การ จัด แบบ ที่ มี ภาพ ใหญ่ และ ลดหลั่น ลง ไป มี ลักษณะ อย่างไร


หลักการออกแบบองค์ประกอบศิลป์

หลักองค์ประกอบศิลป์  (Composition)  หมายถึงอะไร
         หลักองค์ประกอบศิลป์ (Composition) หมายถึง  การนำทัศนธาตุของศิลปะ  ซึ่งประกอบไปด้วย  จุด  เส้น  รูปร่าง  รูปทรง  ขนาดสัดส่วน  แสงเงา  สี  บริเวณว่าง  พื้นผิว มาจัดภาพหรือองค์ประกอบรวมเข้าด้วยกัน  และให้ประสานสัมพันธ์กัน  เพื่อให้เกิดคุณค่าทางความงาม

หลักการจัดองค์ประกอบศิลป์ มีดังนี้

    เอกภาพ  (Unity)     ดุลยภาพ  (Balance)     จุดเด่น  (Dominance)     ความกลมกลืน  (Harmony)     ความขัดแย้ง  (Contrast)

ภาพการออกแบบองค์ประกอบศิลป์


       1.  เอกภาพ  (Unity) หมายถึง  การจัดทัศนธาตุของศิลปะให้มีความประสานกลมกลืน  มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันเป็นกลุ่มก้อนไม่กระจัดกระจาย  และแสดงออกให้เห็นได้ถึงความพอดีของความงาม

       วิธีการสร้างเอกภาพ  การสร้างเอกภาพทำได้ ด้วยการนำรูปร่างรูปทรงมาจัดให้มีความสัมพันธ์กัน ทำได้หลายวิธี  เช่น  วิธีสัมผัส  วิธีทับซ้อน และวิธีจัดกลุ่ม

                วิธีสัมผัส  คือ  การนำรูปร่าง รูปทรง มาสัมผัสกันในลักษณะต่าง ๆ เพื่อให้เกิดเอกภาพ ได้แก่

       1. ด้านสัมผัสด้าน  เป็นการสัมผัสโดยการนำด้านต่อด้านมาจัดวางติดกัน

       2. มุมสัมผัสด้าน  เป็นการสัมผัสโดยการนำด้านมาชนกับมุม

       3มุมสัมผัสมุม เป็นการสัมผัสโดยการนำมุมกับมุมมาชนกัน

       วิธีซ้อน  คือ  การนำรูปร่าง  รูปทรง มาวางทับซ้อนกันในลักษณะต่าง ๆ  เพื่อให้เกิดเอกภาพ  ได้แก่

       1. การทับซ้อนบางส่วน  เป็นการนำรูปร่าง รูปทรง มาวางทับซ้อนกันเพียงบางส่วนให้เลื่อมกัน

   2. การทับซ้อนทั้งหมด เป็นการนำรูปร่าง  รูปทรง  มาวางทับลงบนอีกรูปทรงหนึ่ง  แบบเต็มส่วน  ไม่ให้เหลื่อมกัน

   3.การทับซ้อนคาบเกี่ยว  เป็นการนำรูปร่าง  รูปทรง  มาวางเสียบกันเหมือนฝังอยู่ในอีกรูปหนึ่ง

   4. การทับซ้อนรูปโซ่  เป็นการนำรูปร่าง  รูปทรง  มาวางคล้องเกี่ยวกันเป็นลูกโซ่

   5.การทับซ้อนสานกัน  เป็นการนำรูปร่าง  รูปทรงมาวางไขว้กันแบบสาน

   6. การทับซ้อนหลายชั้นเรียงลำดับ  เป็นการนำรูปร่าง  รูปทรง  มาวางทับกันหลายชั้นทำให้เกิดมิติ  มองดูมีระยะใกล้ – ไกล  และมีความตื้นลึก

     วิธีจัดกลุ่ม  คือ  การนำรูปร่าง  รูปทรงมาจัดวางใกล้กัน  จนเกิดความสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในลักษณะต่าง ๆ  ดังนี้

     1.  รูปร่าง - รูปทรงสองรูปนำมาวางใกล้กัน  จะเกิดแรงดึงดูดกันและสัมพันธ์กัน  มีผลต่อสายตาและความรู้สึกที่จะนำมารวมเป็นหน่วยเดียวกัน  ทำให้เกิดเอกภาพ

   2.  รูปร่างสองรูปจัดวางห่างกัน แรงดึงดูดจะหมดไป ความรู้สึกที่จะนำมารวมเป็นหน่วยเดียวกันจะไม่มี แต่จะมีความรู้สึกแบ่งแยกรูปร่าง รูปทรงสองรูปออกจากกัน ทำให้ขาดเอกภาพ

    3.  รูปร่าง  รูปทรงสามสิ่งมาจัดวางในลักษณะกรอบสามเหลี่ยม  แม้จะจัดวางห่างกันแต่จะรู้สึกว่าของสามสิ่งนั้นมีแรงดึงดูด  และพยายามรวามเป็นหน่วยเดียวกัน

     2.  ดุลยภาพ  (Balance) หรือ  ความสมดุล หมายถึง การนำทัศนธาตุต่างๆทางศิลปะ เช่น จุด เส้น  รูปร่าง  รูปทรง 

 ขนาดสัดส่วน  แสงเงา  สี  บริเวณว่าง  พื้นผิว  มาจัดองค์ประกอบศิลป์ให้มีความพอดีเหมาะสม  เกิดน้ำหนักการจัดวางซ้าย  ขวา  ทั้งสองข้างเท่ากันความสมดุล แบ่งออกเป็น  2  ลักษณะ  คือ

      2.1.ความสมดุลแบบสองข้างเท่ากัน  (Symmetrical  Balance)  คือ  การนำทัศนธาตุทางศิลปะมาจัดองค์ประกอบศิลป์  ให้น้ำหนักทั้งสองข้างเท่ากันหรือเหมือนกันซึ่งส่วนมากจะปรากฏในผลงานจิตรกรรมไทย  ประติมากรรมไทย  สถาปัตยกรรมไทย  และงานศิลปะสมัยใหม่ที่ต้องการให้ดูแล้วรู้สึกสงบนิ่ง  มั่นคง และเลื่อมใสศรัทธา

       2.2.ความสมดุลแบบสองข้างไม่เท่ากัน  (Asymmetrical  Balance)  คือ  การนำทัศนธาตุทางศิลปะมาจัดองค์ประกอบศิลป์  จัดวางที่ไม่เท่ากันหรือไม่เหมือนกันทั้งสองข้าง  แต่มองดูแล้วให้ความรู้สึกว่าเท่ากันจากน้ำหนักโดยส่วนรวม  ความสมดุลในลักษณะนี้นิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง  เพราะสามารถให้อารมณ์  ความรู้สึกเคลื่อนไหว  และให้คุณค่าทางความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นอิสระแปลกใหม่

         3.  จุดเด่น  (Dominance) จุดเด่นหรือจุดสนใจ  หมายถึง  ส่วนสำคัญที่ปรากฏชัดสะดุดตาในผลงานศิลปะ จุดเด่นเกิดจากการเน้น  (Emphasis) ที่ดี ตำแหน่งของจุดเด่น  นิยมจัดวางไว้ในระยะหน้า  (Foreground)  หรือระยะกลาง  (Middle  Ground)  แต่ไม่ควรวางไว้ตรงกลางพอดี  เพราะจะทำให้ภาพเกิดความรู้สึกนิ่ง  ไม่เกิดการเคลื่อนไหว  จุดเด่นที่ดีควรมีเพียงจุดเดียว  และมีพื้นที่ประมาณ 20 – 30 % ของพื้นที่ทั้งหมด

   วิธีการเน้นจุดเด่น

   1.เน้นด้วยรูปร่าง  รูปทรง  หรือขนาด  เป็นการนำรูปร่างรูปทรงทีมีลักษณะแตกต่างกันมาจัดรวมกันจะทำให้เกิดความเด่นชัดขึ้นในรูปทรงที่ต้องการเน้น  หรือใช้ขนาดที่แตกต่างกัน  ขนาดที่ใหญ่กว่า  ย่อมเห็นได้ง่ายและเด่นชัดกว่าขนาดเล็ก

       2.เน้นด้วยค่าน้ำหนักของสี แสงเงา

  เป็นการนำค่าน้ำหนักของสี  แสงเงา  ที่มีความแตกต่างกันจากน้ำหนักอ่อนสุดไปยังน้ำหนักเข้มสุดสามารถสร้างจุดเด่นได้  เช่น ภาพจิตรกรรม  “คนกินมัน”  ของ  วินเซนท์  แวนโก๊ะ  (Vincent  Van  Gogh) จิตรกร ชาวดัตซ์   ภาพจิตรกรรม “ความสงบ”  ของสุรสิทธิ์  เสาว์คง  เป็นต้น

       3.เน้นด้วยสี  เป็นการใช้สีต่างวรรณะกันจะช่วยเน้นภาพซึ่งกันและกัน  เช่นภาพที่มีสีวรรณะเย็น  สามารถใช้สีวรรณะอุ่นเข้าไปช่วยเน้น  เพื่อให้เกิดความขัดแย้งจะทำให้เกิดจุดเด่น  แต่ต้องให้วรรณะหนึ่งมีปริมาณมากกว่าอีกวรรณะหนึ่ง เป็นต้น

      4.เน้นด้วยเส้น   เป็นการนำ เส้น

มาช่วยเน้นให้ภาพเกิดความเด่นชัดขึ้น  เช่น  การตัดเส้นเน้นภาพในงานจิตรกรรมไทย  การใช้เส้นนำพาสายตาไปยังจุดเด่นของภาพ เช่น  การเขียนภาพทิวทัศน์มีเส้นของถนน  ลำน้ำ  นำพาไปสู่จุดเด่น  เป็นต้น

        4.  ความกลมกลืน  (Harmony) หมายถึง  การนำทัศนธาตุทางศิลปะมาจัดองค์ประกอบศิลป์ให้มีความสัมพันธ์กลมกลืนกัน  สนับสนุนซึ่งกันและกัน  เข้ากันได้ดี  ไม่ขัดแย้งกัน
วิธีการสร้างความกลมกลืน

        1.ความกลมกลืนด้วยเส้น  เป็นการใช้เส้นในลักษณะเดียวกัน  หรือทิศทางเดียวกันมาจัดรวมกัน จะทำให้เกิดความกลมกลืนได้

         2.ความกลมกลืนด้วยรูปร่าง  รูปทรง   เป็นการนำรูปร่าง  รูปทรงที่มีลักษณะเหมือนกันหรือลักษณะใกล้เคียงกันมาจัดรวมกัน  เช่น การใช้รูปทรงกลม วงรี มาจัดองค์ประกอบศิลป์ร่วมกัน  จะเกิดความกลมกลืนกันได้

         3.ความกลมกลืนด้วยขนาด เป็นการจัดองค์ประกอบศิลป์ในลักษณะใช้ขนาดของรูปทรง ที่ใกล้เคียงกันและลดหลั่นกันมาจัดรวมทำให้ไม่เกิดความรู้สึกแตกต่างจะเกิดความรู้สึกกลมกลืน

        4.  ความกลมกลืนด้วยทิศทาง  ทิศทางที่เหมือนกันย่อมกลมกลืนกัน

       5.  ความกลมกลืนด้วยค่าน้ำหนักของแสงเงา  เป็นการจัดค่าน้ำหนักแสงเงาให้มีความประสานสัมพันธ์กลมกลืนกัน  โดยการไล่ค่าน้ำหนักอ่อนแก่

           6.  ความกลมกลืนด้วยลักษณะผิว  เป็นการจัดองค์ประกอบศิลป์โดยการนำลักษณะผิวหรือพื้นผิวที่เหมือนกัน  หรือใกล้เคียงมารวมกัน  เพื่อให้เกิดความกลมกลืน

            7.  ความกลมกลืนด้วยสี  เป็นการนำสีที่อยู่ในวรรณะเดียวกัน  หรือสีใกล้เคียงกัน มาจัดองค์ประกอบให้ประสานกลมกลืนกัน

        5.  ความขัดแย้ง  (Contrast) หมายถึง  การนำทัศนธาตุมาจัดองค์ประกอบศิลป์ให้เกิดการตัดกัน  หรือ  ขัดแย้งกัน  เพื่อลดความกลมกลืนลงบ้าง  เพราะบางทีความกลมกลืนที่มากไปอาจจะดูจืดชืด  น่าเบื่อหน่าย  ความขัดแย้งที่พอเหมาะจะช่วยให้งานดูมีชีวิตชีวา  น่าสนใจ  น่าตื่นเต้น ความขัดแย้งในงานศิลปะ  ควรจัดองค์ประกอบศิลป์ให้มีสัดส่วนขัดแย้งกันบ้าง  ประมาณ  10 – 20 % ก็จะช่วยให้งานนั้นเกิดคุณค่าความงามขึ้น

        วิธีสร้างความขัดแย้ง

           1.ความขัดแย้งด้วยเส้นเป็นการนำเส้นที่มีลักษณะต่างกันมาสร้างความขัดแย้งในงานศิลปะ เช่นการนำเส้นซิกแซก กับเส้นแนวนอนมาใช้ร่วมกันในงานออกแบบ วิธีใช้ความขัดแย้ง คือลดปริมาณเส้นชนิดใดชนิดหนึ่งลงประมาณ 20% และอาจใช้ ทัศนธาตุ

ทางศิลปะอื่นเข้าช่วยบ้างเล็กน้อย  เพื่อความสวยงาม

        2.ความขัดแย้งด้วยรูปร่าง  รูปทรง  เป็นการนำรูปร่าง  รูปทรง  ที่มีลักษณะไม่เหมือนกันหรือลักษณะไม่ใกล้เคียงกันมาจัดรวมกัน  เช่น  การนำรูปร่างสี่เหลี่ยมกับรูปร่างวงกลม  มาจัดองค์ประกอบศิลป์ร่วมกันจะเกิดความขัดแย้ง  แต่การขัดแย้งมากเกินไปจะดูไม่สวยงาม การแก้ไขให้ความขัดแย้งน้อยลงด้วยการทำให้รูปร่าง  รูปทรงนั้นมีลักษณะใกล้เคียงกัน

