อายุกี่ปีถึงจะเป็นผู้ใหญ่บ้านได้

พระราชบัญญัติ

ลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 10)

พ.ศ. 2542

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2542

เป็นปีที่ 54 ในรัชกาลปัจจุบัน


             มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2542"
             มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

             มาตรา 3 ให้ยกเลิกความใน (1) ของ มาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติ ลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ ลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2489 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
             "(1) มีสัญชาติไทยและมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ ในวันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการเลือก"
             มาตรา 4 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติ ลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ ลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2535 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
             " มาตรา 12 ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะ ต้องห้ามดังต่อไปนี้
                          (1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
                          (2) อายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีบริบูรณ์ในวันรับเลือก
                          (3) มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นประจำ และมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมาย ว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในหมู่บ้านนั้นติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีจนถึงวันเลือก และเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพเป็นหลักฐาน
                          (4) เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองตามรัฐธรรมนูญด้วยความบริสุทธิ์ใจ

                          (5) ไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช

                          (6) ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ วิกลจริต จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ติดยาเสพติดให้โทษ หรือเป็นโรคตามที่รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
                          (7) ไม่เป็นสมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ พนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้างของหน่วยงาน ของรัฐ หรือของรัฐวิสาหกิจ หรือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือลูกจ้างของส่วนราชการ หรือลูกจ้างของเอกชนซึ่งมีหน้าที่ทำงานประจำ
                          (8) ไม่เป็นผู้มีอิทธิพลหรือเสียชื่อในทางพาลหรือทางทุจริต หรือเสื่อมเสีย ในทางศีลธรรม
                          (9) ไม่เป็นผู้เคยถูกให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากราชการ หน่วยงาน ของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะทุจริตต่อหน้าที่ และยังไม่พ้น กำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันถูกให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก (10) ไม่เป็นผู้เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด เว้นแต่เป็นโทษ สำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ และยังไม่พ้นกำหนดเวลาสิบปี นับแต่วันพ้นโทษ
                          (11) ไม่เป็นผู้เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิดเกี่ยวกับกฎหมาย ว่าด้วยป่าไม้ กฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครอง สัตว์ป่า กฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยศุลกากร กฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ในฐานความผิด เกี่ยวกับอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาต ให้ได้ กฎหมายว่าด้วยที่ดิน ในฐานความผิดเกี่ยวกับที่สาธารณประโยชน์ กฎหมายว่าด้วย ยาเสพติด กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง และกฎหมายว่าด้วยการพนัน ในฐานความผิด เป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก
                          (12) ไม่เป็นผู้เคยถูกให้ออกจากตำแหน่งตาม มาตรา 14 (6) หรือ (7) และยังไม่พ้นกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันถูกให้ออก
                          (13) ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล หรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการ พลเรือน และยังไม่พ้นกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันถูกให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก
                          (14) มีพื้นความรู้ไม่ต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับ หรือที่กระทรวงศึกษาธิการ เทียบไม่ต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับ เว้นแต่ในท้องที่ใดไม่อาจเลือกผู้มีพื้นความรู้ดังกล่าวได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อาจประกาศใน ราชกิจจานุเบกษายกเว้นหรือผ่อนผันได้"
             มาตรา 5 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติ ลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ ลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
             " มาตรา 16 ผู้มีสิทธิจะได้รับคัดเลือกเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง หรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตาม มาตรา 12"
             มาตรา 6 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติ ลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ ลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
             " มาตรา 18 ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายรักษาความสงบอยู่ในตำแหน่งคราวละห้าปี
             นอกจากออกจากตำแหน่งตามวาระ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบต้องออกจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 12 หรือเพราะเหตุเช่นเดียวกับที่ผู้ใหญ่บ้านต้อง ออกจากตำแหน่งตาม มาตรา 14 (2) ถึง (7)
             ถ้าตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองหรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายรักษาความสงบว่างลง ให้มีการคัดเลือกผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองหรือผู้ช่วย ผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบแทน และให้นำความใน มาตรา 15 มาตรา 16 และ มาตรา 17 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
             ผู้ซึ่งได้รับคัดเลือกตามวรรคสามอยู่ในตำแหน่งตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน
             เมื่อผู้ใหญ่บ้านต้องออกจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครองและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบต้องออกจากตำแหน่งด้วย"
             มาตรา 7 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติ ลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
             " มาตรา 23 ผู้ซึ่งสมควรจะเป็นว่าที่ผู้ใหญ่บ้านตาม มาตรา 22 ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 12 (1) (2) (4 (5) (6) (7) (8) (9) (10) (11) (12) (13) และ (14)"
             มาตรา 8 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 28 ตรี แห่งพระราชบัญญัติ ลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ ลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
             " มาตรา 28 ตรี ในหมู่บ้านหนึ่งให้มีคณะกรรมการหมู่บ้านคณะหนึ่ง มีหน้าที่เสนอข้อแนะนำและให้คำปรึกษาต่อผู้ใหญ่บ้าน เกี่ยวกับกิจการที่จะปฏิบัติตาม อำนาจหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน
             คณะกรรมการหมู่บ้านประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง เป็นกรรมการหมู่บ้านโดยตำแหน่ง และผู้ซึ่งราษฎรเลือกตั้งเป็นกรรมการหมู่บ้าน ผู้ทรงคุณวุฒิมีจำนวนตามที่นายอำเภอจะเห็นสมควรแต่ต้องไม่น้อยกว่าสองคน
             ในการประชุมคณะกรรมการหมู่บ้าน ต้องมีกรรมการหมู่บ้านมาประชุม ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่จึงจะเป็นองค์ประชุม ให้ผู้ใหญ่บ้าน เป็นประธาน การวินิจฉัยชี้ขาดให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธาน ออกเสียงอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
             กรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีสัญชาติไทย และมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะ ต้องห้ามเช่นเดียวกับผู้มีสิทธิที่จะได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านตาม มาตรา 12 (2) ถึง (13)
             การเลือกตั้งกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้เลือก โดยให้นายอำเภอเป็นประธาน พร้อมด้วยกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านในตำบลนั้น อย่างน้อยหนึ่งคน
             วิธีเลือกจะกระทำโดยลับหรือเปิดเผยก็ได้
             เมื่อราษฎรส่วนมากที่มาประชุมเลือกผู้ใดแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นกรรมการ หมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิ และให้นายอำเภอออกหนังสือสำคัญให้ไว้เป็นหลักฐาน
             ในกรณีผู้รับเลือกมีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้จับสลาก
             กรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในตำแหน่งคราวละห้าปี
             นอกจากออกจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องออกจากตำแหน่งเพราะเสียสัญชาติไทย หรือขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ตาม มาตรา 12 (3) ถึง (13) หรือเพราะเหตุเช่นเดียวกับที่ผู้ใหญ่บ้านต้องออกจาก ตำแหน่งตาม มาตรา 14 (2) ถึง (7)
             ถ้าตำแหน่งกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิว่างลง ให้มีการเลือกตั้งขึ้นแทน ให้เต็มตำแหน่งที่ว่าง และให้อยู่ในตำแหน่งตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน
             การเลือกตั้งกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้กระทำ ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่าง ถ้าตำแหน่งว่างลงก่อนถึงกำหนดออกตามวาระ ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน จะไม่เลือกตั้งขึ้นแทนก็ได้"
             มาตรา 9 มิให้นำบทบัญญัติ มาตรา 12 (7) แห่งพระราชบัญญัติ ลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ กรณีการกำหนดลักษณะต้องห้ามมิให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นสมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นมาใช้บังคับกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือแพทย์ประจำตำบล ซึ่งดำรง ตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนกว่าจะพ้นจากตำแหน่งหรือครบวาระ
             มาตรา 10 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตาม พระราชบัญญัตินี้


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี


             หมายเหตุ  เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากการใช้สิทธิเลือกตั้งบุคคลให้ทำหน้าที่แทนราษฎรควรมีหลีกเกณฑ์ที่สอดคล้องกัน ทั้งนี้ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 105 บัญญัติให้ผู้มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ ในวันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ ซึ่งต่อมาได้มีการแก้ไข สิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองในวันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง เป็น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ ซึ่งต่อมาได้มีการแก้ไขสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ให้เป็นไปตามเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว สมควรแก้ไขอายุของผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้านให้สอดคล้องกับ หลักเกณฑ์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญด้วย และโดยที่การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะ ต้องห้ามของผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน ผู้มีสิทธิจะได้รับคัดเลือกเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครองหรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ว่าที่ผู้ใหญ่บ้าน และกรรมการหมู่บ้าน ผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนการออกจากตำแหน่งของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองและผู้ใหญ่บ้านฝ่าย รักษาความสงบ และกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิยังบัญญัติไว้ไม่สอดคล้องกัน รวมทั่งยังไม่มี บทบัญญัติให้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบต้องออกจาก ตำแหน่งเมื่อผู้ใหญ่บ้านต้องออกจากตำแหน่งไว้ด้วย เพื่อให้ผู้ใหญ่บ้านที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ สามารถคัดเลือกตัวบุคคลมาร่วมปฏิบัติงานในท้องที่ในฐานะผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านได้ตาม ความต้องการแก่การบริหารและการปกครองท้องที่ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
(ร.จ. เล่ม 116 ตอนที่ 70 ก หน้า 1 วันที่ 4 สิงหาคม 2542)

จะเป็นผู้ใหญ่บ้านต้องมีอายุกี่ปี

ผู้ใหญ่บ้าน ไว้ว่า ต้องมีอายุตั้งแต่ยี่สิบห้าปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์ ซึ่งมีระยะเวลาในการดำรง ตำแหน่งนานที่สุดถึงสามสิบห้าปี ประกอบกับการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามยังไม่เหมาะสม และไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน สมควรกำหนดระยะเวลาการอยู่ในตำแหน่งของผู้ใหญ่บ้าน เป็นวาระคราวละห้าปีและกำหนดคุณสมบัติและ ...

สมัครผู้ใหญ่บ้านใช้วุฒิอะไรครับ

๒. กฎหมายการศึกษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันขณะที่มีการรับสมัครผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งหมายความว่าผู้มีสิทธิสมัครเป็นผู้ใหญ่บ้านในปี พ.ศ.๒๕๕๗ ต้องเป็นผู้ที่เรียนจบไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยม ๓ หรือเทียบเท่า ไม่ว่าผู้นั้นจะเกิดปี พ.ศ.ไหน มีอายุเท่าไรก็ตาม

อายุ 60 ปีเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านได้ไหม

คำตอบ อายุ ๖๐ ปี ไม่ใช้บังคับกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ดังนั้นจึงอยู่ไปได้เรื่อย ๆ จนกว่าจะครบวาระ ๕ ปี หรือออกด้วยเหตุอื่น