้ โดยผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีคือ ผู้จัดการมรดก หรือทายาท หรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ถึงแก่ความตาย

4. กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง - ในปีภาษีถัดจากปีที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย หากกองมรดกนั้นยังไม่ได้แบ่งให้กับทายาทคนใดคนหนึ่งโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม และกองมรดกมีเงินได้พึงประเมินถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่ประมวลรัษฎากรกำหนด โดยผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีคือ ผู้จัดการมรดก หรือทายาท หรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ถึงแก่ความตาย

ที่มา : กรมสรรพากร

การยื่นแบบและการชำระภาษีการรับมรดก

        ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก ให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดก (ภ.ม.60) และชำระภาษีภายใน 150 วันนับแต่วันที่ได้รับมรดกที่เป็นเหตุให้มีหน้าที่เสียภาษี โดยให้พิมพ์จากระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากร และสามารถยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาแห่งใดแห่งหนึ่งหรือ ณ สถานที่อื่นใดตามที่อธิบดีกำหนด

        ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตายก่อนครบกำหนดเวลายื่นแบบ โดยยังมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี ให้ผู้จัดการมรดกของผู้นั้นมีหน้าที่ยื่นแบบและชำระภาษี พร้อมทั้งเงินเพิ่มร้อยละ 1.50 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ แทนผู้ตายภายใน 150 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับ สำหรับเงินเพิ่มให้คำนวณตั้งแต่วันที่ครบกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการจนถึงวันที่ชำระภาษีครบถ้วน

        ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตายเมื่อครบกำหนดเวลา โดยยังมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี ให้ผู้จัดการมรดกของผู้นั้นมีหน้าที่ยื่นแบบและชำระภาษี พร้อมทั้งเงินเพิ่มร้อยละ 1.50 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ แทนผู้ตายภายใน 150 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก โดยเสียเบี้ยปรับ 1 เท่า ของเงินภาษีที่ต้องชำระ สำหรับเงินเพิ่มให้คำนวณตั้งแต่วันที่ครบกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการจนถึงวันที่ชำระภาษีครบถ้วน

        ในกรณียื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีภายหลังกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ชำระภาษี พร้อมทั้งเงินเพิ่มร้อยละ 1.50 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยเสียเบี้ยปรับ 2 เท่า ของเงินภาษีที่ต้องชำระ สำหรับเงินเพิ่มให้คำนวณตั้งแต่วันที่ครบกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการจนถึงวันที่ชำระภาษีครบถ้วน

        การแต่งตั้งผู้จัดการมรดกมาดำเนินการแทนผู้มีหน้าที่เสียภาษี ให้กระทำภายใน 180 วัน หากไม่มีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกมาดำเนินการแทน ให้ทายาทซึ่งมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายมีหน้าที่ยื่นแบบและชำระภาษี ภายใน 150 วันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลา 180 วัน ในกรณีที่มีทายาทหลายคน ให้ทายาทตกลงมอบให้ทายาทคนหนึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี ถ้าไม่อาจตกลงกันได้ ให้ทายาทคนใดคนหนึ่งยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อแต่งตั้งผู้จัดการมรดกต่อไป

ภาษีการรับมรดก

ภาษีการรับมรดก เป็นภาษีที่เก็บจากมูลค่ามรดกที่ทายาทแต่ละคนได้รับจากกองมรดก โดยที่ผู้รับมรดกเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี และมักจะมีการกำหนดค่าลดหย่อนและอัตราภาษีที่เป็นประโยชน์กับผู้รับมรดกที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ตาย ทำให้ผู้รับมรดกที่มีความใกล้ชิดกับผู้ตายมีภาระภาษีที่น้อยกว่าผู้รับมรดกแต่ละคนมากกว่า เพราะรับภาระภาษีตามสัดส่วนมูลค่าของมรดกที่ตนได้รับ