              3.ความขัดแย้งด้วยขนาด  เป็นการใช้ขนาดของรูปร่างรูปทรงที่มีขนาดใหญ่และขนาดเล็กแตกต่างกัน จะทำให้เกิดความขัดแย้ง  การแก้ไขจะต้องแก้ด้วยการเพิ่มขนาดให้ใกล้เคียงกัน

          4.ความขัดแย้งด้วยทิศทาง  เป็นการจัดวางให้ทิศทางของเส้น  รูปร่าง รูปทรง แสงเงา

  ฯลฯ  มีความขัดแย้งกันการแก้ไขจะต้องลดปริมาณความขัดแย้งของทิศทางให้เหลือน้อยลง

            5.ความขัดแย้งด้วยสี  เป็นการนำสีตรงกันข้ามหรือสีตัดกันมาใช้ร่วมกัน  เช่น  สีแดง  ขัดแย้งกับสีเขียว  การแก้ไขจะต้องลดปริมาณสีหนึ่งสีใดลงให้เหลือประมาณ  20%  ของพื้นที่ทั้งหมด  หรือใช้สีขาว  สีดำ  ตัดขั้นระหว่างสีทั้งสอง  และอาจใช้วิธีลดความเข้มของสีใดสีหนึ่งลงด้วย  สีขาว  สีดำ  สีเทา  สีตรงข้าม  เป็นต้น


     6.ความขัดแย้งด้วยพื้นผิว  เป็นการนำลักษณะผิวที่แตกต่างกันมาจัดรวมกันในงานศิลปะ เช่น  ลักษณะผิวหยาบขัดแย้งกับลักษณะผิวละเอียด  การแก้ไขจะต้องลดปริมาณลักษณะผิวส่วนหนึ่งส่วนใดให้น้อยลงหรือเพิ่มลักษณะผิวที่ใกล้เคียงกันหรือเกลี่ยให้ผสมผสานกัน

คุณค่าขององค์ประกอบศิลป์

        สรรพสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดอยู่อย่างโดดเดี่ยว  การหลอมรวมองค์ประกอบต่าง ๆ เข้าด้วยกันจะทำให้เกิดความสมบูรณ์ และการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  ดังนั้นการจัดองค์ประกอบศิลป์จึงมีคุณค่า  ต่อชีวิตมนุษย์ดังนี้

       1. ช่วยในการจัดวางผังเมือง  เพื่อจัดระเบียบของเมืองให้มีการใช้พื้นที่อย่างมีแบบแผนมีการแบ่งสัดส่วนของพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน  และมีความเป็นเอกภาพ และเป็นระเบียบเรียบร้อย

         2.  ช่วยเสริมสร้างคุณค่าของงานวิจิตรศิลป์

 นำหลักองค์ประกอบศิลป์มาช่วยพัฒนางาน ศิลปะด้านวิจิตรศิลป์ให้เกิดคุณค่าทางความงามมากขึ้น
        3.  ช่วยเสริมสร้างคุณค่าของงานประยุกต์ศิลป์นำหลักองค์ประกอบศิลป์มาช่วยพัฒนางานศิลปะด้านประยุกต์ศิลป์ให้เกิดคุณค่าทางประโยชน์ใช้สอย และคุณค่าทางความงามควบคู่กันไปอย่างเหมาะสม  ทำให้เป็นที่สนใจและต้องการของสังคมภายในประเทศ  และพัฒนาสู่สังคมโลกได้
        4. นำหลักองค์ประกอบศิลป์มาช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองในชีวิตประจำวัน เช่น  การนำมาออกแบบจัดตกแต่งที่อยู่อาศัย  สำนักงาน  ศาสนสถาน  งานนิทรรศการ  ขบวนพาเหรด  เวทีการแสดงและเวทีที่ใช้ในงานต่าง ๆ  เป็นต้น
         5.นำหลักองค์ประกอบศิลป์มาช่วยพัฒนาบุคลิกภาพของตนเอง ในการแต่งกายการจัดวางอิริยาบถให้ดูดีและมีความสัมพันธ์ไปถึงเรื่องสุขภาพที่ดีด้วย  เช่น  การนั่ง  การหิ้วของ  การเล่นกีฬา  บางครั้งก็ต้องใช้หลักของความสมดุล  ถ้าไม่ได้จังหวะอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย  เป็นต้น
         6.การเรียนรู้และเข้าใจในการจัดองค์ประกอบศิลป์ช่วยพัฒนาสุนทรียภาพ ยกระดับจิตใจให้ละเอียดอ่อน  มองโลกในแง่ดี  รักความประณีตงาม  ความเป็นระเบียบเรียบร้อย  และดำรงชีวิตอย่างมีความสุข

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก