ถ้ามีบาดแผลเล็กน้อย

ถ้ามีบาดแผลเล็กน้อย

ชนิดของบาดแผล

1. บาดแผลถลอก เกิดจากการครูดหรือไถลบนพื้นขรุขระ มีการสูญเสียเฉพาะผิวหนังชั้นนอกเท่านั้น
2. บาดแผลฉีกขาดมีขอบแผลไม่เรียบ รุ่งริ่ง และฟกช้ำ
3. บาดแผลจากวัตถุมีคม เช่น มีดบาด กระจกบาด ขอบแผลเรียบ
4. บาดแผลพุพอง เช่น บาดแผลจากไฟไหม้น้ำร้อนลวก
5. บาดแผลฉีกขาด และบาดแผลจากวัตถุมีคม อาจมีอวัยวะอื่นที่อยู่ลึกลงไปถูกตัดขาดได้ด้วย นอกจากร่องรอยที่ชั้นผิวหนัง

ทำอย่างไรเมื่อเกิดบาดแผล?

1. ควรล้างด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือปราศจากเชื้อเท่านั้น
2. ในกรณีที่มีเลือดออกมากใช้ผ้าก๊อซสะอาดกดห้ามเลือด ไม่ควรใช้นิ้วมือกดโดยตรงเพราะอาจทำให้แผลติดเชื้อมากขึ้นจากนิ้วมือที่ปนเปื้อนของเรา และถ้ากดแผลให้ผู้อื่นก็ควรสวมถุงมือยางป้องกันการสัมผัสเลือดเสมอเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเลือดเช่น โรคเอดส์ โรคไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น
3. บาดแผลฉีกขาด หรือโดนวัตถุมีคมบาด ที่เป็นแผลลึกควรได้รับการเย็บแผล เพื่อให้แผลหายเร็วขึ้น ควรรีบมาโรงพยาบาลเพื่อเย็บแผลภายใน 4 ชั่วโมง หากปล่อยแผลทิ้งไว้จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น การเย็บแผลเป็นการช่วยห้ามเลือด และเพื่อความสวยงาม แพทย์อาจพิจารณาไม่เย็บแผล ในกรณีที่เป็นบาดแผลจากสุนัข หรือแมวกัด หรือบาดแผลที่สกปรกมาก เพราะอาจเกิดการติดเชื้อตามมาได้ รับประทานยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด หรือรับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก ขึ้นกับชนิดของแผลตามคำแนะนำของแพทย์
    • บาดแผลพุพองจากความร้อน ให้แช่น้ำสะอาด หรือประคบด้วยความเย็น ห้ามใช้น้ำปลา ยาสีฟัน หรือครีมต่าง ๆ ทาแผล ให้รีบมาพบแพทย์
4. สิ่งแปลกปลอมในแผลที่อยู่ลึกและอาจแทงโดนอวัยวะสำคัญไม่ควรดึงออกเอง เช่น ไม้เสียบลูกชิ้นทิ่ม เบ็ดตกปลาเกี่ยวนิ้ว หรือโดนแทงด้วยมีดแล้วมีดยังคาอยู่ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อให้แพทย์นำสิ่งแปลกปลอมออกให้

การดูแลรักษาบาดแผล

1. ควรทำความสะอาดรอบบาดแผลด้วยการล้างน้ำเกลือปราศจากเชื้อก่อน หากไม่ทราบวิธี อุปกรณ์ไม่สะอาด หรือน้ำยาไม่ถูกชนิด อาจทำให้แผลอักเสบมากขึ้น ติดเชื้อและแผลหายช้า ให้รีบมาล้างแผลที่โรงพยาบาล
2. พยายามให้แผลแห้ง และสะอาดอยู่เสมอ ระวังอย่าให้เปียกน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก หากบาดแผลเปียกน้ำ มีเลือด หรือน้ำเหลืองซึมออกมาจนผ้าก๊อซที่ปิดแผลชุ่มควรกลับมาทำความสะอาดแผลแล้วปิดผ้าก๊อซผืนใหม่
3. บาดแผลพุพองที่เป็นตุ่มน้ำใส ไม่ควรเจาะตุ่มน้ำให้แตก หรือลอกผิดที่คลุมตุ่มน้ำนั้นทิ้ง
4. หากมีไข้ ปวดบาดแผล มีอาการบวมแดงรอบแผล ควรกลับมาพบแพทย์เพื่อตรวจซ้ำ
5. ผู้ที่ได้รับการเย็บแผล ควรกลับมาตรวจซ้ำตามนัด ซึ่งปัจจุบันนี้การล้างแผลทุกวัน อาจไม่จำเป็น ขึ้นกับชนิดของบาดแผล และวิธีการทำแผล มาถอดไหมที่เย็บแผล ตามแพทย์นัด ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 7 วัน อาจน้อยกว่านี้สำหรับแผลเย็บบริเวณใบหน้า หรือนานกว่านี้สำหรับแผลเย็บบริเวณแขน ขา บาดแผลที่มีผลต่อความงาม เช่น บริเวณใบหน้าท่านสามารถรักษากับแพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมตกแต่งได้

ที่มา : ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ

ความหมาย ถลอก

Share:

ถลอก (Abrasion Wound) คือ แผลซึ่งเกิดจากการที่ผิวหนังเสียดสีกับวัสดุที่มีลักษณะหยาบและแข็งจนทำให้เกิดรอยแผล เลือดอาจออกไม่มาก แต่การเสียดสีอาจทำให้ผิวหนังชั้นหนังกำพร้าฉีกขาดได้ แผลชนิดนี้หายเองได้ แต่ต้องรีบทำความสะอาดทันทีที่เกิดแผล เพราะหากปล่อยไว้จะทำให้แผลสกปรกจนเกิดการติดเชื้อ

ถ้ามีบาดแผลเล็กน้อย

อาการของแผลถลอก

ส่วนใหญ่แล้วแผลถลอกมักจะเกิดขึ้นบริเวณผิวหนังที่ค่อนข้างบางกว่าและมักสัมผัสพื้นเมื่อล้ม เช่น หัวเข่า ศอก หรือตาตุ่ม โดยแผลถลอกจะมีรอยฉีกขาดอยู่ในระดับหนังกำพร้า ซึ่งอาจมีหรือไม่มีเลือดออกก็ได้ หากไม่มีเลือดออก หรือการฉีกขาดไม่เสียหายมากนักก็หายเองได้ แต่จะต้องทำความสะอาดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดจุดด่างดำซึ่งมาจากสิ่งแปลกปลอมที่ตกค้างอยู่บริเวณแผล แต่ากแผลมีเลือดออก และความลึกหรือขนาดของแผลค่อนข้างใหญ่ แผลที่เป็นก็อาจไม่ใช่แผลถลอก ควรรีบทำความสะอาดแผล และอาจต้องได้รับการดูแลแผลเพิ่มเติม

สาเหตุของแผลถลอก

แผลถลอกเป็นแผลที่มักเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ โดยบาดแผลจะเกิดจากการที่ผิวหนังเสียดสีไปกับวัสดุที่แข็งและมีพื้นผิวหยาบ เช่น พื้นถนน พื้นดิน หรือบริเวณที่มีลักษณะพื้นผิวแหลมคม แต่ไม่ถึงขนาดทำให้แผลเปิดจากการถูกบาดลึกจนทำให้เลือดออกมากหรือเป็นแผลเป็นขนาดใหญ่ได้

การวินิจฉัยแผลถลอก

แผลถลอก เป็นแผลชนิดเปิด (Open Wound) ที่เห็นได้ชัด จึงสังเกตเห็นแผลถลอกได้ด้วยตนเอง โดยแผลถลอกนั้นมีลักษณะเด่นชัด คือ ผิวหนังชั้นกำพร้าฉีกขาด และอาจมีเลือดซึมออกมาเล็กน้อย อีกทั้งแผลจะไม่ลึกมาก แต่ถ้าหากแผลมีขนาดใหญ่และค่อนข้างลึก จะเข้าข่ายแผลชนิดอื่น ต้องไปพบแพทย์เพื่อล้างแผลและรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ กรณีที่เข้าข่ายว่าควรไปพบแพทย์ ได้แก่

  • บาดแผลเกิดที่บริเวณใบหน้า
  • ขอบของบาดแผลมีลักษณะขรุขระ หรือเปิดกว้าง ความลึกของแผลมากกว่า ¼ นิ้ว จนสามารถเห็นไขมัน หรือกล้ามเนื้อได้
  • ลักษณะของแผลสกปรกมากเนื่องจากไม่สามารถนำเศษสิ่งสกปรกออกจากแผลได้หมด
  • ไม่เคยได้รับวัคซีนบาดทะยักในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
  • บาดแผลเกิดจากสัตว์หรือมนุษย์กัด หรือข่วน
  • บริเวณที่บาดเจ็บเกิดความรู้สึกชา
  • เลือดออกไม่หยุด แม้จะได้รับการกดแผลห้ามเลือดโดยตรงแล้ว
  • เลือดไม่หยุดไหลภายใน 20 นาที
การรักษาแผลถลอก

ในกรณีที่แผลมีขนาดเล็กและไม่มีเลือดออกอาจไม่ต้องรักษา เนื่องจากแผลเหล่านี้หายเองได้ แต่จำเป็นต้องทำความสะอาดไม่ว่าแผลจะใหญ่หรือไม่ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่ก่อนที่จะทำความสะอาดแผลควรรอให้เลือดหยุดไหลเสียก่อน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเลือดที่ออกจากแผลถลอกจะหยุดไหลได้เอง หลังจากนั้นจึงค่อยทำความสะอาดแผล ซึ่งมีวิธีดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาด ก่อนทำแผลทุกครั้งควรล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาด ไม่ให้มีเชื้อโรคตกค้างที่มือซึ่งทำให้แผลติดเชื้อได้
  • ล้างแผลด้วยน้ำเย็น จะช่วยให้แผลสะอาดขึ้นและช่วยบรรเทาอาการเจ็บให้ลดลงได้ ควรล้างแผลด้วยการให้น้ำไหลผ่านบริเวณแผล และใช้สบู่ทำความสะอาดบริเวณแผล
นอกจากนี้ ในระหว่างที่รอให้แผลหาย ควรรักษาความสะอาดบริเวณแผลอยู่เสมอ และอาจปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ หากปวดที่บริเวณแผลอาจกินยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการปวดได้ ทั้งนี้ ไม่ควรใช้ยาแอสไพริน เพราะจะทำให้เลือดไหลไม่หยุด ในกรณีที่แผลบวมเล็กน้อย ลองประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการ  แต่ไม่ควรให้บาดแผลสัมผัสกับน้ำแข็งหรือเจลประคบโดยตรงเพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ หากจำเป็นต้องออกไปข้างนอก และแผลต้องสัมผัสกับแสงแดด ควรทาครีมกันแดดที่มีความเข้มข้น SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป และควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดบริเวณแผล และระบายอากาศได้ เพื่อไม่ให้แผลอับเกินไป

ภาวะแทรกซ้อนจากแผลถลอก

แม้ว่าแผลถลอกจะสามารถหายเองได้ แต่ถ้าผู้ป่วยไม่รีบล้างแผลตั้งแต่เกิดแผลใหม่ ๆ หรือไม่ดูแลรักษาความสะอาดให้ดีเพียงพอก็อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ภาวะแทรกซ้อนที่มักพบได้ในผู้ป่วยที่มีแผลถลอกหรือแผลเปิดชนิดอื่น ๆ คือ ภาวะติดเชื้อ ซึ่งจะยิ่งทำให้แผลแห้งช้าลง ทั้งนี้หากแผลที่เกิดขึ้นนั้นมีอาการเลือดไหลไม่หยุด มีอาการเจ็บ บวมที่แผลมากผิดปกติ หรือมีอาการดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์ทันที

  • ผิวหนังบริเวณแผลมีสีคล้ำและขยายขนาดมากขึ้น
  • มีของเหลวไหลออกมามาก มีหนองสีน้ำตาล สีเขียว หรือสีเหลืองไหลออกมาจากแผล
  • หนองที่ไหลออกมามีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
  • มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียสติดต่อกันมากกว่า 4 ชั่วโมง
  • มีก้อนแข็ง บริเวณขาหนีบ หรือรักแร้
  • แผลไม่มีทีท่าว่าจะหาย
เมื่อไปพบแพทย์แล้ว และแพทย์วินิจฉัยพบว่าแผลถลอกเกิดการติดเชื้อ แพทย์จะให้ผู้ป่วยใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการติดเชื้อ แต่ถ้าหากในกรณีที่รุนแรงมาก ๆ ที่มีอาการเนื้อตายร่วมด้วย แพทย์จะต้องทำการขูดเนื้อเยื่อที่ตายและเนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆ ออก เพื่อช่วยให้การติดเชื้อไม่ลุกลามไปมากกว่าเดิม

นอกจากนี้ หากปล่อยการติดเชื้อไว้ไม่รีบรักษาอย่างเร่งด่วน อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา เช่น

  • บาดทะยัก ทำให้มีอาการขากรรไกรค้าง ตัวเกร็ง ชักกระตุก ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคบาดทะยัก
  • เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังตาย การติดเชื้อที่รุนแรงอาจเป็นสาเหตุของเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังตายและทำให้สูญเสียเนื้อเยื่อบริเวณที่ติดเชื้อได้
  • เนื้อเยื่อตายชนิดเกิดแก๊ส หากการติดเชื้อที่บาดแผล เป็นการติดเชื้อคลอสติเดียม โบทูลินัม (Clostridium Botulinum) อาจทำให้เกิดการเน่าตายของเนื้อเยื่อและทำให้เกิดแก๊สใต้ผิวหนังจนกลายเป็นตุ่มนูนได้
  • เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) เป็นการติดเชื้อที่ก่อให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน หรือเจ็บที่ผิวหนังได้
การป้องกันแผลถลอก

เนื่องจากแผลถลอกโดยส่วนใหญ่มักเกิดจากอุบัติเหตุ จึงไม่สามารถป้องกันได้อย่างเต็มที่ แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุที่อาจทำให้มีแผลถลอกได้ และหากเกิดแผลถลอกขึ้น ควรรีบทำความสะอาดแผลโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจนำมาสู่อาการที่ร้ายแรงในภายหลัง

หัวข้อสนนทนาที่เกี่ยวข้อง