หาเกียรติบัตรใส่พอร์ต พยาบาล

พี่มิ้นท์เชื่อว่า มีน้องๆ ที่กำลังเจอปัญหานี้อยู่เยอะทีเดียว คือ อยากสมัครรอบ Portfolio แต่ไม่มีผลงานเลยสักใบ หรือ ถ้ามีก็มีน้อยมากแถมไม่ตรงกับคณะที่อยากเข้าอีก! จะยังสามารถสมัครรับตรงรอบ Portfolio ได้หรือเปล่า ใครที่มีปัญหานี้ มาลองดูแนวทางในการแก้ปัญหากันค่ะ

HOW TO ผลงานน้อย แต่อยากสมัครรอบ PORTFOLIO

ทางออกสำหรับคนไม่มีผลงาน หรือ ผลงานน้อยแต่อยากสมัครรอบ PORTFOLIO

ก่อนจะไปให้คำแนะนำต่างๆ อยากบอกน้องๆ ให้เข้าใจตรงกันก่อนว่า รอบ Portfolio เป็นรอบที่เน้นการโชว์ทักษะหรือความสามารถของเราออกมา (แทนคะแนนสอบ) ดังนั้น อย่ามองว่ารอบนี้เคี่ยว ที่กำหนดคุณสมบัติ กำหนดเนื้อหาพอร์ตฟอลิโอ ไว้โหดมาก บางคนที่รู้ตัวว่าไม่ถนัดเดินสายนี้จริงๆ ก็เก็บแรงไปอ่านหนังสือสอบเพื่อไปรอบถัดไป

และอีก 1 ข้อสำคัญ Portfolio ก็เหมือนตัวแทนของเรา เมื่อคิดจะเริ่มทำพอร์ต อย่าลืมใส่ตัวตนของเราลงไป ซึ่งตัวตนของเรา ก็มาจากกิจกรรม ผลงาน ทัศนคติ นั่นเองค่ะ   ไม่ควรทำส่งๆ แบบขอไปที หรือลอกคนอื่นมาทั้งเล่ม เพราะสุดท้ายแล้ว กรรมการจะไม่เห็นอะไรในนั้น และเราก็จะไม่สามารถเล่ากิจกรรมได้อย่างภาคภูมิใจ เอาล่ะ แต่ถ้าใครมีความตั้งใจจริง ก็ลองนำวิธีการเหล่านี้ไปใช้ดูค่ะ

1. หาโครงการที่ไม่ใช้ Portfolio

นี่ไม่ใช่การหนีปัญหา แต่เป็นการมองหาโอกาสต่างหาก รอบ Portfolio ไม่ได้บังคับใช้พอร์ตฟอลิโอทุกที่ บางมหาวิทยาลัยใช้แค่ GPAX หรือ GPA เท่านั้น ถ้ามหาวิทยาลัยมองว่าผลการเรียน เป็นสิ่งที่พิสูจน์ความสามารถได้ ก็อาจจะใช้แค่ GPAX ในการผ่านเข้าไปเรียนได้ ในขณะที่บางมหาวิทยาลัยก็ใช้วิธีการเขียนเรียงความค่ะ  อยากให้น้องๆ มองตรงนี้เป็นโอกาส เมื่อไม่มีผลงานจริงๆ ก็ลองใช้ความสามารถด้านการเขียน เขียนเรียงความ บอกความตั้งใจที่จะเรียนในคณะนั้นๆ ไม่ต้องลงทุนสักบาทแต่อาจสอบติดก็ได้นะ

2. แปลงกิจกรรมให้เป็นผลงาน (ไม่จำเป็นต้องมีเกียรติบัตร)  

กิจกรรมทุกวันนี้ มีเยอะมากกกกกกก อย่ามองว่า "กิจกรรม" = กีฬาสี ไหว้ครู แห่เทียนพรรษา ฯลฯ อย่าจำกัดอยู่แค่สิ่งที่โรงเรียนบังคับให้ทำ การประกวดต่างๆ ก็เป็นผลงานได้ แม้แต่ไปฝึกงานในโรงพยาบาล ทำจิตอาสา อ่านหนังสือคนตาบอด อาสารับบริจาค ทำช่อง youtube ทุกอย่างที่เราทำ เกิดจากการเรียนรู้และขวนขวายของเราเอง สามารถนำมาเป็นกิจกรรมแสดงทักษะของตัวเองได้  

น้องๆ คงเคยได้ยินมาแล้วว่า รูปถ่ายกิจกรรมสามารถรวมใส่ Portfolio ได้ บางกิจกรรมไม่มีเกียรติบัตรให้ แต่การถ่ายรูปมาเป็นการแสดงว่าเรามีประสบการณ์ มีส่วนร่วมกิจกรรมนั้นจริง รูปถ่ายที่ดี ก็ไม่ใช่ว่าถ่ายรูปชูสองนิ้ว ถ่ายเหม่อเล่นมิวสิคนะคะ ควรเป็นรูปที่เราทำกิจกรรมนั้นๆ (ให้เพื่อนถ่ายให้) หรือ ถ้าไม่มีเราในรูปจริงๆ ก็ใช้รูปผลงานนั้นๆ ก็ได้ค่ะ  

แต่สิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติม คือ การบรรยายใต้ภาพ ใส่ข้อมูลไปสัก 2-3 บรรทัด ว่าเป็นกิจกรรมอะไร เราทำหน้าที่อะไร และได้เรียนรู้หรือประสบการณ์อะไรจากกิจกรรมนั้นๆ เพราะถ้าใส่แต่รูป กรรมการไม่มีวันรู้ว่าทำอะไร แต่ก็ไม่ควรเขียนยาวมาก กรรมการไม่มีเวลาอ่านขนาดนั้นค่ะ แนะนำว่า เขียนเน้นๆ ตรงประเด็นดีกว่า

แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังขอย้ำว่า กิจกรรมเสริมอื่นๆ พวกนี้ เหมาะกับโครงการที่ไม่ได้ระบุผลงานไว้ ถ้าโครงการระบุว่า ขอผลงานด้านวิทยาศาสตร์ แต่เราไปส่งกิจกรรมอาสา ยังไงก็สู้คนมีผลงานด้านวิทยาศาสตร์ไม่ได้ค่ะ

3.เข้าค่าย / Open House  

วิธีที่เด็ก ม.6 ทำมารุ่นต่อรุ่นก็คือการไปค่ายค่ะ บางค่ายก็มีเกียรติบัตรให้ด้วย การเข้าค่ายจะมีข้อดีมาก ถ้าเป็นคณะเดียวกับที่เราสอบติด เพราะแสดงให้เห็นว่าเราอยากเข้าคณะนั้นจริงๆ 

อย่าลืมอธิบายสั้นๆ ว่าได้อะไร หรือ ประทับใจอะไรจากการเข้าค่ายคณะนั้นด้วย เช่น ไปค่ายคณะวิศวฯ ได้เข้าใจแนวทางการประกอบอาชีพมากขึ้น ยิ่งทำให้อยากเป็นวิศวกรให้ได้ เป็นต้น (ประทับใจรุ่นพี่หล่อ ขนมอร่อย แบบนี้ไม่เอาน้า)

4. เดินสายหาเกียรติบัตร

 เดี๋ยวนี้มีหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนหลายที่จัดกิจกรรมและให้เกียรติบัตรยืนยันการเข้าร่วมกิจกรรมด้วย ซึ่งน้องๆ สามารถเข้าร่วมได้ตามความสนใจของตัวเอง เช่น อบรม สัมมนา เวิร์คช้อปต่างๆ วิจัย ฯลฯ เกียรติบัตรอาจจะมาในรูปแบบเกียรติบัตรออนไลน์ ก็ print มาใส่พอร์ตได้ค่ะ 

แนะนำให้ตามข่าวกิจกรรมเลือกทำที่เกี่ยวข้องกับคณะที่ตัวเองเข้า หรือ กิจกรรมด้านวิชาการ เพราะกิจกรรมด้านวิชาการจะมีความเป็นกลาง ต่อให้ไม่ตรงกับคณะมาก แต่เมื่อเป็น "ด้านวิชาการ" ก็พอทดแทนได้ เช่น การอบรม การสอบพรีเทสต่างๆ เป็นต้น

สุดท้ายแล้ว ถ้าเดินสายจนได้เกียรติบัตรเต็มตู้ ก็ไม่ควรใส่ทั้งหมดไว้ในเล่มเดียว บางคนมี 20, 30 ใบ ใส่มาหมด จนไม่รู้ว่าตัวตนจริงๆ เด่นด้านไหน ดังนั้น ก่อนจะใส่ลง Portfolio คัดผลงานสักนิด ให้บ่งบอกตัวตนของเราได้จริงๆ กรรมการจะได้รู้จักเราจริงๆ ค่ะ

Don't ห้ามทำแบบนี้กับ Portfolio ตัวเองเด็ดขาด

  1. ปลอมเกียรติบัตร หากอาจารย์จับได้ หมดโอกาสในคณะนั้นแน่นอน แต่ถ้าจับไม่ได้ ก็ต้องถามตัวเองว่า เรายังภูมิใจอยู่มั้ย?
  2. ลอกผลงานคนอื่น/นำผลงานคนอื่นมาเป็นของตัวเอง นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่เราภูมิใจเช่นกันค่ะ
  3. ใส่เนื้อหาแน่นเอี๊ยด จนแทบไม่มีที่หายใจ เพราะจะทำให้ Portfolio ดูไม่น่าอ่านค่ะ
  4. เน้นความสวยงามมากกว่าเนื้อหา Portfolio ที่สวยก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าสวยแต่รูปจูบไม่หอม ไม่มีอะไรที่อวดกรรมการได้เลย ก็ไม่มีประโยชน์ค่ะ
  5. อย่าสะกดผิด ควรตรวจทานให้ได้สัก 2-3 รอบ คำไหนไม่มั่นใจว่าเขียนถูกหรือเปล่า ให้เปิดพจนานุกรมหรือเว็บไซต์ราชบัณฑิตยสถานเพื่อตรวจสอบคำเหล่านั้น การใช้ภาษาผิดๆ ถูกๆ ทำให้คุณค่าของเราลดลงได้นะคะ
  6. ทำเล่มเดียว ใช้ทุกมหาวิทยาลัยก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ มหาวิทยาลัยมักจะกำหนดรายละเอียดเนื้อหา Portfolio ไว้ ก็ควรทำให้ตรงตามโจทย์ ไม่อย่างนั้นก็เหมือนคนถามว่า กินข้าวหรือยัง? แล้วดันไปตอบว่า เมื่อคืนนอนหลับสบายดี

ก่อนจะสมัครโครงการใดก็ตาม ให้อ่านรายละเอียดให้ครบทุกบรรทัดว่าคณะต้องการผลงานแบบไหน เช่น ถ้าต้องการผลงานที่ได้ชนะเลิศ แล้วเราไม่มี ก็ควรข้ามโครงการนี้ไปเลยค่ะ เพราะโอกาสลุ้นยาก แต่ถ้าไม่ได้ระบุประเภทรางวัลหรือกิจกรรมที่เคยเข้าร่วม ก็สามารถนำเทคนิคต่างๆ ข้างต้นไปประยุกต์ใช้ได้นะคะ

สุดท้ายนี้ พี่มิ้นท์ขอฝากกิจกรรมดีๆ ที่ได้เกียรติบัตรไปประดับ Portfolio ของน้องๆ นั่นก็คือ Dek-D's TCAS Fair และ Dek-D's TCAS on Stage ไม่ว่าจะเดินงานแฟร์ (ฟรี) หรือ เข้าร่วมติว ก็ได้เกียรติบัตรไปเลยง่ายๆ พบกัน 31 ต.ค.63 นี้ ที่ Union Mall 11.00 - 19.00 น. มากันเยอะๆ นะคะ มีทั้งรุ่นพี่ บูธคณะต่างๆ และของแจกฟรีเพียบ!