ข้อใด ไม่จัดเป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการ พิจารณา การนำ เงินออมไป ลงทุน

มีคำถามกันมากว่า เริ่มต้นปี 2010 ควรทำอะไรกันดี หากเป็นคำแนะนำในช่วงต้นปีแบบนี้ ในสถานการณ์ที่บอกไม่ได้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมแล้วกำลังจะดีขึ้น หรือจะดิ่งเหวต่อไปอีก คงไม่มีอะไรดีไปกว่าให้ทุกคนหันกลับมาสำรวจเงินใน กระเป๋า และเงินใน กระปุก ของครอบครัวตัวเอง

เพราะเงินใน กระเป๋า (เงินใช้) จะเป็นดัชนีบอกความสามารถในการดำรงชีวิตประจำวันในระยะสั้น รายวัน หรือรายสัปดาห์ หากปีที่แล้วปกติครอบครัวของคุณๆ ใช้เงินเดือนละ 10,000 บาท ในทุกๆ รายจ่าย (รวมการชำระคืนหนี้สินด้วย) หรือสัปดาห์ละ 2,500 บาท ให้ยึดตัวเลขนั้นเป็นตัวตั้ง แล้วถามตัวเองว่า ปีเสือทองผ่านมาจนเข้าเดือนที่ 3 แล้ว ครอบครัวของเรา ใช้เงินมากขึ้นหรือน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา และมียอดหนี้สินต้องกู้ยืมเพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้าไม่มีหนี้เพิ่มเลยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา นั่นกล่าวได้ว่าคุณมีเงินในกระเป๋าเพียงพอกับความต้องการและเหมาะสมกับรูปแบบการใช้ชีวิตของครอบครัวแล้ว

ส่วนเงินใน กระปุก (เงินออม) จะเป็นดัชนีบอกความสามารถในการรับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคตของครอบครัว ซึ่งดัชนีตัวนี้ยากมากที่จะระบุเป็นตัวเลขให้กับครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งว่าแค่ไหนเรียกว่าปลอดภัย และแค่ไหนเรียกว่าเข้าขั้นวิกฤติ แต่ตัวเลขที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือ การมีเงินออมสะสมในยามฉุกเฉินที่ 6 เท่า หรือ 12 เท่าของรายจ่ายจำเป็นต่อเดือนของครอบครัว ซึ่งความหมายของตัวเลขนี้คือ เมื่อยามฉุกเฉินที่ครอบครัวขาดรายได้ เงินออมก้อนนี้จะช่วยให้ครอบครัวใช้เวลาต่อสู้กับเหตุฉุกเฉินเหล่านั้นได้นานแค่ไหน เช่น 6 เดือน หรือ 12 เดือน โดยไม่เดือดร้อน

ดังนั้น หากใครก็ตามที่เริ่มคิดได้แล้วว่า ขณะนี้ เงินใน กระปุก มีน้อยเกินไป 6 แนวคิดพื้นฐานต่อไปนี้ จะค่อยๆ ช่วยให้คุณมีเงินออมเพิ่มขึ้น และมีความมั่นคงขึ้นโดยอัตโนมัติ

  • ต้องกำหนดเป้าหมาย เพราะถ้าเราไม่รู้ว่าจะเก็บเงินไปเพื่ออะไร มันจะไม่มีแรงกระตุ้นให้เรามีวินัยในการเก็บ ดังนั้นขั้นตอนแรกที่สำคัญที่สุดคือ ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน และท้าทายพอ ในทางจิตวิทยาพบว่า การกำหนดเป้าหมายให้จับต้องได้และสัมผัสได้ เช่น การเขียนข้อความว่า “รวย 10 ล้าน ใน 30 ปี” ติดไว้ที่ฝาผนังสำหรับคนที่เริ่มตั้งใจจะวางแผนเกษียณ หรือ ติดภาพครอบครัวที่มีความสุขของเราเอาไว้ใกล้ๆ กับอุปกรณ์ช่วยเก็บเงิน อาทิ กระปุก หรือ กล่องใส่เงิน เพื่อคอยเตือนว่าการเติมเงินออมช่วยคงความสุขให้กับครอบครัวได้ เหล่านี้คือตัวอย่างของการทำเป้าหมายให้จับต้องได้ และเสมือนเป็นสัญลัษณ์เพื่อย้ำเตือนให้เราไม่หลุดและหลงทางไปกับสิ่งเร้าอื่นๆ ที่อาจทำให้เราลืมเป้าหมายสำคัญของเราไป
  • ออมก่อน (ใช้ทีหลัง) รวยกว่า คำนี้เป็นคาถา สำหรับใครก็ตามที่หวังที่จะมีเงินเก็บ เพราะคนส่วนใหญ่ที่มีรายได้และใช้จ่ายไปเรื่อยๆ ตามความจำเป็น เมื่อสิ้นเดือนแล้วจึงคิดนำเงินเหลือจากใช้จ่ายมาเก็บออมนั้น มักจะ... ไม่เหลือ และ...ไม่ได้เก็บ แต่ใครก็ตามที่เมื่อมีเงินเข้ากระเป๋า หรือได้ซองเงินเดือน หรือมีรายรับจากเงินโบนัสประจำปี แล้วหักส่วนหนึ่งทันที (สมมติ 10%) เข้าสู่การเก็บออมในบัญชีเงินฝาก หรือซื้อกองทุนรวม หรือซื้อทองคำ เหล่านี้สามารถยืนยันได้เลยว่าสุดท้ายแล้วคนกลุ่ม “ออมก่อนใช้” จะมีเงินเก็บที่มั่นคงและมีโอกาสสะสมเงินออมสำรองฉุกเฉินได้จริงตามเป้ามากกว่าคนกลุ่ม “ใช้ก่อนออม”
  • เริ่มเร็ว คำนี้ความหมายชัดเจนในตัวเอง เริ่มเร็วคือเดี๋ยวนี้ไม่ใช่พรุ่งนี้ และสำหรับใครก็ตามที่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไรให้เริ่มที่ข้อ 1 ของบทความนี้ก่อน แล้วที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของคุณที่จะออกแบบการออมของตนเองในรูปแบบที่เหมาะสมต่อไป
  • หาโปรแกรมเก็บเงินอัตโนมัติสำหรับคนที่ไม่มีวินัยในการออม คำว่าโปรแกรมในที่นี้มิได้หมายถึง Software ใดๆ แต่หมายถึงวิธีการเก็บเงินที่จะช่วยดึงเงินรายได้ของเราไปอยู่ในที่เดียวกันอย่างสม่ำเสมอ ก่อนที่เราจะมีโอกาสได้ใช้เงินนั้น (กลับไปที่เคล็ดลับข้อ 2 ออมก่อนรวยกว่า)

ทางเลือกแบบกึ่งอัตโนมัติเพื่อเงินออมยามฉุกเฉิน การเปิดบัญชีฝากแบบพิเศษชนิดดอกเบี้ยไม่เสียภาษี ประเภทฝากเงินเท่ากันทุกๆเดือน ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 24 เดือน ที่ใช้คำว่ากึ่งอัตโนมัติเพราะคุณจะต้องไปทำธุรกรรมฝากเงินในทุกๆ เดือนอย่างต่อเนื่อง (จะไปทำที่ธนาคารหรือทำ Online ก็แล้วแต่) เพื่อแลกกับอัตราดอกเบี้ยที่ได้จะสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ปกติ และดอกเบี้ยที่ได้ รับรองได้ว่าไม่มีหักภาษีแน่นอน (รายละเอียดปลีกย่อยสามารถสอบถามได้ที่ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งที่มีเงินฝากประเภทนี้) ความจริงหากคุณสามารถหาธนาคารที่สามารถตัดเงินเข้าบัญชีเงินออมประเภทนี้จากบัญชีออมทรัพย์ปกติของคุณได้แบบอัตโนมัติในทุกๆ เดือน ขอแนะนำให้รีบใช้บริการทันที

ตัวอย่างคล้ายๆ กับโปรแกรมกึ่งอัตโนมัติข้างต้นซึ่งเหมาะสมกับคนที่อยู่ในองค์กรใหญ่ที่มีสหกรณ์ออมทรัพย์ นั่นคือ การหักเงินซื้อหุ้นในสหกรณ์ออมทรัพย์ในทุกๆเดือน ข้อดีของทางเลือกนี้ คือผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจากการออมนั้นไม่เสียภาษีใดๆ ทั้งสิ้น และเป็นการหักเงินออกจากบัญชีเงินเดือนอัตโนมัติในทันที (อันนี้มีความเป็นอัตโนมัติมากกว่าข้อแรกเสียอีก) แต่การออมอัตโนมัติผ่านสหกรณ์นี้คงจะไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเก็บเงินออมฉุกเฉินของครอบครัว เพราะมีข้อจำกัดเรื่องสภาพคล่อง (ไม่สามารถถอนออกมาใช้ได้ในทันทีที่ต้องการยามฉุกเฉิน) ซึ่งคนส่วนใหญ่จะใช้วิธีกู้ยืมจากสหกรณ์มาแก้ปัญหาสภาพคล่องในยามฉุกเฉินแทน ซึ่งข้อเสีย 3 ข้อหลัก ของการกู้มาใช้ในยามฉุกเฉิน คือ ดอกเบี้ยที่ต้องเสียให้กับสหกรณ์ โอกาสที่จะกู้มากกว่าความต้องการใช้จริง และนิสัยทางการเงินที่มีความผูกพันกับการกู้มาใช้จ่าย ซึ่งหลายคนมีโอกาสที่จะเริ่มกู้มาใช้จ่ายทั้งฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉินมากขึ้นเรื่อยๆ

  • ตัดรายจ่ายเพื่อเพิ่มเงินเหลือ ข้อนี้สำคัญมากสำหรับใครก็ตามที่หาเงินใช้แบบหมุนเดือนชนเดือน และมีคำโต้แย้งในใจเรื่องการเก็บเงินว่า จะมีเงินเก็บได้อย่างไรในเมื่อเงินใช้แต่ละเดือนยังแทบจะไม่พอ ข้อแนะนำสำหรับคนกลุ่มนี้คือ สาเหตุที่เงินใช้ไม่พออยู่ที่ไหนให้แก้ที่ตรงนั้น เช่น เงินไม่พอเพราะ ไม่เคยวางแผนการใช้เงินใช้ไปเรื่อยๆ ได้มาใช้ไป แบบนี้ให้แก้ที่การทำงบประมาณ หรือถ้าเงินใช้ไม่พอเพราะมี รายจ่ายมากเกินไป ให้แก้ที่กำจัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นทิ้ง หรือลดรายจ่ายฟุ่มเฟือยลง คำว่ารายจ่ายไม่จำเป็นสำหรับบางคนคือรายจ่ายจำเป็นสำหรับบางคน ดังนั้นนิยามของใครก็ของมันแล้วกัน แต่ต้องหาให้เจอว่าไอ้ที่ว่าไม่จำเป็นนั้นคืออะไรแล้วจัดการให้สำเร็จ หรือสุดท้ายเพราะเป็นนักช้อป ชอบซื้อมากกว่าชอบใช้ หากเป็นข้อนี้แนะนำให้ลดการเดินเที่ยวตามร้านขายของโปรด เช่น ร้านเสื้อผ้า ร้านอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็คโทรนิค ตลาดนัดหรืองานแฟร์ต่างๆ ในช่วงสิ้นเดือน เงินเดือนออก หรือวันที่ถูกหวยหรือได้โบนัส หรือถ้าอดไม่ได้ ทางออกของคุณคือให้พกเงินสดน้อยๆ หรืออย่าพกบัตรเครดิตไปช้อปเด็ดขาด แล้วคุณจะค่อยๆ ลดรายจ่ายลงได้เอง
  • หาผลตอบแทนให้กับเงินออมอย่างชาญฉลาด เชื่อว่าคงมีคำถามคำโตตามมาสำหรับคนที่อ่านมาถึง
    ข้อนี้ว่า... เงินออมฉุกเฉินทำไมจึงต้องการผลตอบแทน และทำไมเราจะต้องไปเหนื่อยหาทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนมากๆ ด้วย ก่อนจะตอบคำถามข้างต้น คงต้องบอกว่าใครทำมาได้จนถึงข้อ 5 และจบลงที่เงินฝากออมทรัพย์ ที่ 6 เท่า หรือ 12 เท่าของรายจ่ายประจำต่อเดือน จนทำให้หายกังวลกับเหตุฉุกเฉินของครอบครัวไปแล้ว ต้องถือว่าดีแล้ว แต่สำหรับใครก็ตามที่คำว่า “ ดี” ยังไม่เพียงพอ แต่ต้องการ “ ดีที่สุด” ก็คงต้องพิจารณาข้อ 6 นี้เพิ่มเติม เพราะ ในตลาดเงินปัจจุบันที่การฝากเงินออมฉุกเฉินไว้ในบัญชีฝากออมทรัพย์หรือเก็บไว้ที่บ้าน ก็คงไม่ต่างกันมากเพราะผมตอบแทนต่ำเหลือเกิน และคงต้องถามตัวเองว่า จะมีความสุขขึ้นอีกสักหน่อยไหมถ้าเงินออมฉุกเฉินของคุณๆ ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นอีกสักหน่อย เช่น การซื้อกองทุนตลาดเงิน (Money Market Fund) หรือ การฝากเงินแบบกึ่งอัตโนมัติ และแบบอัตโนมัติ ที่กล่าวไว้แล้วในข้อ 4 หรือ การแบ่งเงินออมฉุกเฉินเป็น 2 ก้อน ก้อนแรก 80% อยู่ในทางเลือกที่มีสภาพคล่องสูง แต่ผลตอบแทนต่ำ เช่น บัญชีออมทรัพย์ กองทุนตลาดเงิน บัญชีออมพิเศษในข้อ 4 ส่วนก้อนที่เหลืออีก 20% ให้นำไปลงทุนที่มีผลตอบแทนสูงแต่สภาพคล่องอยู่ในระดับปานกลาง เช่น ฝากประจำ 6 เดือน ถึง 1 ปี ซื้อกองทุนรวมที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (ไม่แนะนำให้ซื้อกองทุนรวมหุ้นเพราะไม่เหมาะที่จะนำเงินออมฉุกเฉินไปอยู่ในการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงเช่นนั้น) หรือ ซื้อทองคำ

สุดท้ายนี้ การเริ่มใส่ใจเรื่องการเงิน โดยเฉพาะใครที่คิดจะลองฝึกปฏิบัติในข้อ 6 คุณจะเกิดการแสวงหาความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และการลงทุนประกอบการวางแผนการเงินของครอบครัวเพิ่มเติม ซึ่งทำให้หลังจากคุณเริ่มจัดการกับเงินออมในยามฉุกเฉินได้อยู่หมัด คุณจะขยับไปสู่การเริ่มออมเพื่อเป้าหมายอื่นๆ ที่สำคัญๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งมีความจำเป็นมากที่จะต้องอาศัยการลงทุนเป็นกลไกช่วยให้บรรลุเป้าหมายต่างๆ ในชีวิตที่มีเป้าหมายทางการเงินที่ท้าทายมากกว่าแค่ 6 เท่า หรือ 12 เท่าของรายจ่ายจำเป็นต่อเดือน ส่วนใครจะเลือกการลงทุนแบบใดคงต้องขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยงและความสามารถในการลงทุนของแต่ละคน ซึ่งอย่างน้อยก็ขอให้คุณๆ อุ่นใจได้ว่า ถ้าคุณอ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ และเริ่มคิดถึงขั้นตอนที่ 1 และสนใจที่จะทำให้ถึงขั้นตอนที่ 6 บอกได้เลยว่าครอบครัวของคุณโชคดีมากที่มีสมาชิกในครอบครัวใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท เพราะต้องไม่ลืมว่า “ในยามศึกเรารบ ยามสงบเราต้องเตรียมพร้อม” แล้วคุณคิดว่าในยามที่สภาวะเศรษฐกิจดูเหมือนนิ่งสงบเช่นนี้ (ไม่รู้จะดีขึ้นหรือเลวลง) คุณควรจะทำอะไรถ้าไม่เตรียมความพร้อมทางการเงินให้ครอบครัว



หากท่านสนใจเพิ่มพูนความรู้เพื่อการวางแผนการเงินที่ดี แบบ Step by Step และต่อยอดเงินออมของคุณให้งอกเงยขึ้นสามารถเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้กับ TSI แหล่งความรู้ สู่ความมั่งคั่ง ศูนย์รวมความรู้ด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคลและการลงทุน ที่เพียบพร้อมด้วยรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย อาทิ การอบรม สัมมนา การเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา หรือหาซื้อหนังสือของตลาดหลักทรัพย์ฯ ออนไลน์ เพียงคลิกมาที่ www.set.or.th/education เพียงเท่านี้ความมั่งคั่งก็ไม่ไกลเกินฝัน

วีระพล บดีรัฐ

รองผู้อำนวยการ

ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก