ความ สําคัญ ของ พระพุทธ ศาสนา ต่อสังคมไทย ม. 1 ใบ งาน

ความสำคัญของพุทธศาสนาต่อสังคมไทย

ความสำคัญของพระพุทธศาสนาต่อสังคมไทย มีดังนี้

1.  พระพุทธศาสนามีความสำคัญต่อสังคมไทยในฐานะเป็นศาสนาประจำชาติ  

พระพุทธศาสนาถือเป็นศาสนาประจำชาติของไทยเนื่องจากประชาชนชาวไทยถึงร้อยละ 95 นับถือพระพุทธศาสนาโดยมีหลักฐานคือ

1.1  ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไทยนับถือพระพุทธศาสนาโดยมีการนับถือสืบต่อมาจากบรรพบุรุษแสดงว่าพุทธศาสนาได้วางรากฐานฝังลึกในดินแดนไทยอย่างมาก

1.2  พระพุทธศาสนาเป็นที่มาของวัฒนธรรมไทย วิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยในเกือบทุกด้านมีความผูกพันกับคำสอนของพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งตั้งแต่ ค่านิยม ความเชื่อ และพิธีกรรมต่างๆ เป็นต้น

1.3  พระมหากษัตริย์ของไทยทุกพระองค์นับตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน     นับถือพระพุทธศาสนาถือหลักทศพิธราชธรรมในการปกครองประเทศ

2.  พระพุทธศาสนามีความสำคัญในฐานะเป็นสถาบันหลักของสังคมไทย 

2.1  พระพุทธศาสนากับการเมืองการปกครอง หลักคำสอนของพุทธศาสนาที่สอนให้ศาสนิกชนเป็นคนที่ เอื้อเฟื้อ รู้จักความสามัคคีกัน ล้วนมีส่วนส่งเสริมให้สังคมไทยเกิดความมั่นคงและสันติสุข

2.2  พระพุทธศาสนากับการศึกษา ตั้งแต่อดีตวัดจะเป็นสถานที่ที่สำคัญของไทยที่เยาวชนเข้าไปศึกษาหาความรู้ด้านต่างๆ และมีความสำคัญต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

2.3  พระพุทธศาสนากับคุณธรรมจริยธรรมของสังคมไทย  โดยการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมของประชาชนให้สูงขึ้นซึ่งจะช่วยให้เกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองพุทธศาสนามีบทบาทสำคัญ เพราะอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนและประชาชนส่วนใหญ่มีความศรัทธา โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน

3. พระพุทธศาสนามีความสำคัญในฐานะเป็นสภาพแวดล้อมในสังคมไทย  

พอสรุปได้ดังนี้

3.1  พระพุทธศาสนามีความสำคัญต่อสภาพแวดล้อมทางด้านสถาปัตยกรรม ในการสร้างโบสถ์วิหาร ก็จะแฝงแนวคิดของพระพุทธศาสนาไว้ด้วย

3.2  พระพุทธศาสนามีความสำคัญต่อทางด้านภาษาไทย  ที่นำเอาภาษาบาลีมาปะปนในระยะแรงทางด้านวรรณกรรม ที่วรรณคดีส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น

3.3  พระพุทธศาสนามีความสำคัญต่อระบบความเชื่อ ความคิด และลักษณะวัฒนธรรมประเพณีของคนไทย ทำให้เกิดเอกลักษณ์ที่เป็นของคนไทยโดยเฉพาะ เป็นต้น                       

สังคมศึกษา ม.1

เรื่อง ความสำคัญของพระพุทธศาสนาต่อสังคมไทย

        ๑.พระพุทธศาสนาที่มีความสำคัญต่อสังคมไทยในฐานะเป็นศาสนาประจำชาติ

ประวัติศาสตร์ของชาติไทยมีความเกี่ยวเนื่องผูกพันกับพระพุทธศาสนามาโดยตลอด  พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาประจำชาติไทย

        ๑.๑. นับตั้งแต่สมัยที่ชนชาติไทยมีประวัติศาสตร์อันชัดเจน  ชาวไทยก็นับถือพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว

        ๑.๒. พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์นับตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัยเป็นต้นมา  จนถึงปัจจุบัน  ทรงนับถือพระพุทธศาสนา  รัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับที่เป็นกฏหมายสูงสุดในการปกครองประเทศได้มีบทบัญญัติว่า  พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ  หมายถึง  ทรงนับถือพระพุทธศาสนา และ ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก หมายถึง ทรงสนับสนุนศาสนาอื่นๆ

         ๑.๓. เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงเปลี่ยนธงชาติมาใช้ธงไตรรงค์แทนธงช้างซึ้งใช้มาแต่ก่อน  ก็ได้ทรงตราความหมายสีธงแต่ละสีไว้เป็นสัญลักษณ์ดังพระราชนิพนธ์ในหนังสือดุสิตสมิต  ฉบับพิเศษ พ.ศ. ๒๔๖๑ ว่า

       ขาว           คือบริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์    หมายพระไตรรัตน์และธรรมะคุ้มจิตใจ

       แดง          คือโลหิตเราไซร้         ซึ่งยอมสละได้เพื่อรักษาชาติศาสนา

       น้ำเงิน        คือสีโสภา                 อันจอมประชา ธ โปรดเป็นของส่วนองค์

นั่นคือ สีแดง หมายถึงชาติ สีขาว หมายถึงศาสนา และ น้ำเงิน หมายถึงพระมหากษัตริย์

ซึ่งศาสนาในที่นี้ทรง  หมายถึง  พระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ

        ๑.๔. เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงต้อนรับพระสันตปาปา  จอห์นปอล ที่ ๒ ประมุขแห่งศาสนจักรคาทอลิก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท  เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๗

พระองค์มีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า  "คนไทยเป็นศาสนิกที่ดีทั่วกันส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ  อันเป็นศาสนาประจำชาติ  "

     ๑.๕. ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่นับศักราช  โดยใช้พุทธศักราช ( พ.ศ.) อย่างเป็นทางการ  ส่วนประเทศอื่นๆแม้จะนับถือพระพุทธศาสนาก็ไม่ได้ใช้พุทธศักราชเป็นหลักในการบอกเวลาอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้การที่คนไทยส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ ๙๕ของประชากรทั้งประเทศนับถือพระพุทธศาสนา  วิถีชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่จึงผูกพันกับพระพุทธศาสนาอย่างมาก  หลักธรรมและพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาได้รับการซึมซับหล่อหลอมวิถีชีวิตของคนไทย  จนทำให้มีลักษณะเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ของสังคมไทย  เช่น  มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  ยิ้มแย้มแจ่มใสแสดงความเป็นมิตร เป็นต้น เหล่านี้จึงเรียกได้ว่า  "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย"

        ๒.พระพุทธศาสนามีความสำคัญในฐานะเป็นสถาบันหลักของสังคมไทย

สถาบันทั้ง ๓ นี้ต่างเกื้อหนุน ค้ำจุน และดำรงอยู่คู่สังคมไทยตลอดมา  ทำให้สังคมไทยดำรงอยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้ ดังคำจารึกของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  ที่วัดอรุณราชวรารามตอนหนึ่งว่า

                                        คิดถึงพ่อ           พ่ออยู่          คู่กับเจ้า

                                ชาติของเรา                คงอยู่           คู่พระศาสนา

                                พุทธศาสนา                 อยู่ยง          คู่องค์กษัตรา

                                พระศาสดา                 ฝากไว้          ให้คู่กัน

        จะเห็นว่าสถาบันศาสนาในที่นี้คือ  สถาบันพระพุทธศาสนา  นั่นเอง สถาบันพระพุทธศาสนาเป็นสถาบันหลักสถาบันหนึ่งของชาติไทยมาตั้งแต่โบราณกาล  และมีการสือทอดจนมาถึงทุกวันนี้  โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก

        เมื่อพระพุทธศาสนาได้เข้ามาเผยแผ่และประดิษฐานมั่นคงอยู่ในสังคมไทย  พระพุทธศาสนาก็กลายเป็นศาสนาประจำชาติตั้งแต่นั้นมา  โดยมีและพระสงฆ์เป็นเสมือนตัวแทนพระพุทธศาสนาที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของคนไทย  วัดเป็นศูนย์กลางของสังคมอย่างที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้  เป็นศูนย์กลางของการอบรมสั่งสอนหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา เป็นสถาบันสำคัญทั้งด้านการศึกษา สังคม และเป็นบ่อเกิดของศิลปะสาขาต่างๆ ในขณะที่พระสงฆ์จะเป็นผู้นำทางจิตใจของประชาชน  เป็ยศูนย์กลางความเคารพศรัทธา  ความเชื่อถือและความร่วมมือ ตลอดจนเป็นที่ยึดเหนียวจิตใจให้ประชาชนมีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  และร่วมมือกันทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์  ซึ่งเท่ากับเป็นหลักประกันความมั่นคงของประเทศชาติได้เป็นอย่างยิ่ง พระพุทธศาสนาจึงมีความสำคัญสมเป็นสถาบันหลักของสังคมไทย

        ๓.พระพุทธศาสนามีความสำคัญในฐานะเป็นสภาพแวดล้อมที่กว้างขวางและครอบคลุมสังคมไทย

จากการที่สังคมไทยนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติสืบเนื่องติดต่อกันมาเป็นเวลานานตั้งแต่

ก่อนสมัยสุโขทัย  คติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาได้หยั่งรากลึกในชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยมานานนับเป็นพันปี

จนพระพุทธศาสนากลายเป็นสถาบันหลักของสังคมไทยสถาบันหนึ่งดังนั้นเมื่อเรามองไปรอบๆก็จะพบว่า สภาพแวดล้อมทั้งที่เป็นสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสภาพแวดล้อมทางสังคมล้วนเป็นพระพุทธศาสนา

หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น พระพุทธศาสนาจึงถือเป็นสภาพแวดล้อมที่กว้างขวางและครอบคลุมสังคมไทยอย่างแท้จริง  ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในข้อนี้ศึกษาได้จากเหตุผลต่อไปนี้

        ๓.๑. คนไทยส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ ๙๕ นับถือพระพุทธศาสนา

        ๓.๒. มีวัดและสำนักสงฆ์หลายหมื่นแห่งตั้งกระจายอยู่ทั่งประเทศ  เกือบทุกหมู่บ้าน  จะมีวัดเป็นศูนย์กลางในการทำกิจกรรมสำคัญๆของชุมชน                                      

        ๓.๓. มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษากระจายอยู่วัดและสำนักสงฆ์ต่างๆจำนวนมาก

คนไทยนิยมให้บุตรหลานที่เป็นผู้ชายบวชเรียนหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเมื่อมีอายุครบ ๒๐ ปี

        ๓.๔. ชาวไทยเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา  นิยมสร้างวัดวาอารามและประดิษฐ์สิ่งต่างๆเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอย่างปราณีตสวยงาม  มีปูชนียสถานและปูชนียวัตถุที่สำคัญ  ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเป็นมรดกตกทอดให้ชาวไทยได้ชื่นชมจำนวนมาก

        ๓.๕. ลักษณะนิสัย มารยาท ภาษา วรรณกรรม ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆของไทยล้วนมีรากฐานหรือได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธศาสนา

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก