ความรู้สึก การทําบุญ ตักบาตร

สยามรัฐออนไลน์ 30 มิถุนายน 2564 08:31 น. ภูมิภาค 68990

ความรู้สึก การทําบุญ ตักบาตร

อีกหนึ่งภาพประทับใจ สะท้อนถึงขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย นอกเหนือจากการสืบสานมรดกวัฒนธรรมแล้ว การทำบุญตักบาตรในช่วงเทศกาล หรือแม้แต่การตักบาตรหน้าบ้านยามเช้า ล้วนแล้วแต่เป็นการประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีงาม เพิ่มความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต โดยอานิสงส์ของการใส่บาตรในตอนเช้า กล่าวกันว่ามีมากมายถึง 9 ประการ ดังนี้ ประการที่ 1 การใส่บาตรทุกวัน ได้รับอานิสงส์ 5 ประการ ที่ตามพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ เป็นที่รักของผู้คนทั้งหลาย,เป็นคนดีมีปัญญาย่อมชอบคบค้าสมาคมด้วย, มีชื่อเสียงที่ดีงาม , เป็นผู้ไม่ห่างไกลธรรม และเมื่อตายแล้วย่อมเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์ ประการที่ 2 การใส่บาตรทุกวันทำให้จิตใจเกาะอยู่กับความดี เป็นการฝึกจิตให้คลุกเคล้าอยู่กับกุศล ซึ่งเป็นทางแห่งความเจริญที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรับรองว่า “ผู้ฝึกจิตดีแล้วย่อมนำสุขมาให้” ประการที่ 3 เป็นการลดความตระหนี่ถี่เหนียว บรรเทาความเห็นแก่ตัว สร้างใจให้เป็นสุขและสร้างสังคมให้ร่มเย็น การให้ทานที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ เพื่อกำจัดความตระหนี่ มุ่งสู่ความดีและความเสียสละ ประการที่ 4 เป็นการต่อบุญต่อลาภให้แก่ตนเอง เพราะการใส่บาตรเป็นการเสริมทานบารมีโดยตรง เป็นการสร้างทางแห่งความมั่งคั่งร่ำรวยและความคล่องตัวในโลก

ความรู้สึก การทําบุญ ตักบาตร
ความรู้สึก การทําบุญ ตักบาตร
ประการที่ 5 เพื่อการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บุคคลอันเป็นที่รักที่ล่วงลับไปแล้ว อันเป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ประการที่ 6 เป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของเรา เอาไว้ เพื่อความงดงามและมีเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ของชนชาติ ประการที่ 7 เป็นแบบอย่างการส่งต่อความดีจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อให้ลูกหลานมีแบบอย่างในการทำความดีสืบต่อไป
ความรู้สึก การทําบุญ ตักบาตร
ความรู้สึก การทําบุญ ตักบาตร
ประการที่ 8 เป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ประการที่ 9 การใส่บาตรเป็นการสร้างความปรองดองให้กับชาวพุทธ เป็นการหยุดวิกฤตความศรัทธา เพราะถ้าชาวพุทธทุกบ้านพร้อมเพรียงกันใส่บาตร จะเกิดเป็นพลังแห่งความสามัคคีขึ้น ซึ่งพลังดังกล่าวนี้จะช่วยสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสงบสุข ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ความสามัคคีของหมู่คณะ ย่อมทำให้เกิดสุข”


อานิสงส์ของการตักบาตร “กากวฬิยเศรษฐี”

        ในกรุงราชคฤห์ มีคนเข็ญใจคนหนึ่งชื่อว่า กากวฬิยะ อาศัยอยู่กับภรรยาคู่ทุกข์คู่ยาก อดมื้อกินมื้อ มีอาชีพรับจ้างเพื่อแลกกับอาหารไปวันๆ แต่ทั้งสองเป็นผู้มีจิตใจงดงาม และพอมีบุญเก่าอยู่บ้าง

        วันหนึ่ง พระมหากัสสปเถระออกจากนิโรธสมาบัติ เห็นภรรยาผู้มีจิตใจงดงามของนายกากวฬิยะเข้ามาในญาณทัสสนะอันบริสุทธิ์ จึงออกบิณฑบาตไปโปรด โดยยืนที่หน้าประตูบ้านของกากวฬิยะ เมื่อภรรยาของเขาเห็นพระเถระมาโปรด นางเกิดความเลื่อมใส จึงถวายข้าวยาคูกับนํ้าผักดองที่เตรียมไว้ให้สามีใส่ลงในบาตรของพระเถระจนหมด ฝ่ายกากวฬิยะเห็นภรรยาถวายข้าวยาคูแด่พระเถระจนหมด ก็อนุโมทนาด้วยความปีติเลื่อมใสในพระเถระเช่นกัน

        พระเถระรับแล้ว นำกลับไปวิหาร ท่านได้น้อมถวายบิณฑบาตแด่พระบรมศาสดา พระพุทธองค์ทรงรับแต่พอยังอัตภาพเท่านั้น ข้าวยาคูส่วนที่เหลือก็ทรงให้แจกจ่ายแก่ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป หลังจากนั้น พระเถระทูลถามถึงวิบากกรรมของนายกากวฬิยะ พระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ว่า อีก ๗ วันนับจากนี้เขาจักได้เป็นเศรษฐีประจำเมือง หลังจากมหาทุคตะกากวฬิยะ และภรรยาได้ถวายทานครั้งนั้นแล้ว ต่างระลึกถึงทานกุศลด้วยจิตที่เบิกบานทุกครั้งไป ยิ่งนึกถึงบุญบ่อยๆ ดวงบุญในตัวก็ยิ่งโตขึ้น สว่างไสวขึ้นไปเรื่อยๆ

        วันหนึ่ง พระราชาเสด็จเลียบพระนครทอดพระเนตรเห็นบุรุษนั่งอยู่บนหลาวเพื่อรอการประหารชีวิตอยู่ที่นอกพระนคร บุรุษเห็นพระราชาจึงตะโกนทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพ ก่อนที่ข้าพระองค์จะตาย ขอพระองค์ได้โปรดส่งอาหารที่พระองค์เสวยมาให้ข้าพระองค์ด้วยเถิดพระเจ้าข้า” ด้วยความสงสารนักโทษคนนั้น พระราชาจึงรับปากว่าจะส่งอาหารมาให้ เพื่อให้เขาได้สมปรารถนาก่อนถูกประหารชีวิต

        ตกเย็น พวกเจ้าพนักงานเตรียมพระกระยาหารมาให้พระราชาเสวย พระองค์ทรงระลึกถึงสัญญาที่ให้ไว้กับนักโทษประหาร จึงตรัสว่า “พวกเจ้าจงหาคนที่สามารถนำอาหารนี้ไปส่งให้นักโทษที่อยู่นอกเมืองคนนั้น” เนื่องจากนอกพระนครเต็มไปด้วยอันตราย โดยเฉพาะอมนุษย์ และยักษ์กินคน ถึงแม้ราชบุรุษจะว่าจ้างด้วยทรัพย์ถึงพันหนึ่ง ก็ไม่มีใครกล้าเอาชีวิตไปเสี่ยง เพื่อแลกกับเงินหนึ่งพันกหาปณะ ฝ่ายภรรยาของนายกากวฬิยะอยากได้เงินมาจุนเจือครอบครัว จึงปลอมตัวเป็นชายหนุ่ม รับอาสานำอาหารไปให้นักโทษคนนั้น โดยไม่หวั่นไหวต่อภยันตรายใดๆ ทั้งสิ้น

        ขณะที่นางจะเดินเข้าไปสู่แดนประหารนั้น ยักษ์ชื่อทีฆตาละ ได้ตวาดขู่นางว่า “หยุด เจ้าตกเป็นอาหารของเราแล้ว” นางตอบสวนไปด้วยความองอาจว่า “เราไม่ได้เป็นอาหารของท่าน เราเป็นราชทูตนำอาหารไปให้นักโทษ” ยักษ์เห็นว่าบุรุษผู้นี้เป็นผู้มีใจงดงาม จึงกล่าวว่า “เราจะไม่กินเจ้าก็ได้ หากเจ้าสามารถนำข่าวไปบอกสุมนเทพว่า นางกาฬีธิดาของเจ้าสุมนเทพ ผู้เป็นภริยาของทีฆตาลยักษ์คลอดบุตรเป็นชายแล้ว เราถูกสุมนเทพทำโทษ ไม่ให้เข้าสู่สมาคมยักษ์ หากเจ้าทำให้สุมนเทพยกโทษให้เราได้ เจ้าจะรอดตาย และเราจะยกขุมทรัพย์ ๗ ขุมนี้ให้แก่เจ้า”

        เมื่อเห็นว่าไม่มีทางหลีกเลี่ยง นางจำต้องรับปากโดยพยายามนึกถึงบุญที่ได้ทำไว้กับพระมหากัสสปเถระ และศีลที่รักษาไว้ดีแล้ว ให้มาช่วยปกป้องคุ้มครอง ให้แคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งหลาย เมื่อนางไปถึงก็ได้ป่าวร้องว่า “นางกาฬีธิดาของเจ้าสุมนเทพ คลอดบุตรเป็นชายแล้ว”

        สุมนเทพนั่งอยู่ในสมาคมยักษ์ ได้ยินข่าวดีนี้ รู้สึกดีใจมาก จึงสั่งให้ยักษ์บริวารเรียกนางเข้ามา เมื่อได้สนทนากับนางแล้ว ก็เกิดความประทับใจ นึกเลื่อมใสในความองอาจของนาง จึงกล่าวว่า “ขุมทรัพย์ในปริมณฑลที่ร่มเงาของต้นไม้นี้แผ่ไปถึง เรายกให้เจ้าทั้งหมด” นางได้ตรวจดูขุมทรัพย์ทั้ง ๗ ขุมด้วยความดีใจยิ่งนัก

        หลังจากนางส่งอาหารให้นักโทษประหารแล้ว ก็กลับเข้าไปในพระนคร กราบทูลเรื่องราวที่เกิดขึ้นถวายพระราชา พอรุ่งเช้าพระราชาให้ขนทรัพย์ทั้งหมดเข้ามาในพระนคร ทรงเห็นว่าทรัพย์ทั้งหมดนี้เป็นของนางกับสามี จึงตั้งสามีของนางให้เป็นมหาเศรษฐีประจำพระนครตั้งแต่นั้นมา

        จะเห็นได้ว่า บุญเพียงน้อยนิดอย่าคิดว่าไม่สำคัญ และบาปแม้น้อยนิด จงอย่าคิดทำ เพราะจะกลายเป็นวิบากติดตัวเราไปข้ามชาติ คอยขัดขวางให้เราเสียเวลาในการสร้างความดี ส่วนบุญแม้นิดหน่อยให้ทำเถิด ทำบ่อยๆ ยิ่งถ้าทำมากๆ และทำด้วยจิตที่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ก็จะยิ่งมีอานุภาพในการดึงดูดทรัพย์สมบัติทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ ให้มาใช้สร้างบารมีเหมือนกับท่านกากวฬิยเศรษฐี ที่เมื่อทำบุญแล้ว บุญใหม่ก็ไปเชื่อมกับบุญเก่า ไปดึงดูดทรัพย์มา  ทรัพย์สมบัติก็บังเกิดขึ้นอย่างเป็นอัศจรรย์ สมบัติเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะอยู่กับเราได้ตลอดก็ต่อเมื่อเรามีบุญมากเท่านั้น จึงจะครอบครองได้ ถ้าหมดบุญก็หมดสิทธิ์ สมบัติจะเปลี่ยนมือทันที ดังนั้น ให้หมั่นสั่งสมบุญให้มากๆ ทั้งทาน ศีล และภาวนา

เพราะเหตุใดต้องมีการทำบุญตักบาตร

การตักบาตรจึงเป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติ เพราะเป็นการให้กำลังแก่พระภิกษุสามเณรได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน ประพฤติปฎิบัติธรรมตามพระธรรมวินัย และสั่งสอนประชาชนเป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวรสืบไป ทั้งนี้จะเป็นผลดีแก่ผู้ปฏิบัติด้วยเพราะทำให้เป็นผู้มีใจบุญกุศลและเป็นการส่งเสริมผุ้ทรงคุณธรรม

การทำบุญตักบาตรส่งผลดีต่อตนเองอย่างไร

๑.การใส่บาตรทุกวัน ย่อมได้รับอานิสงส์ ๕ ประการ ที่ตามพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ ๑) เป็นที่รักของผู้คนทั้งหลาย ๒) คนดีมีปัญญาย่อมชอบคบค้าสมาคมด้วย ๓) มีชื่อเสียงที่ดีงาม ๔) เป็นผู้ไม่ห่างไกลธรรม และ ๕) เมื่อตายแล้วย่อมเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์

การทําบุญตักบาตร ทำอย่างไร

การตักบาตร คือประเพณีอย่างหนึ่งที่ชาวพุทธปฏิบัติกันมาแต่สมัยพุทธกาล พระภิกษุจะถือบาตรออกบิณฑบาตเพื่อรับอาหารหรือทานอื่น ๆ ตามหมู่บ้านในเวลาเช้า ผู้คนที่ออกมาตักบาตรจะนำของทำทานต่าง ๆ เช่น ข้าว อาหารแห้ง มาถวายพระ

การทําบุญมีประโยชน์อย่างไร

ทำบุญ คือการทำความดี การทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ การกระทำความดีตามหลักคำสอนในศาสนา ... ซึ่งการทำบุญมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความดี กรรมดี และเพื่อกำจัดความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ได้ออกไปจากใจ ... การทำบุญนำความสุขมาให้ ทำให้จิตใจของเราแบ่งบานไปด้วยบุญ จิตใจให้ผ่องใส บริสุทธิ์ ชีวิตมีความสงบสุข พบเจอแต่สิ่งดีงาม