ประวัติ นางเงือก พระอภัย มณี

LIEKR:

"นางเงือก" ภรรยาที่ถูกทิ้งไว้ยังเกาะแก้วพิสดาร สุดท้ายแล้ว "พระอภัยมณี" รักใครกันแน่?

    หลายคนคงจะเคยสงสัยว่าตกลงแล้ว พระอภัยมณี รักใครกันแน่  แต่ที่จะดูน่าเห็นใจไม่น้อยเห็นทีจะเป็น นางเงือกเป็นนางในวรรณคดีที่โด่งดังและมีบทบาทสำคัญมากอีกคนหนึ่ง ที่เกิดความรักระหว่างคนต่างเผ่าพันธุ์และต่างสัญชาติแต่สุดท้ายกรรมได้บันดาลให้คนเหล่านั้นมาประสบพบเจอก่อนจะจบลงด้วยรัก แต่กาลเวลาได้บีบให้ทุกสถานการณ์ต่างดำเนินต่อไป

    

    เป็นวรรณคดีชิ้นเยี่ยมเรื่องหนึ่งของไทย ผลงานชิ้นเอกของพระสุนทรโวหาร หรือสุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประพันธ์ขึ้นเป็นนิทานคำกลอน ส่วนตัวเอกของเรื่องนั่นคือ พระอภัยมณี นั่นเอง หนุ่มผู้รักวิชาดนตรี ชอบการเป่าปี่เป็นชีวิตจิตใจ ชายผู้มากรักและเจ้าชู้ ระหว่างทางเดินเขาได้พบเจอสตรีมากมายและรับนางเหล่านั้นไว้เป็นภรรยาทั้งหมด

    โดยภรรยาเอกของพระอภัยมณี หรือจะเรียกว่า เมียแรกก็ไม่ผิด ภรรยาที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้องตามธรรมเนียม นางมีชื่อว่า นางผีเสื้อสมุทร นางยักษ์ผู้แปลงการให้สามีหลงรัก แต่สุดท้ายผู้เป็นสามีก็พาบุตรชายหนีจากนางไป ทิ้งไว้เพียงภาพทรงจำในอดีตที่เลือนลาง นางจบชีวิตลงด้วยปี่ของสามีกลายเป็นซากหินที่เกาะแก้วพิสดาร นางผีเสื้อสมุทรเป็นตัวแทนของภรรยาแรกที่ไม่ได้แต่ง ในตระกูลพระยามักมีสตรีเหล่านี้กันมาก เรียกอีกชื่อว่า เมียบ่าว

     ภรรยาคนที่ 2 ของพระอภัยมณี คือนางเงือก สตรีสาวผู้มีร่างกายงดงามดุจดอกไม้แรกแย้ม กิริยามารยาทงดงาม เป็นกุลสตรีที่หามิได้ง่ายนัก แม้จะเป็นคนครึ่งสัตว์แต่นางก็มีหัวใจอันบริสุทธิ์ที่มอบให้พระสวามีไปหมดสิ้น ก่อนพระอภัยมณีจากไปได้ฝากนางไว้กับพระฤาษี ต่อมานั้นนางเงือกได้คลอดบุตรนามว่า สุดสาคร

    ภรรยาคนที่ 3 หรือจะเรียกอีกชื่อว่า เมียพระราชทานก็ได้ นางชื่อว่า สุวรรณมาลีเป็นธิดากษัตริย์ ฐานะเสมอกับพระสวามี ถือว่าเป็นสะใภ้หลวงของท้าวสุทัศน์กับมเหสีปทุมเกสรก็ว่าได้ สตรีผู้มีท่าทีสง่างามและสูงศักดิ์ ไม่ว่าอยู่ในอิริยาบถใดก็งามพริ้มและสง่างามยิ่ง 

       ภรรยาคนที่ 4 มีชื่อว่า วาลี หญิงผู้มีรูปชั่วตัวดำแต่มีสติปัญญาเป็นเลิศที่สุดในบรรดาภรรยาทั้งหลาย เพราะความมีสติปัญญานี้เองทำให้นางได้รับแต่งตั้งฐานะเป็นพระสนมเอกของพระอภัยมณี 

     ภรรยาคนสุดท้ายชื่อว่า นางละเวงวัณฬา หญิงผู้มีชาติกำเนิดสูงส่งเสมอนางสุวรรณมาลี แต่กำเนิดในเผ่าพันธ์ทางตะวันตก มีจริตกิริยางดงามแบบชาวตะวันตกอาจจะปนความมีจริตมานิดหน่อย สุดท้ายนางก็เป็นภรรยาที่ดีคนหนึ่งของพระอภัยมณี

      ในบรรดาภรรยาของพระอภัยมณี ผู้ที่ได้ชื่อว่าอดทน อดกลั้นและจงรักภักดีต่อสามีที่สุดก็คือ นางเงือก นางเป็นหญิงที่ไร้ซึ่งอำนาจ และวาสนา เป็นเพียงภรรยาน้อยที่ถูกสามีทิ้งไว้หลังเรือนแล้วไปเสวยสุขกับเมียพระราชทานอย่างนางสุวรรณมาลี แม้ยามคลอดลูกก็ยังมิอาจได้พบหน้าสามี วันเวลาที่ผ่านเนิ่นนานก็มิได้ทำให้นางเงือกหยุดสร้างกรรมดีแม้แต่น้อย ตรงกันข้ามนางยังคงรักษาไว้ซึ่งความดีและเกียรติของสามี มิเคยไปหาคู่ครองใหม่เป็นเงือกหนุ่มๆ

     ยามที่บุตรชายโตพอจะรู้เรื่อง ก็ต้องจากลูกชายอันเป็นที่รัก เพื่อให้บุตรชายได้ตามหาผู้เป็นพ่อ หากเป็นหญิงชาวบ้านทั่วไปก็คงจะมีความหวังเล็กน้อยว่าวันหนึ่งจะได้เสวยสุขกับสามีแม้จะเป็นเมียบ่าวก็ยังดี แต่นางเงือกมิมีความหวังนั้นสักนิด นางเป็นเพียงเงือกที่มิอาจไปไหนได้นอกจากในน้ำ มิอาจอยู่กับลูกได้อย่างแม่ลูกทั่วไป มิอาจได้พบหน้าสามีอันเป็นที่รักได้

.

    พระอภัยมณีได้สอนนางให้รักษาศีล 5 นางเงือกใช้เวลานานกว่าหลายปีในการบำเพ็ญบารมีเพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองบุตรชายและสามีของนาง และในที่สุดพระอินทร์ก็เห็นถึงความดีงามของนางเงือก นางผู้เป็นภรรยาและมารดาที่ดี สมควรแก่การยกย่องให้เป็น ยอดหญิงแห่งแผ่นดิน องค์อัมรินทร์จึงทรงเสด็จมายังเกาะแก้วพิสดารและตัดหางปลาออกและเปลี่ยนเป็นขาเหมือนกับมนุษย์ทั่วไป 

    สุดสาครจัดขบวนเสลี่ยงเต็มยศเพื่อรับพระมารดากลับไปยังกรุงลังกาและจัดพระราชพิธีสมโภชและสถาปนาพระยศให้ารดาผู้ให้กำเนิดอย่างยิ่งใหญ่ มียศและพระราชทินนามว่า พระนางจันทวดีพันปีหลวง ส่วนพระอภัยมณี พระมเหสีสุวรรณมาลี พระชายาละเวงวัณฬา ได้ทรงรักษาศีลอย่างเคร่งครัดและยินดีกับความสมหวังของพระนางจันทวดีพันปีหลวง

       แม้ชีวิตข้างหลังที่ผ่านมาจะทุกข์เวทนา แต่สุดท้ายความดีที่กระทำได้ส่งผลให้ยอดหญิงแห่งแผ่นดินนางนี้ได้พบหน้าสามีและลูกและยังได้เสวยสุขอยู่ในกรุงลังกาอันมั่งมี ชีวิตรันทดของนางเงือกเป็นเครื่องเตือนใจเราได้ดีว่า เมื่อเราทำความดี ความดีนั้นย่อมส่งผลให้เราในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน

คำกลอนจากวรรณคดี

ฝ่ายพระองค์ทรงภุชสุดสาคร จะสมโภชมารดรตามบุราณ

เสด็จออกเสนาพฤฒามาตย์ ให้หมายบาดการใหญ่อันไพศาล

ทั้งเครื่องเล่นเต้นรำประจำงาน ในสถานสารพัดปักฉัตรธง

แล้วสั่งพวกโหราหาดิถี วันที่ดีฤกษ์ยามตามประสงค์

พฤฒารับจับกระดานคูณหารลง เอาฤกษ์ธงชัยตั้งกำลังวัน

ได้ดิถีสี่ค่ำเป็นกำหนด เฉลิมยศในคัมภีร์ดีขยัน

จึงกราบทูลแด่องค์พระทรงธรรม์ ขึ้นสี่ค่ำนามวันพฤหัสบดี

พระทรงฟังสั่งให้ขุนอาลักษณ์ เร่งจำหลักแผ่นทองละอองศรี

จารึกนามมารดาอย่าช้าที โดยคดีแจ้งความตามกระทรวง

ให้รู้ทั่วกรุงไกรไอศวรรย์ พระนามจันทวดีพันปีหลวง

ผู้รับสั่งจัดงานการทั้งปวง โดยกระทรวงบาดหมายรายกันไป ฯ

ที่มา : พระอภัยมณี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประวัติ นางเงือก พระอภัย มณี

รูปปั้นพระอภัยมณีและนางเงือก สองตัวละครเอกจากวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี ที่หาดทรายแก้ว เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง

วรรณคดีเรื่อง พระอภัยมณี มีตัวละครในลักษณะเดียวกับนิยายแฟนตาซี ประกอบด้วยชนเผ่าและสิ่งมีชีวิตรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งบางส่วนนำมาจากวรรณคดีโบราณหรือความเชื่อทางศาสนา ต่อไปนี้เป็นข้อมูลโดยสังเขปของตัวละครต่าง ๆ ที่ปรากฏในเรื่อง พระอภัยมณี

มนุษย์[แก้]

ตัวละครมนุษย์มีชนชาติต่าง ๆ หลายเชื้อชาติ โดยมีตัวละครหลักเป็นชาติไทย นอกจากนี้ยังมีชนชาติจีน และฝรั่งหลายประเทศ พิจารณาตัวละครมนุษย์จากเมืองต่าง ๆ ได้ดังนี้

เมืองของตัวละคร[แก้]

กรุงรัตนา[แก้]

พระอภัยมณี

ตัวละครเอกของเรื่องพระอภัยมณี เป็นโอรสองค์โตของท้าวสุทัศน์และพระนางปทุมเกสร[1] เมื่อท้าวสุทัศน์ส่งตัวพระอภัยมณีไปศึกษาศิลปวิทยาปรากฏว่าพระอภัยมณีเลือกเรียนวิชาเพลงปี่ ทำให้ท้าวสุทัศน์ไม่พอใจมาก พระอภัยมณีจึงถูกขับออกจากเมืองพร้อมกับศรีสุวรรณ ระหว่างทางทั้งสองได้พบกับสามพราหมณ์ คือสานน วิเชียร และโมรา พระองค์จึงได้เป่าปี่ขึ้นเพื่ออวดวิชาที่ตนได้ร่ำเรียนมา ปรากฏว่าเพลงปี่ทำให้ศรีสุวรรณและสามพราหมณ์หลับใหลไม่ได้สติ และนางผีเสื้อสมุทรซึ่งอยู่ในบริเวณนั้นได้ยินเสียงเพลงปี่จึงจับตัวพระอภัยไปเป็นสามี[2] เรื่องราวตรงจุดนี้จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการผจญภัยอันพิสดารอีกยืดยาวของพระอภัยมณีในเวลาต่อมา

ต่อมาพระอภัยมณีได้ครองเมืองผลึกด้วยการเสกสมรสกับนางสุวรรณมาลี ธิดาของท้าวสิลราช เจ้าเมืองผลึก[3] และได้ทำสงครามกับเมืองลังกาอย่างยืดเยื้อยาวนานหลายปี จนกระทั่งได้นางละเวงวัณฬาเจ้าเมืองลังกาเป็นภรรยา[4] และมีบุตรด้วยกันคนหนึ่ง คือ มังคลา ตอนท้ายเรื่องหลังเสร็จสงครามปราบมังคลาซึ่งได้ก่อสงครามระหว่างญาติวงศ์ด้วยกันจนพระอภัยมณีต้องยกทัพไปปราบปราม พระอภัยมณีก็ได้ตัดสินใจออกบวชเป็นฤๅษีที่เขาสิงคุตร์ในเกาะลังกา โดยนางสุวรรณมาลีและนางละเวงได้ออกบวชตามพระอภัยมณีด้วย

โดยสรุปแล้ว พระอภัยมณีมีภรรยารวม 4 คน คือ นางผีเสื้อสมุทร (มีบุตรด้วยกันคือ สินสมุทร) นางเงือก (มีบุตรด้วยกันคือ สุดสาคร) นางสุวรรณมาลี (มีบุตรด้วยกันคือ สร้อยสุวรรณและจันทร์สุดา ซึ่งเป็นธิดาฝาแฝด) และนางละเวงวัณฬา (มีบุตรด้วยกันคือ มังคลา) นอกจากนี้ยังปรากฏในเรื่องว่าพระอภัยมณีได้รับสตรีนางหนึ่งเป็นสนม คือ นางวาลี เป็นหญิงมีปัญญา ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของฝ่ายพระอภัยมณีและเมืองผลึกในครั้งที่อุศเรนยกทัพมาตีเมืองผลึกจากเรื่องชิงนางสุวรรณมาลี

ศรีสุวรรณ

โอรสองค์รองของท้าวสุทัศน์และพระนางปทุมเกสร และเป็นพระอนุชาของพระอภัยมณี เมื่อคราวที่ท้าวสุทัศน์ให้พระอภัยมณีออกไปศึกษาศิลปวิทยา ศรีสุวรรณก็ได้ออกเดินทางไปกับพระอภัยมณีด้วย โดยได้เลือกเรียนวิชากระบี่กระบอง ทำให้ท้าวสุทัศน์ไม่พอใจและขับศรีสุวรรณออกจากเมืองด้วยเช่นกัน

หลังจากพลัดพรากกับพระอภัยมณี ศรีสุวรรณได้เดินทางร่วมกับสามพราหมณ์ตามหาพระอภัยมณีจนกระทั่งถึงเมืองรมจักร ศรีสุวรรณและสามพราหมณ์ได้พำนักอยู่ในเมืองนั้น และได้อาสาท้าวทศวงศ์ เจ้าเมืองรมจักร ออกรบกับกองทัพท้าวอุเทนชาวแขกชวา ซึ่งยกทัพมาเพื่อชิงนางเกษรา ราชธิดาของท้าวทศวงศ์ จนกระทั่งได้รับชัยชนะ[5]

หลังเสร็จศึกแล้วศรีสุวรรณได้อภิเษกกับนางเกษราและครองเมืองรมจักร มีธิดาด้วยกัน 1 คน คือ นางอรุณรัศมี นอกจากนี้ศรีสุวรรณยังได้นางศรีสุดา ซึ่งเป็นข้าหลวงของเกษราเป็นภรรยาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน มีบุตร 1 คน คือ พระกฤษณา (ต่อมาเป็นกำลังสำคัญของฝ่ายรมจักรในศึกปราบมังคลาช่วงท้ายเรื่อง) หลังได้ครองเมืองรมจักร ศรีสุวรรณได้พบกับสินสมุทรและร่วมกันออกตามหาพระอภัยมณีจนพบ และร่วมทัพกับพระอภัยมณีสู้กับทัพลังกา จนกระทั่งเมื่อข้ามไปยังลังกาก็ติดกลเสน่ห์ของนางรำภาสะหรี ซึ่งเป็นบริวารชาวลังกาของนางละเวง ศรีสุวรรณได้นางรำภาสะหรีเป็นชายา[6] มีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อ วลายุดา

ท้าวสุทัศน์

เป็นบิดาของพระอภัยมณีและศรีสุวรรณ ครองเมืองรัตนา มีความสำคัญในช่วงต้นเรื่อง คือได้ส่งให้โอรสทั้งสองไปเรียนวิชา แต่ก็ไม่พอใจในวิชาที่โอรสทั้งสองเลือกวิชาที่เรียน จึงไล่ทั้งสองออกจากเมืองไป[7]

พระนางประทุมเกสร

เป็นมารดาของพระอภัยมณีและศรีสุวรรณ[8]

เมืองรมจักร[แก้]

ท้าวทศวงศ์

กษัตริย์ผู้ครองเมืองรมจักร เมื่อศรีสุวรรณรบชนะทัพท้าวอุเทนก็ได้ยกเมืองรมจักรให้ศรีสุวรรณครองแทน จนเมื่อครั้งมังคลาได้ก่อศึกสงครามกับพระญาติวงศ์ก็ได้มาจับตัวท้าวทศวงศ์ไปด้วย[9]

เกษีน้นี้นร้นี้นร้นร้นี้นร้นร้นร้นร้เอกของศรีสุวรรณและเป็นพระธิดาของท้าวทศวงศ์ พบกันครั้งแรกจากการที่ศรีสุวรรณไปตามหาพระอภัยมณีซึ่งถูกนางผีเสื้อสมุทรลักพาตัวไป แต่กลับต้องมาติดในเมืองรมจักร และถูกจองจำในอุทยานหลวง เมื่อครั้งนางเกษราเสด็จประพาสอุทยานจึงได้เจอกัน เมื่อศรีสุวรรณรบชนะท้าวอุเทนก็ได้อภิเษกกับนางเกษรา ครองเมืองรมจักรต่อไป

นางเกษราเป็นหญิงใจเย็น แม้เมื่อรู้ว่าศรีสุวรรณไปติดพันนางรำภาสะหรีอยู่เมืองลังกาก็ไม่โกรธ กลับร้อนใจสงสารว่านางรำภาสะหรีจะดูแลศรีสุวรรณไม่ดีเท่าตน และได้ติดตามไปหาศรีสุวรรณที่ลังกาด้วยความภักดี[10]

ศรีสุดา

ชายารองของศรีสุวรรณ พี่เลี้ยงนางเกษรา และเป็นมารดาของพระกฤษณา

อรุณรัศมี

พระธิดาของศรีสุวรรณที่เกิดกับนางเกษรา มีอายุไล่เลี่ยกับสินสมุทร เมื่อศรีสุวรรณและสินสมุทรออกตามหาพระอภัยมณีนั้นก็ได้ร่วมเดินทางไปด้วย ทำให้สนิทสนมกับสินสมุทรมาก มีนิสัยขี้งอน เมื่อครั้งสิ้นศึกลังกาถูกจับให้แต่งงานกับสินสมุทร แต่สินสมุทรต้องง้ออยู่นานกว่าจะยอมเข้าหอ เพราะนางไม่ต้องการเป็นชายารองของสินสมุทร ซึ่งได้กับนางยุพาผกาก่อนหน้านี้

พระกฤษณา

โอรสของศรีสุวรรณกับนางศรีสุดา เป็นกำลังสำคัญในครั้งศึกลังกาครั้งที่ 2 เมื่อมังคลามาจับตัวท้าวทศวงศ์ไป พระกฤษณาก็ออกตามตีมังคลาไปจนสุดเขตแดนเมืองรมจักรเพื่อชิงท้าวทศวงศ์คืน แต่ก็ไม่สำเร็จ และยังได้ร่วมทัพเมืองผลึก เมืองรมจักร และเมืองการะเวกไปปราบปรามมังคลาที่ลังกา[11]

เมืองการเวก[แก้]

ท้าวสุริโยทัย

กษัตริย์เมืองการะเวก ได้พบกับสุดสาครเมื่องสุดสาครไล่ตามชีเปลือยเข้าไปถึงเมืองการะเวกเพื่อชิงม้าคืน และได้อุปถัมภ์สุดสาครตั้งแต่นั้นจนกระทั่งอายุได้ 17 ปี สุดสาครก็ลาไปตามหาพระอภัยมณีผู้เป็นพ่อต่อไป

พระนางจันทวดี

มเหสีของท้าวสุริโยทัย

เสาวคนธ์

ราชธิดาองค์โตของท้าวสุริโยทัย เชษฐภคินี (พี่สาว) ของหัสไชย อายุไล่เลี่ยกับสุดสาครและเป็นเพื่อนเล่นกันมาจนโต จนกระทั่งสุดสาครออกตามหาพระอภัยมณีต่อไปก็ได้ติดตามสุดสาครไปด้วย และมีบทบาทร่วมรบในศึกเก้าทัพกรุงลังกาตีเมืองผลึก จนกระทั่งสุดสาครไปติดพันนางสุลาลีวันอยู่เมืองลังกา นางเสาวคนธ์ก็ติดตามไปด้วยความหึงหวง จนกระทั่งถึงแก่โทสะ ใช้ธนูยิงแก้มนางสุลาลีวัน ต่อมาเมื่อเสร็จศึกลังกา ท้าวสุริโยทัยจะให้นางเสาวคนธ์แต่งงานกับสุดสาคร ซึ่งนางเสาวคนธ์ไม่พอใจที่จะต้องเป็นชายารองของสุดสาคร จึงปลอมตัวเป็นฤๅษีหนีไปจนถึงเมืองวาหุโลม และตีได้เมืองวาหุโลม จนกระทั่งสุดสาครไปง้องอนจึงกลับมาคืนดีและยอมแต่งงานด้วย หลังศึกลังกาครั้งที่ 2 เมื่อพระอภัยมณีออกบวชและมังคลาหนีไป เสาวคนธ์และสุดสาครได้ครองเมืองลังกา

หัสไชย

ราชโอรสของท้าวสุริโยทัย อนุชานางเสาวคนธ์ อายุห่างจากเสาวคนธ์ 2 ปี มีบทบาทในศึกเก้าทัพตีเมืองผลึกและศึกลังกา เมื่อพระอภัยมณี ศรีสุวรรณ สินสมุทร สุดสาครติดกลเสน่ห์หญิงลังกาทั้งสี่ หัสไชยก็ทำอุบายเข้าไปแก้เสน่ห์ให้ทั้งสี่พระองค์ แต่ไม่สำเร็จ หัสไชยยังเป็นกำลังสำคัญในการต่อตีกับนางละเวงวัณฬา โดยเป็นสารถีและคุ้มครองนางสุวรรณมาลี ต่อมาหัสไชยได้นางสร้อยสุวรรณและนางจันทร์สุดา ธิดานางสุวรรณมาลีกับพระอภัยมณีเป็นชายาทั้งสองคน

เมืองผลึก[แก้]

ท้าวสิลราช

ท้าวสิลราชเป็นเจ้าเมืองผลึกและเป็นพระบิดาของนางสุวรรณมาลี คราวหนึ่งนางสุวรรณมาลีเกิดนิมิตประหลาด โหรได้ทำนายว่าถ้านางออกเดินทางทะเลจะได้พบลาภ ท้าวสิลราชจึงพานางออกท่องทะเลจนกระทั่งมาถึงเกาะแก้วพิสดาร กองเรือของท้าวสิลราชและนางสุวรรณมาลีจึงพักอยู่ที่นั้นเพื่อเติมเสบียง หลังจากนั้นเมื่อกองเรือของพระองค์ออกจากเกาะแก้วพิสดารพร้อมกับพระอภัยมณีและสินสมุทรซึ่งขอโดยสารเรือไปด้วย ปรากฏว่านางผีเสื้อสมุทรซึ่งเป็นภรรยาคนแรกของพระอภัยมณีได้ตามมาอาละวาดจนเรือล่มทั้งหมด ท้าวสิลราชได้จมน้ำสิ้นพระชนม์จากเหตุการณ์ครั้งนั้น

พระนางมณฑา

มเหสีท้าวสิลราช และเป็นผู้ยกนางสุวรรณมาลีให้แก่พระอภัยมณี

สุวรรณมาลี

นางสุวรรณมาลีเป็นพระธิดาของท้าวสิลราชและพระนางมณฑาแห่งเมืองผลึก และเป็นคู่หมั้นของอุศเรน โอรสเจ้าเมืองลังกา แต่นางไม่ได้รักอุศเรนแม้แต่น้อย คราวหนึ่งนางสุวรรณมาลีเกิดนิมิตประหลาด โหรได้ทำนายว่าถ้านางออกเดินทางทะเลจะได้พบลาภ นางจึงออกเดินทางร่วมกับท้าวสิลราชผู้เป็นพระบิดาจนกระทั่งมาถึงเกาะแก้วพิสดาร นางจึงได้พบกับพระอภัยมณีและสินสมุทรซึ่งบวชเป็นฤๅษี ณ ที่นั้นเป็นครั้งแรก

เมื่อกองเรือของนางสุวรรณมาลีออกจากเกาะแก้วพิสดารพร้อมกับพระอภัยมณีและสินสมุทรซึ่งขอโดยสารเรือไปด้วย ปรากฏว่านางผีเสื้อสมุทรตามมาอาละวาดจนเรือแตกทั้งหมด ตัวนางสุวรรณมาลีนั้นรอดตายมาได้พร้อมกับสินสมุทรโดยความช่วยเหลือของสุหรั่งซึ่งเป็นโจรสลัดในแถบนั้น ภายหลังสุหรั่งคิดล่วงเกินนางสุวรรณมาลี สินสมุทรซึ่งเคารพนางสุวรรณมาลีในฐานะมารดาจึงฆ่าสุหรั่งพร้อมทั้งยึดกองเรือมาเป็นของตนเสีย หลังพบกับกองเรือของพระอภัยมณีและอุศเรนแล้ว นางจึงได้กลับไปที่เมืองผลึกอีกครั้งพร้อมกับพระอภัยมณีและสินสมุทร ต่อมาจึงได้อภิเษกกับพระอภัยมณี มีพระธิดาฝาแฝดด้วยกัน 2 องค์ คือ สร้อยสุวรรณและจันทร์สุดา

นางสุวรรณมาลีนั้นรักและหึงหวงพระอภัยมณีมาก ในคราวที่พระอภัยมณีทำศึกกับเมืองลังกาจนพลาดท่าตกเป็นสามีของนางละเวงนั้น นางสุวรรณมาลีต้องเป็นคนนำทัพต่อสู้กับลังกาแทนพระอภัยมณีด้วยความแค้นและความหึงหวง นางได้โต้คารมกับนางละเวงอย่างเจ็บแสบ แต่เมื่อศึกสงบลงพร้อมกับการเทศนาของพระฤๅษีแห่งเกาะแก้วพิสดาร นางก็หันมาปรองดองกับนางละเวงได้ในที่สุด

ในตอนท้ายเรื่อง นางสุวรรณมาลีได้ออกบวชพร้อมกับนางละเวง เพื่อติดตามไปรับใช้พระอภัยมณีที่ออกบวชเป็นฤๅษีเพราะเบื่อหน่ายเรื่องทางโลก

สร้อยสุวรรณและจันทร์สุดา

ธิดาฝาแฝดของนางสุวรรณมาลีกับพระอภัยมณี ต่อมาได้เป็นชายาพระหัสไชยแห่งเมืองการะเวก

วาลี

นางวาลีเป็นชาวเมืองผลึก นางมีหน้าตาไม่สะสวยแต่มีสติปัญญาที่เฉียบแหลม พระอภัยมณีจึงตั้งให้นางอยู่ตำแหน่งนางสนม นางวาลีเป็นผู้วางแผนช่วยให้พระอภัยมณีสามารถอภิเษกกับนางสุวรรณมาลีได้สำเร็จ และเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยพระอภัยมณีรบกับอุศเรนซึ่งมาตีเมืองผลึกด้วยเรื่องชิงนางสุวรรณมาลีจนฝ่ายพระอภัยมณีได้รับชัยชนะ ทั้งยังได้พูดจายั่วให้อุศเรนแค้นใจตาย แต่หลังเสร็จศึกไม่นาน นางก็ป่วยด้วยถูกปีศาจอุศเรนสิงและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

เมืองลังกา[แก้]

เจ้าเมืองลังกา

พระบิดาของอุศเรนและนางละเวงวัณฬา

อุศเรน

คู่หมั้นของนางสุวรรณมาลี เมื่อพบกับพระอภัยมณีและสินสมุทรไม่ยอมคืนนางสุวรรณมาลีให้ก็โกรธและตามตีพระอภัยมณีจากทะเลไปจนถึงเมืองผลึก ต่อมาพระอภัยมณีได้อภิเษกกับนางสุวรรณมาลี ทำให้อุศเรนโกรธยิ่งขึ้นและจัดทัพมาตีเมืองผลึก พระอภัยมณีตีทัพอุศเรนแตกและอุศเรนถูกอุบายยั่วของนางวาลีจนอกแตกตาย

ละเวงวัณฬา

เป็นธิดากษัตริย์เมืองลังกาและเป็นน้องของอุศเรน เมื่อพ่อและพี่ชายของนางตาย นางก็ครองเมืองแทนโดยมีตราราหูเป็นของวิเศษประจำตัว นางต้องการแก้แค้นแทนพ่อและพี่ชายจึงส่งภาพวาดของนางซึ่งทำเสน่ห์ไว้พร้อมกับแนบจดหมายชักชวนให้ทำศึกกับเมืองผลึกไปถึงเจ้าเมืองต่าง ๆ โดยสัญญาว่าถ้าใครมีชัยชนะ นางก็พร้อมจะเป็นภรรยาและยกเมืองลังกาให้ครองด้วย บรรดาเจ้าเมืองเหล่านั้นหลงรูปของนางจึงยกทัพมารบกับเมืองผลึก แต่ก็พ่ายแพ้ไปหมดทุกกองทัพ พระอภัยมณีจึงยกทัพไปตีเมืองลังกาบ้าง นางละเวงใช้วิธีทำเสน่ห์ให้พระอภัยมณีหลงรักนาง รวมทั้งให้ลูกเลี้ยงและนางบริวารทำเสน่ห์นายทัพฝ่ายพระอภัยมณีหมดสิ้น แล้วนางก็ยุให้พระอภัยมณีสู้รบกับกองทัพฝ่ายเมืองผลึก จนโยคีแห่งเกาะแก้วพิสดารมาเทศนาโปรด สันติสุขจึงกลับคืนมา เมื่อพระอภัยมณีออกบวช นางก็บวชตามไปปรนนิบัติรับใช้เช่นเดียวกับนางสุวรรณมาลี

รำภาสะหรี

บุตรอิเรนแม่ทัพลังกา บริวารนางละเวงวัณฬา เป็นผู้ทำเสน่ห์ศรีสุวรรณ ทำให้ศรีสุวรรณหลงรักและติดพันอยู่ในเมืองลังกา มีบุตรกับศรีสุวรรณคือวลายุดา

ยุพาผกา

ลูกเลี้ยงของนางละเวงวัณฬา พี่สาวนางสุลาลีวัน ซึ่งนางละเวงวัณฬาไปขอมาจากบาทหลวงปีโปจากบ้านสิกคารนำ เป็นผู้ทำเสน่ห์สินสมุทร ทำให้สินสมุทรหลงรักและติดพันอยู่ในเมืองลังกา มีบุตรกับสินสมุทรคือวายุพัฒน์

สุลาลีวัน

ลูกเลี้ยงของนางละเวงวัณฬา น้องสาวนางยุพาผกา ซึ่งนางละเวงวัณฬาไปขอมาจากบาทหลวงปีโปจากบ้านสิกคารนำ เป็นผู้ทำเสน่ห์สุดสาคร ทำให้สุดสาครหลงรักและติดพันอยู่ในเมืองลังกา มีบุตรกับสุดสาครคือหัสกัน

สังฆราชบาทหลวง

สังฆราชเมืองลังกา เป็นผู้คอยส่งอุบายต่าง ๆ ให้แก่นางละเวงวัณฬา และเมื่อนางละเวงวัณฬายอมหย่าศึกกับฝ่ายผลึก พระบาทหลวงก็ไม่พอใจ เมื่อมังคลาขึ้นครองลังกาแทนมารดาแล้ว พระบาทหลวงได้ยุยงให้มังคลาไปชิงโคตรเพชรที่นางเสาวคนธ์ขอจากนางละเวงวัณฬาและเปิดศึกทะเลาะเบาะแว้งกับพระญาติวงศ์ ทำให้เกิดเรื่องวุ่นวายตามมา ตอนปลายเรื่องพระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีจากการจับกุมของพระญาติวงศ์ไปได้

บาทหลวงปีโป

บาทหลวงมีปัญญาแห่งบ้านสิกคารนำ ได้ช่วยเหลือนางละเวงวัณฬาไว้จากการถูกตีทัพแตก และมอบนางยุพาผกาและสุลาลีวันซึ่งตนรับเลี้ยงไว้ให้แก่นางละเวงวัณฬา

มังคลา

พระโอรสของพระอภัยมณีและนางละเวงวัณฬา ถูกพระบาทหลวงยุยงให้ทำสงครามกับพระญาติวงศ์ของตนเอง

วลายุดา

พระโอรสของศรีสุวรรณกับนางรำภาสะหรี ช่วยพระมังคลารบพระญาติวงศ์ด้วย

วายุพัฒน์

พระโอรสของสินสมุทรกับนางยุพาผกา มีเขี้ยวเป็นยักษ์เหมือนสินสมุทร ช่วยพระมังคลารบพระญาติวงศ์ด้วย

หัสกัน

พระโอรสของสุดสาครกับนางสุลาลีวัน ช่วยพระมังคลารบพระญาติวงศ์ด้วย

ย่องตอด

เดิมทีเป็นชายร่างเล็ก มีนิสัยประหลาด ชอบอยู่คนเดียว ต่อมาได้หนีจากหมู่บ้านไปอยู่ในป่า มีตาเดียว มีฤทธิ์สะกดคนหลับได้ นางละเวงวัณฬาจับได้เมื่อย่องเข้ามาจะกินม้าศึก และเอาไว้ใช้งาน

นางสุนีบาต

เป็นนางนาคมีฤทธิ์ คอยช่วยเหลือพระมังคลารบกับพระญาติวงศ์

เกาะแก้วพิสดาร[แก้]

พระฤๅษีแห่งเกาะแก้วพิสดาร

เป็นฤๅษีมีตบะญาณมาก อาศัยบนเกาะแก้วพิสดารคอยช่วยเหลือพวกเรือแตก จึงมีศิษย์บนเกาะหลายชาติหลายภาษาทั้งจีน แขก มลายู ไทย ฝรั่ง, เป็นผู้ช่วยพระอภัยมณีและนางเงือกจากนางผีเสื้อสมุทรและไล่นางผีเสื้อสมุทรไป

สินสมุทร

เป็นโอรสของ พระอภัยมณีกับนางผีเสื้อสมุทร เป็นคนที่ผลักหินเปิดปากถ้ำให้พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทรโดยความช่วยเหลือของพวกเงือก ซึ่งตัวเขาเองก็หนีตามพ่อไปด้วยจนไปถึงเกาะแก้วพิสดาร ต่อมานางสุวรรณมาลีได้รับสินสมุทรเป็นลูกบุญธรรม

สินสมุทรมีบทบาทสำคัญในศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก และเมื่อไปรบลังกาก็ได้ติดตามพระอภัยมณีไปด้วย จนไปหลงกลเสน่ห์นางยุพาผกาติดพันอยู่ที่เมืองลังกา

นางเงือก

เป็นชายาของพระอภัยมณี มารดาของสุดสาคร

สุดสาคร

โอรสของพระอภัยมณีกับนางเงือก เมื่อพระอภัยมณีออกจากเกาะแก้วพิสดารไปได้ราว 6 เดือน สุดสาครก็เกิด ด้วยเลือดเงือกทำให้สามารถดำน้ำได้เก่ง มีพาหนะคือม้านิลมังกร

เมื่อเติบโตขึ้น สุดสาครได้ออกติดตามหาพระบิดาจนพบและมีบทบาทสำคัญในศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก และได้ติดตามพระอภัยมณีไปตีลังกาจนไปหลงกลเสน่ห์นางสุลาลีวันติดพันอยู่ที่เมืองลังกา เมื่อเสร็จศึกลังกาท้าวสุริโยทัยจะตบแต่งนางเสาวคนธ์ให้ แต่นางเสาวคนธ์หนีไปเมืองวาหุโลม ทำให้สุดสาครต้องตามง้องอน

เมืองวาหุโลม[แก้]

เจ้าวาหุโลม

กษัตริย์ครองเมืองวาหุโลม มีโอรสคือวาโหม

นายด่านปากน้ำ

เป็นผู้นับถือนางเสาวคนธ์ (ฤๅษีแปลง) มาก และช่วยให้นางเสาวคนธ์ตีด่านชั้นในต่อ ๆ ไปจนกระทั่งจับเจ้าวาหุโลมได้ และได้เมืองวาหุโลม

ราหู

นายด่านชั้นนอก คิดจับนางเสาวคนธ์ แต่ถูกนางเสาวคนธ์จับและได้เป็นพวกพ้อง ตีเมืองวาหุโลม

ตรีเมฆ

นายด่านชั้นกลาง คิดจับนางเสาวคนธ์ แต่ถูกนางเสาวคนธ์จับและได้เป็นพวกพ้อง ตีเมืองวาหุโลม

พระกาล

นายด่านชั้นใน คิดจับนางเสาวคนธ์ แต่ถูกนางเสาวคนธ์จับและได้เป็นพวกพ้อง ตีเมืองวาหุโลม

วาโหม

โอรสเจ้าวาหุโลม ต่อมาเมื่อเสร็จศึกวาหุโลม นางเสาวคนธ์ได้ให้เป็นเจ้าครองวาหุโลมต่อไป และมีความภักดีต่อนางเสาวคนธ์มาก เมื่อมีศึกมังคลาก็ช่วยยกทัพไปปราบปรามด้วย

เมืองอื่น ๆ ที่กล่าวถึง[แก้]

  • เมืองเจ้าละมาน
  • เมืองท้าวอุเทน

สัตว์[แก้]

  • ม้านิลมังกร
  • ผีเสื้อค้างคาว

ยักษ์[แก้]

ยักษ์ที่ปรากฏในเรื่องได้แก่ นางผีเสื้อสมุทร นอกจากนี้ยังมีตัวละครที่เป็นลูกครึ่งมนุษย์-ยักษ์ ได้แก่ สินสมุทร

นางผีเสื้อสมุทรเป็นยักษ์ อาศัยอยู่ในถ้ำซึ่งอยู่กลางทะเล สามารถแปลงร่างเป็นหญิงสาวสวยได้ ชาติก่อนได้พรจากพระอิศวรให้ถอดดวงใจใส่ไว้ในก้อนหินได้ นางจึงกำเริบใจไปต่อสู้กับพระเพลิงจึงถูกไฟกรดเผาจนร่างมอดไหม้ นางจึงกลายเป็นปีศาจสิงอยู่ในก้อนหินที่ฝากดวงใจไว้ ครั้นเวลาผ่านไปเนิ่นนานหลายปี ก้อนหินก็มีแขน ขา หน้าตา งอกออกมา แล้วในที่สุดก็มีชีวิตขึ้นมาอีก วันหนึ่งนางเห็นพระอภัยมณีก็นึกรัก จึงอุ้มไปอยู่กับนางในถ้ำ จนมีลูกชายด้วยกันชื่อสินสมุทร ต่อมาพระอภัยมณีกับสินสมุทรก็พากันหนีไปจากนาง นางผีเสื้อสมุทรออกติดตามไปด้วยความรัก แต่แล้วนางก็ต้องตายด้วยเสียงปี่ของพระอภัยมณี ร่างของนางก็กลับกลายเป็นหินอยู่ที่ชายหาดริมทะเลนั่นเอง

เงือก[แก้]

มีปรากฏในเรื่องคือ นางเงือกชายาพระอภัยมณี และพ่อเงือก แม่เงือก

เงือกในเรื่องพระอภัยมณีนั้นเป็นสัตว์ครึ่งคนครึ่งปลา แต่ไม่มีหลักฐานว่าจะมีลักษณะที่แน่นอนอย่างใด นักวิชาการบางท่านออกความเห็นว่าเงือกของสุนทรภู่นั้นได้รับอิทธิพลจากเงือกของทางตะวันตก คือมีกายท่อนบนเป็นมนุษย์ แต่มีท่อนล่างเป็นหางปลา

ประวัติ นางเงือก พระอภัย มณี

เงือกน้ำ ที่มา ภาพจิตรกรรมเรื่อง สุวรรณหงส์ วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

แต่บางท่านก็ออกความเห็นว่า จากลักษณะที่สุนทรภู่อธิบายไว้ เงือกในเรื่องนี้น่าที่จะมีลักษณะเหมือนมนุษย์ทุกประการ และมีขาเหมือนมนุษย์ เพียงแต่มีหางเพิ่มขึ้นมา ซึ่งเงือกที่มีขาเหมือนมนุษย์นี้ เรียกว่า เงือกน้ำ และมียังปรากฏอยู่ในวรรณคดีเรื่องอื่นๆ เช่น ดาราวงศ์ สุวรรณหงส์(สุวรรณหงส์ยนต์) และ โสวัตกลอนสวด อีกด้วย

อ้างอิง[แก้]

  1. สุนทรภู่. พระอภัยมณี เล่ม 1 ตอน พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร. 2544.
  2. สุนทรภู่. พระอภัยมณี เล่ม 1 ตอน นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร. 2544.
  3. สุนทรภู่. พระอภัยมณี เล่ม 1 ตอน พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร. 2544.
  4. สุนทรภู่. พระอภัยมณี เล่ม 2 ตอน พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร. 2544.
  5. สุนทรภู่. พระอภัยมณี เล่ม 1 ตอน ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร. 2544.
  6. สุนทรภู่. พระอภัยมณี เล่ม 2 ตอน ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร. 2544.
  7. สุนทรภู่. พระอภัยมณี เล่ม 1 ตอน พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร. 2544.
  8. สุนทรภู่. พระอภัยมณี เล่ม 1 ตอน พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร. 2544.
  9. สุนทรภู่. พระอภัยมณี เล่ม 2 ตอน มังคลาจับท้าวทศวงศ์และนางสุวรรณมาลี. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร. 2544.
  10. สุนทรภู่. พระอภัยมณี เล่ม 2 ตอน นางสุวรรณมาลีข้ามไปลังกา. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร. 2544.
  11. สุนทรภู่. พระอภัยมณี เล่ม 2 ตอน มังคลาจับท้าวทศวงศ์และนางสุวรรณมาลี. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร. 2544.