ประเทศ ที่ ทํา งาน น้อย ที่สุด

การทำงานวันละ 8 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 5 วัน (40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ดูเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับหลายๆ วัฒนธรรม แต่คำถามคือ มันจำเป็นต้องเป็นอย่างนี้ไปอีกนานเท่าไร (ฮือ)

โดยทั่วไปแล้วประเทศต่างๆ จะมีเวลาทำงานมาตรฐานอยู่ที่ประมาณ 40-44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยมีประเทศที่มีเวลาการทำงานน้อยกว่านั้น โดยจะอยู่ที่ประมาณ 30-35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เช่น ฝรั่งเศส (35 ชั่วโมง) เดนมาร์ก (33 ชั่วโมง) นอร์เวย์ (33 ชั่วโมง) ไอร์แลนด์ (34 ชั่วโมง) เยอรมนี (35 ชั่วโมง) อเมริกา (33 ชั่วโมง) หรือประเทศที่มีเวลาการทำงานมากกว่านั้นมาก เช่นในคุกผู้ใช้แรงงานในเกาหลีเหนือ (112 ชั่วโมง)

ข้อมูลสถิติตรงนี้ต่างกันไปตามการสำรวจ เช่น การสำรวจในปี 2011 ในประเทศกลุ่ม OECD พบว่าเยอรมนีมีจำนวนชั่วโมงในการทำงานต่ำที่สุด คือต่ำถึง 25.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น! (ถ้าทำงานห้าวันต่อสัปดาห์คือทำงานเฉลี่ยแค่วันละ 5 ชั่วโมงกว่า!) หรือบางสถิติจะบอกว่าฝรั่งเศสมีชั่วโมงการทำงานอยู่ที่ 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ในประเทศไทย กฎหมายแรงงานกำหนดให้มีระยะเวลาการทำงานไม่เกิน 48 ชั่วโมง สำหรับงานทั่วไป แต่ว่าจะต้องไม่เกิน 42 ชั่วโมง สำหรับงานที่อันตรายต่อสุขภาพและสวัสดิภาพ แต่ก็มีการสำรวจในปี 2015 โดยจีเอฟเค ประเทศไทยในหมู่พนักงานประจำ ชนชั้นกลางใน 21 ประเทศ พบว่า ประเทศไทยมีเวลาการทำงานเฉลี่ยสูงที่สุด คือมากถึง 50.9 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ (ญี่ปุ่น 37.3 ชั่วโมง-น่าสงสัยมาก! อินเดีย 50.6 ชั่วโมง อินโดนีเซีย 45.3 ชั่วโมง จีน 45.3 ชั่วโมง) ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชีย ที่อยู่ที่ 48 ชั่วโมง และมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 36.3 ชั่วโมง

มีการเสนออยู่เนืองๆ ว่าให้บริษัทและประเทศต่างๆ ลดจำนวนชั่วโมงการทำงานลง โดย New Economics Foundation ได้เสนอว่าให้ลดชั่วโมงการทำงานลงเป็น 21 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เป็นมาตรฐานเพื่อแก้ปัญหาด้านการว่างงาน การปล่อยคาร์บอน สวัสดิการและสุขภาพโดยรวม

เรื่องที่พูดถึงกันมากในช่วงปลายปีที่แล้วถึงต้นปีนี้คือประเทศฝรั่งเศสพยายามที่จะให้คนทำงานน้อยลง ถึงแม้จะเป็นการทำงานจากบ้านก็ตาม โดยในวันที่ 1 มกราคม 2017 กฎหมายใหม่ของฝรั่งเศสบอกว่าบริษัทที่เข้าข่ายจะต้องให้ ‘สิทธิในการไม่เชื่อมต่อ’ กับพนักงาน นั่นคือพนักงานจะไม่ต้องตอบอีเมลของลูกค้าหรือเจ้านายอีก แต่ขณะเดียวกันก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากบริษัทที่ต้องทำงานข้ามไทม์โซนว่ากฎใหม่นี้อาจทำให้พวกเขาทำงานยากลำบากขึ้น หรือการสะท้อนความจริงว่าบางครั้งพนักงานเองนี่แหละที่เป็นคนที่ ‘ตัดการเชื่อมต่อ’ ไม่ได้

หลายบริษัทก็เริ่มใช้นโยบายการตัดชั่วโมงทำงานมากขึ้น โดยแบ่งคร่าวๆ ได้เป็นพวกที่ลดวันทำงานลง (เช่น เหลือ 4 ชั่วโมงต่อวัน) หรือลดจำนวนชั่วโมงทำงานต่อวันลง (เช่น เหลือ 6 ชั่วโมงต่อวัน)

Amazon ปรับนโยบายให้ลูกจ้างบางส่วนที่เคยทำงานเต็มเวลา (ในออฟฟิศหลัก ที่ซีแอทเทิล) ทำงานลดลง เหลือเพียงวันจันทร์ถึงวันพฤหัส โดยต้องเข้าออฟฟิศเพียง 4 ชั่วโมงต่อวัน (10 โมง ถึงบ่ายสอง) เท่านั้น เวลาที่เหลือสามารถทำงานที่อื่นได้ โดยลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างแบบพาร์ตไทม์ และได้รับสวัสดิการเท่ากับลูกจ้างที่ทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งก็มีผู้วิจารณ์นโยบายนี้ว่าเป็นการให้ประโยชน์กับผู้จ้าง มากกว่าลูกจ้าง เพราะจ่ายเงินค่าจ้างน้อยลง (จ่ายตามจำนวนชั่วโมงจริงที่ทำ) – แต่หลายคนก็มองว่าแฟร์ดีแล้ว

ช่วงต้นปีนี้ก็มีข่าวว่าบริษัทในประเทศญี่ปุ่น (ที่ขึ้นชื่อเรื่องการทำงานหนัก) จะปรับเวลาการทำงานมาเป็น 4 วันต่อสัปดาห์มากขึ้น เพื่อให้พนักงานสามารถรักษาสมดุลระหว่างการทำงานกับชีวิตส่วนตัวได้ เช่นบริษัท KFC Holdings Japan (เคเอฟซีนั่นแหละ) อนุญาตให้พนักงานบางส่วนทำงานเพียง 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในขณะที่ Uniqlo และ Yahoo! Japan ก็เตรียมที่จะใช้นโยบายทำงานสี่วันต่อสัปดาห์เช่นกัน

เทตซึ วาชิทานิ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยชูโอให้สัมภาษณ์กับ Nikkei ว่า

“การหยุดสามวันต่อสัปดาห์นั้นเป็นเรื่องปกติในบริษัทใหญ่ๆ แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การขาดแคลนแรงงานทำให้บริษัทนอกเมือง เริ่มใช้นโยบายนี้มากขึ้น”

ในสวีเดน บางบริษัทใช้วิธีที่แตกต่างออกไป โดยลดจำนวนชั่วโมงการทำงานต่อวันลง เหลือหกชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยมีรายงานในเดือนตุลาคม 2016 ว่าบางบริษัท เช่นศูนย์โตโยโต้ในเมือง Gothenburg ก็ใช้นโยบายนี้มานานแล้ว เพื่อให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้น (แถมยังไม่ได้ลดประสิทธิภาพในการทำกำไรของบริษัทด้วย) ส่วนบริษัทใหม่ๆ อย่าง Filimundus ซึ่งเป็นผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น ก็เริ่มใช้นโยบายนี้ในปี 2015

​CEO ของ Filimundus ให้สัมภาษณ์กับ Fast Company ว่า “การทำงานแปดชั่วโมงต่อวัน ไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าที่บางคนเชื่อ การทำงานแปดชั่วโมงต่อสัปดาห์ให้มีสมาธิเต็มที่นั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก ดังนั้นเราจึงพยายามสลับสับเปลี่ยนการทำงานไปมา และเพิ่มช่วงเวลาหยุดพัก เพื่อให้ทนวันทำงานได้มากขึ้น”

ผลดีของการทำงานสั้นลง เป็นสี่วันต่อสัปดาห์ หรือหกชั่วโมงต่อวัน นั้นมีงานศึกษาวิจัยรองรับหลายชิ้น เช่นงานจัยใน Ericsson’s Lab บอกว่าคนทั่วไปสามารถมีสมาธิในการทำงานเพียงสี่ถึงห้าชั่วโมงต่อครั้งเท่านั้น หรือบริษัทที่ปรับมาทำงานเพียงแค่สี่วันต่อสัปดาห์ก็บอกว่านโยบายนี้ทำให้พนักงานมีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น เพื่อให้งานเสร็จก่อนที่พวกเขาจะไปพัก เช่นเดียวกับงานศึกษาในโคโรลาโดพบว่าเด็กนักเรียนทำคะแนนได้ดีขึ้นเมื่อเรียนเพียงแค่ 4 วันต่อสัปดาห์แทนที่จะเป็น 5

ในขณะที่ในทางกลับกัน ก็มีผู้วิจารณ์เช่นกันว่าการทำงานสี่วันต่อสัปดาห์นั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพ หากนายจ้างหรือลูกจ้างไม่ได้ลดจำนวนชั่วโมงการทำงานลง (เช่น เอาเวลา 40 ชั่วโมงมาอัดใน 4 วัน เป็นวันละ 10 ชั่วโมง) ถ้าเป็นแบบนั้นจะมีผลเสียมากกว่าผลดี ดังนั้นเพื่อเป็นการปรับตัวไปทีละเล็กละน้อย Allard Dembe นักวิชาการเรื่องสาธารณสุข จาก Ohio State University จึงเสนอว่าบริษัทอาจลองใช้นโยบายทดลองเช่น วันศุกร์เลิกทำงานเร็วขึ้นหน่อย เป็นต้น

เนื้อหานี้สนับสนุนโดย The Street Rachada 25 Hours ที่ The MATTER ได้ไปร่วมเสนอคอนเซปท์ของ Co-Working Space ไปทดลองทำงานกันในสภาพแวดล้อมแปลกๆ เช่น ห้อง​ ‘โค’ เวิร์กกิ้ง สเปซ ที่เป็นโคจริงๆ หรือห้องที่ทำให้คุณเหมือนเผชิญกับเดดไลน์ตลอดเวลา ได้ที่เดอะสตรีท รัชดา

อ้างอิงข้อมูลจาก

จีเอฟเคสำรวจ positioningmag.com

ชั่วโมงการทำงาน en.wikipedia.org/wiki/Working_time

ชั่วโมงการทำงานที่น้อยที่สุด firsttoknow.com

ฝรั่งเศส Right to Disconnect www.theverge.com

www.telegraph.co.uk

Amazon www.inc.com

ญี่ปุ่น www.hrdive.com

asia.nikkei.com

สวีเดน www.independent.co.uk

การทำงานสี่วันต่อสัปดาห์หรือหกชั่วโมงต่อวัน ประโยชน์ www.businessinsider.com

www.huffingtonpost.com

www.theguardian.com

การทำงานสี่วันต่อสัปดาห์ ผลเสีย theconversation.com

Illustration by Namsai Supavong

You might also like

Share this article