ยาแก้อักเสบกินกับยาพาราได้ไหม

ยาฆ่าเชื้อ (ปฏิชีวนะ)  VS ยาแก้อักเสบ ต่างกันอย่างไร ?

“ยาแก้อักเสบ” เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงต้องเคยมีประสบการณ์การรับประทานยากลุ่มนี้กันมาบ้าง เช่น เวลามีอาการเจ็บคอ, ท้องเสีย, ปัสสาวะแสบขัด หรือบาดแผล แล้วกรณีที่มีอาการเจ็บป่วย เช่น ข้ออักเสบ เอ็นอักเสบ รวมทั้งอาการกล้ามเนื้ออักเสบที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุในการทำงานหรือเล่นกีฬา ก็ได้รับยาแก้อักเสบเช่นกัน กรณีเหล่านี้ยาแก้อักเสบที่ได้รับ เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ? ใช้แทนกันได้หรือไม่ ?

โดยทั่วไปปฏิกิริยาการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกาย มีสาเหตุได้มากมาย ทั้งที่มาจากการติดเชื้อ และไม่ใช่การติดเชื้อ การใช้ยาเพื่อรักษาการอักเสบ จึงต้องพิจารณาว่าเกิดจากสาเหตุใด

            ในกรณีการอักเสบเกิดจากการติดเชื้อ เช่น เจ็บคอ, ท้องเสีย, ปัสสาวะแสบขัด, แผลอักเสบ ยาที่ได้รับจะเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเรียกอีกชื่อว่า “ยาปฏิชีวนะ” (Antibiotics) ตัวอย่างเช่น เพนิซิลลิน, เตตราซัยคลิน, ซัลฟา, คลอแรมเฟนิคอล, กานามัยซิน เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จำเป็นต้องรับประทานตามแพทย์สั่งจนครบชุด เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุดและป้องกันไม่ให้เชื้อดื้อต่อยา

            ส่วนการอักเสบที่ไม่ใช่การติดเชื้อ ยาที่ใช้รักษาจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ เช่น กรณีกล้ามเนื้อ-เอ็นอักเสบจากการเล่นกีฬาหรืออุบัติเหตุ ยาที่ใช้รักษาจะเป็นยาที่ให้ผลต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory) และมีฤทธิ์ระงับปวด โดยไม่มีผลในการยับยั้งเชื้อใดๆ ยากลุ่มนี้จะแบ่งออกเป็นกลุ่มสเตียรอยด์ (steroid) และไม่ใช่สเตียรอยด์ โดยทั่วไปจะเป็นกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ซึ่งเรารู้จักกันย่อๆว่า เอ็นเสด (NSAIDs: non-steroid anti-inflammatory drugs) ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ Ibuprofen (ชื่อการค้า Brufen®, Gofen®), Diclofenac (ชื่อการค้า Voltaren®), Mefenamic acid (ชื่อการค้า Ponstan®) ที่ผู้หญิงมักคุ้นเคยกันดีเวลาปวดประจำเดือน หรือดั้งเดิมที่สุด คือ ทัมใจแอสไพริน (aspirin) ยาในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นยาที่ระคายเคืองกระเพาะอาหาร ควรรับประทานยาพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที และดื่มน้ำตามมากๆ

จะเห็นได้ว่า “ยาแก้อักเสบ” บางครั้งอาจหมายถึงยาปฏิชีวนะ แต่ในบางครั้งก็ไม่ใช่ การที่ใช้คำว่า “ยาแก้อักเสบ” จึงอาจสร้างความเข้าใจผิดได้ และเนื่องจากยาทั้ง 2 กลุ่มสามารถหาซื้อได้ที่ร้านขายยาทั่วไป อาจมีผู้ป่วยบางส่วนซื้อยาแก้อักเสบมาใช้เองอย่างผิดวัตถุประสงค์ สลับกันระหว่างยาฆ่าเชื้อและยาแก้อักเสบ ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยให้อาการดีขึ้นแล้ว ยังอาจทำให้ผู้ใช้ยาเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยานั้นๆอีกด้วย หรือในกรณีของข้อบ่งใช้และวิธีการใช้ ก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยอาการกล้ามเนื้ออักเสบ และได้รับยาแก้อักเสบ ซึ่งในกรณีนี้เป็นยาลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ โดยทั่วไปจะให้รับประทานจนอาการหายดีแล้วหยุดยาได้ การรับประทานยานี้ต่อเนื่องกันนานๆ นอกจากจะระคายเคืองทางเดินอาหารแล้ว อาจทำให้ความดันโลหิตสูง บวมน้ำ หรือเกิดภาวะไตวายได้ แต่ถ้าผู้ป่วยมีความเข้าใจผิดว่า “ยาแก้อักเสบ” ทุกตัวต้องรับประทานต่อเนื่องจนยาหมด จึงรับประทานยาลดการอักเสบกล้ามเนื้อต่อเนื่องจนยาหมด แม้ว่าอาการอักเสบปวดกล้ามเนื้อจะหายไปก่อนที่ยาจะหมดแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นการได้รับยาเกินความจำเป็น

อันตรายจากการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ

  • แพ้ยา : หากแพ้ไม่มากอาจมีอาการแค่ผื่นคัน ถ้ารุนแรงขึ้น ผิวหนังจะเป็นรอยไหม้ หลุดลอก หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต
  • เกิดเชื้อดื้อยา : การกินยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อกระตุ้นให้เชื้อแบคทีเรียกลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยา ต้องเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะที่ใหม่ขึ้น แพงขึ้น ซึ่งเหลือให้ใช้อยู่ไม่กี่ชนิด สุดท้ายก็จะไม่มียารักษา และเสียชีวิตในที่สุด
  • เกิดโรคแทรกซ้อน : ยาปฏิชีวนะจะฆ่าทั้งแบคทีเรียก่อโรคและแบคทีเรียชนิดดีมีประโยชน์ในลำไส้ของเรา เมื่อแบคทีเรียชนิดดีตายไป เชื้ออื่นๆ ในตัวเราจึงฉวยโอกาสเติบโตมากขึ้น ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ลำไส้อักเสบอย่างรุนแรง โดยผนังลำไส้ที่ถูกทำลายหลุดลอกมากับอุจจาระ อันตรายถึงชีวิต

ดังนั้น หากเกิดภาวะเจ็บป่วยไปพบแพทย์และได้รับยาแก้อักเสบมา ให้อ่านฉลากอย่างละเอียดให้เข้าใจ หากมีข้อสงสัยให้สอบถามแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อให้การใช้ยาได้ประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุดและมีความปลอดภัย

ภญ.ณัฐกร จริยภมรกุร เภสัชกร ประจำ รพ.วิภาวดี

เอกสารอ้างอิง

  • ทหน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  • โครงการส่งเสริมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผลในร้านยา; สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) Health Systems Research Institute 

คุณเป็นเช่นนี้หรือไม่… 

          
 เจ็บป่วยด้วยโรคที่ต้องกินยาเป็นประจำ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเอดส์ เป็นต้น
 ไปรับการรักษาจากโรงพยาบาล หรือคลินิกหลายๆ แห่ง
 ซื้อยาและอาหารเสริมมากินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรเกี่ยวกับยาชนิดอื่นๆ ที่กินอยู่
ถ้าใช่…คุณก็มีโอกาสที่จะเกิดอันตรายจากยาตีกัน   

ยาตีกัน หมายถึง การที่ฤทธิ์ของยาตัวหนึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเมื่อได้รับยาอีกตัวหนึ่งร่วมด้วย โดยผลที่เกิดขึ้นอาจก่อให้เกิดการแพ้ยาหรืออาการไม่พึงประสงค์ขึ้น หรืออาจจะทำให้ผลการรักษาลดลง 

ซึ่งบางครั้งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ส่วนความรุนแรงของยาตีกันจะเกิดขึ้นมากหรือน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับสภาวะของผู้ป่วย ระยะเวลาที่ใช้ยาร่วมกัน และขนาดยาที่ใช้ด้วย 

สาเหตุของยาตีกัน

        ผู้ป่วยโรคเรื้อรังมักต้องรักษาด้วยยาเป็นหลัก และมักต้องใช้ยาหลายชนิดในการรักษา รวมถึงต้องใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ผู้ป่วยบางคนยังไปรับการรักษาจากสถานพยาบาลหลายแห่ง โดยไม่ได้แจ้งให้แพทย์ทราบ จึงมีโอกาสที่อาจจะได้รับยาซ้ำซ้อนกัน รวมถึงในบางครั้งผู้ป่วยโรคเรื้อรังอาจจะมีการเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นๆ เช่น เป็นหวัด ปวดหัว ท้องเสีย แล้วไปพบแพทย์ที่อื่นหรือซื้อยากินเอง โดยไม่ได้แจ้งให้แพทย์ หรือเภสัชกรทราบว่า ตัวเองกินยารักษาโรคเรื้อรังอื่นๆ อยู่ ก็อาจจะนำมาซึ่งปัญหายาตีกันได้

ยาแก้อักเสบกินกับยาพาราได้ไหม

ตัวอย่างยาตีกัน

        ยาลดความดันโลหิตสูงตีกับยาแก้ปวด :ผู้สูงอายุที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอาจจะมีปัญหาเรื่อง ปวดเข่า ปวดข้อตามวัย ซึ่งหากมีอาการปวดมากๆ ก็จำเป็นต้องกินยาบรรเทาอาการปวด และเพื่อป้องกันปัญหาการระคายเคืองกระเพาะอาหาร แพทย์จึงแนะนำให้ผู้ป่วยกินยาแก้ปวดทันทีหลังอาหาร แต่อาจจะลืมนึกไปว่า ยากลุ่มนี้ยังมีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัวได้เช่นกัน ดังนั้นหากผู้ป่วยกินยาแก้ปวดเป็นระยะเวลานานก็อาจจะไปกดฤทธิ์ยาลดความดันโลหิต ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถลดความดันโลหิตได้ 

        ยาลดความดันโลหิตสูงตีกับยาแก้แพ้อากาศ : ยาลดความดันโลหิตสูงจะออกฤทธิ์โดยการขยายหลอดเลือด เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ขณะที่ยาแก้แพ้อากาศ (ซึ่งใช้สำหรับแก้ไขอาการจาม น้ำมูกไหล คัดจมูก) จะออกฤทธิ์ด้วยการทำให้หลอดเลือดหดตัว ดังนั้นหากผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงต้องกินยาแก้แพ้อากาศเป็นระยะเวลานาน ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหายาตีกัน คือทำให้ผู้ป่วยควบคุมความดันไม่ได้ ดังนั้นหากจำเป็นต้องใช้ยาแก้แพ้อากาศร่วมกับยาลดความดันโลหิตสูงร่วมกันก็ควรใช้ไม่เกิน 2-3 วัน อย่าใช้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน  

        ยารักษาเบาหวานตีกับยาแก้แพ้อากาศ : ตามปกติผู้ป่วยเบาหวานต้องกินยามากอยู่แล้ว และคงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ป่วยเบาหวานจะไม่แพ้อากาศ คัดจมูก น้ำมูกไหล ซึ่งต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะยาแก้แพ้อากาศมีผลต่อการเพิ่มระดับอุณหภูมิในเลือด ซึ่งอาจจะส่งผลให้การออกฤทธิ์ของยาลดน้ำตาลในเลือดมีประสิทธิภาพลดลง  

        ยาแก้ท้องเสียชนิดที่เป็นถ่านตีกับยาเบาหวานและยาลดความดัน : ปัจจุบันผู้ป่วยนิยมกินถ่านเพื่อแก้ปัญหาท้องเสียมากขึ้น เพื่อให้ถ่านหรือคาร์บอนไปช่วยดูดซับสารพิษ แต่หากว่าผู้ป่วยกินถ่านพร้อมกับยาลดความดันโลหิตและยาลดระดับน้ำตาลในเลือด ถ่านก็จะไปจับกับยาเหล่านี้ ทำให้ประสิทธิภาพของยาเบาหวานและยาลดความดันโลหิตลดน้อยลง ดังนั้นหากว่าจะกินถ่านเพื่อแก้ปัญหาท้องเสีย ผู้ป่วยควรกินถ่านก่อนสัก 2 ชั่วโมง แล้วจึงค่อยกินยาลดความดันโลหิตสูง หรือยาเบาหวาน เพื่อที่ว่าถ่านจะได้ไม่ไปแย่งจับกับยาเบาหวาน หรือยาลดความดัน รวมถึงยาชนิดอื่นๆ ที่ผู้ป่วยต้องกินเป็นประจำ 

        ยาฆ่าเชื้อบางกลุ่มตีกับยาลดกรด : ผู้ป่วยที่ต้องกินยาลดกรดในกระเพาะเป็นประจำต้องระมัดระวัง หากว่ามีอาการท้องเสียและจะต้องกินยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ ยาลดกรดจะมีแร่ธาตุพวกแคลเซียม อลูมิเนียม ซึ่งจะทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยา โดยแร่ธาตุเหล่านี้จะไปจับกับยาฆ่าเชื้อ ทำให้ยาฆ่าเชื้อออกฤทธิ์ได้ลดลงกว่าครึ่ง ส่งผลให้การเชื้อลดลง แต่ผู้ป่วยสามารถแก้ปัญหานี้ได้ง่ายๆ ด้วยการกินยา 2 ชนิดนี้ให้ห่างกันประมาณ 1-2 ชั่วโมงเช่นกัน 

        ยาลดกรดลดประสิทธิภาพการดูดซึมแคลเซียม : เนื่องจากแคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่จะดูดซึมได้ดีในสภาพที่เป็นกรด จึงต้องอาศัยความเป็นกรดในลำไส้ละลายแคลเซียมแล้วจึงดูดซึม ดังนั้นหากว่าผู้ป่วยกินแคลเซียมพร้อมกับยาลดกรด ซึ่งจะทำให้สภาพความเป็นกรดในลำไส้ลดลง ยาลดกรดก็จะไปลดการละลายของแคลเซียมในลำไส้ลงด้วย ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งหมด ดังนั้นหากต้องการให้ร่างกายได้รับแคลเซียม 100 % เท่ากับที่กินไปก็ควรจะกินแยกมื้อกัน เช่น หากกินแคลเซียมพร้อมกับอาหารมื้อเช้า ก็อาจจะกินยาลดกรดในช่วงเย็น แต่ถ้าแพทย์สั่งว่าต้องกินยาลดกรดช่วงเช้า ก็เปลี่ยนไปกินแคลเซียมมื้อเย็นก็ได้ เพื่อยาจะได้ไม่ตีกัน 

ยาแก้อักเสบกินกับยาพาราได้ไหม

ยาแก้แพ้อากาศซ้ำซ้อนกับพาราเซตามอล : เนื่องจากยาลดไข้ ลดน้ำมูก แก้คัดจมูกบางชนิดที่วางจำหน่ายอยู่ในร้านขายยาจะมีพาราเซตามอลเป็นส่วนผสมอยู่แล้ว แต่หากว่าผู้ป่วยไม่ทราบก็อาจจะกินพาราเซตามอลเข้าไปอีกหากว่ามีอาการปวดศีรษะ ซึ่งทำให้ได้รับยาซ้ำซ้อน โดยปัญหาเช่นนี้อาจจะเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยที่กินยาคลายกล้ามเนื้อซึ่งมีพาราเซตามอลผสมอยู่เช่นกัน เพราะผู้ป่วยอาจจะได้รับพาราเซตามอลซ้ำซ้อนหากมีอาการปวดศีรษะเกิดขึ้น 

        อาหารเสริมตีกับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด : ผู้สูงอายุที่กินยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดหรือยาที่ทำให้เลือดแข็งตัวช้า อย่างเช่นแอสไพริน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะใช้ป้องกันภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดหัวใจอุดตัน ผู้ป่วยเหล่านี้ต้องระมัดระวังในการดื่มน้ำผลไม้และการกินอาหารเสริมบางอย่าง เช่น กระเทียม หรือแปะก๊วย เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น เกิดภาวะเลือดออกผิดปกติและอาจะเป็นอันตรายร้ายแรงได้ ดังนั้นหากไปพบแพทย์ก็ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากินอาหารเสริมอะไรอยู่บ้างเพื่อความปลอดภัย 

        ยาแก้ปวดไมเกรนตีกับยาต้านไวรัสเอดส์บางกลุ่ม : ผู้ป่วยเอดส์ที่ต้องกินยาต้านไวรัส เช่น ยาคาลีทร้า ยาอีฟาไวเร้น ต้องระมัดระวังการกินยาร่วมกับยาแก้ปวดไมเกรนที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อ คาร์เฟอกอต เพราะจะ ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงทันทีหลังจากกินยาร่วมกันภายใน 1-2 วัน โดยจะมีผลทำให้หลอดเลือดปลายมือปลายเท้าหดตัว ทำให้เกิดอาการชามือชาเท้า ต่อมาอาจจะมีอาการแขนขาอ่อนแรง ผิวหนังบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้าเริ่มมีสีม่วงคล้ำขึ้นจนเปลี่ยนเป็นสีดำ และสุดท้ายถ้าไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เกิดเนื้อตายจนต้องตัดแขนตัดขาทิ้งได้ ดังนั้นผู้ป่วยเอดส์ควรหลีกเลี่ยงการกินยาแก้ปวดไมเกรนคาร์เฟอกอต เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่รุนแรง ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะและต้องการยาบรรเทาอาการปวดศีรษะ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบว่า ตัวเองรับประทานยาต้านไวรัสเอดส์ชนิดใดอยู่  

        ปัญหาเรื่องยาตีกันหรือการใช้ยาซ้ำซ้อนสามารถเกิดขึ้นได้หากไม่รู้เท่าทัน ดังนั้นถ้าท่านมีโรคประจำตัวที่จะต้องกินยาต่อเนื่อง ทุกครั้งที่มีอาการเจ็บป่วยที่ต้องได้รับยาแตกต่างจากเดิม ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบเกี่ยวกับยาประจำตัวที่ท่านกินอยู่ ไม่ว่าจะเป็นยาที่ได้รับจากโรงพยาบาล คลินิกหรือยา และอาหารเสริมที่ซื้อมากินเอง เพื่อจะได้ปลอดภัยจากปัญหายาตีกัน 

———————————————–