ตัวอย่าง โครงการ สื่อออนไลน์

โครงการพัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังสื่อร้าย ขยายสื่อดี และสร้างความฉลาดในการใช้สื่อดิจิทัล ให้กับเด็ก เยาวชน และองค์กรทำงานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว (ปี พ.ศ. 2560 - พ.ศ. 2561)

ตัวอย่าง โครงการ สื่อออนไลน์

1.     ความเป็นมา หลักการและเหตุผล ความสำคัญของปัญหา

จากความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต และการหลอมรวมสื่อ (Media Convergence) ทำให้เกิดการติดต่อสื่อสารแบบรวดเร็ว ทุกที่ทุกเวลา ไร้พรมแดน ชีวิตเราล้อมรวมด้วยข้อมูลสารสนเทศจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลเข้าหาตัวจากทุกทิศทาง เราดำเนินชีวิตทั้งในโลกจริงและโลกเสมือน หากไม่สามารถปรับตัวหรือรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างฉลาดรู้เท่าทันแล้วก็อาจขาดสมดุลในชีวิตและประสบปัญหาได้

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปัญหาการใช้สื่อดิจิทัลในบ้านเราทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงสูงในการใช้สื่อออนไลน์ ได้แก่ การเข้าถึงเนื้อหาที่ผิดกฎหมายหรือเป็นอันตราย เช่น สื่อลามกอนาจาร การพนัน และความรุนแรงต่างๆ การติดต่อพูดคุยและนัดพบกับเพื่อนออนไลน์อาจทำให้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์หรือการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ การเสพติดเกมและอินเทอร์เน็ตทำให้เกิดผลกระทบต่อการเรียน สังคม และสุขภาพ การเข้าถึงเนื้อหาที่เป็นอันตรายและขาดวิจารณญาณในการเสพสื่อทำให้หลงเชื่อหรือเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆ เช่น การเล่นพนัน เสพยา ใช้ความรุนแรง บริโภคนิยม การส่งต่อหรือแชร์เนื้อหาข้อมูลที่เป็นเท็จหรือผิดกฎหมายหรือขัดต่อศีลธรรมจริยธรรมก็เท่ากับกระทำผิดกฎหมายและส่งผลกระทบด้านลบต่อสังคมไปด้วย ที่แย่ไปกว่านั้นคือการที่เด็กและเยาวชนลุกขึ้นมาเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิตและเผยแพร่เนื้อหาข้อมูลที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมายเสียเอง เช่น การถ่ายภาพ/คลิปวิดีโอ/ถ่ายทอดสดภาพโป๊เปลือยของตนเอง (self generated content) การกลั่นแกล้งเพื่อนทางออนไลน์ (cyber bullying) การด่าทอหรือชกต่อยตบตีแล้วโพสต์ประจานกันทางอินเทอร์เน็ต การตัดต่อภาพ การละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นต้น

ที่ผ่านมามีความพยายามในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้สื่อดิจิทัลในสังคมไทยมาพอสมควร โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมทำงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการปิดบล็อกเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมาย/ไม่เหมาะสมต่างๆ รวมถึงการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ภายใต้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขับเคลื่อนงานสร้างการรู้เท่าทันสื่อในสังคมไทย ซึ่งทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการในการผลักดันให้เรื่องการรู้เท่าทันสื่อเข้าไปอยู่ในหลักสูตรการศึกษาทุกระดับของประเทศ กระทรวงวัฒนธรรมมีพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และจัดตั้งคณะกรรมการกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดระเบียบร้านเกมและอินเทอร์เน็ต เผยแพร่โปรแกรมป้องกันเด็กติดเกมชื่อ เกมเมอร์การ์ด กระทรวงสาธารณสุขจัดทำคำแนะนำสำหรับประชาชนเรื่องการเล่นเกมคอมพิวเตอร์และการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กและวัยรุ่น จัดค่ายบำบัดเด็กติดเกมและจัดทำสารคดีเผยแพร่ทางสื่อโทรทัศน์ ทั้งมีการพัฒนาหลักสูตรอบรมผู้ปกครองเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กติดเกม แบบคัดกรองเด็กติดเกมที่พ่อแม่หรือครูอาจารย์สามารถนำไปใช้ดูแลเด็กได้ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติมีการขับเคลื่อนการดำเนินงานส่งเสริมและจัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในการใช้งานไอทีของเด็กและเยาวชน ส่งเสริมงานสร้างการรู้เท่าทันสื่อ และเชื่อมประสานการทำงานคุ้มครองเด็กในการใช้สื่อออนไลน์ร่วมกับหลายๆ ภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ยังมีการบูรณาการทำงานร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ที่มีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นฝ่ายเลขาฯ ซึ่งได้มีการพัฒนายุทธศาสตร์ส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ เพื่อขับเคลื่อนงานดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม

                อย่างไรก็ดี ความพยายามต่างๆ ที่ผ่านมาแม้จะมีผลเป็นรูปธรรมอยู่บ้างแต่ก็ยังไม่เท่าทันกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยีและการขยายตัวของกลุ่มผู้ใช้สื่อดิจิทัลที่ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความตระหนักในการใช้งานอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ การระบาดของเนื้อหาผิดกฎหมาย/เป็นอันตรายบนอินเทอร์เน็ตเนื่องจากผู้ใช้ทุกคนเป็นผู้นำเข้าและแพร่กระจายเนื้อหาได้เองโดยปราศจากหน่วยงานตรวจสอบกลั่นกรอง หย่อนยานในจริยธรรมหรือความตระหนักในความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ผลิตเผยแพร่เนื้อหาทั้งที่เป็นปัจเจกบุคคลและสื่อมวลชนตลอดจนองค์กรสื่อ การนำเข้าเนื้อหาจากต่างประเทศซึ่งบางครั้งผิดกฎหมาย ขัดต่อจริยธรรมศีลธรรมอันดี แนวคิด/ค่านิยมที่อาจไม่เหมาะกับบริบทของสังคมไทย หน่วยงานเฝ้าระวัง รับแจ้ง และเตือนภัย ก็ยังมีอยู่ค่อนข้างจำกัด ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การขาดแคลนเนื้อหาดีๆ ที่เป็นภาษาไทยที่เหมาะสมกับคนไทยที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้และช่วยพัฒนายกระดับจิตใจ ขาดความตระหนักร่วมในการใช้และสร้างพื้นที่บนโลกออนไลน์ให้เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับการเรียนรู้และสร้างประโยชน์สาธารณะ

                มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาสังคมที่มีภารกิจหลักคือการให้ความรู้และสร้างภูมิคุ้มกันในการใช้สื่อออนไลน์อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ในสังคมไทยมามากกว่า 14 ปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546) ทั้งปัจจุบันยังทำงานด้านการเฝ้าระวังสื่อออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย/เป็นอันตรายร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติและฮอตไลน์ต่อต้านการแสวงหาประโยชน์ทางเพศต่อเด็กในโลกออนไลน์ (INHOPE – www.inhope.org) มามากกว่า 5 ปี มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทยยังเป็นสมาชิกของเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทยซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 40 องค์กรที่ทำงานปกป้องคุ้มครองเด็กในหลายประเด็นรวมถึงการส่งเสริมสิทธิเด็กทั้งในโลกจริงและโลกออนไลน์ เห็นว่าสังคมไทยยังต้องการพลังร่วมในการทำงานส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์เพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์ปัญหาที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นและมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น การดึงพลังจากแกนนำเด็ก เยาวชน และองค์กรที่ทำงานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ซึ่งทำงานป้องกันแก้ไขปัญหาสังคมอยู่แล้วและกระจายตัวกันอยู่ในทุกพื้นที่ ให้มาช่วยกันทำงานเฝ้าระวังสื่อร้าย ขยายสื่อดี และสร้างภูมิคุ้มกัน จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่จะช่วยขยายเครือข่ายในการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนไทยในการใช้สื่อออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของ โครงการพัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังสื่อร้าย ขยายสื่อดี และสร้างความฉลาดในการใช้สื่อดิจิทัล ให้กับแกนนำเด็ก เยาวชน และคนทำงานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว โดยจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย มูลนิธิสยามแคร์ และ เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นองค์กรทำงานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว 42 แห่ง โดย มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทยจะเป็นองค์กรหลักในการรับทุน ออกแบบเนื้อหาหลักสูตร จัดกระบวนการเรียนรู้ ผลิตสื่อการเรียนรู้/สื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และจัดกิจกรรมต่างๆ ตามโครงการฯ และบริหารโครงการ มูลนิธิสยามแคร์ จะเป็นองค์กรร่วมในการประสานงานเพื่อจัดกิจกรรมต่างๆ ตามโครงการฯ และเป็นวิทยากรร่วมในการฝึกอบรม/สัมมนา และเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย จะช่วยประสานงานและคัดเลือกองค์กรและบุคลากรแกนนำจากองค์กรสมาชิกในการเข้าร่วมกิจกรรมตามโครงการฯ และหนุนเสริมการนำความรู้และสื่อการเรียนรู้/สื่อดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากโครงการไปทำงานต่อยอดขยายผลกับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่การทำงานต่างๆ ร่วมกับสมาชิกที่มีอยู่ทั่วประเทศ

 2. วัตถุประสงค์โครงการ

1. เพื่อพัฒนาแกนนำและเครือข่ายคนทำงานให้ความรู้และสร้างความตระหนักแก่ประชาชน ในเรื่องของภัยออนไลน์เพื่อให้ฉลาดรู้ทันสามารถป้องกันตนเองได้ สื่อร้ายที่ผิดกฎหมาย/เป็นอันตรายจะต้องช่วยกันเฝ้าระวังและแจ้งให้มีการจัดการควบคุม สื่อดีที่ต้องช่วยกันสร้าง เสริม ช่วยกันเผยแพร่บอกต่อ และการสร้างภูมิคุ้มกันในการใช้สื่อและเครื่องมือดิจิทัลของประชาชนให้เป็นไปอย่างฉลาดเหมาะสม

2.   เพื่อพัฒนาระบบและกลไกส่งเสริมให้เกิดการทำงานเชิงบูรณาการ ระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม มีการเชื่อมประสานและมีทิศทางร่วมกันในการขับเคลื่อนงานเฝ้าระวังและขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดี และสร้างภูมิคุ้มกันในการใช้สื่อดิจิทัลในสังคมไทย

3.  เพื่อขยายเครือข่ายเฝ้าระวังและแจ้งสื่อร้ายออนไลน์ที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง รวมถึงพัฒนาระบบและกลไกหลังรับแจ้งให้ชัดเจน สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เห็นผล

4.    เพื่อพัฒนานักสร้างสื่อสร้างสรรค์ ที่มีแนวคิดและหัวใจในการสร้างสื่อดี ส่งเสริมการพัฒนาสื่อดี สื่อเพื่อพัฒนาตนเอง ชุมชน สังคม สื่อเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในสังคมไทย

5.    เพื่อพัฒนาหลักสูตรรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลและการวัดความฉลาดทางดิจิทัล สื่อการเรียนรู้และแหล่งเรียนรู้ในเรื่องนี้ เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการทำงานสร้างภูมิคุ้มกันในการใช้สื่อดิจิทัลให้กับประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน และครอบครัว

6.    เพื่อสร้างความตระหนักสาธารณะเรื่องความฉลาดรู้เท่าทันสื่อและการใช้สื่อดิจิทัล ให้กับเด็กเยาวชน และครอบครัว ผู้ใช้สื่อ ผู้ผลิตสื่อ และผู้กำกับดูแลสื่อ/องค์กรสื่อ เพื่อร่วมกันสร้างพื้นที่บนโลกออนไลน์ให้เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับการเรียนรู้และก่อประโยชน์สาธารณะ

7.    เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์งานและผลงานของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้สังคมได้รับทราบและมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสนับสนุนงานของกองทุนฯ

3.ระยะเวลาการดำเนินงาน โครงการ

   -  กันยายน 2560 - กันยายน 2561