ประวัติ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัย วลัย ลักษณ์

ประวัติ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัย วลัย ลักษณ์

โทรนัดตรวจล่วงหน้าได้ที่เบอร์ 0 7567 3058 และ 0 7567 3059 ในวันและเวลาราชการ
 

คลินิกทั่วไป

1.คลินิกโรคทั่วไป

2.คลินิกตรวจสุขภาพ

คลินิกเฉพาะโรค

ตรวจเฉพาะโรค  2 คลินิก

1.คลินิกถันยเมตต์(เต้านม)

2.คลินิกโรคหอบหืดและภูมิแพ้

ตารางออกตรวจอาจมีการเปลี่ยนแปลง กรุณาโทรนัดล่วงหน้า

คลินิกเฉพาะทาง

ตรวจเฉพาะทาง  8 คลินิก

1.คลินิกอายุรกรรม

2.คลินิกเด็ก

3.คลินิกศัลยกรรม

4.คลินิกตา

5.คลินิกเวชศาสตร์ครอบครัว

6.คลินิกกระดูกและข้อ

7.คลินิกรักษ์ใจ(จิตเวช)

8.คลินิกเวชศาสตร์ฟื้นฟู

ตารางออกตรวจอาจมีการเปลี่ยนแปลง กรุณาโทรนัดล่วงหน้า

คลินิกพิเศษ

เปิดนอกเวลาหรือคลินิกที่เปิดเดือนละ 1 วัน จำนวน 4 คลินิก

1.คลินิกสูตินรีเวช

2.คลินิกตา

3.คลินิก หู คอ จมูก

4.คลินิกโรคผิวหนัง เลเซอร์ผิวพรรณ และความงาม

ตารางออกตรวจอาจมีการเปลี่ยนแปลง กรุณาโทรนัดล่วงหน้า

*ภาพจากเว็บโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
 

สิทธิการรักษา

1. สิทธิผู้ป่วยนอก

ติดต่อสอบถามเรื่องสิทธิต่าง ๆ ของท่าน

ได้ที่ เบอร์ 0 7567 3060 แผนกประกันสุขภาพภาพ

ในวันและเวลาราชการ

2. สิทธิข้าราชการเบิกจ่ายตรง

คำถาม: ต้องมาขึ้นทะเบียนหรือไม่?

คำตอบ: ไม่ต้องมาขึ้นทะเบียน ไม่ต้องสำรองจ่าย นำบัตรประชาชนมาเพียง    1 ใบก็สามารถใช้สิทธิ์ได้เลยค่ะ

3. สิทธิองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น(อปท)

คำถาม: สามารถใช้สิทธิ์ได้เลยหรือไม่?

คำตอบ: สามารถใช้สิทธิได้เลยโดยไม่ต้องสำรองจ่าย เพียงนำบัตรประชาชนมาเพียง 1 ใบก็สามารถใช้สิทธิ์ได้เลยค่ะ

4. สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาท(เฉพาะนักศึกษา)

คำถาม: ใช้สิทธิได้เลยหรือไม่?

คำตอบ: ต้องขึ้นทะเบียนบัตรทอง 30 บาท กับทางโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ก่อน จึงจะสามารถใช้สิทธิ์ได้ค่ะ

5. สิทธิพรบ.

คำถาม: ต้องจ่ายเงินเองหรือไม่?

คำตอบ: หากเอกสารครบไม่ต้องสำรองจ่าย แต่หากเอกสารไม่ครบ ณ วันที่เกิดเหตุให้สำรองจ่ายไปก่อน แล้วนำหลักฐานมายื่นขอคืนเงินทีหลังค่ะ

6. สิทธิรัฐวิสาหกิจ

คำถาม: ใช้สิทธิได้เลยหรือไม่?

คำตอบ: ต้องมีใบส่งตัวจากต้นสังกัดจึงจะสามารถใช้สิทธิได้ กรณีที่ไม่มีต้องชำระเงินไปก่อนแล้วนำใบเสร็จไปเบิกกับต้นสังกัดค่ะ

7. สิทธิพนักงาน มวล.

คำถาม: ต้องสำรองจ่ายหรือไม่?

คำตอบ: พนักงาน มวล. ไม่ต้องสำรองจ่ายใช้สิทธิหักงบได้เลยค่ะ

8. สิทธิประกันอุบัติเหตุ มวล

คำถาม: ต้องสำรองจ่ายหรือไม่?

คำตอบ: ต้องสำรองจ่าย แล้วนำใบเสร็จ ใบรับรองแพทย์พร้อมหลักฐานไปเบิกกับทางมหาวิทยาลัย

9. สิทธิชำระเงิน

คำถาม: ค่าใช้จ่ายแพงหรือไม่?

คำตอบ: ไม่แพงค่ะ เท่าๆกับโรงพยาบาลรัฐทั่วไป โดยค่าบริการในเวลา 50 บาท นอกเวลา 100 บาท และคลินิกพิเศษ 250-300 บาท (ไม่ร่วมค่ารักษาและค่ายา)

10. สิทธิอื่นๆ

คำถาม: นอกจากสิทธิที่กล่าวมาข้างต้นสามารถใช้สิทธิอื่นได้หรือไม่?

คำตอบ: ไม่ได้ค่ะ สำหรับสิทธิอื่นๆ อยู่ระหว่างดำเนินการ

 

 ประวัติความเป็นมา

โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
 

"โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โรงพยาบาลของคนนครศรีธรรมราช"

วันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นวันกำเนิดมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยถือเอาวันลงพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นหลัก ครั้น ๕ ปีต่อมา ในต้นปี พ.ศ.๒๕๔๑ มหาวิทยาลัยฯ ก็เปิดสอนนักศึกษารุ่นที่ ๑ เป็นความโชคดีของชาวนครศรีธรรมราช และชาวไทยภาคใต้ ในปี พ.ศ.๒๕๔๘ คณะรัฐมนตรีในขณะนั้น มาประชุมสัญจรหรือ ค.ร.ม.นกขมิ้น สถานที่ประชุมคือศาลา ๑๐๐ ปี วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช หรือวัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ก่อนถึงวันประชุมของ ค.ร.ม.นกขมิ้น ชาวนครศรีธรรมราชได้นัดประชุมบรรดาผู้ที่สนใจบ้านสนใจเมืองเป็นพิเศษประมาณ ๓๐ คน เพื่อนำเสนอเรื่องสำคัญต่อที่ประชุม ค.ร.ม.ที่ห้องประชุมพุทธสมาคมนครศรีธรรมราช พระเทพวินยาภรณ์(ขณะนั้น พระราชธรรมสุธี) เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานฝ่ายฆราวาส การประชุมก่อนการมาประชุมของค.ร.ม.สัญจรของชาวนครศรีธรรมราชรวม ๓ ครั้ง มติที่ประชุมเสนอของบประมาณเรียงลำดับความสำคัญ เช่น สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ถนนสี่ช่องจราจรหัวถนนนครฯ ไปหัวไทร พุทธภูมิ ถนนเทอดพระเกียรติ(เพื่อแก้ปัญหาคอขวดสี่แยกไปปากนครเพราะด้านข้างเป็นที่ดินของเอกชน) การจราจร ปะการังเทียม และน้ำ เป็นต้น ผลการประชุมของ ค.ร.ม.นกขมิ้น อนุมัติโครงการและงบประมาณ ๔ รายการ ตามลำดับ ในครั้งนั้นนำความปลาบปลื้มมาสู่ชาวนครศรีธรรมราชและชาวไทยภาคใต้เป็นอย่างยิ่ง

เมื่อได้รับอนุมัติการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์และเปิดสอนในปีการศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๐ แล้ว กลุ่มคิดและดำเนินการเพื่อให้มีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ทั้งในส่วนของคณะกรรมการรณณรงค์ฯ บุคลากรมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คลังสมอง และชาวนครศรีธรรมราชที่สนใจก็ร่วมคิดและดำเนินการต่อตั้งปณิธาณกันว่าภายใน  ๕ ปี จะต้องมีโรงพยาบาลที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เพื่อเป็นที่ฝึกและปฏิบัติงานของนักศึกษาแพทย์ซึ่งมีปีละ ๔๘ คน ด้วยการคัดเลือกจากนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคใต้ตอนบนและตอนกลาง เวลาผ่านไปสองปีกว่าเป็นโชคดีของชาวนครศรีธรรมราชอีกครั้งหนึ่ง เมื่อทางรัฐบาลสื่อสารมาว่ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีโครงการใหญ่อะไรบ้างมีงบประมาณพันกว่าล้าน อธิการบดีในขณะนั้นได้สอบถามความเห็นของผู้บริหารและคณาจารย์ส่วนหนึ่ง ในที่สุดก็ได้คำตอบคือสร้างโรงพยาบาลหรือต่อมาใช้ชื่อว่าศูนย์แพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อให้เป็นสถานที่ปฏิบัติทางการแพทย์ของนักศึกษาและให้บริการรักษาผู้ป่วยด้วย ต่อมาก็มีการดำเนินการตามขั้นตอนลำดับการงบประมาณและการก่อสร้าง ก่อนที่งบประมาณจำนวนนี้จะมานั้นได้มีการประสานงานกับนักการเมืองระดับชาติที่วัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ในวันมาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ ณ หน้าองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช การประสานงานดำเนินการต่อไปสู่รัฐบาล รัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง(เลขาธิการ สกอ.ขณะนั้นเดินเรื่องต่อ) ด้วยหลายฝ่ายร่วมมือกันอย่างแข็งขันความสำเร็จจึงได้เกิดตามมาอย่างน่าภาคภูมิใจและหายเหนื่อย ครั้นต่อมาเกิดปัญหางบประมาณไม่พอสร้างด้วยเวลาผ่านไปวัสดุขึ้นราคา จึงมีการเสนอของบประมาณเพิ่ม ๒ ครั้ง สุดท้ายเสนองบประมาณ ๕,๖๐๐ ล้านบาท เข้าที่ประชุม ค.ร.ม.สัญจร ที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในครั้งนี้ต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการประสานงานเพื่อให้ ค.ร.ม.อนุมัติงบประมาณก้อนนี้ แม้กระทั่งการทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีสาธารณสุข และนักการเมืองในฝ่ายรัฐบาลในข ณะนั้นที่มีน้ำหนักในการผลักดันให้ ที่ประชุมค.ร.ม.อนุมัติงบประมาณก็ต้องทำ ที่สำคัญคือนมัสการท่านเจ้าคุณพระเทพวินยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรวิหารในขณะนั้นได้เมตตาบอกกับนายกรัฐมนตรีผู้หญิงเรื่องโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพราะก่อนที่จะไปประชุม ค.ร.ม.สัญจร หรือทัวร์นกขมิ้นนั้นนายกรัฐมนตรีมากราบบูชาพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชก่อน และประชุมในวันรุ่งขึ้น ในการประชุมที่เกาะสมุยนั้น อดีตอธิการบดีฯ รองอธิการบดีฯ และผู้ช่วยอธิการบดีฯ รวม ๓ ท่านไปร่วมสังเกตการณ์ด้วย ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชในขณะนั้นทำงานในเรื่องนี้อย่างขยันขันแข็ง จริงจังมาก วันนั้นมีการติดตามข่าวกันตลอดทั้งวัน เมื่อถึงวาระการประชุมเรื่องงบประมาณของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยลักษณ์ ข่าวบอกว่าข้ามไปก่อน นั่นคือให้รองนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งตรวจสอบรายละเอียดเสียก่อนเพื่อความรอบคอบ และบ่ายใกล้เย็นของวันนั้นเสียงโทรศัพท์ของผู้ว่าฯ บอกว่า “อาจารย์งบประมาณผ่านเรียบร้อยแล้ว” เป็นข่าวดีที่ดีสุดๆ ในชีวิตข่าวหนึ่งของผมยากจะบรรยาย ในไม่ช้าข่าวโรงพาบาลมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับอนุมัติจาก ค.ร.ม.นกขมิ้นที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็แพร่สะพัดไปในกลุ่มบุคลากรทุกฝ่าย และชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช บัดนี้การก่อสร้างโรงพยาบาลที่สำคัญยิ่งของชาวนครศรีธรรมราช ชาวใต้ และชาวไทย ได้เริ่มขึ้นแล้วจากงบประมาณทั้งสิ้น ๕,๖๐๐ ล้านบาท จำนวนเตียงผู้ป่วย ๗๕๐ เตียง แม้ช่วงระหว่างทางกว่าจะมาถึงวันนี้จะมีอุปสรรคหนักเบาอยู่บ้างแต่ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ได้พยายามแก้ไขจนปัญหาต่างๆ ลุล่วงไปด้วยดีได้ และดำเนินการสร้างต่อไปได้อย่างราบรื่น ผู้บริหารชุดปัจจุบันได้พยายามดูแลควบคุมการก่อสร้างให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นตามสัญญาคือในปี พ.ศ.๒๕๖๒ แต่เนื่องจากปัญหามีอยู่บ้างเป็นต้นว่าฝนฟ้าของภาคใต้ที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวยให้ก่อสร้างได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นอาจจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ในต้นปี พ.ศ.๒๕๖๓ บัดนี้ความฝันและความตั้งใจของชาวนครศรีธรรมราช ชาวมหาวิทยาลัยลัยลักษณ์ ชาวไทยภาคใต้ ที่จะมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ดั่งฝันและสมความตั้งใจแล้ว

จากใจชาวมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

รศ.ดร.สืบพงศ์ ธรรมชาติ

อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

อาทิตย์ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๐