เหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เชอร์โนบิล

เหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เชอร์โนบิล

เอิงเอย

28 กุมภาพันธ์ 2565 ( 11:40 )

        หลายคนอาจจะเคยเห็น หรือได้ยินเรื่องราวอันน่าสยดสยองของ เชอร์โนบิล (Chernobyl) ใน ยูเครน (Ukraine) มาแล้วบ้าง ตามภาพต่างๆ ในหน้าอินเตอร์เน็ต หรือ หนังสยองขวัญที่บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ของเชอร์โนบิล แต่นั่นก็ยังไม่เท่ากับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงของโศกนาฏกรรมที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในความรุนแรงที่สุดของประวัติศาสตร์โลก

เชอร์โนบิล ยูเครน เมืองร้าง สยองขวัญ ?

        เชอร์โนบิล (Chernobyl) ตั้งอยู่ในเขตของ เมืองพริเพียต (Pripyat) ประเทศยูเครน ซึ่งเป็นที่ตั้งของ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิล ในสมัยที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต ความน่าสะพรึงกลัว ได้เกิดขึ้นหลังจากอุบัติเหตุครั้งประวัติศาสตร์ในวันที่ 26 เมษายน 1986 เมื่อเครื่องปฏิกรณ์ตัวที่ 4 เกิดเหตุระเบิดขึ้นในระหว่างการทดสอบความปลอดภัยในภาวะฉุกเฉิน

      อุบัติเหตุจากการทดสอบดังกล่าว เป็นผลมาจากการออกแบบที่บกพร่อง การขาดความชำนาญ รวมถึงการประสานงานของเจ้าหน้าที่ และกลายเป็นเหตุโศกนาฏกรรมช็อคโลกที่เรียกได้ว่า รุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก จัดอันดับความรุนแรงไว้ที่ระดับ 7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตามมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ ที่ทำให้มีเหยื่อทั้งสังเวยชีวิต ป่วยเป็นโรคมะเร็ง กลายพันธุ์ผ่าเหล่า หรือ พิการไปเป็นจำนวนมาก

เหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เชอร์โนบิล

      ผลจากการระเบิดหลายครั้ง ทำให้ทั้งเหล็กและคอนกรีต ที่สร้างครอบเครื่องปฏิกรณ์แตกกระจาย ปล่อยกัมมันตรังสีพวยพุ่งขึ้นสู่บรรยากาศ ปกคลุมทางตะวันตกของสหภาพโซเวียต ยุโรปตะวันออก ยุโรปตะวันตก ยุโรปเหนือ ทางการยูเครน เบลารุส และรัสเซีย ต้องอพยพประชากรมากกว่า 336,000 คน ออกจากพื้นที่อย่างฉุกเฉิน มีผู้ได้รับผลกระทบจากการระเบิดโดยตรงมากกว่า 600,000 คน มีผู้เสียชีวิตทันทีหลังการเกิดระเบิด 56 คน แต่ผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งจากการสัมผัสกัมมันตรังสีอาจสูงถึง 4,000 คน

ดูคลิป

เหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เชอร์โนบิล

         ปริมาณของรังสีที่แพร่กระจายออกมาจากการระเบิดครั้งนี้ มีอานุภาพมากกว่ารังสีจากระเบิดปรมาณูที่ถล่มใส่เมืองนางาซากิ และฮิโรชิม่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างน้อย 200 เท่า และลอยสู่ชั้นบรรยากาศยาวนานถึง 10 วัน เมืองพริเพียตจึงถูกทิ้งร้างเนื่องจากระดับการแพร่กระจายของกัมมันตรังสีที่อยู่ในปริมาณสูง แต่ก็ไม่ทันการณ์แม้จะมีการอพยพชาวเมืองออกจากพื้นที่ทันทีภายในสองวันหลังเกิดเหตุการณ์ ซึ่งในช่วงเวลานั้นหลายคนได้รับรังสีปนเปื้อนในระดับสูงไปแล้ว

Forgotten Chernobyl / Shutterstock.com

      บริเวณป่าโดยรอบพื้นที่ที่เกิดการระเบิด มีชื่อใหม่ว่า “ป่าแดง” เนื่องจากรังสีนิวเคลียร์ทำให้ใบไม้กลายเป็นสีน้ำตาลแดงแทบทั้งหมด นอกจากนี้สัตว์ต่างๆ ที่อยู่ในละแวก 30 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ก็มีอัตราการตายก่อนอายุขัยสูงมากขึ้น อีกทั้งยังมียีนที่ผิดปกติ ไม่ใช่แค่ในสัตว์เท่านั้น แต่รังสีนิวเคลียร์ยังมีอานุภาพส่งถึงคนอีกด้วย ตัวอย่างก็คือ ตาของนักดับเพลิงที่ชื่อ "วลาดิมีร์ ปราวิก" เปลี่ยนจากสีน้ำตาลเป็นสีฟ้า อย่างน่าตกใจ

         แม้ในช่วงแรกรัฐบาลโซเวียตจะปกปิดเรื่องที่เกิดขึ้น และประกาศว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ส่วนการแพร่ระบาดของกัมมันตภาพรังสีก็มีปริมาณเท่ากับเครื่องเอ็กซ์เรย์เท่านั้น แต่การปนเปื้อนระดับสูงนี้ได้ส่งผลอย่างเห็นได้ชัด ทั้งจากประชาชนในพื้นที่ที่เริ่มมีอาการผิดปกติต่างๆ การกลายพันธุ์ โรคมะเร็งร้ายที่คร่าชีวิตชาวเมือง ทำให้ประเทศสวีเดนเป็นประเทศแรกที่ประกาศต่อชาวโลกถึงหายนะจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล

ดูคลิป

        แม้จะผ่านมานานกว่า 30 ปี ในทุกวันนี้ เชอร์โนบิล เมืองพริเพียต ยังคงถูกทิ้งร้าง เนื่องจากต้องกำจัดพลูโตเนียมที่แพร่กระจายปกคลุมไปทุกหนแห่ง โดยคาดว่าต้องใช้เวลามากกว่า 300 ปี เพื่อให้เมืองกลับมาดังเดิม

     ภัยมืดจากผลกระทบของกัมมันตภาพรังสี ยังทำร้ายชีวิตผู้คนที่อาศัยใกล้เมืองเชอร์โนบิลต่อไป เด็กจำนวนมากเกิดมาพร้อมกับโรคแต่กำเนิด มีการกลายพันธุ์ในยีน หรือโรคมะเร็งหายาก และยังคาดว่ากัมมันตภาพรังสีจะส่งต่อไปยังอีกหลายชั่วอายุคน

====================

หายนะภัยที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลในปีพ.ศ. 2529 และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะในปีพ.ศ. 2554 บอกกับเราถึงผลพวงอันร้ายแรงที่ตามมาของอุบัติภัยนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ นั่นคือ ความเสียหายในระยะยาวต่อสุขภาพของคนและสิ่งแวดล้อม บาดแผลเหล่านี้ยังคงอยู่กับเราในปัจจุบัน และยังคงอยู่กับเราอีกยาวนานในอนาคต ผลกระทบนั้นย่อมมีมากกว่าการเสียชีวิตของประชากรหลายหมื่นคนและผลกระทบทางสุขภาพของประชากรหลายแสนคน

แม้ว่าอุตสาหกรรมนิวเคลียร์พยายามอย่างมากในการจำกัดขอบเขตของผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นการลดจำนวนของผู้เสียชีวิต แต่ในความจริงแล้วผลกระทบนั้นกระจายออกไปในวงกว้างในระดับที่ซับซ้อนและฝังรากลึก

เราอาจสรุปผลกระทบของการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้ง 2 เหตุการณ์ได้ดังนี้

1. การปนเปื้อน

ทั้งเหตุการณ์สารกัมมันตรังสีรั่วไหลในฟุกุชิมะและเชอร์โนบิลต่างเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการแผ่รังสีจากการสลายของไอโซโทปกัมมันตรังสี ในบริเวณกว้าง ประชาชนไม่สามารถกลับเข้าไปในพื้นที่เพื่ออาศัยได้อีกต่อไป อย่างไรก็ดียังมีประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่จะถูกผลกระทบของการแผ่รังสีนี้ทั้งในฟุกุชิมะและเชอร์โนบิล ซึ่งทำให้พวกเขามีความเสี่ยงที่จะป่วยหรือมีปัญหาทางด้านสุขภาพทั้งกายและใจ

ผลการการตรวจสอบรังสีพบว่าพื้นที่ป่ารอบเชอร์โนบิลและฟุกุชิมะกลายเป็นแหล่งที่มีการสะสมสารกัมมันตรังสี กรีนพีซกล่าวว่าป่าไม้ที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีทำให้ชุมชนใกล้เคียงมีความเสี่ยงจากการสัมผัสหรือเกิดการปนเปื้อนขึ้นใหม่

เหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เชอร์โนบิล

ถุงเก็บหน้าดินและหญ้าที่ปนเปื้อนกัมนตรังสีที่ถูกเก็บจากพื้นที่ปนเปื้อนในอิตาเตะ เชื่อว่านี่เป็นวิธีลดการปนเปื้อนของกัมมันตรังสีในพื้นดินด้วยการถางหน้าดินที่มีการปนเปื้อนมากที่สุดออก

2.ผลกระทบต่อสุขภาพ

หลังจากเหตุการณ์เชอร์โนบิล เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นวงกว้างในยูเครน เบลารุส และรัสเซีย ในหลากหลายด้าน โดยเด็กๆและกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบที่ชัดเจนนั่นคือการวินิจฉัยว่าพวกเขาเป็นมะเร็ง เช่นมะเร็งเต้านม และลูคีเมีย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการตรวจพบว่าศักยภาพการรับข้อมูลของกลุ่มผู้ใช้แรงงานลดลงอีกด้วย

3.ผลกระทบต่อวิถีชีวิต

ทั้งเหตุการณ์ในฟุกุชิมะและเชอร์โนบิลบังคับให้ประชาชนในบริเวณนั้นหลายพันคนต้องทิ้งบ้านของตัวเอง โดยยังไม่มีโอกาสได้กลับคืนถิ่นเนื่องจากพื้นที่บริเวณนั้นถูกปนเปื้อนไปแล้ว หายนะภัยนิวเคลียร์นี้ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบต้องเผชิญกับแรงกดดัน ไม่ว่าจะเป็นการอพยพย้ายถิ่นฐานเพื่อหลีกเลี่ยงภัยคุกคามจากกัมมันตภาพรังสี พวกเขาต้องพรากจากเพื่อน ครอบครัว และชุมชนเป็นเวลาหลายปี ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากวิถีชีวิตของพวกเขาต้องเปลี่ยนไปแล้ว ประชาชนยังไม่ได้รับการชดเชยด้านการเงินอย่างเป็นธรรมอีกด้วย

รายงานของกรีนพีซเสนอให้เห็นชัดเจนว่า ภาครัฐและอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ไม่พร้อมที่จะต่อกรกับหายนะภัยนิวเคลียร์ ไม่เพียงแต่มาตราการอพยพอย่างเร่งด่วนหลังจากการเกิดอุบัติภัยเท่านั้น ยังหมายรวมถึงการจัดการในระยะยาวกับผู้คนหลายแสนคนที่ต้องอพยพถิ่นฐานและไร้ที่อยู่อาศัย อีกทั้งชุมชนและพื้นที่การเกษตรที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสี