รัชกาลที่ 1 เป็นใครมาจากไหน

ข้าพเจ้ารู้สึกติดใจในเรื่องที่เจ้าแม่วัดดุสิตทรงเป็น “แม่เลี้ยง” ของสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งพระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) กล่าวถึงเรื่องที่พระองค์ตรัสเรียกเจ้าแม่วัดดุสิตว่า “พระมารดา”  ไว้ในเหตุการณ์เมื่อคราวออกหลวงสรศักดิ์(เดื่อ) ซึ่งเป็น “โอรสลับ” ของสมเด็จพระนารายณ์  อันประสูติแต่เจ้าหญิงเชียงใหม่  ลุแก่โทษะชกปากออกญาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) อัครมหาเสนาบดีสมุนายก จนฟันหัก ขณะกำลังนั่งว่าราชการในพระราชวังเมืองลพบุรี  แล้วหลบหนีลงมายังพระนครศรีอยุทธยา เพื่อทูลเชิญเจ้าแม่วัดดุสิตเสด็จขึ้นไปช่วยทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้กับตน  พระราชพงศาวดารฯ ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) บันทึกว่า…

สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ตรัสทราบเหตุดังนั้นแล้ว ก็มีพระราชโองการให้หาหลวงสรศักดิ์มาเฝ้า แล้วก็ดำรัสบริภาษเป็นอันมาก และเจ้าแม่ผู้เฒ่ากราบทูลขอพระราชทานโทษ ก็ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานให้ แล้วตรัสบอกประพฤติเหตุทั้งปวง อันหลวงสรศักดิ์ทำแก่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์นั้น ให้แก่เจ้าแม่ผู้เฒ่าฟังทราบทุกประการ  แล้วดำรัสให้ยับยั้งอยู่ ณ พระราชวังสองสามวัน และทรงปฏิบัติด้วยเคารพเป็นอันดี แล้วก็อัญเชิญเสด็จกลับลงไปยังกรุงเทพมหานคร

เมื่อสมเด็จพระนารายณ์เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติใน พ.ศ. 2199  ก็โปรดให้สถาปนาพระอิสริยยศหม่อมเจ้าหญิงบัว (บางแห่งว่า หม่อมเจ้าหญิงอำไพ) พระนมเอกขึ้นเป็น “พระองค์เจ้าบัว”  แล้วมีรับสั่งให้สร้างพระตำหนักตึกที่ริมวัดดุสิตารามทางฝั่งตะวันออกนอกกำแพงพระนครตรงคลองข้าวสาร เพื่อถวายให้เป็นที่ประทับสำราญพระทัย คนทั่วไปจึงนิยมเรียกพระองค์ว่า  “เจ้าแม่วัดดุสิต”ตามคำตรัสเรียกของสมเด็จพระนารายณ์

แม้การที่สมเด็จพระนารายณ์ตรัสเรียกเจ้าแม่วัดดุสิตว่า “พระมารดา”  จะดูเป็นเรื่องปรกติในสังคมไทย ที่มักเรียก “แม่นม”  ของตนว่า “แม่” ด้วยเช่นกัน  ดังพบหลักฐานสนับสนุนเรื่องนี้ในจดหมายเหตุ เอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) นายแพทย์ชาวเยอรมันประจำคณะทูตของบริษัทอิสต์อินเดีย ของฮอลันดาที่เมืองปัตตาเวีย เดินทางเข้ามาเจริญพระราชไมตรียังราชสำนักสยามใน พ.ศ. 2233  กล่าวว่า  “…ชาวสยามเรียกแม่นมของตน ว่า แม่ ด้วยเหมือนกัน และผู้ที่ได้ร่วมนมกันก็นับถือกันเหมือนอย่างพี่น้อง…”

พระราชพงศาวดารฯ ฉบับความพิสดาร ระบุว่า เจ้าแม่วัดดุสิตทรงมีบุตร 2 คนด้วยกัน คือ ออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) และ ออกญาโกษาธิบดี (ปาน) จดหมายเหตุอังกฤษรายงานเรื่องการปฏิวัติครั้งใหญ่ที่ล่วงมาแล้วในกรุงสยามและการขับไล่ฝรั่งเศสออกนอกประเทศ  เรียกออกญาโกษาธิบดี (ปาน) ว่า “หม่อมปาน”  เช่นเดียวกับ “หม่อมแก้ว”  พระโอรสในสมเด็จพระนารายณ์  อันประสูติแต่ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์  พระสนมเอก  ซึ่งเป็นน้องสาวของออกพระเพทราชา เจ้ากรมคชบาล  แสดงว่าพระอิสริยศักดิ์ “หม่อม” ในสมัยศรีอยุทธยา มีฐานะเทียบเท่า “หม่อมเจ้า” ในปัจจุบัน   ส่วน “หม่อมราชวงศ์”  และ “หม่อมหลวง”  เพิ่งบัญญัติขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้เอง

ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า “หม่อมปาน” อาจมิได้เป็นเพียงแต่บุตรลูกหลานขุนนางมอญธรรมดาสามัญ แต่ท่านอาจเป็นถึงพระโอรสของพระเจ้าแผ่นดินศรีอยุทธยาองค์ใดองค์หนึ่ง จึงสันนิษฐานว่าเจ้าแม่วัดดุสิต อาจเคยถวายตัวเป็นบาทบริจาริกา ในพระบาทสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร ที่ 3 (พระเจ้าปราสาททอง) มาก่อน  ด้วยเหตุนี้ ออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) และออกญาโกษาธิบดี (ปาน) อาจเป็นพระโอรสในพระเจ้าปราสาททอง ด้วยก็เป็นได้  ท่านทั้งสองจึงนับเนื่องอยู่ในราชสกุลวงศ์กษัตริย์ศรีอยุทธยา

เจ้าแม่วัดดุสิตประทับอยู่ที่พระตำหนักข้างวัดดุสิตารามตราบจนกระทั่งถึงแก่พิราลัย ในราวเดือนเมษายน พ.ศ. 2232 ก่อนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ประมาณ 3 เดือน  ดังจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์ กล่าวพาดพิงถึงเรื่องการพิราลัยของเจ้าแม่วัดดุสิต พระมารดาของออกญาโกษาธิบดี (ปาน) ไว้ในต้นรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดี ที่ 7 (ออกพระเพทราชา) เมื่อ พ.ศ. 2233  ว่า  “…วันที่ 12 มิถุนายน (พ.ศ. 2233-ผู้เขียน)  เวลา 16 นาฬิกา มีงานศพมารดาของพระยาพระคลัง ผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีของประเทศสยาม และเป็นผู้ว่าการต่างประเทศด้วย… งานศพนี้เป็นแต่ศพแม่นมพระคลังเท่านั้น ด้วยว่ามารดาของท่านได้สิ้นชีวิต และได้ทำศพเสร็จไปเมื่อราว 15 เดือนมานี้…”

ส่วนจดหมายบาทหลวงโบด(Braud) ที่มีไปถึงคณะอำนวยการ ยังประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2243 ได้ให้ข้อมูลสำคัญ ว่า ออกญาโกษาธิบดี (ปาน) มีบุตรธิดารวม 4 คน โดยบุตรคนโตเป็นผู้หญิง ส่วนอีก 3 คนที่เหลือเป็นผู้ชาย หนังสือเรื่อง “อภินิหารบรรพบุรุษ”  ระบุว่า “ขุนทอง”(สมุดจดบันทึกประจำวันของบรรพบุรุษของหม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย ว่า “คุณทอง”)  เป็นบุตรชายคนโตของออกญาโกษาธิบดี (ปาน) ได้ถวายตัวเข้ารับราชการในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระญาสุรศักดิ์ ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 7 (ออกพระเพทราชา) โดยมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอัษฎาเรืองเดช จางวางกรมพระตำรวจ  ส่วนออกญาโกษาธิบดี (ปาน) ผู้บิดา ได้ถึงแก่อสัญกรรมในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2243

ครั้นพระญาสุรศักดิ์เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นสมเด็จพระสุรศักดิ์(พระเจ้าเสือ) แล้ว  ความที่พระยาอัษฎาเรืองเดช (ขุนทอง) มีฐานะเป็นเจ้าราชนิกุลและข้าหลวงเดิม จึงโปรดพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาวรวงศาธิราช เสนาบดีพระคลัง (สมุดจดบันทึกประจำวันของบรรพบุรุษของหม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย ระบุว่าก่อนหน้านี้ท่านขุนทองมีตำแหน่งเป็นพระยากลาโหม ภายหลังจึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาวรวงศาธิราช เสนาบดีการต่างประเทศ)

เจ้าพระยาวรวงศาธิราช(ขุนทอง)  มีบุตรชายคนโตนามว่า “ทองคำ” ถวายตัวเข้ารับราชการเป็นพระนายจมื่นมหาสนิท หัวหมื่นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าพร  กรมพระราชวังบวรสถานมงคล  ในแผ่นดินสมเด็จพระสุรศักดิ์ หรือพระเจ้าเสือ”

ต่อมา พระนายจมื่นมหาสนิท(ทองคำ)  อพยพครอบครัวย้ายไปทำราชการอยู่ที่บ้านสะแกกรัง แขวงเมืองอุทัยธานี  ระหว่างที่พระนายจมื่นมหาสนิท(ทองคำ)  รับราชการอยู่ที่แขวงเมืองอุทัยธานี  ภริยาของท่านได้ให้กำเนิดบุตรชายคนโตนามว่า  “ทองดี”  ครั้นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าพร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ เป็น พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ  ด้วยเหตุที่พระนายจมื่นมหาสนิท(ทองคำ) เป็นเจ้าราชนิกุลและข้าหลวงเดิม จึงโปรดให้แต่งตั้งเป็นพระยาราชนิกูล ปลัดทูลฉลองในกรมมหาดไทย  พระยาราชนิกูล(ทองคำ) จึงอพยพย้ายครอบครัวกลับมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลป่าตอง ใกล้กับวัดบรมพุทธาวาศน์ (บรมพุทธาวาส-วัดกระเบื้องเคลือบ จ.พระนครศรีอยุธยา) อันเป็นนิวาสสถานเดิมของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 7 (ออกพระเพทราชา)

เมื่อท่านทองดีมีอายุสมควรแก่การเข้ารับราชการแล้ว  พระยาราชนิกูล(ทองคำ) นำบุตรชายเข้าถวายตัวให้รับราชการ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร ที่ 5  โดยให้มาช่วยเหลืองานของตนอยู่ที่กรมมหาดไทย ภายหลังท่านทองดีได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหลวงพินิจอักษร เสมียนตราในกรมมหาดไทย  เมื่อหลวงพินิจอักษร (ทองดี) อายุครบ 20 ปี  พระยาราชนิกูล (ทองคำ) จึงทำการอุปสมบทหลวงพินิจอักษร(ทองดี) บุตรชายเป็นพระภิกษุตามประเพณีนิยม  เมื่อลาสิกขาแล้วได้สู่ขอ “คุณดาวเรือง”  หลานสาวของเจ้าพระยาอภัยราชา อัครมหาเสนาบดีสมุหนายก ให้วิวาหมงคลกับหลวงพินิจอักษร(ทองดี)  แล้วท่านทั้งสองก็ย้ายมาอยู่ยังนิวาสสถานของตระกูลคุณดาวเรือง ภายในกำแพงพระนครเหนือป้อมเพชร

อยู่มาหลวงพินิจอักษร (ทองดี) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “พระอักษรสุนทรสาสน์”  เจ้ากรมเสมียนตราในกรมมหาดไทย มีหน้าที่ร่างพระราชสาสน์ต่าง ๆ ของพระเจ้าแผ่นดิน และออกสารตราสั่งการไปยังหัวเมืองเหนือ รวมถึงเก็บรักษาพระราชลัญจกรอันเป็นตราประจำแผ่นดิน  ก่อนหน้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาจะเสียให้แก่กองทัพพม่าใน พ.ศ. 2310 เพียงไม่นาน  พระอักษรสุนทรสาสน์ (ทองดี) ได้อพยพหนีภัยสงคราม ขึ้นไปรับราชการอยู่กับเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง)  ซึ่งตั้งตนเป็นเจ้าก๊กพิษณุโลก  โดยพระอักษรสุนทร (ทองดี)  ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยาจักรี  อัครมหาเสนาบดีสมุหนายกเมืองพิษณุโลก

ต่อมา พ.ศ. 2311 เจ้าพิษณุโลก (เรือง)  ทำสงครามมีชัยชนะเหนือพระบาทสมเด็จพระเอกาทศรุทรอิศวร ที่ 6  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตากสิน)  ก็มีใจกำเริบ  จึงประกาศตั้งตัวเป็นพระเจ้าแผ่นดินรับราชโองการอยู่ได้ 7 วัน ก็ประชวรเป็นวัณโรคขึ้นในคอถึงแก่พิราลัย  ส่วนเจ้าพระยาจักรี (ทองดี)  ซึ่งมิได้มีความมักใหญ่ใฝ่สูง ได้แอบอาศัยอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก จนกระทั่งเมืองพิษณุโลกเสียให้แก่เจ้าพระฝาง (เรือน)  เจ้าก๊กเมืองสวางคบุรี  ต่อมาไม่นาน เจ้าพระยาจักรี(ทองดี) ก็ล้มป่วยด้วยพิษไข้จนถึงแก่อสัญกรรมในเมืองพิษณุโลกนั้นเอง

เจ้าพระยาจักรี (ทองดี) ผู้นี้  คือ “สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก”หรือ  “สมเด็จพระชนกาธิบดี”  ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรี

แม้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงพระราชนิพนธ์ไว้ ว่าบรรพบุรุษของพระองค์เป็นเพียงเสนาบดีต่างประเทศ คือเสนาบดีคลัง แต่สำหรับข้าพเจ้า(เซอร์จอห์น เบาริง ) กลับเห็นว่าออกญาโกษาธิบดี (ปาน) อาจมีชาติกำเนิดที่สูงส่งกว่าเป็นเพียงบุตรของเจ้าแม่วัดดุสิต (หม่อมเจ้าบัว)  อันเกิดกับลูกหลานคนหนึ่งของพระญาเกียรติ  ขุนนางเชื้อสายมอญ แต่ท่านอาจมีชาติกำเนิดเป็นถึง  “พระโอรส” ในพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งพระองค์ทรงเป็น “โอรสลับ” ของสมเด็จพระนเรศ  ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ความลับเรื่องนี้น่าจะเป็นที่รับรู้กันภายในราชสำนักสยามเป็นอย่างดี

ทฤษฎีเรื่องออกญาโกษาธิบดี (ปาน) เป็น “พระราชนัดดา” ในสมเด็จพระนเรศของข้าพเจ้านั้น  ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเพ้อฝันเลื่อนลอยไปเสียทีเดียว เพราะหลังจากเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ยกทัพกลับจากปราบขบถเมืองจำปาศักดิ์เมื่อ พ.ศ. 2320 (หนังสือเรื่องปฐมวงศ์ ฉบับที่ 2 ว่า พ.ศ. 2322) พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรุทรอิศวร พระองค์ที่ 6 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  มีพระราชดำริว่า “เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ทำความชอบต่อแผ่นดินมามาก แต่ยศศักดิ์ยังหาสมกับความชอบไม่  จึงโปรดพระราชทานนามบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พิลึกมหิมา ทุกนัคราระอาเดช นเรศรราชสุริยวงศ์ องค์อัครบาทมุลิกากร บวรรัตนบรินายก”

ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระนามรัชกาลปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรีเสียใหม่ ในหนังสือเรื่อง กำหนดพระนามสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร มหินทรายุทธยา ทั้ง 4 รัชกาล แลพระนามกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แลพระนามกรมพระราชโอรสธิดาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 4 รัชกาล จดพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนาถ นเรศวรราชวิวัฒนวงศ์ ประถมพงศ์ธิราชรามาธิบดินทร์ สยามวิชิตินทรวโรดม บรมนาถบพิตร พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์”

การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้รับพระราชทานสร้อยนามบรรดาศักดิ์ ว่า “นเรศรราชสุริยวงศ์”  และได้รับการถวายสร้อยพระนามว่า “นเรศวรราชวิวัฒนวงศ์”  ย่อมเป็นการแสดงว่า พระองค์ทรงเป็นพระราชวงศ์ในสมเด็จพระนเรศ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันเป็นอย่างดีในราชสำนักสยามยุคนั้น ว่า พระองค์ทรงสืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระนเรศ กษัตริย์สมัยศรีอยุทธยา

หากออกญาโกษาธิบดี(ปาน)  เป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระนเรศจริง ตามที่ข้าพเจ้าตั้งข้อสันนิษฐานไว้  ราชวงศ์จักรีก็อาจจะสืบสาวสายสัมพันธ์ทางเครือญาติย้อนกลับไปจนถึงราชวงศ์พระร่วง เมืองสุโขทัย เลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้ราชวงศ์จักรีจึงนับเป็นพระราชวงศ์ที่มีอายุยืนยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย

เรียบเรียงจาก นิตยสารศิลปวัฒนธรรม สนพ.มติชน

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก