พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาชื่อว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร คือ พระสูตรว่าด้วยการหมุนกงล้อแห่งพระธรรม แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะ ซึ่งเป็น ๑ ใน ๕ ปัญจวัคคีย์ บรรลุโสดาปัตติผล ทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรก

วันอาสาฬหบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ ๔๕ ปี ก่อนพุทธศักราช ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ คือ วันอาสาฬหปุรณมีดิถี หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นกาสี อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ คือโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ 

การแสดงธรรมครั้งนั้นทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะ ๑ ใน ๕ ปัญจวัคคีย์ เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้ดวงตาเห็นธรรมหรือบรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ท่านจึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ด้วยเหตุนี้พระอัญญาโกณฑัญญะ จึงกลายเป็นพระสาวกและภิกษุองค์แรก และทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรก คือ มีทั้งพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วันนี้ถูกเรียกว่าวันพระธรรม หรือวันพระธรรมจักร อันได้แก่ วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก และวันพระสงฆ์ คือ วันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก อีกด้วย

ความเป็นมาและความสำคัญ

วันอาสาฬหบูชา (บาลี: อาสาฬหปูชา, อักษรโรมัน: Āsāḷha Pūjā) เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธนิกายเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย คำว่าอาสาฬหบูชา ย่อมาจากอาสาฬหปูรณมีบูชา แปลว่าการบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ เป็นเดือน ๔ ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย แต่ทว่าตรงกับวันเพ็ญ เดือน ๘ ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนกรกฎาคมหรือเดือนสิงหาคม แต่ถ้าในปีใดมีเดือน ๘ สองหน ก็ให้เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน ๘ หลังแทน

วันอาสาฬหบูชา หรือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมที่ตรัสรู้เป็นครั้งแรก จึงถือได้ว่าวันนี้เป็นวันเริ่มต้นประกาศพระพุทธศาสนาแก่ชาวโลก และด้วยการที่พระพุทธเจ้าทรงสามารถแสดง เปิดเผย ทำให้แจ้ง แก่ชาวโลก ซึ่งพระธรรมที่ตรัสรู้ได้ จึงถือได้ว่า พระองค์ได้ทรงกลายเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์ คือ ทรงสำเร็จภารกิจแห่งการเป็นพระพุทธเจ้าผู้เป็นสัมมาสัมพุทธะ คือ เป็นพระพุทธเจ้าผู้สามารถแสดงสิ่งที่ตรัสรู้ให้ผู้อื่นรู้ตามได้ ซึ่งแตกต่างจากพระปัจเจกพุทธเจ้า ที่แม้จะตรัสรู้เองได้โดยชอบ แต่ทว่าไม่สามารถสอนหรือเปิดเผยให้ผู้อื่นรู้ตามได้ ด้วยเหตุนี้ วันอาสาฬหบูชาจึงมีชื่อเรียกว่าวันพระธรรม

วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่ท่านโกณฑัญญะ ได้บรรลุธรรมสำเร็จพระโสดาบันเป็นพระอริยบุคคลท่านแรก และได้รับประทานเอหิภิกขุอุปสมบทเป็นภิกษุองค์แรกในพระพุทธศาสนา และด้วยการที่ท่านเป็นพระอริยสงฆ์องค์แรก ดังกล่าว พระรัตนตรัยจึงครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรก ด้วยเหตุนี้ วันอาสาฬหบูชาจึงมีชื่อเรียกว่าวันพระสงฆ์

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

ตราสัญลักษณ์วันอาสาฬหบูชา ธรรมยาตราคุ้มครองโลก

ดังนั้น วันอาสาฬหบูชาจึงถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนาดังกล่าว ซึ่งควรพิจารณาเหตุผลโดยสรุปจากประกาศสำนักสังฆนายกเรื่องกำหนดพิธีอาสาฬหบูชา ที่ได้สรุปเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในวันอาสาฬหบูชาไว้โดยย่อ ดังนี้

๑. เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศศาสนาพุทธ

๒. เป็นวันแรกที่พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมจักร ประกาศสัจธรรม อันเป็นองค์แห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ

๓. เป็นวันที่พระอริยสงฆ์สาวกองค์แรกบังเกิดขึ้น คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา ในวันนั้น

๔. เป็นวันแรกที่บังเกิดสังฆรัตนะ สมบูรณ์เป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ

แต่เดิมนั้น ยังไม่มีการประกอบพิธีการบูชาในวันเพ็ญเดือน ๘ หรือวันอาสาฬหบูชา ในประเทศที่นับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทมาก่อน และเริ่มมีขึ้นในประเทศไทย ตามที่คณะสังฆมนตรี ได้กำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาของประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ตามคำแนะนำของพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี, ดำรงสมณศักดิ์ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๐ - พ.ศ. ๒๕๓๐) พร้อมทั้งกำหนดพิธีในวันอาสาฬหบูชาขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีพิธีปฏิบัติเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชา อันเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาสากล

อย่างไรก็ตาม วันอาสาฬหบูชาถือเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา ที่กำหนดให้เป็นวันหยุดราชการของรัฐเพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ส่วนในต่างประเทศที่นับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทอื่น ๆ ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับวันอาสาฬหบูชาเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชา

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันอาสาฬหบูชาตามพุทธประวัติ

ทรงท้อพระทัยในอันโปรดเหล่าเวไนยสัตว์

หลังจากได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมแล้ว พระองค์ได้ประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่บริเวณสัตตมหาสถานโดยรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลาถึง ๗ สัปดาห์ และในขณะทรงนั่งประทับเสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ ๕ หลังการตรัสรู้ ภายใต้ต้นอชปาลนิโครธ (หมายถึง ต้นไทร) ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ได้ทรงมานั่งคำนึงว่าสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้นั้นเป็นของลึกซึ้ง คนจะรู้และเข้าใจตามได้ยาก ตามความในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ว่า

... บัดนี้ ไม่สมควรที่เราจะประกาศธรรมที่เราตรัสรู้ เพราะธรรมที่เราตรัสรู้นั้นเป็นสิ่งที่คนทั่วไป ที่ถูกราคะ โทสะครอบงำอยู่จะไม่สามารถมองเห็นได้โดยง่าย, คนที่ถูกราคะย้อมไว้ ถูกกองมืด (คือ อวิชชา) หุ้มไว้มิดทั้งหลาย ย่อมไม่สามารถที่จะเข้าใจธรรมะของเราที่เป็นสิ่งทวนกระแส (อวิชชา) ที่มีสภาพลึกซึ้ง ละเอียดเช่นนี้ได้เลย...

ท้าวสหัมบดีพรหมทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรม

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

ท้าวสหัมบดีพรหม เสด็จลงมาจากพรหมโลกเพื่ออาราธนาให้พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมที่ตรัสรู้เพื่อเกื้อกูลแก่เหล่าเวไนยสัตว์

ตามความในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย เมื่อพระพุทธองค์ดำริจะไม่แสดงธรรมเช่นนี้ ปรากฏว่าท้าวสหัมบดีพรหม ได้ทราบความดังกล่าวจึงคิดว่า

"โลกจะฉิบหายละหนอ เพราะจิตของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าน้อมไปเพื่อความเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อแสดงธรรม"

ท้าวสหัมบดีพรหม จึงเสด็จลงจากพรหมโลกเพื่อมาอาราธนาให้พระพุทธองค์ทรงตัดสินใจที่จะทรงแสดงพระธรรมที่ตรัสรู้เพื่อเป็นการเกื้อกูลแก่เหล่าเวไนยสัตว์ และได้ทูลคาถาเป็นภาษาบาลีว่า

พรหมมา จะโลกาธิปะตี สะหัมปะตี กัตอัญชะลี อันธิวรัง อะยาจะถะ สันตีธะ สัตตาป ปะระชัก ขะชาติกา เทเสตุ ธัมมัง อุนะกัมปิมัง ปะชัง ฯ

ซึ่งแปลความเป็นภาษาไทยปัจจุบันดังนี้

ท้าวสหัมบดีพรหม ผู้เป็นอธิบดีแห่งโลก ได้ประคองอัญชลีทูลวิงวอนสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐว่า สัตว์ผู้มีธุลี ในดวงตาน้อย มีอยู่ในโลกนี้ ขอพระคุณเจ้าโปรดแสดงธรรม อนุเคราะห์ด้วยเถิด

จากที่มาที่ปรากฎในพระไตรปิฎกของคติพุทธศาสนาเถรวาทนี้ พุทธศาสนิกชนของศาสนาพุทธเถรวาทได้ใช้เป็นคำอาธนาธรรมในพิธีการของคติพุทธศาสนาเถรวาทสืบมา

จากนั้นท้าวสหัมบดีพรหม ได้กล่าวอาราธนาเป็นนิพนธ์คาถาอีก ใจความโดยสรุปว่า

ธรรมที่ผู้มีมลทินทั้งหลายคิดกันแล้ว ไม่บริสุทธิ์ ได้ปรากฏใน ชนชาวมคธทั้งหลายมาก่อนแล้ว ขอพระองค์จงเปิดอริยมรรค อันเป็นประตูพระนิพพานเถิด ขอสัตว์ทั้งหลายจงได้ฟังธรรม ที่พระองค์ผู้ปราศจากมลทิน ตรัสรู้แล้วเถิด ข้าแต่พระองค์ผู้มี เมธาดี มีจักษุรอบคอบ ขอพระองค์ผู้ปราศจากความโศก จงเสด็จขึ้นปัญญาปราสาทอันแล้วด้วยธรรม ทรงพิจารณาดู ประชุมชนผู้เกลื่อนกล่นด้วยความโศก อันชาติชราครอบงำแล้ว เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีจักษุยืนอยู่บนยอดภูเขาหินล้วน พึง เห็นประชุมชนโดยรอบ ฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้กล้า ทรงชนะ สงครามแล้ว ผู้นำสัตว์ออกจากกันดาร ผู้ไม่เป็นหนี้ ขอจงเสด็จ ลุกขึ้นเที่ยวไปในโลกเถิด ขอพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม เถิด สัตว์ผู้รู้ทั่วถึงจักมีอยู่.

เปรียบบุคคลด้วยดอกบัว ๓ เหล่า ตัดสินใจแสดงธรรม

หลังจากพระพุทธองค์ทรงพิจารณาตามคำเชื้อเชิญของสหัมบดีพรหมที่เชิญให้พระองค์แสดงธรรม พระพุทธองค์จึงทรงพิจารณาตรวจสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุ และทรงเห็นว่า สัตว์โลกที่ยังสอนได้มีอยู่ เปรียบด้วยดอกบัว ๓ จำพวก พวกที่จักสอนให้รู้ตามพระองค์ได้ง่ายก็มี พวกที่สอนได้ยากก็มี ฯลฯ ดังความต่อไปนี้

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

หลังจากท้าวสหัมบดีพรหมเสด็จมากราบทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม ทรงพิจารณาตรวจสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุแล้วทรงเห็นว่า อุปนิสัยของเวไนยสัตว์เปรียบด้วยดอกบัว ๓ เหล่า สัตว์โลกที่ยังสอนได้มีอยู่ พวกที่จักสอนให้รู้ตามพระองค์ได้ง่ายก็มี พวกที่สอนได้ยากก็มี เมื่อทรงพิจารณาเห็นดังนั้นแล้ว พระองค์จึงทรงตัดสินใจแสดงธรรมเกื้อกูลแก่เหล่าเวไนยสัตว์

... ครั้นอาตมภาพทราบว่าท้าวสหัมบดีพรหมอาราธนา และอาศัยความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย จึงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ. เมื่ออาตมภาพตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ได้เห็นหมู่สัตว์ซึ่งมีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยก็มี มีกิเลสดุจธุลีในจักษุมากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี มีอินทรีย์อ่อนก็มี มีอาการดีก็มี มีอาการเลวก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ยากก็มี บางพวกมีปกติเห็นโทษในปรโลกโดยเป็นภัยอยู่ก็มี เปรียบเหมือนในกอบัวขาบ ในกอบัวหลวง หรือในกอบัวขาว ดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาว ซึ่งเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ บางเหล่ายังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ น้ำหล่อเลี้ยงไว้ บางเหล่า ตั้งอยู่เสมอน้ำ บางเหล่า ตั้งขึ้นพ้นน้ำ น้ำไม่ติด ฉันใด ดูกรราชกุมาร เมื่ออาตมภาพตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ฉันนั้น ได้เห็นหมู่สัตว์ซึ่งมีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยก็มี มีกิเลสดุจธุลีในจักษุมากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี มีอินทรีย์อ่อนก็มี มีอาการดีก็มี มีอาการเลวก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ยากก็มี บางพวกมีปกติเห็นโทษในปรโลกโดยเป็นภัยอยู่ก็มี...

ด้วยเหตุที่พระพุทธองค์พิจารณาบุคคลเปรียบด้วยบัวสามเหล่าดังกล่าว พระพุทธองค์จึงทรงตัดสินใจที่จะแสดงธรรม เพราะทรงอาศัยบุคคลที่สามารถตรัสรู้ธรรมตามพระองค์ได้เป็นหลัก ดังความที่ปรากฏใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ว่า

... บุคคลบางคนในโลกนี้ ได้เห็นพระตถาคต ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว จึงหยั่งลงสู่ความแน่นอนมั่นคงและความถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟัง ย่อมไม่หยั่งลงสู่ความแน่นอนมั่นคงและความถูกต้อง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาบุคคล ๓ จำพวกนั้น เพราะเห็นแก่ บุคคลผู้ได้เห็นพระตถาคต ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว จึงหยั่งลงสู่ความแน่นอนถูกต้องในกุศลธรรม เมื่อไม่ได้เห็นไม่ได้ฟัง ย่อมไม่หยั่งลง เราจึงอนุญาตการแสดงธรรมไว้ และก็เพราะ อาศัยบุคคลเหล่านี้เป็นหลักอีกเหมือนกัน จึงจำต้องแสดงธรรมแก่บุคคลประเภทอื่นด้วย...

ทรงปรารภถึงคนที่จะทรงแสดงธรรมก่อน

หลังจากทรงตั้งพระทัยที่จะนำสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้มาสอนแก่มนุษย์ทั้งหลาย พระองค์ได้ทรงพิจารณาหาบุคคลที่สมควรจะแสดงธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้โปรดก่อนเป็นบุคคลแรก ในครั้งแรกพระองค์ทรงระลึกถึง อาฬารดาบส กาลามโคตร และ อุทกดาบส รามบุตร ก่อน ซึ่งทั้งสองท่านเป็นพระอาจารย์ที่พระองค์ได้เข้าไปศึกษาในสำนักของท่านก่อนปลีกตัวออกมาแสวงหาโพธิญาณด้วยพระองค์เอง ก็ทรงทราบว่าทั้งสองท่านได้เสียชีวิตแล้ว

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

พระพุทธเจ้าทรงปรารภถึงคนที่จะทรงแสดงธรรมก่อน คืออาฬารดาบส กาลามโคตร และอุทกดาบส รามบุตร (ในภาพ) พระมหาบุรุษ เมื่อครั้งทรงเข้าศึกษาในสำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร เป็นสำนักแรก ซึ่งเน้นการปฏิบัติทางบำเพ็ญจิตโดยเจริญสมาธิเกิดฌานสมาบัติ ๗ แล้วทรงศึกษาต่อในสำนักอุทกดาบส รามบุตร สำเร็จฌานสมาบัติ ๘ ทรงศึกษาปฏิบัติได้เทียบเท่าครู แต่ทรงเห็นว่าน่าจะมีหนทางในวิธีปฏิบัติให้บรรลุได้ยิ่งกว่า จึงเสด็จไปบำเพ็ญตบะด้วยตนเองตามลำพัง

ลำดับต่อมา พระองค์จึงได้ทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ผู้ที่เคยอุปัฏฐากพระองค์ในระหว่างที่ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา และทรงทราบด้วยพระญาณว่า กลุ่มปัญจวัคคีย์พำนักอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี พระองค์จึงตั้งใจเสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวันเพื่อแสดงธรรมเป็นครั้งแรกโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕

เสด็จสู่พาราณสี โปรดปัญจวัคคีย์

พระพุทธองค์ใช้เวลากว่า ๑๑ วัน เป็นระยะทางกว่า ๒๖๐ กิโลเมตร เพื่อเสด็จจากตำบลอุรุเวลา ตำบลที่ตรัสรู้ ไปยังที่พักของเหล่าปัญจวัคคีย์ (สถานที่แห่งนี้ชาวพุทธในยุคหลังได้สร้างสถูปขนาดใหญ่ไว้ ปัจจุบันเหลือเพียงซากกองอิฐมหึมา เรียกว่าเจาคันธีสถูป ) เมื่อพระองค์เสด็จไปถึงที่อยู่ของเหล่าปัญจวัคคีย์ในวันเพ็ญเดือน ๘ (อาสาฬหมาส) ขณะที่พระองค์กำลังเสด็จเข้าไปที่พักของเหล่าปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์ได้เห็นพระพุทธเจ้ามาแต่ไกล

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

เจาคันธีสถูป หรือเจาขัณฑีสถูป ตั้งอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในสารนาถ รัฐอุตตรประเทศ (ประเทศอินเดีย ในปัจจุบัน) พระเจ้าอโศกมหาราช โปรดให้สร้างขึ้นตรงจุดที่พระโคตมพุทธเจ้า ทรงพบกับปัญจวัคคีย์ ทั้ง ๕ ก่อนที่พระองค์จะทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตร (ในภาพ) เจาคันธีสถูป เมื่อปี ค.ศ. ๑๘๖๐

ด้วยเหตุที่ปัญจวัคคีย์รังเกียจว่า "เจ้าชายสิทธัตถะผู้ได้เลิกการบำเพ็ญทุกขกิริยาหันมาเสวยอาหารเป็นผู้หมดโอกาสบรรลุธรรมได้เสด็จมา" ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ จึงได้นัดหมายกันและกันว่า "พวกเราไม่พึงอภิวาท ไม่พึงลุกขึ้นต้อนรับพระองค์ ไม่พึงรับบาตรจีวรของพระองค์ แต่พึงวางอาสนะไว้ ถ้าพระองค์ปรารถนาจะนั่งก็จักประทับนั่งเอง"

ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปถึงกลุ่มพระปัญจวัคคีย์ พระปัญจวัคคีย์นั้นกลับลืมข้อตกลงที่ตั้งกันไว้แต่แรกเสียสิ้น ต่างลุกขึ้นมาต้อนรับพระพุทธเจ้า รูปหนึ่งรับบาตรจีวรของพระผู้มีพระภาค รูปหนึ่งปูอาสนะ รูปหนึ่งจัดหาน้ำล้างพระบาท รูปหนึ่งจัดตั้งตั่งรองพระบาท รูปหนึ่งนำกระเบื้องเช็ดพระบาทเข้าไปถวาย พระพุทธเจ้าจึงประทับนั่งบนอาสนะที่พระปัญจวัคคีย์จัดถวายไว้

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

พระพุทธเจ้าเสด็จถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เห็นพระพุทธองค์แต่ไกล แล้วได้นัดหมายกันและกันว่าจะไม่ต้อนรับ แต่แล้วก็กลับใจ

พระพุทธองค์ตรัสว่า "เราตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมฤตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอน จะแสดงธรรม พวกเธอปฏิบัติอยู่ตามที่เราสั่งสอนแล้ว ไม่ช้าสักเท่าไร 'จักทำให้เข้าใจแจ้งซึ่งคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์' ที่คนทั้งหลายผู้พากันออกบวชจากเรือนต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเอง"

แรกทีเดียวพระปัญจวัคคีย์ยังไม่เชื่อว่าพระพุทธองค์ทรงเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ จึงค้านถึงสามครั้งว่า "แม้ด้วยจริยานั้น แม้ด้วยปฏิปทานั้น แม้ด้วยทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยังไม่ได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ความเห็นพิเศษ อย่างประเสริฐ อย่างสามารถ (อุตตริมนุสสธรรมอลมริยญาณทัสสนวิเสส) ก็บัดนี้พระองค์เป็นผู้มักมาก คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจักบรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ ความเห็นพิเศษอย่างประเสริฐอย่างสามารถได้เล่า"

พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า "พวกเธอยังจำได้หรือว่า เราได้เคยพูดถ้อยคำเช่นนี้มาก่อน" และทรงตรัสว่า

... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ท่านทั้งหลายจงเงี่ยโสตลงเถิด เราจะสั่งสอนอมตธรรมที่เราบรรลุแล้ว เราจะแสดงธรรม เมื่อท่านทั้งหลายปฏิบัติตามที่เราสั่งสอนอยู่ ไม่ช้าเท่าไรก็จักทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่...

ด้วยพระดำรัสดังกล่าว พระปัญจวัคคีย์จึงได้ยอมเชื่อฟังพระพุทธองค์ เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ยิ่ง

ประกาศพระสัจธรรม แสดงปฐมเทศนา

เมื่อปัญจวัคคีย์ตั้งใจเพื่อสดับพระธรรมของพระองค์แล้ว พระพุทธองค์ทรงจึงทรงพาเหล่าปัญจวัคคีย์ไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันอันร่มรื่น แล้วทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (บาลีและสันสกฤต: Dharmacakrapravartana Sūtra, อังกฤษ: The Setting in Motion of the Wheel of the Dharma Sutta) ซึ่งเรียกว่าปฐมเทศนา เป็นการยังธรรมจักร คือ การเผยแผ่พระธรรมให้เป็นไปเป็นครั้งแรกในโลก ดังเนื้อความตามพระไตรปิฎกว่า

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาชื่อว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร คือ พระสูตรว่าด้วยการหมุนกงล้อแห่งพระธรรม แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ คือโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นกาสี การแสดงธรรมครั้งนั้นทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะ ซึ่งเป็น ๑ ใน ๕ ปัญจวัคคีย์ เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้ดวงตาเห็นธรรม ทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรก

... ภิกษุทั้งหลาย! ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประกาศอนุตตรธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้นครพาราณสี, เป็นพระธรรมจักรที่สมณะพราหมณ์, เทพ มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลก จะต้านทานให้หมุนกลับไม่ได้ (คือความจริงที่ไม่มีผู้ใดปฏิเสธได้) ข้อนี้คือ การบอก การแสดง การบัญญัติ การแต่งตั้ง การเปิดเผย การจำแนก และการทำให้ง่าย ซึ่งความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ได้แก่ ความจริงอันประเสริฐคือความทุกข์ , ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้เกิดทุกข์ , ความจริงอันประเสริฐคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ , และความจริงอันประเสริฐคือทางที่ทำให้ผู้ปฏิบัติตามลุถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ...

เมื่อพระพุทธองค์ตรัสแสดงพระปฐมเทศนานี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรมได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล ล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา" ท่านโกณฑัญญะได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลแล้ว

พระพุทธองค์ทรงทราบความที่พราหมณ์โกณฑัญญะเป็นผู้ได้ดวงตาเห็นธรรม มีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในคำสอนของพระองค์จึงทรงเปล่งพระอุทานว่า "อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ" แปลว่าโกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ เพราะเหตุนั้น คำว่าอัญญา นี้ จึงได้เป็นคำนำหน้าชื่อของท่านพระโกณฑัญญะ นับตั้งแต่นั้นมา

เมื่อท่านพระโกณฑัญญะได้บรรลุโสดาบันแล้ว จึงได้กราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์จึงทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา ว่า "เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด"

ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ จึงนับเป็นพระสงฆ์อริยสาวกองค์แรก ในพระพุทธศาสนา ซึ่งวันนั้นเป็นวันเพ็ญ กลางเดือนอาสาฬหะ หรือเดือน ๘ เป็นวันที่พระรัตนตรัยครบบริบูรณ์ บังเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก คือมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครบบริบูรณ์

หลักธรรมในวันอาสาฬหบูชา

เนื่องด้วยวันอาสาฬหบูชา มีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรแรกที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงขึ้นในโลก และได้ทรงแสดงเป็นครั้งแรกในวันอาสาฬหบูชานี้ หลักธรรมสำคัญในพระสูตรบทนี้จึงเป็นธรรมะสำคัญที่พุทธศาสนิกชนควรนำไปพิจารณาและทำความเข้าใจ และอาจจะเรียกได้ว่า หลักธรรมในพระสูตรดังกล่าวเป็นหลักธรรมสำคัญในวันอาสาฬหบูชา ซึ่งเนื้อหาในพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มี ๓ ตอน ดังนี้

๑. สิ่งที่ไม่ควรเสพสองอย่าง (ทางสุดโต่ง)

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

กามสุขัลลิกานุโยค คือ การปฏิบัติตนย่อหย่อนสบายกายเกินไป (ในภาพ) เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงเสวยสุขในปราสาท ๓ ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว ปราสาทเหล่านั้นมีชื่อว่ารมยปราสาท สุรมยปราสาท และสุภปราสาท ตามลำดับ ทรงได้รับการบำเรอด้วยหมู่สตรีงามที่ทำหน้าที่ต่าง ๆ กัน เช่น ฟ้อนรำ ขับกล่อมด้วยการขับร้องและเล่นดุริยดนตรีอันประณีต

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

อัตตกิลมถานุโยค คือ การปฏิบัติตนจนทรมานกายเกินไป (ในภาพ) พระมหาบุรุษ (นามบัญญัติของเจ้าชายสิทธัตถะ หลังออกบวช และก่อนตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ) ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ด้วยวิธีการต่าง ๆ กระทำความเพียรอย่างอุกฤษฎ์เป็นเวลาถึง ๖ ปี จนพระวรกายเหี่ยวแห้ง มีหนังติดกระดูก ลักษณะมหาปุริสลักษณะหายไป โดยมีหมู่ปัญจวัคคีย์ คอยเฝ้าปรนนิบัติ

ส่วนแรกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง คือ ทรงแสดงสิ่งที่ไม่ควรเสพสองอย่าง (ทางสุดโต่ง) อันได้แก่ การปฏิบัติตนย่อหย่อนสบายกายเกินไป (กามสุขัลลิกานุโยค) และการปฏิบัติตนจนทรมานกายเกินไป (อัตตกิลมถานุโยค) คือทรงแสดงการปฏิเสธลักษณะของลัทธิทั้งปวงที่มีในสมัยนั้นดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ที่สุดสองอย่างนี้อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ

การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑

การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑

การที่พระพุทธองค์ตรัสปฏิเสธแนวทางสองอย่างดังกล่าวมาในขณะเริ่มปฐมเทศนา เพื่อแสดงให้รู้ว่า พระพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาที่สอนให้พ้นจากทุกข์ด้วยการแก้ปัญหานอกกายคือ หนีความทุกข์ด้วยการมัวแต่แสวงหาความสุข (หนีความทุกข์อย่างไม่ยั่งยืน เพราะต้องแสวงหามาปรนเปรอตัณหาไม่สิ้นสุด) หรือหาทางพ้นทุกข์ด้วยการกระทำตนให้ลำบาก (สู้หรืออยู่กับความทุกข์อย่างโง่เขลา ขาดปัญญา ทำตนให้ลำบากโดยใช่เหตุ) เพื่อที่จะทรงขับเน้นหลักการที่พระพุทธองค์จะทรงแสดงต่อไปว่า มีความแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากแนวคิดพ้นทุกข์เดิม ๆ ซึ่งเป็นการประกาศแนวทางพ้นทุกข์ใหม่แก่โลก อันได้แก่ การแก้ทุกข์ที่ตัวต้นเหตุ คือ แก้ที่ภายในใจของเราเอง คือ มัชฌิมาปฏิปทา ของพระพุทธองค์

๒. มัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง)

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

พระมหาบุรุษ (นามบัญญัติของเจ้าชายสิทธัตถะ หลังออกบวช และก่อนตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ) ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา จนพระวรกายเหี่ยวแห้ง มีหนังติดกระดูก ลักษณะมหาปุริสลักษณะหายไป (ตามนัยอรรถกถา) พระอินทร์ดีดพิณถวายข้ออุปมา

ทุกกรกิริยา เป็นพรตอย่างหนึ่งซึ่งนักบวชสมัยนั้นนิยมทำกัน มีตั้งแต่อย่างต่ำธรรมดา จนถึงขั้นอาการปางตายที่เกินวิสัยสามัญมนุษย์จะทำได้อย่างยิ่งยวด ที่ว่าปางตาย กล่าวคือ กัดฟัน กลั้นลมหายใจเข้าออกและอดอาหาร พระมหาบุรุษทรงทดลองดูทุกอย่าง จนบางครั้ง เช่น คราวลดเสวยอาหารน้อยลง ๆ จนถึงงดเสวยเลย แทบสิ้นพระชนม์ พระกายซูบผอม พระโลมา (ขน) รากเน่าหลุดออกมา เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก เวลาเสด็จดำเนินถึงกับซวนเซล้มลง ทรงทดลองดูแล้วก็ทรงประจักษ์ความจริง

ความจริงที่ว่านี้ กวีท่านแต่งเป็นปุคคลาธิษฐาน คือ พระอินทร์ถือพิณสามสายมาทรงดีดให้ฟัง สายพิณที่หนึ่งลวดขึงตึงเกินไปเลยขาด สายที่สองหย่อนเกินไปดีดไม่ดัง สายที่สามไม่หย่อนไม่ตึงนัก ดีดดัง เพราะพระอินทร์ดีดพิณสายที่สาม (มัชฌิมาปฏิปทา) ดังออกมาเป็นความว่า

ไม้สดแช่อยู่ในน้ำ ทำอย่างไรก็สีให้เกิดไฟไม่ได้ ถึงอยู่บนบก แต่ยังสด ก็สีให้เกิดไฟไม่ได้ ส่วนไม้แห้งและอยู่บนบกจึงสีให้เกิดไฟได้ อย่างแรกเหมือนคนยังมีกิเลสและอยู่ครองเรือน อย่างที่สองเหมือนคนออกบวชแล้ว แต่ใจยังสดด้วยกิเลส อย่างที่สามเหมือนคนออกบวชแล้วใจเหี่ยวจากกิเลส

พอทรงเห็นหรือได้ยินเช่นนั้น พระมหาบุรุษจึงทรงเลิกบำเพ็ญทุกกรกิริยา ซึ่งเป็นความเพียรทางกาย แล้วเริ่มกลับเสวยอาหารเพื่อบำเพ็ญความเพียรทางใจ พวกปัญจวัคคีย์ทราบเข้าก็เกิดเสื่อมศรัทธา หาว่าพระมหาบุรุษคลายความเพียรเวียนมาเพื่อกลับเป็นผู้มักมากเสียแล้ว เลยพากันละทิ้งหน้าที่อุปัฏฐากหนีไปอยู่ที่อื่น

หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวปฏิเสธแนวทางพ้นทุกข์แบบเดิม ๆ แล้ว ได้ทรงแสดงเสนอแนวทางพ้นทุกข์ใหม่แก่โลก คือมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง คือ การปฏิบัติที่ไม่สุดตึงด้านใดด้านหนึ่ง อันได้แก่ การดำเนินตามมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งควรพิจารณาจากข้อความจากพระโอษฐ์โดยตรง ดังนี้

ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น นั่นตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตา ให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน นั้น เป็นไฉน?

ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่อริยมรรค มีองค์ ๘ นี้แหละ คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ เจรจาชอบ ๑ การงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ พยายามชอบ ๑ ระลึกชอบ ๑ ตั้งจิตชอบ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือปฏิปทาสายกลางนั้น ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.

๓. อริยสัจ ๔

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

ทรงตรัสรู้อริยสัจ ๔ สำเร็จพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ (ตามนัยอรรถกถา) ทวยเทพต่างบรรเลงดนตรีสวรรค์ ร่ายรำ ขับร้อง แซ่ซ้องถวายเป็นพุทธบูชาและกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณกันทั่วหน้า

สุดท้ายทรงแสดงสิ่งที่ทำให้พระองค์ตรัสรู้ คือทรงแสดงอริยสัจ ๔ ประการ และกิจ ที่ควรทำในอริยสัจ ๔ ประการ เพื่อการหลุดพ้นจากทุกข์ โดยแก้ที่สาเหตุของทุกข์ กล่าวคือ ทุกข์ ควรรู้, สมุทัย ควรละ, นิโรธ ควรทำให้แจ้ง และมรรค ลงมือปฏิบัติ

โดยข้อแรกคือทุกข์ ในอริยสัจทั้ง ๔ ข้อนั้น ทรงกล่าวถึงสิ่งเป็นความทุกข์ทั้งปวงในโลกไว้ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขอริยสัจ คือ ความเกิด ก็เป็นทุกข์ ความแก่ ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ ก็เป็นทุกข์ ความตาย ก็เป็นทุกข์ การเจอสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์ โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

จากนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า การยึดถือในสิ่งทั้งปวงนั่นเองเป็นสาเหตุแห่งความทุกข์ (สมุทัย) คือ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขสมุทัยอริยสัจ คือตัณหา อันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน มีปกติเพลิดเพลินในอารมณ์นั้น ๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา.

จากนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่าทุกข์สามารถดับไปได้ โดยการดับที่ตัวสาเหตุแห่งทุกข์ (นิโรธ) คือ ไม่ยึดถือว่ามีความทุกข์ หรือเราเป็นทุกข์ กล่าวคือ สละถอนเสียซึ่งการถือว่ามีตัวตน อันเป็นที่ตั้งของความทุกข์ (เมื่อไม่มีการยึดมั่นถือมั่นในใจว่าตนนั้นมีตัวตน ที่เป็นที่ตั้งของความทุกข์ ทุกข์ย่อมไม่มีที่ยึด จึงไม่มีความทุกข์) ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ตัณหานั่นแลดับ โดยไม่เหลือด้วยมรรคคือ หมดราคะ สละ สละคืน ปล่อยไป ไม่พัวพัน.

เมื่อพระพุทธองค์ตรัสถึงผลของการปฏิบัติกิจในศาสนาแล้ว จึงได้ตรัสแสดงมรรค คือ วิธีปฏิบัติตามทางสายกลางตามลำดับ ๘ ขั้น เพื่อหลุดพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง คือ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แหละ คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ เจรจาชอบ ๑ การงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ พยายามชอบ ๑ ระลึกชอบ ๑ ตั้งจิตชอบ ๑

โดยสรุป พระพุทธองค์ตรัสเรียงวิธีแก้ทุกข์ โดยแสดงให้เห็นปัญหา (ทุกข์) สาเหตุของปัญหา (สมุทัย) และจุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหาคือการดับทุกข์ (นิโรธ) โดยทรงแสดงวิธีปฏิบัติ (มรรค) ไว้ท้ายสุด เพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้ทราบจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติก่อน เพื่อการเข้าใจไม่ผิด และจะได้ปฏิบัติโดยมุ่งไปยังจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้โดยไม่คลาดเคลื่อน

บทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

(หันทะ มะยัง ธัมมะจักกัปปะวัตตะนะสุตตะปาฐัง ภะณามะ เส)

ทะเวเม ภิกขะเว อันตา,

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ที่สุดแห่งการกระทำสองอย่างเหล่านี้ มีอยู่,

ปัพพะชิเตนะ นะ เสวิตัพพา,

เป็นสิ่งที่บรรพชิตไม่ควรข้องแวะเลย,

โย จายัง กาเมสุ กามะสุขัลลิกานุโยโค,

นี้คือการประกอบตนพัวพันอยู่ด้วยความใคร่ในกามทั้งหลาย,

ไม่ใช่ข้อปฏิบัติของพระอริยเจ้า,

ไม่ประกอบด้วยประโยชน์เลย, นี้อย่างหนึ่ง

โย จายัง อัตตะกิละมะถานุโยโค,

อีกอย่างหนึ่ง คือการประกอบการทรมานตนให้ลำบาก,

ไม่ใช่ข้อปฏิบัติของพระอริยเจ้า,

ไม่ประกอบด้วยประโยชน์เลย,

เอเต เต ภิกขะเว อุโภ อันเต อะนุปะคัมมะ มัชฌิมา ปะฏิปะทา,

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลาง, ไม่เข้าไปหาที่สุดแห่งการกระทำสองอย่างนั้น, มีอยู่

ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา,

เป็นข้อปฏิบัติที่ตถาคตได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว,

เป็นเครื่องกระทำให้เกิดจักษุ,

เป็นเครื่องกระทำให้เกิดญาณ,

กะตะมา จะ สา ภิกขะเว มัชฌิมา ปะฏิปะทา,

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลางนั้นเป็นอย่างไรเล่า,

อะยะเมวะ อะริโย อัฏฐังคิโก มัคโค ฯ

ข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลางนั้น, คือข้อปฏิบัติเป็นหนทางอันประเสริฐ, ประกอบด้วยองค์แปดประการนี้เอง.

อะยัง โข สา ภิกขะเว มัชฌิมา ปะฏิปะทา,

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, นี้แล คือข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลาง,

ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา,

เป็นข้อปฏิบัติที่ตถาคตได้ตรัสรู้เฉพาะแล้ว,

เป็นเครื่องกระทำให้เกิดจักษุ,

เป็นเครื่องกระทำให้เกิดญาณ,

อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขัง อะริยะสัจจัง,

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ก็อริยสัจ คือ ทุกข์นี้, มีอยู่

โสกะปะริเทวะทุกขะ โทมะนัสสุปายาสาปิ ทุกขา,

ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์,

อัปปิเยหิ สัมปะโยโค ทุกโข,

ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์,

ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกโข,

ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์,

ยัมปิจฉัง นะ ละภะติ ตัมปิ ทุกขัง,

มีความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์,

สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา ฯ

ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้งห้า เป็นตัวทุกข์,

อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง,

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ก็อริยสัจคือ เหตุให้เกิดทุกข์นี้, มีอยู่

อันเป็นเครื่องทำให้มีการเกิดอีก,

นันทิราคะสะหะคะตา,

อันประกอบอยู่ด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน,

ตัต๎ระ ตัต๎ราภินันทินี ฯ

เป็นเครื่องทำให้เพลินอย่างยิ่งในอารมณ์นั้น ๆ,

อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ก็อริยสัจคือ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นี้, มีอยู่

โย ตัสสาเยวะ ตัณ๎หายะ อะเสสะวิราคะนิโรโธ,

นี้คือความดับสนิทเพราะจางไป โดยไม่มีเหลือของตัณหานั้น นั่นเอง,

เป็นความทำไม่ให้มีที่อาศัยซึ่งตัณหานั้น,

อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ก็อริยสัจคือ ข้อปฏิบัติที่ทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นี้, มีอยู่

อะยะเมวะ อะริโย อัฏฐังคิโก มัคโค ฯ

นี้คือข้อปฏิบัติเป็นหนทางอันประเสริฐ, ประกอบด้วยองค์แปด ประการ,

อิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว, ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ, จักขุง อุทะปาทิ, ญาณัง อุทะปาทิ, ปัญญา อุทะปาทิ, วิชชา อุทะปาทิ, อาโลโก อุทะปาทิ ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, จักษุเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ญาณเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ปัญญาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, วิชชาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ในธรรมที่เราไม่เคยฟังมาแต่ก่อน, ว่าอริยสัจจคือทุกข์, เป็นอย่างนี้ อย่างนี้, ดังนี้

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญเญย ยันติ,

ว่าก็อริยสัจคือทุกข์นั้นแล, เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้, ดังนี้

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญญาตันติ,

ว่าก็อริยสัจคือทุกข์นั้นแล, เรากำหนดรู้ได้แล้ว, ดังนี้

อิทัง ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว, ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ, จักขุง อุทะปาทิ, ญาณัง อุทะปาทิ, ปัญญา อุทะปาทิ, วิชชา อุทะปาทิ, อาโลโก อุทะปาทิ,

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, จักษุเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ญาณเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ปัญญาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, วิชชาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ในธรรมที่เราไม่เคยฟังมาแต่ก่อน, ว่าอริยสัจคือเหตุให้เกิดทุกข์, เป็นอย่างนี้ อย่างนี้, ดังนี้

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง ปะหาตัพพันติ,

ว่าก็อริยสัจคือ เหตุให้เกิดทุกข์นั้นแล, เป็นสิ่งที่ควรละเสีย, ดังนี้

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง ปะหีนันติ,

ว่าก็อริยสัจคือ เหตุให้เกิดทุกข์นั้นแล, เราละได้แล้ว, ดังนี้

อิทัง ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว, ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ, จักขุง อุทะปาทิ, ญาณัง อุทะปาทิ, ปัญญา อุทะปาทิ, วิชชา อุทะปาทิ, อาโลโก อุทะปาทิ,

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, จักษุเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ญาณเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ปัญญาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, วิชชาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ในธรรมที่เราไม่เคยฟังมาแต่ก่อน, ว่าอริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, เป็นอย่างนี้ อย่างนี้, ดังนี้

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง สัจฉิกาตัพพันติ,

ว่าก็อริยสัจคือ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้นแล, เป็นสิ่งที่ควรทำให้แจ้ง, ดังนี้

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง สัจฉิกะตันติ,

ว่าก็อริยสัจคือ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้นแล, เราทำให้แจ้งได้แล้ว, ดังนี้

อิทัง ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว, ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ, จักขุง อุทะปาทิ, ญาณัง อุทะปาทิ, ปัญญา อุทะปาทิ, วิชชา อุทะปาทิ, อาโลโก อุทะปาทิ,

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, จักษุเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ญาณเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ปัญญาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, วิชชาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ในธรรมที่เราไม่เคยฟังมาแต่ก่อน, ว่าอริยสัจคือข้อปฏิบัติที่ทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, เป็นอย่างนี้ อย่างนี้, ดังนี้

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง ภาเวตัพพันติ,

ว่าก็อริยสัจคือ ข้อปฏิบัติที่ทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้นแล, เป็นสิ่งที่ควรทำให้เกิดมี, ดังนี้

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง ภาวิตันติ,

ว่าก็อริยสัจคือ ข้อปฏิบัติที่ทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้นแล, เราทำให้เกิดมีได้แล้ว, ดังนี้

ยาวะกีวัญจะ เม ภิกขะเว, อิเมสุ จะตูสุ อะริยะสัจเจสุ, เอวันติปะริวัฏฏัง ท๎วาทะสาการัง ยะถาภูตัง ญาณะทัสสะนัง นะสุวิสุทธัง อะโหสิ,

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ปัญญาเครื่องรู้เห็นตามที่เป็นจริง มีปริวัฏฏ์สามมีอาการสิบสอง เช่นนั้น, ในอริยสัจทั้งสี่เหล่านี้ ยังไม่เป็นของบริสุทธิ์ หมดจดด้วยดีแก่เรา, อยู่เพียงใด

เนวะ ตาวาหัง ภิกขะเว สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพ๎รัห๎มะเก, สัสสะมะณะพ๎ราห๎มะณิยา ปะชายะ, สะเทวะมะนุสสายะ, อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ ปัจจัญญาสิง,

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ตลอดกาลเพียงนั้น, เรายังไม่ปฏิญญาณว่าได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว, ซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้ง เทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์, พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์,

ยะโต จะ โข เม ภิกขะเว, อิเมสุ จะตูสุ อะริยะสัจเจสุ, เอวันติปะริวัฏฏัง ท๎วาทะสาการัง ยะถาภูตัง ญาณะทัสสะนัง สุวิสุทธัง อะโหสิ,

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, เมื่อใด ปัญญาเครื่องรู้เห็นตามที่เป็นจริง, มีปริวัฏฏ์สามมีอากาสิบสองเช่นนั้น, ในอริยสัจทั้งสี่เหล่านี้, เป็นของบริสุทธิ์หมดจดด้วยดีแก่เรา,

อะถาหัง ภิกขะเว สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพ๎รัห๎มะเก, สัสสะมะณะพ๎ราห๎มะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ, อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ ปัจจัญญาสิง,

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, เมื่อนั้น เราปฏิญญาณว่า ได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว, ซึ่งอนุตตระสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก, ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์, พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์,

ญาณัญจะ ปะนะ เม ภิกขะเว ทัสสะนัง อุทะปาทิ,

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ก็ญาณและทัสสนะได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา,

ว่าความหลุดพ้นของเราไม่กลับกำเริบ,

ความเกิดนี้, เป็นความเกิดครั้งสุดท้าย,

บัดนี้ ความเกิดอีกย่อมไม่มี ดังนี้.

— — ที่มา: หนังสือสวดมนต์ เนื่องในงานอายุวัฒนมงคล มุฑิตาสักการะ ท่าน อ.ลักษณ์ พุทธธรรม (ธ.) ณ พุทธธรรมสถาน สำนักหน่อแก้วพระพุทธศาสนา อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี, เมษายน ๒๕๖๑, หน้า ๘๘ - ๙๙.

สถานที่สำคัญเนื่องด้วยวันอาสาฬหบูชา (สารนาถ)

สารนาถ เป็นพุทธสังเวชนียสถานแห่งที่ ๓ (ในจำนวนพุทธสังเวชนียสถานทั้งหมด ๔ แห่งของชาวพุทธ) ตั้งห่างจากเมืองพาราณสี เมืองศูนย์กลางทางศาสนาของศาสนาฮินดู ไปทางเหนือราวเก้ากิโลเมตร อยู่ในรัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย ในปัจจุบัน

เหตุที่ได้ชื่อว่าสารนาถ เนื่องมาจากสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา เริ่มต้นประกาศพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นที่พึ่งแก่มหาชนทั้งหลาย และบ้างก็ว่ามาจากศัพท์ว่า สารงฺค + นารถ = ที่อยู่ของสัตว์จำพวกกวาง สารนาถยังรู้จักกันดีในชื่ออิสิปตนมฤคทายวัน หรือฤๅษีปัตนมฤคทายวัน (บาลี: อิสิปตนมิคทายวน) แปลว่าป่าอันยกให้แก่หมู่กวาง และเป็นที่ชุมนุมฤๅษี

สารนาถในสมัยพุทธกาล

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

จิตรกรรมฝาผนังที่วัดเจดีย์เหลี่ยม หรือวัดกู่คำ ในจังหวัดเชียงใหม่ พรรณนาถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (แปลว่า ป่าอันยกให้แก่หมู่กวาง และเป็นที่ชุมนุมฤๅษี) ในสมัยพุทธกาล (ในภาพ) พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาชื่อว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร คือ พระสูตรว่าด้วยการหมุนกงล้อแห่งพระธรรม ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ คือวันอาสาฬหปุรณมีดิถี หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ (อังกฤษ: Asalha Puja-The sermon in the Deer Park) แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ คือโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ

สารนาถในสมัยพุทธกาล เรียกกันว่าป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เป็นสถานที่สงบและเป็นที่ชุมนุมของเหล่าฤษีและนักพรตต่าง ๆ ที่มาบำเพ็ญตบะและโยคะ เพื่อเข้าถึงพรหมมันตามความเชื่อในคัมภีร์อุปนิษัทของพรามหณ์ ทำให้เหล่าปัญจวัคคีย์ได้มาบำเพ็ญตบะที่นี่แทน หลังจากปลีกตัวมาจากเจ้าชายสิทธัตถะ (ภายหลังจากที่พระองค์ทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา)

หลังจากพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา และเทศน์โปรดปัญจวัคคีย์จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดแล้ว ได้ทรงพักจำพรรษาแรก ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พร้อมกับเหล่าปัญจวัคคีย์ ซึ่งในระหว่างจำพรรษาแรก พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดยสกุลบุตร บุตรแห่งตระกูลมหาเศรษฐีเมืองพาราณสี และบรรดาสหายของท่านที่เป็นบุตรแห่งมหาเศรษฐีอีก ๕๔ ท่าน (ที่รู้ข่าวแล้วออกบวชตาม) ในจำนวนนั้นทราบชื่อ ๔ ท่าน คือพระวิมละเถระ พระสุพาหุเถระ พระปุณณชิเถระ และพระควัมปติเถระ ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์รุ่นแรกในพระพุทธศาสนา ทำให้ในพรรษาแรกที่พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ได้มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก (รวมพระพุทธองค์ด้วย) ทั้งหมด ๖๑ องค์ด้วยกัน

นอกจากนี้ ในบริเวณสารนาถ ยังเป็นสถานที่สำคัญที่พระพุทธองค์ทรงประกาศเริ่มต้นส่งให้พระสาวกกลุ่มแรกออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาหลังจากทรงจำพรรษาแรกแล้ว (เชื่อกันว่าเป็นจุดที่เดียวกับที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา คือ ธรรมเมกขสถูป) ดังปรากฏความตอนนี้ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ว่า

...ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าได้ไปด้วยกัน ๒ รูป โดยทางเดียวกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง...

หลังจากพระพุทธองค์เสด็จออกจากสารนาถหลังประกาศส่งพระสาวกออกเผยแผ่พระศาสนา ไม่ปรากฏหลักฐานในพระไตรปิฎกว่ามีการสร้างอารามหรือสิ่งก่อสร้างในป่าสารนาถแห่งนี้แต่อย่างใด ทำให้สันนิษฐานได้ว่า สิ่งก่อสร้างใหญ่โตที่เป็นพุทธสถานเก่าแก่ในสารนาถที่ปรากฏให้เห็นในทุกวันนี้ คงจะได้มาเริ่มสร้างขึ้นกันในช่วงหลังจากที่ศาสนาพุทธได้เจริญรุ่งเรืองและมั่นคงในแคว้นมคธแล้ว

สารนาถหลังพุทธกาล

หลังพุทธกาล ประมาณ ๓๐๐ ปี พระเจ้าอโศกมหาราชได้เสด็จมาที่สารนาถ ในปี พ.ศ. ๒๙๕ ครั้งนั้นพระองค์ได้พบว่ามีสังฆารามใหญ่โตที่สารนาถแล้ว ในครั้งนั้นพระองค์ได้ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ในการบูรณะและก่อสร้างศาสนสถานเพิ่มเติมในสารนาถครั้งใหญ่ โดยพระองค์ได้สร้างสถูปและสิ่งต่าง ๆ มากมายในบริเวณกลุ่มสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมธรรมเทศนาและพระธรรมเทศนาอื่น ๆ แก่ปัญจวัคคีย์ และหมู่คันธกุฎีของพระพุทธเจ้า ในบริเวณสารนาถ เพื่อถวายเป็นอนุสรณียสถานแก่พระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

ภาพวาดจากหนังสือThe Indian Empire โดยโรเบิร์ต มอนต์โกเมอรี่ มาร์ติน (Robert Montgomery Martin) เล่มที่ ๓ (ในจำนวนทั้งหมด ๕ เล่ม) ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. ๑๘๖๐ พรรณนาสภาพของธรรมเมกขสถูป ในสารนาถ

กลุ่มพุทธสถานเหล่านี้ได้เจริญรุ่งเรืองต่อมาจนถึงขีดสุดในสมัยราชวงศ์คุปตะ (อังกฤษ: Gupta dynasty, ระหว่าง ค.ศ. ๒๘๐ - ค.ศ. ๕๕๐) ตามบันทึกของพระถังซัมจั๋ง (จีน: 玄奘, พินอิน: Xuánzàng, ประมาณ ค.ศ. ๖๐๒ - ๕ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๖๖๔) ​ซึ่งได้จาริกมาราว พ.ศ. ๑๒๘๐ ท่านได้กล่าวไว้ในบันทึกของท่านว่า ท่านได้พบสังฆารามใหญ่โต มีพระอยู่ประจำ ๑,๕๐๐ รูป ภายในกำแพงมีวิหารหลังหนึ่งสูงกว่า ๓๓ เมตร มีบันไดทางขึ้นปูด้วยแผ่นหินกว่า ๑๐๐ ขั้น กำแพงบันไดก่อด้วยอิฐเป็นขั้น ๆ ประดับด้วยพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของวิหารมีสถูปหินอ่อนสูง ๗๐ ฟุต (เสาอโศก) บนยอดเสามีรูปสิงห์สี่ตัวเป็นมันวาวราวกับหยกใสสะท้อนแสง มหาสถูป (หมายถึง ธรรมเมกขสถูป) มีพระพุทธรูปทองคำประดิษฐานอยู่ทุกช่อง ฯลฯ

กลุ่มพุทธสถานสารนาถได้เจริญรุ่งเรืองสลับกับความเสื่อมเป็นช่วง ๆ ต่อมา จนในที่สุดได้ถูกกองทัพมุสลิมเตอร์กบุกเข้ามาทำลายในปี พ.ศ. ๑๗๓๗ ทำให้มหาสังฆารามและพุทธวิหารในสารนาถถูกทำลายล้างและถูกทิ้งร้างไปอย่างสิ้นเชิงในระยะต่อมากว่า ๗๐๐ ปี เหลือเพียงกองดินและมหาสถูปใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมเมกขสถูป และเจาคันธีสถูป ที่เป็นกองสถูปอิฐใหญ่โตมาก

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

ภาพวาดสีน้ำ โดย Shaikh Abdullah เมื่อปี ค.ศ. ๑๘๑๔ พรรณนาสภาพของธรรมเมกขสถูป และเจาคันธีสถูป ในสารนาถ

สภาพของสารนาถหลังจากนั้นกลายเป็นกองดินกองอิฐมหึมา ทำให้หลังจากนั้น ชาวบ้านได้เข้ามารื้ออิฐจากสารนาถไปก่อสร้างอาคารในเมืองพาราณสีเป็นระยะ ๆ ซึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญคือเหตุการณ์ที่ราชาเชตสิงห์ (อังกฤษ: Raja Chait Singh) มหาราชาแห่งเมืองพาราณสี ได้สั่งให้ชคัตสิงห์อำมาตย์ ไปรื้ออิฐเก่าจากสารนาถเพื่อนำไปสร้างตลาดในเมืองพาราณสี (ปัจจุบันตลาดนี้เรียกว่าชคันคุนช์ ) โดยได้รื้อมหาธรรมราชิกสถูป ที่สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราชลง และได้พบกับผอบศิลาสีเขียวสองชั้น ชั้นในมีไข่มุก พลอยและแผ่นเงินทองอยู่ปนกับขี้เถ้าและอัฐิ ๓ ชิ้น ซึ่งเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่พระเจ้าอโศกมหาราชบรรจุไว้ แต่คชัตสิงห์กลับนำกระดูกไปลอยทิ้งที่แม่น้ำคงคา เพราะเชื่อว่าเจ้าของกระดูกในผอบคงจะไม่ได้ขึ้นสวรรค์เพราะไม่ได้นำกระดูกไปลอยน้ำตามธรรมเนียมฮินดู ในปี พ.ศ. ๒๓๓๗

จนเมื่ออินเดียตกไปอยู่ในความปกครองของอังกฤษในปี พ.ศ. ๒๔๒๐ ทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องตั้งเจ้าหน้าที่มาขุดค้นอย่างถูกต้องตามหลักโบราณคดี โดยสานงานต่อจากพันเอกแมคแคนซี่ นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ที่เข้ามาดูแลการขุดค้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๕๘ ซึ่งใช้เวลากว่าร้อยปีจึงจะขุดค้นสำเร็จในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ในสมัยที่ท่านเซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม เป็นหัวหน้ากองโบราณคดีอินเดีย จนช่วงหลังที่ท่านอนาคาริก ธรรมปาละ ชาวศรีลังกา ได้มาบูรณะฟื้นฟูสารนาถให้เป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยท่านได้ซื้อที่เพื่อสร้างวัดมูลคันธกุฏีวิหารใหม่ ซึ่งนับเป็นวัดพระพุทธศาสนาแห่งแรกในบริเวณสารนาถหลังจากถูกทำลาย

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

หัวสิงห์ ๔ ทิศ (แต่เดิมเคยอยู่บนยอดเสาพระเจ้าอโศก ) และพระพุทธปฏิมาธรรมจักรมุทรา พระพุทธรูปปางแสดงปฐมเทศนา ยุคสมัยคุปตะที่มีชื่อเสียง ในสมัยแรกขุดค้นสารนาถทางโบราณคดีในปี ค.ศ. ๑๙๐๕

ใกล้ ๆ กับสารนาถ เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สารนาถ สถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุที่ขุดค้นได้ภายในบริเวณสารนาถ ซึ่งโบราณวัตถุที่สำคัญคือยอดหัวสิงห์พระเจ้าอโศก และพระพุทธปฏิมาธรรมจักรมุทรา ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางแสดงปฐมเทศนา ซึ่งมีผู้ยกย่องว่ามีความสวยงามมากที่สุดองค์หนึ่งของโลก หลังจากนั้นเป็นต้นมา สารนาถได้รับการบูรณะจากรัฐบาลอินเดียเรื่อยมา ทำให้สารนาถกลายเป็นจุดหมายปลายทางในการแสวงบุญที่สำคัญแห่งหนึ่งของชาวพุทธทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน

จุดแสวงบุญและสภาพของสารนาถในปัจจุบัน

ปัจจุบัน สถานที่แสวงบุญในบริเวณสารนาถได้รับการขุดค้นบ้างเป็นบางส่วน บางส่วนก็ยังคงจมอยู่ใต้ดิน แต่ซากพุทธสถานสำคัญ ๆ ส่วนใหญ่ในพุทธประวัติก็ได้รับการขุดค้นขึ้นมาหมดแล้ว ได้แก่

ธัมมเมกขสถูป

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

ธัมมเมกขสถูป หรือธรรมเมกขสถูป ที่สารนาถ รัฐอุตตรประเทศ (เป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินเดีย ในปัจจุบัน) อนุสรณ์สถานแห่งการแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ในวันอาสาฬหบูชา (๑ ในพุทธสังเวชนียสถาน ๔ แห่ง ที่สำคัญของพุทธศาสนิกชน)

ธรรมเมกขสถูป หรือธัมมเมกขสถูป (อังกฤษ: Dhamek Stupa) มีหลายท่านสันนิษฐานว่า มาจากคำว่า ธัมม + มุข หมายถึงพระธรรมจากพระโอษฐ์ บ้างก็สันนิษฐานว่า มาจากคำว่า ธัมมะ + อิกข ตามหลักไวยากรณ์บาลี แปลงตัว อิ ให้เป็น เอ สนธิกับคำว่า ธัมมะ เป็นธัมมเมกขะ หมายถึงเห็นธรรม ส่วนสถูป หมายถึง สิ่งก่อสร้างที่มีรูปโอคว่ำซึ่งก่อไว้ สำหรับบรรจุของควรบูชา มีกระดูกของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ เป็นต้น เป็นอนุสรณ์สถานเตือนใจให้เกิดกุศลธรรม และเป็นตัวแทนแห่งการเห็นธรรมจักษุ หรือในอีกความหมายหนึ่ง สถูปนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ท่านผู้เห็นธรรมจักษุในครั้งนั้น คือพระอัญญาโกณทัญญะ นั่นเอง

นักโบราณคดีสันนิษฐานกันว่า จุดที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในวันอาสาฬหบูชา คือ ที่ตั้งของธัมมเมกขสถูป เพราะแม้ในพระไตรปิฎกจะไม่ระบุว่า จุดใดคือที่ตั้งของสถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนา และแม้สารนาถจะถูกทำลายและถูกทอดทิ้งไปนานกว่า ๗๐๐ ปี แต่ด้วยหลักฐานบันทึกของสมณทูตจีนที่บันทึกไว้และชื่อเรียกของสถูปแห่งนี้ที่มีนามว่าธัมมเมกขะ ที่แปลว่าผู้เห็นธรรม บอกชัดเจนว่า สถานที่นี้เป็นสถานที่แสดงปฐมเทศนา

ธัมมเมกขสถูปเป็นสถูปขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนที่เนิน มีความสูง ๓๓ เมตรครึ่ง และมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๘ เมตรครึ่ง ส่วนล่างก่อด้วยหินมีภาพสวัสดิกะเป็นแผ่นหินอยู่โดยรอบ สูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งทำเป็นช่อง ๆ แต่ละช่องประดิษฐานพระพุทธรูปแบบต่าง ๆ ช่องเหล่านั้นมีขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้างคละกันไป สำหรับช่องใหญ่รอบองค์พระสถูปนั้นมี ๘ ช่อง ซึ่งมีความหมายถึงมรรคมีองค์ ๘ ประการ (อัฏฐังคิกมรรค)

ธัมมเมกขะสถูป ในปัจจุบัน เป็นโบราณสถานที่มีขนาดใหญ่โตมากที่สุดในสารนาถ แม้สถูปแห่งนี้จะถูกผู้บุกรุกพยายามรื้อถอนทำลายอย่างเป็นระบบหลายครั้ง แต่มหาสถูปองค์นี้ก็ยังคงตั้งอยู่ เป็นโบราณสถานที่เด่นที่สุดในสารนาถ มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หลังโบราณสถานสารนาถได้รับการบูรณะ รัฐบาลอินเดียได้มีการเทพื้นซีเมนต์รอบธรรมเมกขสถูปและตกแต่งบริเวณโดยรอบเป็นสวนหย่อม เป็นที่สัปปายะ เหมาะแก่การเจริญจิตภาวนาและปฏิบัติธรรม

เจาคันธีสถูป

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

เจาคันธีสถูป หรือเจาขัณฑีสถูป ตั้งอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในสารนาถ รัฐอุตตรประเทศ (เป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินเดีย ในปัจจุบัน) เมื่อครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช โปรดให้สร้างขึ้นตรงจุดที่พระโคตมพุทธเจ้า ทรงพบกับปัญจวัคคีย์ ทั้ง ๕ ก่อนที่พระองค์จะทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตร

เจาคันธีสถูป หรือเจาขัณฑีสถูป (อังกฤษ: Chaukhandi Stupa) สถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงพบปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เป็นครั้งแรกหลังจากตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เนื่องจากปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้หนีพระองค์มาจากพุทธคยา ครั้งที่พระองค์ทรงเลิกบำเพ็ญทุกขกิริยาใหม่ ๆ ตามพุทธประวัติทรงจาริกจากพุทธคยามาถึงสารนาถเป็นเวลา ๒ เดือน

เจาคันธีสถูป นี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราว ๆ พ.ศ. ๑๐๐๐ ในช่วงราชวงศ์คุปตะ แต่เดิมมีความสูง ๓๐๐ ฟุต แต่ผุพังไปตามกาลเวลาเหลือเพียง ๗๐ ฟุต ลักษณะส่วนบนของพระสถูปได้เบี่ยงเบนไปจากพุทธศิลป์ดั้งเดิมมาก ด้วยว่าบิดาของพระเจ้าอักบาร์มหาราช กษัตริย์มุสลิมวงศ์โมกุล พระนามว่าหุมายุน ได้เสด็จลี้ภัยทางการเมือง แล้วมาหลบซ่อนข้าศึกที่พระสถูปแห่งนี้ เมื่อพ้นจากข้าศึกแล้ว พระเจ้าอักบาร์มหาราช ทรงสำนึกบุญคุณของพระสถูป ที่ทำให้พระบิดามาหลบซ่อนและรอดพ้นจากข้าศึกได้ จึงทรงให้มีการก่อสร้างต่อเติมพระสถูปขึ้นไปอีก แต่เพราะพระองค์เป็นมุสลิม ทำให้ศิลปะของพระสถูปที่ถูกต่อเติมนี้ ออกมาในแนวศิลป์แบบมุสลิม และเพราะเป็นที่ระลึกต่อพระบิดาของพระเจ้าอักบาร์มหาราช พระสถูปนี้จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่าสถูปหุมายุน

ปัจจุบันเจาคัณฑีสถูป ถือว่าเป็นหน้าด่านของสารนาถ ตั้งอยู่บนเนินดินพูนสูงพิเศษ สามารถขึ้นไปชมภายในและเดินขึ้นไปชมถึงยอดได้ จากบนยอดพระสถูปสามารถมองเห็นธัมมเมกขสถูป สถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนา อยู่ไม่ไกลนัก ถ้าเดินทางบนถนนจากพาราณสี เมื่อมาถึงสารนาถ จะพบเจาคัณฑีสถูปเป็นอันดับแรก ก่อนถึงอุทยานประวัติศาสตร์ (ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน) เพียงกิโลเมตรเศษ

ยสสถูป

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

ยสเจติยสถาน หรือยสสถูป ณ สารนาถ เป็นสถานที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเข้านิโรธสมาบัติ และเป็นสถานที่ยสกุลบุตร ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ (พระอรหันตสาวกองค์ที่ ๖ ของโลก) พร้อมกับบิดาของท่านที่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เป็นปฐมอุบาสก หมายถึง อุบาสกคนแรกของโลกที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

ยสเจติยสถาน หรือยสสถูป (อังกฤษ: Yasa Stupa) สถานที่แห่งความไม่วุ่นวายไม่อึดอัดขัดข้อง มีลักษณะเป็นพระสถูปขนาดเล็ก มีศาลาทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าครอบไว้ โดยมีความสูงจากพื้นดินประมาณ ๒ เมตร มีส่วนหนึ่งอยู่ลึกลงไปจากพื้นดินประมาณครึ่งเมตร เสาทั้งสี่มุมทำด้วยอิฐเผา มีหลังคาตัดตรง ส่วนฐานเป็นแผ่นดินเผาที่ได้แกะสลักเป็นรูปดอกไม้อย่างสวยงาม เป็นสถานที่ที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเข้านิโรธสมาบัติ และเป็นสถานที่พระพุทธองค์ทรงพบกับยสกุลบุตร

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

ยสกุลบุตร เกิดความเบื่อหน่ายสมบัติ เดินมุ่งหน้าไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พลางบ่นไปตลอดทางว่า "ที่นี่ วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ." เมื่อมาถึงชายป่าในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า ทันทีนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะยสกุลบุตรว่า "ดูกรยส ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง มาเถิดยส นั่งลง เราจักแสดงธรรมแก่เธอ."

ยสกุลบุตร เป็นบุตรเศรษฐี ในบริเวณตำบลคยาสีสะ เมืองพาราณสี แห่งแคว้นกาสี มีชีวิตความเป็นอยู่ที่หรูหราที่บิดาจัดให้ คล้ายคลึงกับพระบรมศาสดาครั้งยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ อยู่ คือ มีปราสาท ๓ ฤดู มีนางทาสี มีนางรำคอยขับกล่อม แต่ในคืนหนึ่ง ยสกุลบุตรตื่นมากลางดึก เห็นนางระบำและนางทาสีนอนกลิ้งเกลือก เสื้อผ้าหลุดลุ่ยดูแล้วน่าอนาถ เกิดความเบื่อหน่าย สังเวชใจ จึงรำพึงว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” เดินลงมาจากคฤหาสน์กลางดึกโดยไม่มีใครเห็น บ่นมาตลอดทาง จนกระทั่ง มาถึงที่พระพุทธเจ้าประทับ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน จวนจะรุ่งสาง พระองค์ได้ยินเสียงบ่นนั้น จึงตรัสตอบไปว่า “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง เธอจงนั่งลงตรงนี้เถิด เราจะแสดงธรรมแก่เธอ” ยสกุลบุตรได้ฟังเช่นนั้นจึงได้เข้าถวายบังคมพระบรมศาสดา และสดับพระธรรมเทศนา

พระพุทธองค์ทรงตรัสอนุปุพพิกถา คือ พระธรรมเทศนาที่แสดงความลุ่มลึกลงไปโดยลำดับ เพื่อฟอกอัธยาศัยของผู้ฟังให้หมดจด มีจิตสงบ อ่อนโยน ปลอดจากนิวรณ์ เบิกบานผ่องใส และประณีตขึ้นไปเป็นชั้น ๆ จากง่ายไปหายาก เพื่อเตรียมจิตของผู้ฟังให้พร้อมที่จะรับฟังพระธรรมเทศนาขั้นสูงขึ้นไป คืออริยสัจ ๔

อนุปุพพิกถา มี ๕ ประการ คือ

  • ๑. ทานกถา กล่าวถึงการให้และการเสียสละเผื่อแผ่แบ่งปันช่วยเหลือกัน (ทาน)
  • ๒. สีลกถา กล่าวถึงความประพฤติที่ถูกต้องดีงาม (ศีล)
  • ๓. สัคคกถา กล่าวถึง ความสุขความเจริญ และผลที่น่าปรารถนาอันเป็นส่วนดีของกามที่จะพึงเข้าถึง (คือ สวรรค์) เมื่อได้ประพฤติดีงามตามหลักธรรม ๒ ข้อ ข้างต้น
  • ๔. กามาทีนวกถา กล่าวถึง ส่วนเสียข้อบกพร่องของกาม พร้อมทั้งผลร้ายที่สืบเนื่องมาแต่กาม อันไม่ควรหลงใหลหมกมุ่นมัวเมา จนถึงรู้จักที่จะหน่ายถอนตนออกได้ (โทษแห่งกาม)
  • ๕. เนกขัมมานิสังสกถา กล่าวถึง ผลดีของการไม่หมกมุ่นเพลิดเพลินติดอยู่ในกาม และให้มีฉันทะที่จะแสวงความดีงาม และความสุขอันสงบที่ประณีตยิ่งขึ้นไปกว่านั้น (อานิสงส์แห่งการออกจากกาม และอานิสงส์การบวช)

ลำดับต่อมา พระบรมศาสดาทรงแสดงอริยสัจ ๔ (พระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง อันได้แก่ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ) จากการแสดงธรรมดังกล่าว ยังผลให้ยสกุลบุตร ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระอริยบุคคลชั้นต้นในพระพุทธศาสนา

เช้าวันรุ่งขึ้น บิดามารดาของยสกุลบุตรก็เกณฑ์ผู้คนตามหาเป็นการใหญ่ ทั้งสองคนเดินมุ่งหน้ามาทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พบพระพุทธเจ้า จึงเข้าไปถวายบังคม แล้วถามว่า พระองค์เห็นเด็กหนุ่มบุตรชายของตนมาทางนี้หรือไม่ ความจริงในขณะนี้ ยสกุลบุตรเธอก็อยู่กับพระพุทธองค์นั้นเอง แต่พระองค์ทรงใช้อิทธิภินิหาริย์ บันดาลให้พ่อแม่ลูกไม่เห็นกัน พระพุทธองค์ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ ให้สามีภรรยาคู่นั้นฟัง จบพระธรรมเทศนา ยสกุลบุตร ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ และได้เป็นพระอรหันตสาวกองค์ที่ ๖ ของโลก พร้อมทั้งยังผลให้บิดาของท่านบรรลุเป็นพระโสดาบัน ได้เป็นปฐมอุบาสก อุบาสกคนแรกของโลกที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ (ก่อนหน้านี้มีพ่อค้าพานิช ๒ พี่น้องชาวพม่า คือตปุสสะ กับภัลลิกะ เปล่งวาจาถึงพระรัตนะสอง คือพระพุทธเจ้าและพระธรรม เป็นสรณะ) จากนั้นยสกุลบุตรจึงทูลขอบวช พระพุทธองค์จึงได้ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา ให้เป็นภิกษุโดยสมบูรณ์

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนา โปรดยสะ และบิดามารดาของยสะ โดยได้กำบังกายของยสะไว้ ยสะได้ฟังพระสัทธรรมรอบที่ ๒ ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ และได้เป็นพระอรหันตสาวกองค์ที่ ๖ ของโลก และยังผลให้บิดาของท่านบรรลุเป็นพระโสดาบัน ได้เป็นปฐมอุบาสก คือ อุบาสกคนแรกของโลกที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

รุ่งเช้ามา พระพุทธองค์เสด็จไปเสวยพระกระยาหาร ที่คฤหาสน์เศรษฐี มีพระยสะ โดยเสด็จ มารดาและอดีตภรรยาของพระยสะ ได้สดับพระธรรมเทศนา ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบัน ได้เป็นอุบาสิกาคู่แรกของโลกที่่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ต่อมา สหายสนิทของยสกุลบุตร ซึ่งล้วนเป็นบุตรของผู้มีฐานะ รวม ๕๔ คน ได้ข่าวว่า ยสกุลบุตรออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ก็พากันมาบวชตาม หลังจากบวชแล้วก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น ณ เวลานั้น จึงมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลกจำนวน ๖๑ องค์แล้ว ประกอบด้วย พระพุทธเจ้า พระปัญจวัคคีย์ ๕ รูป พระยสะและสหายพระยสะ ๕๕ รูป เมื่อพระพุทธองค์ทรงเห็นว่ามีจำนวนพระอรหันตสาวกมากพอสมควรแล้ว (๖๐ องค์) พระพุทธองค์จึงตรัสเรียกประชุมเพื่อประทานพุทธโอวาท เสร็จแล้วก็ทรงส่งให้แยกย้ายกันไปประกาศพระศาสนา เผยแผ่แนวทางดำเนินชีวิตอันประเสริฐแก่ชาวโลกเป็นครั้งแรก นับว่าเป็นคณะธรรมทูตชุดแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

ตามปกติ เมื่อพระพุทธองค์จะทรงแสดงพระธรรมเทศนา แก่ฆราวาสหรือคฤหัสถ์ ผู้มีอุปนิสัยสามารถที่จะบรรลุธรรมพิเศษ จะทรงแสดงอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ ตามลำดับ โดยทรงได้แสดงอนุปุพพิกถาครั้งสำคัญ ๆ แก่บุคคลดังต่อไปนี้

๑. พระเจ้ามหากัปปินะ (ต่อมาคือพระมหากัปปินเถระ เอตทัคคะในทางผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุ) และอำมาตย์บริวาร

๒. พระนางอโนชาเทวี (พระราชเทวีของพระเจ้ามหากัปปินะ) และหญิงบริวาร (ภริยาของอำมาตย์)

๓. ยสกุลบุตร (ต่อมาคือพระยสเถระ )

๔. เศรษฐีผู้เป็นบิดาของยสกุลบุตร (อุบาสกคนแรกของโลก)

๕. มารดาและภรรยาเก่าของยสกุลบุตร

๖. สหายคฤหัสถ์ ๔ คน ของยสกุลบุตร คือ วิมล ๑ สุพาหุ ๑ ปุณณชิ ๑ และควัมปติ ๑ ซึ่งเป็นบุตรของสกุลเศรษฐีสืบ ๆ มา ในพระนครพาราณสี

๗. สหายคฤหัสถ์ ๕๐ คน ของยสกุลบุตร คือ ชาวชนบท ซึ่งเป็นบุตรของสกุลเก่าสืบ ๆ กันมา

๘. อุคคตคหบดี ชาวหัตถิคาม แคว้นวัชชี เอตทัคคเลิศกว่าพวกอุบาสกผู้เป็นสังฆอุปัฏฐาก

ธรรมราชิกสถูป

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

ธัมมราชิกสถูป หรือธรรมราชิกสถูป เป็นอนุสรณ์สถาน ที่เชื่อว่า เป็นที่ประทับแสดงทุติยเทศนา คืออนัตตลักขณสูตร โปรดแก่ปัญจวัคคีย์ ทั้ง ๕ ทำให้ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมกัน หลังจากวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตร คือพระสูตรว่าด้วยการหมุนกงล้อแห่งพระธรรม อันเป็นพระสูตรแรกในพระพุทธศาสนาแล้ว

ธัมมราชิกสถูป หรือธรรมราชิกสถูป (อังกฤษ: Dharmarajika Stupa) แปลความว่าสถูปซึ่งเป็นอนุสรณ์ถึงพระธรรมราชา (คือ พระพุทธเจ้า) ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ปัจจุบันเรียกว่าสารนาถ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ปัจจุบันเหลือเพียงซากฐานสถูปเท่านั้น โดยตัวสถูปได้ถูกรื้อถอนเพื่อนำอิฐออกไปใช้ในการก่อสร้างอย่างอื่น สำหรับพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุไว้ในองค์สถูปนั้น ก็ได้ถูกอัญเชิญไปทำพิธีลอยบาปในแม่น้ำคงคาตามความเชื่่อของพราหมณ์ อาณาบริเวณธัมมราชิกสถูปนี้กว้างขวางมาก สามารถเดินติดต่อไปยังธัมมเมกขสถูป (อนุสรณ์สถานแห่งการแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ) ได้ และตั้งอยู่ไม่ห่างจากบริเวณพระมูลคันธกุฏีวิหาร โดยได้สร้างขึ้นในสมัยเดียวกันกับการสร้างธัมมเมกขสถูป บริเวณฐานสถูปเป็นลานหินอยู่ในบริเวณสนามหญ้า มีที่นั่งพอนั่งได้ ๓๐ คน ห่างจากธัมมเมกขสถูปไปทางด้านทิศตะวันตกประมาณ ๓๐๐ เมตร เชื่อกันว่า ธัมมราชิกสถูปเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษา ในช่วงฤดูฝนแรกหลังจากทรงตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว

ธัมมราชิกสถูป หรือธรรมราชิกสถูป เป็นอนุสรณ์สถาน ที่เชื่อว่า เป็นที่ประทับแสดงทุติยเทศนา คืออนัตตลักขณสูตร โปรดแก่ปัญจวัคคีย์ ทั้ง ๕ ทำให้ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมกัน หลังจากวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตร คือพระสูตรว่าด้วยการหมุนกงล้อแห่งพระธรรม อันเป็นพระสูตรแรกในพระพุทธศาสนาแล้ว

ตามพุทธประวัติแสดงไว้ว่า หลังจากพระพุทธองค์ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะ ซึ่งเป็น ๑ ใน ๕ ปัญจวัคคีย์ บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว ทรงโปรดปัญจวัคคีย์ท่านอื่น ๆ อีก คือวัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ในวันต่อ ๆ มา ทั้ง ๔ ท่านได้บรรลุโสดาปัตติผลและทูลขอบวช และในวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ นั่นเอง พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร โปรดแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ทำให้ทั้งหมดได้เข้าใจชัดเจนถึงความเป็นอนัตตา ความไม่มีตัวตนถาวรเที่ยงแท้ของขันธ์ ของสังขารธรรม ทำให้ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ สามารถเพิกถอนอุปทาน อาสวะในจิตของตนได้ และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อม ๆ กัน

พระมูลคันธกุฏี

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

พระมูลคันธกุฏี หรือพระมูลคันธกุฏีวิหาร สถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาแรก และพรรษาที่ ๑๒ ภายในอาณาบริเวณสารนาถ ในปัจจุบัน

พระมูลคันธกุฏี หรือพระมูลคันธกุฏีวิหาร (อังกฤษ: Mulagandhakuti) เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาแรก และพรรษาที่ ๑๒ สร้างขึ้นตรงบริเวณที่เป็นกระท่อมน้อยของเศรษฐีใจบุญ ที่ได้อุทิศสถานที่แห่งนี้เพื่อสร้างเป็นที่ประทับถวายพระพุทธองค์ หลังจากที่ได้ทรงแสดงปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตนสูตร ที่ธัมมเมกขสถูป ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี (ปัจจุบันเรียกว่าสารนาถ ) แล้ว ลักษณะของพระมูลคันธกุฏีเป็นอาคารปลูกสร้างแบบอินเดียโบราณ ปัจจุบันสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ชำรุดทรุดโทรมปรักหักพังไปหมดสิ้นแล้ว เหลือให้เห็นเป็นเพียงเค้าโครงของอิฐก่อขนาดใหญ่ที่มีลานหญ้าด้านหน้ากินอาณาบริเวณกว้างขวาง

เสาอโศกและยอดหัวสิงห์ ๔ ทิศ ณ สารนาถ

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

ต้นเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช ที่ถูกทุบทำลายหักออกเป็น ๕ ท่อน ณ สารนาถ เมืองพาราณสี

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

อักษรพราหมี (อ่านว่า พราม-มี) บนเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช ณ สารนาถ เมืองพาราณสี

ใกล้ ๆ กับพระมูลคันธกุฏี มีเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช (อังกฤษ: Ashoka Pillar at Sarnath) ซึ่งมีความสูงถึง ๗๐ ฟุต แม้จะหักออกเป็น ๕ ท่อนก็ยังถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี และบนต้นเสาหินนั้นพบจารึกพระบรมราชโองการของพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นภาษาสันสกฤต จารึกด้วยตัวอักษรพราหมี (อ่านว่า พราม-มี) ความว่า

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ได้มีพระบรมราชโองการให้ประกาศแก่มหาอำมาตย์ทั้งหลาย ณ พระนครปาฏลีบุตร และ ณ นครอื่น ๆ ว่า ข้าฯ ได้กระทำให้สงฆ์มีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว บุคคลใด ๆ จะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม ก็ไม่สามารถทำลายสงฆ์ได้ ก็แลหากบุคคลผู้ใดจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม จักทำสงฆ์ให้แตกกัน บุคคลนั้นจักต้องถูกบังคับให้นุ่งขาวห่มขาว และไปอาศัยอยู่ ณ สถานที่อื่น (นอกวัด) พึงแจ้งสาส์นพระบรมราชโองการนี้ให้ทราบทั่วกัน ทั้งในภิกษุสงฆ์และในภิกษุณีสงฆ์ ด้วยประการฉะนี้

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

หัวสิงห์ ๔ ทิศ บนยอดเสาอโศก ที่พิพิธภัณฑ์สารนาถ

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

รูปหัวสิงห์ ๔ ทิศ ซึ่งใช้เป็นตราแผ่นดินของอินเดีย

อีกทั้ง ที่แห่งนี้ยังเป็นที่ค้นพบยอดหัวสิงห์พระเจ้าอโศก ซึ่งเป็นหัวสิงห์ ๔ ตัวหันหลังชนกัน โดยหันหน้าไปทางทิศทั้ง ๔ แบกวงล้อธรรมจักรไว้ อันหมายถึง การประกาศพระธรรมไปทั่ว ๔ ทิศ ประดุจการบันลือสีหนาทของสีหราช แต่เดิม ยอดหัวสิงห์ ๔ ทิศ ประดิษฐานอยู่บนยอดเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช แต่หักลงมา ถือเป็นโบราณวัตถุที่สำคัญที่สุดของอินเดีย ขณะนี้เก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑ์สารนาถ เมืองพาราณสี

ปัจจุบัน อินเดียใช้หัวสิงห์นี้เป็นตราราชการประจำแผ่นดินอินเดีย ถือเป็นสัญญลักษณ์ประจำชาติ มีปรากฏอยู่ในธนบัตร-ธงชาติของอินเดีย และข้อความจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช ที่จารึกไว้ใต้หัวสิงห์ดังกล่าว คือสตฺยเมว ชยเต (เทวนาครี: सत्यमेव जयते) หมายถึงความจริงชนะทุกสิ่ง และได้ถูกนำมาเป็นคำขวัญประจำชาติของประเทศอินเดียอีกด้วย

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

วัดมูลคันธกุฏีวิหารใหม่ สร้างโดยพระสงฆ์ชาวศรีลังกา (ท่านอนาคาริก ธรรมปาละ) เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

บริเวณโดยรอบสถานที่ดังกล่าว มีหมู่พุทธวิหารและซากสถูปมากมายอยู่หนาแน่น แสดงถึงความศรัทธาของคนในอดีตได้เป็นอย่างดี และนอกจากสถานที่ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในพุทธประวัติแล้ว ผู้มาแสวงบุญยังนิยมมาเยี่ยมชมวัดมูลคันธกุฏีวิหารใหม่ ที่สร้างโดยท่านอนาคาริก ธรรมปาละ พระสงฆ์ชาวศรีลังกา ผู้ฟื้นฟูพุทธสถานในสารนาถให้กลายเป็นสถานที่แสวงบุญที่สำคัญเหมือนในอดีต วัดแห่งนี้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับมอบจากรัฐบาลอินเดียและวัดนี้ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามมากภายในพุทธวิหารอีกด้วย

การประกอบพิธีอาสาฬหบูชาในประเทศไทย

วันอาสาฬหบูชาในปฏิทินสุริยคติไทย

ไม่ปรากฏหลักฐานในประเทศไทยว่าในสมัยก่อน พ.ศ. ๒๕๐๑ เคยมีการประกอบพิธีอาสาฬหบูชามาก่อน ทำให้การกำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของสำนักสังฆนายกในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดแบบแผนการประกอบพิธีนี้อย่างเป็นทางการ โดยหลังจากปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มมีการรณรงค์ให้มีการประกอบพิธีอาสาฬหบูชา วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ (สำหรับปีไม่มีอธิกมาส) และวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลัง (ในปีมีอธิกมาส) เป็นวันหยุดราชการประจำปีอีก ๑ วัน เพื่อเป็นการให้ความสำคัญกับวันสำคัญยิ่งของชาวพุทธนี้และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่พุทธศาสนิกชนที่จะไปประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาด้วยอีกประการหนึ่ง พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้ร่วมใจกันประกอบพิธีนี้กันอย่างกว้างขวางและแพร่หลายไปทุกจังหวัด จนกลายเป็นพิธีสำคัญของพุทธศาสนิกชนชาวไทยนับตั้งแต่นั้นมา

อย่างไรก็ตาม บางประเทศที่นับถือพุทธศาสนาอาจกำหนดวันไม่ตรงกับของไทยในบางปี เนื่องจากประเทศเหล่านั้นอยู่ในตำแหน่งบนโลกที่ต่างไปจากประเทศไทย ทำให้วันเวลาคลาดเคลื่อนไป

ปีวันที่วันที่ปีชวด๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ปีฉลู๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ปีขาล๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๓๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ปีเถาะ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ปีมะโรง๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๕๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ปีมะเส็ง๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๖๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๘ปีมะเมีย๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๗๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๙ปีมะแม๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๗๐ปีวอก๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๗๑ปีระกา๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๗๒ปีจอ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๗๓ปีกุน๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๗๔

การประกอบพิธีทางศาสนาในวันอาสาฬหบูชาในประเทศไทย

พระราชพิธี

การพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชานี้มีชื่อเรียกเป็นทางการว่าพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในวันอาสาฬหบูชา และเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งเดิมก่อน พ.ศ. ๒๕๐๑ เรียกเพียงการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในวันเข้าพรรษา แต่หลังจากมีการกำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ แล้ว สำนักพระราชวังจึงได้กำหนดเพิ่มวันอาสาฬหบูชาเพิ่มเติมขึ้นมา การพระราชพิธีนี้โดยปกติมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นองค์ประธานในการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล และบางครั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จแทน โดยสถานที่ประกอบพระราชพิธีหลักจะจัดในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดบวรนิเวศวิหาร และภายในพระบรมมหาราชวัง

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา

ในการสำคัญของพระราชพิธีคือการถวายพุ่มเทียนเครื่องบูชาแก่พระพุทธปฏิมาและพระราชาคณะ รวมทั้งการพระราชทานภัตตาหารแก่พระราชาคณะ ฐานานุกรม เปรียญ ซึ่งรับอาราธนามารับบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวังจำนวน ๑๕๐ รูป ทุกปี เป็นต้น ซึ่งการพระราชพิธีนี้เป็นการแสดงออกถึงพระราชศรัทธาอันแน่นแฟ้นในพระพุทธศาสนา ขององค์พระมหากษัตริย์ไทยผู้ทรงเป็นเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

พิธีสามัญ

การประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาเนื่องในวันอาสาฬหบูชาของประชาชนทั่วไปนี้ พุทธศาสนิกชนชาวไทยโดยทั่วไปนิยมทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา เวียนเทียนรอบอุโบสถหรือสถูปเจดีย์พุทธสถานต่าง ๆ ภายในวัด เพื่อเป็นการระลึกถึงวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนาในวัน ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ โดยแนวปฏิบัติในการประกอบพิธีในวันอาสาฬหบูชาตามประกาศสำนักสังฆนายก ที่คณะสงฆ์ไทยได้ถือเป็นแบบแผนมาจนถึงปัจจุบันนี้คือ ให้คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนจัดเตรียมสถานที่ก่อนถึงวันอาสาฬหบูชา โดยมีการทำความสะอาดวัด และเสนาสนะต่าง ๆ จัดตั้งเครื่องพุทธบูชา ประดับธงธรรมจักร และเมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ก็ให้จัดการแสดงพระธรรมเทศนาตลอดทั้งวัน เมื่อถึงเวลาค่ำให้มีการทำวัตรสวดมนต์และสวดบทพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร มีการแสดงพระธรรมเทศนาในเนื้อหาเรื่องในพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร นำสวดบทสรภัญญะบูชาคุณพระรัตนตรัย และให้พระสงฆ์นำเวียนเทียนบูชาพระพุทธปฏิมา อุโบสถ หรือสถูปเจดีย์ เมื่อเสร็จการเวียนเทียนอาจให้มีการเจริญจิตตภาวนา สนทนาธรรม แต่กิจกรรมทั้งหมดนี้ควรให้เสร็จสิ้นก่อนเวลา ๒๔.๐๐ น. ของวันนั้น เพื่อพักผ่อนเตรียมตัวก่อนเริ่มกิจกรรมวันเข้าพรรษา (วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘) ในวันรุ่งขึ้นต่อไป

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา และวันอาสฬหบูชา บางครั้งเรียกกันในภาษาปากว่าวันเวียนเทียน เพราะเป็นวันที่ชาวพุทธในประเทศไทยนิยมไปทำบุญและเวียนเทียนรอบพุทธศาสนสถานที่วัดในเวลาค่ำของวันนี้

การประกอบพิธีวันอาสาฬหบูชาในปัจจุบันนี้นอกจากการเวียนเทียน ทำบุญตักบาตรฯ ในวันสำคัญแล้ว ยังมีหน่วยงานภาครัฐ องค์กรทางศาสนา และภาคประชาชน ร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นมากมาย เพื่อเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและประชาสัมพันธ์กิจกรรมทางพระพุทธศาสนาต่าง ๆ ให้แก่ประชาชน เช่น กิจกรรมสัปดาห์เผยแผ่พระพุทธศาสนาวันอาสาฬหบูชา เป็นต้น

การเวียนเทียน

แนวทางการปฏิบัติสำหรับพุทธศาสนิกชน

การเวียนเทียน เป็นการบูชาพระรัตนตรัยด้วยอามิสบูชา และปฏิบัติบูชา ซึ่งพุทธศาสนิกชนจะปฏิบัติในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ได้แก่วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา และวันอาสฬหบูชา

การเวียนเทียน เป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญ พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติด้วยความสำรวม เพื่อสร้างความเลื่อมใสศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่ผู้ที่พบเห็น ทั้งชาวไทยที่นับถือศาสนาอื่น และชาวต่างประเทศ โดยมีแนวทางการปฏิบัติดังนี้

  • การเตรียมตัวก่อนเวียนเทียน
    • ๑. การอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ทำจิตใจให้เบิกบาน
    • ๒. แต่งกายให้สุภาพ เรียบร้อย เหมาะสมกับสถานที่
    • ๓. เตรียมเครื่องบูชาให้พร้อม เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน
    • ๔. ควรเดินทางมาถึงวัด หรือสถานที่ประกอบพิธีเวียนเทียน ก่อนเวลาเริ่มเดินเวียนเทียน
    • ๕. เมื่อเดินทางมาถึงวัด ควรเข้าไปบูชาพระรัตนตรัย เพื่อร่วมศาสนพิธีตามลำดับขั้นตอนที่เหมาะสมเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงออกมาเตรียมตัวด้านหน้าพระอุโบสถหรือสถานที่ประกอบพิธีเวียนเทียน
  • การปฏิบัติตนขณะเวียนเทียน
    • ๑. เมื่อเริ่มเวียนเทียน ต้องสำรวมกาย วาจา ใจให้สงบเรียบร้อย
    • ๒. ควรรักษาระยะการเดินให้ห่างจากคนข้างหน้าพอสมควร เพื่อไม่ให้ธูปเทียนโดนผู้อื่น เพราะจะให้เสื้อผ้าผู้อื่นเสียหาย หรือทำให้บาดเจ็บได้
    • ๓. ควรเดินเวียนเทียนอย่างเป็นระเบียบ ไม่เร็วหรือช้าเกินไป หรือเดินแซงกัน
    • ๔. เจริญภาวนาระลึกถึงพระพุทธคุณในรอบแรก พระธรรมคุณในรอบที่สอง และพระสังฆคุณในรอบที่สาม
    • ๕. ไม่ควรหยอกล้อหรือพูดคุยกันในขณะเวียนเทียน เพราะเป็นการไม่เคารพต่อพระรัตนตรัยและสถานที่ ตลอดจนทำให้ผู้อื่นเกืดความรำคาญหรืออาจเกิดอุบัติเหตุได้
    • ๖. เมื่อเวียนเทียนครบ ๓ รอบ ให้นำดอกไม้ธูปเทียนไปวางและปักบูชาในที่ที่จัดเตรียมไว้

ระเบียบปฏิบัติการเวียนเทียน

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

พระภิกษุและพุทธศาสนิกชน ถือดอกไม้ธูปเทียน ร่วมเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

การเวียนทียนในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา และวันอาสาฬหบูชา มีระเบียบการปฏิบัติดังนี้

๑. เมื่อถึงกำหนดวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัฏมีบูชา และวันอาสาฬหบูชา ให้ทางวัดประกาศให้พุทธบริษัททราบทั่วกัน (ทั้งชาววัดและชาวบ้าน) และบอกกำหนดเวลาประกอบพิธีด้วยว่า จะประกอบเวลาไหนจะเป็นตอนบ่ายหรือค่ำก็ได้ แล้วแต่สะดวก

๒. เมื่อถึงเวลากำหนด ทางวัดตีระฆังสัญญาณให้พุทธบริษัททั้งภิกษุ สามเณร อุบาสก และอุบาสิกา ประชุมพร้อมกันที่หน้าพระอุโบสถ หรือลานพระเจดีย์อันเป็นหลักของวัดนั้นๆ

ภิกษุอยู่แถวหน้า ถัดไปสามเณร ท้ายสุด อุบาสกอุบาสิกา จะจัดให้ชายอยู่กลุ่มชาย หญิงอยู่กลุ่มหญิง หรือปล่อยให้คละกันตามอัธยาศัยก็แล้วแต่จะกำหนด

ทุกคนถือดอกไม้ ธูปเทียนบูชาตามแต่จะหาได้ และศรัทธาของตน ควรกะขนาดของเทียนให้จุดเดินได้จนครบ ๓ รอบสถานที่ที่เดิน ไม่หมดเสียในระหว่างเดิน

๓. เมื่อพร้อมกันแล้ว ประธานสงฆ์จุดเทียนและธูป ทุกคนจุดของตนตาม เสร็จแล้ว ถือดอกไม้ธูปเทียนที่จุด แล้วประนมมือหันหน้าเข้าหาปูชนียสถานที่จะเวียนนั้น แล้วกล่าวคำบูชาตามแบบที่กำหนดไว้ ตามประธานสงฆ์จนจบ

๔. ประธานสงฆ์ประนมมือถือดอกไม้ธูปเทียนเดินนำหน้าแถว ไปทางขวามือของสถานที่เวียนเทียนนั้นจนครบ ๓ รอบ

การเดินขวาเพื่อเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง ตามธรรมเนียมอินเดียสมัยพุทธกาล

ในแต่ละรอบให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณตามลำดับ ดังนี้

รอบแรก ระลึกถึงพระพุทธคุณ

อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ

วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู

อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ

สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ

คำแปล

เพราะเหตุอย่างนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงไกลจากกิเลส

เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง

ทรงเป็นผู้สามารถฝึกบรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า

ทรงเป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม

เป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ดังนี้

รอบที่สอง ระลึกถึงพระธรรมคุณ

สะวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม

สันทิฏฐิโก อะกาลิโก

เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก

ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ (อ่านว่า วิญญูฮีติ)

คำแปล

พระธรรม เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว

เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติได้ด้วยตนเอง

เป็นสิ่งปฏิบัติได้และให้ผลได้โดยไม่จำกัดกาล

เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด

เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว

เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน ดังนี้

รอบที่สาม ระลึกถึงพระสังฆคุณ

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ

อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ

ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ

สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ

ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา

เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ

อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลีกะระณีโย

อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ

คำแปล

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด ปฏิบัติดีแล้ว

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด ปฏิบัติตรงแล้ว

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด

ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด ปฏิบัติสมควรแล้ว

ได้แก่บุคคลเหล่านี้ คือคู่แห่งบุรุษ ๔ คู่

นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ นั่นแหละ

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า

เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา

เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาต้อนรับ

เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน

เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี

เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้

๕. เมื่อครบ ๓ รอบแล้ว นำดอกไม้ ธูปเทียนไปปักบูชาตามที่เตรียมไว้ ต่อจากนั้นจึงเข้าไปประชุมพร้อมกันในพระอุโบสถ หรือวิหารหรือศาลาการเปรียญ แล้วแต่ที่ทางวัดกำหนด

เริ่มทำวัตรเย็นและสวดมนต์ ทั้งบรรชิตและคฤหัสถ์อย่างพิธีกรรมวันธรรมสวนะธรรมดา เสร็จแล้วมีเทศน์พิเศษแสดงเรื่องพระพุทธประวัติ และเรื่องที่เกี่ยวกับ วันอาสาฬหบูชา ๑ กัณฑ์ เป็นอันเสร็จพิธี

หมายเหตุ

๑. ควรแต่งกายให้สุภาพเพื่อเป็นพุทธบูชา

๒. ลำดับพิธีกรรมปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม

คำบูชาในวันอาสาฬหบูชา (สำหรับพระสงฆ์และประชาชน)

ยะมัมหะ โข มะยัง ภะคะวันตัง สะระณัง คะตา โย โน ภะคะวา สัตถา ยัสสะ จะ มะยัง ภะคะวะโต ธัมมัง โรเจมะ อะโหสิ โข โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ สัตเตสุ การุญญัง ปะฏิจจะ กะรุณายะโก หิเตสี อะนุกัมปัง อุปาทายะ อาสาฬหะปุณณะมิยัง พาราณะสิยัง อิสิปะตะเน มิคะทาเย ปัญจะวัคคิยานัง ภิกขูนัง อะนุตตะรัง ธัมมะจักกัง ปะฐะมัง ปะวัตเตตตะวา จัตตาริ อะริยะสัจจานิ ปะกาเสสิ ฯ

ตัสมิญจะ โข สะมะเย ปัญจะวัคคยานัง ภิกขูนัง ปะมุโข อายัสมา อัญญาโกณฑัญโญ ภะคะวะโต ธัมมัง สุตตะวา วิระชัง วีตะมะลัง ธัมมะจักขุง ปะฏิละภิตตะวา ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ ภะคะวันตัง อุปะสัมปะทัง ยาจิตวา ภะคะวะโต เยวะ สันติกา เอหิภิกขุ อุปะสัมปะทัง ปะฏิละภิตตะวา ภะคะวะโต ธัมมะวินะเย อะริยะสาวะกะสังโฆ โลเก อุปปันโน อะโหสิ ฯ ตัสมิญจะ โข สะมะเย สังฆะรัตตะนัง โลเก ปะฐะมัง อุปปันโน อะโหสิ พุทธะระตะนัง ธัมมะระตะนัง สังฆะระตะนันติ ติระตะนัง สัมปุณณัง อะโหสิ ฯ

มะยัง โข เอตะระหิ อิมัง อาสาฬหะปุณณะมีกาลัง ตัสสะ ภะคะวะโต ธัมมะจักกัปปะวัตตะนะกาละสัมมะตัง อะริยะสาวะกะสังฆะอุปปัตติกาละสัมมะตัญจะ ระตะนัตตะยะสัมปุณณะกาละสัมมะตัญจะ ปัตวา อิมัง ฐานัง สัมปัตตา อิเม สักกาเร คะเหตวา อัตตะโน กายัง สักการุปะธานัง กะริตวา ตัสสะ ภะคะวะโต ยะถาภุจเจ คุเณ อะนุสสะรันตา อิมัง ถูปัง (อิมัง พุทธะปะฏิมัง) ติกขัตตุง ปะทักขิณัง กะริสสสามะ ยะถาคะหิเตหิ สักกาเรหิ ปูชัง กุรุมานา ฯ

สาธุ โน ภันเต ภะคะวา สุจิระปะรินิพพุโตปิ ญาตัพเพหิ คุเณหิ อะตีตารัมมะณะตายะ ปัญญายะมาโน อิเม อัมเหหิ คะหิเต สักกาเร ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ ฯ

คำแปล

เราทั้งหลาย ถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด เป็นพระศาสดาของเราทั้งหลาย และเราทั้งหลายชอบใจในธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ทรงอาศัยความการุณในหมู่สัตว์ทั้งหลาย ทรงพระมหากรุณา มีพระทัยใฝ่ประโยชน์ เกื้อกูล ทรงอาศัยความเอ็นดู ได้ทรงแสดงพระธรรมจักร ประกาศอริยสัจ ๔ เป็นครั้งแรกแก่พระภิกษุปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี ในวันอาสาฬหปุณณมี

อนึ่ง ในสมัยนั้นแล ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ผู้เป็นประธานของพระภิกษุปัญจวัคคีย์ ได้ฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ได้ธรรมจักษุอันบริสุทธิ์ปราศจากมลทินว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับเป็นธรรมดา" จึงทูลขออุปสมบทกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้รับเอหิภิกขุอุปสมบทเกิดเป็นอริยสาวกองค์แรก

และในสมัยนั้นแล พระสังฆรัตนะได้บังเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก พระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ ได้สมบูรณ์แล้วในโลก

บัดนี้ เราทั้งหลาย มาประจวบมงคลสมัย วันอาสาฬหปุณณมี วันเพ็ญเดือนแปด อันเป็นที่ยอมรับกันว่า เป็นวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงประกาศพระธรรมจักร เป็นวันที่เกิดขึ้นแห่งพระอริยสงฆ์สาวก และเป็นวันที่พระรัตนตรัยสมบูรณ์ คือ ครบ ๓ รัตนะ จึงมาประชุมพร้อมกัน ณ ที่นี้ ถือเครื่องสักการะเหล่านี้ ทำกายของตนให้เป็นดังเครื่องรองรับเครื่องสักการะ ระลึกถึงพระคุณตามเป็นจริงของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น จักกระทำประทักษิณรอบ (พระสถูป, พระพุทธปฏิมา) นี้ สิ้นวาระ ๓ รอบ น้อมบูชาด้วยเครื่องสักการะที่ถือถือกันอยู่ ณ บัดนี้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้เสด็จปรินิพพานไปนานนักแล้ว แต่ยังปรากฏอยู่ด้วยพระคุณซึ่งข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะพึงรู้ได้โดยความเป็นอตีตารมณ์ ขอจงทรงรับเครื่องสักการะ อันข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายถือไว้นี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ.

  • ที่มา :
    • วันอาสาฬหบูชา วิกิพีเดีย พจนานุกรมเสรี (ภาษาไทย)
    • ลานธรรมจักร ธรรมะออนไลน์
    • สมุดภาพพระพุทธประวัติ ฉบับอนุรักษ์ภาพเขียนทางพระพุทธศาสนา โดย ครูเหม เวชกร
    • วันอาสาฬหบูชา แนวทางการปฏิบัติสำหรับพุทธศาสนิกชน
      กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม, ๒๕๕๐.


พระพุทธปฏิมาธรรมจักรมุทรา

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ณ สถานที่ใด

พระพุทธปฏิมาธรรมจักรมุทรา พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ที่งดงามที่สุดในโลก ณ พิพิธภัณฑ์สารนาถ เมืองพาราณสี

พระพุทธปฏิมาธรรมจักรมุทรา (อังกฤษ: Dhammajak Mutra) ใช้สัญลักษณ์คือการยกพระหัตถ์ขวาจีบนิ้วเป็นวง ถือเป็นสัญลักษณ์ของธรรมจักร นิ้วพระหัตถ์ข้างซ้ายแตะจีบนิ้วอยู่ลักษณะประคองหมุน ท่าของพระพุทธรูปเป็นท่านั่งขัดสมาธิ อันเป็นสัญลักษณ์ของการหมุนพระธรรมจักร หรือการหมุนวงล้อแห่งธรรม ในคราวที่ทรงแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นั้น เป็นความหมายของธรรมที่ได้แสดงต่อโลกแล้ว และจะขยายไปยังสัตว์โลกทั้งปวง

พระพุทธรูปปางปฐมเทศนาองค์นี้ เป็นองค์พระพุทธรูปที่ถูกขุดพบ ณป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี (ปัจจุบันเรียกว่าสารนาถ ) ที่มีผู้ยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาที่งดงามที่สุดในโลก สร้างขึ้นในยุคสมัยคุปตะ (อังกฤษ: Gupta Period) เมื่อประมาณราว ๆ ปี พ.ศ. ๘๐๐ - พ.ศ. ๑๒๐๐ ซึ่งในยุคนั้นนับว่าเป็นยุคที่มีความเจริญสูงสุดแห่งพุทธศิลป์ แต่ก่อนนี้ประเทศอินเดียมีการประกวดพระพุทธปฏิมา หากส่งพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาองค์นี้เข้าประกวด ก็จักได้รับการคัดเลือกว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดทุกครั้งไป ปัจจุบันพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาองค์นี้ประดิษฐานอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์สารนาถ เมืองพาราณสี

พระพุทธรูปปางปฐมเทศนาองค์นี้ สร้างขึ้นจากหินทรายแดงเมืองจูนาร์ (อังกฤษ: Chunar) มีความสูงจากฐานถึงพระรัศมี ๑.๖ เมตร ขนาดหน้าตักกว้าง ๐.๗๙ เมตร ประทับนั่งในท่าขัดสมาธิเพชรบนพระแท่น พระหัตถ์อยู่ในท่าทรงแสดงธรรม หมายถึงการไขปริศนาธรรมที่ถูกปกปิดมานาน ด้านบนมีพระรัศมีแผ่เป็นวงกลม ปรากฏเป็นรูปเทวดา ๒ ตน กำลังโปรยดอกไม้บูชาพระพุทธองค์ ตรงกลางฐานองค์พระพุทธรูปแกะสลัก เป็นวงล้อพระธรรมจักรอยู่บนแท่น มีกวางสองตัวหมอบอยู่ทั้งสองข้าง มีรูปพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ขนาบสองข้าง ด้านซ้ายมีรูปสลักสตรีและเด็ก สันนิษฐานว่าเป็นเจ้าภาพผู้สร้างองค์พระพร้อมบุตร


เอหิภิกขุอุปสัมปทา

เอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นชื่อเรียกวิธีบรรพชาอุปสมบท เป็นพระภิกษุในสมัยพุทธกาลยุคต้น ๆ โดยพระพุทธเจ้าทรงประทานให้ด้วยพระองค์เอง โดยการตรัสว่า "เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด"

ตรัสเพียงเท่านี้ ก็เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว เพราะคำตรัสขึ้นต้นว่า เอหิ ภิกขุ... จึงเรียกการอุปสมบทแบบนี้ว่าเอหิภิกขุอุปสัมปทา เรียกผู้ได้รับการอุปสมบทว่าเอหิภิกขุ

การอุปสมบทแบบนี้ พระพุทธองค์ทรงประทานแก่พระอัญญาโกณฑัญญมหาเถระ เป็นท่านแรก จึงถือว่าท่านเป็นปฐมสาวกหรือเป็นปฐมเถระในพระพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อมีผู้มาขอบวชมากขึ้นพระพุทธองค์จึงได้ทรงเลิกวิธีอุปสมบทแบบนี้ และทรงเปลี่ยนวิธีใหม่เป็นติสรณคมนูปสัมปทา และเป็นวิธีญัตติจตุตถกรรมวาจา ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน