ปัจจัย ที่ ทำให้ อังกฤษ เป็น มหาอำนาจ

ทฤษฎีสมุทรานุภาพ : ความเป็นมหาอำนาจของเกาะอังกฤษ

และมรดกที่ทิ้งไว้ในดินแดนอาณานิคม

ปัจจัย ที่ ทำให้ อังกฤษ เป็น มหาอำนาจ

ทำไมอังกฤษถึงเป็นชาติมหาอำนาจที่มีบทบาทสำคัญบนเวทีโลก ทั้งที่เป็นแค่เกาะ ?

อังกฤษ เป็นชาติที่มีความสำคัญและยังคงถูกจับตามองจากนานาประเทศ ตลอดจนยังรักษาความเป็นชาติมหาอำนาจเบอร์สำคัญของโลกในปัจจุบันได้อยู่ แม้ว่าอังกฤษจะถูกลดบทบาทลงหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองจบลงก็ตาม และภายเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลงกลับกลายเป็นสหรัฐอเมริกาที่ขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของโลกแทน แต่ความยิ่งใหญ่ของอังกฤษที่เคยสั่งสมมาในอดีตนั้นยังมิได้เลือนหายไปเสียทีเดียว ยังคงมีเรื่องราวมากมายจารึกอยู่หน้าของประวัติศาสตร์โลกและประวัติศาสตร์อังกฤษ ดังคำเปรียบเทียบสุดคลาสสิคที่ว่า ทะเลทรายซาฮารามากด้วยเม็ดทรายฉันใด ประวัติศาสตร์อังกฤษก็มากด้วยเรื่องราวฉันนั้น

อังกฤษเป็นดินแดนส่วนหนึ่งบน เกาะบริเตนใหญ่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปยุโรป และเป็นดินแดนส่วนที่ใหญ่ที่สุดในจำนวน 4 แคว้น คือ อังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ ของสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ

อังกฤษมีอาณาเขตติดต่อกับอีกสองแคว้นที่อยู่บนเกาะบริเตนใหญ่ด้วยกัน คือ เวลส์ทางด้านตะวันตก และสกอตแลนด์ทางด้านเหนือ พรมแดนนอกเหนือจากนี้แล้วจะติดกับทะเลเหนือ ทะเลไอริช มหาสมุทรแอตแลนติก และช่องแคบอังกฤษ เมืองหลวงของอังกฤษคือกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นเมืองหลวงของสหราชอาณาจักรด้วย

เพราะเหตุใด คนทั่วโลกต้องใช้ภาษาอังกฤษ ?

อังกฤษทิ้งมรดกชิ้นสำคัญที่ได้แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของพวกเข้าให้แก่ชาวโลกอย่างหนึ่งซึ่งก็คือ ภาษาอังกฤษนั่น ซึ่งเป็นภาษาที่มีคนพูดเป็นมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก และได้กลายเป็นภาษากลางที่มีส่วนสำคัญช่วยให้โลกทั้งโลกสามารถติดต่อสื่อสารกันได้เฉกเช่นปัจจุบัน คำว่า “อังกฤษ” ในภาษาไทย มีที่มาจากคำอ่านของคำว่า Inggeris ในภาษามลายูที่ยืมมาจาก anglais ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศส

อังกฤษเป็นดินแดนที่มีสมญานามอันไพเราะว่า ดินแดนแห่งพระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน ซึ่งได้สมญานี้จากการล่าอาณานิคมในช่วงจักรวรรดินิยมของอังกฤษนั่นเอง กล่าวคือเมื่อพระอาทิตย์ล่วงลับขอบฟ้าของประเทศหนึ่งก็จะไปโผล่เหนือฝั่งฟ้าของอีกประเทศหนึ่งเสมอ ประโยชน์ของอาณานิคมนั้นมีอย่างมากมาย อาทิ เป็นแหล่งวัตถุดิบหลักของประเทศแม่ และรวมถึงยังเป็นตลาดไปในตัวด้วย อาจใช้ดินแดนอาณานิคมเหล่านั้นเป็นที่ตั้งฐานทัพหรือแม้กระทั่งเกณฑ์ไพร่พลเข้ามาเป็นกองกำลังทหารของตนก็ได้ โดยอาณานิคมของอังกฤษนั้น ได้แก่ ประเทศในเครือจักรภพทั้งหลายทั้งปวง เช่น เกรนาดา ตรินิแดดและโตบาโก นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ศรีลังกา อินเดีย ปากีสถาน มาเลย์เซีย บรูไน สิงคโปร์ แคนาดา บาฮามาส ไนจีเรีย กานา และอีกสารพัดรวมทั้งสหรัฐอเมริกาด้วย ที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

สำหรับคำว่า สหราชอาณาจักร ( United Kingdom) หมายถึง เกาะใหญ่ ( Great -Britain) และแคว้นไอร์แลนด์เหนือ( Northern Island) โดย Great Britain หมายถึงเกาะใหญ่ซึ่งรวมถึงอาณาเขตของ อังกฤษ ( England ), เวลส์ ( Wales) และสก็อตแลนด์ ( Scotland )ดังนั้น คำว่าสหราชอาณาจักร จึงหมายถึงประเทศที่รวมอาณาเขตของ 4 ประเทศเข้าด้วยกันคือ

  1. ประเทศอังกฤษ: เมืองหลวงคือเมือง London และใช้ภาษาอังกฤษ
  2. ประเทศเวลส์ : เมืองหลวงคือเมือง Cardiff และใช้ภาษาอังกฤษ เวลส์
  3. ประเทศสก็อตแลนด์ : เมืองหลวงคือเมือง Edinburgh และใช้ภาษาอังกฤษ กาลิค
  4. ประเทศไอร์แลนด์เหนือ : เมืองหลวงคือเมือง Belfast และใช้ภาษาอังกฤษ ไอริช สหราชอาณาจักรมีเนื้อที่โดยรวมประมาณ 244,046 ตารางกิโลเมตร

หมู่เกาะอังกฤษนั้นประกอบด้วย เกาะน้อยใหญ่ถึงประมาณ 1,098 เกาะ และด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะนั้นเองทำให้อังกฤษมิต้องหวาดกลัวจากการรุกรานของต่างชาติทางบก ทำให้ประเทศมีความมั่นคง และเอื้อต่อการเป็นมหาอำนาจที่มีแสนยานุภาพทางทะเล   ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เมื่อเปรียบเทียบที่ตั้งของเกาะอังกฤษกับประเทศฝรั่งเศสและฮอลแลนด์ ความปลอดภัยของเกาะอังกฤษช่วยให้รัฐบาล ไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับกองทัพบกที่ใหญ่โตซึ่งทำให้เกิดความสิ้นเปลืองลดความมั่งคั่งของประเทศลง

เกาะอังกฤษอยู่ใกล้ทวีปยุโรปในระยะที่จะถูกโจมตีจากข้าศึกได้ แต่ก็ไกลพอที่จะปลอดภัยจากการบุกรุก กองทัพเรืออังกฤษสามารถจะรวมกำลังและทำการป้องกันพร้อมกันได้ หรือทำการปิดกั้นท่าเรือต่าง ๆ ตามขอบทวีปได้ แต่ฝรั่งเศสต้องแยกกำลังทางเรือออกไปปฏิบัติการ ตามชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกและทะเลเมดิเตอร์-

เรเนียน ลักษณะที่ตั้งของหมู่เกาะอังกฤษยังช่วยให้สามารถควบคุมเส้นทางเดินเรือไปยังและจากยุโรปเหนือได้อีกด้วย การขอใช้เกาะสำคัญ ๆและฐานทัพทางยุทธศาสตร์อย่างยิบรอลตาร์ จะทำให้อังกฤษสามารถควบคุมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งมีความสำคัญมาแล้วในประวัติศาสตร์โลกทั้งในด้านการพาณิชย์และการทหารยิ่งกว่าทะเลใด ๆ ขนาดเดียวกัน

การมีอิทธิพลของอังกฤษไม่ได้อยู่ที่กำลังกองทัพเรือที่ยิ่งใหญ่และยุทธศาสตร์ที่เหนือกว่าเท่านั้น หากแต่อังกฤษยังควบคุมท้องทะเล แคบ ๆ อีกด้วย เช่น ช่องแคบอังกฤษ ช่องแคบยิบรอลต้า ซิซีเลียน ดาร์ดาเนลส์ และบอสฟอรัส ซึ่งอาจจะควบคุมได้ง่ายจากชายฝั่งทั้งสองข้าง อังกฤษมีที่ตั้งกำลังทางเรือหลายแห่ง เมื่อประกอบกับกองเรือรบแล้วทำให้สามารถควบคุมทะเลได้เป็นอย่างดี ไม่มีความขัดแย้งใด ๆ การควบคุมน่านน้ำยุโรปได้ก็เท่ากับได้ควบคุมมหาสมุทรทุกแห่งของโลก จะถูกคุกคามบ้างก็แต่เฉพาะจากการมีกำลังอำนาจของประเทศนอกยุโรปเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ตลอดศตวรรษที่ 19 การมีกำลังทางเรือเหนือกว่าใครทำให้เส้นทางเดินเรือหลัก ๆ ของโลกกลายเป็นเส้นทางคมนาคมภายในจักรวรรดิอังกฤษไป แม้ว่าอังกฤษเองจะเป็นแค่เกาะเล็กๆก็ตาม แต่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ถึงกลางศตวรรษที่ 20 ซึ่ง กินเวลาร่วม 250 ปี ซึ่งอังกฤษได้พิสูจน์ว่าตนเป็นชาติที่มีกองทัพเรือที่ยิ่งใหญ่และทรงประสิทธิภาพมากที่สุดกองทัพหนึ่งเท่าที่เคยปรากฏมา

” ประเทศที่เป็นมหาอำนาจต้องเป็นประเทศที่มีกำลังอำนาจคุมท้องทะเลและมหาสมุทร แต่จะไม่มีประเทศใดที่มีแสนยานุภาพทางบกและทางทะเลไปพร้อมๆกันได้” จากแนวคิดนี้เองจะมารถอธิบายผลที่ทำให้ อังกฤษพัฒนาแสนยานุภาพทางทะเลของกองทัพเรืออังกฤษจนเป็นกองทัพเรืออันเกรียงไกรที่สุดในขณะนั้นทำให้อังกฤษสามารถควบคุมจุดยุทธศาสตร์ ที่สำคัญทางทะเลหรือด่านสมุทร จนกลายเป็นเจ้าสมุทรในที่สุด และส่งผลต่อการเป็นประเทศที่มีอาณานิคมมากมายทั่วทุกมุมโลกและกลายเป็นมหาอำนาจชาติสำคัญของโลก

ทฤษฎีสมุทรานุภาพ : หนึ่งในทฤษฎีที่ทรงอิทธิผลต่อโลก

ทฤษฏีสมุทรานุภาพเป็นทฤษฎีของ พล.ร.ท. อัลเฟรด เทเยอร์ มาฮาน ( Rear Admiral Alfred Thayer Mahan: 1840 – 1914) ให้แนวคิดไว้ว่า ประเทศที่เป็นมหาอำนาจต้องเป็นประเทศที่มีกำลังอำนาจคุมท้องทะเลและมหาสมุทร แต่จะไม่มีประเทศใดที่มีแสนยานุภาพทางบกและทางทะเลไปพร้อมๆกันได้ โดยให้ความสำคัญกับ กำลังอำนาจทางเรือ (Maritime Power) ที่ประกอบด้วย กำลังอำนาจทางทะเล (Sea Power) หรือที่เรียกว่า สมุทรานุภาพ และ กำลังอำนาจกำลังรบทางเรือ (Sea Force Power) หรือที่เรียกว่า
นาวิกานุภาพ ที่มีผลต่อแนวความคิดของนักการทหารเรือในปัจจุบัน

มาฮานยังแสดงความเห็นไว้อีกว่า ความเร็ว ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการเป็นเจ้าสมุทรเช่นเดียวกัน แต่ในกรณีนี้จะพูดถึงการพัฒนาเทคโนโลยีและศักยภาพในการเสริมสร้างกองทัพเรือของสหรัฐอเมริกาให้เข้มแข็ง ถือว่าแนวคิดนี้เป็นการส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพของกองทัพเรือ โดยมีการพัฒนาการใช้เครื่องจักรไอน้ำเพื่อจะนำไปเพิ่มความเร็วในการเดินเรือ เพราะชาติได้ที่สามารถแล่นเรือได้เร็วกว่าย่อมจะได้เปรียบชาติที่เชื่องช้า

อีกประเด็นหนึ่งที่มาฮานให้ความสำคัญกับทฤษฎีสมุทรานุภาพ คือ การทำสงครามอาวุธหนักเช่นปืนใหญ่และลูกระเบิดต่างๆที่มีน้ำหนักมากนั้น จะเป็นการยากในการขนส่งลำเลียงอาวุธเหล่านี้ไปตามเส้นทางทางบก ซึ่งในการขนส่งลำเลียงอาวุธเหล่านี้ไปทางเรือ(ทางน้ำ) สามารถทำได้ง่ายและสะดวกมากกว่า

ประเด็นต่อมาเป็น กฎการเคลื่อนที่ข้อที่สามของ เซอร์ ไอแซค นิวตัน (Newton’s Third Law of Motion) ซึ่งอธิบายไว้ว่า ในธรรมชาติเมื่อมีการกระทำ(หรือแรง)ใดๆ ต่อวัตถุอันหนึ่ง จะปรากฏแรงที่มีขนาดเท่ากันแต่มีทิศทางที่ตรงกันข้ามกระทำกลับต่อแรงนั้น หรืออาจกล่าวว่า แรงกริยาเท่ากับแรงปฏิกิริยา (Action = Reaction)

” แรงกิริยา คือ แรงที่กระทำต่อวัตถุ และ ทำให้วัตถุเคลื่อนที่

แรงปฏิกิริยา คือ แรงตอบโต้แรงกิริยา ซึ่งทำให้วัตถุเคลื่อนที่ตรงข้ามกับแรงกิริยาเสมอ”

เมื่อนำมาประยุกต์ใช้กับทฤษฎีของเขา จะสามารถอธิบายได้ว่า การตั้งปืนใหญ่ที่มีขนาดใหญ่ไว้บนบก ฐานยิงปืนใหญ่จะมีความยืดหยุ่นน้อย ลองจินตนาการดูไม่ต้องถึงขนาดเป็นปืนใหญ่ แค่ปืนพกที่มีอานุภาพแรง ยิงออกไปแรงก็จะถีบกลับมาแรงเช่นกันตามกฎของนิวตัน กรณีปืนใหญ่นั้น อานุภาพในการถีบกลับย่อมมีแรงถีบมากกว่าปืนพกมหาศาล อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวปืน (แตกหัก) และเกิดอันตรายต่อฝ่ายผู้ใช้เสียเองก็เป็นได้

แต่สำหรับการตั้งปืนใหญ่ไว้บนเรือให้เรือบรรทุกออกไปรบ เมื่อนำปืนไปติดตั้งอยู่ในเรือฐานที่รองรับปืนจะมีความยืดหยุ่นได้มากกว่าบนบก เพราะมีพื้นน้ำเหมือนเป็นเบาะใหญ่รองรับแรงสะท้อนหรือแรงปฏิกิริยาได้ดีกว่า ส่งผลให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตปืนใหญ่ให้มีอานุภาพรุนแรงได้เต็มศักยภาพ ไม่ต้องกลัวปัญหาว่าถ้าผลิตปืนใหญ่เกินไปจะเกิดปัญหาอย่างที่เคยเป็นมาแน่นอนที่สุดประเด็นสุดท้าย การเคลื่อนทัพโดยกองทัพเรือสามารถทำได้สะดวกรวดเร็ว กว่าการเคลื่อนทัพทางบก และสามารถเข้าบุกทำลายฐานที่มั่นของศัตรูได้อย่างรวดเร็วในกรณีที่สามารถเดินเรือเข้าไปได้

ในปัจจุบันมีการใช้เรือบรรทุกเครื่องบินซึ่งช่วยยืดระยะทำการในการรบทางอากาศโดยการโจมตีพื้นที่ต่างๆที่อยู่ไกลๆได้ ลดปัญหาการที่เครื่องบินไม่สามารถบินไกลๆได้และต้องวกกลับมาเติมน้ำมัน เป็นการยกระดับการโจมตีทางอากาศไปในตัวด้วย

จุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิอังกฤษ

จุดเริ่มต้นของความรุ่งเรืองของกองทัพเรืออังกฤษต้องอ้างถึงนโปเลียนโดยย้อนไปในปี ค.ศ. 1798(พ.ศ. 2341)เมื่อนโปเลียน จักรพรรดิในตำนานได้นำกองทัพฝรั่งเศสบุก อียิปต์ ถึงแม้ในการต่อสู้ทางบก กองทัพของนโปเลียนจะมีชัย แต่ในการสู้รบทางเรือ กองทัพของนโปเลียนถูกกองทัพเรืออังกฤษ ภายใต้การนำของ Lord Nelson สอนเชิงจนแพ้ราบคาบ เมื่อแพ้สงครามนโปเลียนได้เดินทาง กลับฝรั่งเศส แต่ประชาชนฝรั่งเศสจดจำนโปเลียนในฐานะผู้พิชิตอิตาลีดียิ่งกว่าผู้พ่ายแพ้สงครามที่อียิปต์

ในปี ค.ศ. 1763 ( พ.ศ.2306 ) นโปเลียนได้ทำ สัญญาสงบศึกกับอังกฤษเพื่อให้ทหารในกองทัพได้พักผ่อนหลังจาก ที่ได้ทำสงคราม 7 ปีกับอังกฤษ ทำให้อังกฤษรักษาอาณานิคมทั้งหมดไว้ได้และกลายเป็นชาติมหาอำนาจสำคัญ หลังจากตั้งอาณานิคมแรกที่เวอร์จิเนียในอเมริกาในปี ค.ศ. 1607 ( พ.ศ.2150 ) จักรวรรดิอังกฤษก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในปี ค.ศ.1620 ( พ.ศ.2163 ) พวกเพียวริตันจากอังกฤษตั้งถิ่นฐานที่ แมสซาชูเซตซ์ (Massachusetts) มีการตั้งถิ่นฐานอีกหลายแห่งในช่วงศตวรรษนี้ เมื่อถึงปี ค.ศ. 1700 ( พ.ศ.2243 ) ชุมชนส่วนใหญ่ก็อยู่ภายใต้การปกครองของข้าหลวงอังกฤษและรวมกันเป็นจักรวรรดิแอตแลนติกของอังกฤษขน สัตว์ ข้าว ผ้าไหม ยาสูบและน้ำตาลเป็นชนวนให้อังกฤษรบกับดัทช์และฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 17 อังกฤษยืดดินแดนส่วนใหญ่ในแอฟริกาตะวันตก เกาะนิวฟาวด์แลนด์ โนวาสโกเชีย และหมู่เกาะคาริบเบียนบางส่วนได้

ในปี ค.ศ.1760 ( พ.ศ.2303 ) นายพลเจมส์ วูล์ฟ สามารถยืดควิเบกอันเป็นการสิ้นสุดอำนาจของฝรั่งเศสในแคนาดา โรเบิร์ต ไคลฟ ทำศึกชนะชาวอินเดียและฝรั่งเศสได้อนุทวีปอินเดีย บริษัทอีสต์อินเดียจึงกุมอำนาจการค้ากับอาณานิคมแต่ผู้เดียว ทำให้อังกฤษเป็นผู้ชนะอย่างแท้จริง

ต่อมาในปี ค.ศ.1805 พ.ศ. 2348 (พ.ศ. 2348 ) ภายหลังจากทำสัญญาสงบศึกกับอังกฤษในสงคราม 7 ปี ได้ 42 ปี (ค.ศ. 1763 )สงครามกับอังกฤษก็ได้เกิดขึ้นอีก เพราะนโปเลียนคิดจะยึดเกาะอังกฤษ ถึงแม้สงครามทางบกจะชนะแต่ในการสู้รบทางเรือของฝรั่งเศสก็ยังคงแพ้กองทัพเรืออังกฤษอยู่นั่นเอง และเมื่อนโปเลียนแพ้สงครามเรือที่ Trafalgar อย่างราบคาบ ( ปัจจุบันมีจตุรัสทราฟัลการ์ที่โด่งดั่งมากในอังกฤษสร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ Lord Nelson ) ภายหลังจากสงครามครั้งนี้อังกฤษก็กลายเป็นเจ้าสมุทรอย่างไร้ชาติใด เทียมทานตั้งแต่นั้นมาเจริญรอยตามรุ่นพี่อย่างสเปนและโปรตุเกส


การที่อังกฤษสามารถเป็นมหาอำนาจทางทะเลได้ สามารถอธิบายได้ด้วย ทฤษฏีมุทรานุภาพได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ จากที่ว่า ประเทศที่เป็นมหาอำนาจต้องเป็นประเทศที่มีกำลังอำนาจคุมท้องทะเลและมหาสมุทร แต่จะไม่มีประเทศใดที่มีแสนยานุภาพทางบกและทางทะเลไปพร้อมๆกันได้จากกรณีนี้จะเห็นว่า กองทัพบกของอังกฤษแม้จะไม่แข็งแกร่ง แต่กลับมีกองทัพเรือที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรแม้แต่ กองทัพเรือของนโปเลียน จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ยังต้องแพ้พ่ายกองทัพเรือของอังกฤษ เปิดตำนานความเป็นเจ้าสมุทรแต่เพียงผู้เดียวของอังกฤษอย่างแท้จริง


จากการขยายแสนยานุภาพทางทะเลของอังกฤษ การมีกองทัพเรือที่แข็งแกร่ง ทำให้อังกฤษสามารถยึดครองบริเวณต่างๆ ได้เกือบค่อนโลกอาทิ แอฟริกา เอเชีย อินเดีย ดินแดนบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก นับรวมถึงอาณานิคมโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร (British Overseas Territories) ซึ่งก็คือคือดินแดน 14 ดินแดนที่อยู่ภายใต้อธิปไตยของสหราชอาณาจักร แต่ไม่ได้นับเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร อันได้แก่แองกวิลลา, เบอร์มิวดา, บริติชแอนตาร์กติกเทร์ริทอรี, บริติชอินเดียนโอเชียนเทร์ริทอรี หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน, หมู่เกาะเคย์แมน,หมู่เกาะฟอล์กแลนด์, ยิบรอลตาร์, มอนต์เซอร์รัตหมู่เกาะพิตแคร์น,เซนต์เฮเลนา, เกาะเซาท์จอร์เจียและหมู่เกาะเซาท์แซนด์วิช,อโกรทีรีและเดเคเรีย และสุดท้ายคือหมู่เกาะเติกส์และหมู่เกาะเคคอส เบ็ดเสร็จรวมทั้งหมดกินพื้นหนึ่งในสี่ของพื้นที่ทั้งโลกเลยทีเดียว นับเป็นช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ที่สุดของอังกฤษหรือจะเรียกว่าจักรวรรดิอังกฤษก็ไม่ผิดนัก
แต่ไม่มีอาณาจักรใดจะยิ่งใหญ่เกรียงไกรได้ตลอดไป คำกล่าวนี้รวมถึงอังกฤษด้วย ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง แม้ว่าอังกฤษจะถือได้ว่าเป็นชาติที่ชนะก็ตาม แต่ด้วยความบอบช้ำจากสงครามของอังกฤษและหลายชาติในยุโรป ทำให้ขั้วอำนาจเปลี่ยนไปสู่การก้าวเข้ามาเป็นมหาอำนาจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตในที่สุด
ในขณะเดียวกันกลุ่มต่อต้านการเป็นอาณานิคมก็ได้ก่อตัวขึ้นต่อต้านการเป็นอาณานิคมของเหล่าชาติตะวันตก และในที่สุดต่างพากันประกาศเป็นเอกราช โดยที่อังกฤษเองก็ได้แสดงท่าทีว่าอังกฤษต้องการที่จะให้เอกราชแก่ดินแดนเหล่านี้อยู่แล้วถ้าดินแดนเหล่านี้สามารถปกครองตนเองได้ เป็นการปิดฉากความรุ่งโรจน์อันยาวนานของจักรวรรดิอังกฤษและกองทัพเรืออันเกรียงไกรของพวกเขา แต่เหตุการณ์ที่ถือว่าเป็นจุดสิ้นสุดแห่งความเป็นจักรวรรดิจริงๆคือ พิธีการมอบคืนเกาะฮ่องกงให้แก่จีนเมื่อปี ค.ศ. 1997 (อังกฤษขอเช่าจีนเป็นระยะเวลา 99 ปี)

ดินแดนอาณานิคมเหล่านี้มีส่วนสำคัญมากในการนำแนวความคิดและทักษะต่างๆของอังกฤษไปแพร่ขยายทั่วดินแดนอาณานิคม มรดกของอังกฤษที่ได้ทิ้งไว้ให้อาณานิคมนั้นมีมากมายและมีความสำคัญมาก อาทิ

  • การวางรากฐานในการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีศักยภาพมาก ยกตัวอย่างเช่น ประชาธิปไตยในอินเดียซึ่งได้รับการกล่าวขานว่าอินเดียเป็นดินแดน
    ประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก
  • ระบบสภาแบบอังกฤษ (The English Parliamentary system)
  • ระบบศาล ระบบกฎหมาย แบบจารีตประเพณี
  • ศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ (มาจากการเข้ามาเผยแพร่ศาสนาของเหล่ามิชชันนารีในดินแดนอาณานิคม)
  • ประเพณีและวิถีชีวิต ตลอดจนกิจวัตรต่างๆของชาวอังกฤษที่เหล่าชาติอาณานิคมรับไปใช้ปฏิบัติกันในการดำรงชีวิต เช่นการจิบชา หรือการละเล่นต่างๆ เช่น คริกเก็ต รักบี้ หรือ เทนนิส (ของชาวสก็อต)
  • รวมถึงสิ่งเล็กน้อยๆ เช่นการขับรถชิดซ้าย ( ที่มาของการขับรถชิดซ้ายเนื่องมาจาก ในสังคมโบราณ มีการต่อสู้รบราฆ่าฟัน เพราะว่าผู้คนส่วนมากถนัดขวา นักดาบเวลาเดินทางไปไหนชอบอยู่ในตำแหน่งที่ชิดซ้าย เพื่อที่ว่าฝ่ายตรงกันข้ามจะได้เข้ามาทางด้านขวา เปิดโอกาสให้นักดาบสามารถใช้อาวุธได้ถนัดกว่าในขณะที่มือซ้ายต้องถือฝักดาบ ยิ่งกว่านั้นยังลดโอกาสในการที่ฝักดาบที่ถือด้วยมือซ้ายไปกระทบกับคนอื่น นอกจากนี้ คนที่ถนัดขวาง่ายและสะดวกที่จะปีนขึ้นม้าจากด้านซ้ายของม้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าพกดาบซึ่งส่วนใหญ่จะคาดอยู่บนเอวทางด้านซ้าย และการขี้นหรือลงม้าจากด้านซ้ายของม้านั้นขึ้นหรือลงจากริมถนนจะปลอดภัยกว่า ที่จะขึ้นลงจากกลางถนน ดังนั้นถ้าขึ้นลงม้าจากด้านซ้าย ก็ควรจะขี่ม้าชิดซ้ายของถนน) แต่ภายหลังประเทศอาณานิคมเหล่านี้ต้องการตัดขาด ไม่ต้องการเชื่อมโยงกับอิทธิพลของอังกฤษ จึงพร้อมใจกันเปลี่ยนการเดินทางเป็นแบบชิดขวากันเสีย ทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังคงมีจำนวนประเทศในโลกที่ขับรถชิดซ้ายแบบอังกฤษคิดเป็นหนึ่งในสี่ของจำนวนประเทศต่างๆในโลกซึ่งประเทศเหล่านี้แต่เดิมเคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษแทบทั้งสิ้น

นอกจากนี้อังกฤษก็ยังได้บำรุงรักษาอาณานิคมเหล่านั้น เช่น สร้างถนนหนทาง สร้างทางรถไฟให้ความรู้และสวัสดิการทางการแพทย์ ให้การศึกษา นำเอาวิธีการทำไร่สวนขนาดใหญ่เข้ามา รวมถึงให้ความรู้ด้านการปกครองแก่ประชาชนในอาณานิคมด้วย

กล่าวโดยสรุปแล้ว ผลกระทบจากการตกเป็นดินแดนอาณานิคมยังคงพบได้อยู่ในดินแดน
อาณานิคมนั้นเอง แม้ว่าดินแดนเหล่านี้ได้รับเอกราชจากอังกฤษแล้ว โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจสรุปได้ดังนี้

1. ) ดินแดนอาณานิคมได้นำเอาระบบการเมือง และการปกครองที่ใช้กันอยู่ในอังกฤษและได้นำไปใช้ในดินแดนอาณานิคม เช่น การมีรัฐบาลเป็นผู้บริหารกิจการของรัฐ การมีรัฐสภา ซึ่งอาณานิคมส่วนใหญ่จะใช้ระบบการปกครองแบบเดียวกับอังกฤษ ยกเว้นบางประเทศเช่น มาเลเซียใช้รูปแบบการมีกษัตริย์จากการเลือกตั้งเป็นประมุข

2. ) เศรษฐกิจในดินแดนอาณานิคมหลายแห่งเปลี่ยนไป เพราะ อังกฤษได้นำพืชชนิดใหม่ๆเข้ามา

นำเอาวิธีการเพาะปลูกแบบใหม่ๆมาใช้ เช่น การเลี้ยงสัตว์แบบปศุสัตว์ การผลิตเพื่อการค้า
3. ) ดินแดนอาณานิคมได้นำเอาวัฒนธรรมอารยธรรมแบบตะวันตกมากมายหลายอย่างจากอังกฤษไปใช้ เช่น ภาษา การศึกษา กฎหมาย ความเป็นอยู่ ระบบการถือครองที่ดิน แม้ว่าดินแดนเหล่านี้จะได้รับเอกราชจากอังกฤษแล้วแต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังคงได้รับการยอมรับปฏิบัติกันต่อมา เช่น ชาวอินเดียใช้ภาษาอังกฤษคู่กับภาษาฮินดูเป็นภาษาราชการ การที่พม่ามีมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง (
University of Yangon) ซึ่งอังกฤษสร้างให้

สิ่งต่างๆทีอังกฤษทิ้งไว้นี้นอกจะเป็นประโยชน์ต่อชาติต่างๆในการนำไปใช้แล้ว มองอีกมุมหนึ่งนั้นจะเห็นได้ว่าเป็นการตราความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิที่จะไม่เลือนหายไปเวลาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษ ที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่ากลายเป็นภาษาที่เป็นภาษาหลักหรือภาษากลางที่สำคัญของโลก

ทั้งหมดทั้งปวงที่อังกฤษสามารถก้าวขึ้นมายืนในแถวหน้าบนเวทีโลกได้ นั้นก็เป็นเพราะการที่อังกฤษมีภูมิประเทศเป็นเกาะทำให้ปลอดภัยจากการรุกรานจากชาติอื่นๆ ผนวกกับการขยายแสนยานุภาพทางทะเล โดย การมีกองทัพเรือที่แข็งแกร่งจนกลายเป็นเจ้าสมุทรสามารถควบคุมจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญทางทะเลหรือด่านสมุทร ทำให้อังกฤษสามารถยึดครองดินแดนกินบริเวณถึงหนึ่งในสี่ของโลก ตลอดจนมีอาณานิคมมากมายจนได้รับสมญานามว่า เป็นดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน ตลอดจนทิ้งมรดกที่แสดงให้เห็นถึงว่ารุ่งโรจน์ของอาณาจักรไว้ต่างๆมากมายดังเช่นที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งสามารถอธิบายนโยบายที่อังกฤษพัฒนาศักยภาพทางกองทัพเรือนี้ได้ด้วย

ทฤษฎีสมุทรานุภาพของมาฮาน นั้นส่งผลต่อโลกเป็นอย่างมาก ไม่ได้แค่เฉพาะสามารถอธิบายความเป็นมหาอำนาจของอังกฤษว่ามาจากการดำเนินนโยบายพัฒนาศักยภาพของกองทัพเรือจนกลายเป็นจักรวรรดิอันเกรียงไกรและได้ทิ้งมรดกต่างๆไว้ให้แก่เหล่าดินแดนอาณานิคมและชาติที่นำมรดกเหล่านี้ไปใช้ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่แนวความคิดทฤษฎีสมุทรานุภาพของมาฮานยังได้รับความเชื่อถือจากเหล่าชาติมหาอำนาจต่างๆ ทั้งจากสหรัฐอเมริกาซึ่งมีผลอย่างมากในการออกนโยบายของสหรัฐ หรือเยอรมันในสมัยของพระเจ้าไกเซอร์ วิลเฮล์ม ที่ 2 (Wilhelm II หรือ Friedrich Wilhelm Albert Viktor von Preußen ) จักรพรรดิพระองค์สุดท้ายแห่งจักรวรรดิเยอรมัน
การทำสงครามของญี่ปุ่นด้วยยุทธวิธีการโจมตีสายฟ้าแลบ ตลอดจนเกิดเป็นการสั่งสมขุมกำลังทางทะเล ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่งผลต่อการเกิดยุทธนาวีที่สำคัญทั่วโลก

จะเห็น ได้ว่าทฤษฏีและแนวคิดของมาฮานเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในดำเนินนโยบาย เพื่อความเป็นมหาอำนาจซึ่งชาติต่างๆใฝ่ฝันอยากที่จะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผลต่อกองทัพเรือและความเชื่อมั่นของผู้นำชาติมหาอำนาจ ทั่วโลกที่ต่างนำเอาแนวคิดทฤษฎีของเขาไปประยุกต์ใช้รวมทั้งยังเป็นเครื่อง มือในการวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกตามหลักภูมิรัฐศาสตร์ได้ดีอีก ด้วย