วิธี ตอบ คํา ถาม สมัคร งาน

10 คำถามที่มักใช้ "สัมภาษณ์งานทางโทรศัพท์"

การสัมภาษณ์งานทางโทรศัพท์ ถือเป็นด่านสำคัญที่จะช่วยสร้างความประทับใจในครั้งแรกที่ได้คุยกันแก่ฝ่ายคัดเลือกบุคคลของบริษัทต่างๆ แม้จะไม่ได้พบเจอกันโดยตรง แต่น้ำเสียงและทัศนคติที่ถ่ายทอดออกมาผ่านการสื่อสาร จะเป็นสิ่งที่ HR ใช้ประเมินคุณ หากคุณสมบัติเหมาะสมก็จะได้นัดสัมภาษณ์งาน แต่หากไม่ใช่ ก็จะได้ไม่เสียเวลากันทั้ง 2 ฝ่าย โดยคำถามพื้นฐานที่มักใช้ถามผู้สมัครงาน มีดังนี้

1. ให้แนะนำตัว : การแนะนำตัวทั่วไปเพื่อให้รู้จักผู้สมัครมากขึ้น เช่น ชื่อ-นามสกุล, อายุ การศึกษา, ทำงานที่ไหน, ตำแหน่งงานในปัจจุบัน ฯลฯ 

2. เล่าประสบการณ์ทำงาน : ผู้สมัครเคยผ่านการทำงานที่ไหนมาบ้าง ทำตำแหน่งอะไร ขอบเขตงานที่ทำเป็นอย่างไร และมีประสบการณ์รวมกี่ปี 

3. บอกจุดแข็ง และจุดอ่อนของตัวเอง : การบอกจุดแข็งและจุดอ่อนในด้านการทำงาน จะช่วยให้ HR ประเมินคุณสมบัติที่เหมาะสมกับงานได้ง่ายยิ่งขึ้น

4. สาเหตุที่ลาออกจากที่ทำงานเก่า : ผู้สมัครต้องแจ้งเหตุผลว่าทำไมจึงอยากเปลี่ยนงานใหม่ ซึ่งคำตอบจะสะท้อนทัศนคติของตัวผู้สมัครเอง

5. ทำไมจึงสนใจสมัครงานตำแหน่งนี้ : ควรบอกเหตุผลด้านดี ไม่ควรพูดว่าร้ายให้บริษัทเก่าเสื่อมเสีย เช่น อยากทำงานที่ท้าทาย, มองหาความก้าวหน้า, สถานที่ทำงานใกล้บ้าน

6. รู้จักองค์กรที่สมัครงานดีแค่ไหน : คำถามนี้ HR จะได้ประเมินว่าตัวผู้สมัครเอง มีความสนใจในงานและบริษัทที่สมัครไปมาก-น้อยแค่ไหน

7. อธิบายขอบเขตงานที่ต้องรับผิดชอบ : การบอกขอบเขตงาน (Job Description) จะแสดงให้เห็นว่าคุณมีความเข้าใจในตำแหน่งงานที่สมัคร

8. สิ่งที่มุ่งหวังในงานใหม่ : คำตอบของคุณจะช่วยให้ HR ประเมินว่า ตำแหน่งและองค์กรนี้จะตอบโจทย์ความมุ่งหวังของผู้สมัครได้หรือไม่

9. เงินเดือนที่คาดหวัง : หลายบริษัทให้ HR คัดเลือกผู้สมัคร โดยพิจารณาจากฐานเงินเดือนที่ต้องการด้วยว่า อยู่ในฐานที่โครงสร้างบริษัทกำหนดไว้หรือไม่

10. ขอดูตัวอย่างผลงาน : เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น บางครั้งผู้สมัครจะต้องส่งตัวอย่างผลงานให้ทางบริษัทพิจารณาร่วมด้วย

10 เทคนิค สำหรับสัมภาษณ์งานทางโทรศัพท์ อย่างมืออาชีพ

นอกเหนือจากการซักซ้อมเพื่อลองตอบคำถามแล้ว การเตรียมตัวก่อนสัมภาษณ์งานทางโทรศัพท์ก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน เพราะหากคุณเตรียมคำตอบไว้อย่างดี แต่เมื่อถึงเวลารับสายเพื่อสัมภาษณ์งาน กลับไม่สามารถสื่อสารออกไปได้อย่างที่คาดหวัง ก็ย่อมมีผลกระทบต่อการสัมภาษณ์ได้ เทคนิคต่อไปนี้จะช่วยให้คุณมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น

1. ตั้งสติ และซ้อมพูดออกเสียง
การมีสติจะช่วยให้คุณใจเย็น ไม่ร้อนรน คิดอย่างรอบคอบก่อนตอบคำถามต่างๆ ได้อย่างราบรื่น ทางที่ดีควรดื่มน้ำและซ้อมพูดออกเสียง เพื่อช่วยลดความตื่นเต้นเมื่อถึงเวลาสัมภาษณ์จริง

2. เตรียมเรซูเม่ไว้ข้างตัว
วิธีนี้จะช่วยให้คุณสามารถเล่าประสบการณ์ทำงานให้ผู้สัมภาษณ์ฟังอย่างไม่ติดขัด ไม่ต้องเสียเวลานึกนาน ไม่ลืมรายละเอียด ซึ่งจะช่วยให้การตอบคำถามมีความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น

3. หาสถานที่ที่ไม่มีเสียงรบกวน
แม้จะเตรียมคำตอบไว้ดีแค่ไหน แต่หากสถานที่สำหรับใช้สัมภาษณ์งานทางโทรศัพท์มีเสียงดังรบกวน ก็อาจทำให้การพูดคุยไม่น่าประทับใจ หรือส่งผลให้การสื่อสารมีความคลาดเคลื่อน

4. พูดชัดถ้อยชัดคำ แสดงความมั่นใจ
น้ำเสียงที่สุภาพ เรียบเรียงประโยคได้เข้าใจง่าย พูดชัดถ้อยชัดคำ เป็นการแสดงความมั่นใจในสิ่งที่พูด ส่งผลดีต่อบุคลิกภาพและความสามารถในการสื่อสาร แม้จะไม่ได้พบหน้ากันก็ตาม

5. เลือกใช้ระดับภาษาให้เหมาะสม
ไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์ภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ควรเลือกระดับภาษาให้เหมาะสม เป็นทางการ แต่ก็ไม่เคร่งเครียดจนเกินไป และไม่ควรพูดแบบทีเล่นทีจริงจนหมดความน่าเชื่อถือ


6. ไม่แสดงทัศนคติที่ไม่ดีต่อที่ทำงานเก่า
แม้ว่าบางครั้งคุณอาจมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายเก่า แต่ห้ามนำมาพูดในการสัมภาษณ์งานอย่างเด็ดขาด นอกจากจะไม่มีความเป็นมืออาชีพแล้ว ยังทำให้คะแนนคุณติดลบอีกด้วย

7. พูดความจริง ไม่สร้างเรื่องโกหก
ไม่ควรพูดโกหก ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลส่วนตัว ประวัติการศึกษา ประสบการณ์ทำงาน เนื่องจาก HR สามารถแบล็กลิสต์คุณได้ หากสืบพบว่าคุณได้ให้ข้อมูลที่เป็นเท็จต่อการสมัครงาน

8. เป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด
การตอบคำถามแบบเป็นตัวของตัวเอง จะช่วยให้คุณผ่อนคลาย และทำให้ทั้งฝ่ายคุณและผู้สัมภาษณ์ประเมินร่วมกันได้ ว่าคุณเหมาะกับการทำงานในตำแหน่งที่สมัครไว้หรือไม่

9. เตรียมคำถามที่สงสัยไว้ถาม
เมื่อใกล้จะสิ้นสุดการให้สัมภาษณ์ ทางฝ่าย HR มักจะเปิดโอกาสให้คุณถามคำถาม คุณควรเตรียมคำถามไว้เพื่อแสดงถึงความกระตือรือร้น เช่น ถามถึงความก้าวหน้าในตำแหน่ง ถามถึงสวัสดิการบริษัท ฯลฯ

10. กล่าวขอบคุณผู้สัมภาษณ์
สุดท้ายเมื่อสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เสร็จสิ้นแล้ว ควรกล่าวขอบคุณผู้สัมภาษณ์ที่มอบโอกาสให้ได้พูดคุย นอกจากแสดงถึงมารยาทที่ดีแล้ว ยังสร้างความประทับใจให้แก่ผู้สัมภาษณ์อีกด้วย

สัมภาษณ์งานทางโทรศัพท์ อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลาและทุกสถานที่ บางครั้ง HR จะติดต่อมาโดยที่เราไม่ทันตั้งตัว ดังนั้น หลังยื่นเรซูเม่สมัครงานแล้ว ควรเตรียมความพร้อมไว้อยู่เสมอ เพื่อที่จะได้ไม่พลาดทุกโอกาสที่เข้ามาหาคุณ

สถิติจากเว็บไซต์ InterviewSuccessFormula.com พบว่า 80% ของผู้สมัครงานที่ส่งเรซูเม่จะไม่ถูกเรียกสัมภาษณ์ ดังนั้น หากคุณคือ 20% ที่เหลือที่ผ่านการประเมินรอบแรก ใบสมัครงานเข้าตากรรมการ และกำลังจะเข้าสู่ด่านต่อไปคือการ “สัมภาษณ์งาน” ร่วมกับคู่แข่งที่ไม่รู้ว่ามีอีกกี่คน นี่คือคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการตอบคำถาม

“แอชลีย์ สตาห์ล” โค้ชและนักพูดด้านการงานอาชีพ อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในกระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา เขียนบทความแนะนำการตอบ 7 คำถามสำคัญในการสัมภาษณ์งาน คำถามเหล่านี้เป็นคำถามทั่วไปที่คนมักจะเจอ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ตอบได้ดี

1.แนะนำตัวเอง

คำถามที่ดูเหมือนเป็นคำถามธรรมดาๆ จริงๆ แล้วเป็นหนึ่งในคำถามที่สำคัญที่สุด ผู้สัมภาษณ์มักจะมองคำถามนี้เป็นเหมือนการ “อุ่นเครื่อง” สำหรับการสัมภาษณ์เชิงลึกในลำดับต่อไป สตาห์ลแนะนำว่า ผู้ตอบควรจะใช้โอกาสนี้ในการแนะนำตัวให้เห็นความตั้งใจในการสมัครงาน โดยแบ่งคำตอบออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้

  • เล่าเรื่องราวของตัวเอง : นอกจากการเล่าประวัติการศึกษาและการทำงาน ควรจะเสริมข้อมูลการสมัครงานนั้นๆ ด้วยว่าคุณมีแพสชัน มีความตั้งใจอย่างไรที่จะทำงานนี้ ไม่ใช่การหว่านใบสมัครและบังเอิญได้รับเลือกให้มาสัมภาษณ์
  • ชิงบอกจุดอ่อนก่อน : ในระหว่างเล่าประวัติการทำงาน คุณอาจจะมีบางอย่างที่เป็นจุดอ่อนบนเรซูเม่ เช่น ทำไมจึงมีช่วงว่างระหว่างการย้ายงานบางจุด หรือทำไมคุณจึงออกจากที่ทำงานเก่าเร็วนัก ผู้สัมภาษณ์อาจจะถามหรือไม่ถามเรื่องพวกนี้ในการสัมภาษณ์ก็ได้ แต่พวกเขามองเห็นจุดอ่อนเหล่านี้แน่นอน ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีที่คุณจะชี้ให้เห็นและอธิบายสั้นๆ
  • “ทักษะทองคำ” ของคุณ : ไม่ต้องเล่าทักษะความสามารถจนหมดทุกเม็ด แต่เน้นเฉพาะความสามารถที่สอดคล้องกับตำแหน่งงานก็พอ และอย่าลืมเล่าด้วยทีท่า “อวดเบาๆ” ไม่ใช่การอวดความสามารถใหญ่โต เพราะมีการศึกษาในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคลพบว่า 72% ของ HR มองว่าบุคลิกภาพแบบ “มั่นใจจนเกินไป” คือเรื่องใหญ่ที่สุดที่จะทำให้คุณถูกกาหัวกระดาษ
  • เป้าหมายของคุณ : นี่คือศาสตร์แห่งการผูกเป้าหมายการทำงานของคุณเข้ากับภารกิจของบริษัทได้อย่างแนบเนียน และยังเป็นการบอกใบ้ให้ผู้สัมภาษณ์รู้ว่า คุณต้องการจะทำงานกับบริษัทนี้ในระยะยาว ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากที่บริษัทต้องการ

แค่เพียงแนะนำตัวแต่ต้องตอบยาวขนาดนี้เลยหรือ? คุณอาจจะคิดอย่างนั้น แต่ที่จริงแล้วการตอบแบบปังๆ ตั้งแต่ต้นจะทำให้คุณเป็นผู้สมัครงานที่โดดเด่นขึ้นมาทันที

2.คุณมีข้อเสียสำคัญอะไรบ้าง

นี่คือคำถามเพื่อให้ผู้สมัครงานโชว์ความซื่อสัตย์และจริงใจ และแสดงให้เห็นว่าคุณมีบุคลิกแบบ “คนที่ตระหนักถึงข้อดี-ข้อด้อยของตัวเอง” ซึ่งเป็นซอฟต์สกิลที่สำคัญมากในที่ทำงาน เพราะเป็นทักษะที่คนส่วนใหญ่ไม่มี จากการวิจัยของ Eurich Group บริษัทที่ปรึกษาด้านการพัฒนาผู้บริหารในสหรัฐฯ พบว่ามีคนเพียง 10-15% ที่มีทักษะดังกล่าว ดังนั้น คุณควรจะแสดงให้เห็นว่าคุณคือหนึ่งในกลุ่มคนหายาก โดยขอแนะนำว่า “อย่า” ใช้คำตอบเหล่านี้

  • ฉันเป็นคนรักความสมบูรณ์แบบ – คนสัมภาษณ์เคยได้ยินมาเยอะแล้ว
  • ฉันเป็นคนบ้างาน – คนสัมภาษณ์รู้ว่าเป็นคำตอบเพื่อเลี่ยงจะตอบความจริง
  • ฉันชอบเก็บงานกลับไปทำที่บ้าน – อาจถูกมองได้ว่า คุณเป็นคนบริหารเวลาไม่เป็น
  • ฉันไม่ชอบการทำให้ใครไม่พอใจ – สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าคุณตอบ “ได้ค่ะ/ครับ” กับทุกอย่าง ซึ่งไม่ใช่ข้อเสียจริงๆ ที่คนฟังอยากได้ยิน

การตอบคำถามเรื่อง “ข้อเสีย” เป็นเรื่องของการจัดสมดุลระหว่าง การแสดงให้เห็นจุดอ่อนใหญ่จริงๆ ของคุณโดยไม่ทำให้คนฟังรู้สึกว่าคุณไม่มีทางที่จะพัฒนาจากจุดนั้นได้เลย พร้อมๆ กับการอ่านให้ออกว่า ตำแหน่งที่คุณสมัครต้องการคนที่มีจุดอ่อนแบบไหน ซึ่งจะกลายเป็นจุดเด่นที่เหมาะสมกับตำแหน่ง เช่น ตำแหน่งนี้ต้องการคนที่รักการทำงานเป็นทีม หรือต้องการคนที่ทำงานด้วยตนเอง หรือต้องการผู้นำ หรือต้องการคนที่ทำตามคำสั่งได้ดี

คุณต้องวิเคราะห์ตำแหน่งของตัวเองที่สมัครไปให้ออก โดยสตาห์ลมีคำตอบตัวอย่างให้นำไปปรับใช้ให้เหมาะกับตำแหน่งที่คุณสมัครงาน เช่น

  • ฉันเป็นคนทำตามอารมณ์ และมักจะตัดสินใจด้วยสัญชาตญาณ
  • ฉันจะทำงานได้ดีถ้าทำคนเดียว และมักจะทำตามเป้าหมายได้ดีกว่าถ้าไม่มีคนแนะนำมากเกินไป
  • ฉันทำงานได้ดีกว่าในการทำงานเป็นทีม และมักจะต้องการการร่วมมือเพื่อวางวิสัยทัศน์
  • ฉันมักจะชอบคิดแผนงานแบบภาพใหญ่ และให้คนอื่นช่วยคิดรายละเอียดแทน
  • ฉันชอบการคิดรายละเอียดเล็กๆ ในการทำงาน และให้คนอื่นช่วยคิดภาพใหญ่

เพื่อเสริมให้เห็นความสำคัญ เมื่อคุณเลือกจุดอ่อนที่จะตอบได้แล้ว สตาห์ลแนะนำให้พูดถึงความท้าทายด้วยว่าจุดอ่อนนั้นมีผลอย่างไรกับการทำงานของคุณในอดีต และได้พยายามพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่เสมอ

3.ทำไมคุณจึงเหมาะที่สุดที่จะทำงานนี้

ความจริงก็คือ คุณไม่รู้หรอกว่าคุณเหมาะที่สุดหรือเปล่า แต่คุณต้องเชื่อว่าคุณคือคนที่ใช่ สตาห์ลแนะนำวิธีตอบคำถามปลายเปิดและตอบได้กว้างมากนี้ว่า คุณอาจจะเริ่มจากการแนะนำทักษะประเภทซอฟต์สกิลของตัวเองที่ผู้สัมภาษณ์ไม่ได้เห็นบนเรซูเม่ เช่น

  • ฉันทำงานได้ตามคำสั่งและไม่ต้องมีการตามงานหรือตรวจงานมากนัก
  • ฉันเก่งเรื่องการเล็งเห็นปัญหาล่วงหน้าและสามารถป้องกันสิ่งเหล่านั้นก่อนได้
  • สิ่งที่ฉันทำได้ดีมากคือการรับมือกับลูกค้าที่อารมณ์ไม่ดี

เมื่อพูดถึงทักษะเหล่านี้แล้ว คุณควรจะเล่าเรื่องสั้นๆ ที่แสดงให้เห็นทักษะนั้นของคุณ และเรื่องสั้นๆเหล่านี้เอง ที่ฉายภาพความเป็นตัวคุณได้ดียิ่งกว่าการพูดคุยหรือการอ่านแค่เรซูเม่ และยังเป็นโอกาสได้แสดงตัวตนว่าคุณจะเหมาะกับวัฒนธรรมองค์กรของที่นั่นหรือไม่

การแสดงออกถึงบุคลิกที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กรนั้นสำคัญมาก สถิติจาก Millenial Branding พบว่า 43% ของเจ้าหน้าที่ HR มองว่า “บุคลิกเข้ากับวัฒนธรรมองค์กร” คือคุณลักษณะที่สำคัญ ขณะที่คนสมัครงานส่วนใหญ่มักจะพูดเรื่องทักษะการทำงานเป็นหลักเพื่อแสดงว่าตัวเองเหมาะกับตำแหน่ง การที่คุณเล่าเรื่องเพื่อโชว์บุคลิกที่เข้ากับบริษัทจะส่งให้คุณโดดเด่นกว่าคนอื่นๆ

4.ถ้าเกิดความขัดแย้งในที่ทำงาน คุณจะทำอย่างไร

คำถามสุดหินที่คำตอบจะสะท้อนได้ว่าคุณมี EQ มากแค่ไหน และเรื่องความฉลาดทางอารมณ์คือซอฟต์สกิลที่สำคัญมาก โดยมีผลวิจัยพบว่า 71% ของผู้จัดการฝ่าย HR จะเลือกผู้สมัครงานที่มี EQ ดีมากกว่าคนที่มี IQ สูง และ 59% ในจำนวนนี้ถึงกับตอบว่าพวกเขาจะทิ้งใบสมัครของคนที่ IQ สูงแต่มี EQ ต่ำเสียด้วยซ้ำ

จำไว้ว่า สิ่งสุดท้ายที่คุณอยากทำในการสัมภาษณ์งานคือการสร้างบรรยากาศเชิงลบ เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะพูดคุยเรื่องความขัดแย้งในการทำงาน คุณก็ต้องเล่าถึงมันในเชิงบวกให้ได้ เช่น การเล่าวิธีรับมือความขัดแย้งในอดีตคงไม่ใช่การเล่าแบบเจาะลึกว่าเพื่อนร่วมงานคุณรับมือยากและขัดขวางการทำงานขนาดไหน แต่อาจจะใช้คำว่า เพื่อนร่วมงานทำให้กระบวนการทำงานช้ากว่าแผน และคุณได้สร้างบทสนทนาเพื่อส่งเสริมกระตุ้นให้เพื่อนร่วมงานให้ความร่วมมือในเชิงบวก โทนโดยรวมของการเล่าเรื่องนี้ไม่ใช่การบ่นเรื่องคนทำงาน หรือความสัมพันธ์ระหว่างกันของคน แต่เป็นการโชว์ให้เห็นว่าคุณมุ่งมั่นที่การทำงานให้ดีขึ้น

5.คุณเห็นภาพตัวเองอย่างไรในอีก 5 ปีข้างหน้า

ได้โปรดอย่าตอบว่า“อยู่ในตำแหน่งนี้แหละ”

เหมือนกับคำถามที่ขอให้แนะนำตัวเอง นี่คือคำถามปลายเปิดเพื่อให้คุณโชว์ความมั่นใจและแรงขับในการเติบโตทางการงาน คุณควรแสดงให้เห็นว่าคุณจะทำงานหนักและจะเติบโตต่อไป สิ่งที่บริษัทอยากได้ยิน 3 อย่างจากคำถามนี้คือ

  • ความปรารถนาที่จะเติบโตไปกับบริษัท
  • ความปรารถนาที่จะเผชิญความท้าทายภายในบริษัท
  • ความต้องการของคุณและความจำเป็นของบริษัทคือสิ่งที่ไปด้วยกันได้

คำตอบที่ยอดเยี่ยมคือคำตอบที่สามารถเน้นย้ำให้เห็นว่า โอกาสการเติบโตในบริษัทสามารถไปคู่กับเป้าหมายอาชีพในระยะยาวของคุณ

6.เราจะได้เห็นอะไรจากคุณบ้างภายใน 90 วันแรกของการทำงาน

อีกหนึ่งโอกาสให้คุณแสดงออกว่า คุณทำการบ้านเกี่ยวกับบริษัทและตำแหน่งนี้มาดี วิธีที่ดีในการตอบคำถามนี้คือลงลึกในรายละเอียดว่า คุณเข้าใจความรับผิดชอบที่มาพร้อมกับตำแหน่งนี้ รวมถึงมองไปข้างหน้าทั้งระยะสั้นและระยะยาวว่าหน้าที่นี้น่าจะได้ทำอะไรบ้าง นี่คือคำตอบที่คุณสามารถนำไปพิจารณาใช้

  • พบผู้จัดการแผนกเพื่อพูดคุยว่าเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวคืออะไร
  • สร้างแผนภูมิเป้าหมายเพื่อหาว่าเป้าหมายใดที่จะ “สร้างความแตกต่างอย่างแท้จริง” เพื่อเน้นทิศทางการทำงานไปในทางนั้น
  • ใช้เวลานี้ในการเฝ้ามอง เรียนรู้วัฒนธรรมองค์กร และแง่มุมต่างๆ ของธุรกิจนี้ให้มากที่สุด
  • สำรวจการทำงานของบริษัทคู่แข่ง และมานำเสนอว่าถ้าพวกเขาจ้างคุณ คุณจะใช้โซลูชันใดให้บริษัทแข่งขันได้ดีขึ้น
  • สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานใหม่

7.คุณมีคำถามจะถามเราไหม

คำตอบของคำถามนี้คือ “ใช่”

คุณต้องไม่ลืมที่จะเตรียมคำถามตัวเองไปบ้างเหมือนกัน ไม่ต้องถามเยอะเกินไป แต่ต้องมีบ้าง ปกติผู้สัมภาษณ์จะยิงคำถามนี้เมื่อใกล้จะจบการสัมภาษณ์ หรืออาจจะเป็นคำถามสุดท้ายเลย ดังนั้น นี่เป็นโอกาสท้ายสุดเหมือนกันที่คุณจะได้แสดงออกว่า คุณมีการเตรียมตัวและกระตือรือร้น รวมถึงเป็นโอกาสให้คุณหาข้อมูลเพิ่มเติมถ้าหากคุณได้รับงานนี้จริงๆ นี่คือลิสต์คำถามที่คุณอาจจะอยากถาม

  • คุณต้องการเห็นความสำเร็จแบบไหนจากฉัน ถ้าฉันได้รับงานนี้
  • ถ้าฉันทำงานนี้ได้ดีเยี่ยม ฉันจะไปได้ไกลแค่ไหนในบริษัทภายในเวลา 6-12 เดือน
  • ชีวิตประจำวันของตำแหน่งนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง
  • อยากให้เริ่มงานเมื่อไหร่
  • ฉันอ่านเจอเรื่อง (บางอย่างที่เกี่ยวกับบริษัท) ดูน่าสนใจมาก คุณช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหม
  • วัฒนธรรมองค์กรที่นี่เป็นอย่างไร
  • คุณชอบอะไรมากที่สุดในการทำงานที่บริษัทนี้
  • คุณมีประสบการณ์ที่น่าสนใจในบริษัทมาเล่าให้ฟังบ้างไหม

แต่ละการสัมภาษณ์ย่อมแตกต่างกันไป คุณอาจจะได้รับคำถามพวกนี้ทั้งหมดหรือไม่ได้เลยก็ได้ แต่เป็นไปได้สูงกว่ามากที่ผู้สัมภาษณ์ต้องแตะคำถามอย่างน้อยสักหนึ่งคำถามในนี้ และการเตรียมตัวเองเพื่อตอบคำถามสามัญธรรมดาพวกนี้ย่อมทำให้คุณเหนือกว่าผู้สมัครคนอื่น

การสัมภาษณ์ก็คือบทสนทนาครั้งหนึ่ง ขอแค่คุณพกความมั่นใจไปและอย่าลืมว่าพวกเขาก็ต้องการคนทำงานเช่นคุณมากพอๆ กับที่คุณอยากได้งานนั่นแหละ!

ที่มา positioningmag.com

เนื้อหาอื่นที่น่าสนใจ

“คัดคนที่ใช่” ให้ไว ด้วย 3 คำถาม ทางโทรศัพท์

04 January 2021 View 8,075