เลขที่หนังสือ : กค 0702/7863
วันที่ : 21 กันยายน 2552
เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีกองมรดกให้เช่าที่ดินซึ่งถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน
ข้อกฎหมาย : มาตรา 57 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           1. คณะบุคคลฯ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินรวม 5 โฉนด
          2. นาย พ. นาง ร. และนาย ส. ได้เสียชีวิต และมีการตั้งผู้จัดการมรดกเป็นผู้จัดการทรัพย์มรดก ดังนี้
               (1) นาย พ. เสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2530 มีนาย ศ.และนาง ว.เป็นผู้จัดการมรดก
               (2) นาง ร. เสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2542 มีนาง ภ. เป็นผู้จัดการมรดก
               (3) นาย ส. เสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 มีนาง น. เป็นผู้จัดการมรดก
          3. นาย ศ. และนาง ว. ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย พ. นาง ภ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาง ร. และนาง น. ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย ส. ได้ทำสัญญาให้บริษัท ช. จำกัด (บริษัทฯ) เช่าที่ดินที่ผู้ตายถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2550 ต่อจากสัญญาเช่าเดิมอีก 3 ปี จำนวน 2 ฉบับ
          4. คณะบุคคลฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการต่างๆ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากค่าเช่าตามสัญญาเช่า ทั้ง 2 ฉบับข้างต้น ดังนี้
               4.1 ยื่นแบบ ภ.ง.ด.93 ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นการล่วงหน้า สำหรับปีภาษี 2550 ถึงปีภาษี 2553 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2550 ดังนี้
               ปีภา               จำนวนภาษีที่ชำระ (บาท)
               2550                 874,287.67
               2551               3,742,233.33
               2552               3,742,233.33
               2553               2,455,511.87
               4.2 ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ปีภาษี 2550 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2550 ไม่มีภาษีที่ต้องชำระ
               4.3 ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ปีภาษี 2550 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2551 แสดงรายการเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40(5) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนเงิน 4,638,079.21 บาท มีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 2,027,337.75 บาท และมีภาษีชำระไว้ตามแบบ ภ.ง.ด.93 จำนวน 874,287.67 บาท ขอคืนเงินภาษีอากร 1,896,915.22 บาท
แนววินิจฉัย           1. คณะบุคคล คือ สัญญาที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ซึ่งมาตรา 15 แห่งประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้กำหนดสภาพบุคคลไว้ว่า ให้เริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย เมื่อบุคคล ในคณะบุคคลเสียชีวิต และกองมรดกไม่มีสภาพบุคคล คณะบุคคลย่อมเป็นอันสิ้นสภาพลง
          2. กรณีนาย พ. นาง ร. และนาย ส. เสียชีวิต ทรัพย์มรดกย่อมตกทอดไปยังทายาทโดยผลของกฎหมายตามมาตรา 1599 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อกองมรดกของนาย พ. นาง ร. และนาย ส. มีทรัพย์มรดกที่เป็นที่ดินที่ยัง ไม่ได้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ว่า ผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนใดและจำนวนเท่าใด แต่ผู้จัดการมรดกได้ร่วมกันทำสัญญาให้บริษัทฯ เช่าที่ดินทั้ง 5 แปลงดังกล่าว จึงเข้าลักษณะเป็นการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ของกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งจำนวน 3 กองมรดกคือ กองมรดกนาย พ. กองมรดกนาง ร. และกองมรดกนาย ส. ซึ่งต้องเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามของแต่ละกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ทั้งนี้ ตามมาตรา 57 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
          3. กรณีผู้ตายทั้ง 3 ราย เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินที่ให้บริษัทฯ เช่า ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในนามของกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งของแต่ละกองมรดกตาม 2. แต่ผู้จัดการมรดกของผู้ตายทั้ง 3 ราย ได้ยื่นแบบแสดง รายการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดารวมทั้งขอคืนภาษีในนามของคณะบุคคลฯ เนื่องจากไม่เข้าใจในข้อกฎหมายนั้น ถือได้ว่า กองมรดกแต่ละกองที่มีหน้าที่เสียภาษี ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษี เพราะเป็นการยื่นแบบแสดงรายการและชำระ ภาษีผิดหน่วยภาษี ดังนั้น ผู้จัดการมรดกของผู้ตายแต่ละรายจึงต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.93 ในนามของกองมรดกผู้ตายแต่ละรายใหม่ โดยให้เฉลี่ยค่าเช่าเป็นเงินได้ของกองมรดกแต่ละกองตามส่วน และเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้เสียภาษีซึ่งได้เสียภาษีไปแล้ว แต่ ผิดหน่วยภาษี จึงอนุโลมให้นำภาษีที่ชำระไว้ผิดหน่วยภาษีนั้นมาหักออกจากภาษีที่ต้องชำระในนามกองมรดกแต่ละกองได้ ส่วนแบบ ภ.ง.ด.94 และแบบ ภ.ง.ด.90 ปีภาษี 2550 ที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีในนามคณะบุคคลฯ นั้น จะต้องยื่น แบบแสดงรายการเสียภาษีในนามกองมรดกแต่ละกอง พร้อมทั้งให้คำนวณเงินเพิ่มตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร โดยอนุโลมให้นำภาษีที่เสียภาษีไปแล้วมาหักออกได้
เลขตู้ : 72/36877