ตัวอย่าง โครงการ สื่อสร้างสรรค์

สมัยผู้เขียนศึกษาระดับปริญญาตรี (ผ่านมานานมากแล้ว) มีวิชาบังคับวิชาหนึ่งที่เกี่ยวกับการทำวิจัย ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานให้สำหรับนักศึกษาที่วางแผนศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น หรืออย่างน้อยให้มีความเข้าใจถึงขั้นตอน กระบวนการทำวิจัย ในสมัยนั้นแค่ตั้งชื่อโครงการวิจัยอย่างเดียวก็แก้ไขไปหลายรอบ จนเกือบถอดใจ บวกกับไม่เข้าใจถึงเหตุผลว่าการลงรายละเอียดแต่ละขั้นตอนขนาดนี้มีความจำเป็นอย่างไร เพราะในตอนนั้นผู้เขียนไม่เห็นอนาคตตัวเองว่าจะต้องได้มาเกี่ยวข้องกับการเขียนข้อเสนอโครงการ หรือการทำวิจัย แต่การได้รู้และเข้าใจขั้นตอนเหล่านี้ไม่เพียงเป็นรากฐานสำคัญ ในการอ่านรายงานวิจัยหรือบทความวิจัยแล้ว ยังเป็นพื้นฐานสำคัญในการเขียนข้อเสนอโครงการเพื่อขอการสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยงานผู้ให้ทุนต่าง ๆ อีกด้วย

หน่วยงานผู้ให้ทุนสนับสนุนต่างมีข้อกำหนด รายละเอียดในข้อเสนอโครงการที่แตกต่างกันไป หลัก ๆ ที่ไม่ต่างกันมาก เช่น ชื่อโครงการ ความเป็นมา ความสำคัญของปัญหา วัตถุประสงค์ และแผนการดำเนินการ เป็นต้น นั่นเป็นเพราะผู้ให้ทุนต้องเห็นภาพและเข้าใจว่า งานวิจัยที่ผู้ขอทุนต้องการทำนั้นเกี่ยวกับอะไร เพื่ออะไร ดำเนินการอย่างไร วัดผลอย่างไร และที่สำคัญคือสอดคล้องกับเงื่อนไขและกลุ่มเป้าหมายของผู้ให้ทุนหรือไม่ สิ่งสำคัญคือผู้ขอรับทุนควรทำความเข้าใจข้อกำหนด เงื่อนไข เป้าหมาย และ/หรือความต้องการของผู้ให้ทุนในแต่ละปีให้กระจ่าง ถ่องแท้ ช่องทางหนึ่งที่ทำได้คือการเข้าร่วมเวทีหรืองานประกาศหรือชี้แจงการให้ทุนสนับสนุนของหน่วยงานให้ทุนต่าง ๆ เมื่อมีโอกาส

ผู้เขียนได้รับโอกาสจากผู้อำนวนการฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ STKS ให้เข้าร่วมฟัง “เวทีพัฒนาศักยภาพเครือข่ายผู้รับทุนกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (จากนี้ไปเขียนย่อว่า “กองทุนฯ”) หรือ Thai Media Fund ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีที่ผู้เขียนได้รับจากการเข้าร่วมงานนี้จนอยากถ่ายทอด เล่าและส่งต่อให้ผู้อ่านต่อไป เรื่องที่ผู้เขียนจะแบ่งปันต่อไปนี้ ผู้เขียนขอขอบพระคุณ ผศ. สุปราณี วัฒนสิน ที่ได้กรุณามาเล่าถึง “เขียนรายงานโครงการอย่างไรให้ตอบโจทย์” เครดิตเรื่องที่ผู้เขียนจะเล่าทั้งหมดนี้เป็นของ ผศ.สุปราณี และคณะผู้จัดงานทุกท่าน

สิ่งสำคัญที่สุดที่วิทยากรทุกท่านเน้นย้ำเหมือนกัน คือ ผู้สนใจขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ต้องอ่านและทำความเข้าใจแนวปฏิบัติการขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ของปีที่สนใจ ทุกคำ ทุกประโยค ซึ่ง ผศ. สุปราณีฯ​ (2564) ได้แนะนำแนวทางไว้ ดังนี้

  1. ชื่อโครงการ ควรกระชับ ชัดเจน เข้าใจง่าย และสื่อให้ชัดเจนถึงเนื้อหาที่ผู้ขอรับทุนต้องการจะทำ และชื่อไม่ควรจะซับซ้อนเกินไป จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่เล่าในเบื้องต้นถึงวิชาบังคับที่เรียนเกี่ยวกับการทำวิจัยนั้น แค่ในส่วนของการตั้งชื่อโครงการวิจัย ผู้เขียนต้องปรับแก้ใหม่หลายรอบ ด้วยเหตุผลที่ชื่อยาว และไม่สื่อสารถึงสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะทำให้ชัดเจน อ่านดูเหตุผลแล้วเหมือนไม่ยาก ซึ่งจริง ๆ แล้วตัวเหตุผลก็ไม่ยาก เหตุผลสั้นกระชับคือ ยาวและไม่ชัดเจน ดังนั้น ควรแก้ให้ตรงจุด คือ ทำอย่างไรไม่ให้ชื่อยาว ใช้คำฟุ่มเฟือยและในขณะเดียวกันสามารถสื่อสารเนื้อหาสาระสิ่งที่ผู้ขอรับทุนต้องการจะทำได้ชัดเจน
  2. ความเป็นมา หลักการ ความสำคัญของปัญหา เขียนถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้น โดยเขียนให้สอดคล้องกับชื่อโครงการ พร้อมความสำคัญของปัญหาคือหากได้ทำโครงการนี้แล้จะช่วยแก้ปัญหาจุดไหน โดยยกเอาข้อมูลปัญหาจากหน่วยงาน พื้นที่ หรือสถานการณ์มาอธิบายให้กรรมการที่พิจารณา เข้าใจได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งหากสามารถทบทวนวรรณกรรม (Literature Review) ผลงานในลักษณะคล้ายกันว่าที่ผ่านมามีการเรื่องนี้ไปอย่างไร ด้วยวิธีการอย่างไรและผลเป็นอย่างไร และของเราแตกต่างอย่างไร หากไม่แก้ปัญหานี้จะส่งผลเสียอย่างไรต่อไป จุดนี้อาจทำให้คณะกรรมการพิจารณาเข้าใจมากขึ้น และเห็นความสำคัญของการให้การสนับสนุนโครงการนี้มากขึ้น
  3. วัตถุประสงค์ของโครงการ สิ่งที่ไม่ควรระบุลงในวัตถุประสงค์คือเอาประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับมาใส่ไว้ในวัตถุประสงค์ เช่น เพื่อได้แนวทาง… หรือ เพื่อได้เครื่องมือ…. หรือ เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่าง… เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คือผลจากการดำเนินการโครงการ แต่ควรเขียนจุดหมายในการทำโครงการให้สอดคล้องกับประเด็นหรือปัญหาที่สนใจโดยไม่พรรณนามากหรือใช้คำฟุ่มเฟือย เช่น เพื่อศึกษา… หรือ เพื่อวิเคราะห์… เป็นต้น
  4. การดำเนินการ โครงการประกอบไปด้วยกิจกรรมอะไรบ้าง แต่ละกิจกรรมมีขั้นตอนและกลวิธีจะทำให้สำเร็จบรรลุเป้าหมายอย่างไร กิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวข้องสนับสนุนกันอย่างไร ซึ่ง ผศ. สุปราณีฯ​ (2564) แนะนำว่า กิจกรรมที่ดีต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตและสภาพความเป็นอยู่จริงในพื้นที่ สามารถทำได้จริง
  5. ตารางแสดงแผนการ ตารางแจกแจงแผนการดำเนินการกิจกรรมต่าง ๆ ว่าผู้ขอรับทุนวางแผนลงมือทำกิจกรรมในช่วงดำเนินโครงการตั้งแต่เริ่มต้อนจนจบโครงการอย่างไร แต่ละกิจกรรมจะเกิดขึ้นเมื่อไร เรียงตามช่วงเวลา
  6. ผลที่ได้รับ หรือตัวชี้วัดความสำเร็จ หลังโครงการสิ้นสุดผู้ดำเนินโครงการและผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้รับผลประโยชน์อะไร ซึ่งควรระบุให้ชัดเจนว่าใครที่จะได้รับผลประโยชน์ และผลกระทบแง่บวกที่จะเกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งด้านปริมาณ และด้านคุณภาพ
  7. งบประมาณ แจกแจงรายละเอียดงบประมาณที่คาดว่าต้องใช้ โดยเอากิจกรรมเป็นตัวตั้ง เช่น ประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร และแจกแจงว่ามีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง หรือการอบรมกลุ่มเป้าหมายหลักเรื่อง… และแจกแจงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรม เป็นต้น ไม่ควรเอาค่าใช้จ่ายเป็นตัวตั้ง เช่น ค่าตอบแทนบุคลากรหรือค่าจ้างนักวิจัย (ทั้งหมด) เป็นต้น เราต่างทราบกันดีว่าค่าตอบแทนบุคลากรนั้นค่อนข้างสูง หากเรานำค่าตอบแทนบุคลากรของทุกกิจกรรมมารวมเป็นกลุ่มเดียวอาจทำให้งบก้อนนี้สูงมากกว่าครึ่งของงบประมาณทั้งหมด คณะกรรมการพิจารณาอาจไม่พิจารณาโครงการนี้ได้
  8. การติดตามประเมินผล เพื่อประเมินว่าแต่ละกิจกรรมของโครงการก่อให้เกิดผลตามวัตถุประสงค์หรือไม่ และหากพบว่ามีปัญหาจะสามารถแก้ไขได้ทันเวลา ระบุวิธีประเมินผลทั้งในขั้นตอนการเนินกิจกรรมและหลังจบโครงการ พร้อมตัวชี้วัดความสำเร็จเชิงปริมาณและคุณภาพ
  9. การขยายผล หรือต่อยอดการดำเนินโครงการ เช่น จัดเวทีแสดงผลงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการถอดบทเรียนผ่านกิจกรรมโชว์และแชร์ หรือเผยแพร่ผลงานทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น

แม้ว่าผู้เขียนเองทำงานอยู่ในสายงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับลักษณะทุนที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยตรง แต่จากข้อแนะนำของ ผศ. สุปราณีฯ​ (2564) ในข้างต้น เป็นแนวทางพื้นฐานที่ผู้เขียนเห็นว่าสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเขียนข้อเสนอโครงการของหน่วยงานให้ทุนอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางในการตั้งชื่อโครงการ หลักสำคัญของปัญหา หรือการเขียนวัตถุประสงค์ของโครงการเป็นต้น สิ่งสำคัญที่สุดที่ ผศ. สุปราณีฯ (2564) เน้นย้ำและผู้เขียนเองเห็นตรงว่าสามารถนำไปปรับใช้กับการเขียนข้อเสนอโครงการอื่น ๆ ได้แน่นอน นั่นคือ การไม่ละเว้นการอ่าน และทำความเข้าใจแนวปฏิบัติการขอรับการสนับสนุนของผู้ให้ทุนในปีที่ผู้ขอรับทุนสนใจ ทุกคำ และทุกประโยค

ที่มา

สุปราณี วัฒนสิน. (2564, ตุลาคม 28). เขียนรายงานโครงการอย่างไรให้ตอบโจทย์ [PowerPoint slides]. กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์.

Number of View :1708