ตัวอย่าง คำร้องขอ ทำนิติกรรมแทน

 สารบัญตัวอย่าง คำฟ้อง..คำร้องขอ และ "หนังสือสัญญา"  ต่าง ๆ

(เกี่ยวกับกฎหมายครอบครัว & มรดก)

  • คำร้องขออนุญาตให้ทำการสมรสก่อนมีอายุครบ ๑๗ ปีบริบูรณ์
  • คำฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะ
  • หนังสือความยินยอมของคู่สมรส
  • บันทึกรับรองการเป็นโสด / หม้าย
  • คำร้องขอกันส่วน
  • หนังสือทำความตกลงการหย่า
  • "คำฟ้อง" เรื่อง ฟ้องหย่าฯ
  • คำร้อง  ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของชายที่เคยเป็นสามี (กรณีชายตายไปแล้ว)
  • คำฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู
  • คำร้องขอตั้งผู้ปกครอง
  • คำร้องขอทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์
  • คำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมในการรับบุตรบุญธรรม
  • หนังสือตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดก
  • ตัวอย่าง  "พินัยกรรม"  (แบบเขียนเองทั้งฉบับ & แบบธรรมดา)
  • คำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก (แบบไม่มีพินัยกรรม)

ตัวอย่าง คำร้องขอ ทำนิติกรรมแทน

การให้คำปรึกษา

          ในกรณีที่บิดามารดาของผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ซึ่งการสมรสย่อมสิ้นสุดลงด้วยการตาย การหย่า หรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501 การหย่านั้นย่อมจะทำได้โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายและจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีและภริยาได้จดทะเบียนหย่าแล้วเท่านั้น หรือโดยคำพิพากษาของศาล ตามป.พ.พ. มาตรา 1514 และ 1515 อย่างไรก็ดี แม้ว่าบิดามารดาของผู้ร้องจะแยกกันอยู่แต่ยังไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนหย่า หรือศาลพิพากษาให้หย่า ย่อมไม่มีผลทำให้การสมรสสิ้นสุดลง

          ส่วนอำนาจปกครองบุตร เมื่อไม่ปรากฏว่าบิดาของผู้ร้องถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา หรือบิดาและมารดาตกลงกัน (กรณีมีบันทึกท้ายการจดทะเบียนหย่า) ดังนั้น บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของทั้งบิดาและมารดา ตามป.พ.พ. มาตรา 1566 และอำนาจปกครองนั้น รวมถึงการจัดการทรัพย์สินของบุตรด้วย และต้องจัดการทรัพย์สินนั้นด้วยความระมัดระวังเช่นวิญญูชนพึงกระทำ ตามป.พ.พ. มาตรา 1571 อย่างไรก็ดี กฎหมายได้กำหนดข้อจำกัดสิทธิไว้หลายประการเกี่ยวกับการทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ของผู้ใช้อำนาจปกครองว่าจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต รวมถึงการขายซึ่งอสังหาริมทรัพย์ด้วย ตามป.พ.พ. มาตรา 1574 (1) หากผู้ใช้อำนาจปกครองดำเนินการด้วยตนเองหรือหลีกเลี่ยงโดยการให้ผู้เยาว์เป็นผู้กระทำเองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลก่อน นิติกรรมการซื้อขายที่ดินย่อมไม่มีผลผูกพันผู้เยาว์

ประเด็นคำถามที่ 1 2 และ 3

การยื่นคำร้องขอทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ เป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิของผู้เยาว์และครอบครัว จึงเป็นคดีครอบครัว อยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัว โดยบิดามารดาของผู้เยาว์สามารถยื่นคำร้องต่อศาลที่ที่ดินตั้งอยู่ในเขตศาล การยื่นคำร้องเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์แทนผู้เยาว์นั้น มีข้อพิจารณาที่สำคัญ คือ ต้องเป็นประโยชน์ต่อผู้เยาว์มากที่สุด โดยต้องมีเหตุจำเป็นจริง ๆ เช่น นำไปเป็นค่าการศึกษาเล่าเรียนของบุตรผู้เยาว์ เป็นต้น หากศาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นตามคำร้อง ศาลมักจะไม่อนุญาต และผู้ยื่นคำร้องจะต้องไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานสถานพินิจและคุ้มครองเด็กภายใน 15 วันนับแต่วันยื่นคำร้อง เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีความเห็นต่อศาล และต้องให้ผู้เยาว์เบิกความต่อศาลเพื่อยืนยันว่ายินยอมให้กระทำการแทนด้วย นอกจากนี้ ในเรื่องการเบิกจ่ายหรือการเก็บรักษาเงินนั้น ศาลอาจมีคำสั่งให้สถานพินิจและคุ้มครองเด็กมีอำนาจจัดการควบคุมดูแล และตรวจสอบได้ เว้นแต่ผู้ร้องจะแสดงให้ศาลเห็นว่าการขอเบิกเงินจากสถานพินิจฯนั้นจะเป็นการไม่สะดวก ศาลก็อาจไม่มีคำสั่งให้สถานพินิจฯเป็นผู้เก็บรักษาเงินก็ได้

ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ขายที่ดินของผู้เยาว์ได้ ในการจดทะเบียนขายที่ดินของผู้เยาว์ ผู้ใช้อำนาจปกครองและผู้เยาว์ (อายุ 7 ปีขึ้นไป) ย่อมต้องไปที่สำนักงานที่ดินด้วยกัน เว้นแต่ในคำสั่งศาลที่สั่งให้ทำนิติกรรมขายที่ดินของผู้เยาว์ ศาลจะสั่งไว้ด้วยว่าให้ผู้ใช้อำนาจปกครองทำการขายที่ดินแทนผู้เยาว์ ซึ่งกรณีนี้ผู้เยาว์ไม่ต้องไปที่สำนักงานที่ดิน เนื่องจากผู้ใช้อำนาจปกครองสามารถทำการแทนผู้เยาว์ตามคำสั่งศาลได้

          กล่าวโดยสรุป หากผู้ร้องต้องการขายที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ และมีซื่อน้องของผู้ร้องซึ่งยังเป็นผู้เยาว์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวด้วยนั้น จะต้องให้บิดามารดากระทำการแทนโดยยื่นคำร้องขอทำนิติกรรมขายที่ดินของผู้เยาว์ โดยอยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งศาลที่มีอำนาจพิจารณา คือ ศาลที่ที่ดินตั้งอยู่ในเขตศาล โดยในคำร้องจะต้องแสดงเหตุจำเป็นในการขายที่ดินของผู้เยาว์ พร้อมแสดงพยานหลักฐานประกอบด้วย เช่น ผู้ร้องมีหนี้สินจำนวนมาก (พร้อมแสดงสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาเช่าซื้อ และค่าใช้จ่ายที่เป็นหนี้สินอื่น ๆ) และต้องให้การอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ ให้การศึกษา (พร้อมหนังสือรับรองสถานศึกษา บัตรประจำตัวนักเรียน) และมีค่าใช้จ่ายจำเป็นจำนวนมาก รวมทั้งสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน (ถ้ามี) และหากศาลมีคำสั่งให้ขายที่ดินได้ ผู้ร้องก็สามารถนำคำสั่งศาลไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อดำเนินการซื้อขายตามกฎหมายต่อไป

ป.พ.พ. มาตรา 1574

นิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ดังต่อไปนี้ บิดามารดา ผู้ใช้อำนาจปกครองจะทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลก่อน โดยการแต่งตั้งทนายความยื่นคำร้องขออนุญาตทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์

(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนองซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้

(2) กระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งทรัพยสิทธิของผู้เยาว์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์

(3) ก่อตั้งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอื่นใดในอสังหาริมทรัพย์

(4) จำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ หรือสิทธิเรียกร้องที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของผู้เยาว์ปลอดจากทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น

(5) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี

(6) ก่อข้อผูกพันใดๆ ที่มุ่งให้เกิดผลตาม (1) (2) หรือ (3)

(7) ให้กู้ยืมเงิน

(8) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่จะเอาเงินได้ของผู้เยาว์ให้แทนผู้เยาว์เพื่อการกุศลสาธารณะ เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา ทั้งนี้ พอสมควรแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์

(9) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา

(10) ประกันโดยประการใดๆ อันอาจมีผลให้ผู้เยาว์ต้องถูกบังคับชำระหนี้หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ของบุคคลอื่นหรือแทนบุคคลอื่น

(11) นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์นอกจากในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1598/4 (1) (2) หรือ (3)

(12) ประนีประนอมยอมความ

(13) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

ถ้าในกิจการใด ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครองหรือประโยชน์ของคู่สมรสหรือบุตรของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์ ผู้ใช้อำนาจปกครองต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงทำกิจการนั้นได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ

การจะทำนิติกรรมดังกล่าวข้างต้นได้นั้น บิดามารดา ผู้ใช้อำนาจปกครอง จะต้องตั้งทนายความยื่นคำร้องขออนุญาตทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ต่อศาลก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะสามารถทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ได้ต่อไป