มูลนิธิ มีเลข ประ จํา ตัวผู้ เสียภาษี ไหม

วันที่เอกสาร

27 พฤศจิกายน 2546

เลขที่หนังสือ

กค 0706/12003

ข้อกฎหมาย

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 250) พ.ศ. 2535

ข้อหารือ

สถาบันฯ เป็นหน่วยงานที่มูลนิธิส่งเสริมทบวงมหาวิทยาลัยตั้งขึ้นและอยู่ภายใต้มูลนิธิส่งเสริม
ทบวงมหาวิทยาลัย โดยคณะรัฐมนตรีรับทราบการจัดตั้งและให้ความเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 7
มกราคม 2546 และสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงาน สถาบันฯ เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรมี
วัตถุประสงค์เพื่อริเริ่มแนวคิดใหม่ ๆ ทางวิชาการอันจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาเชิงรุกของ
ประเทศ สนับสนุนการศึกษาค้นคว้าเพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ร่วม
สร้างผู้นำรุ่นใหม่ และเสริมสร้างความเข้มแข็งที่ยั่งยืนให้กับประชาสังคมโดยรวม จึงหารือว่า
1. สถาบันฯ ไม่ใช่นิติบุคคลไม่สามารถขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรได้ ดังนั้น การชำระ
ภาษีของสถาบันฯ จำเป็นต้องใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของมูลนิธิฯ ใช่หรือไม่
2. สถาบันฯ ต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่
3. กรณีสถาบันฯ มีการจัดซื้อจัดจ้าง เช่าหรือการใช้บริการต่าง ๆ สถาบันฯ ต้องหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่

แนววินิจฉัย

1. กรณีสถาบันฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มูลนิธิส่งเสริมทบวงมหาวิทยาลัยจัดตั้งขึ้นและอยู่ภายใต้
มูลนิธิส่งเสริมทบวงมหาวิทยาลัย สถาบันฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของมูลนิธิฯ จึงต้องใช้
เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของมูลนิธิฯ และมูลนิธิฯ ต้องนำรายได้ของสถาบันฯ มารวมคำนวณเพื่อเสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคลของมูลนิธิฯ ตาม (2)(จ) ของบัญชีอัตราภาษีเงินได้ประกอบพระราชกฤษฎีกาออก
ตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 250) พ.ศ. 2535
อย่างไรก็ตาม มูลนิธิฯ ไม่ต้องนำเงินค่าลงทะเบียนหรือค่าบำรุงที่ได้รับจากสมาชิกหรือเงิน
หรือทรัพย์สินที่ได้รับจากการรับบริจาคหรือจากการให้โดยเสน่หาแล้วแต่กรณีมารวมคำนวณเป็นรายได้ตาม
มาตรา 65 ทวิ (13) แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีสถาบันฯ ได้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ให้แก่ผู้รับ สถาบันฯ มีหน้าที่ต้อง
หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมินในนามของมูลนิธิฯ ตามมาตรา 3 เตรส และ
มาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร

กรมสรรพากรแก้ไขล่าสุด

29 มีนาคม 2560

สมาคมศิษย์เก่าฯ สมาคมผู้ปกครองฯ ต้องเสียภาษี หรือไม่
เรื่องนี้มีคำตอบ จากกรมสรรพากร http://www.rd.go.th/publish/44182.0.html
ความหมายของมูลนิธิ หรือสมาคม ฟังเสียงข่าว

คำว่า “มูลนิธิ” ตามมาตรา 110 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมายถึง ทรัพย์สินที่จัดสรรไว้โดยเฉพาะสำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการกุศลสาธารณะ การศาสนา ศิลปะ วิทยาศาสตร์ วรรณคดี การศึกษา หรือเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างอื่น โดยมิได้มุ่งหาประโยชน์มาแบ่งปันกันและได้จดทะเบียนตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ และการจัดการทรัพย์สินของมูลนิธิ ต้องมิใช่เป็นการหาผลประโยชน์เพื่อบุคคลใด นอกจากเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธินั้นเอง

โดยมูลนิธิที่ได้จดทะเบียนแล้วจะมีฐานะเป็นนิติบุคคล ตามมาตรา 122 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

คำว่า “สมาคม ตามมาตรา 78 แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง หมายถึง การก่อตั้งสมาคมเพื่อกระทำการใด ๆ อันมีลักษณะต่อเนื่องร่วมกันและมิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน ต้องมีข้อบังคับและจดทะเบียนตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้

โดยสมาคมที่ได้จดทะเบียนแล้วจะมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

นอกจากนี้สมาคมยังอาจจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายอื่น ๆ ดังนี้

- พระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509

- พระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2517

- พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

หน้าที่ของมูลนิธิหรือสมาคมที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

(1) ต้องขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
(2) ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเมื่อจ่ายเงินให้แก่ผู้รับ
(3) ต้องจัดทำบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งกรมสรรพากร
(4) ต้องยื่นแบบแสดงรายการและนำส่งภาษี

การขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร

มูลนิธิหรือสมาคมซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จะต้องยื่นคำร้องขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษี (ล.ป.10) ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือวันที่เริ่มประกอบกิจการในประเทศไทย แล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง

สถานที่ยื่นคำร้องขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษี

(1) มูลนิธิหรือสมาคมซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำร้องได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานครในท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่
(2) มูลนิธิหรือสมาคมซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดอื่น ให้ยื่นคำร้อง ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในจังหวัดที่สำนักงานใหญ่ของมูลนิธิหรือสมาคม ตั้งอยู่
(3) มูลนิธิหรือสมาคมสามารถยื่นคำร้องขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรประเภทนิติบุคคลโดยผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ที่ http://www.rd.go.th โดยระบบจะให้บันทึกข้อมูลรายการต่าง ๆ เช่น เลขทะเบียนนิติบุคคล วันที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ รอบระยะเวลาบัญชี และลักษณะการเป็นนิติบุคคล เป็นต้น

การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

มูลนิธิหรือสมาคมต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเมื่อจ่ายเงินได้ดังต่อไปนี้ให้แก่ผู้รับ ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้วแต่กรณี ดังนี้

1. เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน
2. เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้
3. ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น ๆ
4. เงินได้ประเภทดอกเบี้ย เงินปันผล ฯลฯ
5. เงินได้ประเภทค่าเช่าทรัพย์สินฯ
6. เงินได้ค่าวิชาชีพอิสระ
7. เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญ นอกจากเครื่องมือ
8. เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่น ๆ นอกจากที่ระบุไว้ใน 1. ถึง 7. เฉพาะที่เป็นเงินได้จากการจ้างทำของ รางวัลจากการประกวดแข่งขัน ชิงโชค ค่าโฆษณา ค่าแสดงที่จ่ายให้นักแสดงสาธารณะ รางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์อย่างอื่นเนื่องจากการส่งเสริมการขาย การประกันวินาศภัย การขนส่ง (ไม่รวมค่าโดยสารสำหรับการขนส่งสาธารณะ) การให้บริการอื่นๆ (ไม่รวมถึงค่าบริการของโรงแรม ค่าบริการของภัตตาคาร และค่าเบี้ยประกันชีวิต)

การจัดทำบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี

ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ต้องจัดทำบัญชีพิเศษแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่าย และการนำส่งให้แก่ผู้รับเงิน โดยรวมจำนวนที่จ่ายเป็นประจำวัน และรวมยอดเป็นรายเดือน เมื่อสิ้นวันสุดท้ายของเดือนและต้องเก็บรักษาบัญชีพิเศษดังกล่าวไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี ที่สำนักงานที่มีการจ่ายเงิน

กรณียกเว้นไม่ต้องจัดทำบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี

1. การจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยตั๋วเงินของธนาคาร สหกรณ์ บริษัท ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้น สำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม
2. กรณีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และต้องนำส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่มีการจดทะเบียน
3. กรณีอื่นตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด