ถอดความ ลิลิต ตะเลง พ่าย ตอน ที่ 7

ตอนที่ 1 เริ่มบทกวี

(ร่าย) ชัยชนะจากการทำยุทธหัตถีต่อพระมหาอุปราชานั้นเกริกพระเกียรติก่องไกรไปทั่วทุกหัวระแหง ไม่ว่าจะเป็นข้าศึกที่ไหน ก็ล้วนหวั่นเกรงในพระบรมเดชานุภาพจนไม่กล้าทำสงครามกันทั้งนั้น ทุกคนต่างพากันอ่อนน้อมยอมเป็นเมืองขึ้น ทำให้กรุงศรีอยุธยายุคนั้นเจริญรุ่งเรืองเป็นที่สุด พร้อมด้วยความสุขสำราญ พรั่งพร้อมด้วยโภคสมบัติ และสรรพพืชพันธุ์ธัญญาหารอันสมบูรณ์ การที่บ้านเมืองมีแต่ความสุขสงบ ปราศจากศึกสงคราม ข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในก็ต่างพากันเฝ้าแหนอย่างพร้อมพรั่ง เหล่าทหารทั้งพล ช้าง ม้า อาวุธ ปืนไฟ ก็มีมากมาย

(โคลงสี่สุภาพ) ด้วยบุญญานุภาพแห่งพระนเรศวรผู้เป็นกษัตริย์แห่งแผ่นดินสยาม ข้าศึกก็ต่างแซ่ซ้องในพระเกียรติยศชื่อเสียง และพากันเกรงในพระบรมเดชานุภาพ หากเปรียบฤทธิ์ของพระองค์แล้ว ก็สวยงามดั่งพระรามที่ปราบยักษ์ก็ไม่ปานกัน เมื่อทำสงครามข้าศึกเมื่อใดก็ได้รับชัยชนะทุกครั้ง พระองค์เก่งกาจดั่งพระรามอวตารลงมาปราบยุคเข็ญ ไม่ว่าข้าศึกจะยกพกมาเท่าไรก็ไม่อาจต่อสู้ฤทธิ์พระองค์ได้

เมื่อเสร็จศึกแล้วพระองค์ก็ขึ้นครองราชสมบัติ ปกแผ่พระบารมีทำให้บ้านเมืองร่มเย็นดุจแสงเดือนที่ส่องอยู่บนท้องฟ้า ทุกแห่งหนล้วนมีแต่ความสมบูรณ์ ปราศจากความทุกข์โศกใดๆทั้งสิ้น จนเป็นที่สรรเสริญทั่วไปทุกแหล่งหล้า

ตอนที่ 2 เหตุการณ์ทางเมืองมอญ

ฝ่ายหงสาวดีหรือนครรามัญ เมื่อทราบข่าวว่าพระมหาธรรมราชาผู้เป็นกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาถึงแก่พิราลัย และ พระนเรศวรผู้เป็นพระราชโอรสได้ขึ้นครองราชย์สมบัติ จึงได้เรียกประชุมหมู่อำมาตย์เพื่อหาช่องทางการโจมตี ฝ่ายหงสาวดีเห็นว่าในยุคที่กรุงศรีอยุธยาผลัดเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ อาจมีการวิวาทของโอรสทั้งสองพระองค์เพื่อแย่งชิงราชสมบัติ จึงควรยกทัพไปดูลาดเลา หากได้เปรียบจะได้รบแย่งชิงเอาบ้านเมืองเสีย

ขุนนางทั้งหลายต่างเห็นชอบตามพระราชดำริ จึงรับสั่งให้พระมหาอุปราชาราชโอรสจัดตั้งกองทัพพร้อมด้วยทัพเมืองเชียงใหม่เป็นจำนวนห้าแสนคนเพื่อยกทัพไปตีกรุงศรีอยุธยา พระมหาอุปราชากราบบังคมทูลพระเจ้าหงสาวดีว่า โหรได้ทำนายชะตาของพระองค์ว่ากำลังเคราะห์ร้ายถึงขั้นชะตาขาด แต่พระองค์ก็ตรัสเป็นเชิงประชดว่า เจ้าอยุธยานั้นมีแต่จะอยากออกไปทำศึก  ถ้าเจ้าเกรงว่าจะมีเคราะห์ร้ายก็จงอย่าไปรบเลย ไปเอาผ้าสตรีมานุ่งเถิดจะได้หมดเคราะห์  พระมหาอุปราชาทรงอับอายเป็นอย่างมากที่ถูกต่อว่าเช่นนี้  จึงทรงเตรียมยกทัพออกไปในเช้าตรู่โดยเกณฑ์ทหารจากหัวเมืองต่างๆรวมได้ห้าแสนคน  ก่อนออกรบได้เสด็จกลับมาสั่งลาพระสนมทั้งหลายด้วยความอาวรณ์ และเสร็จไปเข้าเฝ้าพระราชบิดาเพื่อทูลลาไปสงครามที่เมืองกรุงศรีอยุธยา

พระเจ้าหงสาวดีทรงพระราชทานพรให้ทหารชนะศึกสยามในครั้งนี้ ด้วยโอวาท 8 ประการ  โดยทรงเตือนว่าสงครามนั้นมากด้วยกลอุบาย ให้คิดให้ลึกๆ อย่าคิดอะไรตื้นๆ และอย่าทะนงตนโอ้อวด ดังต่อไปนี้

1. อย่าหูเบา (จงพ่อย่ายินยล แต่ตื้น)

2. อย่าทำเอาแต่ใจตนเอง โดยไม่นึกถึงใจผู้อื่น (อย่าลองคะนองตน ตามชอบ ทำนา)

3. ให้หมั่นสร้างความหึกเหิมให้ทหารอยู่เสมอ (เอาใจทหารหาญ เริงรื่น อยู่นา)

4. อย่าไว้ใจคนขี้ขลาดและคนโง่ (อย่าระคนปนใกล้ เกลือกกลั้วขลาดเขลา)

5. รอบรู้ในการจัดกระบวนทัพในทุกรูปแบบ (หนึ่งรู้พยุหเศิกไสร้ สบสถาน)

6. รู้หลักการตั้งค่าย พิชัยสงคราม (รู้เชิงพิชัยชาญ ชุมค่าย ควรนา)

7. รู้จักบำเหน็จความดีความชอบแก่นายกองที่เก่งกล้า (หนึ่งรู้บำเหน็จให้ ขุนพล อันสมรรถมือผจญ จืดเสี้ยน)

8. อย่าเกียจคร้าน หรือ ลดความเพียร (อย่าหย่อนวิริยะยล อย่างเกียจ)

เมื่อนั้น พระองค์ทรงรับโอวาทและคำประสาทพร จากนั้นจึงกราบบังคมลามาที่เกยประทับบนหลังช้างพระที่นั่งพลายพัทธกอ แล้วจึงยกกองทัพออกจากพระนครผ่านโขลนทวารเสด็จพระราชดำเนินไปโดยทางสถลมารคทันที

ตอนที่ 3 พระมหาอุปราชายกทัพเข้าเมืองกาญจนบุรี

เมื่อพระมหาอุปราชายกทัพมาถึงด่านเจดีย์สามองค์ ก็เสร็จผ่านเข้าไปในด่านเจดีย์สามองค์ซึ่งเข้าสู่เขตของเมืองสยามทันที พระองค์ได้ทรงรำพันถึงนางสนมว่า

การเสด็จมาเพียงลำพังนั้นช่างน่าเศร้าและเปล่าเปลี่ยวใจยิ่งนัก เมื่อทรงชมต้นไม้ ดอกไม้ และใบหญ้าก็ทรงเบิกบานพระทัยขึ้นมาบ้าง แต่ก็ยังไม่วายคิดถึงนางสนมกำนัลทั้งหลาย และเมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นต้นสลัดได ก็ทรงดำริว่า เหตุใดพระองค์จึงต้องจากน้องมานอนป่าเช่นนี้ คงเป็นเพราะสงครามที่ทำให้ต้องระทมทุกเช่นนี้ เมื่อทอดพระเนตรเห็นต้นสละที่ต้องสละและต้นระกำ ก็รู้สึกชอกช้ำใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเหม่อมองต้นสายหยุดเมื่อตอนสาย ก็ไม่เหลือกลิ่นอยู่แล้ว แต่ใจพี่นี้ไม่ว่าจะนานเท่าไรก็ยังรักน้องเสมอไม่คลาย และไม่รู้เลยว่าจะหยุดรักน้องได้อย่างไร

กองทัพมอญยกมามากจนดูมืดฟ้ามัวดิน ทั้งกองทัพช้าง ม้า และถืออาวุธครบมือ ฝ่ายเจ้าเมืองกาญจนบุรีนั้น ก็จัดทหารไปสืบข่าวในเขตมอญ โดยลัดเลาะไปทางลำน้ำแม่ กษัตริย์ เมื่อเห็นว่ากองทัพยกมาก็ตกใจ และรู้ว่าพระมหาอุปราชายกทัพมาเนื่องจากเห็นฉัตรห้าชั้น จึงรีบนำข่าวกลับมาแจ้งแก่เจ้าเมืองกาญจนบุรีทราบ เมื่อเจ้าเมืองทราบข่าว ก็ตกใจอกสั่นขวัญผวา และเห็นว่าเมืองของตนมีกำลังน้อย ไม่น่าจะทนสู้ต่อกรได้ จึงชวนกันหลบหนีเข้าป่าไป

ฝ่ายกองทัพพระมหาอุปราชาก็เร่งยกทัพมาจนถึงแม่น้ำลำกระเพิน ทรงตรัสสั่งให้พระยาจิตตองทำสะพานไม้ไผ่ปูข้ามแม่น้ำเพื่อยกพลข้ามฝากไป เมื่อชาวสยามเห็นเช่นนั้น จึงลงลายมือชื่อทุกคนเพื่อส่งสารไปรายงานเรื่องข้าศึกยกทัพเข้ามา แลให้ขุนแผน (นายด่าน) ขี่ม้าเร็วมาบอกพญามหาดไทย เพื่อกราบทูลเรื่องให้พระองค์ทรงทราบ

เมื่อกองทัพมอญยกทัพมาและเห็นเมืองกาญจนบุรีว่างเปล่า ไม่มีผู้ใดมาออกสู้รบ จึงได้จับคนไทยมาสอบถามจนรู้ความว่า คนไทยทราบข่าวการยกทัพมาและเร่งหลบหนีไปหมดแล้ว พระมหาอุปราชาจึงให้ยกทัพเดินเข้าเมืองผ่านไปจนถึงตำบลพนมทวน

เมื่อถึงเมืองพนมทวน ก็เกิดลมเวรัมภาพัดหอบอย่างรุนแรงจนยอดฉัตรหัก พระมหาอุปราชาตกพระทัยเป็นยิ่งนัก และทรงสั่งให้โหรทำนายความ โหรทราบถึงลางร้าย แต่ไม่กล้าทูลความตามจริง จึงกลับทำนายว่า เหตุการณ์เช่นนี้เมื่อเกิดในตอนเย็นจะได้ลาภ และจะทำให้พระองค์ชนะศึกสงสรามในครั้งนี้

เมื่อพระมหาอุปราชาได้ฟังก็ยังไม่ปักใจเชื่อ พระองค์ยังคงหวั่นในพระทัย เกรงว่าหากพ่ายศึกในครั้งนี้ พระราชบิดาคงจะต้องโทมนัสอย่างใหญ่หลวงเป็นแน่ พระองค์ทรงดำริว่า ใครก็ไม่อาจจะต่อสู้กับพระนเรศวรได้ เห็นทีแผ่นดินมอญจะต้องพินาศเพราะไม่มีใครอาจจะต่อสู้ต้านทาน และรู้สึกสงสารสมเด็จพระราชบิดาที่จะต้องเปล่าเปลี่ยวพระทัย อีกทั้งพระองค์ก็ทรงชราภาพมากแล้ว เกรงว่าจะพ่ายแพ้ศึกครั้งนี้ให้แก่ชาวสยาม สงครามครั้งนี้น่าหนักยิ่งใจนัก พระองค์เรารู้สึกหนาวเหน็บอยู่ในใจ ถึงตายก็คงจะถูกทิ้งไม่มีใครเผาผี พระองค์คงจะต้องอยู่แต่ในพระนครแต่เพียงลำพังพระองค์เดียว โดยไม่มีใครเป็นคู่ทุกข์เป็นแน่

ฝ่ายเจ้าเมืองต่างๆที่อยู่ไม่ไกล ไม่ว่าจะเป็น เมืองสิงห์ เมืองสรรค์ เมืองสุพรรณ ก็ต่างพากันอพยพผู้คนหนีเข้าป่า แล้วส่งสารไปกราบให้พระนเรศวรทรงทราบ

ตอนที่ 4 พระนเรศวรทรงปรารภเรื่องตีเมืองเขมร

ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรได้ออกประทับพร้อมด้วยขุนนางในท้องพระโรง พระองค์ได้มีพระราชดำรัสไตร่ถามถึงทุกข์สุขของประชาชน ขุนนางก็กราบทูลให้ทรงทราบความเป็นอยู่ของบ้านเมือง พระองค์ทรงตัดสอนคดีด้วยความยุติธรรม ทำให้ราษฎรอยู่ด้วยกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข

วันหนึ่ง พระองค์มีพระราชดำรัสที่จะยกทัพไปตีเขมร โดยทรงกำหนดวันที่จะยกทัพออกไป ส่วนทัพเรือจะให้เกณฑ์เอาหัวเมืองปักษ์ใต้เพื่อยกไปตีเมืองพุทไธมาศและเมืองบักสักก่อน จึงให้เข้าล้อมเมืองหลวงของเขมรไว้

แต่พระองค์ก็ยังทรงพระวิตกว่าหากพม่ายกกองทัพมา จะต้องมีใครอยู่ป้องกันบ้านเมืองระหว่างที่รอพระองค์เสด็จกลับมา เมื่อทรงดำริดังนั้น ก็ทรงแต่งตั้งให้พระยาจักรีเป็นผู้รักษาบ้านเมืองไว้ แต่ก็ยังทรงคาดคะเนว่าทัพพม่าที่พึ่งจะแตกไปเมื่อต้นปี ปีนี้ก็คงจะยังไม่ยกมา ถ้าจะมาก็เห็นจะเป็นปีหน้า ขณะที่กำลังปรึกษากันอยู่นั้น ทูตแห่งเมืองกาญจนบุรีก็ส่งสารมาถึงพอดี และได้กราบทูลเรื่องราวที่พม่ายกทัพมาตีเมืองกาญจนบุรีให้ทรงทราบ เมื่อได้ฟังดังนั้น พระองค์กลับทรงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับข่าวศึก และสั่งให้พระเอกาทศรถเข้าเฝ้าเพื่อแจ้งข่าวให้ทราบ

ตอนที่ 5 สมเด็จพระนเรศวรทรงเตรียมการสู้ศึกมอญ

สมเด็จพระนเรศวรมีพระราชดำรัสว่า เรากำลังจะเตรียมทัพไปตีเขมร ศึกมอญก็กลับมาชิงตัดหน้า เราจะยกทัพไปทำสงครามเพื่อเป็นการรื่นเริงครั้งยิ่งใหญ่นี้ และจะต้องนำเอาชัยชนะกลับมาให้ได้ เมื่อทรงดำรัสเช่นนั้น พระองค์ก็มีรับสั่งประกาศให้เมืองราชบุรีเกณฑ์ทหารจำนวน 500 คน ไปซุ่มดูข้าศึกขณะกำลังสร้างสะพานข้ามแม่น้ำที่ลำกระเพิน และสั่งให้รีบตัดสะพานให้ขาด จุดไฟเผาอย่าให้เหลือ แล้วจงรีบหลบหนีกลับมาอย่าให้ข้าศึกจับได้

จากนั้นก็ทรงเบิกตัวทูตจากเมืองสิงห์ เมืองสรรค์ และเมืองสุพรรณบุรี ให้มาเข้าเฝ้า และถวายสารให้ทรงทราบว่า ขณะนี้กองทัพมอญกำลังลาดตระเวนจนเข้ามาถึงเขตเมืองวิเศษไชยชาญแล้ว

เมื่อได้ฟังดังนั้น สมเด็จพระนเรศวรก็มิได้เกรงกลัวข้าศึกแม้แต่น้อย แต่กลับรู้สึกโสมนัสที่จะได้ไปปราบข้าศึกด้วยพระองค์เอง ทั้งสองพระองค์ปรึกษาถึงกลศึกที่จะรับมือกับมอญ ขุนนางจึงได้ถวายคำแนะนำให้ออกไปรับข้าศึกที่นอกกรุงศรีอยุธยา ซึ่งก็ตรงกับพระดำริของพระองค์ สมเด็จพระนเรศวรจึงมีรับสั่งให้จัดทัพกำลังพลห้าหมื่นทันที โดยเกณฑ์ทหารมาจากหัวเมืองตรีและจัตวา 23 และใหหัวเมืองใต้เป็นทัพหน้า ทรงรับสั่งให้พระยาศรีไสยณรงค์เป็นแม่ทัพ พระราชฤทธานนท์เป็นปลัดทัพ โดยให้กองหน้าออกไปต่อสู้ข้าศึก หากกองทัพสู้ไม่ได้ พระองค์จะออกไปต่อสู้ด้วยพระองค์เองในภายหลัง ทั้งสองแม่ทัพรับทราบในพระบรมราชโองการ และยกทัพไปตั้งรอทัพข้าศึกอยูที่ตำบลหนองสาหร่าย โดยตั้งค่ายเป็นรูปภูมิพยุหไกรสร

ตอนที่ 6 พระนเรศวรทรงตรวจเตรียมทัพ

สมเด็จพระนเรศวรมีรับสั่งให้โหรหาฤกษ์ที่จะยกทัพหลวงไป หลวงญาณโยคและหลวงโลกทีปคำนวณพระฤกษ์ว่า หากพระนเรศวรได้จตุรงคโชคอาจปราบข้าศึกให้แพ้สงครามไปได้ ดังนั้น  จึงได้ฤกษ์เสด็จยกทัพออกจากพระนคร ณ วันอาทิตย์ ขึ้น 11 ค่ำ เดือนยี่ เวลา 8.30 น.

เมื่อได้มงคลฤกษ์แล้ว สมเด็จพระนเรศวรทรงสั่งให้เคลื่อนพยุหยาตราเข้าโขลนทวาร ให้พระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์แก่กองทัพ ก่อนเสด็จออกศึกทางชลมารคไปประทับแรมที่ตำบลปากโมก

เมื่อพระราชดำเนินไปถึงปากโมก สมเด็จพระนเรศวรทรงปรึกษาการศึกอยู่กับขุนนางผู้ใหญ่จนถึงยามสาม จากนั้นจึงเสด็จเข้าที่บรรทม ครั้นถึงเวลา 4 นาฬิกา พระองค์ก็ทรงพระสุบินเป็นศุภนิมิติที่ดี

ในพระสุบินของสมเด็จพระนเรศวร ได้ความว่า พระองค์ได้ทอดพระเนตรน้ำไหลบ่าท่วมป่าสูงไปทางทิศตะวันตก จนเป็นแนวยาวสุดพระเนตร พระองค์ทรงลุยกระแสน้ำอันเชี่ยวกรากและกว้างใหญ่นั้น จนพบเจอกับจระเข้ใหญ่ตัวหนึ่งที่โถมปะทะและจ้องจะกัดพระองค์ การต่อสู้จึงเกิดขึ้น พระองค์ใช้พระแสงดาบฟาดฟันจระเข้จนตาย ทันใดนั้นเอง สายน้ำก็แห้งเหือดลงไปทันใด พอตื่นบรรทม สมเด็จพระนเรศวรก็รีบรับสั่งให้โหรทำนายพระสุบินนิมิตทันที

พระโหราธิบดีถวายพยากรณ์ว่า พระสุบินครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะเทวดาดลบันดาล น้ำซึ่งไหลบ่าท่วมป่าทางทิศตะวันตกหมายถึงกองทัพของมอญ ส่วนจระเข้ก็คือพระมหาอุปราชา การสงครามครั้งนี้แสนยิ่งใหญ่ จนทั้งสองพระองค์จะได้กระทำยุตธหัตถีกัน การที่พระองค์สามารถเอาชนะจระเข้ได้ แสดงว่าการศีกครั้งนี้พระองค์จะต้องชนะศัตรูได้ด้วยพระแสงของ้าวของพระองค์เป็นแน่ ส่วนเรื่องที่พระองค์ทรงกระแสน้ำนั้น หมายความว่า พระองค์จะรุกไล่บุกฝ่าไปในหมู่ข้าศึก จนข้าศึกแตกพ่ายไปและไม่อาจจะต้านทานพระบรมเดชานุภาพได้

เมื่อใกล้ถึงฤกษ์งามยามดีที่จะยกทัพ สมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถจึงเสด็จไปยังเกยทรงช้างพระที่นั่ง และคอยเวลาพิชัยฤกษ์ ทันใดนั้นเอง พระองค์ทอดพระเนตรพระบรมสารีริกธาตุขนาดเท่าผลส้มเกลี้ยงที่ส่องแสงเรืองรอง ลอยไปมาบนท้องฟ้าทางทิศใต้ และหมุนเวียนรอบกองทัพเป็นทักษิณาวรรค 3 รอบ จากนั้นจึงลอยวนไปทางทิศเหนือ

สมเด็จพระพี่น้องทั้งสองพระองค์ทรงปิติยินดีตื้นตันพระทัยเป็นยิ่งนัก ทรงสรรเสริญและนมัสการ อธิษฐานให้พระบรมสารีริกธาตุนั้นบันดาลให้พระองค์ชนะข้าศึกให้จงได้ จากนั้น สมเด็จพระนเรศวรจึงเสด็จประทับช้างทรง ชื่อว่า เจ้าพระยาไชยานุภาพ ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถ ก็เสด็จประทับช้างทรง ชื่อ เจ้าพระยาปราบไตรจักร ก่อนจะเคลื่อนขบวนทัพพยุหยาตราออกไปสู้ศึก

ตอนที่ 7 พระมหาอุปราชาทรงปรึกษาการศึกแล้วยกทัพเข้าปะทะหน้าของไทย

ฝ่ายกองตระเวนทหารมอญที่ได้รับคำสั่งมาสืบข่าวกองทัพไทย นำโดยสมิงอะคร้าน สมิงเป่อ สมิงซายม่วน พร้อมด้วยกองม้าจำนวน 500 คน ได้นำข่าวมากราบทุลพระมหาอุปราชา ว่ากองทัพไทยตั้งค่ายรอรับอยู่ที่หนองสาหร่าย และประมาณพลทัพของกองทัพไทยว่ามีประมาณสิบ – สิบแปดหมื่น  พระมหาอุปราชาเห็นว่ากองทัพไทยนั้นน้อยกว่ากองทัพตนเองอยู่มาก จึงทรงดำริว่าจะต้องโจมตีให้กองทัพไทยแตกพ่ายไปให้ได้ เพื่ออนาคตจะได้เข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาเพื่อชิงราชสมบัติได้โดยง่าย พระมหาอุปราชารับสั่งให้ขุนพลเตรียมทัพให้เสร็จตั้งแต่ 3 นาฬิกา และยกทัพออกไปตอน 5 นาฬิกา เพื่อให้พร้อมโจมตีตอนรุ่งเช้า ส่วนพระมหาอุปราชานั้นเสด็จประทับช้างพลายพัธกอซึ่งกำลังตกมัน

พระยาศรีไสยณรงค์และพระราชฤทธานนท์ เมื่อได้รับพระบรมราชโองการ ก็จัดทัพให้พร้อมด้วยกำลังพล 5 หมื่น  ด้วยรูปแบบตรีเสนา คือการแบ่งออกเป็น 3 ทัพ ได้แก่

ทัพที่ 1 กองหน้าปีกซ้ายโดยเจ้าเมืองธนบุรี, นายกองหน้าโดยพระยาสุพรรณบุรี และนายกองหน้า ปีกขวาโดยเจ้าเมืองนนทบุรี

ทัพที่ 2 นายกองปีกซ้ายโดยเจ้าเมืองสรรคบุรี, แม่ทัพโดยพระยาศรีไสยณรงค์ และนายกอง ปีกขวาโดยเจ้าเมืองสิงห์บุรี

ทัพที่ 3 นายกองหลังปีกซ้ายโดยเจ้าเมืองชัยนาท, ปลัดทัพคุมกองหลังโดยพระราชฤทธานนท์ และนายกองหลัง ปีกขวาโดยพระยาวิเศษชัยชาญ

ฝ่ายทัพไทยก็ได้เคลื่อนพลออกจากหนองสาหร่ายมาจนถึงโคกเผาข้าวเมื่อเวลาประมาณ 7 นาฬิกา และได้เข้าปะทะกับทัพมอญ ทั้งสองฝ่ายต่างต่อสู้กันอย่างดุเดือด แต่ด้วยความที่กองทัพไทยมีกำลังพลที่น้อยกว่า จึงไม่อาจต้านทานทัพศัตรูได้ กองทัพไทยจึงถูกตีโอบล้อม จนต้องกระจายออกไปเพราะรับมือไม่ไหว ในขณะที่สมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถก็ทรงเตรียมกำลังทหารไว้อย่างพร้อมเพรียงเพื่อต่อสู่กับศัตรู

ตอนที่ 8 ทัพหน้าไทยถอยไม่เป็นกระบวน

สมเด็จพระนเรศวรได้สั่งให้พราหมณ์ทำพิธีทางไสยศาสตร์ก่อนการออกรบ โดยการเบิกประตูป่าและพิธีละว้าเซ่นไก่ ตามด้วยการตัดไม้ข่มนาม ระหว่างนั้นได้ทรงสดับเสียงปืนซึ่งเกิดจากการสู้รบของไทยและมอญ แต่เสียงนั้นอยู่ไกลฟังไม่ถนัด พระองค์จึงรับสั่งให้หมื่นทิพเสนาไปสืบข่าว

หมื่นทิพเสนาขึ้นม้าเร็วไปจนพบว่ากองทัพไทยกำลังเสียเปรียบ และกำลังล่าถอยโดยมีฝ่ายมอญตามมาอย่างกระชั้นชิด หมื่นทิพเสนาจึงได้พาขุนหมื่นผู้หนึ่งกลับมาทูลสถานการณ์รบให้สมเด็จพระนเรศวรทราบ ขุนหมื่นผู้นั้นกราบทูลว่า เมื่อเวลา 7 นาฬิกา กองทัพไทยกับมอญได้เข้าปะทะกันที่ตำบลโคกเผาข้าว แต่เนื่องด้วยกำลังพลที่น้อยกว่า ทำให้กองทัพไทยต้องถอยร่นอยู่ตลอดเวลา

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรได้ฟังดังนั้น จึงตรัสปรึกษาแม่ทัพนายกองว่าควรคิดหาอุบายแก้ไขอย่างไร บรรดาแม่ทัพนายกองกราบทูลให้พระองค์ส่งทัพอีกกองไปยันข้าศึกไว้ เพื่อให้ข้าศึกอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ ก่อนจึงจะให้พระองค์เสด็จยกทัพหลวงออกต่อสู้ แต่สมเด็จพระนเรศวรกลับเห็นตรงข้าม และตรัสตอบกลับไปว่า หากทรงทัพไทยไปเสริมในช่วงเวลานี้ก็คงมีแต่จะพ่ายแพ้ต้านทานไม่ไหว พระองค์จึงทรงออกอุบายให้ฝ่ายมอญตายใจโดยการไม่ส่งทหารไปสู้รบ แต่รอตั้งรับเพื่อออกโจมตีทีเดียว แม่ทัพนายกองทั้งหลายเห็นชอบด้วยกับพระราชดำรินั้น สมเด็จพระนเรศวรจึงมีรับสั่งให้หมื่นทิพเสนากับหมื่นราชามาตย์นำข่าวไปแจ้งแก่ทัพหน้าของไทยให้ล่าถอยโดยเร็ว

ตอนที่ 9 ทัพหลวงเคลื่อนพล ช้างทรงพระนเรศวรและพระเอกาทศรถฝ่าเข้าไปในกองทัพข้าศึก

ขณะสมเด็จพระนเรศวรประทับบนเกย เพื่อรอพิชัยฤกษ์เคลื่อนทัพหลวง ด้วยพระบรมเดชานุภาพได้บังเกิดนิมิตเป็นครั้งที่สอง เมฆก้อนใหญ่ที่เคยมีบนท้องฟ้ากลับละลายหายไป จนทำให้ท้องฟ้าแจ่มกระจ่าง แสงแดดแผดจ้า นิมิตนี้ชี้ให้เห็นถึงความโชคดีมีชัย สมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถทรงเคลื่อนพลตามเกล็ดนาค ตามแบบตำราพิชัยสงคราม จนในที่สุดก็เข้าปะทะกับกองทัพข้าศึก

ช้างพระที่นั่งทั้งสอง คือ พระเจ้าไชยานุภาพ และ เจ้าพระยาปราบไตรจักร ส่งเสียงร้องด้วยความคึกคะนอง เมื่อได้สดับเสียง ฆ้อง กลอง และเสียงปืนของข้าศึก แต่เพราะกำลังตกมัน ทำให้ควาญช้างไม่สามารถบังคับไว้ไม่อยู่ ช้างจึงวิ่งออกไปโดยเร็วจนทหารในกองตามไม่ทัน มีแต่กลางช้างและควาญช้างสี่คนเท่านั้นที่ตามเสด็จไปด้วย

เมื่อเข้าไปใกล้กองหน้าของข้าศึก ช้างศึกก็พากันตกใจจนหนีไปปะทะกับพวกที่ตามมาข้างหลัง ช้างทรงไล่แทงช้างของข้าศึกอย่างเมามัน ทำให้ทหารพม่าล้มตายเป็นจำนวนมาก แม้ข้าศึกจะยิงปืนเข้าใส่ แต่ไม่ถูกช้างทรง

การต่อสู้เป็นไปอย่างต่อเนื่องแบบตะลุมบอนจนฝุ่นตลบมองไม่เห็นเบื้องหน้าอย่างกับในเวลากลางคืน สมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสประกาศแด่เทวดาทั้งหลายบนสวรรค์ทั้งหกชั้น และพรหมทั้งสิบหกชั้นว่า หากเทวดาที่ให้พระองค์มาประสูติเป็นพระมหากษัตริย์เพื่อครองราชย์สมบัติเพื่อหวังจะให้พระองค์ทะนุบำรุงศาสนาและพระรัตนตรัยรับรู้ จงช่วยดลบันดาลให้ท้องฟ้ากลับมาสว่างเพื่อจะได้มองเห็นข้าศึกดังเดิมเถิด เมื่อจบพระดำรัส พายุใหญ่ก็พัดหอบเอาฝุ่นและควันจางหายไปหมด ท้องฟ้าจึงกลับมาสว่างดังเดิม และสามารถมองเห็นสนามรบได้อย่างชัดเจน

พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชาทรงช้างประทับยืนอยู่ใต้ต้นข่อย โดยมีทหารห้อมล้อมและตั้งเครื่องสูงครบครัน  ทั้งสองพระองค์จึงทรงไสช้างเข้าไปหากันด้วยพระพักตร์ที่ผ่องใส และไม่มีความเกรงกลัวแม้แต่น้อย และแม้ว่าข้าศึกจะยิงปืนไฟเข้ามา ก็มิได้ต้องพระองค์เลยแม้แต่น้อย

ตอนที่ 10 ยุทธหัตถี และชัยชนะของไทย

สมเด็จพระนเรศวรทรงทรงท้ารบด้วยพระราชดำรัสอันไพเราะว่า

“ ท่านผู้ทรงเป็นใหญ่แห่งประเทศมอญ มีพระเกียรติยศเลื่องฟ้าลือไกลไปทั่วทั้งสิบทิศ ยามใดที่ข้าศึกได้ยินก็ล้วนหวั่นเกรงในพระบรมเดชานุภาพจนหนีไปสิ้น  พระเจ้าผู้พี่ปกครองประเทศอันบริบูรณ์ยิ่ง จึงเป็นการไม่สมควรเลยที่พระเจ้าพี่จะประทับอยู่ใต้ร่มไม้ ข้าพเจ้าขอเชิญพระองค์ทรงเสด็จมาร่วมทำยุทธหัตถีร่วมกัน เพื่อแสดงเกียรติไว้ให้เป็นที่ปรากฏ ว่าต่อจากนี้เราทั้งสองจะไม่มีอีกแล้ว

การทำยุทธหัตถีก็เปรียบเสมือนงานเลี้ยงรื่นเริงของหมู่กษัตริย์ ที่ทำให้ประจักษ์แก่สายตาของมนุษย์และเทวดา ข้าพเจ้าขอทูลเชิญเทวดาและพรหมทั้งปวงมาประชุมในสถานที่แห่งนี้เพื่อชมการยุทธหัตถี หากผู้ใดมีความเชี่ยวชาญกว่า ก็ขอทรงอวยพรให้ผู้นั้นรับชัยชนะเถิด และหวังว่าพระเกียรติยศในการรบครั้งนี้จะคงดำรงอยู่ชั่วฟ้าดินสลาย หากใครได้รับรู้เรื่องราวก็จะได้ยกย่องสรรเสริญกันตลอดไป ”

หลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรได้ตรัสพรรณนาออกมาดังนั้น พระมหาอุปราชาก็บังเกิดขัตติยะมานะกล้าหาญขึ้นมา แล้วรีบไสช้างเข้าต่อสู้โดยเร็วด้วยความกล้าหาญ

ช้างทรงของผู้เป็นใหญ่ทั้งสองพระองค์ ต่อสู้กับอย่างงดงามเปรียบประดุจช้างเอราวัณและช้างคิรีเมขล์อันเป็นพาหนะของวัสวดีมาร ช้างทั้งสองต่างส่ายเศียรและหงายงาโถมแทงกันอย่างขวักไขว่ ส่วนกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสองก็งดงามเลิศล้ำประหนึ่งพระอินทร์และไพจิตราสูรทำสงครามกัน หรือไม่ก็เหมือนกับพระรามรบกับทศกัณฐ์

กษัตริย์ทั้งสองพระองค์สู่รบกับโดยไม่มีความเกรงกลัวแม้แต่น้อย  ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรและพระมหาอุปราชาโถมเข้าใส่กันอย่างรุนแรง จนทำให้ช้างทรงของพระมหาอุปราชาได้ที ใช้งาทั้งคู่ค้ำคางเจ้าพระยาไชยานุภาพจนแหงนสูงขึ้น พระมหาอุปราชาเห็นโอกาส จึงเงื้อพระแสงของ้าวจ้วงฟันอย่างรุนแรงราวกับจักรหมุน แต่สมเด็จพระนเรศวรรู้ทันท่วงที และทรงเบี่ยงพระมาลาหลบพร้อมกับใช้พระแสงของ้าวปัดได้ทัน อาวุธของพระมหาอุปราชาจึงไม่ต้องพระองค์

แต่เมื่อช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรเบนสะบัดได้ล่าง จึงใช้งางัดคอช้างของพระมหาอุปราชาจนหงายหลัง ทำให้สมเด็จพระนเรศวรทรงเงื้อพระแสงของ้าวฟันถูกพระมหาอุปราชาจนพระอังสาขวาขาดสะพายแล่ง พระอุระของพระมหาอุปราชาถูกฟันจนเป็นรอยแยก ทำให้พระวรกายเอนซบลงบนคอช้าง พระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ทันทีในสนามรบ ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถได้ทำยุทธหัตถีกับมางจาชโร ผู้เป็นพระพี่เลี้ยงของพระมหาอุปราชา พระเอกาทศรถทรงใช้พระแสงของ้าวฟันถูกมางจาชโรตายจนเสียชีวิตอยู่บนหลังพลายพัชเนียรเช่นกัน

ทหารที่ติดตามตายไปสองและรอดกลับมาสอง  โดยนายมหานุภาพผู้เป็นควาญช้างของสมเด็จพระนเรศวรถูกปืนข้าศึกยิงจนเสียชีวิต หมื่นภักดีศวรผู้เป็นกลางช้างของพระเอกาทศรถก็ถูกปืนข้าศึกตาย  ด้วยพระบรมเดชานุภาพของพระองค์ พระเกียรติการรบครั้งนี้จึงแผ่ไปไกลทั่วทิศ

ตอนที่ 11 พระนเรศวรทรงสร้างสถูปและปูนบำเหน็จทหาร

หลังจากเสร็จศึกยุทธหัตถีแล้ว เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติให้สืบต่อไป  สมเด็จพระนเรศวรมีรับสั่งให้สร้างสถูปสวมทับที่พระองค์ทรงทำยุทธหัตถี ณ ตำบลตระพังตรุ สมเด็จพระนเรศวรโปรดให้เจ้าเมืองมล่วน รวมทั้งควาญช้างกลับไปแจ้งข่าวการแพ้สงคราม และการสิ้นพระชนม์ของพระมหาอุปราชาแก่พระเจ้าหงสาวดี จากนั้นพระองค์ก็ยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา

ชื่อเสียงของกรุงศรีอยุธยาลือเลื่องไปทั้งแผ่นดิน พระองค์ทรงพระราชทานความดีความชอบแก่ พระยารามราฆพ ผู้เป็นกลางช้างของพระนเรศวร และ ขุนศรีคชคง ผู้เป็นควาญช้างของพระเอกาทศรถ  และพระราชทานบำเหน็จรางวัล ทั้งเครื่องอุปโภค เงิน ทอง ทาส และเชลย  อีกทั้งยังพระราชทานบำนาญแก่บุตรและภรรยาของนายมหานุภาพ และ หมื่นภักดีศวร ที่เสียชีวิตในศึกสงคราม

ในการที่ข้าศึกยกทัพเข้ามาเหยียบแดนถึงชานพระนคร พระองค์และพระเอกาทศรถทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทำนุบำรุงเหล่าสมณพราหมณ์และประชาราษฎรโดยมิได้ย่อท้อต่อความยากลำบาก ทรงพระราชอุตสาหะเสด็จออกไปปราบอริราชศัตรู แต่ก็มีแม่ทัพนายกองที่กลัวข้าศึกยิ่งกว่าพระอาญา ตามเสด็จไปไม่ทัน และปล่อยให้ทั้งสองพระองค์ทรงช้างพระที่นั่งฝ่าเข้าไปท่ามกลางข้าศึกแต่เพียงลำพัง พระองค์จึงตรัสสั่งให้ทำโทษตามกฎของพระอัยการศึก นั่นคือโทษถึงประหารชีวิต แต่เนื่องจากใกล้วัน 15 ค่ำ ( บัณรสี ) จึงทรงพระกรุณางดโทษไว้ก่อน ต่อวันหนึ่งค่ำ (ปาฏิบท) จึงให้ลงโทษประหาร

ตอนที่ 12 สมเด็จพระวันรัตขอพระราชทานอภัยโทษ

แต่ยังไม่ทันจะพ้นเวลาที่สมเด็จพระนเรศวรทรงกำหนดให้ประหารชีวิตไว้ เมื่อถึงวันแรม 15 ค่ำ เวลาประมาณ 8 นาฬิกาเศษ สมเด็จพระวันรัตวัดป่าแก้วกับพระราชาคณะ 25 องค์สองแผนก คือ ฝ่ายคามวาสี และ อรัญวาสี ก็พากันไปยังพระบรมมหาราชวัง

พระวันรัตได้ทูลถามข่าวที่สมเด็จพระนเรศวรกระทำยุทธหัตถีจนพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์จนพระองค์ได้รับชัยนะแต่ทำไมถึงยังจะสำเร็จโทษนายทหารเหล่าบริพารด้วย สมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสตอบไปว่า แม่ทัพนายกองทั้งปวงที่ได้รับโทษถูกเกณฑ์เข้าในกองทัพ แต่เมื่อเห็นข้าศึกก็นึกตกใจกลัว จนไม่ตามเสด็จให้ทันพระองค์ และปล่อยให้พระองค์สองพี่น้องเข้าสู้รบท่ามกลางข้าศึกจำนวนมาก แต่ด้วยพระบรมเดชานุภาพของพระองค์สองพี่น้องจึงทำให้มีชัยชนะรอดพ้นความตายมาได้ ประเทศไทยจึงไม่ต้องสิ้นอำนาจเสียแผ่นดินให้แก่กรุงหงสาวดี หากไม่ลงโทษนายทหารให้ถึงตายตามพระอัยการศึก ก็เกรงว่าจะมีนายทหารเอาเป็นเยี่ยงอย่างได้

สมเด็จพระวันรัตจึงกราบทูลต่อพระนเรศวรโดยยกเรื่องของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ( พระตรีโลกนาถ ) มาเปรียบเปรยว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็ทรงชนะพระยามารลำพังพระองค์เองเช่นเดียวกับสมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถ และการที่พระองค์เสด็จไปปราบอริราชศัตรูจนแพ้พ่ายโดยปราศจากไพร่พล ก็จะยิ่งช่วยให้พระเกียรติยศลือเลื่องกึกก้องไปทั่วทุกแห่งหน ขอให้พระองค์ทั้งสองอย่าได้โทมนัสน้อยพระทัยไปเลย ทั้งนี้ที่พระองค์สามารถรบทัพจนได้รับชัยชนะก็เพราะเพราะทวยเทพทั้งหลาบันดาลให้เป็นไปเช่นนั้น อีกทั้งบรรดาข้าทูลละอองธุลีพระบาทก็ล้วนมีความจงรักภักดี มิได้คิดจะทรยศพระองค์เลย เมื่อสมเด็จพระนเรศวรได้ทรงฟังดังนั้น ก็ทรงปราโมทย์และออกพระโอษฐ์สาธุถวายนมัสการแล้วตรัสกลับว่า พระวันรัตกล่าวคำน่าขอบใจ ทุกสิ่งที่ชี้แจงไม่น่าสงสัยแม้แต่น้อย  พระองค์เห็นสมควรและเป็นจริงทุกประการ

ฝ่ายพระวันรัตเมื่อเห็นว่าทรงคลายกริ้วแม่ทัพนายกองแล้ว จึงกล่าวถวายพระพรให้พระองค์ปราศจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งปวง แล้วกราบทูลต่อไปว่า แม้ว่าแม่ทัพนายกองเหล่านี้มีความผิดรุนแรง และควรได้รับโทษทั้งโคตร แต่ก็ขอให้พระองค์เห็นแก่คุณความดีที่เคยรับราชการสนองพระเดชพระคุณมาตั้งแต่อดีต ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระบรมราชอัยกา และสมเด็จพระมหาธรรมราชาผู้เป็นพระราชบิดา ขอให้พระองค์ทรงงดโทษประหารชีวิตแม่ทัพนายกองไว้สักครั้งหนึ่ง ซึ่งหากพระองค์ทำตามเช่นนี้ก็จะช่วยส่งเสริมพระบรมเดชานุภาพ เมื่อเกิดศึกสงครามขึ้นอีกหนหน้า พวกเขาเหล่านี้ก็จะคิดแก้ตัว และหาความดีความชอบเพื่อเพิ่มพูนพระบารมีให้แผ่ไปทั่วบ้านเมืองของพระองค์เป็นแน่ เมื่อกราบทูลเสร็จ สมเด็จพระวันรัตก็เห็นว่าการรบทัพจับศึกไม่ใช่กิจอันควรของพระภิกษุ  สมเด็จพระวันรัตจึงถวายพระพรลาและพาคณะสงฆ์กลับวัด

สมเด็จพระนเรศวรจึงได้ทรงพระกรุณาอภัยโทษให้แก่ทหารนายกองและคงดำรงตำแหน่งยศเดิม  ตามที่พระวันรัตทูลขอ เพราะเห็นด้วยว่าบุคคลเหล่านี้ยังคงจงรักภักดีต่อพระองค์อยู่ แต่พระองค์ก็ทรงเห็นสมควรที่นายทหารเหล่านี้ยกทัพไปตีเมืองตะนาวศรี ทวาย และ มะริด เพื่อเป็นการชดเชยความผิด

ทั้งสองพระองค์มีพระราชดำรัสถึงหัวเมืองฝ่ายเหนือว่า ไทยได้กวาดต้อนครอบครัวเข้ามาจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่หมด และทรงมีพระราชดำริว่าถึงศึกพม่าและมอญว่าคงจะลดลง ถึงจะยกมาก็คงไม่น่ากลัวเหมือนแต่ก่อน และควรจะได้ไปทะนุบำรุงหัวเมืองฝ่ายเหนือไว้ให้รุ่งเรืองเพื่อปรากฏเป็นเกียรติยศสืบต่อไปชั่วกัลปาวสาร

ที่มา://www.wannakadee.com/%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%95%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก