พี่ผิดพี่ก็มาลุแก่โทษ




โอ้เจ้าแก้วแววตาของพี่เอ๋ย                      เจ้าหลับใหลกระไรเลยเป็นหนักหนา

ดังนิ่มน้องหมองใจไม่นำพา                                  ฤๅขัดเคืองคิดว่าพี่ทอดทิ้ง

ความรักหนักหน่วงทรวงสวาท                              พี่ไม่คลาดคลายรักแต่สักสิ่ง

เผอิญเป็นวิปริตที่ผิดจริง                                         จะนอนนิ่งถือโทษโกรธอยู่ไย

ว่าพลางเอนแอบลงแนบข้าง                                  จูบพลางชวนชิดพิสมัย

ลูบไล้พิไรปลอบให้ชอบใจ                                    เป็นไรจึงไม่ฟื้นตื่นนิทรา

ถอดความได้ว่า

            ขุนแผนง้อนางวันทองด้วยคำพูดหวานๆและขอโทษนางวันทอง ว่าอย่าโกรธขุนแผนเลย จะนอนนิ่งไม่คุยกับขุนแผนเลยหรอ ขุนแผนพูดไปแล้วก็ก้มลงนอนแนบข้างๆนางวันทองพร้อมพรมจูบ ลูบแขน   และถามนางวันทองว่าทำไมไม่ตื่นขึ้นมาคุยกับขุนแผน


-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ถอดคำประพันธ์ ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา

จะกล่าวถึงโฉมเจ้าพลายงาม         เมื่อเป็นความชนะขุนช้างนั่น

กลับมาอยู่บ้านสำราญครัน                    เกษมสันต์สองสมภิรมย์ยวน

พร้อมญาติขาดอยู่แต่มารดา                 นึกนึกตรึกตราละห้อยหวน

โอ้ว่าแม่วันทองช่างหมองนวล             ไม่สมควรเคียงคู่กับขุนช้าง

เออนี่เนื้อเคราะห์กรรมนำมาผิด           น่าอายมิตรหมองใจไม่หายหมาง

ฝ่ายพ่อมีบุญเป็นขุนนาง                       แต่แม่ไปแนบข้างคนจังไร

ถอดความได้ว่า

            เมื่อพลายงามชนะความขุนช้าง ก็ได้กลับมาอยู่บ้านอย่างสุขสบาย ขาดก็แต่มารดา พลายงามคิด ว่าแม่วันทองไม่ควรอยู่กับขุนช้าง อาจจะเป็นเคราะห์กรรมของแม่วันทองถึงต้องมาอับอายแบบนี้ พ่อก็เป็นถึงขุนนาง แต่แม่กลับไปอยู่กับคนจัญไร

—————————————————————————-

            รูปร่างวิปริตผิดกว่าคน                  ทรพลอัปรีย์ไม่ดีได้

ทั้งใจคอชั่วโฉดโหดไร้                            ช่างไปหลงรักใคร่ได้เป็นดี

วันนั้นแพ้กูเมื่อดำน้ำ                                 ก็กริ้วซ้ำจะฆ่าให้เป็นผี

แสนแค้นด้วยมารดายังปรานี                  ให้ไปขอชีวีขุนช้างไว้

แค้นแม่จำจะแก้ให้หายแค้น                     ไม่ทดแทนอ้ายขุนช้างบ้างไม่ได้

หมายจิตคิดจะให้มันบรรลัย                   ไม่สมใจจำเพาะเคราะห์มันดี

คำศัพท์

วันนั้นแพ้กูเมื่อดำน้ำ หมายถึง จมื่นไวยเท้าความถึงตอนที่ขุนช้างดำน้ำพิสูจน์โทษเมื่อเป็นคดีกับตัว

ถอดความได้ว่า

รูปร่างน่าเกลียด ใจคอโหดเหี้ยม ไม่รู้ว่าแม่วันทองไปรักขุนช้างได้อย่างไร ท้าวความถึงตอนที่ขุนช้างดำน้ำเพื่อพิสูจน์โทษเมื่อเป็นคดีกับตน พลายงามโกรธมากและจะฆ่าขุนช้างให้ตาย แต่มารดาห้ามและขอชีวิตไว้

 —————————————————————————————————————-

             อย่าเลยจะรับแม่กลับมา                ให้อยู่ด้วยบิดาเกษมศรี

พรากให้พ้นคนอุบาทว์ชาติอัปรีย์             ยิ่งคิดก็ยิ่งมีความโกรธา

อัดอึดฮึดฮัดด้วยขัดใจ                                เมื่อไรตะวันจะลับหล้า

เข้าห้องหวนละห้อยคอยเวลา                   จวนสุริยาเลี้ยวลับเมรุไกร

เงียบสัตว์จัตุบททวิบาท                            ดาวดาษเดือนสว่างกระจ่างไข

น้ำค้างตกกระเซ็นเย็นเยือกใจ                  สงัดเสียงคนใครไม่พูดจา

คำศัพท์

เมรุไกร หมายถึง ภูเขาใหญ่

จัตุบททวิบาท หมายถึง (สัตว์) สี่เท้า  สองเท้า

ถอดความได้ว่า

พลายงามแค้นขุนช้างมาก จะต้องหาทางแก้แค้นขุนช้างให้ได้ ใจก็อยากให้ขุนช้างตาย แต่ขุนช้างดวงดีไม่เป็นดังที่ตนหวังไว้ ก็เลยจะรับแม่(นางวันทอง)ให้มาอยู่บ้านกับพ่อ(ขุนแผน) จะพาแม่หนีให้พ้นจากขุนข้างคนชั่วช้าใจทราม ยิ่งคิดก็ยิ่งคับแค้นใจ กระวนกระวายว่าเมื่อไรจะค่ำที่จะได้ไปรับแม่กลับบ้าน จนตะวันลับขอบฟ้า ไม่มีแม้แต่เสียงเท้าสัตว์เดิน ดาวที่อยู่บนท้องฟ้าส่องแสงสว่าง  ในตอนมืดอากาศเริ่มเย็นมีน้ำค้าง เงียบสงัดไม่มีแม้แต่เสียงคนพูด ได้ยินเสียง

—————————————————————————————————————–

ได้ยินเสียงฆ้องย่ำประจำวัง                   ลอยลมล่องดังถึงเคหา

คะเนนับย่ำยามได้สามครา                    ดูเวลาปลอดห่วงทักทิน

ฟ้าขาวดาวเด่นดวงสว่าง                       จันทร์กระจ่างทรงกลดหมดเมฆสิ้น

จึงเซ่นเหล้าข้าวปลาให้พรายกิน          เสกขมิ้นว่านยาเข้าทาตัว

ลงยันต์ราชะเอาปะอก                             หยิบยกมงคลขึ้นใส่หัว

เป่ามนตร์เบื้องบนชอุ่มมัว                      พรายยั่วยวนใจให้ไคลคลา

คำศัพท์ 

มงคล ในที่นี้หมายถึงสิ่งที่ทำเป็นวงใช้สวมศีรษะ

ทักทิน หมายถึง วันชั่วร้ายตามความเชื่อโหราศาสตร์

ถอดความได้ว่า

เสียงฆ้องตีบอกเวลาจากวัง ลอยมาตามลมได้ยินถึงบ้าน นับได้เป็นเวลาตีสาม เป็นเวลาที่จะได้ปลดปล่อยความชั่วร้าย  เมื่อท้องฟ้าเต็มไปด้วยดวงดาวและดวงจันทร์สว่างไม่มีเมฆบดบัง จึงได้นำเหล้าและอาหารไปเซ่นให้ผีพรายกิน เอาขมิ้นมาทาตามตัว ลงยันต์ที่อกและเอาสิ่งมงคลมาใส่หัว เป่ามนตร์คาถา เพื่อให้หลงมนตร์ที่เป่าลงไป

—————————————————————————————————————–

        จับดาบเคยปราบณรงค์รบเสร็จครบบริกรรมพระคาถา ลงจากเรือนไปมิได้ช้ารีบมาถึงบ้านขุนช้างพลัน เห็นคนนอนล้อมอ้อมเป็นวงประตูลั่นมั่นคงขอบรั้วกั้นกองไฟสว่างดังกลางวันหมายสำคัญตรงมาหน้าประตูจึงร่ายมนตรามหาสะกดเสื่อมหมดอาถรรพณ์ที่ฝังอยู่ภูตพรายนายขุนช้างวางวิ่งพรูคนผู้ในบ้านก็ซานเซอะ

คำศัพท์

บริกรรม หมายถึง สำรวมในร่ายมนตร์หรือเสกคาถาซ้ำๆหลายๆหน เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์

ถอดความได้ว่า

นำดาบที่เคยรบมาร่ายมนตร์เสกคาถา และลงจากเรือนรีบไปบ้านขุนช้าง เมื่อมาถึงก็เห็นคนนอนหลับกันหมด ประตูปิดสนิท มีกองไฟสว่างอยู่หน้าบ้าน พลายงามรีบมาที่หน้าประตู ร่ายมนตร์สะกดพวกผีพรายของขุนช้าง ผู้คนในบ้านต่างง่วงหลับด้วยมนตร์ของพลายงาม

—————————————————————————————————————–

ทั้งชายหญิงง่วงงมล้มหลับนอนทับคว่ำหงายก่ายกันเปรอะจี่ปลาคาไฟมันไหลเลอะโงกเงอะงุยงมไม่สมประดีใช้พรายถอดกลอนถอนลิ่มรอยทิ่มถอดหลุดไปจากที่ย่างเท้าก้าวไปในทันทีมิได้มีใครทักแต่สักคนมีแต่หลับเพ้อมะเมอฝันทั้งไฟกองป้องกันทุกแห่งหนผู้คนเงียบสำเนียงเสียงแต่กรนมาจนถึงเรือนเจ้าขุนช้าง

ถอดความได้ว่า

ผู้คนในบ้านต่างก็ง่วงหลับด้วยมนต์ของพลายงาม นอนทับกันไปมา พลายงามจึงใช้ให้พรายไปถอดกลอนประตู และก้าวเข้าไปถึงเรือนของขุนช้าง

—————————————————————————————————————–

จุดเทียนสะกดข้าวสารปรายภูตพรายโดดเรือนสะเทือนผางสะเดาะดาลบานเปิดหน้าต่างกางย่างเท้าก้าวขึ้นร้านดอกไม้หอมหวนอวลอบบุปผชาติเบิกบานก้านกลาดกิ่งไสวเรณูฟูร่อนขจรใจย่างเท้าก้าวไปไม่โครมครามข้าไทนอนหลับลงทับกันสะเดาะกลอนถอนลั่นถึงชั้นสามกระจกฉากหลากสลับวับแวมวามอร่ามแสงโคมแก้วแววจับตา

คำศัพท์

ข้าวสารปราย หมายถึง ข้าวสารที่เสกแล้วซัดให้กระจาย

ร้านดอกไม้ ในที่นี้หมายถึงชานเรือนโบราณที่ปลูกดอกไม้ไว

สะเดาะกลอน หมายถึง ทำให้กลอนประตูหลุดออกได้ด้วยคาถาอาคม

ถอดความได้ว่า

พลายงามจุดเทียนร่ายมนต์สะกด โปรยข้าวสารเสกใส่ทำให้ภูตพรายหนีกันอลหม่าน จึงสะเดาะกลอนประตูเข้าไปถึงสามชั้น บานหน้าต่าง เข้าไปข้างในห้อง และได้กลิ่นหอมของดอกไม้ที่หอมหวนอบอวลไปทั่วห้อง แล้วก้าวเข้าไปอย่างเงียบๆ พวกข้ารับใช้กำลังนอนหลับ พลายงามจึงใช้มนตร์สะเดาะกลอนประตูเข้ามาภายในถึง3ชั้น

—————————————————————————————————————–

ม่านมู่ลี่มีฉากประจำกั้นอัฒจันทร์เครื่องแก้วก็หนักหนาชมพลางย่างเยื้องชำเลืองมาเปิดมุ้งเห็นหน้าแม่วันทองนิ่งนอนอยู่บนเตียงเคียงขุนช้างมันแนบข้างกอดกลมประสมสองเจ็บใจดังหัวใจจะพังพองขยับจ้องดาบง่าอยากฆ่าฟันจะใครถีบขุนช้างที่กลางตัวนึกกลัวจะถูกแม่วันทองนั่นพลางนั่งลงนอบนบอภิวันทน์สะอื้นอั้นอกแค้นน้ำตาคลอ

คำศัพท์

อัฒจันทร์ ในที่นี้หมายถึง ชั้นที่ตั้งเครื่องแก้วซึ่งเป็นของประดับบ้าน

ถอดความได้ว่า

เมื่อเข้าไปถึงในห้องมีทั้งกระจกฉาก และม่านมู่ลี่ที่กั้นอยู่ เมื่อพลายงามเดินมาถึง พลายงามจึงเปิดมุ้งและเห็นขุนช้างนอนกอดแม่วันทองอยู่ จึงเจ็บใจจนอยากจะชักดาบมาฆ่ามัน คิดจะถีบขุนช้างก็กลัวจะถูกแม่วันทอง พลายงามจึงนั่งลงและยกมือไหว้ สะอื้นน้ำตาคลอ

—————————————————————————————————————–

โอ้แม่เจ้าประคุณของลูกเอ๋ยไม่ควรเลยจะพรากจากคุณพ่อเวรกรรมนำไปไม่รั้งรอมิพอที่จะต้องพรากก็จากมามันไปฉุดมารดาเอามาไว้อ้ายหัวใสข่มเหงไม่เกรงหน้าที่ทำแค้นกูจะแทนให้ทันตาขอษมาแม่แล้วก็ขับพรายเป่าลงด้วยพระเวทวิทยามารดาก็ฟื้นตื่นโดยง่ายดาบใส่ฝักไว้ไม่เคลื่อนคลายวันทองรู้สึกกายก็ลืมตา

คำศัพท์

วิทยา หมายถึง ความรู้

ถอดความได้ว่า

พลายงามรำพันว่านางวันทองไม่ควรพลัดพรากจากขุนแผน แล้วโทษว่าเป็นเวรกรรมที่ทำให้ต้องแยกกัน พรายงามได้แม่แล้วขอขมาไล่พราย พร้อมทั้งเป่ามนต์ให้แม่วันทองตื่นขึ้นมา

—————————————————————————————————————–

        ครานั้นจึงโฉมเจ้าวันทองต้องมนตร์มัวหมองเป็นหนักหนาตื่นพลางทางชำเลืองนัยน์ตามาเห็นลูกยานั้นยืนอยู่ริมเตียงสำคัญคิดว่าผู้ร้ายให้นึกกลัวกอดผัวร้องดันจนสิ้นเสียงซวนซบหลบลงมาหมอบเมียงพระหมื่นไวยเข้าเคียงห้ามมารดาอะไรแม่แซ่ร้องทั้งห้องนอนลูกร้อนรำคาญใจจึงมาหาจะร้องไยใช่โจรผู้ร้ายมาสนทนาด้วยลูกอย่าตกใจ

คำศัพท์

นัยน์ตา หมายถึง ดวงตา

ถอดความได้ว่า

นางวันทองรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาสายตามองเห็นพลายงามแต่คิดว่าเป็นโจรจึงเข้า กอดขุนช้างด้วยความกลัว พลายงามปลอบ บอกนางวันทองว่าลูกพลายงามเอง ไม่ใช่โจรผู้ร้าย แม่อย่าตกใจไปเลย

—————————————————————————————————————–

         ครานั้นวันทองผ่องโสภาครั้นรู้ว่าลูกยาหากลัวไม่ลูกออกมาพลันด้วยทันใดพระหมื่นไวยเข้ากอดเอาบาทาวันทองประคองสอดกอดลูกรักซบพักตร์ร้องไห้ไม่เงยหน้าเจ้ามาไยป่านนี้นี่ลูกอาเขารักษาอยู่ทุกแห่งตำแหน่งในใส่ดาลบ้านช่องกองไฟรอบพ่อช่างลอบเข้ามากระไรได้อาจองทะนงตัวไม่กลัวภัยนี่พ่อใช้ฤาว่าเจ้ามาเอง

ถอดความได้ว่า

เมื่อวันทองรู้ว่าพลายงามมาหา ก็รีบลุกเข้าไปกอดพลายงามแล้วก็ซบหน้าร้องไห้

แล้วถามว่าลูกผ่านคนที่คอยเฝ้าอยู่มาได้ยังไงที่นี่มีคนคอยเฝ้าดูแลอยู่ทุกตำแหน่ง

ทำไมถึงรอดเข้ามาได้ลูกไม่กลัวหรอ นี่ขุนแผนใช้ลูกมา หรือ ลูกมาเอง

—————————————————————————————————————–

ขุนช้างตื่นขึ้นมิเป็นการเขาจะรุกรานพาลข่มเหงจะเกิดผิดแม่คิดคะนึงเกรงฉวยสบเพลงพลาดพล้ำมิเป็นการมีธุระสิ่งไรในใจเจ้าพ่อจงเล่าแก่แม่แล้วกลับบ้านมิควรทำเจ้าอย่าทำให้รำคาญอย่าหาญเหมือนพ่อนักคะนองใจ          จมื่นไวยสารภาพกราบบาทาลูกมาผิดจริงหาเถียงไม่รักตัวกลัวผิดแต่คิดไปก็หักใจเพราะรักแม่วันทอง

คำศัพท์

ฉวยสบเพลง หมายถึง บังเอิญถูกจังหวะ

ถอดความได้ว่า

ถ้าขุนช้างตื่นมาอาจจะทำร้ายลูกได้นะแม่เป็นห่วงมาก แม่กลัวว่าถ้าลูกเสียจังหวะ

พลาดพล้ำไปพลายงามอาจจะถูกทำร้ายได้นะแม่กลัว ถ้ามีธุระอะไรด่วนก็รีบมาเล่าให้แม่ฟัง แล้วก็รีบกลับไปซะ อย่าทำตัวกล้าหาญเหมือนขุนแผนพ่อของลูก พลายงามกราบเท้าแม่แล้วบอกว่าลูกทำผิดจริงจะไม่เถียงผิดที่คิดไปแต่ก็ต้องจำ ใจเพราะรักแม่วันทอง

—————————————————————————————————————–

ทุกวันนี้ลูกชายสบายยศพร้อมหมดเมียมิ่งก็มีสองมีบ่าวไพร่ใช้สอยทั้งเงินทองพี่น้องข้างพ่อก็บริบูรณ์ยังขาดแต่แม่คุณไม่แลเห็นเป็นอยู่ก็เหมือนตายไปหายสูญข้อนี้ที่ทุกข์ยังเพิ่มพูนถ้าพร้อมมูลแม่ด้วยจะสำราญลูกมาหมายว่าจะมารับเชิญแม่วันทองกลับคืนไปบ้านแม้จะบังเกิดเหตุเภทพาลประการใดก็ตามแต่เวรา

ถอดความได้ว่า

ทุกวันนี้พลายงามสบายมียศถาบรรดาศักดิ์ มีพร้อมทุกอย่างทั้งเงินทองบ่าวไพร่เมียก็มีสองคน ผู้ใหญ่ฝ่ายพอก็อยู่ดี ยังขาดแต่แม่วันทองไม่มองเห็น อยู่ไปก็เหมือนตายไม่เคยสนใจเพราะอย่างนี้ที่ยังทุกข์หนัก ถ้ามีแม่วันทองด้วยจะสุขสำราญ ที่ลูกมาตั้งใจว่าจะมารับแม่วันทองกลับบ้านเรา ถึงจะเกิดเรื่องก็แล้วแต่เวรแต่กรรม

—————————————————————————————————————–

มาอยู่ไยกับอ้ายหินชาติแสนอุบาทว์ใจจิตริษยาดังทองคำเลี่ยมปากกะลาหน้าตาดำเหมือนมินหม้อมอมเหมือนแมลงวันว่อนเคล้าที่เน่าชั่วมาเกลือกกลั้วปทุมมาลย์ที่หวานหอมดอกมะเดื่อฤๅจะเจือดอกพะยอมว่านักแม่จะตรอมระกำใจแม่เลี้ยงลูกมาถึงเจ็ดขวบเคราะห์ประจวบจากแม่หาเห็นไม่จะคิดถึงลูกบ้างฤาอย่างไรฤาหาไม่ใจแม่ไม่คิดเลยถ้าคิดเห็นเอ็นดูว่าลูกเต้าแม่ทูนเกล้าไปเรือนอย่าเชือนเฉยให้ลูกคลายอารมณ์ได้ชมเชยเหมือนเมื่อครั้งแม่เคยเลี้ยงลูกมา

คำศัพท์

มินหม้อ หมายถึง เขม่าดำที่ติดก้นหม้อ
ถอดความได้ว่า

มาอยู่ทำไมกับคนเลวทรามชั่วขี้อิจฉาแบบนี้ หน้าตาก็มอมแมมดำอย่างกับเขม่าที่ติดก้นหม้อ น่าเกลียดเหมือนแมลงวันเน่ามาบินตอมดอกไม้ที่สวยงามอย่างแม่ เหมือนคนชั่วมาปนกับคนดี จะว่ามากก็กลัวแม่จะทุกข์ใจ แม่เลี้ยงลูกมาถึง 7 ขวบ เพราะเคราะห์กรรมของแม่ถึงต้องจากกัน แม่วันทองคิดถึงลูกบ้างไหม หรือว่าแม่ไม่คิดถึงลูกเลย ถ้าแม่ยังเอ็นดูลูกอยู่ แม่รีบไปกับอยู่กับลูก เหมือนครั้งที่แม่เคยเลี้ยงดูลูกมา

ถอดคำประพันธ์ ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา 2

ครานั้นจึงโฉมเจ้าวันทอง                  เศร้าหมองด้วยลูกเป็นหนักหนา

พ่อพลายงาม ทรามสวาดิ ของแม่อา          แม่โศกาเกือบเจียนจะบรรลัย

ใช่จะอิ่มเอิบอาบด้วยเงินทอง                     มิใช่ของตัวทำมาแต่ไหน

ทั้งผู้คนช้างม้าแลข้าไท                           ไม่รักใคร่เหมือนกับพ่อพลายงาม

ทุกวันนี้ใช่แม่จะผาสุก                              มีแต่ทุกข์เจ็บดังเหน็บหนาม
ต้องจำจนทนกรรมที่ติดตาม                      จะขืนความคิดไปก็ใช่ที

คำศัพท์

ทรามสวาดิ    หมายถึง    ผู้เป็นที่รัก

ถอดความได้ว่า

นางวันทองก็ตอบพลายงามว่า เศร้าใจเจียนตาย  เงินทองข้าทาสบริวารไม่มีอะไรสำคัญกว่าลูกทุกวันนี้ที่นางวันทองทนอยู่ก็มีแต่ความทุกข์ไม่ได้มีความสุขเลยแต่ก็ต้องทนอยู่ทำตามใจตนเองก็ไม่ได้

————————————————————————————————–

เมื่อพ่อเจ้าเข้าคุกแม่ท้องแก่                    เขาฉุดแม่ใช่จะแกล้งแหนงหนี
ถึงพ่อเจ้าเล่าไม่รู้ว่าร้าย                          เป็นหลายปีแม่มาอยู่กับขุนช้าง

เมื่อพ่อเจ้ากลับมาแต่เชียงใหม่                 ไม่เพ็ดทูลสิ่งไรแต่สักอย่าง

เมื่อคราวตัวแม่เป็นคนกลาง                     ท่านก็ วางบท คืนให้บิดา

เจ้าเป็นถึง หัวหมื่นมหาดเล็ก                  มิใช่เด็กดอกจงฟังคำแม่ว่า
จงเร่งกลับไปคิดกับบิดา                         ฟ้องหากราบทูลพระทรงธรรม์

คำศัพท์

วางบท   หมายถึง   ถูกกำหนดให้แสดงไปตามบท คือ หน้าที่ที่กำหนดให้ในที่นี้หมายถึง ครั้งหนึ่งสมเด็จพระพันวษาได้เคยทรงตัดสินให้นางวันทองกลับไปอยู่กับขุนแผน

หัวหมื่นมหาดเล็ก    หมายถึง   ตำแหน่งข้าราชการมหาดเล็กถัดจากตำแหน่งจางวางซึ่งเป็นตำแหน่งหัวหน้าข้ารับใช้ของเจ้านายชั้นบรมวงศ์หรือทรงกลมลงมา

ถอดความได้ว่า

เมื่อตอนขุนแผนถูกจับเข้าคุก แม่ก็ท้องแก่ ขุนช้างฉุดแม่มาไม่ได้หนีขุนแผนมา ตอนขุนแผนเขารบชนะเชียงใหม่มีความดีความชอบ พระพันวษาก็ตัดสินให้ไปอยู่กับขุนแผน ลูกเป็นถึงหัวหมื่นมหาดเล็ก ไม่ใช่เด็กแล้วจงกลับไปคิดไตร่ตรองกับพ่อให้ดี แล้วไปกราบทูลพระพันวษา

 ————————————————————————————————–

พระองค์คงจะโปรดประทานให้                  จะปรากฏยศไกรเฉิดฉัน

อันจะมาลักพาไม่ว่ากัน                          เช่นนั้นใจแม่มิเต็มใจ

ครานั้นจึงโฉมเจ้าพลายงาม                    ฟังความเห็นว่าแม่หาไปไม่

คิดบ่ายเบี่ยงเลี่ยงเลี้ยวเบี้ยวบิดไป            เพราะรักอ้ายขุนช้างกว่าบิดา

จึงว่าอนิจจาลูกมารับ                             แม่ยังกลับทัดทานเป็นหนักหนา

เหมือนไม่มีรักใคร่ในลูกยา          อุตส่าห์มารับแล้วยังมิไป

ถอดความได้ว่า

พระพันวษาคงจะโปรดประทานให้ ถ้าจะมาลักตัวแม่กลับแม่ไม่ว่า แต่แม่จะไม่เต็มใจกลับ พลายงามได้ฟังที่นางวันทองพูดจึงตอบไปว่า เพราะว่าแม่รักชุนช้างมากกว่าขุนแผนแม่ถึงได้บ่ายเบี่ยงไม่ยอมที่จะกลับทั้งๆที่ลูกก็มาแล้วแล้ว หรือว่าแม่ไม่รักลูกแล้ว

 ————————————————————————————————–

เสียแรงเป็นลูกผู้ชายไม่อายเพื่อน                    จะพาแม่ไปเรือนให้จงได้

แม้นมิไปให้งามก็ตามใจ                                จะบาปกรรมอย่างไรก็ตามที

จะตัดเอาศีรษะของแม่ไป                               ทิ้งแต่ตัวไว้ให้อยู่นี่

แม่อย่าเจรจาให้ช้าที                                    จวนแจ้ง แสงศรี จะรีบไป

ครานั้นวันทองผ่องโสภา                               เห็นลูกยากัดฟันมันไส้

ถือดาบฟ้าฟื้นยืนแกว่งไกว                             ตกใจกลัวว่าจะฆ่าฟัน

คำศัพท์

แสงศรี     หมายถึง    มาจากคำว่า แสงสุรีย์ศรี  หมายถึง  แสงอาทิตย์

ถอดความได้ว่า

พลายงามตอบว่าตนเป็นลูกผู้ชายวันนี้จะต้องพาแม่กลับบ้านไปให้ได้ถึงแม้ว่าแม่จะไม่ยอมก็ตาม ถ้าแม่ไม่กลับไปขอทำบาปกรรมแล้ววันนี้ ต่อให้ตัดหัวของแม่ไปแล้วทิ้งแต่ตัวไว้ที่นี่ก็จะทำ แม่อย่ามัวพูดอยู่ รีบไปเถอะฟ้าจะแจ้งแล้ว ฝ่ายนางวันทองพอเห็นลูกกัดฟัน แกว่งดาบฟ้าฟื้นก็กลัว

  ————————————————————————————————–

จึงปลอบว่าพลายงามพ่อทรามรัก            อย่าฮึกฮักว่าวุ่นทำหุนหัน

จงครวญใคร่ให้เห็นข้อสำคัญ                 แม่นี้พรั่นกลัวแต่จะเกิดความ

ด้วยเป็นข้าลักไปไทลักมา                    เห็นเบื้องหน้าจะอึงแม่จึงห้าม

ถ้าเจ้าเห็นเป็นสุขไม่ลุกลาม                  ก็ตามเถิดมารดาจะคลาไคล

ว่าพลางนางลุกออกจากห้อง                 เศร้าหมองโศกาน้ำตาไหล

พระหมื่นไวยก็พามารดาไป                   พอรุ่งแจ้งแสงใสก็ถึงเรือน

ถอนความได้ว่า

นางวันทองปลอบลูกว่าอย่าหุนหัน  ที่แม่ไม่ไปนั้นเพราะกลัวลูกจะเดือดร้อนเป็นคดีความ  แต่ถ้าลูกเห็นว่าดีว่างามแม่ก็จะตามกลับไป แล้ววันทองก็ตามพลายงามกลับบ้าน  พลายงามพาแม่ไปถึงบ้านเมื่อใกล้สว่าง

  ————————————————————————————————–

        จะกล่าวถึงเจ้าจอมหม่อมขุนช้าง            นอนครางหลับกรนอยู่ป่นเปื้อน

อัศจรรย์ฝันแปรแชเชือน                              ว่าขี้เรื้อนขึ้นตัวทั่วทั้งนั้น

หาหมอมารักษา ยาเข้าปรอท                      มันกินปอดตับไตออกไหลลั่น

ทั้งไส้น้อยไส้ใหญ่แลไส้ตัน                          ฟันฟางก็หักจากปากตัว

ตกใจตื่นผวาคว้าวันทอง                              ร้องว่าแม่คุณแม่ช่วยผัว

ลุกขึ้นงกงันตัวสั่นรัว                                    ให้นึกกลัวปรอทจะตอดตาย

คำศัพท์

ยาเข้าปรอท      หมายถึง    ยาที่ประสมสารปรอทซึ่งอาจทำให้เป็นพิษได้

ถอดความได้ว่า

ขุนช้างที่นอนหลับอยู่ ก็ได้ฝันร้ายว่า “เป็นขี้เรือนทั่วทั้งตัว พอไปหาหมอกินยาประสมปรอทจึงถูกปรอทกินกินตับไตไส้พุงและฟันฟางก็หักออกจากปาก” เมื่อขุนช้างตื่นขึ้นมาก็ผวาจะคว้าหานางวันทอง

  ————————————————————————————————–

ลืมตาเหลียวหาเจ้าวันทอง                    ไม่เห็นน้องห้องสว่างตะวันสาย

ผ้าผ่อนล่อนแก่นไม่ติดกาย                   เห็นม่านขาดเรี่ยรายประหลาดใจ

ตะโกนเรียกในห้องวันทองเอ๋ย               หาขานรับเช่นเคยซักคำไม่

ทั้งข้าวของมากมายก็หายไป                 ปากประตูเปิดไว้ไม่ใส่กลอน

พลางเรียกหาข้าไทอยู่ว้าวุ่น                  อีอุ่นอีอิ่มอีฉิมอีสอน

อีมีอีมาอีสาคร                                    นิ่งนอนไยหวามาหากู

คำศัพท์

ล่อนแก่น    หมายถึง   สิ้นเนื้อประดาตัว  ไม่มีติดตัว

ถอดความได้ว่า

พอขุนช้างลืมตาขึ้นมามองก็ไม่เห็นนางวันทองอยู่ในห้อง จึงตะโกนเรียกหาวันทอง ก็ไม่มีเสียงขานรับกลับมา พอมองไปในห้องก็เห็นข้าวของมากมายหายไป จึงตะโกนเรียกบ่าวไพร่ในบ้านให้เข้ามาหา

  ————————————————————————————————–

บ่าวผู้หญิงวิ่งไปอยู่งกงัน                  เห็นนายนั้นแก้ผ้ากางขาอยู่

ต่างคนทรุดนั่งบังประตู                     ตกตะลึงแลดูไม่เข้ามา

ขุนช้างเห็นข้าไม่มาใกล้                   ขัดใจลุกขึ้นทั้งแก้ผ้า

แหงนเถ่อเป้อปังยืนจังกา                ย่างเท้าก้าวมาไม่รู้ตัว

ยายจังงันงกยกมือไหว้                    นั่นพ่อจะไปไหนพ่อทูนหัว

ไม่นุ่งผ่อนนุ่งผ้าดูน่ากลัว                   ขุนช้างมองดูตัวก็ตกใจ

คำศัพท์

แหงนเถ่อ    หมายถึง   ค้างอยู่

จังกา            หมายถึง   คือ จังก้า เป็นลักษณะยืนถ่างขาตั้งท่าเตรียมสู้ เป็นต้น

ถอดความได้ว่า

บ่าวที่เป็นผู้หญิงก็วิ่งกันไปหาแต่เห็นขุนช้างแก้ผ้าอยู่ ก็หลบกันไปอยู่หลังประตูไม่กล้าเข้ามา ชุนช้างเห็นดังนั้นก็ขัดใจจึงลุกขึ้นทั้งๆที่ยังแก้ผ้าอยู่ ยืนค้างถ่างขาแล้วก้าวออกไปโดยที่ไม่รู้ตัว  ยายจันก็ยกมือไหว้แล้วถามขุนช้างว่าจะไปไหน เสื้อผ้าไม่ใส่ พอขุนช้างมองดูตัวเองก็ต้องตกใจ

————————————————————————————————–

สองมือปิดขาเหมือนท่าเปรต             ใครมาเทศน์เอาผ้ากูไปไหน

ให้นึกอดสูหมู่ข้าไท                         ยายจันไปเอาผ้าให้ข้าที

ยายจันตกใจเต็มประดา                    เข้าไปฉวยผ้าเอามาคลี่

หยิบยื่นส่งไปให้ทันที                       เมินหนีอดสูไม่ดูนาย

ขุนช้างตัวสั่นเทาบอกบ่าวไพร่             เจ้าวันทองไปไหนอย่างไรหาย

เอ็งไปดูให้รู้ซึ่งแยบคาย                     พบแล้วอย่าวุ่นวายให้เชิญมา

ถอดความได้ว่า

ขุนช้างเอามือไปปิดขาเหมือนท่าที่เปรตยืน แล้วบอกว่าใครมาเอาผ้าไปไหน เลยนึกละอายใจกับเหล่าคนใช้ แล้วบอกให้ยายจันไปเอาผ้ามาให้ ยายจันก็ตกใจแล้วไปหยิบผ้ามาคลี่แล้วส่งไปให้กับขุนช้าง แล้วตนเองก็หลบไปไม่กล้ามอง ขุนช้างก็บอกคนใช้อย่างสั่นเทาว่า นางวันทองหายไปไหน ให้ไปดูว่าอยู่ที่ไหนถ้าเจอตัวแล้วก็ให้เชิญตัวกลับมา

————————————————————————————————–

ข้าไทได้ฟังขุนช้างใช้                      ต่างเที่ยวค้นด้นไปจะเอาหน้า

ทั้งห้องนอกห้องในไม่พบพา              ทั่วเคหาแล้วไปค้นจนแผ่นดิน

เห็นประตูรั้วบ้านบานเปิดกว้าง            ผู้คนนอนสล้างไม่ตื่นสิ้น

เสาแรกแตกต้นเป็นมลทิน                 กินใจกลับมาหาขุนช้าง

บอกว่าได้ค้นคว้าหาพบไม่                 แล้วเล่าแจ้งเหตุไปสิ้นทุกอย่าง

ข้าเห็นวิปริตผิดท่าทาง                      ที่นวลนางวันทองนั้นหายไป

ถอดความได้ว่า

พวกคนใช้ได้ฟังที่ขุนช้างใช้ต่างก็ไปค้นหาเพื่อที่จะเอาหน้า แต่หาเท่าไรก็ยังหากันไม่พบพอออกไปหน้าบ้านก็เห็นประตูบ้านเปิดอยู่กับคนที่นอนเกลื่อนกลาดเพราะมนต์สะกด ก็กลับมารายงานขุนช้างว่าไม่พบนางวันทอง เห็นแต่ “เสาแรกแตกต้น” ซึ่งดูผิดประหลาดไป

————————————————————————————————–

ครานั้นขุนช้างฟังบ่าวบอก             เหงื่อออกโซมล้านกระบาลใส

คิดคิดให้แค้นแสนเจ็บใจ                         ช่างทำได้ต่างต่างทุกอย่างจริง

สองหนสามหนก่นแต่หนี                          พลั้งทีลงไม่รอดนางยอดหญิง

คราวนั้นอ้ายขุนแผนมันแง้นชิง                 นี่คราวนี้หนีวิ่งไปตามใคร

ไม่คิดว่าจะเป็นเห็นว่าแก่                          ยังสาระแนหลบลี้หนีไปไหน

เอาเถิดเป็นไรก็เป็นไป                             ไม่เอากลับมาได้ไม่ใช่กู

คำศัพท์

แง้นชิง หมายความว่า   แง้น ในที่นี้น่าจะเป็นคำเดียวกับคำว่า แง่น ซึ่งแปลว่าแยกเขี้ยวจะกัด

แง้นชิงจึงหมายถึง แสดงอาการโกรธ แย่งชิง ทั้งๆที่ไม่สมควรจะได้

ถอดความได้ว่า

ขุนช้างได้ฟังที่คนใช้พูดเหงื่อก็ออกเต็มหัวล้าน คิดไปแล้วขุนช้างก็เจ็บใจขุนช้างพอได้ยินก็เหงื่อท่วมตัวทั้งแค้น ทั้งเจ็บใจ  บ่นด่านางวันทองว่าหายไปไหน  หนีตนไปได้สองสามครั้งแล้ว  พอได้โอกาสก็หนี  ตอนนั้นขุนแผนเป็นคนพาไป แล้วคราวนี้นางวันทองไปกับใคร  แต่ถึงอย่างไรก็จะต้องตามกลับมาให้ได้

   ————————————————————————————————–

          จะกล่าวถึงโฉมเจ้าพลายงาม            เกรงเนื้อความนั่งนึกตรึกตรองอยู่

อ้ายขุนช้างสารพัดเป็นศัตรู                     ถ้ามันรู้ว่าลักเอาแม่มา

มันก็จะสอดแนมแกมเท็จ                       ไปกราบทูลสมเด็จพระพันวษา

ดูจะระแวงผิดในกิจจา                            มารดาก็จะต้องซึ่งโทษภัย

คิดแล้วเรียกหมื่นวิเศษผล                       เอ็งเป็นคนเคยชอบอัชฌาสัย

จงไปบ้านขุนช้างด้วยทันใด                     ไกล่เกลี่ยเสียอย่าให้มันโกรธา

ถอดความได้ว่า

พลายงามเกรงว่าขุนช้างจะนำเรื่องที่เอาตัวนางวันทองมา ไปกราบทูลพระพันวษา  ทำให้นางวันทองต้องรับโทษไปด้วย คิดได้ดังนั้นจึงเรียกหมื่นวิเศษผล ให้ไปบ้านขุนช้างแล้วไกล่เกลี่ยเรื่องนางวันทอง อย่าให้ขุนช้างโกรธ

————————————————————————————————–

บอกว่าเราจับไข้มาหลายวัน                      เกรงแม่จะไม่ทันมาเห็นหน้า

เมื่อคืนนี้ซ้ำมีอันเป็นมา                            เราใช้คนไปหาแม่วันทอง

พอขณะมารดามา ส่งทุกข์                       ร้องปลุกเข้าไปถึงในห้อง

จึงรีบมาเร็วไวดังใจปอง                           รักษาจนแสงทองสว่างฟ้า

ไม่ตายคลายคืนฟื้นขึ้นได้                         กูขอแม่ไว้พอเห็นหน้า

แต่พอให้เคลื่อนคลายหลายเวลา                จึงจะส่งมารดานั้นคืนไป

คำศัพท์

ส่งทุกข์                 หมายความว่า     เข้าส้วม

ถอดความได้ว่า

ให้หมื่นวิเศษผลบอกกับขุนช้างว่าตนไม่สบายมาหลายวันจึงอยากพบหน้าแม่  เลยใช้คนไปตามแม่ถึงส้วม แม่จึงรีบมาหาตน แต่ตอนนี้ตนไม่เป็นอะไรแล้ว แต่ขอให้แม่อยู่กับตนสักระยะหนึ่งแล้วจะส่งแม่กลับ

ถอดคำประพันธ์ ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา 3

หมื่นวิเศษรับคำแล้วอำลา                    รีบมาบ้านขุนช้างหาช้าไม่

ครั้นแอบดูอยู่แต่ไกล                          เห็นผู้คนขวักไขว่ทั้งเรือนชาน

ขุนช้างนั่งเยี่ยมหน้าต่างเรือน                ดูหน้าเฝื่อนทีโกรธอยู่งุ่นง่าน

จะดื้อเดินเข้าไปไม่เป็นการ                   คิดแล้วลงคลานเข้าประตู

ครานั้นเจ้าหม่อมขุนช้าง         นั่งคาหน้าต่างเยี่ยมหน้าอยู่

เห็นคนคลานเข้ามาเหลือบตาดู              นี่มาหลอกกูหรืออย่างไร

ถอดความได้ว่า

หมื่นขุนวิเศษรับคำจากจมื่นไวย(พลายงาม) แล้วมาที่บ้านขุนช้าง พอเข้าไปถึงเรือนขุนช้าง  ดูท่าทางขุนช้างกำลังโกรธเคืองจึงคลานเข้าไปหา  ขุนช้างเห็นเข้าก็โกรธเพราะนึกว่ามาหลอกตน

—————————————————————————————-

อะไรพอสว่างวางเข้ามา                        เด็กหวาจับถองให้จงได้

ลุกขั้นถกเขมรร้องเกนไป                    ทุดอ้ายไพร่ขี้ครอกหลอกผู้ดี

ครานั้นวิเศษผลคนว่องไว                      ยกมือไหว้ไม่วิ่งหนี

ร้องตอบไปพลันในทันที                        คนดีดอกข้าไหว้ใช่คนพาล

ข้าพเจ้าเป็นบ่าวพระหมื่นไวย                  เป็นขุนหมื่นรับใช้อยู่ในบ้าน

ท่านใช้ให้กระผมมากราบกราน                ขอประทานคืนนี้พระหมื่นไวย

คำศัพท์

ถอง                   หมายถึง  กระทุ้งด้วยศอก

ถกเขมร             หมายถึง  การนุ่งผ้าหยักรั้งขึ้นไปให้พ้นหัวเข่าถึงง่ามก้น บางทีเรียกว่าขัดเขมร

ร้องเกน              หมายถึง  ร้องตะโกนดังๆ

ทุด                    หมายถึง  คำที่เปล่งออกมาแสดงความไม่พอใจหรือติเตียน

ถอดความได้ว่า

หมื่นวิเศษรีบยกมือขึ้นไหว้แล้วตอบว่าตนเป็นคนดีไม่ใช่คนร้าย  เป็นบ่าวของจมื่นไวยเป็นขุนหมื่นรับใช้อยู่ในบ้าน  พลายงามไม่สบายจึงใช้ให้ตนมาแจ้ง ขอให้นางวันทองอยู่ด้วยหนึ่งคืน

—————————————————————————————-

เจ็บจุกประจุบันมีอันเป็น                      ก็ไขก็เห็นหาหายไม่

ร้องโอดโดดดิ้นเพียงสิ้นใจ                    จึงใช้ให้ตัวข้ามาแจ้งการ

พอพบท่านมารดามาส่งทุกข์                 ข้าพเจ้าร้องปลุกไปในบ้าน

จะกลับขึ้นเคหาเห็นช้านาน                    ท่านจึงรีบไปในกลางคืน

พยาบาลคุณพระนายพอคลายไข้             คุณอย่าสงสัยว่าไปอื่น

ให้คำมั่นสั่งมาว่ายั่งยืน                          พอหายเจ็บแล้วจะคืนไม่นอนใจ

คำศัพท์

เจ็บจุกประจุบัน  หมายถึง  มีอาการจุกเสียดขึ้นมาทันที

ส่งทุกข์              หมายถึง  เข้าส้วม

ถอดความได้ว่า

พลายงามไม่สบายเลยจึงอยากพบหน้าแม่ เลยให้คนใช้ไปตามแม่มาถึงส้วม แม่จึงมาหาหลายงามหลพลายงามจึงหมื่นวิเศษผลมาแจ้ง ถ้าหายแล้วจะพานางวันทองกลับไป

 —————————————————————————————-

             ครานั้นขุนช้างได้ฟังว่า             แค้นดังเลือดตาจะหลั่งไหล

ดับโมโหโกรธาทำว่าไป                         เราก็ไม่ว่าไรสุดแต่ดี

การเจ็บไข้ล้มตายไม่วายเว้น                    ประจุบันเป็นทั้งกรุงศรี

ถ้าขัดสนสิ่งไรที่ไม่มี                              ก็มาเอาที่นี่อย่าเกรงใจ

ว่าแล้วปิดบานหน้าต่างผาง                      ขุนช้างเดือดดาลทะยานไส้

ทอดตัวลงกับหมอนถอนฤทัย                   ดูดู๋เป็นได้เจียววันทอง

คำศัพท์

ประจุบัน  หมายถึง  ปัจจุบัน  เรียกโรคภัยที่เกิดขึ้นในทันทีทันใดว่าโรคปัจจุบัน

ถอดความได้ว่า

ขุนช้างได้ฟังแล้วรู้สึกแค้นขึ้นมา  แต่แกล้งพูดต่อไปว่า การเจ็บไข้นั้นเป็นเรื่องปกติเป็นกันทั่วไป ถ้าขัดสนสิ่งใดให้มาขอที่ตน พอขุนช้างพูดเสร็จก็ปิดประตูดังผาง แล้วเข้าไปนอนแค้นนางวันทองกับครอบครัว

 —————————————————————————————-

 เพราะกูแพ้ความจมื่นไวย                                   มันจึงเหิมใจทำจองหอง

พ่อลูกแม่ลูกถูกทำนอง                         ถึงสองครั้งแล้วเป็นแต่เช่นนี้

อ้ายพ่อไปเชียงใหม่มีชัยมา                    ตั้งตัวดังพญาราชสีห์

อ้ายลูกเป็นหมื่นไวยทำไมมี                    เห็นกูนี้คนผิดติดโทษทัณฑ์

มันจึงข่มเหงไม่เกรงใจ                          จะพึ่งพาใครได้ที่ไหนนั่น

ขุนนางน้อยใหญ่เกรงใจกัน                     ถึงฟ้องมันก็จะปิดให้มิดไป

คำศัพท์

ทัณฑ์  หมายถึง  โทษเนื่องด้วยความผิด

ถอดความได้ว่า

เพราะว่าตนแพ้ความจมื่นไวยจึงทำให้จมื่นไวยเหิมใจนัก  ทั้งขุนแผนและพลายงามนั้นชนะตนถึง 2 ครั้งแล้ว แล้วคิดขึ้นมาได้ว่าจะไปฟ้องคดีแย่งนางวันทองคืน  ถ้าฟ้องตามกระบวนการพวกขุนนางจะช่วยสองพ่อลูกนั้นได้

 —————————————————————————————-

ตามบุญตามกรรมได้ทำมา                            จะเฆี่ยนฆ่าหาคิดชีวิตไม่

ยิ่งคิดเดือดดาลทะยานใจ                             ฉวยได้กระดารชนวนมา

ร่างฟ้องท่องเทียบให้เรียบร้อย                       ถ้อยคำถี่ถ้วนเป็นหนักหนา

ลงกระดาษพับไว้มิได้ช้า                               อาบน้ำผลัดผ้าแล้วคลาไคล

วันนั้นพอปิ่นนรินทร์ราช                                เสด็จประพาสบัวยังหากลับไม่

ขุนข้างมาถึงซึ่งวังใน                                    ก็คอยจ้องที่ใต้ตำหนักน้ำ

คำศัพท์

เสด็จประพาสบัว  หมายถึง  การเสด็จประพาสท้องทุ่งในฤดูน้ำหลากที่มีน้ำเต็มเปี่ยมมีดอกบัวและพันธุ์ไม้            น้ำที่งดงาม  อาจเป็นฤดูเล่นเรือหรือเล่น ดอกสร้อยสักวา

ถอดความได้ว่า

คราวนี้ต้องฟ้องกับพระพันวษาเองถึงจะถูกเฆี่ยนตีก็ตาม  ว่าแล้วก็หยิบกระดานชนวนขึ้นมาร่างคำฎีกาแล้วลอกใส่กระดาษอีกที เสด็จแล้วก็อาบน้ำเตรียมตัวไปทูลพระพันวษา ขุนช้างมาคอยจ้องเข้าเฝ้าพระพันวษาที่ตำหนักน้ำ  ตั้งแต่ยังไม่เสด็จกลับจากประพาสบัว

 —————————————————————————————-

      จะกล่าวถึงพระองค์ผู้ทรงเดช             เสด็จคืนนิเวศน์พอจวนค่ำ

ฝีพายรายเล่มมาเต็มลำ                          เรือประจำแหนแห่เซ็งแช่มา

พอเรือพระที่นั่งประทับที่                         ขุนช้างก็รี่ลงตีนท่า

ลอยคอชูหนังสือดื้อเข้ามา                       ผุดโผล่โงหน้ายึดแคมเรือ

เข้าตรงบโทนอ้นต้นกัญญา                    เพื่อนโขกลงด้วยกะลาว่าผีเสื้อ

มหาดเล็กอยู่งานพัดพลัดตกเรือ                ร้องว่าเสือตัวใหญ่ว่ายน้ำมา

คำศัพท์

นิเวศน์        หมายถึง  บ้าน,วัง

บโทนอ้นต้นกัญญา  หมายถึง  บโทนคือพนักงานคอยให้จังหวะสัญญาณให้ฝีพาย พายเรือช้าหรือเร็ว  เรือในที่นี้เป็นเรือต้นกัญญา  คือ เป็นเรือหลวงยาว  มีเครื่องบังแดดเป็นรูปหลังคา  อัน น่าจะเป็นชื่อของบโทน

ผีเสื้อ           หมายถึง  เทวดาที่รักษาน่านน้ำ ในที่นี้หมายถึงผีน้ำ

ถอดความได้ว่า

พระพันวษารีบเสด็จกลับตอนค่ำขุนช้างรีบลงจากท่าแล้วลอยคอชูหนังสือฎีกาถวาย  โดยโผล่เข้ามาทางที่แคมเรือจนคนบนเรือตกใจนึกว่าเป็นผีน้ำหรือเสือว่ายมา  ทำให้เกิดความวุ่นวาย จนมหาดเล็กอยู่งานพลัดตกจากเรือ แล้วร้องว่าเสือตัวใหญ่ว่ายน้ำมา

 —————————————————————————————-

ขุนช้างดึงดื้อมือยึดเรือ                        มิใช่เสือกระหม่อมฉานล้านเกศา

สู้ตายของถวายซึ่งฎีกา                       แค้นเหลือปัญญาจะทนทาน

ครานั้นสมเด็จพระพันวษา                    ทรงพระโกรธาโกลาหล

ทุดอ้ายจัญไรมิใช่คน                          บนบกบนฝั่งดังไม่มี

ใช่ที่ใช่ทางวางเข้ามา                         ฤๅอ้ายช้างเป็นบ้ากระมังนี่

เฮ้ยใครรับฟ้องของมันที                      ตีเสียสามสิบจึงปล่อยไป

คำศัพท์

ฎีกา             หมายถึง  คำร้องทุกข์ที่ยื่นถวายพระเจ้าแผ่นดิน

ถอดความได้ว่า

ขุนช้างเอามือไปยึดเรือแล้วพูดว่าเป็นตนเองไม่ใช่เสือจะมาขอถวายฎีกา พระพันวษากริ้วว่าขุนช้างมิใช่คนบนฝั่งก็มีไม่ไปกลับลุยน้ำมาหาหรือว่าขุนช้างเป็นบ้าถึงทำเช่นนี้  จึงสั่งให้มหาดเล็กไปรับฎีกาแล้วโบยขุนช้าง 30 ที  แล้วจึงปล่อยไป

 —————————————————————————————-

มหาดเล็กก็รับเอาฟ้องมา                       ตำรวจคว้าขุนช้างหางวางไม่

ลงพระราชอาญาตามว่าไว้                      พระจึงให้ตั้งกฤษฎีกา

ว่าตั้งแต่วันนี้สืบไป                               หน้าที่ของผู้ใดให้รักษา

ระวางโทษเบ็ดเสร็จเจ็ดสถาน                  ถึงประหารชีวิตเป็นผุยผง

ตามกฤษฎีการักษาพระองค์                     แล้วลงจากพระที่นั่งเข้าวังใน

คำศัพท์

กฤษฏีกา  หมายถึง  บทกฎหมายซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้น  เพื่อใช้ในการบริหาร เรียกว่า พระราชกฤษฎีกา

ถอดความได้ว่า

มหาดเล็กรับคำฟ้องของขุนช้าง แล้วนำตัวขุนช้างไปเฆี่ยนตี และพระพันวษาทรงออกกฎ (กฤษฎีกา) ว่า ถ้าใครประมาทปล่อยให้คนเข้ามาได้เช่นนี้อีกจะลงโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต

  —————————————————————————————-

จะกล่าวถึงขุนแผนแสนสนิท                   เรืองฤทธิ์ลือจบพิภพไหว

อยู่บ้านสุขเกษมเปรมใจ                            สมสนิทพิสมัยด้วยสองนาง

ลาวทองกับแก้วกิริยา                                 ปรนนิบัติวัตถาไม่ห่างข้าง

เพลิดเพลินจำเริญใจไม่เว้นวาง             คืนนั้นในกลางซึ่งราตรี

นางแก้วลาวทองทั้งสองหลับ                  ขุนแผนกลับผวาตื่นฟื้นจากที่

พระจันทรจรแจ่มกระจ่างดี                        พระพายพัดมาลีตรลบไป

คำศัพท์

พิสมัย    หมายถึง  ความรัก,ความปลื้มใจ

พระพาย             หมายถึง  ลม

มาลี       หมายถึง  ดอกไม้

ตรลบ    หมายถึง  (ตลบ)  หกหลังมา,ย้อนกลับมา,ฟุ้ง

ถอดความได้ว่า

ขุนแผนมีความสุขที่มีนางลาวทองและนางแก้วกิริยาคอยปรนนิบัติ  คืนนั้นขณะที่นางทำสองหลับไปขุนแผนกลับผวาตื่น

 —————————————————————————————-

คิดคะนึงมิตรแต่ก่อนเก่า                              นิจจาเจ้าเหินห่างร้างพิสมัย

ถึงสองครั้งตั้งแต่พรากจากพี่ไป                     ดังเด็ดใจจากร่างก็ราวกัน

กูก็ชั่วมัวรักแต่สองนาง                                ละวางให้วันทองน้องโศกศัลย์

เมื่อตีได้เชียงใหม่ก็โปรดครัน                        จะเพ็ดทูลคราวนั้นก็คล่องใจ

สารพัดที่จะว่าได้ทุกอย่าง                             อ้ายขุนช้างไหนจะโต้จะตอบได้

ไม่ควรเลยเฉยมาไม่อาลัย                            บัดนี้เล่าเจ้าไวยไปรับมา

ถอดความได้ว่า

ขุนแผนคิดถึงนางวันทองซึ่งได้พรากจากตนไปถึง 2 ครั้ง  โดยที่ตนนั้นมัวแต่อยู่กับนางลาวทองและนางแก้วกิริยาปล่อยให้นางวันทองต้องเศร้า เมื่อตอนไปตีเชียงใหม่ได้ก็ไปทูลขอนางวันทองก็ได้กลับมาแล้วขุนช้างก็ไปพรากอีก ตอนนี้พลายงามไปรับตัวนางวันทองมาแล้ว

 —————————————————————————————-

จำกูจะไปสู่สวาทน้อง                              เจ้าวันทองจะคอยละห้อยหา

คิดพลางจัดแจงแต่งกายา                      น้ำอบทาหอมฟุ้งจรุงใจ

ออกจากห้องย่องเดินดำเนินมา             ถึงเรือนลูกยาหาช้าไม่

เข้าห้องวันทองในทันใด                          เห็นนางหลับใหลนิ่งนิทรา

ลดตัวลงนั่งข้างวันทอง                            เตือนต้องด้วยความเสน่หา

สั่นปลุกลุกขึ้นเถิดน้องอา                         พี่มาหาแล้วอย่านอนเลย

ถอดความได้ว่า

ขุนแผนคิดว่าตนต้องไปหานางวันทองป่านนี้คงจะเฝ้ารอตนอยู่ว่าแล้วจึงแต่งตัวแล้วออกจากห้องไปยังเรือนพลายงาม  เข้าไปในห้องนารงวันทองเห็นนางหลับอยู่ จึงนั่งลงข้างๆแล้วปลุกให้นางตื่น ว่าตนมาหาแล้วให้ตื่น

 —————————————————————————————-

นางวันทองตื่นอยู่รู้สึกตัว                        หมายใจว่าผัวก็ทำเฉย

นิ่งดูอารมณ์ที่ชมเชย                             จะรักจริงฤๅจะเปรยเป็นจำใจ

แต่นิ่งดูกิริยาเป็นช้านาน                          หาว่าขานตอบโต้อย่างไรไม่

ทั้งรักทั้งแค้นแน่นฤทัย                           ความอาลัยปั่นป่วนยวนวิญญา

ถอดความได้ว่า

ชุนแผนมาถึงเรือนพลายงาม  เข้าไปในห้องนางวันทองแล้วพบนางหลับไป  จึงนั่งข้างๆแล้วปลุกให้นางตื่น ว่าตนมาแล้ว

ถอดคำประพันธ์ ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา 4

โอ้เจ้าแก้วแววตาของพี่เอ๋ย                                   เจ้าหลับใหลกระไรเลยเป็นหนักหนา

ดังนิ่มน้องหมองใจไม่นำพา                                  ฤๅขัดเคืองคิดว่าพี่ทอดทิ้ง

ความรักหนักหน่วงทรวงสวาท                              พี่ไม่คลาดคลายรักแต่สักสิ่ง

เผอิญเป็นวิปริตที่ผิดจริง                                         จะนอนนิ่งถือโทษโกรธอยู่ไย

ว่าพลางเอนแอบลงแนบข้าง                                  จูบพลางชวนชิดพิสมัย

ลูบไล้พิไรปลอบให้ชอบใจ                                    เป็นไรจึงไม่ฟื้นตื่นนิทรา

ถอดความได้ว่า

ขุนแผนง้อนางวันทองด้วยคำพูดหวานๆและขอโทษนางวันทอง ว่าอย่าโกรธขุนแผนเลย จะนอนนิ่งไม่คุยกับขุนแผนเลยหรอ ขุนแผนพูดไปแล้วก็ก้มลงนอนแนบข้างๆนางวันทองพร้อมพรมจูบ ลูบแขน   และถามนางวันทองว่าทำไมไม่ตื่นขึ้นมาคุยกับขุนแผน

————————————————————————————–

เจ้าวันทองน้องตื่นจากที่นอน                    โอนอ่อนวอนไหว้พิไรว่า

หม่อมน้อยใจฤๅที่ไม่เจรจา                                          ใช่ตัวข้านี้จะงอนค่อนพิไร

ชอบผิดพ่อจงคิดคะนึงตรอง                                      อันตัวน้องมลทินหาสิ้นไม่

ประหนึ่งว่าวันทองนี้สองใจ                                      พบไหนก็เป็นแต่เช่นนั้น

ที่จริงใจถึงไปอยู่เรือนอื่น                                           คงคิดคืนที่หม่อมเป็นแม่นมั่น

ด้วยรักลูกกรักผัวยังพัวพัน                                         คราวนั้นก็ไปอยู่เพราะจำใจ

ถอดความได้ว่า

นางวันทองจึงตื่นขึ้นมาบอกว่า ขุนแผนน้อยใจนางวันทองเหรอ นางวันทองไม่ได้งอนแต่รู้สึกว่าตัวนางเป็นคนสองใจอยู่ตลอดเวลา ถึงตัวจะอยู่ที่เรือนของขุนช้างแต่ใจนั้นยังรักลูกและขุนแผนมาก ที่อยู่กับขุนช้างเพราะจำใจ

————————————————————————————–

แค้นคิดด้วยมิตรไม่รักเลย                                           ยามมีที่เชยเฉยเสียได้

เสียแรงร่วมทุกข์ยากกันกลางไพร                           กินผลไม้ต่างข้าวทุกเพรางาย

พอได้ดีมีสุขลืมทุกข์ยาก                                            ก็เพราะหากหม่อมมีซึ่งที่หมาย

ว่านักก็เครื่องเคืองระคาย                                          เอ็นดูน้องอย่าให้อายเขาอีกเลย ฯ

พี่ผิดจริงแล้วเจ้าวันทอง                                            เหมือนลืมน้องหลงเลือนทำเชือนเฉย

ใช่จะเพลิดเพลินชื่นเพราะอื่นเชย                          เงยหน้าเถิดจะเล่าอย่าเฝ้าแค้น

คำศัพท์

เพรางาย หมายถึง เวลาเช้าและเย็น (เพรา = เย็น, งาย = เช้า)

เครื่อง  หมายถึง เหตุ เรื่องราว ในความว่า “ว่านักก็เครื่องเคืองระคาย”

ถอดความได้ว่า

นางวันทองแค้นใจที่ขุนแผนมัวแต่หลงนางลาวทองกับแก้วกิริยาจนลืมนางวันทอง เสียแรงที่ได้เคยอาศัยอยู่กินกันในป่า พอไปได้ดิบได้ดีมีความสุขก็ลืมนางวันทอง เป็นเพราะขุนแผนมีที่หมายใหม่ นางวันทองอยากให้ขุนแผนรักเอ็นดูนางวันทองไม่ทิ้งนางให้ขายหน้าอีก ขุนแผนกล่าวว่าพี่ผิดไปแล้ว ไม่ได้ลืมน้องเพราะมีหญิงอื่น เงยหน้าเถอะอย่าโกรธพี่เลย

 ————————————————————————————–

เมื่อติดคุกทุกข์ถึงเจ้าทุกเช้าค่ำ                          ต้องกลืนกกล้ำโศกเศร้านั้นเหลือแสน

ซ้ำขุนช้างคิดคดทำทดแทน                               มันดูแคลนว่าพี่นี้ยากยับ

อาลัยเจ้าเท่ากับดวงชีวิตพี่                                   คิดจะหนีไปตามเอาเจ้ากลับ

เกรงจะพากันผิดเข้าติดทับ                                 แต่ขยับอยู่จนได้ไปเชียงอินทร์

กลับมาหมายว่าจะไปตาม                                     พอเจ้าไวยเป็นความก็ค้างสิ้น

ถอดความได้ว่า

ขุนแผนจึงขอโทษนางวันทองและเล่าเรื่องราวทั้งหมดเพื่อปรับความเข้าใจกับนางวันทองว่าสาเหตุที่ไม่ได้ไปหาก็เพราะติดคุก แต่คิดถึงนางวันทองตลอดเวลา ตอนออกจากคุกก็ว่าจะไปพานางวันทองกลับมา

แต่มีเรื่องของพลายงามเกิดขึ้นเสียก่อน

 ————————————————————————————–

หัวอกใครได้แค้นในแผ่นดิน                                    ไม่เดือดดิ้นเท่าพี่กับวันทอง

คิดอยู่ว่าจะทูลพระพันวษา                                        เห็นช้ากว่าจะได้มาร่วมห้อง

จะเป็นความอีกก็ตามแต่ทำนอง                               จึงให้ลูกรับน้องมาร่วมเรือน

จะเป็นตายง่ายยากไม่ยากรัก                                     จะฟูมฟักเหมือนเมื่ออยู่ในกลางเถื่อน

ขอโทษที่พี่ผิดอย่าบิดเบือน                                      เจ้าเพื่อนเสนหาจงอาลัย

พี่ผิดพี่ก็มาลุแก่โทษ                                                    จะคุมโกรธคุมแค้นไปถึงไหน

ถอดความได้ว่า

ขุนแผนจะไปทูลพระพันวษาแต่เห็นว่าคงดำเนินเรื่องช้าเลยให้พลายงามเป็นคนรับนางวันทองกลับมา จะดูแลนางวันทองเหมือนตอนที่อยู่ด้วยกันในป่า  ขุนแผนขอโทษนางวันทองแล้วบอกว่าอย่าโกรธขุนแผน ขุนแผนผิดจึงมาขอโทษจะโกรธเคืองไปถึงไหน

————————————————————————————–

ความรักพี่ยังรักระงมใจ                                                 อย่าตัดไมตรีตรึงให้ตรอมตาย

ว่าพลางทางแอบเข้าแนบอก                                         ประคองยกของสำคัญมั่นหมาย

เจ้าเนื้อทิพย์หยิบชื่นอารมณ์ชาย                                  ขอสบายสักหน่อยอย่าโกรธา

ใจน้องมิให้หมองอารมณ์หม่อม                 ไม่ตัดใจให้ตรอมเสนหา

ถ้าตัดรักหักใจแล้วไม่มา                                                 หม่อมอย่าว่าเลยฉันไม่คืนคิด

คำศัพท์

ของสำคัญ  หมายถึง เต้านม ในความว่า “ว่าพลางทางแอบเข้าแนบอก ประคองยกของสำคัญมั่นหมาย”

ถอดความได้ว่า

ความรักที่ขุนแผนมีให้ยังมีอยู่เต็มหัวใจ อย่าตัดความสัมพันธ์ให้เจ็บช้ำ ขุนช้างพูดไปก็ซบนางวันทอง  นางวันทองไม่เคยตัดใจจากขุนแผน  ถ้าตัดใจแล้วคงไม่กลับมาหาขุนแผน

————————————————————————————–

ถึงตัวไปใจยังนับอยู่ว่าผัว                                          น้องนี้กลัวบาปทับเมื่อดับจิต

หญิงเดียวชายครองเป็นสองมิตร                            ถ้ามิปลิดเสียให้เปลื้องไม่ตามใจ

คราวนั้นเมื่อตามไปกลางป่า                                     หน้าดำเหมือนหนึ่งทามินหม้อไหม้

ชนะความงามหน้าดังเทียนชัย                                 เขาฉุดไปเหมือนลงทะเลลึก

เจ้าพลายงามตามรับเอากลับมา                                ทีนี้หน้าจะดำเป็นน้ำหมึก

กำเริบใจด้วยเจ้าไวยกำลังฮึก                                    จะพาแม่ตกลึกให้จำตาย

ถอดความได้ว่า

ตัวนางวันทองอยู่กับขุนช้างแต่ใจอยู่กับขุนแผนตลอด นางวันทองกลัวบาปที่มีสามีสองคน ตอนหนีไปอยู่ป่ากับขุนแผนก็เสียหน้ามารอบหนึ่งแล้ว พอขุนช้างฉุดไปอยู่ด้วยก็เหมือนโดนฉุดไปอยู่ใต้ทะเลลึก

พอมาตอนนี้พลายงามก็มารับกลับไปอีกก็ได้อายเขาอีกรอบ

————————————————————————————–

มิใช่หนุ่มดอกอย่ากลุ้มกำเริบรัก                             เอาความผิดคิดหักให้เหือดหาย

ถ้ารักน้องป้องปิดให้มิดอาย                                   ฉันกลับกลายแล้วหม่อมจงฟาดฟัน

ไปเพ็ดทูลเสียให้ทูลกระหม่อมแจ้ง                     น้องจะแต่งบายศรีไว้เชิญขวัญ

ไม่พักวอนดอกจะนอนอยู่ด้วยกัน                         ไม่เช่นนั้นฉันไม่เลยจะเคยตัว

ครั้นเวลาดึกกำดัดสงัดเงียบ                                ใบไม้แห้งแกร่งเกรียบระรุบร่อน

พระพายโชยเสาวรสขจายขจร                               พระจันทรแจ่มแจ้งกระจ่างดวง

คำศัพท์

บายศรี หมายถึง เครื่องเชิญขวัญหรือรับขวัญ ทำด้วยใบตอง รูปคล้ายกระทงเป็นชั้นๆ มีขนาดใหญ่เล็กสอบกันขึ้นไปตามลำดับ อาจเป็น 3 ชั้น 5 ชั้น 7 ชั้น หรือ 9 ชั้น มีเสาปักตรงกลางแกน มีเครื่องสังเวยวางอยู่ในบายศรีและมีไข่ขวัญเสียบอยู่บนยอด

ถอดความได้ว่า

นางวันทองเลยบอกกับขุนแผนว่า ถ้าขุนแผนรักนางจริงต้องช่วยนาง ไปทูลพระพันวษาขอนางวันทองคืนให้ถูกต้องตามขั้นตอน ไม่อย่างนั้นก็ห้ามขุนแผนแตะเนื้อต้องตัวนางอีก ในเวลาค่ำนั้นเสียงเงียบสงัดจนได้ยินเสียงของใบไม้แห้งดังกรอบแกรบ พระจันทร์ก็ส่องแสงสว่าง

————————————————————————————–

ดุเหว่าเร้าเสียงสำเนียงก้อง                                    ระฆังฆ้องขานแข่งในวังหลวง

วันทองน้องนอนสนิทรวง                                    จิตง่วงระงับสู่ภวังค์

ฝันว่าพลัดไปในไพรเถื่อน                                    เลื่อนเปื้อนไม่รู้ที่จะกลับหลัง

ลดเลี้ยวเที่ยวหลงในดงรัง                                     ยังมีพยัคฆ์ร้ายมาราวี

ทั้งสองมองหมอบอยู่ริมทาง                                  พอนางดั้นป่ามาถึงที่

โดดตะครุบคาบคั้นในทันที                                   แล้วฉุดคร่าพารี่ไปในไพร

ถอดความได้ว่า

นกก็ต่างร้องสียงดัง เสียงระฆังจากในวังก็ตีบอกเวลา นางวันทองที่นอนหลับสนิทอยู่ ก็ฝันว่าตนหลงไปในป่า หาทางกลับไม่ได้ ยิ่งเดินเลี้ยวไปไหนต่อไหนก็ยิ่งหลงทาง และก็ไปเจอเสือสองตัวนอนหมอบอยู่ริมข้างทางแล้วก็ตะครุบนางเข้าไปในป่า

 ————————————————————————————–

สิ้นฝันครั้นตื่นตกประหม่า                            หวีดผวากอดผัวสะอื้นไห้

เล่าความบอกผัวด้วยกลัวภัย                          ประหลาดใจน้องฝันพรั่นอุรา

ใต้เตียงเสียงหนูก็กุกกก                                แมงมุมทุ่มอกที่ริมฝา

ยิ่งหวาดหวั่นพรั่นตัวกลัวมรณา                  ดังวิญญานางจะพรากไปจากกาย

ครานั้นขุนแผนแสนสนิท                            ฟังความตามนิมิตก็ใจหาย

ครั้งนี้น่าจะมีอันตราย                                   ฝันร้ายสาหัสตัดตำรา

คำศัพท์

แมงมุมทุ่มอก  หมายถึง ทุ่มอกคือตีอก เชื่อกันว่าเมื่อแมงมุมตีอกของมันจะเป็นลางร้ายอย่างหนึ่ง

ถอดความได้ว่า

นางก็ตื่นขึ้นมาร้องไห้ผวากอดขุนแผนและเล่าความฝันให้ขุนแผนฟัง ยิ่งได้ยินเสียงหนูร้องและแมงมุมทุ่มอกยิ่งใจหายกลัวจะเกิดเรื่องไม่ดี

————————————————————————————–

พิเคราะห์ดูทั้งยามอัฐกาล                             ก็บันดาลฤกษ์แรงเป็นหนักหนา

มิรู้ที่จะแถลงแจ้งกิจจา                                  กอดเมียเมินหน้าน้ำตากระเด็น

จึงแกล้งเพทุบายทำนายไป                          ฝันอย่างนี้มิใช่จะเกิดเข็ญ

เพราะวิตกหมกไหม้จึงได้เป็น                    เนื้อเย็นอยู่กับผัวอย่ากลัวทุกข์

พรุ่งนี้พี่จะแก้เสนียดฝัน                              แล้วทำมิ่งสิ่งขวัญให้เป็นสุข

มิให้เกิดราคีกลียุค                                         อย่าเป็นทุกข์เลยเจ้าจงเบาใจ

คำศัพท์

อัฐกาล หมายถึง อัฐเคราะห์ คือตำแหน่งดาวเคราะห์ทั้ง 8 ตามตำราโหราศาสตร์

เสนียด หมายถึง ไม่เป็นมงคล

ถอดความได้ว่า

เมื่อขุนแผนได้ฟังความฝันของนางวันทองก็รู้ว่าเป็นลางบอกเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้น แต่ไม่รู้จะบอกนางวันทองยังไงเลยปลอบใจนางวันทอง จึงแกล้งบอกปลอบใจนางวันทองว่าเป็นเพราะนางคิดมากไปไม่ได้จะเกิดเหตุร้ายหรอก อยู่กับพี่ไม่ต้องกลัว เดี๋ยวพรุ่งนี้จะแก้สิ่งไม่เป็นมงคลให้และทำสิ่งดีทำให้นางมีความสุข ไม่ให้เกิดสิ่งร้ายๆ สบายใจได้

ถอดคำประพันธ์ ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา 5

ครั้นว่ารุ่งสางสว่างฟ้า                       สุริยาแย้มเยี่ยมเหลี่ยมไศล

จะกล่าวถึงพระองค์ผู้ทรงชัย                      เนาในพระที่นั่งบัลลังก์รัตน์

พร้อมด้วยพระกำนัลนักสนม                       หมอบประนมเฝ้าแหนแน่นขนัด

ประจำตั้งเครื่องอานอยู่งานพัด                   ทรงเคืองขัดขุนช้างแต่กลางคืน

แสนถ่อยใครจะถ่อยเหมือนมันบ้าง                        ทุกอย่างที่จะชั่วอ้ายหัวลื่น

เวียนแต่เป็นถ้อยความไม่ข้ามคืน                 น้ำยืนหยั่งไม่ถึงยังดึงมา

คำศัพท์

เครื่องอาน หมายถึง เครื่องกิน

ถ่อย หมายถึง ชั่ว,เลว

น้ำยืนหยั่งไม่ถึง หมายถึง น้ำลึกเกินกว่าเท้าจะหยั่งถึง

ถอดความได้ว่า

วันรุ่งขึ้นสมเด็จพระพันวษาประทับบนบัลลังก์มีนางกำนัลและสนมหมอบเฝ้าอยู่ ตั้งเครื่องกินและอยู่งานพัดตามหน้าที่ สมเด็จพระพันวษาขัดเคืองขุนช้างตั้งแต่เวลากลางคืน ทรงเห็นว่าขุนช้างเป็นคนชั่วคอยแต่มีคดีความกับผู้อื่น

——————————————————————

คราวนั้นฟ้องกันด้วยวันทอง                        นี่มันฟ้องใครอีกอ้ายชาติข้า

ดำริพลางทางเสด็จยาตรา                          ออกมาพระที่นั่งจักรพรรดิ

พระสูตรรูดกร่างกระจ่างองค์                      ขุนนางกราบลงเป็นขนัด

ทั้งหน้าหลังเบียดเสียดเยียดยัด                   หมอบอัดถัดกันเป็นหลั่นไป

ทอดพระเนตรมาเห็นขุนช้างเฝ้า                   เออใครเอาฟ้องมันไปไว้ไหน

พระหมื่นศรีถวายพลันในทันใด                    รับไว้คลี่ทอดพระเนตรพลัน

คำศัพท์

พระสูตร หมายถึง ม่าน

ถอดความได้ว่า

คราวก่อนก็ฟ้องร้องเรื่องวันทอง ครั้งนี้ไม่ทรงทราบว่าจะฟ้องใครอีก พระองค์จึงเสด็จออกมาที่พระที่นั่งจักรพรรดิ  เมื่อม่านรูดออกขุนนางก็พร้อมกันกราบลงหมอบเฝ้ากันอยู่มากมายตามลำดับ ทรงทอดพระเนตรเห็นขุนช้างเข้าเฝ้าอยู่จึงตรัสถามขุนนางว่าจะฟ้องใคร หมื่นศรี จึงถวายฎีกาให้ทอดพระเนตร

 ——————————————————————

พอทรงจบแจ้งพระทัยในข้อหา               ก็โกรธาเคืองขุ่นหุ่นหัน

มันเคี่ยวเข็ญทำเป็นอย่างไรกัน             อีวันทองคนเดียวไม่รู้แล้ว

ราวกับไม่มีหญิงเฝ้าชิงกัน                     หรืออีวันทองนั้นมันมีแก้ว

รูปอ้ายช้างชั่วช้าตาบ้องแบ๋ว                  ไม่เห็นแววที่ว่ามันจะรัก

ใครจะเอาเป็นผัวเขากลัวอาย                 หัวหูดูเหมือนควายที่ตกปลัก

คราวนั้นเป็นความกูถามซัก                     ตกหนักอยู่กับเฒ่าศรีประจัน

คำศัพท์

โกรธา หมายถึง โกรธ

ปลัก หมายถึง แอ่งที่เป็นโคลนเลน

ถอดความได้ว่า

พอทอดพระเนตรเสร็จก็กริ้วว่าเรื่องวันทองคนเดียว ทำไมไม่จบกันเสียทีเหมือนกับไม่มีผู้หญิงคนอื่นอีกแล้ว และทรงไม่เห็นว่าวันทองจะมีใจรักขุนช้าง ใครก็ไม่อยากได้ขุนช้างไปเป็นผัว เพราะดูรูปร่างหน้าตาน่าเกลียด

 ——————————————————————

วันทองกูสิให้กับไอ้แผน                             ไยแล่นมาอยู่กับอ้ายช้างนั่น

จมื่นศรีไปเอาตัวมันมาพลัน                      ทั้งวันทองขุนแผนอ้ายหมื่นไวย 

ฝ่ายพระหมื่นศรีได้รับสั่ง                              ถอยหลังออกมาไม่ช้าได้

สั่งเวรกรมวังในทันใด                                 ตำรวจในวิ่งตะบึงมาถึงพลัน

ขึ้นไปบนเรือนพระหมื่นไวย                       แจ้งข้อรับสั่งไปขมีขมัน

ขุนช้างฟ้องร้องฎีกาพระทรงธรรม์        ให้หาทั้งสามท่านนั้นเข้าไป

คำศัพท์

ตะบึง หมายถึง รีบเร่ง

ขมีขมัน หมายถึง ทันทีทันใด

พระทรงธรรม์ หมายถึง  พระมหากษัตริย์

ถอดความได้ว่า

คราวก่อนก็ยกวันทองให้กับขุนแผนไปแล้ว ทำไมจึงมาอยู่กับขุนช้างอีก จึงให้จมื่นศรีไปนำตัววันทอง ขุนแผนและจมื่นไวย   พระหมื่นศรีได้รับคำสั่งให้ถอยหลังออกมาในไม่ช้าและสั่งหารในวังทันทีให้ทหารวิ่งมาอย่างเร่งรีบและขึ้นไปบนเรือนพระหมื่นไวยและแจ้งรับสั่งให้รีบไปในทันที ขุนช้างได้ยืนคำร้องทุกข์ให้พระเจ้าแผ่นดินให้เรียกทั้งสามคนมาเข้าเฝ้า

 ——————————————————————

          ครานั้นวันทองเจ้าพลายงาม               ได้ฟังความคร้ามครั่นหวั่นไหว

ขุนแผนเรียกวันทองเข้าห้องใน                      ไม่ไว้ใจจึงเสกด้วยเวทมนตร์

สีขี้ผึ้งสีปากกินหมากเวทย์                               ซึ่งวิเศษสารพัดแก้ขัดสน

น้ำมันพรายน้ำมันจันทน์สรรเสกปน                  เคยคุ้มขังบังตนแต่ไรมา

แล้วทำผงอิทธิเจเข้าเจิมพักตร์                       คนเห็นคนทักรักทุกหน้า

เสกกระแจะจวงจันทร์น้ำมันทา                       เสร็จแล้วก็พาวันทองไป

ถอดความได้ว่า

ตอนนั้นนางวันทองและพลายงามได้ฟังคำรับสั่งแล้วรู้สึกตื่นเต้น และขุนแผนเรียกนางวันทองเข้าไปข้างในห้อง เพราะไม่ไว้ใจเลยเสกมนตร์ใส่นางวันทอง เอาขี้ผึ้งมาปากและกินหมากที่ลงมนตร์ไว้ มันเป็นของที่ช่วยแก้ปัญหาทุกอย่าง มีทั้งน้ำมันพรายและน้ำมันจันทน์ที่ใช้พลางตัวมาตลอด แล้วนำผงเสน่ห์มาทาหน้าเพื่อให้คนที่เห็นที่ทักทุกคนต่างหลงรักตนและเสกเครื่องหอมที่ทำด้วยไม้จันทร์ทำให้เป็นน้ำมันพอทำเสร็จแล้วก็พานางวันทองออกไป

——————————————————————

ครานั้นทองประศรีผู้มารดา                   ครั้นได้แจ้งกิจจาไม่นิ่งได้

เด็กเอ๋ยวิ่งตามมาไวไว                              ลงบันไดงันงกตกนอกกชาน

พลายชุมพลกอดก้นทองประศรี                   กูมิใช่ช้างขี่ดอกลูกหลาน

ลุกขึ้นโขย่งโก้งโค้งคลาน                          ซมซานโฮกฮากอ้าปากไป

ครั้นถึงยั้งอยู่ประตูวัง                                 ผู้รับสั่งเร่งรุดไม่หยุดได้

ขุนแผนวันทองพระหมื่นไวย                        เข้าไปเฝ้าองค์พระภูมี ฯ

ถอดความได้ว่า

เมื่อแม่ของนางวันทองได้รู้ข่าวก็ร้อนใจ รีบเรียกลูกหลานให้วิ่งตามมาให้รีบลงจากบันไดจนตกออกนอกชาน พลายชุมพลก็เข้ากอดก้นนางทองประศรี นางทองประศรีจึงตะโกนบอกว่าพลายชุมพลว่าตนไม่ใช่ช้าง แล้วก็ลุกขึ้น เมื่อถึงหน้าประตูวัง ทั้งสามคนจึงรีบเข้าไปเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์

 ——————————————————————

     ครานั้นพระองค์ผู้ทรงเดช                   ปิ่นปักนคเรศเรืองศรี

เห็นสามราเข้ามาอัญชลี                           พระปรานีเหมือนลูกในอุทร

ด้วยเดชะพระเวทวิเศษประสิทธิ์           เผอิญคิดรักใคร่พระทัยอ่อน

ตรัสถามอย่างความราษฎร                     ฮ้าเฮ้ยดูก่อนอีวันทอง

เมื่อมึงกลับมาแต่ป่าใหญ่                          กูสิให้อ้ายแผนประสมสอง

ครั้นกูขัดใจให้จำจอง                               ตัวของมึงไปอยู่แห่งไร

ถอดความได้ว่า

เมื่อพระพันวสาเห็นทั้งสามคน(ขุนช้าง พระไวย และนางวันทอง)เดินเข้ามาก็เกิดความเอ็นดูอย่างลูก จึงตรัสถามความว่าเมื่อกลับมาจากป่าที่ตัดสินให้ไปอยู่กับขุนแผนเป็นอย่างไร

——————————————————————

ทำไมไม่อยู่กับอ้ายแผน                               แล่นไปอยู่กับอ้ายช้างใหม่

เดิมมึงรักอ้ายแผนแล่นตามไป                ครั้นยกให้เต้นกลับเล่นตัว

อยู่กับอ้ายช้างไม่อยู่ได้                               เกิดรังเกียจเกลียดใจด้วยชังหัว

ดูยักใหม่ย้ายเก่าเฝ้าเปลี่ยนตัว                ตกว่าชั่วแล้วมึงไม่ไยดี ฯ

ครานั้นวันทองได้รับสั่ง                             ละล้าละลังประนมก้มเกศี

หัวสยองพองพรั่นทันที                              ทูลคดีพระองค์ผู้ทรงธรรม์

ถอดความได้ว่า

ให้ไปอยู่กับขุนแผนทำไมถึงไม่ไปอยู่ แต่กลับไปอยู่กับขุนช้าง ทั้งๆที่แต่ก่อนรักกับขุนแผนไม่ใช่เหรอพอจะยกให้ไปอยู่กับขุนช้าง ก็รังเกียจขุนช้างขึ้นมา เปลี่ยนไปเปลี่ยนมามันไม่ดี  เมื่อนางวันทองได้รับสั่ง ก็รู้สึกละล้าละลังจึงประนมมือไหว้เหนือหัว นางรู้สึกกลัวมาก

 ——————————————————————

ขอเดชะละอองธุลีพระบาท                     องค์หริรักษ์ราชรังสรรค์

เมื่อกระหม่อมฉันมาแต่อรัญ                    ครั้งนั้นโปรดประทานขุนแผนไป

ครั้นอยู่มาขุนแผนต้องจำจอง                   กระหม่อมฉันมีท้องนั้นเติบใหญ่

อยู่ที่เคหาหน้าวัดตะไกร                         ขุนช้างไปบอกว่าพระโองการ

มีรับสั่งโปรดประทานให้                          กระหม่อมฉันไม่ไปก็หักหาญ

ยื้อยุดแดคร่าทำสามานย์                         เพื่อนบ้านจะช่วยก็สุดคิด

ถอดความได้ว่า

นางวันทองทูลขอพระพันวษาว่า เมื่อตอนที่ออกจากป่าพระองค์ยกหม่อมฉันให้ขุนแผน ต่อมาขุนแผนถูกเข้าคุก ดิฉันได้ตั้งทอง ขุนช้างก็เข้ามากระหม่อมไปอยู่ด้วยโดยอ้างว่าเป็นพระบัญชาของพระองค์ มาฉุดกระหม่อมไปเพื่อนบ้านก็เกรงกลัวเพราะคิดว่าเป็นพระบัญชาของพระองค์

——————————————————————

ด้วยขุนช้างอ้างว่ารับสั่งให้                      ใครจะขัดขืนไว้ก็กลัวผิด

จนใจมิไปก็สุดฤทธิ์                                   ชีวิตอยู่ใต้พระบาทา ฯ

ครานั้นพระองค์ผู้ทรงภพ                         ฟังจบกริ้วขุนช้างเป็นหนักหนา

มีพระสิงหนาทตวาดมา                            อ้ายบ้าเย่อหยิ่งอ้ายลิงโลน

ตกว่ากูหาเป็นเจ้าชีวิตไม่                         มึงถือใจว่าเป็นเจ้าที่โรงโขน

เป็นไม่มีอาชญาสิทธิ์คิดถึงโดน               เที่ยวทำโจรใจคะนองจองหองครัน

ถอดความได้ว่า

พระพันวษาได้ฟังขุนช้างทูลก็ทรงกริ้ว ตวาดเสียงดังลั่น ว่าถ้าพระองค์ไม่เป็นกษัตริย์ ขุนช้างก็คงมองไม่เห็นหัว จะต้องเฆี่ยนเสียด้วยหวาย

——————————————————————

เลี้ยงมึงไม่ได้อ้ายใจร้าย                              ชอบแต่เฆี่ยนสองหวายตลอดสัน

แล้วกลับความถามข้างวันทองพลัน        เออเมื่อมันฉุดคร่าพามึงไป

ก็ช้านานประมาณได้สิบแปดปี                  ครั้งนี้ทำไมมึงจึงมาได้

นี่มึงหนีมันมาหรือว่าไร                                หรือว่าใครไปรับเอามึงมา

วันทองฟังถามให้คร้ามครั่น                        บังคมคัลประนมก้มเกศา

ขอเดชะพระองค์ทรงศักดา                         พระอาญาเป็นพ้นล้นเกล้าไป

ถอดความได้ว่า

พระพันวษาก็ตรัสถามนางวันทองว่า เมื่อขุนช้างฉุดไปเป็นเวลาประมาณ 18 ปีทำไมถึงหนีมาได้ หนีมาเองหรือว่าใครไปรับมา นางวันทองได้ฟังคำถามก็รู้สึกกลัว

——————————————————————

ครั้งนี้จมื่นไวยนั้นไปรับ                          กระหม่อมฉันจึงกลับคืนมาได้

มิใช่ย้อนยอกทำนอกใจ                         ขุนแผนก็มิได้ประเวณี

แต่มานั้นเวลาสักสองยาม                     ขุนช้างจึงหาความว่าหลบหนี

ขอพระองค์จงทรงพระปรานี                 ชีวีอยู่ใต้พระบาทา ฯ

ถอดความได้ว่า

นางวันทองกราบทูลสมเด็จพระพันวษาว่าจมื่นไวยไปรับตอนกลางคืน ขุนช้างจึงคิดว่าหนีออกมา ขุนแผนก็ไม่ได้ทำอะไรไม่ดีไม่งาม นางทูลขอความกรุณาจากสมเด็จพระพันวษา

ถอดคำประพันธ์ ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา 6

ครานั้นพระองค์ผู้ทรงเดช                     ฟังเหตุขุ่นเคืองเป็นหนักหนา

อ้ายหมื่นไวยทำใจอหังการ์                      ตกว่าบ้านเมืองไม่มีนาย

จะปรึกษาตราสินให้ไม่ได้                       จึงทำตามน้ำใจเอาง่ายง่าย

ถ้าฉวยเกิดห่าฟันกันล้มตาย                    อันตรายไพร่เมืองก็เคืองกู

อีวันทองกูให้อ้ายแผนไป                        อ้ายช้างบังอาจใจทำจู่ลู่

ฉุดมันขึ้นช้างอ้างถึงกู                             ตะคอกขู่อีวันทองให้ตกใจ

คำศัพท์

ตกว่า  หมายถึง  ราวกับว่า

ตราสิน  หมายถึง  แจ้งความไว้เพื่อเป็นหลักฐาน

จู่ลู่  หมายถึง  หุนหันพลันแล่น ในความว่า “อ้ายช้างบังอาจใจทำจู่ลู่”

ถอดความได้ว่า

เมื่อพระพันวษาได้ฟังความจากนางวันทอง ก็โกรธจมื่นไวยที่ทำการอุกอาจทำเหมือนบ้านเมืองไม่มีกฎหมาย   ถ้าเกิดมีการฆ่าฟันล้มตาย ประชาชนจะขุ่นเคืองพระพันวษาได้  ทางด้านขุนช้างก็ผิดที่ไปฉุดตัวนางวันทองมา  แล้วยังอ้างชื่อพระพันวษาไปข่มขู่พาตัวนางวันทองมา

 ——————————————————————————-

ชอบตบให้สลบลงกับที่                               เฆี่ยนตีเสียให้ยับไม่นับได้

มะพร้าวห้าวยัดปากให้สาใจ                      อ้ายหมื่นไวยก็โทษถึงฉกรรจ์

มึงถือว่าอีวันทองเป็นแม่ตัว                       ไม่เกรงกลัวเว้โว้ทำโมหันธ์

ไปรับไยไม่ไปในกลางวัน                          อ้ายแผนพ่อนั้นก็เป็นใจ

มันเหมือนวัวเคยขาม้าเคยขี่                     ถึงบอกกูว่าดีหาเชื่อไม่

อ้ายช้างมันก็ฟ้องเป็นสองนัย                    ว่าอ้ายไวยลักแม่ให้บิดา

คำศัพท์

วัวเคยขาม้าเคยขี่  หมายถึง คุ้นเคยกันมาอย่างดี รู้ทีกัน เข้าใจในทำนองของกันและกัน สำนวนนี้ส่วนมากใช้กับคนที่เคยเป็นสามี ภรรยากัน

ถอดความได้ว่า

เฆี่ยนตีขุนช้างให้สลบคาที่ แล้วเอามะพร้าวห้าวยัดปาก จมื่นไวยก็มีความผิดฉกรรจ์ที่ไปพาตัวนางวันทองมากลางดึก  คงจะมีขุนแผนผู้เป็นพ่อคอยหนุนหลัง  เพราะว่าขุนช้างเอาเรื่องมาบอกพระพันวษาว่า จมื่นไวยฉุดนางวันทองกลับไปให้พ่อถือว่าเป็นความผิด

 ——————————————————————————-

เป็นราคีข้อผิดมีติดตัว                                   หมองมัวมลทินอยู่หนักหนา

ถ้าอ้ายไวยอยากจะใคร่ได้แม่มา                  ชวนพ่อฟ้องหาเอาเป็นไร

อัยการศาลโรงก็มีอยู่                                     หรือว่ากูตัดสินให้ไม่ได้

ชอบทวนด้วยลวดให้ปวดไป                     ปรับไหมให้เท่ากับชายชู้

มันเกิดเหตุทั้งนี้ก็เพราะหญิง                      จึงหึงหวงช่วงชิงยุ่งยิ่งอยู่

จำจะตัดรากใหญ่ให้หล่นพรู                       ให้ลูกดอกดกอยู่แต่กิ่งเดียว

คำศัพท์

ทวนด้วยลวด  หมายถึง เฆี่ยนตีด้วยหนังที่ทำเป็นเส้นยาวๆซึ่งเรียกว่าลวดหนัง

ถอดความได้ว่า

ถ้าจมื่นไวยอยากได้ตัวแม่  ทำไมไม่พาพ่อมาฟ้องศาล  หรือคิดว่าพระพันวษาไม่สามารถตัดสินให้ได้ ต้องลงโทษด้วยลวดและปรับ  ส่วนขุนช้างก็บังอาจอ้างราชโองการ ควรตบให้สลบ แล้วเอามะพร้าวยัดปาก แล้วรับสั่งว่าจะต้องแก้ปัญหานี้ให้จบเสียที ต้องตัดรากใหญ่(ปัญหา) ให้เหลือลูกดอกกิ่งเดียว (ให้นางวันทองตัดสินใจเลือกเพียงหนึ่ง)

 ——————————————————————————-

อีวันทองตัวมันเหมือนรากแก้ว                         ถ้าตัดโคนขาดแล้วก็ใบเหี่ยว

ใครจะควรสู่สมอยู่กลมเกลียว                           ให้เด็ดเดี่ยวรู้กันแต่วันนี้

เฮ้ยอีวันทองว่ากระไร                                         มึงตั้งใจปลดปลงให้ตรงที่

อย่าภวังค์กังขาเป็นราคี                                      เพราะมึงมีผัวสองกูต้องแค้น

ถ้ารักใหม่ก็ไปอยู่กับอ้ายช้าง                             ถ้ารักเก่าเข้าข้างอ้ายขุนแผน

อย่าเวียนวนไปให้คนมันหมิ่นแคลน                ถ้าแม้นมึงรักไหนให้ว่ามา

คำศัพท์

รากใหญ่  หมายถึง นางวันทอง

ถอดความได้ว่า

นางวันทองเหมือนกับรากแก้วถ้าตัดโคนได้แล้วใบก็จะเหี่ยวไปเอง พระพันวษาตรัสว่านางวันทองจะตกลงยังไง อย่าลังเลเพราะมีทั้งผัวและลูก ถ้ารักใหม่ก็ให้ไปอยู่กับขุนช้าง แต่ถ้ารักก็เลือกขุนแผน อย่าชักช้าคนจะนินทาเอาได้ จะเลือกใครก็ว่ามา

  ——————————————————————————-

 ครานั้นวันทองฟังรับสั่ง                                        ให้ละล้าละลังเป็นหนักหนา

ครั้นจะทูลกลัวพระราชอาญา                                ขุนช้างแลดูตายักคิ้วลน

พระหมื่นไวยใช้ใบ้ให้แม่ว่า                                  บุ้ยปากตรงบิดาเป็นหลายหน

วันทองหมองจิตคิดเวียนวน                                  เป็นจนใจนิ่งอยู่ไม่ทูลไป

ครานั้นพระองค์ทรงธรณินทร์                      หาได้ยินวันทองทูลขึ้นไม่

พระตรัสความถามซักไปทันใด                            หรือมึงไม่รักใครให้ว่ามา

ถอดความได้ว่า

นางวันทองได้ฟังคำพระพันวษาก็เกิดลังเลว่าจะเลือกใคร มองไปทางขุนช้างก็ยักคิ้ว มองไปทาง

จมื่นไวยก็ทำปากบุ้ยไปตรงพ่อ วันทองคิดวนไปวนมา ก็ยังไม่ทูลอะไรแก่พระพันวษา พระพันวษาไม่เห็นว่านางวันทองทูลอะไร ทรงตรัสถามต่อว่าจะไม่รักใครให้ว่ามา

 ——————————————————————————-

จะรักชู้ชังผัวมึงกลัวอาย                                          จะอยู่ด้วยลูกชายก็ไม่ว่า

ตามใจกูจะให้ดังวาจา                                              แต่นี้เบื้องหน้าขาดเด็ดไป

นางวันทองรับพระราชโองการ               ให้บันดาลบังจิตหาคิดไม่

อกุศลดลมัวให้ชั่วใจ                                                ด้วยสิ้นในอายุที่เกิดมา

คิดคะนึงตะลึงตะลานอก                                        ดังตัวตกพระสุเมรุภูผา

ให้อุธัจอัดอั้นตันอุรา                                                เกรงผิดภายหน้าก็สุดคิด

ถอดความได้ว่า

จะไปอยู่กับลูกไหม ตามแต่ใจ แต่ถ้าตอบมาแล้วจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้  นางวันทองรับพระราชโองการดังนั้นก็คิดไม่ออก ถึงเวลาสิ้นอายุ จึงเกิด “อกุศล” ทำให้ประหม่าและเกรงว่าจะตัดสินใจผิด

  ——————————————————————————-

จะว่ารักขุนช้างกระไรได้                                      ที่จริงใจมิได้รักแต่สักหนิด

รักพ่อลูกห่วงดังดวงชีวิต                                       แม้นทูลผิดจะพิโรธไม่โปรดปราน

อย่าเลยจะทูลเป็นกลางไว้                                      ตามพระทัยท้าวจะแยกให้แตกฉาน

คิดแล้วเท่านั้นมิทันนาน                                       นางก้มกรานแล้วก็ทูลไปฉับพลัน

ความรักขุนแผนก็แสนรัก                                     ด้วยร่วมยากมานักไม่เดียดฉันท์

สู้ลำบากบุกป่ามาด้วยกัน                                       สารพันอดออมถนอมใจ

ถอดความได้ว่า

จะว่ารักขุนช้างก็ไม่ได้เพราะตนไม่ได้รัก ถ้าเกิดทูลพระพันวษาผิดก็จะเป็นทูล จึงทูลเป็นกลางๆตามแต่พระทัยของพระพันวษาว่าจะตัดสินใจอย่างไร จึงทูลออกไปว่าขุนแผนนั้นก็แสนรักร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกันมานาน

 ——————————————————————————-

ขุนช้างแต่อยู่ด้วยกันมา                                         คำหนักหาได้ว่าให้เคืองไม่

เงินทองกองไว้มิให้ใคร                                        ข้าไทใช้สอยเหมือนของตัว

จมื่นไวยเล่าก็เลือดที่ในอก                                   ก็หยิบยกรักเท่ากันกับผัว

ทูลพลางตัวนางเริ่มระรัว                                      ความกลัวอาญาเป็นพ้นไป

ครานั้นพระองค์ผู้ทรงภพ                                      ฟังจบแค้นคลั่งดังเพลิงไหม้

เหมือนดินประสิวปลิวติดกับเปลวไฟ                  ดูดู๋เป็นได้อีวันทอง

ถอดความได้ว่า

ขุนช้างอยู่ด้วยกันมาก็ไม่เคยทำเรื่องให้ขุ่นเคืองใจและมีเงินทองบ่าวไพร่ใช้ไม่ขัดสน ส่วนจมื่นไวยที่เป็นลูกชายก็เป็นเหมือนเลือดในอก ย่อมรักเท่ากับรักผัวอยู่แล้ว ทูลเสร็จนางวันทองก็สั่นด้วยความกลัว

หลังจากนางวันทองทูล พระพันวษากริ้วอย่างมากเหมือนดินประสิวที่โดนไฟแล้วปะทุ

 ——————————————————————————-

จะว่ารักข้างไหนไม่ว่าได้                                        น้ำใจจะประดังเข้าทั้งสอง

ออกนั่นเข้านี่มีสำรอง                                             ยิ่งกว่าท้องทะเลอันล้ำลึก

จอกแหนแพเสาสำเภาใหญ่                                   จะทอดถมเท่าไรไม่รู้สึก

เหมือนมหาสมุทรสุดซึ้งซึก                                   น้ำลึกเหลือจะหยั่งกระทั่งดิน

อิฐผาหาหาบมาทุ่มถม                                            ก็จ่อมจมสูญหายไปหมดสิ้น

อีแสนถ่อยจัญไรใจทมิฬ                                        ดังเพชรนิลเกิดขึ้นในอาจม

ถอดความได้ว่า

นางวันทองไม่ยอมบอกว่าจะเลือกใคร พระพันวษารับสั่งด่านางวันทองว่ารักข้างไหนเลือกไม่ถูกจะเอาไว้สำรองทั้งสองยิ่งว่าความลึกของทะเลทอดสมอลึกเกินจะหยั่งถึงได้ คนถ่อย จัญไร ใจทมิฬ เหมือนเพชรที่เกิดในสิ่งสกปรก

  ——————————————————————————-

รูปงามนามเพราะน้อยไปหรือ                               ใจไม่ซื่อสมศักดิ์เท่าเส้นผม

แต่ใจสัตว์มันยังมีที่นิยม                                          สมาคมก็แต่ถึงฤดูมัน

มึงนี่ถ่อยยิ่งกว่าถ่อยอีท้ายเมือง                               จะเอาเรื่องไม่ได้สักสิ่งสรรพ์

ละโมบมากตัณหาตาเป็นมัน                                  สักร้อยพันให้มึงไม่ถึงใจ

ว่าหญิงชั่วผัวยังคราวละคนเดียว                           หาตามตอมกันเกรียวเหมือนมึงไม่

หนักแผ่นดินกูจะอยู่ไย                                           อ้ายไวยมึงอย่านับว่ามารดา

ถอดความได้ว่า

หน้าตาสวยงามชื่อเพราะน้อยไปหรือถึงได้จิตใจไม่ซื่อเท่ากับเส้นผม เลวกว่าสัตว์เพราะสัตว์ยังมีฤดูผสมพันธุ์  หญิงชั่วยังมีผัวคราวละคน จะอยู่ให้หนักแผ่นดินทำไม ทรงหันไปตรัสกับจมื่นไวยว่าอย่านับนางวันทองเป็นแม่ให้อายเขา

  ——————————————————————————-

กูเลี้ยงมึงถึงให้เป็นหัวหมื่น                                   คนอื่นรู้ว่าแม่ก็ขายหน้า

อ้ายขุนช้างขุนแผนทั้งสองรา                                 กูจะหาเมียให้อย่าอาลัย

หญิงกาลกิณีอีแพศยา                                            มันไม่น่าเชยชิดพิสมัย

ที่รูปรวยสวยสมมีถมไป                                        มึงตัดใจเสียเถิดอีคนนี้

เร่งเร็วเหวยพระยายมราช                                      ไปฟันฟาดเสียให้มันเป็นผี

อกเอาขวานผ่าอย่าปรานี                                        อย่าให้มีโลหิตติดดินกู

เอาใบตองรองไว้ให้หมากิน                                   ตกดินจะอัปรีย์กาลีอยู่

ฟันให้หญิงชายทั้งหลายดู                                      สั่งเสร็จเสด็จสู่ปราสาทชัย

ถอดความได้ว่า

รับสั่งขุนช้างกับขุนแผนพระองค์จะทรงหาเมียใหม่ให้ แล้วรับสั่งให้เอานางวันทองไปประหารชีวิต เอาขวานผ่าอก แล้วเอาใบตองมารองเลือดให้หมากิน อย่าให้เลือดอัปรีย์กาลีตกถึงพื้นดินเลย รับสั่งเสร็จก็เสด็จเข้าสู่ปราสาทที่ประทับ