การสร้าง เครือข่าย ชุมชนเข้มแข็ง

เมื่อวันที่ 27-28 เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ติดตามครูแดง ท่านเตือนใจ ดีเทศน์เข้าประชุมปฏิบัติการ “เครือข่ายชุมชนเข็มแข็ง” โดยมูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน วิทยากรกระบวนการหลักของการประชุมครั้งนี้คืออาจารย์เสรี พงศ์พิศ ผู้เข้าร่วมประชุมเป็นภาคีผู้สนับสนุนที่มาจากหลายเครือข่ายเช่น สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน (สสวช.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกลุ่มเครือข่ายชุมชนเข็มแข็งที่มาจากทั่วสารทิศ ทั้งเหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก

แนวคิดของ โครงการเครือข่ายชุมชนเข็มแข็ง “สู่ทศวรรษชุมชนเข้มแข็ง” 2552-2562[i]

บ้านเมืองมีปัญหา มีความแตกแยก เกิดความรุนแรงไปทั่ว รัฐผู้เดียวคงไม่สามารถจัดการกับสถานการณ์นี้ได้ ดังกรณีวิกฤติโรคเอดส์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งควบคุมได้เพราะความร่วมมือของทุกฝ่าย โดยเฉพาะชุมชนที่มีบทบาทสำคัญ

วิกฤตรอบใหม่ของเมืองไทยวันนี้มีความร้ายแรงยิ่งกว่า “เอดส์” มากนัก เพราะกระทบกระเทือนไปทุกย่อมหญ้า หรือทุกองคาพยพของสังคม จึงจำเป็นต้องระดมทุกฝ่ายเข้ามาช่วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ แต่ยังขาดการเชื่อมโยงให้เป็นเครือข่าย แม้กระจายไปทั่วแต่ไม่มีพลังเพียงพอเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติระดับชาติอันสาหัสนี้

การสร้างชุมชนเข้มแข็งจะเป็นการผนึกพลัง (Synergy) ผู้นำและชุมชนเข้มแข็งทั่วประเทศ ซึ่งมีเครือข่ายของตนเองอยู่แล้วทั้งในระดับท้องถิ่น จังหวัด ภูมิภาค จนกระทั่งระดับชาติ โดยใช้หลักการประสานเครือข่ายที่มีบทเรียนอยู่ทั่วโลก

เครือข่ายใหม่นี้จะช่วยกันหาทางออกสำหรับวิกฤติชาติในปัจจุบัน ทั้งระดับนโยบายของชาติและของท้องถิ่น รวมไปถึงแนวทางปฏิบัติของชุมชนและเครือข่าย โดยการสร้างพลังทางสังคม สร้างความรู้ และสร้างพลังทางการเมือง สร้างมติมหาชนผ่านเครือข่ายและเสนอนโยบายสาธารณะผ่านกลไกของรัฐ

เราได้รับมอบหมายให้สัมภาษณ์และเล่าเรื่องของแม่จินดา  บุญสระเกษ ประธานเครือข่ายองค์กรชุมชน และประธานกลุ่มสตรีแม่บ้าน อ.หนองบุญมากผ่านบทความเพื่อเสนอเรื่องเข้าชิงรางวัลลูกโลกสีเขียว  

การอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชุมชนบ้านใหม่สมบูรณ์ อ.หนองบุญมาก นครราชสีมา

 กลุ่มป่าชุมชน วิธีพอเพียง ตามวิถีบ้านใหม่:

            เดิมชุมชนตำบลบ้านใหม่เป็นพื้นที่ป่า ในเขตตำบลบ้านใหม่ ปัจจุบัน คือ พื้นที่ (ป่าดงอีจาน) ที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา มีลักษณะเป็นป่าดงดิบหนาแน่น ต่อมามนุษย์ได้อพยพมาสร้างที่อาศัย หาพื้นที่ทำการเกษตรกรรม ทำนา ดินมีความอุดมสมบูรณ์ มีน้ำมีความชุ่มเย็น มีสัตว์ป่ามากมาย กวาง เก้ง หมูป่า มนุษย์ได้ล่านำมาเป็นอาหารได้ มีนกป่าเป็นผู้สร้างป่า ปลูกป่า จากการนำพาเมล็ดพืชมาเพาะพันธุ์สัตว์ป่าหมดไปพร้อมป่าถูกทำลาย สาเหตุที่ป่าดงอีจานถูกทำลายลง จากการสร้างบ้านแปลนเมือง การสร้างบ้านเรือน สัมปทานทำไม้ต่าง ๆ เช่น สัมปทานไม้ซุง สัมปทานฟืนหลา ใช้เป็นเชื้อเพลิงจักรไอน้ำ สัมปทานถ่านไม้ ใช้หุงต้มอาหาร ไม่ว่าจะเป็นไม้เล็กหรือไม้ใหญ่ใช้ได้หมด จนถึงปี พ.ศ. 2507 ป่าดงอีจานถูกทำลายหมดสิ้นและได้มีนโยบายปลูกพืชไร่ ปอ มัน ข้าวโพด จากรัฐบาล พื้นที่ป่าก็ยิ่งถูกทำลายที่เหลือน้อยก็หมดไปถูกตัดทำลาย ป่าไม้กลับกลายเป็นพืชเศรษฐกิจ และเมื่อปี 2514 ชุมชนบ้านใหม่สมบูรณ์โดย นายเพชร  ฉ่ำพะเนาว์ ได้ขอร้องเพื่อนบ้านให้ช่วยกันอนุรักษ์ กันพื้นที่ป่าเอาไว้เพื่อจะได้นิมนต์พระภิกษุมาจำพรรษาอยู่ในหมู่บ้าน เพื่อใช้เป็นป่าช้าชุมชน และถ้าขืนทำลายป่าอยู่ต่อไป จะไม่มีป่าให้ลูกหลานได้เห็น ไม่มีที่ฝังศพตอนตาย ได้นิมนต์พระภิกษุในตัวเมืองโคราชมาจำพรรษาในป่าของหมู่บ้าน เพื่อปฏิบัติธรรมเพราะเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน พระและชาวบ้านช่วยกันดูแลป่าไม้ไว้อย่างจริงจังมากขึ้นในเนื้อที่ 300 ไร่เศษ ป่าที่เห็นเป็นไม้ขนาดเล็กในช่วงนั้นส่วนไม้ใหญ่หมดสิ้นไปแล้ว

          จากจุดเริ่มต้นในการตระหนักรู้คุณค่าป่าของคนในชุมชน อีกทั้งแกนนำชุมชนเริ่มมีความเข้าใจ และตระหนักในบทบาทของตนเอง ในการพัฒนาแบบยั่งยืน จากการเริ่มต้นเล็กๆในหมู่บ้าน พัฒนาเป็นระดับตำบล และขยายผลเป็นอำเภอ ปัจจุบันมีเนื้อที่ป่าชุมชนโดยรวมประมาณ 1,162 ไร่ แกนนำสำคัญโดยเฉพาะแม่จินดา บุษสระเกษ ประธานเครือข่ายองค์กรชุมชน และประธานกลุ่มสตรีแม่บ้าน อ.หนองบุญมาก ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุม อบรม สัมมนาในเวทีต่างๆที่หน่วยงานภายนอกจัดขึ้น ทำให้เป็นโอกาสในการเรียนรู้ของผู้นำ และเป็นโอกาสที่หน่วยงานภายนอกได้สนับสนุนการทำกิจกรรมพัฒนาชุมชนผ่านผู้นำชุมชนต่อไป

ชุมชนตำบลบ้านใหม่ เป็นศูนย์การเรียนรู้แบบพึ่งตนเองของชุมชน เป็นที่เรียนรู้ดูงานของผู้ที่สนใจการพัฒนาชุมชนแบบพึ่งตนเอง แวะเวียนการเข้ามาเรียนรู้ไม่ขาดสาย หน่วยงานภายนอก เช่น วิทยาลัยการจัดการทางสังคม ศูนย์ข้อมูลโคราช สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และอีกหลายหน่วยงาน ต่างนำโครงการพัฒนาต่างๆเข้ามาเสนอให้ชาวบ้านดำเนินการร่วมกันในรูปของความร่วมมือเป็นจำนวนมาก

บทบาทหน้าที่ของคนในชุมชน

            1.  ร่วมอนุรักษ์และพัฒนาป่าชุมชนเป็นป่าสมบูรณ์

            2.  ดูแลการใช้ประโยชน์จากป่า ใช้ในส่วนที่เป็นอาหารธรรมชาติเท่านั้น

            3.  กำหนดแนวทางการดำเนินงานของกลุ่มและสมาชิกในกลุ่ม

            4.  วางแผนการอนุรักษ์ พัฒนา ฟื้นฟู ขยายพื้นที่ป่าชุมชนเพิ่มขึ้น

            5.  จัดหาแหล่งเงินทุน เพิ่มเติมทั้งภาครัฐและเอกชนสนับสนุนในการฟื้นฟูป่า

            6.  ร่วมพัฒนาพื้นที่ป่าเป็นศาสนสถาน เพื่อพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม และใช้หลักธรรมรักษาป่า

            7.  บริหารจัดการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

วิธีการทำงาน (กระบวนการทำงาน)

            1.  มีการประชุมเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน

            2.  มีการรณรงค์ ให้ความรู้ และร่วมกันอนุรักษ์

            3.  ตั้งคณะกรรมการสอดส่องดูแลผู้ที่มาใช้ประโยชน์

            4.  มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้มาร่วมกันรักษาป่า

            5.  ดำเนินการเพาะขยายพันธุ์กล้าไม้ที่หายากใกล้ศูนย์พันธ์ปลูกทดแทนในที่ว่างหรือถูกทำลาย

            6.  สร้างศาสนสถานในป่าเพื่อเป็นแหล่งอบรมคุณธรรม จริยธรรม ประกอบกิจการทางศาสนา

            7.  มีการอบรมคุณธรรมจริยธรรม ปลูกฝังคุณธรรมการรักษ์ป่าแก่เด็กและเยาวชน

            8.  พัฒนาพื้นที่ ประชาสัมพันธ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเรียนรู้

ผลที่เกิดขึ้น

            1.  เป็นแหล่งอาหารทางธรรมชาติ จากพืช โดยเฉพาะ ผักหวาน และเห็ด

            2.  เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ เรียนรู้ธรรมชาติของป่า

            3.  เป็นแหล่งศึกษาดูงานเรื่องพืชพันธุ์ผักหวาน

            4.  เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา

            5.  เป็นสถานที่ศึกษาอบรม อบรมคุณธรรมจริยธรรม

            6.  เป็นสถานที่ประชุมสงฆ์ เข้าปริวาสกรรม

            7.  มีการขยายพันธุ์ไม้เพื่อปลูก จำหน่ายเป็นรายได้เสริม

            8.  มีการฟื้นฟูสภาพป่าโดยใช้ปุ๋ยชีวภาพหรือใช้เศษใบไม้ในการปรับสภาพดิน

กิจกรรมของชุมชน

นอกจากนโยบายหลัก”ยกป่าเข้าชุมชน” ที่แม่จินดากล่าวว่าเป็นการจัดสวัสดิการคืนป่าให้แก่ธรรมชาติ สร้างครัวและภูมิคุ้มกันให้แก่คนในชุมชนที่ปฏิบัติกันมาเกือบ 30 ปีแล้ว ทำให้กลายเป็นชุมชนเข้มแข็ง มีรายได้เป็นของตนเอง ส่งเสริมให้ชาวบ้านทำมาหากินในถิ่นกำเนิดของตน ไม่ต้องอพยพแรงงานเข้าไปทำงานในเมือง ยังมีกิจกรรมดีๆที่ส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าดังนี้

ปลูกป่าวันแม่

โดยกิจกรรมนี้จะจัดขึ้นทุกวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี อาศัยความร่วมมือกันของ 9 ตำบลใน อ.หนองบุญมากเป็นฐาน มีการเดินรณรงค์ ปลูกป่าลดโลกร้อน ซึ่งแม่จินดากล่าวว่า “เป็นการสร้างกระแส ปลูกฝังจิตสำนึกแก่คนในชุมชน อยากให้กลายเป็นวัฒนธรรมแก่สังคม ให้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของธรรมชาติ”

กลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ

เฟื่องฟ้างามเป็นคำขวัญของอำเภอหนองบุญมากปัจจุบัน  ก่อนที่จะมาเป็นไม้ประดับเฟื่องฟ้า หนองบุญมากนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2530 ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำมาก ยิ่งฟ้าฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลแล้ว โอกาสที่จะทำการเกษตรจะประสบผลสำเร็จนั้นย่อมลดลงตามลำดับ เกษตรกรส่วนใหญ่ ได้หาทางเลือกในการดำเนินชีวิตโดยสร้างอาชีพเสริมรายได้ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ และไม่รู้จะหาทางเลือกใหม่ได้อย่างไร

เมื่อนายประกอบ บุษสระเกษ ไปรู้จักกับเพื่อนที่ประกอบอาชีพไม้ดอกไม้ประดับที่อยู่จังหวัดปราจีนบุรี จึงได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการเพาะต้นกล้า การตัดทรงต่าง ๆ (ออกแบบ) และขั้นตอนสำคัญอย่างยิ่งคือการเปลี่ยนสายพันธุ์ โดยศึกษาสายพันธุ์ต่าง ๆ และที่มาที่ไปของสายพันธุ์เฟื่องฟ้า สายพันธุ์เฟื่องฟ้าที่นิยมนำมาต่อ ม่วงประเสริฐศรี ขาวน้ำผึ้ง แดงจินดา ชมภูพร ซากุระ ขาวสุมาลี สาวิตรี นุจรินทร์ ฯลฯ เฟื่องฟ้าเป็นต้นไม้ที่ปลูกง่ายเจริญเติบโตได้เร็ว ทนต่อสภาพความแห้งแล้งของดินฟ้าอากาศได้ดีมาก เมื่อทำการทดลองเพาะปลูกลงพื้นดินและนำมาใส่กระถาง ปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ให้สวยงาม และนำผลผลิตจำหน่ายแล้ว นายประกอบจึงได้ขยายผลถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ชุมชนตำบลบ้านใหม่และผู้ที่สนใจโดยทั่วไป

กลุ่มผักโบราณอาหารพื้นบ้าน  (ผักหวาน)

จากแรงจูงใจในการคิด การทำ อันเนื่องจากป่าชุมชนบ้านใหม่สมบูรณ์ ได้พยายามอนุรักษ์ฟื้นฟูให้มีสภาพป่าดังเดิม แต่กว่าจะเห็นเป็นป่าสมบูรณ์เช่นนี้ต้องอนุรักษ์กัน ฟื้นฟูกันยาวนานร่วม 30 ปี และในการอนุรักษ์ป่าไว้นั้นทำให้มีครัวธรรมชาติอาหารจากป่าเกิดขึ้นอย่างหลากหลาย ล้วนเป็นอาหารไร้สารพิษที่ธรรมชาติสร้างไว้ ในป่าจะมีผักหวานป่าซึ่งเป็นไม้ยืนต้น ใช้ยอดอ่อนมาประกอบปรุงอาหารเลิศรสยิ่งนัก     

เมื่อพันธุ์ผักหวานหายาก จึงได้มีกลุ่มคนในชุมชนพยายามคิดค้นวิธีเพาะพันธุ์ จวบจนมีการศึกษาดูงานที่ชุมชนตำบลบ้านใหม่  และชาวบ้านใหม่สมบูรณ์ก็ค้นพบวิธีการจนเกิดองค์ความรู้ ทดลองปลูกและขยายพันธุ์เรื่อยมา

การจัดทำแผนแม่บทชุมชน

เนื่องจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่ป่าบ้านใหม่นั้น มีสัตว์น้ำเป็นแหล่งอาหาร เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชาวบ้าน ทำให้ลดรายจ่ายที่ไม่ต้องไปซื้อหาอาหารจากที่อื่น อีกทั้งยังสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ครัวเรือน เหตุนี้จึงได้มีการเสนอแผนแม่บทชุมชนต่อองค์การบริหารส่วนตำบล ให้มีการจัดทำแหล่งน้ำธรรมชาติเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นแหล่งอาหารและรายได้แก่ชาวบ้านเป็นการต่อไป       

จากนโยบาย “ยกผืนป่ามาอยู่ในบ้าน” และ “ทำให้ดูอยู่ให้เห็นเป็นตัวอย่าง” จนเป็นการสร้างกระแสอนุรักษ์ป่าได้ทั้งอำเภอของชุมชนตำบลบ้านใหม่ ชุมชนที่เข้มแข็งและยืนหยัดอยู่ท่ามกลางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้อย่างสมดุล และเป็นธรรม 9 หมู่บ้านของตำบลบ้านใหม่ นับเป็นชุมชนวิถีพอเพียงอีกแห่งหนึ่งที่มีการจัดตั้งกลุ่มกิจกรรมเพื่อการพึ่งตนเองอย่างหลากหลาย กว่าบ้านใหม่จะเติบโต เข้มแข็ง เป็นชุมชนเรียนรู้เหมือนเช่นทุกวันนี้ เมื่อก่อนชาวบ้านอยู่กันอย่างตัวใครตัวมัน ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำกิน แต่ปัจจุบัน ชาวบ้านได้หันมาพึ่งพากันมากขึ้น มองเห็นความสำคัญของความเป็นชุมชน และทุนทางสังคมเดิมที่มีอยู่มากมายเต็มชุมชน โดยมีการสนับสนุน แลกเปลี่ยนรู้ร่วมกันกับหน่วยงานพัฒนาต่างๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน
           หนึ่งในทุนที่สำคัญของชุมชน ก็คือ”ป่า” ผืนป่าที่ชุมชนมีความฝันอยากจะเห็นผักหวานเต็มพื้นที่ เกิดชุมชนสังคมผักหวาน ยืนอยู่บนหลักคิดการพึ่งพาตนเอง เศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เช่นเดียวกับ “ธนาคารแรง” ที่เกิดขึ้นมาเพื่อทำให้ชาวบ้านช่วยเหลือพึ่งพิงซึ่งกันและกัน คล้ายกับวิถีเดิมที่มีการลงแขก เอาแรงขอแรงกันได้
            ขณะเดียวกันทั้งการฟื้นฟู ดูแลป่า การฟื้นวิถีพึ่งพาตนเองแบบเดิม ก็สอดคล้องกับการให้ความสำคัญกับวิถีการทำอาชีพเกษตรกรรมที่ชาวบ้านเริ่มปรับจากเกษตรเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ในปัจจุบัน โดยเริ่มจากคนจำนวนน้อยแล้วขยายแบบอย่างออกไป
          “วัฒนธรรมประเพณีของชุมชน” เป็นอีกหนึ่งปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดการรวมกลุ่มก้อนได้อย่างเหนียวแน่น ชุมชนยังคงดำรงรักษาวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชุมชนไว้ได้อย่างดี มีการฟื้นฟูจัดทำกิจกรรมการอนุรักษ์ฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมร่วมกันหลายต่อหลายกิจกรรม เช่น การเข้าวัดทำบุญในวันสำคัญทางศาสนา จัดงานบุญพระเวส รื้อฟื้นการสวดสรภัญญะ รักษาวิธีการทำนาวาน ฟื้นฟูการละเล่นกลองยาว โดยมีผู้รู้ภูมิปัญญาถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมประเพณีให้เยาวชนรุ่นหลัง (กลุ่มเยาวชนต้นกล้าความดี) ได้สืบทอดต่อมา กิจกรรมดังกล่าวสามารถรวมคนในชุมชนมาทำกิจกรรมร่วมกันได้ รวมทั้งก่อให้เกิดความเอื้ออาทรพึ่งพาอาศัยกันในการดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันในด้านอื่นๆ ด้วย



[i] แนวคิด เครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง สู่ทศวรรษสู่ทศวรรษชุมชนเข้มแข็ง การประชุมปฏิบัติการ “เครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง” 27-28 พฤษภาคม 2552 โรงแรมแม๊กซ์ กรุงเทพฯ

การสร้างความเข้มแข็งในชุมชนคืออะไร

การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน หมายถึง การกระตุ้นและสร้างกระบวนการ ท างานแบบมีส่วนร่วม ร่วมทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมให้ชุมชนร่วมคิด ร่วมกันท า และมีการเรียนรู้ เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันอันจะนาไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว การมีส่วนร่วม หมายถึง การเข้ามีส่วนในกิจกรรมบางอย่างร่วมกับคนอื่น

ชุมชนเข้มแข็งมีอะไรบ้าง

ชุมชนเข้มแข็ง หมายถึง ชุมชนที่ตระหนักถึงศักยภาพของตน สามารถ รวบรวมและดึงเอาทุนทางสังคมและทรัพยากรอันหลากหลายที่ตนมีอยู่มา เป็นฐานของการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้วยตนเองได้ โดยการแก้ไข ปัญหาต่างๆนั้นจะริเริ่มจากชุมชนเอง หากจะร่วมมือหรือพึ่งพาอาศัย

เครือข่ายในชุมชน มีอะไรบ้าง

1. เครือข่ายภาคประชาชน เป็นเครือข่ายที่มีบทบาทสำคัญในการ บริหารจัดการและดำเนินงาน ซึ่งอาจเป็นกลุ่มบุคคล กลุ่มองค์กร หรือ กลุ่มเครือข่ายที่มีในชุมชน ได้แก่ 1.1. คณะกรรมการหมู่บ้าน 1.2. กลุ่มองค์กรหรือชมรม สมาคมต่าง ๆ ที่เข้มแข็ง ✿ กลุ่มต่างๆ ได้แก่ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มสตรี กลุ่มสัจจะ

มีปัจจัยใดบ้างที่จะส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน

3. แนวทางการเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง มี5 ด้าน คือ 1) ด้านเทคโนโลยีของชุมชน 2) ด้าน เศรษฐกิจของชุมชน 3) ด้านทรัพยากรของชุมชน 4) ด้านการจัดการของชุมชน 5) ด้านการสร้างเครือ ข่ายของชุมชน ซึ่งแนวทางที่กล่าวมานี้จะน าไปสู่ความเป็นชุมชนนวัตวิถีที่มีเข้มแข็งในการสร้างความ มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน