สามารถดาวน์โหลดภาพยนตร์หรือเพลงจากเว็บไซต์ที่เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตมาฟังและแชร์ต่อให้เพื่อนๆฟังใน Facebook ได้หรือไม่เพราะเหตุใด

ลิขสิทธิ์ คืออะไร ?

ลิขสิทธิ์เป็น ผลงานที่เกิดจากการใช้สติปัญญา ความรู้ความสามารถและความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์งานให้เกิดขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สิน ทางปัญญาประเภทหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

“ลิขสิทธิ์” หมายความว่า สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น ดังต่อไปนี้

1.ทำซ้ำหรือดัดแปลง

2.เผยแพร่ต่อสาธารณชน

3.ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางาน

4.ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์ผู้อื่น

5.อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิ

ลิขสิทธิ์และสิทธิที่เกี่ยวข้อง

ลิขสิทธิ์ดนตรีกรรม

หมายความว่า งานเกี่ยวกับเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อบรรเลงหรือขับร้อง ไม่ว่าจะมีทำนองและคำร้อง หรือมีทำนองอย่างเดียว รวมถึงโน้ตเพลงที่ได้เรียบเรียงเสียงประสานแล้ว

ลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกเสียง

หมายความว่า งานอันประกอบด้วยลำดับของเสียงดนตรี เสียงการแสดง หรือเสียงอื่นใด โดยบันทึกลงวัสดุไม่ว่าจะมีลักษณะใด ๆ สามารถที่จะนำมาเล่นซ้ำได้อีก โดยใช้เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการใช้วัสดุนั้น แต่ไม่รวมถึงเสียงประกอบภาพยนตร์หรือเสียงประกอบโสตทัศนวัสดุอย่างอื่น

สิทธิเผยแพร่ต่อสาธารณะ

หมายความว่า ทำให้ปรากฏต่อสาธารณชน โดยการแสดง การบรรยายการบรรเลง ทำให้ปรากฏด้วยเสียงและ/หรือภาพ การก่อสร้าง การจำหน่าย หรือโดยวิธีอื่นใดซึ่งงานที่ได้จัดทำขึ้น

เจ้าของลิขสิทธิ์

“เจ้าของลิขสิทธิ์” สามารถทำอะไรกับผลงานก็ได้ จะยกให้ใครก็ได้แต่ “ศิลปิน” ไม่มีสิทธิ์ที่จะนำเพลงที่ขับร้องไปใช้ถ้าไม่ได้รับอนุญาตเพราะไม่ได้เป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว

หากผู้ใดนำไปใช้โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตนับว่ามีความผิด !!

ความผิดกรณี นำเพลงไปร้อง

“ตามร้านอาหาร สถานประกอบการ หรือสถานที่อื่นใด โดยไม่ได้รับอนุญาต จากเจ้าของลิขสิทธิ์ รวมถึงการ Cover ลงโซเชียลต่าง ๆ” เป็นการนำผลงาน ที่มีลิขสิทธิ์ไปขับร้อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้ให้กับตัวเองไม่ว่าผู้กระทำจะเป็นดารา นักแสดง นักร้อง หรือประชาชนทั่วไป

• มีความผิด “ตามมาตรา 27”

การทำซ้ำหรือดัดแปลงงาน อันมีลิขสิทธิ์ หรือนำงานอันมีลิขสิทธิ์เผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

• มีความผิด “ตามมาตรา 28”

เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์แก่โสตทัศนวัสดุภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง

• มีความผิด “ตามมาตรา 29”

เป็นกรณีการละเมิดลิขสิทธิ์แก่งานแพร่ภาพแพร่เสียง เช่น แพร่ภาพแพร่เสียงซ้ำ หรือจัดให้ประชาชนชม โดยเรียกเก็บเงินหรือผลประโยชน์อื่นทางการค้า ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท หากกระทำเพื่อการค้า จำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(มาตรา 69)

ความผิดกรณี เปิดเพลง

“ตามร้านอาหาร ร้านกาแฟ สถานประกอบการ หรือสถานที่อื่นใด โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์” ไม่ว่าจากสื่อใด ๆ เช่น  Youtube CD หรือ DVD

• มีความผิด “ตามมาตรา 31”

ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น เผยแพร่งานนั้นต่อสาธารณชน เพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นทำการละเมิดลิขสิทธิ์

ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 100,000 บาท หากกระทำเพื่อการค้าจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 บาท ถึง 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(มาตรา 70)

เผยแพร่: 11 ส.ค. 2558 21:42   ปรับปรุง: 11 ส.ค. 2558 21:54   โดย: MGR Online


ในโลกยุคดิจิตอล พฤติกรรมการใช้สื่อโซเชียลมีเดียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน และในแต่ละวันมีการแชร์หรือโพสต์รูปภาพ ข้อความ คลิปเสียง โดยไม่คิดนั้น อาจนำไปสู่การกระทำผิดกฎหมายในลักษณะการหมิ่นประมาททำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหายหรือได้รับความอับอายได้ รวมถึงการกระทำความผิดในลักษณะละเมิดลิขสิทธิ์ จากการเผยแพร่ผลงานของบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับการอนุญาต

ล่าสุดเมื่อ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ (ปี 2558 ฉบับที่ 2) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยกฎหมายฉบับนี้มีเนื้อหาที่รับรองจัดการเรื่องต่างๆ ได้อย่างชัดเจน รวมถึงมีการคุ้มครองมากกว่า พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ฉบับปีพ.ศ. 2537 ที่ใช้มากว่า 20 ปี เพราะมีการคุ้มครองลิขสิทธิ์งานต่างๆ บนโลกออนไลน์ และลิขสิทธิ์ของนักแสดงได้อย่างครอบคลุม เช่น บทความ หนังสือ ซอฟต์แวร์ เพลง รูปภาพ ภาพวาด ภาพถ่าย ภาพข่าว ภาพยนตร์ ละครต่างๆที่อยู่ในโซเชียลมีเดีย ทั้งทวิตเตอร์, เฟซบุ๊ก, ไลน์ หรืออินสตาแกรม

รวมถึงการเพิ่มบทกำหนดโทษ ที่ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง ต้องจ่ายค่าเสียหายเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 เท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้น หากมีหลักฐานชัดแจ้งว่า เป็นการเจตนาโทษฐาน “ละเมิดลิขสิทธิ์” ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และหากกระทำความผิดมีเจตนาเพื่อการค้า ปรับตั้งแต่ 100,000-800,000 บาท หรือจำคุก 6 เดือน - 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ


สำหรับหลักการแบบง่ายๆเล่นโซเชียลมีเดียอย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่นั้น อาจารย์ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญทางระบบคอมพิวเตอร์และความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (Information Security) และผู้ก่อตั้ง บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด บอกกับ “Special Scoop” ว่าหลักการพื้นฐานในการใช้โซเชียลมีเดียไม่ให้มีปัญหาการฟ้องร้องในคดีหมิ่นประมาท หรือคดีละเมิดลิขสิทธิ์ตามมานั้นผู้ใช้โซเชียลมีเดียต้องยึดหลัก 3 ข้อดังนี้

ข้อหนึ่ง คือ พิจารณาจากเจตนาของผู้โพสต์ว่า มีเจตนาบริสุทธิ์หรือไม่

ข้อสอง คือ ผลเสียและผลกระทบ (Impact)

ข้อสาม คือ ประโยชน์ใครได้ใครเสีย ถ้าประโยชน์ได้กับส่วนรวมก็ควรปล่อยไป แต่ถ้าประโยชน์เข้าตัว ผลเสียเกิดกับเจ้าของลิขสิทธิ์ หากในภาพรวมของเจตนาหากทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์สูญเสียประโยชน์ ลักษณะนี้คือผิด 100% หนีไม่ได้แล้ว และเป็นข้อเท็จจริงที่บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ง่ายๆ

ขณะที่ปัจจุบันมีกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ออกมา และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ที่ผ่านมา ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ที่คนไทยในทุกๆระดับความรู้ อายุและอาชีพซึ่งนิยมใช้โซเชียลมีเดียกันอย่างแพร่หลายนั้น ต้องระมัดระวังกันเป็นพิเศษ เพราะมีความเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมาย

“คนรู้เท่าไม่ถึงการณ์จึงมีโอกาสสูงที่จะประสบปัญหา และคนที่ยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องกฎหมาย มีความเสี่ยงในการกระทำความผิด และถูกเอาผิดมากขึ้น แม้จะเป็นจากการโพสต์หรือการแชร์ที่ไม่เจตนา ถ้าผู้ฟ้องร้องจะเอาผิดจริง แต่กรณีกฎหมายลิขสิทธิ์นั้นสามารถยอมความกันได้ ไม่ใช่อาญาแผ่นดิน ก็หวังว่าจะมีการเจรจากันได้

ส่วนกรณีหมิ่นประมาทที่เป็นกฎหมายอาญานั้น ก็หวังให้มีการตรวจสอบเจตนากับคนที่ส่งต่อข้อความโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์เช่นกัน”

ดังนั้นผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ควรมีความรู้พื้นฐานในการปกป้องเพื่อไม่ให้ข้อมูลที่ตนเองโพสต์มีการเผยแพร่และกระจายออกไปในเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ หรือ อินสตาแกรม (ไอจี) อย่างรวดเร็ว โดยเลือกใช้ฟีเจอร์ที่รู้กันทั่วไปว่า สามารถจำกัดความเป็นส่วนตัวตามลักษณะโซเชียลมีเดียในแต่ละประเภท เช่น วิธีการ LINE Hidden Chat หรือแชตลับ สำหรับการแชตกับเพื่อน ซึ่งข้อความจะถูกลบทิ้งไปอย่างอัตโนมัติเมื่อเวลาผ่านไปตามที่ได้กำหนดไว้

กรณีเฟซบุ๊กนั้นจะเป็นเรื่องของการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว (Private) ซึ่งเป็นคุณสมบัติพื้นฐานอยู่แล้ว ถ้าเราไม่ได้รับคนอื่นเข้ามาเป็นเพื่อน หรือไม่ได้โพสต์ข้อความเป็นสาธารณะ บุคคลทั่วไปก็ไม่สามารถเห็นข้อมูลของเราได้ ซึ่งจะสร้างความปลอดภัยได้ในระดับหนึ่ง

ทวิตเตอร์ต้องใช้ Direct message อย่าใช้วิธีทวีตตรงๆ ซึ่งปัจจุบันหลายคนมักจะใช้วิธีการทวีตตรงกับทุกข้อความ ซึ่งบางข้อความหรือภาพที่ควรระมัดระวัง ควรจำกัดผู้ที่เข้าถึง จึงถือว่าคนส่วนใหญ่ใช้ DM (Direct Message) ไม่เป็น

กรณี Instagram นั้นไม่มีส่วนที่เป็น Direct ใดๆ เพราะวัตถุประสงค์ต้องการโชว์ Lifestyle ใน Public ดังนั้นทุกคนก็จะเห็นและ Comment กันเข้ามาได้ ซึ่งต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก

ส่วนวิธีการป้องกันในลักษณะนี้ ต้องมีการเตรียมตัวกำหนดฟีเจอร์ที่จะใช้ไว้ก่อนแล้วค่อยเขียนหากัน เมื่อคู่สนทนาอ่านข้อความที่เขียนไปแล้วนั้น ข้อความจะหายไปภายใน 5 วินาที - 1 วันตามที่กำหนดได้

แนะวิธีแก้ไขหลังโพสต์ละเมิดไปแล้ว

อาจารย์ปริญญา บอกว่า กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย เพราะคนจะได้มีความระมัดระวังมากขึ้น อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้เกิดคดีเล็กคดีน้อยตามกันมา จึงต้องมีการประชาสัมพันธ์ที่มากขึ้นในวงกว้าง การทำกรณีศึกษาเพื่อเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน มี Do & Don’t ที่เข้าใจง่ายขึ้น ตามที่กรมทรัพย์สินทางปัญญากำลังเริ่มดำเนินการ ซึ่งควรทำอย่างต่อเนื่องให้คนเข้าใจจนระยะหนึ่งที่มีคำถามและยังไม่แน่ใจ รวมถึงการบัญญัติ (Define) ที่ชัดเจนว่ากรณีใดที่สามารถเอาผิดจาก กม.นี้ได้ หรือทำเป็นกรณีตัวอย่างเพื่อให้คนเข้าใจ

แต่หากมีการโพสต์ข้อความ รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว เพลง ซอฟต์แวร์ใดๆไป แล้วกังวลในภายหลังหรือพบว่าตัวเองพลาดไปละเมิดลิขสิทธิ์หรือได้หมิ่นประมาทคนอื่นในโซเชียลมีเดียใดๆนั้น ต้องเรียกว่า “ทำไปแล้วคือจบ ไม่มีทางแก้ไขอะไรได้”

ดังนั้นจึงต้อง “คิดก่อนโพสต์” เพราะแม้ว่าจะลบโพสต์แล้วภาพและข้อมูลที่โพสต์ก็ไม่หายไป เนื่องจากข้อมูลนั้นกลายเป็นสาธารณะบนอินเทอร์เน็ตที่แก้ไขไม่ได้ ทุกคนสามารถเห็นได้จากการเสิร์ชเอนจิ้น (search engine) ในการสืบค้นหาข้อมูล

กรณีตัวอย่างที่โพสต์เรื่องที่มีการฟ้องร้องต่างๆ ทั้งในส่วนขององค์กร หรือบุคคลนั้น แม้ว่ามาคิดได้ทีหลัง แต่โพสต์นั้นเห็นในสาธารณะจึงทำให้เกิดการขยายความได้ ข้อแนะนำที่ควรดำเนินการในกรณีคล้ายคลึงกันคือ ให้เผชิญหน้ากับความจริงและรีบติดต่อกับผู้ที่เราละเมิดเพื่อหาทางเจรจา ผ่อนหนักเป็นเบา และลบสิ่งที่โพสต์ให้เร็วที่สุดเพื่อลดการขยายเป็นวงกว้าง หากไม่รุนแรงยังเชื่อว่าคนไทยคุยกันได้

“ปัญหาที่เกิดขึ้นวันนี้เกิดจากความไม่ยับยั้งชั่งใจ และไม่ตระหนักถึงความเดือดร้อนเมื่อไปวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นด้วยความคะนอง อย่างที่เรียกกันว่านักเลงคีย์บอร์ด บางครั้งที่พบเห็นบ่อยๆ คือจะใช้วิธีไม่ด่ากันตรงๆ แต่จะพูดให้คนอื่นเสียหายในพื้นที่ตนเองเช่นในเฟซบุ๊ก วิธีการคือใช้วิธีว่าทางอ้อม ไม่ระบุชื่อคนที่พาดพิงให้ร้าย แต่มีโวหารสื่อให้รู้ว่าหมายถึงใคร กรณีนี้ในอดีตเอาผิดไมได้ แต่ปัจจุบันสามารถเอาผิดได้แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ในการรักษาสิทธิผู้ที่ถูกทำให้เสื่อมเสีย”

โพสต์และแชร์อย่างไรผิด-ไม่ผิด

ขณะเดียวกันได้สอบถามข้อมูลไปยัง 1368 สายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ถึงวิธีการโพสต์หรือแชร์บนโลกโซเชียลมีเดียอย่างไรจึงไม่เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ กรณีตัวอย่างของกิจกรรมที่คนในโลกโซเชียลมักใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การนำคลิปเพลงมาเผยแพร่ในลักษณะก๊อบปี้ลิงก์ หรือการฝังโค้ด (embed) คลิปวิดีโอของยูทูป จากเจ้าของลิขสิทธิ์มาไว้แชร์ในเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊กของตัวเอง โดยไม่ผิดและไม่เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธ์ เนื่องจากการเปิดวิดีโอนี้จะลิงก์ไปหาต้นตอของวิดีโอในยูทูปที่เป็นต้นฉบับ ไม่ได้ทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์เสียประโยชน์ ที่ไม่ทำให้เกิดยอดซึ่งนำไปสู่การขายโฆษณาได้

ส่วนการขายแผ่นซีดีเพลงหรือภาพยนตร์มือสอง ถือว่าไม่เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะผู้ซื้อได้ซื้อกรรมสิทธิ์และขายเฉพาะกรรมสิทธิ์ในแผ่นซีดีนั้นแล้ว แต่ผู้ซื้อไม่สามารถทำสำเนางานเพื่อนำออกขายได้ ส่วนการขายซีดีภาพยนตร์มือสองจะต้องมีใบอนุญาตให้ขายตามกฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์และวีดิทัศน์ด้วย

ในหมวดรูปภาพหรือข้อความที่ก๊อบปี้จากเว็บไซต์ หากดาวน์โหลดมาใช้ ต้องอ้างอิงที่มาหรือให้เครดิตเสมอ รวมถึงต้องพิจารณาประกอบกับเงื่อนไขต่างๆ เช่น การนำไปใช้ในปริมาณไม่มาก และไม่ได้นำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า หรือหากำไรในเชิงพาณิชย์ และไม่กระทบกระเทือนกับส่วนได้ส่วนเสียของเจ้าของลิขสิทธิ์ เช่น เจตนานำมาใช้ในการวิจัยหรือศึกษางานซึ่งไม่ใช่เพื่อหากำไร ใช้ในการเสนอข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น และใช้ในการเรียนการสอน เป็นต้น

สิ่งที่ “ห้าม” เพราะเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ หรือสิ่งบันทึกเสียง กรณี การทำบล็อกแล้วอัปโหลดเพลงของศิลปินมาไว้ที่บล็อก ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวถือเป็นการทำซ้ำงานลิขสิทธิ์ในบล็อกและถือเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วย

ซื้อซีดีหรือดีวีดีของศิลปินมาแล้วอัปโหลดขึ้นยูทูป เว็บไซต์หรือเฟซบุ๊กของตัวเองถือว่ามีความผิด ในลักษณะการก๊อบปี้หรือการทำซ้ำซีดีที่มีเจ้าของลิขสิทธิ์ และเจ้าของต้องการขายแสวงหากำไรมาไว้ในเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊กของตัวเอง

การอัปโหลดภาพที่ถ่ายจากการไปดูคอนเสิร์ต แม้ว่าจะบันทึกวิดีโอมาในเวลาสั้นๆเพียง 5 นาทีไม่ครบเพลง แล้วส่งต่อเพื่อความบันเทิงในครอบครัว หรือโพสต์ในเฟซบุ๊ก และในอีกกรณีเผอิญว่าวิดีโอมีคุณภาพสูงและมีคนนำไปแชร์ต่อในยูทูป แม้ว่าจะส่งผลกระทบทำให้ดีวีดีคอนเสิร์ตขายไม่ได้หรือไม่ ก็ถือว่ามีความผิด เพราะในการแสดงคอนเสิร์ตมีการประกาศข้อห้ามในการบันทึกถ่ายภาพวิดีโอประกาศไว้แล้ว

ส่วนความนิยมที่มีการนำเพลงที่มีลิขสิทธิ์มา Cover และอัปโหลดขึ้นยูทูป ต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ เพราะหากบังเอิญดังขึ้นมามียอด View 2-3 ล้านคนนั้นก็จะทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์เสียประโยชน์ ซึ่งต้องดูเจตนา และผลกระทบร่วมด้วย

การปรับแต่งรูปภาพหรือคลิปวิดีโอของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์นั้น แล้วนำมาโพสต์ไว้บนเว็บไซต์ ถือว่ามีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยการดัดแปลงและเผยแพร่งานลิขสิทธิ์นั้นต่อสาธารณชน ซึ่งการที่จะระบุความผิดว่า เป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์หรือไม่นั้นอยู่ที่ดุลพินิจของศาลที่จะมาเป็นผู้ตัดสินว่าใครผิด - ใครถูก

กฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ในยุคดิจิตอลนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ สำหรับคนไทยที่มีพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียติดอันดับต้นๆของภูมิภาคเอเชีย และด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าทำให้การเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายสะดวกขึ้น ก็อาจทำให้พลาดถูกข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ได้โดยไม่ตั้งใจ ดังนั้นหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวสอบถามได้ที่ 1368 สายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือดาวน์โหลดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.ipthailand.go.th ก็จะทำให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียปลอดภัยไม่ไปละเมิดลิขสิทธิ์ หรือผิดกฎหมายอย่างแน่นอน


กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก